fbpx

Tori and Lokita ภาษาหนังโลก เล่าโศกนาฏกรรมชีวิตจริง @The World Film Festival of Bangkok 2022

หลังจากว่างเว้นการจัดงานมายาวนานถึงห้าขวบปีตั้งแต่ปี 2017 ด้วยสถานการณ์จำเป็นหลากหลายประการ  เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 15 ก็หวนกลับมาสร้างบรรยากาศแห่งการดูหนังนานาชาติกันอีกครั้งในปี 2022 นี้ โดยมีกำหนดจัดงานกันที่ SF World Cinema @ CentralWorld กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2022 กับหนังดีๆ จากทั่วทุกมุมโลกจำนวนกว่า 60 เรื่องตลอดทั้ง 10 วัน

และนับเป็นเรื่องน่าเศร้าจากความสูญเสีย เมื่ออดีตผู้อำนวยการเทศกาล World Film Festival of Bangkok คุณวิกเตอร์ – เกรียงศักดิ์ ศิลากอง เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยอาการจากเส้นเลือดในหัวใจมีปัญหาเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะกำลังเตรียมจัดเทศกาลครั้งที่ 15 นี้ ซึ่งในที่สุด คุณดรสะรณ โกวิทวณิชชา โปรแกรมเมอร์และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ ผู้เดินทางไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วหลายเทศกาล ก็ได้รับไม้ต่อในการสานงาน เสาะหาหนังดีๆ จากหลากหลายที่มาฉายให้คอหนังในประเทศไทยได้ชมกันในเทศกาลครั้งนี้ได้อย่างยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้การจัดงานในครั้งก่อนๆ

ด้วยกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ จึงอยากจะเชิญชวนคอหนังทั้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ หรือจากจังหวัดใดๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้ลองชมภาพยนตร์จากประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากหนังฝั่งฮอลลีวูดของสหรัฐอเมริกา ลองมา ‘เปิดโลก’ ภาพยนตร์ด้วยการหาดูหนังนอกอเมริกากันบ้าง เผื่อจะได้เห็นว่า ‘ภาษา’ และ ‘ไวยากรณ์’ การทำหนังนั้นมีได้หลากหลายตามพื้นที่และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป และโลกของภาพยนตร์ช่างกว้างใหญ่ มีสิ่งที่เราอาจยังไม่คุ้นชินอีกมากมาย ให้ได้รับรู้ว่าเพื่อนร่วมโลกต่างชาติของเราใช้ชีวิตมีความเป็นอยู่กันอย่างไร พบเจอปัญหาที่เหมือนหรือต่างจากเราขนาดไหน จากหนังที่ได้ชื่อว่าถ่ายทอดชีวิตความเป็นจริงของผู้คนได้จริงกว่าหนังจากฝั่งอเมริกายิ่งนัก

จังหวะนี้จึงขอถือโอกาสแนะนำหนังสักเรื่องที่กำลังจะเข้าร่วมฉายในเทศกาล หนังเล็กๆ จากประเทศเบลเยี่ยมที่วิธีการสร้างงานช่างต่างขั้วไปจากหนังสายตระกูลฮอลลีวูดที่เราคุ้นเคยกันราวชั้นฟ้ากับพสุธาดิน! Tori and Lokita (2022) โดยปรามาจารย์คนทำหนังสองพี่น้อง ฌ็อง-ปิแยร์ ดาร์แด็ง (Jean-Pierre Dardenne) และ ลุค ดาร์แด็ง (Luc Dardenne)

ผู้กำกับ ฌ็อง-ปิแยร์ และ ลุค ดาร์แด็ง เป็นคนทำหนังสายยุโรปที่ยึดมั่นการสร้างงานถ่ายทอดภาพการดิ้นรนสู้ชีวิตของชนชั้นแรงงานในยุโรปร่วมสมัยเสมอมา มีทั้งกรรมาชีพท้องถิ่นตะวันตกและผู้อพยพผิวสีจากต่างแดน วิพากษ์แบบแผนคุณธรรมจริยธรรมในสังคมท่ามกลางสภาวะปากกัดตีนถีบบีบบังคับให้ต้องรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอด แต่จุดเด่นเสมอมาในหนังของสองพี่น้องคู่นี้คือวิธีการกำกับที่มุ่งเน้นความสมจริงในแบบ neo-realist ที่ติดจะดิบและจริงไปถึงระดับ hyperrealist เสียด้วยซ้ำ นักแสดงนำส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่นที่ไม่คุ้นหน้า ดาราหลายคนก็แจ้งเกิดในวงการจากหนังของฌ็อง-ปิแยร์และลุค ดาร์แด็งนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็น โอลิวิเยร์ กูร์เมต์ (Olivier Gourmet) และ เฌเรมี เรอนีเยร์ (Jérémie Renier) จาก The Promise (1996), เอมิลี เดอเกนน์ (Émilie Dequenne) และ ฟาบริซิโอ รอนโจเน (Fabrizio Rongione) จาก Rosetta (1999) หรือ เดโบราห์ ฟรองซัวส์ (Déborah François) จาก The Child (2005) นานๆ ครั้งผู้กำกับพี่น้องคู่นี้จะเลือกใช้บริการจากนักแสดงชื่อดังอยู่แล้วอย่าง เซซีล เดอ ฟรองซ์ (Cécile de France) ใน The Kid with a Bike (2011) หรือ มาริยง โกติยาร์ด์ (Marion Cotillard) ใน Two Days, One Night (2014) โดยมีเงื่อนไขว่าไม่อนุญาตให้เอารัศมีความเป็นดารามาแปดเปื้อนความติดดินเป็นธรรมชาติของตัวหนัง และพวกเธอต้องไม่รังเกียจที่จะรับบทเป็นชนชั้นล่างกร่างเพิ้งในชุดเสื้อผ้าราคาแสนถูก

แต่สิ่งที่ทำให้หนังทุกเรื่องของฌ็อง-ปิแยร์กับลุค ดาร์แด็งสนุกและชวนติดตามนั้นเห็นจะเป็นวิธีการถ่ายทำที่เน้นการนำกล้องห้อยติดกับตัวผู้ถ่ายภาพ และไม่ว่านักแสดงนำจะขยับวิ่งไปทางไหน ตากล้องก็จะวิ่งตามไปราวนำพาผู้ชมไปสอดรู้สอดเห็นชีวิตตัวละครในทุกฝีก้าว งานภาพของผู้กำกับคู่นี้จึงมีความพลวัตอยู่ตลอดเวลา เหวี่ยงวูบซ้ายขวาเดินหน้าหันเหลียวเดี๋ยวก็จับภาพไปยังคนโน้นคนนี้ ในแบบที่คนที่ไม่คุ้นชินกับลีลาการถ่ายแบบ hand-held ก็อาจมีอันวิงเวียนได้ง่ายๆ เมื่อได้ชมจากจอใหญ่ แต่การถ่ายทำที่เหมือนทีมงานดันทำขาตั้งกล้องหายแบบนี้แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสดระทึก ราวกำลังติดตามผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ถ่ายทอดสดสถานการณ์อลหม่านชุลมุน เสริมคุณสมบัติให้หนังของพี่น้องดาร์แด็งมีความเป็นหนังเรื่องเล่าเรื่องราวชีวิตมนุษย์จริง ๆ อย่างยากจะปฏิเสธ

มาถึงผลงานเรื่องล่าสุด Tori and Lokita ที่เพิ่งจะเปิดตัวในสายประกวดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อกลางปี ทั้งได้รับรางวัลพิเศษครบรอบ 75 ปีของเทศกาล หลังจากที่ผู้กำกับที่ร่วมกันทำหนังด้วยกันมาตลอดคู่นี้เคยได้รับรางวัลจากเทศกาลนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนรวมถึงรางวัลใหญ่อย่างปาล์มทองคำถึงสองครั้งจากเรื่อง Rosetta (1999) และ The Child (2005) ก็เรียกได้ว่ายังคงลายเซ็นอันเป็นแบบฉบับของฌ็อง-ปิแยร์และลุค ดาร์แด็งไว้ถ้วนครบ ถึงขนาดที่ต่อให้ปิดชื่อเสียงเรียงนามเอาไว้ หลายคนก็อาจบอกได้ทันทีว่านี่คือหนังที่กำกับโดยพี่น้องคู่นี้

Tori and Lokita เล่าเรื่องการผจญภัยสู้ชีวิตของวัยรุ่นหญิงผิวดำ โลกิตา (โจเอลี มบุนดู – Joely Mbundu) จากทวีปแอฟริกา กับ โทริ (ปาโบล ชิลส์ – Pablo Schils) เด็กชายผิวดำร่วมทวีปจากสถานดูแลเด็กกำพร้า ณ ประเทศเบลเยี่ยมในปัจจุบัน ทั้งคู่ไม่ได้มีหลักฐานใดยืนยันว่าเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดกันจริงๆ แต่การตกอยู่ในชะตากรรมของผู้อพยพผลัดถิ่นเหมือนกัน ก็ทำให้ทั้งโทริและโลกิตาต่างปวารณาตัวเป็นยิ่งกว่าคู่พี่น้องที่ต้องคอยช่วยเหลือดูแลกัน สร้างความผูกพันในแบบครอบครัวจากความสมัครใจ เพื่อประกาศให้ทุกคนรู้ว่าไม่มีใครสามารถจะเติบใหญ่ในวัยวันเหล่านี้แต่โดยลำพังได้ พวกเขาจะต้องมีคนคอยข้างกายให้ความรักความปรารถนาดีเพื่อที่จะยังมีศรัทธาฝ่าทุกความยากลำบากและอยากจะยังมีชีวิตอยู่

ทั้งโทริและโลกิตาต่างก็ช่วยกัน ‘รับงาน’ ทำทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างร้องเพลงอิตาเลียน Alla fiera dell’est (1976) ของ อันเจโล บรันดูอาร์ดิ (Angelo Branduardi) ให้แขกในร้านอาหารฟัง รับสั่งงานส่งพิซซ่าและอาหาร แต่งานที่ทำให้พวกเขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดก็คือการเป็นเอเย่นต์ค้ายา จนสุดท้ายฝ่ายโลกิตาต้องแยกตัวจากโทริไปทำงานเฝ้าโกดังเพาะปลูกกัญชาที่ปิดล็อกไว้อย่างแน่นหนาโดยลำพัง ทั้งยังถูกจับปิดตาขณะโดยสารรถไป ไม่ให้ล่วงรู้ได้ว่าโรงเพาะลับแห่งนี้อยู่ที่ไหน กลายเป็นสถานการณ์ท้าทายความฉลาดเฉลียวเกินวัยของ โทริ ว่าจะหาทางกลับไปหาพี่สาวที่รักของเขาได้หรือไม่

สองนักแสดงผิวดำหน้าใหม่ ปาโบล ชิลส์และโจเอลี มบุนดู ที่มารับบทเป็นโทริและโลกิตา ต่างก็รับงานแสดงหนังยาวเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก โดยไม่ปรากฏเครดิตการแสดงใดๆ ก่อนนี้มาก่อน ซึ่งก็นับว่าน่าทึ่งอย่างมากที่ทั้งคู่สามารถเล่นได้อย่างซื่อใสให้ความเป็นธรรมชาติปราศจากจริตเสแสร้งด้านการแสดง โดยเฉพาะส่วนสำคัญคือสายใยความเป็นพี่น้องของทั้งคู่ที่ดูแล้วไม่มีจุดไหนแกล้งทำเลย ชวนให้ต้องนับถือฝีมือในการปั้นนักแสดงหน้าใหม่มือใหม่ของฌ็อง-ปิแยร์และลุค ดาร์แด็งเสียจริงๆ ชนิดที่ถ้าใครมีโอกาสได้เล่นหนังให้พี่น้องคู่นี้เมื่อไหร่ ขอให้รู้ว่านั่นเป็นโอกาสแสนยิ่งใหญ่ที่ต้องเคลียร์ทุกคิวสำคัญในชีวิตให้แบบจะอิดออดเล่นตัวอะไรไม่ได้เลย

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องราวการผจญภัยของพี่น้องโลกิตาและโทริคือ ถ้าดูกันดีๆ งานที่พวกเขาทำมักจะล้ำเส้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เมื่อมันคือหนทางในการหารายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ก็ชวนคิดว่าเรื่องของศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม มโนธรรมใดๆ ก็ต้องพักเอาไว้ก่อนหรือไม่ และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งโทริและโลกิตาจะยังดู ‘บริสุทธิ์’ จากการประกอบมิจฉาอาชีวะลักษณะนี้มาก เพราะสถานการณ์ต่างฟ้องชัดว่าพวกเขาไร้ทางเลือก โดยเฉพาะเมื่อมีภาระความจำเป็นด้านการเงินเดินเป็นเงาตามหลังอยู่ตลอด สิ่งเดียวที่จักยึดเป็นสรณะคือสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด กอดคอกันฝ่าฟันเพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดยหาได้มีความแก่แดดแก่นแก้วตาแป๋วแสนรู้แบบนักแสดงเด็กที่เห็นกันจนชินตาจากหนังฝั่งอเมริกา ผ่านไวยากรณ์การทำหนังในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็นำเราไปใกล้ชิดกับโลกความเป็นจริงได้อย่างน่าตกใจ!

รายละเอียดเรื่องราวอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้ เห็นทีจะต้องขอเชิญชวนให้ผู้ชมได้ลองไปสัมผัสกันเองจากการฉายในเทศกาลฯ และนี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีรูปแบบวิธีการทำหนังที่แปลกออกไปอีกนับร้อยนับพัน ซึ่งรับประกันว่าจะแตกต่างจากหนังเชิงพาณิชย์ที่เข้าฉายพร้อมกันในโรงอื่นๆ กับงานที่มุ่งคืนกำไรในการเข้าใจชีวิตและโลกให้แก่คนดูผู้ใฝ่รู้ความเป็นไปในภาพกว้าง จากหนังที่ช่างซื่อสัตย์ต่อเรื่องราวในชีวิตผู้คนจริงๆ อย่างแสนดิ่งลึกเหล่านี้!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save