fbpx
เมื่อโรคป่วนโลก: มองย้อน 2020 ปีแห่งการรื้อถอนและสั่นคลอนระเบียบโลก

เมื่อโรคป่วนโลก: มองย้อน 2020 ปีแห่งการรื้อถอนและสั่นคลอนระเบียบโลก

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

“Global health is not a technical issue but a political issue as well.”

– Colin McInnes

 

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2019 บทความ ‘โลก 2019 : ก้าวต่อไปของ (ความไร้) ระเบียบโลกใหม่ บนสมรภูมิการแข่งขันของมหาอำนาจ’ ได้ทิ้งคำถามและเหตุการณ์ในการเมืองระหว่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2020 – อเมริกาที่หนึ่ง (America First) จะจบสิ้นลงหรือดำเนินต่อไป สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 จะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ และอาเซียนภายใต้การนำของเวียดนามจะเดินเกมในสมรภูมิของมหาอำนาจอย่างไร

เรียกได้ว่า หากมองเฉพาะในช่วงปลายปี 2019 ปี 2020 ซึ่งเป็นปีทศวรรษใหม่ของศตวรรษ น่าจะเป็นปีที่การเมืองระหว่างประเทศร้อนแรงและน่าจับตามองไม่แพ้เรื่องอื่นใด

ทว่าเมื่อเข้าสู่ปี 2020 โลกกลับต้องเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด ชนิดที่แทบจะล้มกระดานคำถามข้างต้นทั้งหมด – โควิด-19 แพร่ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการเคลื่อนไหวและสิทธิเสรีภาพบางอย่างของผู้คน ขณะที่บนเวทีระหว่างประเทศ นักคิดหลายคนพูดในทำนองว่า โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบโลก และอาจทำให้แนวคิดที่ประชาคมนานาชาติเคยสมาทานตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อย่างแนวคิดเสรีนิยม และพลังที่ขับเคลื่อนโลกมากว่า 40 ปีอย่างโลกาภิวัตน์ถึง ‘จุดจบ’ หรืออย่างน้อยคือ ‘เปลี่ยน’ รูปแบบไป

ถ้ากล่าวให้ชัดเจนกว่านั้น แนวคิดแบบ ‘ชาตินิยม’ และ ‘ประชานิยม’ ที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008 และปรากฏเป็นรูปธรรมชัดผ่านการทำประชามติ Brexit และการชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 จะได้รับแรงส่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแต่ละประเทศจะสนใจกิจการภายในของตนเองมากขึ้น และให้ความร่วมมือในกิจการระหว่างประเทศน้อยลง เพื่อจะพยุงตัวเองให้รอดพ้นจากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ ขณะที่แนวคิดแบบ ‘พลเมืองโลก’ (cosmopolitanism) ดูจะเริ่มถดถอย ส่วนการเหยียดเชื้อชาติก็แพร่กระจายไปราวกับเป็นโรคร้าย

ประหนึ่งว่า ไวรัสได้เข้ามาเร่งปฏิกิริยาและรื้อถอน (deconstruct) โครงสร้างและชุดคุณค่าที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน เปลี่ยนให้ปี 2020 กลายเป็นปีที่การเมืองโลกผันผวน ระบบระเบียบโลกระส่ำระสายและถูกตั้งคำถามมากที่สุดปีหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

ในยุค ‘โรค’ เขย่า ‘โลก’ เช่นนี้ 101 ชวนผู้อ่านร่วมทบทวนการเมืองระหว่างประเทศและสถานการณ์โควิด-19 ในรอบปี 2020 ที่ผ่านมา รวมถึงคาดการณ์หน้าตาของระเบียบโลกหลังจากนี้ว่าน่าจะเป็นอย่างไร โควิดสร้างและทิ้งมรดกอะไรไว้ให้เราบ้าง

 

การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจในระเบียบโลก

 

“หลายคนมองว่า โควิด-19 เป็นเหมือนผู้พลิกโฉมเกมการเมืองโลก (game changer) แต่ผมมองว่าไวรัสเป็นทั้ง game changer และเป็นผู้เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกที่ดำเนินมาในระยะก่อนหน้านี้แล้ว”

ข้างต้นคือความเห็นของ จิตติภัทร พูนขำ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มว่า สำหรับนักทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โลกปัจจุบันไม่ถึงกับเป็นสองขั้วอำนาจ (bipolar) แต่มีความซับซ้อนหลายมิติ กล่าวคือ โลกยังเป็นระบบขั้วอำนาจเดียว (unipolar) ในมิติการทหาร ที่มีสหรัฐฯ อยู่ด้านบนสุด แต่ถ้าเป็นในมิติเศรษฐกิจ จะเป็นโลกหลายขั้วอำนาจ (multipolar) ที่ประเทศต่างๆ เข้ามามีส่วนแบ่งทางอำนาจมากขึ้น

เมื่อมีโควิด-19 เกิดขึ้น จิตติภัทรจึงมองว่า ไวรัสนี้จะส่งผลต่อภูมิศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ กับจีน ที่โควิด-19 อาจจะเป็นตัวเร่งให้โลกเปลี่ยนไปสู่โลกสองขั้วอำนาจได้เร็วขึ้น อีกทั้งด้วยความที่จีนสามารถฟื้นตัวจากไวรัสได้เร็วกว่าคนอื่น และสามารถให้เงินสนับสนุนหรือส่งทีมแพทย์เข้าไปให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ได้ ทำให้จีนอาจจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้หลายคนมองว่า จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ แต่จิตติภัทรประเมินว่าในช่วงเริ่มแรกของการแพร่ระบาด จีนถือว่า ‘สอบตก’ ก่อนจะพลิกมาบริหารจัดการไวรัสได้ดีในช่วง 2-3 เดือนของการแพร่ระบาด ซึ่งถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้

“หลังจากที่วิกฤตไวรัสดีขึ้น ผมคิดว่าจีนน่าจะฟื้นตัวได้เร็วและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในแง่ของการมีทรัพยากรและขีดความสามารถ”

“ตอนนี้คนตั้งคำถามกับสหรัฐฯ เยอะมาก จีนจึงจะได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในฐานะคนจัดระเบียบโลก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นนะครับ ไม่ได้หมายความว่าจีนจะขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ ได้ทั้งหมด” จิตติภัทรกล่าว

 

ระเบียบเศรษฐกิจใหม่และจุดจบของโลกาภิวัตน์

 

อีกหนึ่งการคาดการณ์สำคัญคือ โลกาภิวัตน์กำลังจะมาถึง ‘จุดจบ’ โดย Robin Niblett ผู้อำนวยการและผู้บริหาร Chatham House องค์กรคลังสมองด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของสหราชอาณาจักร มองว่า ถ้าเป็นในบริบทแบบปัจจุบัน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โลกจะหวนกลับเข้าหาความคิดแบบโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนเคยได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะแต่ละประเทศไม่มีแรงจูงใจจะปกป้องผลประโยชน์ที่จะได้ร่วมกันจากการบูรณาการทางเศรษฐกิจอีกต่อไป

ขณะที่ทางฝั่งจิตติภัทรเห็นว่า ถ้าเราบอกว่าโลกาภิวัตน์กำลังล่มสลาย เราจะต้องเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนว่า โลกาภิวัตน์ ‘แบบไหน’ ที่กำลังล่มสลายกันแน่

“ถ้าเป็นเรื่องการเปิดกว้างทางการเมือง การเคลื่อนย้ายคน สินค้า บริการ อย่างเสรี ผมว่ามันล่มมานานแล้วล่ะ โควิด-19 แค่ผลักให้มันเร็วและแรงขึ้น แต่ถ้าเป็นโลกาภิวัตน์ของตัวเสรีนิยมใหม่ ผมคิดว่ามันจะไม่ล่มสลายง่ายๆ เพราะองค์การระหว่างประเทศด้านการเงิน เช่น IMF หรือธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ก็ยังดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้มข้นและเข้มแข็ง”

แม้จิตติภัทรจะคาดการณ์ว่า นี่ยังไม่ใช่การสิ้นสุดของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ แต่เขาก็มองว่าอาจมีเส้นทาง 3 สายที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ กล่าวคือเส้นทางแรกจะเป็นแบบเสรีนิยมใหม่-ประชานิยม (neoliberalism populism) คือมีความเป็น ‘ประชานิยม’ ที่เป็นชาตินิยมและต่อต้านผู้อพยพ แต่ก็มีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบ ‘เสรีนิยมใหม่’ เช่นที่เกิดขึ้นในฮังการี

เส้นทางที่สอง คือ รัฐที่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นจากการใช้มาตรการฉุกเฉินในการรับมือกับไวรัส และไม่ยอมคืนอำนาจดังกล่าวเมื่อเหตุการณ์สิ้นสุดลง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ Stephen M. Walt ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ให้นิยามว่า โลกหลังจากโรคระบาดจะเป็นโลกที่ ‘พี่เบิ้ม’ (Big Brother) จับตาดูเราอยู่ตลอดเวลา หรือถ้าพูดให้ชัดขึ้น รัฐบาลทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน จะเข้ามาควบคุมชีวิตประจำวันของประชาชนและใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมโรค

และเส้นทางสุดท้ายตามการคาดการณ์ของจิตติภัทรคือ การปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ ‘The New Deal’ แบบที่เคยเกิดขึ้นสมัยวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Recession)

“วันนี้เราต้องคุยกันว่า จะมี The New Deal ไหม จะทำยังไงให้มาตรการฉุกเฉินที่รัฐใช้กันอยู่ไม่ใช่เรื่องถาวร และจะออกแบบระบบการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างไร ให้เคารพความแตกต่างหลากหลาย เคารพเสียงคนตัวเล็กตัวน้อย มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเมือง และยังธำรงรักษาประชาธิปไตยไว้ได้” จิตติภัทรทิ้งท้าย

อีกหนึ่งการวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกและโลกาภิวัตน์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การมองว่าวิกฤตรอบนี้เป็นวิกฤตของระบบทุนนิยม ในบทความ ‘วิกฤตโควิด 19 – วิกฤตการเมืองอเมริกัน 20 – วิกฤตทุนนิยม 21’ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของสหรัฐอเมริกา เสนอว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ก่อให้เกิด ‘วิกฤตระบบทุนนิยมศตวรรษที่ 21’ โดยโควิดมีลักษณะทั่วไป 3 ประการ ประการแรก คือ การส่งผลสะเทือนต่อระบบการผลิตของระบบทุนนิยมโลกขั้นต้นคือ ชะลอการผลิต ขัดขวางการบริโภค หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำลายระบบการผลิตทุนนิยมทั่วโลกให้เป็นอัมพาตและต้องปิดกิจการ

ประการที่สอง คือ การพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมในระบบทุนนิยม เราเห็นภาพของแรงงานหรือคนชนชั้นล่างจำนวนมหาศาลที่ต้องกระเสือกกระสนเพื่อเอาตัวรอด เป็นเหมือนหลักฐานประจานความล้มเหลวและไร้มนุษยธรรมของระบบ

ประการสุดท้าย คือ ระบบการเมืองการปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพและจุดหมายในการรักษาคุณภาพชีวิตของคนธรรมดา ซึ่งธเนศมองว่า ไม่ว่าจะเป็นการปกครองระบบใด ล้วนแสดงถึงอำนาจการเมืองที่ถูกผูกขาดอยู่ในมือของชนชั้นปกครองทั้งสิ้น

“เป็นไปได้อย่างไรที่การพัฒนาที่สร้างความเจริญอย่างขนานใหญ่ สร้างความสะดวกสบายแก่การดำรงชีวิตของคนจำนวนมากขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ อย่างที่คนในอดีตคิดไม่ถึง จึงสร้างปัญหาเช่นนี้ได้ แต่สิ่งที่คนในอดีตคงไม่เข้าใจเช่นกันคือ ทำไมสภาพและคุณภาพชีวิตของคนทำงานรุ่นใหม่ปัจจุบันถึงไม่ต่างและดีกว่าสภาพของทาสหรือไพร่ในอดีต” ธเนศทิ้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจ

 

ระเบียบโลกแบบหยินหยาง

 

อีกหนึ่งภาพระเบียบโลกที่น่าสนใจมาจากบทความ ‘ระเบียบโลกแบบหยินหยาง’ โดยอาร์ม ตั้งนิรันดร ซึ่งเสนอว่า ระเบียบโลกหลังโควิด-19 จะมีความซับซ้อน ไม่เสถียร มีขั้วพลังตรงข้ามที่ทั้งสมดุลและถ่วงดุลกัน แตกต่างจากระเบียบโลกที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำเดี่ยว

อาร์มชี้ว่า ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำดูจะเปราะบางลง สถาบันอย่างองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระเบียบโลกนี้กำลังเผชิญข้อจำกัดหลายประการ แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ควรจะมีบทบาทที่สุดกลับไม่ได้รับการยอมรับนับถือในวิกฤตโรคระบาด

“การระบาดของโควิดเป็นเสมือนสงครามที่เปลี่ยนดุลอำนาจโลก นำไปสู่สมดุลใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน กลายมาเป็นคู่หยินกับหยางที่กลืนกันไม่ลง สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตสาธารณสุขเข้าขั้นหายนะ นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนพลังของสหรัฐฯ ค่อยๆ ตกต่ำลง ส่วนจีนที่ก่อนหน้านี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็ถูกกดให้ทะยานขึ้นช้าลงเช่นกัน เนื่องจากการระบาดของไวรัสก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของจีน รวมทั้งภาพลักษณ์ของจีนในวงการระหว่างประเทศ จีนเองต้องหันกลับมาให้ความสนใจปัญหาภายในของตนก่อน ทั้งการขยายอิทธิพลของจีนก็ประสบแรงต้านรอบด้าน”

“จีน-สหรัฐฯ ยุค Next Normal จะเป็นความสัมพันธ์แบบหยินหยาง กล่าวคือ มีทั้งหยินคือด้านของความร่วมมือ และหยางคือด้านของการแข่งขัน หากมองจากมุมของสหรัฐฯ ถ้าใช้ศัพท์ในวงการทูตก็คือ มีทั้งการเชื่อมโยงมีปฏิสัมพันธ์กับจีน (engagement) พร้อมๆ ไปกับการสกัดดาวรุ่งไม่ให้จีนทะยานไปมากกว่านี้ (containment)”

ทั้งนี้ อาร์มอธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุเป็นเพราะในยุคนี้เป็นยุคที่ผลประโยชน์ของจีนและสหรัฐฯ แยกขาดจากกันไม่ได้ ทำให้เมื่อฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ อีกฝ่ายก็จะพลอยเสียประโยชน์ไปด้วย แตกต่างจากสมัยสงครามเย็นที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับโซเวียตไม่ได้เชื่อมต่อกันแต่อย่างใด และเมื่อเศรษฐกิจจีนเชื่อมกับทั้งสหรัฐฯ และโลก แล้วเศรษฐกิจจีนมีปัญหา เศรษฐกิจสหรัฐฯ กับโลกก็คงพลอยดิ่งลงเหวไปด้วย

 

สำรวจโลกยุคโรคระบาด

 

สหรัฐอเมริกา

ถ้าย้อนดูสถานการณ์การแพร่ระบาดตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเทศที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘ล้มเหลว’ ในการรับมือกับโรคระบาด คงมีชื่อ ‘สหรัฐอเมริกา’ รวมอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย (สถิติในวันที่ 4 มกราคม 2021 สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อจำนวน 21,113,528 คน และเสียชีวิต 360,078 คน) ซึ่งความล้มเหลวของสหรัฐฯ และโดนัลด์ ทรัมป์ ในการรับมือกับโควิดต่างส่งผลกระทบกับทั้งการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ และระเบียบโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ถ้าถามว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงล้มเหลวในการจัดการโควิด-19 ผมว่าปัญหามาจากโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งบุคลิก ความโอหัง และความต้องการเอาชนะทางการเมืองของเขา” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าว อย่างไรก็ตาม บุคลิกและคุณลักษณะของผู้นำไม่ใช่เหตุผลเดียวของความล้มเหลวครั้งนี้ ธเนศมองว่า ปัญหาคลาสสิกของระบบบริการสาธารณสุขของสหรัฐฯ ที่จัดให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การรับมือโรคระบาดในสหรัฐฯ ย่ำแย่ เพราะถ้าสหรัฐฯ เตรียมระบบบริการต่างๆ ให้พร้อมเหมือนในเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือเยอรมนี จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะไม่สูงขนาดนี้

ความคิดข้างต้นสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ อาร์ม ตั้งนิรันดร ที่มองว่า หากวิกฤตในสหรัฐฯ หนักหนาสาหัสจนถึงจุดหนึ่ง ย่อมนำไปสู่การเรียกร้องระบบรัฐสวัสดิการ และเผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในสหรัฐฯ เพราะส่วนหนึ่งของวิกฤตเกิดจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมเชิงอนุรักษนิยมที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และไม่มีประกันการลาป่วยให้แรงงาน

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด “ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ มีโอกาสจะเผชิญวิกฤตการระบาดหนักกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เพราะคนป่วยที่ยากจนเข้าไม่ถึงการตรวจและการรักษา รวมทั้งไม่สามารถลาพักกักตัวที่บ้านได้เพราะจะขาดรายได้”

ขณะที่บทความ ‘COVID-19  ฝ่ายขวาสหรัฐฯ และโลกทัศน์แบบ Zombie Idea’ ของ ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี เสนอว่า นอกจากความล้มเหลวในการรับมือกับไวรัสจะเกิดจากลักษณะนิสัยของทรัมป์ด้วยแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากพลวัตของการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกาด้วย โดยเฉพาะ พลังของกลุ่มฝ่ายขวาที่สนับสนุนทรัมป์ โดยต่อศักดิ์อ้างแนวคิดจากบทความของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อดังอย่าง Paul Krugman ที่มองว่า “โลกทัศน์หรือวิธีคิดของบรรดาฝ่ายขวาสหรัฐฯ ต่อปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 คือการมองว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง หรือถ้าเป็นจริง ก็เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร”

ถ้าพูดให้ชัดกว่านั้น ฝ่ายขวาในสหรัฐฯ เชื่อว่า หากรัฐบาลพยายามจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อรับมือกับไวรัสมากเกินไป อาจจะยิ่งเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ย่ำแย่ลงกว่าเดิม และเช่นเดียวกับทรัมป์ พวกเขามุ่งโทษว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือความผิดของจีน จึงเป็นที่มาของการเสนอให้เรียกไวรัสนี้ว่า ‘Chinese virus’

คำถามต่อมาของ Krugman คือ “อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มอาการปัดปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง (denialism) ของพวกฝ่ายขวาในสหรัฐฯ ?” และเขาลองเสนอคำตอบว่า มีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 ประการที่ทำให้มาตรการรับมือไวรัสแย่กว่าที่ควรจะเป็น ประการแรกคือ สหรัฐฯ มีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมที่มักอยู่บนฐานความเชื่อ และปลูกฝังทัศนคติแบบที่สอนให้มีระยะห่าง รังเกียจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นที่มาของปรากฏการณ์ความเชื่อที่รังเกียจวิทยาศาสตร์ และประการที่สองคือ ฝ่ายขวาอนุรักษนิยมกลัวผลกระทบแง่ลบที่จะเกิดขึ้นต่อผลประโยชน์ของพวกเขา หากนโยบายแทรกแซงของรัฐบาลประสบความสำเร็จ ทำให้พวกเขามักต่อต้านนโยบายของรัฐบาล แม้นโยบายนั้นจะเป็นผลดีต่อส่วนรวมก็ตามที

นี่นำมาสู่ข้อสรุปของ Krugman ที่อาจทำให้เราเห็นภาพความล้มเหลวในการรับมือกับไวรัสของสหรัฐฯ ชัดขึ้นว่า “สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความผิดพลาดและล้มเหลวของนโยบายการรับมือกับโควิด-19 ของทรัมป์ มาจากธรรมชาติของขบวนการทางการเมืองและสังคมในสหรัฐฯ และมาจากแนวคิดแบบซอมบี้ของกลุ่มฝ่ายขวาที่สนับสนุนเขาอยู่ มากกว่าจะมาจากบุคลิกลักษณะนิสัยที่ไม่ดีของทรัมป์ในแง่ปัจเจกเพียงโดดๆ”

 

ยุโรป

ประเทศในยุโรปก็ต้องเจอกับการแพร่ระบาดที่หนักหนาไม่แพ้กัน เช่น ‘ประเทศสเปน’ ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (สถิติในวันที่ 4 มกราคม 2021 สเปนมียอดผู้ติดเชื้อจำนวน 1,936,718 คน และเสียชีวิต 50,837 คน) ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่สเปนมีประชากรผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรป ประกอบกับปัจจัยเชิงวัฒนธรรม เช่น การทักทายที่ใกล้ชิดกัน และความผิดพลาดของรัฐบาลที่ตรวจคนติดเชื้อได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้

ส่วนฝั่ง ‘สหราชอาณาจักร’ ที่กำลังเผชิญวิกฤตโควิดอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง (สถิติในวันที่ 4 มกราคม 2021 สหราชอาณาจักรมียอดผู้ติดเชื้อจำนวน 2,654,779 คน และเสียชีวิต 75,024 คน) สมชัย สุวรรณบรรณ ได้แสดงความคิดเห็นว่า หนึ่งในผลกระทบที่โควิดทิ้งไว้ให้สหราชอาณาจักรคือเรื่องของกระแสชาตินิยม ซึ่งเป็นประเด็นมาตั้งแต่กรณี Brexit แล้ว แม้การระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกจะทำให้ประเด็นการเมืองที่เคยร้อนแรงอย่างการเกิดขึ้นของกลุ่มชาตินิยมไอริช หรือการเรียกร้องของสกอตแลนด์ให้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวอีกครั้ง (เพราะต้องการอยู่กับสหภาพยุโรปต่อ) จะเบาบางลง แต่เมื่อโควิดเริ่มบรรเทาลงเรื่อยๆ กระแสชาตินิยมหรือ Brexit อาจจะกลับมาทวีความสำคัญและสร้างความปั่นป่วนให้สหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศในยุโรปได้อีกครั้งหนึ่ง

ในบทความส่งท้ายปีอย่าง ‘สหราชอาณาจักรสะบักสะบอม โดนโควิด-เบร็กซิต ปิดท้ายปี 2020’ สมชัยชวนทบทวนสถานการณ์ของสหราชอาณาจักรในรอบปีที่ผ่านมา และมองว่าโควิด-19 อาจกำลังสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองภายในสหราชอาณาจักรอีกครั้ง เพราะดูเหมือนว่านายกฯ บอริส จอห์นสัน ต้องเจอกับความระส่ำระส่ายทางการเมืองมิใช่น้อย เริ่มมีข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรครัฐบาลและนายกฯ เนื่องมาจากความล้มเหลวในการรับมือโควิด และยังเจอกับไวรัสกลายพันธุ์รหัส B117 ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จนนายกฯ จอห์นสันต้องประกาศยกระดับความเข้มงวดในหลายจังหวัด รวมถึงมหานครลอนดอน ขึ้นสู่ระดับสูงสุดเสมือนล็อกดาวน์ (tier 4)

อีกหนึ่งปัญหาที่เหมือนจะซ้ำเติมสหราชอาณาจักรและรัฐบาลของจอห์นสันคือ เรื่องการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่ในสภาวะผีเข้าผีออก นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่สหราชอาณาจักรมากมายอย่างที่เคยคุยโม้ไว้ตอนหาเสียง และเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารชาติอังกฤษได้ออกมาเตือนว่า ถ้าสหราชอาณาจักรต้องถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal Brexit ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะร้ายแรงและยาวนานกว่าความเสียหายที่เกิดจากโควิดหลายเท่านัก

สมชัยสรุปในตอนท้ายของบทความว่า ความกังวลว่าจะเสียคะแนนนิยมทางการเมืองนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด และการวางยุทธศาสตร์ที่ไม่ตั้งอยู่บนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทำให้นายกฯ จอห์นสันถูกตำหนิว่าลังเลใจ ไม่ยอมสั่งล็อกดาวน์ อีกทั้งรัฐบาลยังปล่อยให้มีการแข่งม้า แข่งฟุตบอล และให้นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางกลับมาจากยุโรป ซึ่งไวรัสกำลังระบาด โดยไม่มีการกักตัว ซึ่ง “นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าถ้าหากตัดสินใจเด็ดขาด ล็อกดาวน์ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น อังกฤษจะไม่สะบักสะบอมขนาดนี้”

จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า หนึ่งในมหาอำนาจยุโรป และ (อดีต)​ สามเสาหลักของสหภาพยุโรป จะก้าวต่อไปอย่างไรในปี 2021 หลังจากโดนทั้งไวรัสและ Brexit เล่นงานจนสะบักสะบอมเช่นนี้

 

จีน

เมื่อพูดถึงโควิด-19 หนึ่งประเทศที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือ ‘จีน’ ซึ่งถือเป็นประเทศต้นทางการระบาด และกลายเป็นประเทศที่ควบคุมโรคระบาดได้ก่อนประเทศอื่น (สถิติในวันที่ 4 มกราคม 2021 จีนมียอดผู้ติดเชื้อจำนวน 87,150 คน และเสียชีวิต 4,634 คน) อย่างไรก็ดี โรคระบาดได้ผลักจีนไปอยู่ในสถานะที่อาจเรียกได้ว่าไม่สู้ดีนัก ทั้งในการเมืองระหว่างประเทศ เพราะโควิดเหมือนจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศอื่น รวมถึงปัญหาภายในจีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในทัศนะของ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ นี่คือเรื่องที่อันตรายเรื่องหนึ่งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“ตั้งแต่เปิดประเทศ ความชอบธรรมของรัฐบาลจีนอยู่ที่การทำให้ประเทศจีนมั่งคั่งร่ำรวย การทำให้คนจีนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างบ้าคลั่ง แต่เมื่อมันโตช้ามาเรื่อยๆ และปีนี้พบสภาวะถดถอยเนื่องจากโควิดอีก แปลว่ารัฐบาลจีนต้องหาความชอบธรรมอื่นแล้ว ความชอบธรรมเดิมไม่มีเหลือแล้ว”

ถ้าขยับมามองประเด็นปัญหาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งเราจะเห็นประธานาธิบดีทรัมป์พยายามกล่าวโทษและหาว่าจีนเป็นต้นเหตุของไวรัสอยู่ตลอดเวลา วาสนามองว่า ด้วยสถานภาพที่ไม่ได้ดีนักของทรัมป์ ทำให้เรามองได้ว่า การที่ทรัมป์โทษจีนเรื่องไวรัสเป็นกลยุทธ์ในการป้องกันตัวเอง จากการที่รัฐบาลทรัมป์จะต้องหันกลับไปใช้นโยบายของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่เขาไม่เห็นด้วย

ขณะที่ฝั่งจีนก็ปล่อยข่าวว่า โควิดเกิดมาจากห้องทดลองที่สหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งวาสนาชี้ว่า เป้าหมายของจีนก็ไม่ต่างจากสหรัฐฯ คือทำไปเพื่อปัจจัยการเมืองภายในประเทศ เพราะรัฐบาลจีนไม่ต้องการให้คนจีนมองว่ารัฐบาลล้มเหลว จึงต้องโทษคนอื่นแทน สอดคล้องกับอาร์ม ตั้งนิรันดร ที่ชี้ว่า จีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงมาก่อนเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าหากย้อนไปดูวิกฤตการเมืองของจีนในยุคสมัยใหม่ วิกฤตที่หนักเป็นอันดับสอง (รองจากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน) คือวิกฤตโรค SARS ปี 2003 เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับวิกฤตศรัทธาและความชอบธรรมของรัฐบาลโดยตรง

“หากรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการวิกฤตสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน ย่อมจะนำไปสู่วิกฤตการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่รัฐบาลกลางทุ่มสุดตัวเพื่อควบคุมการระบาด ก็เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตน และสำหรับความชอบธรรมทางการเมืองในบริบทของจีน เสถียรภาพในสังคมสำคัญกว่าปากท้อง” อาร์มทิ้งท้าย

 

ญี่ปุ่น

ส่วนฝั่งบ้านใกล้เรือนเคียงของจีนอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ก็เจอผลกระทบที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องการรับมือกับไวรัส (สถิติในวันที่ 4 มกราคม 2021 ญี่ปุ่นมียอดผู้ติดเชื้อจำนวน 240,954 คน และเสียชีวิต 3,548 คน) หรือการที่โตเกียวโอลิมปิก 2020 ซึ่งเป็นโครงการสำคัญต้องถูกเลื่อนออกไป

บทสัมภาษณ์ ‘ญี่ปุ่นในสมรภูมิ COVID-19’ ธีวินท์ สุพุทธิกุล ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นหวังกับโอลิมปิกเอาไว้มาก ทั้งหวังให้เป็นตัวช่วยจุดประเด็นเรื่องสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของญี่ปุ่นในประชาคมนานาชาติ ที่เริ่มโดนชาติข้างเคียงอย่างจีนและเกาหลีใต้เข้ามาแทนที่ ประเด็นเรื่องการทิ้งมรดกทางการเมืองของผู้นำ และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะตอบสนองเป้าหมายธนูดอกที่สามในนโยบายอาเบะโนมิกส์ (Abenomics) ที่มีขึ้นเพื่อฝ่าวังวนเงินฝืดและเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นกลยุทธ์เร่งการเติบโต (growth strategy) โดยมีการท่องเที่ยวและส่งออกสินค้าวัฒนธรรมเป็นส่วนประกอบ

นอกจากการที่ต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนและไม่แน่นอนในการจัดโอลิมปิกแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องเจอกับภาวะระส่ำระส่ายอีกครั้ง เมื่อชินโซ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม เพราะปัญหาด้านสุขภาพ ปิดฉากการเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด และได้ โยชิฮิเดะ สึงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาลขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ญี่ปุ่นภายใต้การนำของสึงะจะก้าวต่อไปในทิศทางไหน โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศแหลมคมและผันผวนเช่นนี้

 

อินเดีย

อีกหนึ่งประเทศใหญ่ที่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นอันดับสองของโลก คือ อินเดีย (สถิติในวันที่ 4 มกราคม 2021 อินเดียมียอดผู้ติดเชื้อจำนวน 10,341,291 คน และเสียชีวิต 149,686 คน) ซึ่งบทความ ‘อินเดียในสมรภูมิ New Normal’ ของศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์โควิดในอินเดียรุนแรง ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการหลายอย่างทั้งเชิงรุกและเชิงตั้งรับ โดยปัจจัยแรกคือด้านสุขภาพ ศุภวิชญ์อธิบายว่า อินเดียเป็นประเทศที่ทำการรักษาระยะห่างทางสังคมได้ยาก เพราะจำนวนประชากรต่อพื้นที่มีความหนาแน่น ส่วนประชาชนก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าที่ควร รวมถึงคนอินเดียยังมีข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเจลล้างมือหรือหน้ากากอนามัยก็ตาม

นอกจากนี้ การใช้มาตรการปิดเมืองของอินเดียก็ค่อนข้างล่าช้า อีกทั้งด้วยข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ในช่วงปิดเมือง อินเดียไม่ได้ตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างทันท่วงทีเพื่อจำกัดวงของผู้ติดเชื้อ ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากหลุดรอดออกไป และรัฐบาลยังผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งที่การระบาดยังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะการอนุญาตให้แรงงานข้ามรัฐเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา ผลคือจากที่ผู้ติดเชื้อกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ก็กลายเป็นระบาดไปทุกพื้นที่ของอินเดีย

ส่วนปัจจัยที่สองคือด้านเศรษฐกิจ ที่สืบเนื่องมาจากมาตรการปิดเมือง และภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นภาคบริการ ที่เป็นภาคส่วนขนาดใหญ่และมีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ การปิดเมืองจึงทำให้แรงงานนอกระบบที่ทำงานหาเช้ากินค่ำต้องตกงานในทันที ซึ่งศุภวิชญ์ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับอินเดีย เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีจำนวนมหาศาล เมื่อพวกเขาตกงานก็พลอยทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง และตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ลดลงตามไปด้วย

นอกจากในประเทศแล้ว สถานการณ์ในต่างประเทศก็ส่งผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะภาคการส่งออก เพราะภาคการผลิตของอินเดียเน้นผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่เมื่อหลายประเทศใช้มาตรการปิดเมืองทำให้การบริโภคลดลง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลงตามไปด้วย และยิ่งตลาดส่งออกใหญ่ของอินเดียคือสหรัฐฯ ที่มีการระบาดหนักที่สุดในโลก ก็ยิ่งส่งผลร้ายกับอินเดียหนักขึ้นไปอีก

 

นอกจากสถานการณ์ในประเทศมหาอำนาจที่ว่ามาข้างต้นแล้ว 101 ยังชวนอ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศและกลุ่มประเทศอื่นๆ ไล่เรียงตั้งแต่สถานการณ์ในกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงสถานการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO)สถานการณ์ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย และลาตินอเมริกา 

ทางด้านสถานการณ์ในเอเชียและอาเซียนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น สถานการณ์ในเกาหลีใต้และไต้หวัน และการระบาดในประเทศพี่ใหญ่อาเซียนอย่างอินโดนีเซีย

 

อบโลก 2020

 

นอกจากโจทย์ใหญ่อย่างระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโควิด และสถานการณ์การแพร่ระบาดและการรับมือกับไวรัสของประเทศต่างๆ แล้ว 101 ยังพาไปสำรวจเรื่องราวน่าสนใจจากทุกมุมของโลก ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องราวที่ส่งตรงจากเกาะอังกฤษของ สมชัย สุวรรณบรรณ, ชวนทำความเข้าใจมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกให้มากขึ้นผ่านคอลัมน์ ‘มองอเมริกา’ กับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, อ่านเรื่องน่าสนใจจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในบทความของ ปรีดี หงษ์สต้น และเรื่องราวในภูมิภาคสัจนิยมมหัศจรรย์อย่างลาตินอเมริกาในบทความของ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการอ่านเอสโตเนียและบอลติก กับ วศิน ปั้นทอง, สำรวจมหาอำนาจเก่ายุคสงครามเย็นอย่าง ‘รัสเซีย’ บนระเบียบโลกใหม่ กับ กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ และสำรวจเรื่องราวในประเทศอีกฟากฝั่งของโลกอย่างประเทศในทวีปแอฟริกา ในคอลัมน์ ‘Viva Africa’ กับ ลลิตา หาญวงษ์

ทางฝั่งเอเชีย ชุดบทความของ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ฉายภาพมหาอำนาจขนาดกลางที่กำลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างอินเดีย รวมถึงประเทศอื่นในเอเชียใต้, อ่านวัฒนธรรมและการเมืองเกาหลีใต้ในคอลัมน์ ‘ชาติพันธุ์ฮันกุก’ ของ จักรกริช สังขมณี, อ่านญี่ปุ่นสมัยใหม่ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออก กับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล, ทำความรู้จักกับเรื่องราวของประเทศอินโดนีเซียและโลกอุษาคเนย์กับ อรอนงค์ ทิพย์พิมล และอ่านการเมืองเมียนมากับ ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

The Year of No Return | The Year of New Hope

 

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด ถ้าจะบอกว่าปี 2020 เป็นอีกปีหนึ่งที่ควรค่าแก่การถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะมองในฐานะปีที่ต้องเจอกับหนึ่งในโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในยุคสมัยใหม่ หรือปีที่การเมืองโลกมีความผันผวนและระเบียบโลกถูกตั้งคำถาม

แม้สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในปี 2021 ยังดูยากที่จะคาดเดา แต่เราคงพออนุมานได้ว่า โควิดจะยังเป็นปัญหาและสร้างความปั่นป่วนให้โลกไปอีกพักใหญ่ๆ ขณะที่สองมหาอำนาจก็จะยังคงแข่งขันกันต่อไป และประเด็นที่ควรจับตามองอย่างยิ่งคือ สหรัฐฯ ในยุค โจ ไบเดน ที่มาพร้อมกับความคิด ‘อเมริกาจะกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง’ จะพาสหรัฐฯ และโลกไปในทิศทางไหน เพราะทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ล้วนส่งผลกระทบกับโลกทั้งใบอย่างปฏิเสธไม่ได้

ขณะที่ทางฝั่งเอเชีย จีนที่มีทรัพยากรพร้อมสรรพ พร้อมด้วยการฟื้นตัวจากโรคระบาดได้เร็วกว่าใคร ยังคงเป็นมหาอำนาจที่น่าจับตามอง พร้อมด้วยกลุ่มมหาอำนาจขนาดกลางที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอย่างออสเตรเลียหรืออินเดีย ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในแถบนี้รุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราคงมั่นใจได้คือ โลกจะไม่มีวันย้อนกลับไปสู่จุดเดิมอีกต่อไป โควิดได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบระเบียบโลก สั่นคลอนชุดคุณค่าสากลที่เคยยึดถือกันมานาน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นปีที่ ‘รื้อถอน’ ชุดความเชื่อบางอย่างออกไปจนสิ้นซาก แต่ขณะเดียวกัน นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการ ‘หวัง’ และ ‘ใฝ่ฝัน’ ถึงระบบระเบียบโลกที่ดีกว่าเดิม – เมื่อไวรัสเปิดเปลือยปัญหาให้เราเห็นเช่นนี้แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสรรสร้างระบบที่ดีกว่าเพื่อคนรุ่นต่อไป และเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะร่วมกันสร้างระบอบที่ลดการกดขี่และเห็นหัวคนตัวเล็กตัวน้อย โอบอุ้มทุกคนเข้ามาไว้ไม่ให้ใครต้องร่วงหล่น

ถ้าพูดอีกนัยหนึ่ง เป็นไปได้ไหมที่เราจะมองหาโอกาส แม้เพียงเล็กน้อย จากวิกฤตในครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาดเดิมๆ ของโลกที่เคยมีมาก่อน

เพื่อที่ห้วงยามหลังโควิดจะไม่ใช่แค่การฟื้นฟูโลกใบเก่า แต่เป็นการสร้างโลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save