fbpx

สี จิ้นผิง สมัยที่ 3 : คุยกับวาสนา วงศ์สุรวัฒน์กับช่วงเวลาเปราะบางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นอีเวนต์สำคัญทางการเมืองของจีน ซึ่งมีขึ้นทุกๆ 5 ปีได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมตลอดทั้งสัปดาห์ทำให้เห็นแนวโน้มทิศทางของจีนว่าจะไปทางไหน ทั้งเรื่องนโยบาย วิสัยทัศน์ และที่น่าจับตามองที่สุดคือ เรื่องผู้นำคนต่อไปจะเป็นใคร? แต่ไม่อาจพูดได้เต็มปากนักว่าจะเป็นคนต่อไป เมื่อผลปรากฏว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3

สี จิ้นผิง ได้ฉีกธรรมเนียมทางการเมืองของจีนที่กำหนดว่าผู้นำจีนมีเส้นตายอยู่เพียง 2 วาระซึ่งปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี รวมถึงสัญญาณว่า สี จิ้นผิง ได้กระชับอำนาจไว้ที่ตัวเองเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จนถือว่าเขาเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในจีนนับตั้งแต่ยุคเหมา เจ๋อตง เป็นต้นมา

จีนขยับโลกก็สะเทือน – นี่จึงเป็นเหตุผลให้การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามอง ในฐานะที่จีนเป็น 1 ในประเทศมหาอำนาจ แต่ สี จิ้นผิง มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? การขึ้นสู่สมัย 3 ของเขาจะง่ายดายหรือไม่? หรือมีความท้าทายอะไรรออยู่ข้างหน้า

101 ชวน รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาพูดคุยถึงการวางอำนาจของสี จิ้นผิงจนก้าวเข้าสู่ผู้นำสมัยที่ 3 ความเปราะบางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในรอบ 40 ปี และอนาคตของจีนภายใต้อำนาจของสี จิ้นผิงและพรรคพวก

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจาก 101 One-on-One Ep.280 ‘อนาคตจีนในสมัยที่ 3 ของ สี จิ้นผิง’ กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2565 ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

YouTube video

เบื้องหลังการขึ้นสู่สมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง เพราะไม่เรียนรู้ข้อผิดพลาดในประวัติศาสตร์ หรือเพราะความจำเป็น?

วาสนามองว่ามีหลายอย่างที่ สี จิ้นผิง ตั้งใจทำมาก่อนหน้านี้นานพอสมควร เช่น การแก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองสามารถเป็นประธานาธิบดีต่อได้เกิน 2 วาระ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องมีเครือข่ายที่อยู่ในวงการเมืองสนับสนุนเห็นพ้อง ดังนั้นจึงต้องมีการวางหมากทางการเมือง มีการสร้างเครือข่ายที่จะสนับสนุนข้อเสนอในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวนานไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น 

การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เป็นประธานาธิบดีในวาระที่ 3 จึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของยุคสมัยที่ขัดแย้งกับแนวทางเติ้ง เสี่ยวผิงอย่างมาก เพราะในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง เคยมีการวาง 2 ประเด็นสำคัญไว้ในรัฐธรรมนูญและประเพณีปฏิบัติ เพื่อไม่ต้องการให้มีลัทธิบูชาตัวบุคคลอีก เนื่องจากจีนเคยเสียหายจากการปฏิวัติวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

สิ่งแรก คือ การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของผู้นำสูงสุดไว้ 2 วาระ ในระยะเวลา 10 ปี และอีกเรื่องคือ การตัดสินใจทางการเมืองต่างๆ จะต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกพรรคระดับสูง ซึ่งควรจะต้องมีมุ้งต่างๆ อยู่ในนั้น โดยประธานาธิบดีจะเป็นมุ้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจะเป็นอีกมุ้งหนึ่ง มีการทำงานร่วมกัน แต่ประธานาธิบดีจะไม่เป็นจักพรรดิและไม่ได้กุมอำนาจทุกอย่างด้วยตัวเอง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสี จิ้นผิง คือตั้งแต่ช่วงที่เขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคในวาระแรก และขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2013 สี จิ้นผิงกำจัดศัตรูทางการเมืองจนถึงตายจำนวนมากในนามของการปราบคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการเพื่อที่จะมาถึงจุดของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนที่อยู่ในตำแหน่งและสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญได้นั้นเป็นคนของสี จิ้นผิงทั้งสิ้น 

คำถามสำคัญคือ แล้วทำไมเขาถึงเตรียมการเช่นนี้?

วาสนาอธิบายว่าสี จิ้นผิงมีทั้งเหตุผลส่วนตัวและเหตุผลจากสถานการณ์โดยทั่วไป โดยเหตุผลส่วนตัวที่ชัดเจนที่สุด คือ สี จิ้นผิง เป็นลูกชายของผู้นำพรรคระดับสูง คือ สี จงชุน สหายของเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งเป็นคนที่สร้างชาติมา ก่อนจะถูกกำจัดในช่วงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม สี จิ้นผิง ได้รับความเดือดร้อนมากต้องไปทำงานในถิ่นทุรกันดาร ตรงนี้มีผลทำให้ สี จิ้นผิง มองว่าอำนาจเท่านั้นที่จะทำให้ปลอดภัย ดังนั้นเขาจึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอำนาจ และเสถียรภาพของตัวเองมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ 

ส่วนเหตุผลจากสถานการณ์ทั่วไป คือ เศรษฐกิจของจีนในยุค สี จิ้นผิง ไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนยุคก่อนหน้านี้ แต่มีแนวโน้มชะลอตัวมาเรื่อยๆ และถึงแม้ว่าเขาจะเข้ามาสู่อำนาจด้วยโครงการอภิมหาโปรเจกต์อย่างเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiatives-BRI) ที่เขาคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผ่านวาระแรกไปแล้วก็ยังไม่สำเร็จ เข้าสู่วาระที่ 2 ก็ดูจะมีปัญหามากขึ้นและเกิดกับดักหนี้ตามมา ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจเลย

“นั่นหมายความว่า ความชอบธรรมที่เคยเป็นฐานรากของผู้นำจีนในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถือครองอำนาจเผด็จการแต่เพียงพรรคเดียวมันไม่เติบโตอย่างบ้าคลั่งแล้ว ดังนั้น สี จิ้นผิง ยิ่งต้องมองหาความชอบธรรมใหม่ นั่นก็คือ ลัทธิบูชาตัวบุคคลและชาตินิยมใหม่ นี่จึงเป็นเหตุผลเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น”

มองอนาคตด้วยการย้อนดูประวัติศาสตร์
เปรียบเทียบยุค เหมา เจ๋อตง VS สี จิ้นผิง

ความต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ยุคเหมา เจ๋อตงเป็นยุคสงครามเย็น ไม่มีเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนที่ล้ำสมัยเท่าปัจจุบัน ดังนั้นความสามารถของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการควบคุมสื่อ การควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและให้ประชาชนรับรู้เฉพาะเรื่องที่ตัวเองต้องการให้รู้ ย่อมมีมากกว่ายุค สี จิ้นผิง เกือบ 500%

ถึงแม้ว่ายุคสี จิ้นผิง จะมี Great wall of China ที่พยายามควบคุมอินเทอร์เน็ต แต่เห็นได้ชัดว่ายังไม่พอ เพราะไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นป้ายประท้วง Bridge Man ช่วงก่อนที่จะเริ่มประชุมสมัชชาครั้งที่ 20 นี้ หรือคงไม่ได้เห็นภาพอดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ถูกอุ้มออกไปจากที่ประชุม ซึ่งเป็นภาพที่เสียหายต่อภาพลักษณ์ของพรรคและสี จิ้นผิง ดังนั้น การที่รัฐบาลจีนในปัจจุบันไม่สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง จึงทำให้การควบคุมประชากรเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น ภัยคุกคามต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็คือมวลชนชาวจีนเอง

“เราพูดมานานแล้ว คนจีนไม่ได้โง่ เขาอยู่ใกล้กับปัญหามากที่สุดจึงสัมผัสปัญหาได้ ดังนั้น ตั้งแต่พันธมิตรชานม ฮ่องกงคือยอดภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็น [เรารับรู้] เพราะคนฮ่องกงเล่นเฟซบุ๊กได้และมีสื่อนานาชาติอยู่ที่ฮ่องกง แต่จริงๆ แล้วเราเชื่อว่ามีการต่อต้านรัฐอยู่ในจีนเยอะที่ไม่ออกสื่อ พอมาถึงวันนี้ที่เราเห็น Bridge Man ได้เห็นภาพการประท้วงที่มันกระจายตัวออกไปเยอะมาก ดังนั้นถ้าเริ่มมีการต่อต้านถึงขั้นที่รั่วออกมาในสื่อนานาชาติแล้ว สิ่งนี้ถือว่าค่อนข้างร้ายแรง”

ความสัมพันธ์ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ‘ช่วงเวลาแห่งความเปราะบางในประวัติศาสตร์ 40 ปี’

“เรื่องเหล่านี้เป็นคลื่นใต้น้ำที่ค่อนข้างเป็นความลับมาก ซึ่งถ้ามองจากมุมคนนอกเข้าไปก็จะเห็นว่าสี จิ้นผิงคุมอำนาจทุกอย่างและน่าจะอยู่ไปอีกนาน แต่อย่าลืมว่าเผด็จการที่จะอยู่ได้ยาวนานอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องมีความชอบธรรมที่โน้มน้าวใจประชาชนหรือต้องมีความชอบธรรมอะไรบางอย่างที่ประชาชนเชื่อเขา ซึ่งที่ผ่านมาความชอบธรรมนั้นคือ เศรษฐกิจที่ดี” 

ย้อนกลับไปสมัยที่เติ้ง เสี่ยวผิง ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่และให้สัญญาว่า ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทุกคนจะรวย บางคนอาจจะรวยก่อนคนอื่นแต่ทุกคนจะรวย ซึ่งสิ่งนี้ประชาชนซื้อ หรือสมัยเจียง เจ๋อหมิน, หู จิ่นเทา ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมหาศาล จนมาถึงสี จิ้นผิง ที่ครบ 2 วาระแล้วแต่เศรษฐกิจไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น แต่สิ่งที่เขาทำมาตลอดทำให้เห็นชัดว่า ประธานาธิบดี 3 สมัยคนนี้จะเปลี่ยนจากความชอบธรรมทางเศรษฐกิจเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคล หรือเป็นชาตินิยม

“มาถึงตอนนี้มันเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะกระโดดจากความชอบธรรมอย่างหนึ่งไปสู่ความชอบธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอีกต่อไป ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่ ถ้าประชาชนจีนไม่เอา รัฐก็อยู่ลำบาก ดังนั้นสิ่งที่เราเห็น ณ เวลานี้เป็นช่วงที่เปราะบางมากที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในประวัติศาสตร์ 40 ปี ตั้งแต่เปิดประเทศมาในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง

โควิด-19 และมิตรที่เป็นภาระ
อุปสรรคความเจริญ ในยุคสี จิ้นผิง

นอกจากการวางหมากความเชื่อมั่นผ่านลัทธิบูชาตัวบุคคลและชาตินิยมแทนความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะทำให้สี จิ้นผิงลำบากในสายตาประชาชนแล้ว อุปสรรคที่ขัดขวางเส้นทางอำนาจของประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของเขายังประกอบไปด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่เขาแทบควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ความสัมพันธ์กับมหามิตร ไปจนถึงข้อพิพาทกับฮ่องกง

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ซึ่งทางการจีนใช้วิธีล็อกดาวอยู่ตลอด สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลมาก ขณะที่สี จิ้นผิง ก็ไม่มีสิทธิ์ออกมาบอกว่าวิธีการนี้ใช้ไม่ได้ผล เพราะการยอมรับเท่ากับว่าตัวเองหมดความชอบธรรมในการเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำต่อไปเรื่อยๆ  ตราบเท่าที่สี จิ้นผิง ยังมีอำนาจอยู่

มหามิตรของจีน ที่เป็นภาระมากกว่าจะส่งเสริมกัน แม้ในกรณีซีเรีย จีนจะส่งเสริมรัสเซียเต็มที่ แต่จีนพยายามไม่สื่อสารในกรณียูเครนมากเท่าไหร่นัก และไม่ได้ออกมาสนับสนุนรัสเซียอย่างที่เคยเกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นจีนก็ถูกโจมตีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องฮ่องกงจากโลกตะวันตกและเรื่องทะเลจีนใต้ รัสเซียก็รีบโผเข้ามาและแสดงความสนับสนุนจีน จนท้ายที่สุดจีนก็ถูกดึงให้ต้องไปสนับสนุนรัสเซียในเรื่องสงครามยูเครน ในภาวะที่จีนกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้น จะเอาตัวเองรอดก็ยากอยู่แล้วแต่ยังต้องมาอุ้มมหามิตรต่างๆ ที่ใช้หนี้ไม่ได้และยังต้องไปช่วยปูตินอีก

ฮ่องกง การที่จีนออกกฎหมายความมั่นคง โดยมีผู้ว่าฯ ฮ่องกงคนใหม่อย่างจอห์น ลี ที่ใช้ปราบปรามร้ายแรงมากจนทุกคนติดคุกหมด ทำให้ฮ่องกงหมดสภาพการเป็นเมืองท่านานาชาติ ซึ่งอาจจะมีคนแย้งว่าสามารถใช้เซินเจิ้นแทนได้  แต่จริงๆ แล้วเติ้ง เสี่ยวผิง คิดที่จะสถาปนาฮ่องกงและเซินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากปี 1997 ฮ่องกงจะคืนสู่จีน แล้วฮ่องกงจะเป็นหัวเรือใหญ่ที่ดูดเงินจากทั่วโลกเพื่อปั๊มเงินนี้เข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่หลังมีกฎหมายความมั่นคงออกมา สถาบันการเงิน สื่อ บริษัท ที่เคยอยู่ในฮ่องกงได้อย่างปลอดภัย ก็ไม่สบายใจจึงย้ายไปที่อื่น รวมทั้งฐานการผลิตในเซินเจิ้นก็เริ่มย้ายไปไต้หวันหรือเกาหลีบ้าง ดังนั้นการที่ฮ่องกงสูญสิ้นสภาพการเป็นเมืองท่านานาชาติไปแล้วก็จะขยายผลไปถึงการขาดทรัพยากรที่จะเติบโตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้เขตเศรษฐกิจพิเศษขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเหมือนที่เป็นมาก่อนหน้านี้

“คนที่ควรสนับสนุนเศรษฐกิจของจีนให้โตได้ คือ อเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ฯลฯ แต่เนื่องจาก สี จิ้นผิง ยึดเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก ดังนั้น พวกนี้ก็ถูกกันออกไป คงเหลือแต่เพื่อนที่เป็นภาระซึ่งก็ไม่น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save