fbpx

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2022: ‘มาครง’ ปะทะ ‘เลอเปน’ อีกครั้ง ในวันที่ปราการสกัดฝ่ายขวาสุดโต่งเปราะบางยิ่งกว่าเคย?

และแล้ว ‘มารีน เลอเปน’ ก็กลับมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจาก ‘แอมานูเอล มาครง’ อีกครั้งในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสุดท้ายที่กำลังใกล้เข้ามาถึงในวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2022 นี้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เลอเปนสามารถฝ่าสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกเข้าไปชิงชัยต่อในรอบที่สองได้สำเร็จ และไม่ใช่ครั้งแรกเช่นกันที่ชื่อของเลอเปนกลับมาสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่ฝ่ายเสรีนิยมทั่วฝรั่งเศสและทั่วโลก

หากยังจำกันได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อปี 2017 แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง ‘ศึกเลือกตั้งหยุดโลก’ ไม่แพ้โดนัลด์ ทรัมป์ปะทะฮิลลารี คลินตันในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 เลยทีเดียว

กลางคลื่นลมขวาประชานิยมและกระแสต่อต้านผู้อพยพที่โหมกระหน่ำทั่วโลกในเวลานั้น เมื่อเสียงประชาชนฝรั่งเศสร่วมกันสั่งให้แอมานูเอล มาครง นักการเมืองเสรีนิยมสายกลาง (centrist) โปรสหภาพยุโรปหน้าใหม่จากพรรค La République En Marche! ได้รับชัยชนะเหนือมารีน เลอเปน ผู้นำพรรค Front National พรรคการเมืองขวาสุดโต่งที่ขึ้นชื่อในอุดมการณ์เหยียดเชื้อชาติ-เกลียดชังความเป็นอื่นนอกเหนือจาก ‘ความเป็นฝรั่งเศส’ และเจ้าของฉายา ‘มาดามเฟร็กซิต’ ไปในสมรภูมิเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสุดท้ายด้วยคะแนน 66% ต่อ 34% การเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยฝรั่งเศสก็รอดพ้นจากเงามืดไปได้ด้วยพลังของ ‘แนวหน้าสาธารณรัฐ’ (Republic Front) – ปราการสกัด-ปฏิเสธการเมืองสุดโต่ง ‘ต้องห้าม’ ด่านสำคัญจากเสียงโหวตยุทธศาสตร์ (vote utile) ของประชาชนชาวฝรั่งเศส

5 ปีผ่านไป ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเวียนกลับมาอีกครั้ง หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งรอบแรกไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2022 ปรากฏว่าในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด 12 คนจากหลากหลายเฉดทางการเมือง 2 คนที่ได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดจนได้รับตั๋วผ่านไปสู่การเลือกตั้งรอบที่สองเพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคือมาครงและเลอเปนเช่นเคย

แต่ศึกมาครงปะทะเลอเปนครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน แม้โพลหลายสำนักคาดการณ์ตรงกันว่ามาครงจะสามารถเอาชนะเลอเปนได้อีกครั้ง ทำลายอาถรรพ์ ‘ประธานาธิบดีลงเลือกตั้งซ้ำถูกเตะออก’ ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีและรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปได้อีกสมัย แต่ชัยชนะที่มาครงอาจได้รับไม่ใช่ชัยชนะแบบขาดลอยเช่นก่อน คาดกันว่ามาครงอาจชนะอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนนราว 54-57% ในขณะที่เลอเปนไล่ตามมาติดๆ ที่คะแนนราว 46%-43% – เลอเปนไม่เคยก้าวเข้าใกล้ตำแหน่งประธานาธิบดีขนาดนี้มาก่อน!

ความหวังของมาครงอยู่ที่ปราการ ‘แนวหน้าสาธารณรัฐ’ อีกครั้ง

แต่นั่นก็ไม่ใช่งานง่ายนัก มาครงผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งรอบสองเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนนเกือบ 28% ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่สูงมาก และสูงกว่าคะแนนที่มาครงได้รับในปี 2017 ถึง 4% ก็จริง แต่คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งรอบแรกรวมกว่า 32% เทไปยังบรรดาผู้สมัครฝ่ายขวาสุดโต่ง (23% เป็นของเลอเปน ส่วนที่เหลือเป็นของเอริค เซมมัวร์ ทรัมป์คนใหม่แห่งฝรั่งเศส)

ที่อาจชี้ชะตาว่ามาครงหรือเลอเปนจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปคือคะแนนเสียงอีกกว่า 22% ที่ยกให้ผู้นำพรรคประชานิยมฝ่ายซ้ายอย่างฌอง-ลุค เมลองชอง – ฝ่ายซ้ายไม่เลือกเลอเปนแน่นอน อย่างที่เมลองชองประกาศหลังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในรอบแรกไปอย่างน่าเสียดายว่า “จะต้องไม่มีแม้แต่คะแนนเสียงเดียวตกไปถึงเลอเปน” แต่การต้องเลือก ‘the lesser evil’ อย่างมาครงก็ถือว่าน่ากระอักกระอ่วนใจ เพราะการประกันการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยกลับต้องแลกมาด้วยแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ แล้วฝ่ายซ้ายจะยอมเทคะแนนให้มาครงหรือไม่? หรือว่าจะงดออกเสียง?

นี่ยังไม่นับว่ามีประชาชนฝรั่งเศสส่วนหนึ่งที่รู้สึก ‘เซ็ง’ กับการเมืองไร้น้ำยา ที่ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ก็คงไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงจนอาจตัดสินใจไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

มาครงอาจถือไพ่เหนือกว่า แต่ความไม่แน่นอนยังคงเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด ณ เวลานี้

ทำไมปราการสกัดฝ่ายขวาสุดโต่งจึงเปราะบางยิ่งกว่าที่เคย?

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าอารมณ์ความรู้สึกของสังคมฝรั่งเศสเปลี่ยนไปพอสมควร ถ้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2017 อยู่กลางมวลอารมณ์แห่งความหวาดกลัวความเป็นอื่นปะทะมวลอารมณ์แห่งความหวาดกลัวการสูญสิ้นของ ‘เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ’ และหลัก secularism อันเป็นหัวใจสำคัญของฝรั่งเศส การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ก็ปกคลุมไปด้วยมวลความรู้สึกหม่นหมองที่ว่า ‘ฝรั่งเศสกำลังตกต่ำลง’ – ค่าครองชีพพุ่งสูง คุณภาพการครองชีพและอำนาจการจับจ่ายใช้สอยลดลง ช่องว่างความเหลื่อมล้ำถ่างออก สังคมแตกออกเป็นสองเสี่ยง ผู้คนในชนบท-ชานเมืองถูกทอดทิ้งละเลย แต่เมืองใหญ่กลับเฟื่องฟู ความเป็นฝรั่งเศสค่อยๆ สูญสลาย การเมืองเริ่มไม่ตอบโจทย์สามัญชนคนธรรมดา – สังคมฝรั่งเศสกำลังรู้สึกไม่มั่นคง วิตกกังวลและเหนื่อยล้า

ฝรั่งเศสภายใต้มาครงผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายครา เผชิญทั้งขาขึ้นขาลง นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านการขึ้นภาษีน้ำมันของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง (gilets jaunes) วิกฤตโควิด และล่าสุด วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน แน่นอนว่าเวลา 5 ปียาวนานเพียงพอที่จะลบภาพ ‘นักการเมืองเลือดใหม่’ หรือ ‘หนุ่มมหัศจรรย์’ ผู้สัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของประชาชนชาวฝรั่งเศสทุกคน

มาครงในวันนี้ ไม่ใช่มาครงคนเดิมอีกต่อไป

ที่ผ่านมา มาครงสอบผ่านในบทบาท ‘ผู้จัดการวิกฤต’ ในการตัดสินใจทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพยุงและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ การจ้างงาน ระดับรายได้ และคุณภาพการครองชีพช่วงวิกฤตโรคระบาด และบทบาท ‘ผู้ไกล่เกลี่ย’ ในการเจรจาการทูตระหว่างวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน สะท้อนความทะเยอทะยานของมาครงในการสร้างอิทธิพลของฝรั่งเศสในการเมืองโลกและยุโรป แต่นั่นก็ไม่ได้ลบล้างฉายา ‘ประธานาธิบดีของคนรวย’ (président des riches) จากนโยบายเศรษฐกิจที่หนุนธุรกิจ นโยบายปฏิรูปภาษีที่เอื้อต่อคนรวย นักธุรกิจและชนชั้นกลางในนามของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน หรือนโยบายปฏิรูปลดขนาดระบบบำนาญ และฉายา ‘จูปีเตอร์’ ผู้กุมอำนาจการบริหารรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางอย่างเข้มแข็งออกไปได้ – ทั้งหมดนี้ทำให้มาครงกลายเป็นประธานาธิบดีผู้ห่างเหิน จากการสำรวจของ Ipsos-Sopra Steria ประชาชนเพียง 26% เท่านั้นที่มองว่ามาครงเข้าใจปัญหาและความทุกข์ยากของคนฝรั่งเศส

ยิ่งไปกว่านั้น มาครงยังตัดสินใจเดินหมากการเมืองเสี่ยงอันตรายระดับที่เรียกได้ว่า ‘เล่นกับไฟ’ เพื่อเอาใจเสียงฝ่ายขวา เนื้อในมาครงยังคงเป็นลิเบอรัล แต่การออกกฎหมายต่อต้านผู้ก่อการร้ายมุสลิมที่เข้มข้นขึ้นหรือการเพิ่มอำนาจตำรวจในนามของความสงบและความเรียบร้อยก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้

ความไว้วางใจยังพอมีอยู่ แต่มาครงทำให้ประชาชนฝรั่งเศสและบรรดาฐานเสียงฝ่ายซ้ายกลางผิดหวังกว่าที่ควร – และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจังหวะการเมืองส่งให้ ‘kingmaker’ ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือแรงงานและคนรุ่นใหม่ฝ่ายซ้ายที่กังขาในตัวมาครงอยู่แล้วเป็นทุน!

ในทำนองเดียวกัน เลอเปน 2022 ก็อาจไม่ใช่คนเดียวกันกับเลอเปน 2017?

อย่างไม่ต้องสงสัย นโยบายและวาทกรรมเหยียดเชื้อชาติ ต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านมุสลิมอย่างเผ็ดร้อน ปฏิเสธความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และการลั่นวาจาประกาศพาฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรปและยูโรโซน คือเหตุแห่งความพ่ายแพ้ของเลอเปนและพรรค Front National ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสุดท้ายเมื่อปี 2017

นับตั้งแต่นั้น เลอเปนตัดสินใจเดินหน้าภารกิจ ‘de-demonize’ พรรค Front National สลัด ‘ชื่อเสีย’ และลบล้างภาพลักษณ์ชั่วร้ายและความเป็นนีโอนาซีของพรรคที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยฌอง-มารี เลอเปน เลอเปนผู้พ่อยังดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค

โจทย์สำคัญมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้พรรคเข้าสู่สนามการเมืองกระแสหลักได้

อย่างแรก เลอเปนตัดสินใจเปลี่ยนชื่อพรรคไปเป็น Rassemblement National หรือ ‘National Rally’ เพื่อเปลี่ยนภาพจำ ตามมาด้วยการปรับโปรแกรมพรรคเพื่อขยายฐานเสียงไปให้ไกลกว่าฐานเสียงฝ่ายขวาประชานิยม เลอเปนตัดสินใจทิ้งนโยบายเอียงขวาที่ไม่เป็นที่นิยมอย่างเฟร็กซิตและการละทิ้งยูโรโซน แล้วหันไปขับเน้นนโยบายบรรเทาปัญหาปากท้องเพื่อประชาชนฝรั่งเศส อย่างปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไปจนถึงการกลับไปผลักดันอุตสาหกรรมหนักสีเขียว แทนที่จะดันให้วาระต่อต้านผู้อพยพและวาระแบบ ‘French First’ เป็นวาระเรือธงในการหาเสียงอย่างเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

เลอเปนเลือกเล่นเกมหาเสียงได้ประจวบเหมาะต่อมวลอารมณ์ในสังคมฝรั่งเศส การปรับโทนเสียงและภาพลักษณ์ให้ดู ‘ซอฟต์’ ลงและ ‘เข้าถึงได้ง่าย’ ดูเหมือนจะได้ผล เสียงจากชนชั้นแรงงานในชนบทและเมืองขนาดเล็กหลายแห่งทั่วฝรั่งเศสร่วมส่งคะแนนให้เลอเปนได้โอกาสชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

นั่นไม่ได้หมายความว่าเลอเปนไม่ใช่นักการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่งอีกต่อไป การยกเรื่องปากท้องขึ้นมาอาจทำให้เลอเปนได้ใจผู้คนมากขึ้น แต่ขวาสุดโต่งก็ยังคงเป็นขวาสุดโต่งวันยันค่ำ หลายนโยบายที่เลอเปนเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงติดกลิ่นอายความเป็นขวาอย่างหนักแน่น หรืออาจมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ‘national preference’ ที่เลอเปนสัญญาว่าจะให้อภิสิทธิ์แก่พลเมืองฝรั่งเศสในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคม นโยบายเพิ่มงบประมาณสวัสดิการสังคมให้พลเมืองฝรั่งเศสจาดการตัดลดงบประมาณส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพ หรือนโยบายห้ามสวบฮิญาบในพื้นที่สาธารณะ แต่ที่ชัดที่สุดคือ ข้อเสนอให้จัดประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้นโยบายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนอัตลักษณ์ความเป็นฝรั่งเศสละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ส่วนท่าทีต่อการเมืองระดับยุโรป เลอเปนไม่ใช่มาดามเฟร็กซิตอีกต่อไปก็จริง แต่แผนใหม่คือการมุ่งเปลี่ยนสหภาพยุโรปจากภายในเพื่อให้ ‘ประชาชาติยุโรป’ มีอำนาจเหนือสหภาพยุโรปร่วมกับเหล่าพันธมิตร illiberal อย่างฮังการี โปแลนด์ แต่อีกสิ่งที่น่าหวั่นเกรงคือความสัมพันธ์อันดีระหว่างเลอเปนและปูติน

แต่ตราบเท่าที่ปากท้องยังอยู่ในวาระหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้ เลอเปนก็ยังไม่หมดสิทธิลุ้นอย่างสิ้นเชิง

เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีก้าวเข้าสู่รอบที่สอง อุณหภูมิทางการเมืองย่อมพุ่งสูงขึ้น ต่างฝ่ายต่างเสนอตนว่าเป็นตัวแทนที่แท้จริงของคนฝรั่งเศส ขณะที่มาครงต้องมุ่งพิสูจน์ความชอบธรรมจากฝ่ายซ้ายด้วยนโยบายสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ก้าวหน้า อันเป็นวาระหลักของเมลองชองในแคมเปญการเลือกตั้งเพื่อเรียกคะแนนเสียง การดีเบตเผ็ดร้อนก็ค่อยๆ เปลือยร่างขวาสุดโต่งของเลอเปนให้ปรากฏอีกครั้ง  

โมเมนตัมทางการเมืองยังส่งให้ลิเบอรัลอย่างมาครง แต่ปราการ ‘แนวหน้าสาธารณรัฐ’ สกัดฝ่ายขวาจะตั้งมั่นเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนมากแค่ไหน?

ประธานาธิบดีคนต่อไปจะเป็นใคร มาครงจะล้างอาถรรพประธานาธิบดีได้หรือไม่ เสรีนิยมประชาธิปไตยจะผ่านบททดสอบไปได้อีกหนึ่งคราหรือไม่ หรือจะเกิดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายระดับหักปากกาเซียนหรือไม่

ไม่มีใครล่วงรู้ได้ นอกจากประชาชนชาวฝรั่งเศสในอีก 1 วันข้างหน้า.

อ้างอิง


Macron Sets Out to Build a ‘Dam’ Against Le Pen. Can It Hold?

Macron to Face Le Pen for President as French Gravitate Toward Extremes

French Candidates’ Economic Programs Hold Key to the Election

France’s Election Shouldn’t Have Been This Close

The race to be the next president of France enters the final stretch

Marine Le Pen has never been so close to winning France’s highest office

President Macron faces an uphill battle in second round of French election

France is doing well, but feeling miserable

FRACTURED FRANCE

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save