fbpx
สงครามเซมิคอนดัคเตอร์จีน-สหรัฐฯ: ตัดสินอนาคตโลก

สงครามเซมิคอนดัคเตอร์จีน-สหรัฐฯ: ตัดสินอนาคตโลก

หลายคนบอกว่าวันที่มีผลสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจการเมืองโลกในปีนี้ คือ วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกกฎเกณฑ์จำกัดอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์จีนที่เคร่งครัดชนิดสาหัสมาก

หลายคนบอกเป็นเสมือน ‘Ukraine Moment’ ของการประกาศสงครามเศรษฐกิจของจริงกับจีน เรียกว่าทำให้ Trade War และ Tech War ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำเพียงแบนบริษัทจีน 2-3 บริษัทอย่างหัวเว่ยหรือ ZTE กลายเป็นน้ำจิ้มไปเลย

สหรัฐฯ ยังคงเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งมีซัพพลายเชนที่ซับซ้อน ถึงแม้ว่า TSMC ของไต้หวันจะผลิตชิปชั้นสูง (เล็กกว่า 7 นาโนเมเตอร์) เป็นปริมาณส่วนใหญ่ที่ใช้ในโลก แต่ก็จำเป็นต้องพึ่งพาซอฟแวร์และเครื่องจักรการผลิตจากสหรัฐฯ จนมีคำกล่าวว่าหากจีนยึดไต้หวันเมื่อไหร่ มูลค่าของบริษัทของ TSMC ก็จะกลายเป็นศูนย์ทันที เพราะจะไม่สามารถผลิตชิปได้หากไม่มีพื้นฐานเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

ส่วนบริษัทจีนอย่าง SMIC สามารถผลิตได้แต่ชิปหยาบ (11-16 นาโนเมเตอร์) ที่ใช้ในอุปกรณ์อย่างเครื่องซักผ้า แถมยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 11 ของตลาดโลกในชิปหยาบเท่านั้น เรียกว่าจีนยังเป็นผู้ตามอยู่หลายขุม

สหรัฐฯ ให้เหตุผลของการออกกฎเกณฑ์จำกัดอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนว่ามาจากข้อกังวลเรื่องความมั่นคง เนื่องจากจีนใช้นโยบาย ‘การทหารและภาคธุรกิจต้องเกื้อหนุนกัน’ กล่าวคือเทคโนโลยีชั้นนำของภาคธุรกิจเทคโนโลยีจีนต้องแบ่งปันเทคโนโลยีให้กองทัพจีนนำไปใช้ได้ด้วย สหรัฐฯ จึงประกาศว่ามีความจำเป็นต้องไม่ให้แม้แต่ภาคธุรกิจจีนเข้าถึงชิปชั้นสูง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีสมัยใหม่อีกมาก เป้าหมายเพื่อให้สหรัฐฯ คงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิปชั้นสูงต่อไป และชะลอการเติบโตและพัฒนาเทคโนโลยี AI ของจีน

กฎเกณฑ์รอบนี้ของสหรัฐฯ เรียกว่าเข้มงวดมากและปิดจีนทุกประตู เริ่มตั้งแต่ห้ามบริษัทสหรัฐฯ หรือบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ขายชิปชั้นสูงให้บริษัทจีนใช้ในการประมวลผล AI

หากมีเพียงกฎข้อนี้ จีนก็อาจพยายามทำชิปชั้นสูงเอง แต่สหรัฐฯ ยังปิดประตูบานถัดไป คือห้ามจีนใช้ซอฟแวร์ดีไซน์ชิป ซึ่งทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีสหรัฐฯ

แต่จีนก็อาจจะพยายามหาทางทำซอฟแวร์เองและทำชิปเองอยู่ดี สหรัฐฯ จึงปิดประตูบานต่อไปอีก คือ ห้ามจีนใช้เครื่องจักรสหรัฐฯ ในการผลิตชิป แต่จีนก็อาจพยายามทำเครื่องจักรเอง สหรัฐฯ จึงห้ามส่งชิ้นส่วนที่ใช้ในเครื่องจักรให้แก่จีนด้วย

ยังมีเสียงบอกว่า จีนอาจใช้ท่าไม้ตายคือ ทุ่มเงินซื้อบุคลากรและทีมวิจัยของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ มาสอนจีนตั้งแต่เริ่มต้น แต่สหรัฐฯ รู้ทันจึงปิดประตูบานสุดท้ายคือออกกกฎห้ามคนสัญชาติสหรัฐฯ ทำงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนอย่างเด็ดขาด

กฎเกณฑ์ปิดแน่นทุกประตูอย่างแสนสาหัสเช่นนี้ หลายคนถามว่าไม่เป็นการดับฝันอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนหรอกหรือ คำถามที่น่าสนใจคือ กฎเกณฑ์เหล่านี้มีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง หรือจีนยังคงมีโอกาสเหลืออยู่ตรงไหนบ้าง

ปัญหาข้อแรกคือ จีนยังคงมีกลเม็ดมากมายในการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์เหล่านี้ของสหรัฐฯ เพราะกฎเกณฑ์ของสหรัฐฯ ไม่สามารถบังคับใช้กับบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศหรือจดทะเบียนเป็นบริษัทสัญชาติอื่นได้

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Cloud Computing ของจีนในอินเดียก็อาจสั่งชิป AI มากกว่าที่ตนต้องการ และลักลอบนำกลับไปใช้ที่จีน หรือบริษัทอย่าง Alibaba ก็อาจเลือกใช้เสิร์ฟเวอร์ที่สิงคโปร์และสั่งชิป AI มาประมวลผล แล้วค่อยส่งข้อมูลการประมวลผลกลับไปยังจีน

ปัญหาข้อที่สองคือ สหรัฐฯ กำลังยกตลาดขนาดมหึมาให้บริษัทผลิตชิปของจีน แต่เดิมบริษัทชิปจีนไม่มีลูกค้า เพราะบริษัทเทคโนโลยีจีนทั้งหมดเลือกซื้อชิปจากต่างประเทศ มูลค่าตลาดนี้ใหญ่ถึง 4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่การที่รัฐบาลจีนสหรัฐฯ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ขายให้กับตลาดจีน ผลก็คือยกตลาดขนาดใหญ่นี้ให้บริษัทผลิตชิปของจีน ทำให้มีโอกาสที่จีนจะพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของตนขึ้นมาได้

เงินอุดหนุนของรัฐบาลจีนสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์สูงกว่าเงินอุดหนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 4 เท่าตัว บิล เกตต์เองยังเคยให้ความเห็นว่าการที่สหรัฐฯ ทำเช่นนี้ เท่ากับบีบให้จีนต้องพยายามทำเองให้เป็น และผลักให้จีนมีเงินทำได้ด้วย เพราะมีตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศที่ไม่มีทางเลือกอื่น

ปัญหาข้อที่สามคือ เทคโนโลยีหลายอย่างยังมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่นบริษัทจีนเคยใช้ชิปหยาบ 14 นาโนเมเตอร์ แต่อาศัยซอฟแวร์พิเศษ ก็สามารถประมวลผลได้ไม่แพ้การใช้ชิป 5 นาโนเมเตอร์ มีรายงานว่าจีนอาจเลือกใช้เทคนิคพิเศษหรือใช้เทคโนโลยีเก่าบางอย่างทดแทนได้ โดยจะประมวลผลได้ไม่แพ้การใช้ชิปชั้นสูงจากสหรัฐฯ เพียงแต่ต้นทุนการประมวลผลจะสูงขึ้นกว่าการใช้ชิปชั้นสูงของสหรัฐฯ เท่านั้นเอง

ปัญหาข้อที่สี่คือ สหรัฐฯ ได้สร้างแรงจูงใจให้เกิดอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ที่ไม่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีสหรัฐฯ เพื่อรองรับตลาดขนาดมหึมาของจีน บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ของโลกอาจหลีกเลี่ยงที่จะไปลงทุนในสหรัฐฯ เพราะเกรงว่าจะต้องผูกพันกับกฎเกณฑ์เหล่านี้และจะขายตลาดจีนไม่ได้ บริษัทในสหรัฐฯ หลายแห่งก็อาจเลือกไปตั้งโรงงานหรือตั้งธุรกิจที่อื่น บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติอาจพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ชิ้นส่วนหรือเครื่องจักรของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดกลับกลายเป็นบูมเมอแรงทิ่มแทงอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของสหรัฐฯ เอง

ปัญหาข้อสุดท้ายคือ รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังตัดรายได้ก้อนสำคัญของบริษัทสหรัฐฯ ซึ่งแต่เดิมตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30-40 ของยอดขาย ผลคือบริษัทสหรัฐฯ เองจะมีเงินทุนน้อยลงในการไปทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อคงความเป็นผู้นำเทคโนโลยีต่อไป นอกจากนี้ บริษัทสหรัฐฯ เมื่อขายตลาดจีนไม่ได้ ก็อาจลดกำลังการผลิตและลดการลงทุน ซึ่งสุดท้ายอาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนชิปของโลก

ผลของการแยกห่วงโซ่เทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทสหรัฐฯ เพราะบางผลิตภัณฑ์อาจเหมาะสมที่จะผลิตที่จีน แต่บริษัทสหรัฐฯ อาจกังวลถึงมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่จีน ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ล่าช้ากว่าเดิม

สำหรับยุทธศาสตร์การตั้งรับของจีนนั้น แบ่งได้เป็นสามข้อ ข้อแรกก็คือ ต้องทุ่มสุดตัวพยายามตามให้ทันเทคโนโลยีชั้นสูงที่ถูกสหรัฐฯ ตัดแข้งตัดขา ในช่วงระยะสั้น คงพยายามหาทางหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์หรือใช้ทางเลือกอื่น ส่วนการเร่งตามให้ทันนั้น อาจต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งบางคนมองว่าอาจจะมากกว่า 10 ปี ก็ได้

จึงต้องปรับมาใช้ยุทธศาสตร์ข้อสอง คือเร่งเสริมจุดแข็งของจีนในอุตสาหกรรมชิปหยาบ ซึ่งจีนยังคงครองส่วนแบ่งตลาดน้อยอยู่ แต่จีนมีเทคโนโลยีพร้อมทำได้ด้วยตัวเองทั้งหมด หากจีนสามารถขยายกำลังการผลิตและมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุน จนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และครองความเป็นผู้นำในตลาดชิปหยาบ ก็จะกลายเป็นไพ่ต่อรองใบใหม่ให้กับจีน

ยุทธศาสตร์ข้อสุดท้ายคือ จีนต้องเร่งลงทุนในสมรภูมิใหม่ๆ ที่จีนกับสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มต้นทั้งคู่ ยังไม่มีใครเป็นผู้นำใคร ยกตัวอย่างที่ตอนนี้พูดกันมากคือชิปของรถยนต์ EV ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในอนาคต มีรายงานว่าจีนทุ่มสุดตัวในเรื่องนี้และกำลังก้าวเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิปสำหรับรถยนต์ EV ซึ่งเป็นชิปอีกประเภทและอีกเทคโนโลยี หากจีนทำได้สำเร็จ ก็จะเพิ่มไพ่ต่อรองอีกใบให้กับจีน

หลายคนสงสัยว่า จีนไม่มีทางเลือกแรงๆ ที่จะตอบโต้หรือ เช่น ไม่ส่งแร่แรเอิร์ธให้สหรัฐฯ แต่หากจีนเลือกทำเช่นนั้น อุตสาหกรรมแรเอิร์ธของจีนก็จะพังไปด้วย หลายคนประเมินว่ายังไม่มีทางเลือกการตอบโต้ใดที่จีนจะไม่เสียหายหนักไม่แพ้สหรัฐฯ ดังนั้น จีนจึงเลือกที่จะกัดฟันทน และใช้เงินทุ่มให้กับการพัฒนาเพื่อฝ่าวงล้อมเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในระยะยาวให้ได้

มีนักยุทธศาสตร์ในสหรัฐฯ มองว่า สหรัฐฯ ทำสงครามเซมิคอนดัคเตอร์วันนี้เร็วเกินไป เพราะเท่ากับเร่งการตัดขาดการเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ แทนที่จะให้จีนพึ่งพาสหรัฐฯ ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดชี้เป็นชี้ตายค่อยตัดขาดกัน แต่การตัดขาดกันวันนี้เท่ากับบีบให้จีนเริ่มต้นกัดฟันทำเองและพยายามไม่ยืนบนลำแข้งเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอำนาจต่อรองในระยะยาว

แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่จีนจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเองได้จริงหรือไม่ มีคนเปรียบเทียบว่าจีนเคยทำสำเร็จมาแล้วไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์หรืออุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งต่างเคยถูกต่างชาติตัดขาดมาก่อนเช่นกัน แต่ก็มีคนพูดทีเล่นทีจริงว่า ของบางอย่างถึงฝันไกลก็ไปไม่ถึง เช่นจนบัดนี้ทีมฟุตบอลจีนก็ยังไปไม่ถึงบอลโลกเลย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save