fbpx

ก้าวต่อไปของสงครามรัสเซีย-ยูเครน: โลกบนเส้นบางๆ ระหว่าง ‘สงคราม’ และ ‘สันติภาพ’

เมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครนในรุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 สงครามและโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ก็เริ่มเปิดฉากขึ้นใจกลางยุโรป

ว่ากันว่านี่คือสงครามที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สอง

ท่ามกลางสภาวะความผันผวนของสงครามและความตึงเครียดที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางผ่อนคลาย มีคำถามมากมายตามมา

ทำไมการหาทางออกที่สันติร่วมกันระหว่างโลกตะวันตก รัสเซีย และยูเครนดูเหมือนจะเผชิญความไม่ลงรอยอย่างมาก? อะไรคือ ‘ที่มา’ ของสงครามและความขัดแย้งครั้งนี้? อะไรคือฉากทัศน์ในอนาคตของสงครามครั้งนี้? สงครามระยะสั้น? สงครามยืดเยื้อ? การเจรจาสันติภาพยังคงพอเป็นทางออกหรือไม่? หรือจะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่สามและสงครามเย็นครั้งที่สอง? สงครามครั้งนี้เขย่าระเบียบความมั่นคงและระเบียบโลกขนาดไหน? และอะไรคือท่าทีของไทยในเวทีโลก?

ล่วงเข้าสู่วันที่หกของการบุกโจมตียูเครน ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงไม่มีท่าทีที่จะเย็นลง ควบคู่ไปกับความพยายามในการเปิดประตูการเจรจาอีกครั้ง 101 ชวนถอดรหัส ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ท่ามกลางสภาวะฝุ่นตลบ ผ่านมุมมองแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ผ่านเลนส์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

หากใช้เลนส์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองสงครามรัสเซีย-ยูเครน จิตติภัทรเสนอว่า จะเห็นข้อสังเกตว่าด้วยสงคราม 3 ประการ

ข้อสังเกตประการที่หนึ่ง ในขณะที่ ‘สงคราม’ ไม่ส่งผลดีต่อการเมืองโลกและผู้คนสามัญธรรมดาทุกคน และไม่มีความชอบธรรมในการเมืองระหว่างประเทศ แต่ในระบบระหว่างประเทศที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะอนาธิปไตย ไร้อำนาจกลาง ‘สงคราม’ คือหนึ่งในเครื่องมือของรัฐอธิปไตย ซึ่งในปัจจุบัน สงครามถือเป็นเครื่องมือสุดท้าย (last resort) ในการบรรลุเป้าประสงค์ของรัฐอธิปไตย หากไม่ประสบความสำเร็จในการใช้กลไกหรือเครื่องมืออื่นอย่างการทูตหรือการเจรจา

อย่างไรก็ตาม มี 2 เงื่อนไขที่จะทำให้สงครามมีความชอบธรรม คือหนึ่ง เป็นไปเพื่อการป้องกันตนเอง (self-defence) หรือ สอง เป็นไปเพื่อรักษาสันติภาพโลก ผ่านข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) 

“การก่อสงครามของรัสเซียครั้งนี้อยู่นอก 2 เงื่อนไขดังกล่าว เพราะฉะนั้นสงครามครั้งนี้จึงไม่มีความชอบธรรม”

แม้สงครามจะไร้ ‘ความชอบธรรม’ (legitimacy) ทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแน่นอน แต่รัฐที่ก่อสงครามต้องแสวงหา ‘ข้ออ้าง’ (justification) หรืออ้างเหตุบางอย่างเพื่อเข้าสู่สงคราม ส่วนสงครามจะ ‘เป็นธรรม’ (just) หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของประชาคมระหว่างประเทศเช่นกัน 

ข้อสังเกตประการที่สอง ‘ที่มา’ ของความขัดแย้งและสงครามรัสเซีย-ยูเครนสามารถมองได้หลายมิติ มองได้จากหลายมุมมอง และมองได้ในหลายระดับของการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะจากทั้งระดับปัจเจก ระดับระบบการเมืองภายใน และระบบระหว่างประเทศ 

ข้อสังเกตประการที่สาม สถานการณ์ยังอยู่ในสภาวะฝุ่นตลบ สงครามยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งทำให้ยากในการคาดเดาทิศทางของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในทัศนะของจิตติภัทร นักทฤษฎีหรือนักวิชาการมีหน้าที่ในการใช้เครื่องมือ หรือกรอบการวิเคราะห์เพื่อให้ภาพที่ชัดเจนและหลากหลายขึ้น รวมทั้งชวนคิดเชิงวิพากษ์

‘ที่มา’ ของสงครามและความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

หนึ่งในคำถามสำคัญว่าด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนคือ “อะไรคือ ‘ที่มา’ ที่นำไปสู่การบุกยูเครน” ในทัศนะของจิตติภัทร มีอยู่ 4 ประเด็นที่เกี่ยวพันกันและสะสมจนความขัดแย้งเขม็งเกลียวมาอย่างยาวนาน

‘ที่มา’ เฉพาะหน้า 

ประเด็นที่หนึ่ง การรุกรานและบุกโจมตียูเครนมี ‘ที่มา’ จากความล้มเหลวของการทูตเชิงบีบบังคับ (coercive diplomacy) กล่าวคือ เป็นความล้มเหลวจากการเจรจาต่อรองของรัสเซียกับโลกตะวันตกจากสถานะที่เหนือกว่า ผ่านการระดมกำลังทหารและการซ้อมรบบริเวณชายแดนยูเครนในช่วงประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งดิมิทรี เทรนิน (Dmitri Trenin) ผู้อำนวยการ Carnegie Moscow Center ให้นิยามท่าทีและยุทธศาสตร์ของรัสเซียว่า “รัสเซียใช้กำลังทางทหารเพื่อกดดันให้สหรัฐฯ เข้าสู่โต๊ะเจรจาและเสนอข้อเรียกร้อง”

ข้อเรียกร้องของรัสเซียมีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ ข้อเรียกร้องที่หนึ่ง นาโตต้องไม่ขยายสมาชิกภาพ ซึ่งในแง่หนึ่ง การขยายสมาชิกภาพไม่มีสัญญาณมานับตั้งแต่การประชุมนาโตที่กรุงบูคาเรสต์ในปี 2008 ที่มีการกล่าวว่า อาจมีการเปิดรับจอร์เจียและยูเครนเข้าเป็นประเทศสมาชิกนาโต ข้อเรียกร้องที่สอง นาโตต้องถอนระบบอาวุธเชิงรุกในยุโรปที่ใช้โจมตีรัสเซียได้ และข้อเรียกร้องที่สาม นาโตต้องถอนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางกลาโหมและกองทัพในยุโรปตะวันออก และย้อนนาโตกลับไปสู่สถานะในปี 1997 ที่เขตแดนของนาโตยังไม่ย่างกรายมาสู่ยุโรปกลาง รัฐบอลติกและยุโรปตะวันออก

“มีการวิเคราะห์ว่า รัสเซียกำลังยื่นคำขาด (ultimatum) ต่อโลกตะวันตก เพราะฉะนั้น นอกจากโจทย์การขยายสมาชิกภาพของนาโต ในมุมของปูติน โจทย์ใหญ่ในครั้งนี้คือการปรับดุลอำนาจใหม่ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดระเบียบความมั่นคงยุโรปใหม่ในยุคหลังสงครามเย็นและการประกันความมั่นคงให้แก่รัสเซียอย่างเพียงพอ”

อย่างไรก็ตาม โลกตะวันตกไม่ตอบรับข้อเสนอของรัสเซีย เพราะมองว่าไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินมาตรการตามข้อเรียกร้อง จึงนำไปสู่การยกระดับการต่อรองผ่านการใช้เครื่องมือทางด้านการซ้อมรบร่วมกับเบลารุสในนาม Allied Resolve 2022 ทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อให้เป้าหมายทางความมั่นคงของรัสเซีย ซึ่งฝ่ายโลกตะวันตกก็เริ่มเล็งเห็นปัญหาจากการใช้เครื่องมือทางการทหารในต่อรองเช่นกัน

จิตติภัทรกล่าวต่อว่า นี่เป็นปัญหาทางแพร่ง (dilemma) ที่สำคัญมากว่า รัสเซียจะเลือกเดินหมากทางการเมืองอย่างไรต่อ และแล้ว รัสเซียก็เลือกการประกาศรับรองเอกราชให้แก่โดเนตสก์และลูฮานสก์ สองแคว้นในภูมิภาคดอนบาส ยูเครนภาคตะวันออก ตามมาด้วยการประกาศใช้ ‘ปฏิบัติการทางการทหารแบบพิเศษ’ ซึ่งสะท้อนมุมมองของรัสเซียว่า เป็นไปเพื่อเลี่ยงการประกาศสงคราม และเน้นว่าจะเป็นปฏิบัติการที่รวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ของรัสเซียนัก กล่าวได้ว่ารัสเซียคาดการณ์ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ จนเรียกว่าได้ว่าแทบจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม จากการลุกขึ้นมาจับอาวุธลุกขึ้นต่อต้านของภาคประชาสังคมยูเครนเพื่อปกป้องประเทศ ความพยายามรวมพลังในหมู่ประชาชนยูเครนและประชาคมระหว่างประเทศ และกระแสต่อต้านรัสเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายโลกตะวันตก รวมทั้งปฏิบัติการทางการทหารที่ไม่ง่ายดายตามที่รัสเซียต้องการ 

“อาจมองหรือวิเคราะห์ได้ว่า เริ่มต้นรัสเซียอาจเพียงต้องการทำสงครามสั่งสอนยูเครน เน้นความไม่ยืดเยื้อ แต่ผลลัพธ์ออกมาต่างออกไปจากที่รัสเซียคิด คือรัสเซียไม่สามารถจัดการปฏิบัติการทางทหารได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและรวดเร็ว ต่างไปจากปฏิบัติการทางการทหารในสงคราม 5 วันระหว่างรัสเซียและจอร์เจียในปี 2008”

ประเด็นที่สอง ‘ที่มา’ เฉพาะหน้าสะท้อนวิธีคิด (mentality) แบบมหาอำนาจ (great power) ที่ต้องการแสวงหาอัตลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจ ที่ต้องมีเขตอิทธิพล (sphere of influence) หรือเขตผลประโยชน์ที่มีอภิสิทธิ์พิเศษ (spheres of privileged interests) ในคำของรัสเซีย กล่าวคือ รัสเซียต้องการรักษาผลประโยชน์บริเวณหลังบ้านหรือ ‘near aboard’ ของตนเอง นี่คือ ‘หลักลัทธิมอนโร’ (Monroe Doctrine) ของรัสเซีย ซึ่งเริ่มกล่าวมาตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2000 

หากคิดในทางทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสภาพจริงนิยม (realism) โดยเฉพาะสภาพจริงนิยมเชิงรุก (offensive realism) จิตติภัทรอธิบายว่า ในมิติหนึ่ง การมุ่งขยายอำนาจ โดยเฉพาะการธำรงรักษาความเป็นอภิมหาอำนาจในภูมิภาค (regional hegemony) คือการค้ำประกันความมั่นคงที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับมหาอำนาจ 

แต่ในอีกมิติหนึ่ง จิตติภัทรชี้ให้เห็นว่า การคิดแบบสภาพจริงนิยมก็ ‘เตือน’ มหาอำนาจว่า การขยายอำนาจที่ล้นเกิน (imperial overstretch) จะนำมาซึ่งความอหังการ (hubris) ที่นำพาหายนะมาสู่มหาอำนาจเอง ในขณะที่มหาอำนาจมีอำนาจ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องจำกัดการใช้อำนาจเช่นกัน การทูตต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวัง คิดใคร่ครวญถึงผลประโยชน์ของชาติ หากปราศจากการยับยั้งการใช้อำนาจก็จะนำมาซึ่งความหายนะ

“นี่ไม่ใช่การให้ความชอบธรรมในการทำสงครามของรัสเซีย แต่นี่คือการวิเคราะห์ว่าวิธีคิดของรัสเซียอยู่บนการคิดแบบมหาอำนาจของรัสเซียที่ต้องการจะธำรงรักษาความเป็นอภิมหาอำนาจในภูมิภาค”

ประเด็นที่สาม วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนสะท้อนถึงความล้มเหลวของกระบวนการทางการทูตในข้อตกลงกรุงมินสก์ปี 2015 (Minsk II Agreement) ซึ่งเป็นทั้ง ‘ที่มา’ เฉพาะหน้าและโจทย์ระยะยาว เพราะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาการจัดการไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งในบริเวณดอนบาสตามข้อตกลงไม่ลุล่วงดีนัก แม้ในการเจรจา ยูเครน รัสเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมทั้งสหภาพยุโรป ทุกฝ่ายจะเห็นชอบในข้อตกลงก็ตาม แต่รัสเซียมองว่าไม่มีแรงกดดันให้ยูเครนปฏิบัติตามข้อตกลงแต่อย่างใด รวมทั้งมติมหาชนในยูเครนไม่พอใจในข้อตกลง จากการระบุให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในดอนบาส ให้ดอนบาสมีสถานะเขตการปกครองพิเศษ และการนิรโทษกรรมทหารหรือนักโทษจากกรณีการผนวกไครเมียและสงครามในยูเครนภาคตะวันออก และที่สำคัญ ข้อตกลงยังมีความกำกวมและไม่ชัดเจนในหลายมิติ

ประเด็นที่สี่ การเพิ่มกิจกรรมทางการทหารในบริเวณทะเลดำและยูเครนของประเทศนาโต ซึ่งเป็นทั้ง ‘ที่มา’ เฉพาะหน้าและโจทย์ระยะยาวเช่นกัน โดยในระยะเฉพาะหน้าจากการที่ประธานาธิบดีปูตินได้รับข้อมูลข่าวกรองว่า มีเรือรบ HMS Defender ของสหราชอาณาจักรเข้ามาในน่านน้ำไครเมียในช่วงเดือนมิถุนายน 2021 ก็เข้ามาในน่านน้ำไครเมีย มีเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ บินเข้ามาในน่านฟ้าทางทะเลดำของรัสเซียประมาณ 13 ไมล์ในเดือนพฤศจิกายน 2021 มีการส่งที่ปรึกษาทางด้านการทหารจากตะวันตกมายังยูเครน รวมไปถึงการสร้างศูนย์ฝึกทางการทหารของสหราชอาณาจักร ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นฐานทัพต่างชาติ

“ทั้งหมดนี้คือโจทย์ ‘ที่มา’ เฉพาะหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การหาเหตุเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย”

‘ที่มา’ ว่าด้วย ‘เหตุอ้าง’ ในการสร้างความชอบธรรมให้การก่อสงคราม 

‘ข้ออ้าง’ ที่รัสเซียใช้ในการหาเหตุเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองจนกลายเป็น ‘ที่มา’ ของการเข้าสู่สงครามได้แก่ 

หนึ่ง การปกป้องคนชาติรัสเซียในยูเครน 

สอง ความไม่ชอบธรรมของระบอบนาซีใหม่ที่ปกครองยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 

สาม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซียในยูเครน จนเป็นเหตุให้รัสเซียต้องเข้าไปปกป้องผ่านกองกำลังรักษาสันติภาพรัสเซีย (Russian Peacekeepers) 

“การอ้างเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นในกรณีสงคราม 5 วันระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียในปี 2008 หรือในกรณีวิกฤตการณ์ไครเมียปี 2014 เช่นกัน รัสเซียใช้ภาษาหรือวาทกรรมแบบนี้มาโดยตลอด”

“ตรงนี้เป็นข้อถกเถียงว่ารัสเซียมีหลักฐานและความชอบธรรมแค่ไหนในการส่งกำลังทหารเข้ามาในยูเครน” 

‘ที่มา’ ว่าด้วยผลประโยชน์ของรัสเซียในยูเครน

ต่อปริศนาว่าด้วยเหตุที่ยูเครนมีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของรัสเซียอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นในหลังบ้านของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นเบลารุส คาซัคสถาน หรือที่อื่นๆ จิตติภัทรเสนอการวิเคราะห์ว่า ฐานผลประโยชน์ของรัสเซียในยูเครนมีอยู่ 6 ประการด้วยกัน

ฐานผลประโยชน์ที่หนึ่ง ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ปูตินและคนรัสเซียทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายชาตินิยม มองยูเครนในฐานะที่เป็นจุดกำเนิดและส่วนหนึ่งรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมรัสเซียที่นำมาสู่ชาตินิยมและความยิ่งใหญ่ของชนชาติรัสเซีย โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่คีฟ หรือ ‘Kieven Rus’ 

ฐานผลประโยชน์ที่สอง ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของแหลมไครเมีย จากการที่เป็นจุดบ่งบอกอำนาจทางทะเลของรัสเซีย และเส้นทางทะเลน้ำอุ่นออกสู่ทะเลดำและทะเลเมดิเตอเรเนียน

ฐานผลประโยชน์ที่สาม ความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากยูเครนคือรัฐทางผ่าน (transit state) ของท่อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรป ซึ่งพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างมหาศาล ราว 50-60% 

ฐานผลประโยชน์ที่สี่ การปกป้องคนชาติรัสเซีย ทั้งที่อยู่ในเขตแดนรัสเซียและในบริเวณหลังบ้านของรัสเซีย โดยในแผนยุทธศาสตร์กลาโหมของรัสเซียระบุไว้ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลรัสเซียในการปกป้องคนชาติบริเวณหลังบ้านของตนเอง ซึ่งรัฐบาลปูตินใช้กล่าวอ้างเช่นกันว่า มีการร้องขอมาจากสองรัฐบาลในโดเนตสก์และลูฮานสก์ตั้งแต่ปี 2014 จนปูตินปลดล็อกไฟเขียวให้สภาดูมารับรองเอกราชและอ้างปฏิบัติการรักษาสันติภาพแก่คนชาติรัสเซีย

ฐานผลประโยชน์ที่ห้า การสร้างเขตอิทธิพล (spheres of privileged interests) ขึ้นในบริเวณหลังบ้านที่ไม่ต้องการให้นาโตขยับขยายอิทธิพลรุกล้ำเขตอิทธิพลของรัสเซีย และการธำรงรักษาระบอบการเมืองที่เป็นมิตรกับรัสเซีย ปราศจาก ‘การปฏิวัติสี’ (Color Revolution) ที่เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองที่รัสเซียนับว่าเป็นภัยคุกคาม อย่างที่เคยเกิดขึ้นในจอร์เจียปี 2003 ในยูเครนปี 2004 หรือในคีกีสถานปี 2005

“นี่เป็นอีกโจทย์หนึ่งสำหรับรัสเซียที่มองว่า ยูเครนควรอยู่ในเขตอิทธิพลที่นาโตไม่เข้ามายุ่งวุ่นวายมากนัก ต้องพยายามทำให้ยูเครนเป็นกลางและเป็นมิตรต่อรัสเซีย และไม่เป็นสมาชิกของนาโต” 

และฐานผลประโยชน์ที่หก ผลประโยชน์ของรัสเซียในฐานะอัตลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจ ที่วิตกกังวลเรื่องของความมั่นคง และการแสวงหาการยอมรับความเป็นมหาอำนาจ

“การวิเคราะห์ตรงนี้สำคัญ ไม่ได้หมายความว่า ผลประโยชน์มหาศาลของรัสเซียจะสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายหรือการเมืองระหว่างประเทศในการรุกรานยูเครน ตรงนี้ต้องแยกให้ชัด”

“ก่อนหน้านี้ มีการวิเคราะห์ที่มองว่า เป้าหมายของรัสเซียไม่ได้อยู่ที่การจะหวนคืนสู่จักรวรรดินิยมหรือสหภาพโซเวียต เพียงแต่ต้องการแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านี้ใหม่” 

“แต่กระนั้น วันนี้เราเห็นสภาพรัสเซียอยู่ในจุดจนตรอกระดับที่กล่าวว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการป้องปราม และรัสเซียก็เป็นผู้สร้างสภาวะจนตรอกขึ้นมาเอง เหมือนกับว่ารัสเซียหลังชนฝาในกับดักที่ตนเองสร้างขึ้นมา”

‘ที่มา’ เชิงโครงสร้าง

จิตติภัทรเสนอว่า มีมายาคติสำคัญ 4 ประการ ซึ่ง 2 ประการมาจากฝ่ายรัสเซีย และอีก 2 ประการมาจากฝ่ายยุโรปและสหรัฐฯ ที่สร้างความไม่ลงรอยและความสอดคล้องของท่าที จุดยืด และผลประโยชน์ระหว่างชาติตะวันตก รัสเซีย และยูเครน นำไปสู่การเจรจาต่อรองยากลำบากพอสมควร 

“มายาคติจะทำให้เห็นว่า ทำไมความมั่นคงในยุโรปดำเนินมาถึงจุดนี้ และทำไมความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ โลกตะวันตก และรัสเซียมากขนาดนี้”

มายาคติรัสเซีย

มายาคติชุดที่หนึ่ง ยูเครนไม่ใช่รัฐเอกราช แต่เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมและบ้านพี่เมืองน้องของรัสเซีย 

มายาคติชุดที่สอง ความขัดแย้งในยูเครนคือสงครามกลางเมือง โดยรัสเซียเพียงแค่เข้าไปสนับสนุนเท่านั้น

มายาคติโลกตะวันตก

มายาคติที่สาม สงครามครั้งนี้คือสงครามของปูติน (Putin’s War) หากไม่มีปูติน สงครามคงยุติไป โดยไม่ได้มองว่ามีปัจจัยเชิงโครงสร้างของระบบการเมืองชาตินิยมในรัสเซียที่สนับสนุนและส่งเสริมปูตินในระดับหนึ่ง แม้ว่าทุกวันนี้คนรัสเซียจะออกมาประท้วงจำนวนมาก แต่จิตติภัทรมองว่า ยังมีคนรัสเซียจำนวนหนึ่งที่มองว่ายูเครนคือส่วนหนึ่งของรัสเซีย 

มายาคติที่สี่ การรักษาและการผิดคำมั่นสัญญาของนาโตที่เคยให้สัญญว่า จะไม่ขยายรับสมาชิกภาพเข้ามาภายในหลังบ้านรัสเซียบริเวณยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และยูเรเชีย อย่างที่อดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยบุชผู้พ่อ เจมส์ เบเกอร์ กล่าวว่า “Not one inch eastward” หรือจะไม่มีการขยายนาโตเข้าไปแม้กระทั่งหนึ่งตารางนิ้วในยุโรปตะวันออก ในขณะที่รัสเซียถือเป็นคำมั่นสัญญาณจริงจัง โลกตะวันตกจะปฏิเสธว่า นี่ไม่ใช่การกล่าวอย่างเป็นทางการ และเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบท

“มายาคติ 4 ประการทำให้การเจรจาการทูตระหว่างรัสเซีย โลกตะวันตก และยูเครนมีปัญหา เพราะวางอยู่บนพื้นฐาน ระบบความเชื่อ และคุณค่าที่ต่างกัน” 

“ถ้าเราไม่ถอดรื้อหรือเข้าใจที่มาเชิงมายาคติ เราอาจไม่เห็นทางออกจากปัญหาของทุกฝ่าย”

ฉากทัศน์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในอนาคต

จิตติภัทรวิเคราะห์ฉากทัศน์ความเป็นไปได้ในอนาคตของสงครามไว้ 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน

ฉากทัศน์ที่ 1: สงครามระยะสั้นแบบจำกัด

จิตติภัทรมองว่า หนึ่งในฉากทัศน์ของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีความเป็นไปได้คือ สงครามแบบจำกัด แทรกแซงทางการทหารระยะสั้น ฉับพลันทันใด ไม่กินเวลายาวนานมากนัก คล้ายกับกรณีสงคราม 5 วันระหว่างรัสเซียและจอร์เจียเมื่อปี 2008 ซึ่งมีการบุกไปเกือบถึงกรุงทบิลิซี ถอนทหารทันที และจบลงด้วยการจัดการประเด็นปัญหาว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางการทหาร และการประกาศรับรองรัฐเอกราชของเซาท์ออสซีเชีย (South Ossetia) และอับคาเซีย (Abkhazia)

ในฉากทัศน์นี้จะได้เห็นการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายโลกตะวันตก ผ่านการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและสายการบินรัสเซีย และการสนับสนุนในมิติต่างๆ ให้แก่ยูเครน โดยที่ยังไม่เข้าร่วมสงครามโดยตรง ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย จิตติภัทรอธิบายว่า ข้อดีคือการวางท่าทีเช่นนี้จะไม่ทำให้สงครามยกระดับไปสู่การเป็นสงครามระหว่างประเทศ

ฉากทัศน์ที่ 2: สงครามเต็มรูปแบบ ยืดเยื้อยาวนาน

อีกฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้คือ สงครามเต็มรูปแบบที่ยืดเยื้อยาวนานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจิตติภัทรมองว่าจะเป็นฉากทัศน์ที่มีปัญหาพอสมควรหากเกิดขึ้น 

จิตติภัทรวิเคราะห์ต่อว่า ในฉากทัศน์ที่ 2 จะมีความเป็นไปได้ 4 แบบ

ฉากทัศน์ที่ 2.1 การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองจากภายนอก ผ่านการที่รัสเซียจัดตั้งระบอบการเมืองนิยมรัสเซียในคีฟและทำให้ยูเครนเป็นรัฐเป็นกลาง (neutral) โดยมีการสนับสนุนของกำลังทหารของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จิตติภัทรมองว่าเป็นไปได้ยากในวันนี้เนื่องจากสถานการณ์และปฏิบัติการทางการทหาร

ฉากทัศน์ที่ 2.2 การผนวกรวมยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งจิตติภัทรมองว่า เป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน และนำไปสู่กระแสการต่อต้านสูงขึ้น ทั้งจากคนยูเครนและประชาคมระหว่างประเทศ

ฉากทัศน์ที่ 2.3 การขยายหรือรื้อฟื้นเขตอิทธิพลของรัสเซียที่เป็นระบบมากขึ้น  

ฉากทัศน์ที่ 2.4 สงครามระหว่างมหาอำนาจ โดยจิตติภัทรมองว่า หากสงครามขยับขยายและยืดเยื้อไปมากกว่านี้ ท้ายที่สุดอาจดึงมหาอำนาจอื่นเข้ามาในสงครามได้เช่นเดียวกัน

“แต่แน่นอนว่าฉากทัศน์ที่ 2.1-2.4 ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและเงื่อนไข ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นเสมอไป แต่ต้องมีการวิเคราะห์ให้ครบในแง่ยุทธศาสตร์” โดยในการวิเคราะห์ต้องพิจารณาว่า หนึ่ง เป้าหมายและความตั้งใจของปูตินอยู่ที่ความต้องการขยายอำนาจหรือปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติมากกว่ากัน และหากสมมติว่าปูตินต้องการขยายอำนาจ ก็มีโอกาสที่จะขยับไปสู่ฉากทัศน์ที่รุนแรงมากขึ้น สอง สถานการณ์สู้รบในยูเครนเป็นอย่างไร การปฏิบัติการทางการทหารเป็นไปได้ง่ายหรือยากแค่ไหน ซึ่งวันนี้ไม่ง่ายและไม่รวดเร็วนักอย่างที่รัสเซียคิด และสาม โลกตะวันตกและนาโตมีท่าทีอย่างไร

“รัสเซียในวันนี้ไม่พร้อมที่จะทำสงครามยืดเยื้อ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เสียหายไม่น้อยจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และหากไม่พยายามใช้การทูตการเจรจาในการหาทางลง ก็จะตกอยู่ในสถานะหลังชนฝา ยอมที่จะทิ้งไพ่ทุกอย่าง ก็มีแนวโน้มก้าวไปสู่ฉากทัศน์ที่สอง”

ฉากทัศน์ที่ 3: การเจรจาการทูต

ฉากทัศน์การเจรจาหาทางลงให้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายตะวันตก รัสเซีย และยูเครนยังไม่ใช่ทางที่ถูกปิดตายเสียทีเดียวในความขัดแย้งครั้งนี้ 

อย่างไรก็ตาม จิตติภัทรตั้งประเด็นว่า ตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยต้องเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจากทั้งรัสเซียและยูเครน อย่างในการเจรจาครั้งแรกหลังการบุกยูเครนเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 เมืองโกเมล บริเวณชายแดนเบลารุส จิตติภัทรมองว่า เบลารุสไม่ใช่ตัวกลางที่จะช่วยให้กระบวนการเจรจาลุล่วงได้ดีอีกต่อไป แม้ว่าแต่ก่อนมินสก์จะเคยเป็นตัวกลางที่ทั้งสองฝ่ายไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ในครั้งนี้ เบลารุสมีส่วนร่วมในความขัดแย้งจากการสนับสนุนปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซีย และการลงประชามติยกเลิกสถานะการเป็นรัฐปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งหมายความว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่เบลารุสจะกลายเป็นฐานการติดตั้งขีปนาวุธของรัสเซีย

“ฉากทัศน์นี้จะประสบความสำเร็จ ถ้าทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันคือการแสวงหาสันติภาพหรือหลีกเลี่ยงสงครามที่ใหญ่โตไปกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม หากฉากทัศน์การเจรจาประสบความสำเร็จ โจทย์ยากที่จะตามมาคือ จะประกันความมั่นคงให้กับยูเครนและรัสเซียอย่างไร ซึ่งความเป็นไปได้ในตอนนี้คือการเจรจาต่อรองควบคู่ไปกับการตรึงแนวรบ

สำหรับรัสเซีย โจทย์สำคัญว่าด้วยทางออกคือ จะหาทางลงอย่างไรไม่ให้เสียหน้าความเป็นมหาอำนาจ ซึ่งจิตติภัทรมองว่า รัสเซียน่าจะพยายามหาทางลงผ่านการ ‘อ้าง’ ว่าได้บรรลุเป้าหมายบางประการของปฏิบัติการทางการทหารพิเศษแล้ว และเมื่อหาทางลงได้ ก็จะไม่สิ้นหวังจนต้องงัดไพ่อาวุธทำลายล้างสูงอย่างนิวเคลียร์ในท้ายที่สุด

“คำถามในวันนี้คือ หนึ่ง ยังเหลือพื้นที่ว่างให้การทูตการเจรจามากน้อยแค่ไหน สอง โจทย์สำคัญที่ขับเคี่ยวกันที่ทางออกยังมีอยู่อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องอำนาจอธิปไตยของยูเครน การปกป้องคุณค่าแบบเสรีนิยม และระบบกฎหมายระหว่างประเทศ การทำให้มหาอำนาจวางใจและยอมถอย การจัดการหรือรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงกรุงมินสก์อีกครั้ง หรือการร่างระเบียบความมั่นคงของยุโรปใหม่ร่วมกัน เพราะฉะนั้น มีทางออกอยู่หลายอย่าง”

ส่วนทางลงของยูเครน จิตติภัทรวิเคราะห์ว่า นอกจากการเจรจาในเบื้องต้นแล้ว โจทย์ว่าด้วยทางเลือกที่รออยู่ที่ทางออกของยูเครนคือ หนึ่ง ยูเครนจะเลือกหันไปทางยุโรป หันไปทางสหภาพยุโรป เลือกข้างนาโตได้หรือไม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า นาโตจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก แม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ก็อาจจะมีแรงเสียดทานจากฝ่ายนาโตเช่นกัน เพราะนาโตก็อาจต้องเข้าสู่สงครามโดยอัตโนมัติตามมาตราที่ 5 ในกฎบัตรขององค์การ

สอง หรือยูเครนจะเลือกใช้การประกันความเสี่ยง (hedging) กล่าวคือ ไม่ได้เลือกทางนาโตหรือสหภาพยุโรปมากนัก และยังมีสายสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ยากพอสมควร เพราะรอยร้าวในความสัมพันธ์กับรัสเซีย ไม่ว่าในอนาคตใครจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ตาม การถือธงอยู่ร่วมกับรัสเซียทำได้ยาก เพราะมติมหาชนที่ไม่ต้องการรัสเซีย

สาม การเลือกตัวแบบฟินแลนด์ (Finlandization) หรือการกำหนดยุทธศาสตร์เป็นกลาง ที่ทำให้รัฐขนาดเล็กไม่ต้องเลือกข้างชัดเจน ไม่ต้องคานอำนาจ และไม่ต้องประกันความเสี่ยง 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน: สงครามโลกครั้งที่สาม? สงครามเย็นครั้งที่สอง?

หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนในครั้งนี้คือ สงครามครั้งนี้จะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม หรือสงครามเย็นครั้งที่สองหรือไม่ 

ในทัศนะของจิตติภัทร ที่ชัดเจนในความขัดแย้งครั้งนี้คือ การปฏิบัติการทางการทหารพิเศษของรัสเซียคือ ‘การรุกราน’ (invasion) หรือ ‘สงคราม’ แม้ว่าจะยังถกเถียงในเชิงวาทกรรมได้ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่สงคราม เพราะไม่ได้มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการจากทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม นี่คือสภาวะที่รัฐหนึ่งใช้กำลังความรุนแรงกับอีกรัฐหนึ่งอย่างแน่นอน โดยอ้างเหตุและสร้างความชอบธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองและทางความมั่นคงบางประการ

สงครามโลกครั้งที่สาม?

แต่สถานการณ์จะลุกลามไปสู่การเป็นสงครามโลกครั้งที่สามหรือไม่ จิตติภัทรมองว่า ณ เวลานี้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอก และไม่ได้เห็นด้วยในการใช้คำว่า ‘สงครามโลกครั้งที่สาม’ ในฐานะคำเปรียบเปรย (analogy) สงครามครั้งนี้ เนื่องจากอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิด คลาดเคลื่อน และไม่น่าเชื่อถือ 

ผลที่ตามมาจากการเปรียบเปรยสถานการณ์ตอนนี้กับเหตุการณ์ในอดีตคือ จะทำให้การประมวลข้อมูลสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนง่ายดายเกินไป ขาดการวิเคราะห์หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของสงครามที่ยังจำกัดอยู่ในปัจจุบัน หรือผู้เล่นที่ยังไม่ได้มีการขยายไปสู่ตัวแสดงอื่นๆ ที่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ 

“การใช้ภาษาแบบสงครามโลกครั้งที่สามทำให้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระโดดข้ามจากตัวแปร a ไปสู่ z เลย โดยข้ามตัวแปร b c d ที่อาจช่วยยับยั้งหรือจำกัดสงครามได้”

“ตรงนี้ต้องระวัง เพราะมีอิทธิพลต่อมโนทัศน์ทางการเมืองในการมองและทำความเข้าใจ การเลือกและตัดสินนโยบาย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการทหารพอสมควร”

“แต่ในทางหนึ่ง หากใช้คำว่าสงครามโลกครั้งที่สามในมิติของการเตือนสติผู้นำโลก เตือนสติผู้นำอย่างปูติน ไบเดน และเซเลนสกีเองด้วยว่า ผลลัพธ์และผลกระทบของสงครามโลกในอดีตเป็นเช่นไร และต้องยับยั้งไม่ให้เกิดอีกครั้งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ ‘never again’ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าเป็นการใช้คำเปรียบเปรยได้ถูกนะ”

สงครามเย็นครั้งที่สอง?

หากไม่ใช่สงครามโลกครั้งที่สาม แล้วสงครามครั้งนี้คือสงครามเย็นครั้งใหม่หรือไม่? 

ในทัศนะของจิตติภัทร นี่ไม่ใช่สงครามเย็น และการเปรียบเปรยสงครามรัสเซีย-ยูเครนว่าเป็นสงครามเย็นก็ค่อนข้างสร้างปัญหาในการทำความเข้าใจความขัดแย้งเช่นกัน 

“วันนี้เราต้องยอมรับว่า มันคือสงครามร้อน มีคนเสียชีวิต มีการใช้กำลังความรุนแรงต่อทหารและพลเรือนจากการปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซีย”

“ในขณะเดียวกัน สงครามครั้งนี้ไม่ใช่สงครามเย็นครั้งใหม่ ในมิติที่ว่ายังไม่มีการสร้างระบบพันธมิตรชัดเจนตายตัว และคำว่าสงครามเย็นยังมีนัยยะของการเรียกร้องให้ดำเนินการการสกัดกั้น (containment) ภัยคุกคามบางอย่าง รวมทั้งการมองโลกแบบขาว-ดำ มีพระเอก มีผู้ร้ายอย่างชัดเจน”

“หากมองแบบนี้ การเมืองโลกจะกลับไปสู่กับดักสงครามเย็นครั้งเก่า ที่มองภัยคุกคามสหภาพโซเวียตบนฐานอุดมการณ์ว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย (demonize) และทำให้การเจรจาการทูต หรือการพูดคุยยากขึ้น”

ระเบียบโลกหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน

แน่นอนว่าสงครามและความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้เขย่าระเบียบความมั่นคงยุโรปไม่น้อย

ประการแรก ในระดับระเบียบความมั่นคงยุโรป การ ‘เลือก’ ใช้เครื่องมือทางการทหารของรัสเซียสะท้อน ‘war of choice’ มากกว่า ‘war of necessity กล่าวคือ เป็นทางเลือกของรัสเซียเองที่จะใช้กำลังความรุนแรงหรือการขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้ง ซึ่งจิตติภัทรมองว่า จะจำกัดทางเลือกเชิงนโยบายและความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของรัสเซีย ที่ไม่ต้องการให้เกิดการขยับขยายอิทธิพลของนาโต และต้องการให้ยูเครนมีความเป็นกลางอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง ณ ตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามกับความต้องการของปูติน คือสงครามไม่ได้หนุนกระแสชาตินิยมหรือคะแนนนิยม รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรที่ทำให้รัสเซียออกจากระบบการเงินระหว่างประเทศ อย่างระบบ SWIFT ก็สร้างผลกระทบต่อรัสเซียและคนรัสเซียอย่างมาก

ประการที่สอง สงครามยูเครนทำให้สมาชิกหรือพันธมิตรนาโตเข้มแข็งขึ้น เพราะมีภัยคุกคามความมั่นคงร่วมกันที่ทำให้องค์กรและพันธมิตรร่วมดำรงอยู่ได้ และมีการรื้อฟื้นบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ จากที่ก่อนหน้านี้มีประเด็นปัญหาระหว่างกัน รวมทั้งทำให้ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ให้สมาชิกนาโตในยุโรปเพิ่มงบประมาณกลาโหมขึ้นประมาณ 2% ต่อ GDP เกิดขึ้นจริง อย่างที่เยอรมนีที่เปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงในระดับที่เรียกว่าปฏิวัติก็ว่าได้ กล่าวคือ มุ่งสู่การใช้งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้น ผิดจากธรรมเนียมการต่างประเทศของเยอรมนี

ประการที่สาม ความพยายามของฝรั่งเศสในการแสวงหาความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ของยุโรป (strategic autonomy) ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการพึ่งพิงกำลังทางทหารจากสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ และท่าทีการนำของฝรั่งเศสภายใต้ประธานาธิบดีอิมมานูเอล มาครงที่ค่อนข้างใกล้ชิดรัสเซียมากกว่าชาติยุโรปอื่นๆ ซึ่งผลักฝรั่งเศสไปสู่ชายขอบของการทูตของยุโรป ณ ขณะนี้

ประการที่สี่ การแสวงหาบทบาทของสหภาพยุโรปในการประนามรัสเซียและยืนยันหลักการเสรีนิยมที่สูงมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปแทบไม่ได้มีบทบาทมากนักในประเด็นปัญหายูเครน แม้ว่าจะยังไม่เห็นการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปและนาโตไปยังยูเครนในเร็ววันนี้ 

“ถ้าไม่ได้มีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นระเบียบ หรือสถาปัตยกรรมความมั่นคงระหว่างประเทศยุโรปจะยังมีนาโตเป็นใจกลางอยู่ และจะมีพันธกิจชัดเจนเข้มข้นมากขึ้น”

แล้วในระดับโลก ระเบียบโลกถูกเขย่าไปอย่างไรบ้าง?

ประการแรก จิตติภัทรชี้ให้เห็นว่า อาจมีการคิดใหม่ในทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ว่า ความสัมพันธ์หุ้นส่วนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic relations) ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปยังมีสำคัญอยู่หรือไม่เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หลังจากที่สหรัฐฯ นับตั้งแต่สมัยทรัมป์จนถึงสมัยไบเดนหันเหความสนใจไปที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อถ่วงดุลอำนาจหรือสกัดกั้นจีน ผ่านหลากหลายยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น AUKUS QUAD หรือกลุ่มพันธมิตรข่าวกรอง Five Eyes

ประการที่สอง การปะทะหรือการขับเคี่ยวระหว่างระเบียบโลกที่วางอยู่บนคุณค่าและกติกาเสรีนิยม (liberal rule-based order) กับระเบียบโลกที่วางอยู่บนพื้นฐานของอำนาจอธิปไตยหรือระบบเวสต์ฟาเลียใหม่ ที่มีจีนและรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งถูกเร่งกระบวนการให้เข้มข้นขึ้น เร่งให้รัฐต่างๆ ตกไปอยู่ในชุดคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งอย่างเข้มข้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในสงครามครั้งนี้ จิตติภัทรอธิบายว่า จีนที่มักเป็นพันธมิตรกับรัสเซียเผชิญความกระอักกระอ่วนหรือมีความกำกวมอยู่พอสมควร แม้ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์โลกตะวันตกหรือนาโตว่ายั่วยุจนนำไปสู่ประเด็นปัญหาความขัดแย้งในโลก แต่จีนก็ไม่ได้ออกตัวสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ต่างจากท่าทีของจีนต่อกรณีไครเมียที่ไม่ให้การสนับสนุนและไม่รับรองสถานะไครเมีย รวมทั้งรอบนี้ จิตติภัทรคิดว่าจีนก็จะไม่รับรองเอกราชให้กับโดเนตสก์และลูฮานสก์ เพราะจีนมีความกังวลสูงมากในเรื่องอำนาจอธิปไตย แต่ในเวลาเดียวกัน จีนก็ไม่คว่ำบาตรรัสเซีย และวิพากษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียมาตลอด 

มองมายังความตึงเครียดในเอเชียตะวันออก แม้การรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจเป็นเสมือนภาพซ้อนทับของความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน และอาจชวนให้คิดได้ว่าอาจเอื้อให้จีนอาศัยจังหวะในการบุกไต้หวันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จิตติภัทรมองว่าเป็นแนวการวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากดอนบาสและไต้หวันมีสถานภาพที่ต่างกัน ในขณะที่กรณียูเครนภาคตะวันออก ดอนบาสนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยยูเครน แต่ในกรณีไต้หวัน จีนใช้นโยบายจีนเดียว และประชาคมระหว่างประเทศยอมรับในทางกฎหมายกลายๆ (de jure) ว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน 

ในแง่ระบบการเงินระหว่างประเทศ รัสเซียก็มีการพูดคุยกับจีนและพยายามการแสวงหาระบบการเงินทางเลือก กล่าวคือ พยายามสร้างระบบคล้าย SWIFT ของโลกขั้วรัสเซีย-จีนเหมือนกัน รวมทั้งรัสเซียเคยสร้างระบบการเงินของตัวเองขึ้นมา มีการทดลองใช้ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่า SWIFT ที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Master หรือ Visa 

“การรุกรานยูเครนรอบนี้อาจไม่ได้ลุกลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ แต่จะเปลี่ยนดุลอำนาจโลก และเปลี่ยนวิธีการที่ระเบียบโลกจะดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้” 

ท่าทีไทยท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน  

ในประเด็นท่าทีของประเทศไทยต่อสถานการณ์ในยูเครน จิตติภัทรให้ความเห็นว่า ไทยต้องถอยกลับมาตั้งหลักว่าไทยจะเล่นเกมแบบไหน 

“ต้องตั้งโจทย์ก่อนว่า ผลประโยชน์ของไทยอยู่ตรงไหน การประกาศตัวเป็นกลาง (neutrality) เป็นจุดยืนแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นความเป็นกลางที่กลางจริงๆ แบบฟินแลนด์ หรือเป็นความเป็นกลางที่เราเลือกคู่ข้างหนึ่งของความขัดแย้งไปแล้วกันแน่ นี่เป็นคำถามหนึ่งที่อาจจะต้องคิดและตอบให้ได้”

“เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นไหมในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ในแง่หนึ่งความเป็นกลางก็สำคัญ แต่ก็ต้องเป็นความเป็นกลางที่ต้องมีจุดยืนบางอย่างที่ยืนอยู่กับสหประชาชาติ ยืนอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ ยืนอยู่กับการไม่เห็นด้วยกับสงคราม และการเรียกร้องให้ใช้วิธีการที่สันติ หรือมากกว่านั้น คงต้องพิจารณากันว่าไทยทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะด้วยการมองจากฐานผลประโยชน์แห่งชาติของคนไทยเป็นหลัก ไม่ใช่เพียงจากฐานอุดมการณ์อย่างเดียว” 

“ไม่ว่าจะมีระบอบการเมืองแบบไหน เราอยู่ในระบบระหว่างประเทศ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เราสามารถบอกได้ว่าไทยไม่เห็นด้วยกับสงครามที่ไม่ชอบธรรม”

“ถ้าจะคงความเป็นกลาง นี่จะเป็นความเป็นกลางที่สง่างามในเวทีระหว่างประเทศ” จิตติภัทรกล่าว

ในการปิดประเด็นส่งท้าย จิตติภัทรยกคำกล่าวของอันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในห้วงเวลานี้

“ท่านกล่าวไว้ว่า ‘สหประชาชาติเกิดขึ้นมาจากสงคราม เพื่อที่จะยุติสงคราม’ สัปดาห์ที่ผ่านมา เป้าหมายดังกล่าวไม่บรรลุ แต่เราไม่สามารถที่จะยอมแพ้ง่ายๆ เราจำเป็นต้องให้โอกาสกับสันติภาพอีกครั้งหนึ่ง”

“ในวันนี้ ประเด็นใหญ่ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหวนกลับมาสู่ประเด็นสงครามและสันติภาพ (war and peace) ซึ่งเป็นประเด็นใจกลางและจุดเริ่มต้นของสาขาวิชาอีกครั้งหนึ่ง หวังว่าเราจะหาทางออกของสงครามในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้คนและมนุษยชาติ มากกว่าที่จะเอื้อประโยชน์ต่อรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือผู้นำคนใดคนหนึ่ง”



หมายเหตุ  – เรียบเรียงจากงานเสวนา ““รัสเซีย” บุก “ยูเครน” : สงครามโลกครั้งที่ 3 ?” จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 – 14.30 น.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save