fbpx

‘กบฏ 6 มกรา’ ในอเมริกาและไทย

เมื่อเกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากกระบวนการตัดสินใจของประชาชนผู้เลือกตั้งอย่างเสรี ไม่ว่าจะทำโดยกองทัพหรือกองกำลังพิเศษหรือเฉพาะกิจอะไรก็ตาม รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากประชาชนควรจะทำอย่างไร คำตอบเท่าที่มีการกระทำให้เห็นมาในอดีตมีสองอย่าง อย่างแรกคืออยู่เฉยๆ ยอมรับผลของการใช้กำลังนอกระบบอย่างไม่มีปากและเสียง อย่างที่สองคือต่อสู้ ไม่ยอมรับผลของการใช้กำลังนอกระบบมาทำลายรัฐบาลและรัฐสภาลงไป

ในกรณีของรัฐบาลไทยและรัฐสภา เรากระทำตามทั้งสองอย่าง คือแต่แรกก็ไม่ยอมรับ ต่อเมื่อทหารออกมาควบคุมจึงจำต้องยอมรับการข่มขืนใจอย่างไม่มีทางไป รัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยคณะทหารบกเป็นครั้งแรก ตอนนั้นสภาผู้แทนราษฎรยังเปิดอยู่ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2490 นายพึ่ง ศรีจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 สมัย สมาชิกวุฒิสภา 1 สมัย เป็นรัฐมนตรี 2 ครั้ง และเป็นเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินขึ้นนั่งบนบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเริ่มประชุมตามที่ได้นัดประชุมไว้ล่วงหน้า แต่การประชุมวันนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาไม่ครบองค์ประชุม จากนั้นมีนายทหารคนสำคัญในคณะรัฐประหารมาเชิญตัวท่านไป มีการตอบโต้กันก่อนที่ประธานสภาฯ จะยอมให้พาตัวออกไปด้วยการบังคับ บทบาทของประธานสภาฯ ในเหตุการณ์ขณะวิกฤตของการเมืองไทยยุคแรกครั้งนี้ไม่มีการบันทึกและนำเสนอต่อมาในหนังสือและตำราประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลย กลายเป็นความเงียบมาโดยตลอด

อีกครั้งคือขณะที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2491 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากในสภา นายทหารคณะรัฐประหารใช้กำลังไปบอกให้นายควงออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้จอมพล ป.พิบูลสงครามเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน แต่แทนที่นายควงและพรรคประชาธิปัตย์จะหาทางสู้กับคณะทหาร กลับยอมตามความต้องการอย่างดุษณี เหตุผลหนึ่งคือพรรคประชาธิปัตย์ยังมีพื้นที่ของการเป็นพันธมิตรข้างน้อยของเครือข่ายชนชั้นนำขณะนั้น จึงไม่คิดต่อต้าน ประวัติศาสตร์ของการต่อต้านและไม่ยอมรับการรัฐประหารในไทยจึงไม่เคยเกิดอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

กระทั่งเมื่อรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่นายนวมทอง ไพรวัลย์คนขับแท็กซี่พุ่งเข้าชนรถถังในวันนั้นเพื่อประท้วงการยึดอำนายอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่ง เขายังต่อสู้ต้านการรัฐประหารต่อมาจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม วันสุดท้ายของชีวิตเขาและวันแรกของประวัติศาสตร์การต่อต้านรัฐประหารในประเทศนี้ได้เริ่มต้นขึ้น

ในสหรัฐฯ ไม่น่าเชื่อว่าก็มีสถานการณ์ทำนองคล้ายกันคือมีการใช้กำลังนอกระบบเข้ามาบังคับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 จากรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์แห่งพรรครีพับลิกันที่แพ้คะแนนเลือกตั้งทั่วไปแก่นายโจ ไบเดนแห่งพรรคเดโมแครต เพื่อรักษาอำนาจรัฐบาลไว้ในมือต่อไป โดนัลด์ ทรัมป์ไม่ประกาศยอมรับผลการเลือกตั้งเหมือนอย่างธรรมเนียมที่ทำกันมาหลายยุคสมัย ตรงกันข้ามเขากลับอ้างว่า คะแนนชนะเลือกตั้งนั้นมาจากการโกง จากนั้นนายทรัมป์ก็หาทาง ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา จนถึงการปลุกระดมมวลชนจัดตั้งให้ออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งและกระทั่งใช้กำลังบุกเข้าไปในรัฐสภาคองเกรสเพื่อยุติการนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งแล้วเปลี่ยนคะแนนให้ทรัมป์เป็นผู้ชนะไป จนเกิดการปะทะต่อสู้ทำร้ายกับตำรวจรัฐสภา เรียกได้ว่าเป็นพฤติการณ์ของการก่อกบฏย่อมๆ ได้อันหนึ่ง

วันที่ 6 มกรา ซึ่งกำหนดตายตัวแล้วในรัฐธรรมนูญว่าจะมีการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภาเพื่อนับคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งจากทุกมลรัฐ (รวมวอชิงตันดีซีด้วย) ว่าผู้สมัครับเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนไหนได้คะแนนสูงสุด ก็จะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งในที่สุด วันที่ 6 มกราคม 2022 จึงเป็นเส้นตายที่ทรัมป์จะอยู่หรือไป

แล้วสิ่งที่คนคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น มีกลุ่มประชาชนหลากหลายพากันเดินขบวนประท้วงผลการเลือกตั้งมาชุมนุมกันที่สวนสาธารณะใกล้ๆ ทิศใต้ของทำเนียบขาว หมายความว่ามวลชนเหล่านั้นคือผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั่นเอง มีการยกป้ายเชียร์และสดุดีนายทรัมป์รวมถึงคำขวัญของเขาในการเลือกตั้งเต็มไปหมด คำขวัญล่าสุดที่ใช้ในตอนนั้นคือ “เดินขบวนรักษาอเมริกา” (Save America March) ซึ่งบัดนี้ถูกสร้างเป็นวาทกรรมที่นักการเมืองและนักกิจกรรมไปถึงคนสนับสนุนทรัมป์ใช้เรียกว่า ‘ผู้ปฏิเสธการเลือกตั้ง’ (Election Deniers) ประธานาธิบดีทรัมป์กับรูดี จูลิอานี ที่ปรึกษากฎหมายและ ส.ส.สมาชิกรีพับลิกันจำนวนหนึ่งออกไปร่วมการประท้วงและขึ้นเวทีปลุกระดมมวลชนประท้วงด้วยเป็นชั่วโมง ประเด็นใหญ่ของทรัมป์คือโจมตีการเลือกตั้งว่าคดโกง และปลุกให้ผู้ประท้วงเดินขบวนไปยังตึกคองเกรส กล่าวว่าให้พวกนั้นไปก่อนแล้วเขาจะตามไปทีหลัง

ช่วงบ่ายนั้น เรื่องที่สร้างความตระหนกตกใจแก่ฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภาคือฝูงชนแห่กันเคลื่อนไปยังตึกสภาคองเกรส แล้วใช้กำลังบุกเข้าทำลายประตูเพื่อจะเข้าไปในรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่หวงห้าม เกิดการปะทะ ยิงด้วยอาวุธร้ายแรง ทั้งผู้ประท้วงและตำรวจสภาล้มตาย 4 คนบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์รุนแรงและไม่เรียบร้อยในที่สุดยุติหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง (จากบ่ายสี่ถึงหนึ่งทุ่ม) ตอนนั้นทรัมป์กับคณะนั่งดูเหตุการณ์อยู่ในทำเนียบขาว ไม่ไกลนักจากรัฐสภาคองเกรส ทรัมป์ไม่ได้ห้ามหรือปรามแม้เห็นผู้ชุมนุมใช้กำลังทำลายเครื่องกีดขวางหน้าตึกและปีนป่ายเข้าไปในตึกตามหน้าต่าง กระทั่งชั่วโมงสุดท้ายที่ทรัมป์ยอมออกโทรทัศน์ประกาศให้ยุติการชุมนุม นั่นเองที่วิกฤตการณ์ตึงเครียดและพร้อมจะแปรไปสู่สภาพอนาธิปัตย์หรือสงครามกลางเมืองในกรุงวอชิงตันดีซีถึงยุติลงได้

หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบวันที่ 6 มกราคม สภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของประธานแนนซี เพโลซีก็ดำเนินการสอบสวนความเป็นมาและเบื้องลึกของเหตุการณ์นี้โดยตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเรียกว่า ‘คณะกรรมาธิการวันที่ 6 มกราคม’ (January 6 Committee) มีสมาชิก 9 คนแต่มีสมาชิก ส.ส.พรรครีพับลิกันเพียง 2 คน การสืบสวนและไต่สวนดำเนินไปอย่างไม่อึกทึกครึกโครมนัก เพราะฝ่ายรีพับลิกันพยายามต่อต้านขัดขวางการทำงาน โจมตีว่าคณะกรรมาธิการนี้ไม่เป็นกลาง หากแต่จะเล่นงานรีพับลิกันเท่านั้นเอง จนเมื่อผ่านไปหลายเดือน ถึงได้เริ่มออกข่าวและเปิดเผยผลการสอบสวนและไต่ความ เพื่อแสดงให้สาธารณชนรับทราบว่าเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคมนั้นไม่ใช่การออกมาประท้วงอย่างปกติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย หากแต่มีการวางแผนและจัดตั้งเตรียมการอย่างเป็นระบบมีขั้นตอนและเพียบพร้อมด้วยเงินทุนหนุนหลังอันรวมไปถึงการสะสมอาวุธร้ายแรงจำนวนหนึ่งในสถานที่ใกล้ๆ กับรัฐสภาคองเกรส

ถึงตอนนี้ผลงานของคณะกรรมาธิการวันที่ 6 มกราคมเริ่มมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือว่าไม่ใช่การเล่นการเมืองสกปรก หากแต่เป็นการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรอย่างจริงจัง นั่นคือการพิทักษ์รักษาระบบประชาธิปไตยและความชอบธรรมเอาไว้

ประเด็นน่าสนใจคือ ผมเปรียบเทียบกับการยึดอำนาจด้วยกำลังนอกระบบของไทยกับอเมริกาว่ามีอะไรที่มีลักษณะร่วมและต่างกันบ้าง ด้วยเหตุผลประการใด โดยที่ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ระบบการเมืองของสองประเทศมีอะไรที่ผิดปกติเหมือนหรือคล้ายคลึงกันมากที่สุด นั่นคือการพยายามยึดหรือทำลายอำนาจของฝ่ายตรงข้ามในการเข้ามาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีการนอกระบบและนอกกฎหมาย กรณีของทรัมป์ในอเมริกา ยังเถียงกันไม่ตกฟากว่าควรเรียกว่าอะไรดี มีตั้งแต่ ‘การทำรัฐประหาร’ (coup) การยึดอำนาจด้วยกำลัง การโจมตีเมืองหลวง การทำลายกฎหมายรัฐธรรมนูญ คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่สมาชิกพรรคเดโมแครตไปถึงสื่อมวลชนฝ่ายก้าวหน้าหรือราดิคัล

ในขณะที่สมาชิกพรรครีพับลิกันและมวลชนเอียงขวาอนุรักษ์และเชิดชูคนผิวขาวเป็นใหญ่ ไม่ยอมเรียกด้วยวลีเหล่านี้ หากเถียงว่าก็แค่เป็นการประท้วงตามสิทธิในรัฐธรรมนูญข้อแก้ไขที่หนึ่งเท่านั้น (First Amendment) ไม่มีอะไรตื่นเต้นแปลกประหลาดกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ พวกนี้ไม่เห็นว่าการใช้กำลังบุกและทำลายรัฐสภาไปถึงค้นห้องทำงานเพื่อเอาตัวประธานแนนซีนั้นเป็นความผิดทางกฎหมายได้ หรือการโห่ร้องว่า “เอาไมค์ เพนซ์แขวนคอ” เป็นการขู่และต้องการประทุษร้ายรองประธานาธิบดีของพวกเขาด้วยกำลัง ซึ่งก็ย่อมตกเป็นจำเลยในคดีอาญาได้ ที่สำคัญซึ่งฝ่ายการเมืองของพรรคเดโมแครตและปัญญาชนเสรีนิยมพากันวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวว่ามันคือการทำลายจิตวิญญาณและอุดมการณ์ของระบบประชาธิปไตยเสรีโดยสิ้นเชิง ความคิดเบื้องหลังการกระทำนี้ไม่อาจรับได้ ไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในทางหลักการทางการเมือง

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมได้ข้อสรุปอันหนึ่งว่า เมื่อมีความต้องการในการรักษาหรือทำลายอำนาจของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายกระทำการย่อมไม่คิดและคำนึงหลักการทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ตาม ล้วนมีโอกาสที่จะคิดและกระทำเหมือนกันได้ทั้งนั้น แสดงว่าหลักการระบบประชาธิปไตยในตัวมันเองนั้น ไม่มีน้ำหนักและความคงทนมั่นคงหรือสามารถสำแดงพลังในการสยบคนที่จะทำลายมันได้ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีแต่เศษน้ำหมึกบนแผ่นกระดาษที่พร้อมจะเป็นเศษกระดาษที่ไร้น้ำยาได้ทุกเมื่อ ที่มีคนถืออาวุธใช้กำลังเข้าบังคับมัน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์และความพยายามในการต้านการแย่งอำนาจโดยไม่ชอบในอเมริกามีน้ำยาและความเอาจริงเอาจังมากกว่ากรณีไทยอย่างมาก โดยเฉพาะจากฝ่ายผู้แทนราษฎรเอง นั่นคือบทบาทของรัฐสภาคองเกรสในการพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ตามคำปฏิญาณที่ให้ไว้เมื่อตอนรับตำแหน่งอันทรงเกียรติในรัฐสภาทั้งไทยและอเมริกาก็เหมือนกันในข้อนี้ สภาผู้แทนราษฎรอเมริกันที่พรรคเดโมแครตกุมเสียงข้างมากไม่รอช้า จัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษทำการสอบสวนเรื่องเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม อันเป็นกรรมวิธีปกติที่สภากระทำอยู่ก่อนแล้วในการแก้ไขและมีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาการเมืองของประเทศ เพราะคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ มีอำนาจตามกฎหมายในการเรียกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ปากคำในสภาฯ ได้ แม้อาจไม่ใช่ผู้กระทำผิดก็ตาม อำนาจนี้ขัดขืนไม่ได้ คำให้การเหล่านี้อาจใช้ในการดำเนินคดีในศาลต่อไปได้ ถือว่าเป็นหลักฐานมีน้ำหนัก ดังนั้นผู้ให้ปากคำจึงต้องสาบานตนก่อนว่าจะพูดแต่เฉพาะความจริงเท่านั้น

ปรากฏว่าหลายสัปดาห์ผ่านไปและพยานมากหน้าหลายตาพากันยอมรับการเรียกตัวของคณะกรรมาธิการ 6 มกราคม ที่ผมอดแปลกใจไม่ได้เมื่อเห็นบรรดาที่ปรึกษาใหญ่ทำเนียบขาว (ตำแหน่งเท่ารัฐมนตรี) หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ที่ปรึกษากฎหมายทำเนียบขาว ไปถึงระดับล่างที่เป็นเลขานุการของแกนนำในทำเนียบขาวและฝ่ายประชาสัมพันธ์ของทำเนียบขาว ออกมาให้ปากคำอย่างเต็มตามความจริง ไม่ปกปิดอะไร แม้คำให้การเหล่านั้นจะทำให้เจ้านายในทำเนียบขาวด่างพร้อยไปตามๆ กัน ทำให้ภาพและเส้นสนกลในของการเกิดเหตุการณ์นั้นค่อยกระจ่างและเป็นระบบมากขึ้น พูดง่ายๆ คือค่อยงวดลงไปถึงก้นบึ้งของหลุมดำนี้ว่าในที่สุดแล้วใครเป็นคนอยู่เบื้องหลังหรือเป็นผู้สั่งการวางแผนตั้งแต่ต้น นักสังเกตการณ์การเมืองที่อ่านเกมนี้ออกแต่แรกก็เดาได้ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าของกรณีวันที่ 6 มกราคมนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั่นเอง แต่ปัญหาคือใครและหลักฐานอะไรที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องเขาต่อศาลได้จริงๆ

ผมเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องความประหลาดของตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนนี้ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วตำแหน่งนี้แทบจะมีอำนาจการเมืองอันสูงสุดชนิดที่ไม่มีอำนาจอื่นใดทางกฎหมายในประเทศที่จะเล่นงานฟ้องร้องเอาผิดกับเขาได้เลย เปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์ในประเทศที่ยังมีระบบกษัตริย์อันทำงานได้เต็มที่หรือเกือบเต็มก็ได้ ที่ผ่านมาไม่มีประธานาธิบดีคนไหนอาจหาญคิดใช้อำนาจประธานาธิบดีอย่างเต็มที่และหรืออย่างล้นพ้น เพราะไม่มีกฎหมายหรืออำนาจอื่นใดบังคับอยู่ ที่มักอธิบายกันก็บอกว่ามีการถ่วงดุลและแบ่งอำนาจปกครองนี้กับฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ แต่ในทางปฏิบัติฝ่ายบริหารก็ยังมีอำนาจทางกฎหมายและประเพณีที่กระทำอะไรก็ได้โดยรัฐสภาได้แต่คัดค้านและตรวจสอบเพื่อถอดถอน หากรวบรวมหลักฐานได้ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งก็ต้องอาศัยเสียงข้างมากในวุฒิสภาอีกสำหรับการลงมติลงโทษประธานาธิบดีได้ นายทรัมป์โดนดำเนินการถอดถอน (impeachment) โดยสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครตถึง 2 ครั้งในสมัยของเขา แต่ก็รอดตัวออกมาได้เพราะเสียงข้างมากในวุฒิสภาเป็นฝ่ายรีพับลิกัน ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์เอ่ยปากครั้งหนึ่งว่า เขาสามารถทำอะไรก็ได้ รวมถึงการใช้ปืนยิงคนตายในถนนกลางมหานครนิวยอร์กได้ โดยที่ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ พูดต่อหน้านักข่าวทั้งประเทศอย่างไม่ยี่หระ

บทเรียนของคณะกรรมาธิการวันที่ 6 มกราคมจึงสำคัญและมีความหมายยาวไกล ว่ามันไม่ใช่เพียงการต่อสู้เพื่อเอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์เท่านั้น หากสำคัญอยู่ที่การทำให้หลักการและความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตยดำรงคงอยู่และในความหมายที่ถูกต้องเข้าใจได้ทั่วไป ไม่ใช่เป็นนามธรรมและอุดมการณ์ที่เอาไปรับใช้ใครบางคนและบางสถาบันเท่านั้น ลิซ เชนีย์ (รีพับลิกัน รัฐไวโอมิง) รองประธานของคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ประเทศต้องไม่เพียงแต่ลงโทษพวกพลทหารในการบุกโจมตีรัฐสภาเท่านั้น “หากต้องดำเนินการและนำเอาบรรดาคนที่วางแผนในการล้มการเลือกตั้งที่นำมาสู่จุดของความรุนแรงและนำพวกนั้นมารับผิดชอบการกระทำของพวกเขาด้วย”

อีกฉากที่ให้ภาพและนัยของความเป็นประชาธิปไตยในอเมริกาได้อย่างดี คือบทบาทและการยืนยันหลักการและความคิดของพวกเขาต่อหน้าสถานการณ์ความรุนแรงและไร้การควบคุมที่เกิดขึ้นในรัฐสภาคองเกรสวันนั้น สองคนที่ผมติดตามดูอย่างใกล้ชิดคือประธานสภาผู้แทนราษฎรนางแนนซี เพโลซี กับนายชัค ชูเมอร์ เดโมแครต หัวหน้าเสียงข้างมากในวุฒิสภาขณะนั้น ที่ต้องหลบหนีไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยนอกตึกรัฐสภา ทั้งสองคนพยายามโทรศัพท์ติดต่อเพื่อหาคนมีอำนาจในการควบคุมและคลี่คลายสถานการณ์ คนแรกที่โทรไปหาคือรักษาการรัฐมนตรีกลาโหมคริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ เป็นนายพลที่นายทรัมป์แต่งตั้ง ก็ไม่ได้การตอบรับในทางบวกนัก คนต่อไปคือรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมนายเจฟฟรี โรเซ็น นายชูเมอร์บอกเขาว่าในความรับผิดชอบตามกฎหมายของคุณ เกลี้ยกล่อมให้นายทรัมป์ไปกล่าวในที่สาธารณะเพื่อบอกให้ผู้สนับสนุนเขาออกไปจากบริเวณรอบเมืองหลวง แต่ไม่มีคำตอบจากอีกฟาก เจ้าหน้าที่รัฐอีกกลุ่มที่ประธานสภาฯ และหัวหน้าวุฒิสภามุ่งไปหาเพื่อกู้สถานการณ์ ได้แก่ผู้ว่าการมลรัฐรอบๆ เมืองหลวง เช่นเวอร์จิเนียและแมรีแลนด์ โดยขอร้องให้พวกเขาระดมเรียกหน่วยทหารแห่งชาติ (Verginia National Guards) ที่ประจำอยู่ในมลรัฐเหล่านั้นให้เดินทางเข้ามากู้สถานการณ์ในวอชิงตันดีซี ตามกำหนดการจะต้องรอให้ทางกระทรวงเพนตากอน (กลาโหม) ทำหมายกำหนดการไปให้เสียก่อนจึงจะเคลื่อนกำลังออกมาได้ แต่วันนั้นทางผู้ว่าฯ เวอร์จิเนียไม่รอคำอนุมัติจากกลาโหม สั่งให้หน่วยทหารเคลื่อนออกไปยังกรุงวอชิงตันทันที หลังจากนั้นกลาโหมถึงออกคำสั่งอนุมัติตามมา

ทั้งหมดนี้ได้ข้อคิดน่าสนใจว่า ถึงแม้นักการเมืองในรัฐสภาจะทำการต่อสู้กับการยึดอำนาจ แต่ปัญหาตามมาคือพวกเขาต้องหากองกำลังสนับสนุนด้วย ในกรณีนี้เห็นได้ว่า ฝ่ายพลเรือนไปหวังพึ่งกองทัพและยุติธรรมไม่ได้เลย ช่างเหมือนกับสภาพการณ์ในเมืองไทยยามรัฐประหารเช่นกัน คนที่แนนซีและชัค ชูมเมอร์พอพึ่งพาอาศัยได้คือผู้ว่าการมลรัฐที่ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเหมิอนกัน

 ก่อนที่การเผชิญหน้าระหว่างหน่วยทหารแห่งชาติของมลรัฐกับม็อบหนุนนายทรัมป์จะเกิดขึ้น เหตุการณ์ก็เริ่มคลี่คลายไปในทางสงบลง นายทรัมป์ยอมออกไปถ่ายวิดีโอที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาว แล้วถ่ายทอดผ่านไปยังกลุ่มผู้ประท้วงให้ยุติความรุนแรง ถอยออกมาแล้วกลับบ้านไปเสีย นี่เป็นคำกล่าวปิดงานบุกโจมตีเมืองหลวงของนายทรัมป์ ดังความบางตอนว่า

“ข้าพเจ้ารู้ถึงความเจ็บปวดของพวกคุณ ข้าพเจ้ารู้ว่าพวกคุณถูกทำร้าย ได้มีการเลือกตั้งที่ถูกขโมยไป มันเป็นการเลือกตั้งแลนด์สไลด์ที่ทุกคนรู้ดีโดยเฉพาะพวกอีกฝั่งหนึ่ง แต่พวกคุณต้องกลับบ้านเดี๋ยวนี้แล้ว เราจำเป็นต้องมีสันติภาพ เราจำเป็นต้องมีกฎหมายและความเป็นระเบียบ เราจำเป็นต้องเคารพประชาชนผู้ยิ่งใหญ่ของเราในทางกฎหมายอย่างที่เห็นอยู่นี้ เมื่อเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในที่ซึ่งพวกเขาสามารถแย่งไปจากเราได้ จากข้าพเจ้า จากท่าน จากประเทศของเรา…”

ในที่สุด สมาชิกสองสภาก็กลับมาเข้าประชุมต่อในเรื่องการนับคะแนนผู้เลือกตั้งต่อไป ตั้งแต่เวลาสองทุ่มไปจนกระทั่งเสร็จกระบวนการในดึกของคืนวันนั้น นับว่าเป็นวันรวมคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งที่ยาวนานและระทึกใจยิ่งสำหรับสมาชิกรัฐสภาอเมริกัน ข้อสังเกตสุดท้ายที่น่าสนใจคือบทบาทของนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีของนายทรัมป์ เขาตัดสินใจไม่ทำตามคำบงการของนายทรัมป์ที่ให้ล้มการนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งแล้วแต่งตั้งใหม่ ก็จะได้คนที่ยกมือให้ทรัมป์มากกว่าไบเดน แต่เพนซ์รู้ดีว่านั่นมันคือการทำผิดกฎหมาย เขายอมรักษาระบบ แม้มันหมายถึงว่าอนาคตเขาในพรรครีพับลิกันก็จะหดสั้นลง เพราะทรัมป์จะไม่สนับสนุนเขาอีกต่อไป

ทั้งหมดนั้นเป็นฉากทัศน์ของความเป็นไปของระบอบประชาธิปไตยในอเมริกา ที่แสดงถึงภยันตรายและอันตรายที่สามารถขัดขวางและหยุดยั้งกระทั่งทำลายความเป็นประชาธิปไตยที่ร่วมกันสร้างมา 235 ปีลงไปในการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันเพียงไม่ถึงวัน แต่ก็แสดงถึงความเป็นไปได้ของการต่อต้านคัดค้านการโค่นล้มระบบได้เช่นกัน ซึ่งคนแรกๆ ที่ต้องออกมาแสดงจุดยืนนี้คือบรรดาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งนั่นเอง

คราวหน้าหากมีการรัฐประหารอีก เราจะได้เห็นประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย บรรดาผู้แทนราษฎร และคนขับแท็กซี่ผู้ทรงเกียรติ ออกมานำประชาชนต่อต้านคัดค้านและประณามการใช้กำลังนอกระบบเข้าโค่นล้มรัฐบาลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องเสียเวลาโทรหาผู้นำเหล่าทัพ ตำรวจและรัฐมนตรีว่าการยุติธรรม แต่โทรหาผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save