fbpx

เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ 2022 – จากการเมืองอเมริกาถึงเศรษฐกิจการเมืองโลก

สองปีผ่านไปหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีผู้มีอายุมากที่สุดของสหรัฐฯ การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ (midterm election) ในยุค โจ ไบเดน (Joe Biden) จัดขึ้นเมื่อ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และไม่ว่าคุณจะเป็นคอการเมืองสหรัฐฯ หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ล้วนมีหลายประเด็นที่น่าจับตามอง และจะชี้ชะตากรรมของการเมืองสหรัฐฯ ไปอีกเป็นอย่างน้อย 2 ปี

ไม่ว่าจะเป็นการตัดเกรดใหญ่ของไบเดนในรอบสองปีที่ผ่านมา วิกฤตเศรษฐกิจในยุคฟื้นฟูจากโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นห้วงยามที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ในด้านอุดมการณ์และความเชื่อ เนื้อนาดินของประชาธิปไตยและเสรีนิยมที่หยั่งรากลึกในแผ่นดินอเมริกามาช้านานถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งเรื่องการปฏิเสธการเลือกตั้งไปรวมถึงคำตัดสินเรื่องสิทธิในการทำแท้ง

เมื่อขยับออกไปมองเกมกระดานการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กับจีนล้วนเป็นประเด็นร้อนสำหรับสหรัฐฯ ไม่แพ้การเมืองภายในประเทศ

และแน่นอน แม้การเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นการเลือกตั้งภายในสหรัฐฯ แต่อย่างที่เรารู้กันดี เมื่อไหร่ที่พญาอินทรีขยับตัว นั่นย่อมส่งแรงสั่นสะเทือนกับทุกประเทศในโลกและในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อะไรคือประเด็นที่น่าสนใจจากการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ดุลอำนาจการเมืองในสหรัฐฯ รวมไปถึงทิศทางการเมืองโลกจะเป็นอย่างไร ชวนหาคำตอบจากสามผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามการเมืองอเมริกาอย่างใกล้ชิดอย่าง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการ The101.world

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 Round Table “เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ 2022 – จากการเมืองอเมริกาถึงเศรษฐกิจการเมืองโลก” ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 โดยสามารถติดตามผลการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ ที่นี่

ภูมิทัศน์สนามการเมืองเลือกตั้งกลางเทอม 2022

สิริพรรณ: ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ผลโพลแทบทุกสำนัก โดยเฉพาะสำนักใหญ่ๆ ต่างฟันธงว่าพรรครีพับลิกันจะกวาดที่นั่งทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร หลายคนกลัวว่าจะเกิดคลื่นสีแดง (red wave) ขึ้น แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว

ถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ต้องบอกก่อนว่า ถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะเห็นว่าในการเลือกตั้งกลางเทอมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ 60 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากแล้วพรรคของประธานาธิบดีจะแพ้ในการเลือกตั้งกลางเทอม ยกเว้นในยุคของจอร์จ บุช แต่หลังๆ คือแพ้มาตลอด ประมาณ 50-60 ที่นั่ง

ส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเดโมแครตยังเจอกระแสถาโถมจากเศรษฐกิจที่ประสบภาวะเงินเฟ้อสูงมากถึงประมาณ 9.1% แม้ตอนหลังไบเดนจะออกกฎหมาย The Inflation Reduction Act มาเยียวยาได้ แต่เงินเฟ้อก็ยังสูงอยู่ดี ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่าพรรคเดโมแครตคงแพ้แบบถล่มทลาย แต่ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นคือ การที่คำวินิจฉัยของศาลสูงสุดกรณี Roe v. Wade ทำให้สิทธิในการทำแท้งของผู้หญิงไม่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ซึ่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดอย่างน้อย 3 คนถูกแต่งตั้งโดยทรัมป์ เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้คือการปะทะกันของสองปัจจัยหลัก ด้านหนึ่งการถูกลิดรอนสิทธิในการทำแท้ง อีกด้านคือเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาน้ำมัน ไฟฟ้าแพงขึ้น

ก่อนวันเลือกตั้ง จะเห็นว่าพรรคเดโมแครตครองทำเนียบขาว เพราะโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี ครองทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งวุฒิสภานี่สูสีมาก เพราะคะแนนสองพรรคคือ 50-50 แต่ในทางกฎหมายรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาจะมีอำนาจในการโหวตเมื่อมีคะแนนลงเสียงเท่ากัน เพราะฉะนั้น พรรคเดโมแครตถือว่าครองวุฒิสภา ส่วนสภาผู้แทนราษฎรช่วงสองปีหลังนี้ห่างกันไม่มาก แค่ประมาณ 9 ที่นั่ง เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ารีพับลิกันต้องการชนะให้ได้ ต้องชนะให้ได้แค่ 5 ที่นั่งจะถือว่าครองสภาผู้แทนราษฎรได้ และถ้าได้เพิ่มแค่ 1 ที่นั่งก็จะเปลี่ยนเสียงข้างมากได้

นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีอีกบางประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นแรก คือการเลือกตั้งเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของคนแตกต่างออกไปจากเดิม ครั้งนี้มีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเยอะมากเป็นประวัติการณ์ถึง 41 ล้านคน บางมลรัฐเป็น record breaking ทำสถิติสูงมาก ทั้งทางไปรษณีย์และที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งก่อน แต่ท่ามกลางความกระตือรือร้นก็มีอีกกระแสหนึ่งคือ บางมลรัฐพยายามออกกฎหมายที่ทำให้การเลือกตั้งยากขึ้น เช่น ในรัฐจอร์เจียที่กำหนดให้แค่ 1 county มีกล่องบัตรเลือกตั้งแค่กล่องเดียว หรือต้องการใบแสดงตน ทำให้คนรู้สึกว่าการออกไปเลือกตั้งก็มีต้นทุนที่สูงขึ้น

ประเด็นที่สองคือ ถ้าเราดูแผนที่กว้างๆ ของสหรัฐฯ จะพบทั้งความเหมือนและความต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน กล่าวคือแม้สีน้ำเงิน (พรรคเดโมแครต) จะอยู่บริเวณขอบทะเลทั้งสองด้าน คือชายฝั่งตะวันออก (east coast) และชายฝั่งตะวันตก (west coast) ส่วนตรงกลางที่เป็นพื้นที่ใหญ่มากเป็นสีแดง (พรรครีพับลิกัน) ซึ่งยิ่งตอกย้ำประชาธิปไตยที่แบ่งแยก (divided democracy) และการเมืองสองขั้วอำนาจ (polarisation) ของสหรัฐฯ อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งสองพรรคมองต่างกัน แต่อย่างที่บอกไปว่าทั้งประเด็นสิทธิการทำแท้งหรือเรื่องเศรษฐกิจล้วนมีความซับซ้อน ไม่ได้แบนราบ

ตัวอย่างที่น่าสนใจและสะท้อนมุมมองของทั้งสองพรรคได้คือ เรื่องอาชญากรรม ซึ่งทั้งสองพรรคล้วนให้ความสำคัญแต่มองกันคนละแบบ พรรครีพับลิกันมองว่าเราต้องมีปืนเพื่อสู้กับผู้ร้าย ต้องมีสิทธิในการถือครองปืนเหมือนที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ แต่พรรคเดโมแครตมองว่าต้องควบคุมอาวุธปืน นี่เป็นตัวอย่างเรื่องเดียวกันที่มองคนละแบบ เรื่องเศรษฐกิจหรือสิทธิการทำแท้งก็ใช่ พอมันมาปะทะกันก็คือการยันกันอยู่ ไม่มีฝั่งไหนจะชนะเด็ดขาดเหมือนการเลือกตั้งกลางเทอมในสมัยบารัก โอบามา (Barack Obama) หรือบิล คลินตัน (Bill Clinton) ที่พรรครีพับลิกันกลับมาเข้ากวาดที่นั่งทั้งสองสภา แต่เราเห็นว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะยืดเยื้อ ยาวนาน และไม่มีฝั่งใดจะได้เสียงข้างมากเด็ดขาด นี่เป็นมิติที่เราเห็นพลวัตของมัน

และ ประเด็นสุดท้าย คือการขีดเส้นเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเท่าที่ดูทั้งสองพรรคพยายามใช้การขีดเส้นเลือกตั้งเป็นเครื่องมือมาตลอด อยู่ที่ว่าตอนนั้นพรรคไหนคุมมลรัฐไหน บางทีเขาก็ขีดเส้นเล็กๆ เชื่อมด้วยทางด่วนจนกลายเป็นเรื่องฟ้องศาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าฟ้องศาลไหนและมลรัฐไหนด้วย

มีคำหนึ่งที่จะเห็นในการเลือกตั้งมาเลเซียคือ malapportionment คือในแต่ละเขตเลือกตั้งประชากรจะไม่เท่ากัน แต่ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่รัฐสนับสนุนอาจจะไม่ต้องการประชากรมาก แต่ก็ชนะแล้ว แต่เป็นเครื่องมือที่รัฐอำนาจนิยมใช้ แต่คิดไม่ถึงว่าการเมืองสหรัฐฯ ที่เป็นประชาธิปไตยจะใช้เครื่องมือแบบการขีดเส้นแบ่งเขตด้วย

ธเนศ: ขอเสริมจากที่อาจารย์สิริพรรณพูดถึงเรื่องการเกิดคลื่นสีแดง ถามว่าทำไมผลโพลถึงผิดไปจากความเป็นจริงแบบนี้ ผมคิดว่ามันเกิดจากกลไกวิธีการที่สหรัฐฯ เรียกว่า การเลือกตั้งแบบเสรีและเป็นธรรม (free and fair election) ซึ่งแม้จะไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมดแต่ก็ใกล้เคียง กลไกแบบนี้ทำให้ควบคุมผลการเลือกตั้งยาก เผด็จการจะมีปัญหากับการเลือกตั้งแบบนี้มากเพราะมันคุมผลไม่ได้ ซึ่งตอนนี้เราเห็นเลยว่าสหรัฐฯ ไปแก้กฎหมาย มีการข่มขู่เจ้าหน้าที่นับคะแนน แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไงผลคะแนนก็ต้องออกไป ยังไงก็ต้องมีคนมาลงคะแนน เพราะฉะนั้นแม้ระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ประเด็นของผมก็คือการเกิดเรื่องแบบนี้ก็ทำให้การทำนายของโพลไปไม่รอด

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าข้อดีของระบบเลือกตั้งเสรีนิยมของสหรัฐฯ คือการสะท้อนความต้องการของปัจเจกบุคคลจริงๆ เพราะเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าผลจะเป็นยังไงจนกว่าจะถึงวันที่เขาไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง

สำหรับผม ผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนภาพความเชื่อของคนทั้งสองกลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อเรื่องเสรีภาพทางการเมืองแบบอเมริกัน คือการที่เขาจะเลือกใครหรือทำอะไรก็ได้ สะท้อนความต้องการของตัวเองจริงๆ นี่แหละเป็นคนอเมริกันชัดๆ อย่างที่หลายคนมองว่าโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เห็นแก่ตัวมาก แต่คนอเมริกันจำนวนหนึ่งก็บอกว่าเขาอยากได้แบบนี้ นี่ก็สะท้อนผู้ลงคะแนนอเมริกันชนส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกที่อยู่ในเขตชนบท มีการศึกษาต่ำ เป็นชนชั้นแรงงาน พวกเขาไม่มีอนาคตทางเศรษฐกิจการเมืองในระบบลิเบอรัล กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาเยอะอีกครั้ง ส่วนอีกกลุ่มสะท้อนความเชื่อและอุดมการณ์ที่เท่าเทียมกัน รวมถึงสิทธิสตรีและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะยังไม่เท่าเทียมกันก็จะพยายามให้มันเท่ากันและมีการแบ่งผลประโยชน์กระจายกันออกไป เราจะบอกว่าเขาเป็นพวกอุดมคติก็ได้

กล่าวโดยสรุป ผมมองว่าการเมืองอเมริกาตอนนี้กำลังสะท้อนความขัดแย้งแบบพื้นฐาน (basic instinct) ของคนกลุ่มหนึ่ง กับสำนึกความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพหน่อยของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นโลกที่ดีขึ้น ผมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นผลเลยว่าฝั่งไหนจะไป

ถามว่าสะท้อนถึงไทยไหม ตอนแรกผมคิดว่าไม่นะ แต่พอเรื่องโลกร้อนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองอเมริกันมากขึ้น อันนี้กระเทือนเราแน่ๆ เพราะถ้าอากาศเป็นพิษ น้ำท่วม เขาตายเราก็ตาย เพราะฉะนั้นผมว่าเราสนใจการเมืองอเมริกันก็ดีเหมือนกันนะ จะได้รู้แนวโน้มว่าต้องทำงานหนักขึ้นในการพยายามรักษาดุลยภาพของโลก พวกทรัพยากรต่างๆ

สงครามรัสเซีย-ยูเครนในการเลือกตั้งกลางเทอม

สิริพรรณ: หลายคนตั้งคำถามว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะกระทบอะไรกับความสัมพันธ์กับยูเครนไหม เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้เงินอุดหนุนยูเครนเยอะมาก มากกว่าประเทศยุโรปรวมกันด้วยซ้ำ หรือจะกระทบอะไรความสัมพันธ์จีนไหม

ถ้าตามการเมืองสหรัฐฯ จะรู้ว่าปัญหาปากท้องหรือเรื่องภายในประเทศเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจ แต่ครั้งนี้ถ้าเรามองความแตกแยกลงไปในรายละเอียดภูมิทัศน์ประชาธิปไตย จะเห็นว่าทั้งสองพรรคมีภาพกว้างเหมือนกันคือจุดยืนต่อยูเครน คือไม่ว่าพรรคไหนเข้ามาก็จะยังคงช่วยเหลือยูเครน แต่อาจต่างกันในรายละเอียด กล่าวคือถ้าเป็นพรรครีพับลิกันก็อาจลดเงินลงมาและให้อาวุธยุทโธปกรณ์แทนเพื่อที่สหรัฐฯ จะได้เป็นผู้ผลิตอาวุธ ส่วนกับจีน ไม่ว่าจะพรรคไหนนโยบายที่มีต่อจีนก็จะยังคงความเข้มข้นอยู่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าติดตามคือ การเลือกตั้งครั้งนี้มีความซับซ้อนและมีนัยที่แต่ละฝั่งตีความต่างกัน แล้วใครจะขึ้นมาเป็นเสียงข้างมากในสภา ไบเดนจะทำงานยากขึ้นไหม เพราะสมมติว่าถึงพรรครีพับลิกันจะไม่สามารถชนะในวุฒิสภาแต่ชนะสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายต่างๆ ก็ออกยากแล้ว อย่างเรื่องสิทธิการทำแท้งที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ไบเดนก็จะมีแผนการว่าจะออกเป็นรัฐบัญญัติของสหรัฐฯ (federal law) ให้คุ้มครอง รวมถึงพยายามสู้เรื่องการควบคุมอาวุธปืนและสิทธิในการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้เป็นตัวแบบประชาธิปไตยที่สหรัฐฯ จะมีได้ แต่ถ้าพรรครีพับลิกันชนะ สื่อต่างๆ ทั่วโลกก็คงต้องจับตาดูว่าสหรัฐฯ มาถึงจุดนี้ได้ยังไง

ถ้าให้คาดการณ์ต่อไป พรรครีพับลิกันอาจจะชนะในสภาผู้แทนราษฎรไม่มาก ประมาณ 10-15 ที่นั่ง ไม่เกิน 20 ที่นั่ง ซึ่งไม่แปลกใจ แต่ที่น่าจับตาคือเขตที่ทรัมป์เลือกผู้สมัครมากับมือทั้งผู้สมัครวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรว่าจะชนะไหม ตรงนี้จะเป็นตัวแปรที่บอกว่าทรัมป์ 2024 จะกลับมาไหม คือทรัมป์ลงรับเลือกตั้งแน่ แต่ต้องดูว่าจะชนะการเลือกตั้งขั้นต้น (primary election) ไหมด้วย  

ปกป้อง: การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เราหาเสียงแบบที่เราไม่ค่อยได้เห็น อย่างปกติเวลาเราหาเสียงก็จะหาเสียงให้ตัวเอง แต่รอบนี้ในหลายพื้นที่ ตัวแทนพรรคเดโมแครตหาเสียงให้ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันที่ทรัมป์หนุนหลังในการเลือกตั้งขั้นต้นว่าใกล้ชิดกับทรัมป์ยังไง มีจุดยืนยังไงเรื่องการปฏิเสธผลการเลือกตั้ง 2020 เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกผู้สมัครคนนั้นมาเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพราะพรรคเดโมแครตมองว่าถ้าเป็นแบบนี้ตัวเองจะมีโอกาสชนะมากกว่าในการเลือกตั้งใหญ่

เวลาดูโฆษณาหาเสียงตอนจบจะมีบอกว่า โฆษณานี้ได้รับการอนุมัติหรือสนับสนุนจากคนนั้นคนนี้ คราวนี้เราจะเห็นว่ามีผู้สมัครบางคนมาจากพรรครีพับลิกัน แต่พรรคเดโมแครตเป็นผู้สนับสนุน

ทรัมป์กับการเลือกตั้งกลางเทอม 2022

สิริพรรณ: ถ้าถามว่าทรัมป์มีอิทธิพลแค่ไหนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราต้องไปดูผลการเลือกตั้งทั้งหมดก่อน แต่ด้วยความที่สหรัฐฯ เป็นสหพันธรัฐ (federal state) ก็จะมีกฎหมายของตัวเอง อย่างในแอตแลนตาหรือจอร์เจียกำหนดเลยว่าผู้สมัครต้องชนะเกิน 50% ซึ่งเป็นกฎตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมือง (civil war) ทำให้เราจะยังไม่รู้ว่าใครจะชนะในมลรัฐเหล่านี้จนกว่าจะถึงวันที่ 6 ธันวาคม ที่มีการเลือกตั้งรอบตัดเชือก (runoff election)

แต่ถ้าให้ประเมิน ณ จุดนี้ นี่ไม่ใช่วันที่ดีสำหรับทรัมป์ ไม่ได้เต็มร้อยและอาจจะสอบตกด้วยซ้ำ เพราะคนที่ตัวเองเลือกมาไม่ได้ชนะเยอะอย่างที่ตั้งใจไว้ ตรงนี้สะท้อนว่าสุดท้าย คนอเมริกันยังให้ความสำคัญกับเนื้อดินของประชาธิปไตยอยู่มาก และถึงสองปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าคะแนนนิยม (approval rating) ของไบเดนจะตกต่ำ แต่สองปีที่ผ่านมาเขาก็มีผลงานเยอะมาก ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือกฎหมายเยียวยาเงินเฟ้อ แต่ไบเดนอาจจะพูดไม่ได้ใจคนเท่าไหร่ในช่วงหาเสียง คนที่ทำให้คะแนนกระเตื้องขึ้นน่าจะเป็นโอบามามากกว่า

ธเนศ: ผมก็แปลกใจว่าทำไมคะแนนนิยมของไบเดนต่ำ แต่คงเป็นเพราะธรรมเนียมของการเลือกตั้งที่มีตัววัดบางอย่าง เพราะถ้าใช้ตัววัดเป็นเรื่องเศรษฐกิจ อาชญากรรม หรือเรื่องใหญ่ในแต่ละช่วง อันนี้ผมว่าไบเดนมีทีมทำงานในเรื่องนี้ที่เป็น NGO เก่า นำคนที่แต่ก่อนไม่เคยมีพื้นที่ในทางการเมืองมาร่วมทำงาน พวกคนกลุ่มน้อย อินเดียนอเมริกัน คนลาติน หรือผู้หญิง แต่ก่อนคนกลุ่มนี้ไม่มีทางเข้ามาอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีได้ แต่ไบเดนกระจายงานให้พวกเขา และหลายคนก็มีผลงานนะ แต่ผลงานเหล่านี้กลับไม่ออกมาเป็นคะแนนนิยมหรือได้รับการพูดถึงเลย ผมจึงคิดว่าการวัดแบบนี้อาจจะผิดไปจากความจริงค่อนข้างเยอะ

เกมการเมืองเดโมแครตหลังการเลือกตั้งกลางเทอม 2022

ธเนศ: ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ถ้าพรรครีพับลิกันยึดสภาผู้แทนราษฎรได้ต้องยากแน่ๆ เพราะฉะนั้น ทางต่อไปของพรรคเดโมแครตและไบเดนน่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายหรือนโยบายเก่า และบางเรื่อง เช่น สิทธิการทำแท้ง ที่ต้องเอาเข้ามาทำเป็นกฎหมายจากส่วนกลาง เพราะถ้าทำได้จะเป็นงานใหญ่และอยู่อีกนาน มีผลระยะยาวต่อพรรคเดโมแครต

ถ้าพูดโดยสรุป โฟกัสเฉพาะเรื่องและเฉพาะประเด็น แค่นี้พอ สองปีสุดท้ายให้เก็บงานเก่า รักษาตัว สร้างและให้บทบาทกับคนรุ่นใหม่ เพราะถ้าจะสู้กับผลประโยชน์เฉพาะหน้ามันไม่ยั่งยืน แต่คุณต้องสู้กับความคิด อุดมการณ์ และความเชื่ออะไรต่างๆ ที่เป็นระยะยาว พวกเรื่องสิทธิสตรี สิทธิในการทำแท้งหรือความเท่าเทียมกัน อะไรพวกนี้ ซึ่งถ้าถามผม ผมไม่อยากให้ไบเดนกลับมาลงรับเลือกตั้งนะ ยกเว้นทรัมป์จะลง ซึ่งไบเดนก็อาจจะลงอีกรอบ เพราะไม่มีใครอยากแข่งกับทรัมป์

ปกป้อง: ผมคิดว่าความน่าสนใจอย่างหนึ่งในรอบนี้คือนโยบายเศรษฐกิจ การจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีโจทย์แตกต่างกันมากระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกัน แนวทางของเดโมแครตแตกต่างออกไปจากวิธีคิดดั้งเดิมของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่พอจะจัดการเงินเฟ้อก็คิดแต่จะลดรายจ่ายภาครัฐหรือขึ้นดอกเบี้ยเท่านั้น

ถ้าเราไปดูกฎหมายฉบับแรกที่ไบเดนออกตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ คือ American Rescue Plan อันนี้มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 1.9 ล้านล้านเหรียญ ช่วยเหลือเรื่องรายได้ให้คนทำงาน ให้สิทธิประโยชน์กับคนตกงาน ให้เครดิตภาษีคนมีลูก ลงทุนในโรงเรียนเพื่อดึงเด็กกลับเข้าสู่โรงเรียน ฉบับที่สองคือ Infrastructure Investment and Job Act ประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญ ลงทุนสร้างถนน สะพาน ระบบราง ระบบขนส่งมวลชน ท่าเรือ ฯลฯ และ The Inflation Reduction Act ซึ่งเอาเข้าจริงเนื้อหาของกฎหมายไม่ได้เน้นการลดเงินเฟ้อในระยะสั้น ชื่อนี้มาทีหลังตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูงมาก แต่เนื้อหาหลักเป็นการลงทุนเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การลงทุนในพลังงานสะอาด การลงทุนให้สหรัฐฯ มีความมั่นคงทางพลังงานสูงขึ้น การลงทุนสีเขียวต่างๆ รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้รัฐ นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นฝ่ายซ้ายหน่อยก็จะมองว่า ในระยะยาวมันอาจจะช่วยลดเงินเฟ้อได้ เพราะจะทำให้ราคาพลังงานถูกลงในอนาคต

จะเห็นว่ากฎหมายทั้งหมดนี้แตกต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของพรรครีพับลิกันอย่างมาก อาจจะมีกฎหมายบางฉบับ เช่น การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเห็นพ้องกันทั้งสองฝ่าย (bipartisan) อยู่บ้าง แต่เราจะเห็นวิธีการตีโจทย์และแก้ปัญหาที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรค อย่างที่บอกไปว่านโยบายกระแสหลักในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อคือทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่พรรคเดโมแครตมองว่าลำพังการขึ้นดอกเบี้ยไม่พอ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบกับการบริโภคและการลงทุน ทำให้คนตกงานมากขึ้น เพราะในทางเศรษฐศาสตร์จะมีแฝดนรกอยู่คู่หนึ่งคือ ‘เงินเฟ้อ (ของแพง)’ กับ ‘คนตกงาน’ ถ้าสองแฝดนรกมาพร้อมกันวายป่วงไป และการจะทำให้ปัญหาดีขึ้นต้องแลกมาด้วยการที่อีกปัญหาอาจจะแย่ลง โจทย์สำคัญคือจะออกแบบนโยบายอย่างไรที่จะรักษาสมดุลแก้ปัญหาสองเรื่องนี้ไปด้วยพร้อมกัน โดยแลกได้แลกเสียกันให้น้อยที่สุด เดโมแครตพยายามจะคงการใช้จ่ายภาครัฐอยู่ ความสำคัญคือใช้จ่ายไปกับอะไร คำตอบคือโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสร้างงาน สร้างสีเขียว สร้างประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน สร้างผลิตภาพในอนาคต สร้างรายได้ในอนาคต สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ แล้วจะหารายได้มาจากไหน ก็โยงกับการปฏิรูประบบภาษี ทั้งการเก็บภาษีคนรวยและการเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยเก็บภาษี รวมถึงการไล่ลดการขาดดุลการคลังในส่วนที่ไม่มีความจำเป็น

น่าสนใจที่สิ่งที่พรรคเดโมแครตทำไม่ได้ดูแค่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ดูแค่ตัวเลขว่าต้องโตเท่าไหร่ แต่มีการมุ่งเป้าว่าการเติบโตควรจะไปทางไหน เช่น โตด้วยโครงสร้างพื้นฐาน คน หรือการลงทุนสีเขียว ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวาระใหญ่ของการเลือกตั้ง ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงนโยบายสิ่งแวดล้อมแบบที่ผ่านมา แต่เป็นนโยบายที่ผูกกับนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายแก้ปัญหาปากท้องประชาชน โยงเป็นเรื่องโครงสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน สีเขียว และเป็นธรรมมากขึ้น ผมว่าเราจะเห็นเทรนด์พวกนี้มากขึ้น และน่าจับตาดูมากทีเดียว

สิริพรรณ: ภาระหนักของไบเดนและพรรคเดโมแครตน่าจะเป็นการปรุงรสอาหารให้กลมกล่อมสำหรับฐานเสียงบางส่วนที่กำลังจะร่อยหรอลงไป ถ้าเรามองรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มแรงงาน (working class) ที่เคยเป็นฐานเสียงเดิมที่หนักแน่นและยาวนานมาตลอดของพรรคเดโมแครตหายไป เพราะพวกเขาหันไปเลือกพรรครีพับลิกันแทน นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคเลยเพราะคนกลุ่มนี้มองปัญหาปากท้องเป็นสำคัญ แต่ที่การเลือกครั้งนี้ยังไม่เกิดคลื่นสีแดงเป็นความโชคดีของพรรคเดโมแครตอย่างหนึ่ง เพราะดันมีประเด็นคำพิพากษาของศาลสูงสุดเรื่องการทำแท้งพอดี ทำให้สุภาพสตรีผิวขาวที่มีการศึกษาในเมืองออกมาแสดงพลัง นี่แหละที่เป็นตัวแปรสำคัญ แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 อาจไม่ได้มีประเด็นแหลมคมอะไรมาเป็นตัวปะทะทับกับประเด็นเศรษฐกิจแล้ว จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่ต้องถามตัวเองว่า จะปรุงรสอย่างไร

ที่น่าสนใจและเป็นการเสริมประเด็นของอาจารย์ปกป้องคือ พรรคเดโมแครตคิดและพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว ผลที่เกิดขึ้นจึงอาจจะต้องรออีกอย่างน้อย 4-5 ปี หรือแม้กระทั่ง 10 ปี แต่ในระหว่างนั้นเรื่องเศรษฐกิจจะรอไม่ได้ และพรรครีพับลิกันก็จะเข้ามาแทนที่และฉกฉวยผลพวงที่พรรคเดโมแครตวางไว้เพื่อแก้ปัญหา นี่เป็นวัฏจักร (cycle) ของการเมืองอเมริกันอย่างหนึ่ง

ถ้าเราคุยกับคนอเมริกัน เขาจะมองว่าพรรคเดโมแครตคิดเยอะ แก้ปัญหายาก เพราะพอพรรครีพับลิกันเข้ามาจะลดภาษีอย่างเดียว เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเห็นผลทันตา กระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว แต่พรรคเดโมแครตจะวางโครงสร้างใหญ่เพื่อรอผลพวงที่จะกระเตื้องขึ้นมา นี่ก็เป็นอีกโจทย์ใหญ่ของพรรคเดโมแครต

แต่ถ้ามองสิ่งที่ไบเดนพยายามทำและเป็นสิ่งที่พรรคเดโมแครตน่าจะมองในภาพรวมคือ พรรคไม่ได้มองแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่พ่วงไปกับเรื่องสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งเขาคงมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ คือพยายามจะส่งสาส์นไปให้คนเหล่านี้ ตรงนี้จุดดีคือพรรคเดโมแครตจะกลายเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ในอนาคต ซึ่งแม้คนรุ่นใหม่จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยอยู่ แต่ก็นับว่ามากขึ้นในสองครั้งหลัง ขณะที่พรรครีพับลิกันยังให้คุณค่าทางการเมืองแบบรีพับลิกันและพ่วงกับทรัมป์ ทำให้ในอนาคต พรรครีพับลิกันจะกลายเป็นพรรคของคนอาวุโส พรรคของคนแก่ คนมีค่านิยมดั้งเดิม ในระยะยาวจึงอยู่ที่ว่าสองพรรคนี้จะปรุงรสยังไง แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือทั้งสองพรรคไม่มีผู้สมัครตัวเต็งมาสู้กับไบเดนและทรัมป์ จึงเป็นไปได้มากที่เราจะเห็นคู่นี้รีแมทช์ในปี 2024

ปฏิเสธการเลือกตั้ง + การเมืองแบบสองพรรคใหญ่ = วิกฤตการเมืองสหรัฐฯ (?)

ธเนศ: เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีนักการเมืองของพรรครีพับลิกันบางส่วนที่เป็นผู้ปฏิเสธการเลือกตั้ง (election denier) ประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 จริงๆ ต้องบอกว่านี่เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง เพราะถ้าย้อนกลับไปในสมัยพรรครีพับลิกันยุคแรก ต้องบอกว่าพรรคนี้เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ก้าวหน้ามาก ต่อต้านระบบทาส ยอมรับความเท่าเทียม แต่มาเริ่มเปลี่ยนไปหลังยุคสงครามโลกที่กลายเป็นพรรคนายทุน แล้วก็กลายเป็นพรรค white supremacy ซึ่งจริงๆ เป็นอุดมการณ์แบบในยุคที่สหรัฐฯ ยังมีระบบทาส

จริงๆ ถ้าจะมองดูแล้ว พรรครีพับลิกันใกล้เคียงกับพรรคการเมืองไทยมาก เป็นพรรคอะไรก็ได้ ขอแค่มีอำนาจ มีคนเชื่อ เพราะงั้นการเมืองอเมริกันก็ไม่ได้วิเศษไปกว่าการเมืองไทยสักเท่าไหร่ถ้ามองมุมนี้

สำหรับเรื่องการเมืองสองขั้วอำนาจ ผมมองว่านี่เป็นวิกฤตของประชาธิปไตยทั่วไป ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เพราะการที่พรรคมีโครงสร้างตายตัวประกอบกับการเป็นพรรคใหญ่ทำให้การรณรงค์เข้าสู่การเลือกตั้งแพงมาก ระบบพรรคจึงทำให้แกนนำต้องหาเงินหรือหาการบริจาคเข้าพรรคให้ได้ จึงเกิดเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้ระบบประชาธิปไตยเข้มแข็ง แต่ทำให้ระบบกลุ่มหรือระบบพรรคพวกเข้มแข็ง

สิริพรรณ: เรื่องการปฏิเสธการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากในการเมืองสหรัฐฯ เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้มีอีกตำแหน่งสำคัญหนึ่งในหลายมลรัฐคือนายทะเบียน (secretary of state) ของแต่ละมลรัฐ ที่จะคอยให้ความเห็นชอบและรับรองการขอใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะในสหรัฐฯ ผู้ที่ต้องการจะเลือกตั้งต้องแสดงเจตจำนงว่า อยากจะใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เราจะเห็นนายทะเบียนของหลายมลรัฐมากที่ปฏิเสธการเลือกตั้งหรือปฏิเสธคนมาลงทะเบียนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นทิศทางที่น่ากลัวทีเดียว

ส่วนเรื่องที่สองพรรคใหญ่ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ จริงๆ ไม่เชิงเป็นวิกฤตการเมือง ทว่าสองพรรคนี้อาจไม่สามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างตรงจุดอีกต่อไป ที่น่าสนใจคือทั้งสองพรรคยังมีความยืดหยุ่นพอสมควร คือมีขั้วตรงข้ามอยู่ในพรรค จะมองว่าเป็นข้อดีก็ใช่ แต่ถ้าจะมองว่าสองพรรคนี้ใช้เครื่องมือทางกฎหมายผูกขาดและกันไม่ให้พรรคอื่นตั้งไข่ขึ้นมาได้ก็ใช่เหมือนกัน อีกอย่างคือการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ต้องใช้ต้นทุนสูง การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคใหญ่ใช้ต้นทุนน้อยกว่า

ปกป้อง: กฎหมายสิทธิในการเลือกตั้ง (Voting Rights Act) ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะมาถึงยุค 2022 แล้ว แต่การเมืองอเมริกันกลับต้องมาคุยเรื่องสิทธิการเลือกตั้งว่าต้องปกปักรักษายังไง เพราะตอนนี้เรากำลังเห็นเทรนด์ที่รัฐบาลหลายมลรัฐ โดยเฉพาะในรัฐที่รีพับลิกันครองอำนาจ ไปแก้กฎหมายให้การเลือกตั้งหรือการลงทะเบียนเลือกตั้งยากขึ้น มีอุปสรรคมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนกลุ่มน้อย ตอนนี้ไบเดนจึงพยายามออกกฎหมายของรัฐบาลกลางขึ้นมาเพื่อสร้างมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับสิทธิเลือกตั้งสำหรับทุกรัฐ แต่ยังออกไม่สำเร็จ และจะยิ่งยากขึ้นหากพรรคเดโมแครตเสียที่นั่งในสภาไป

จากการเมืองศาลสูง สู่ภาพสะท้อนภูมิทัศน์การเมืองสหรัฐฯ

ธเนศ: การที่ทรัมป์แต่งตั้งผู้พิพากษา 3 คนทำให้เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในระบบยุติธรรมที่เราเชื่อว่ามีความยุติธรรมสูงมาก คือผมคิดว่าความโดดเด่นของการเมืองอเมริกันไม่ใช่เรื่องปรัชญาที่ยุโรปจะเด่นกว่า จะเป็นอุดมการณ์แบบชาวบ้าน คนธรรมดา ที่ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตจริง แต่พอถึงจุดหนึ่ง ถ้าระบบศาลยุติธรรมหรือแม้แต่ระบบการศึกษาไม่ได้โฟกัสที่ปรัชญาความเป็นมนุษย์ ซึ่งผมว่าเป็นแกนกลางของอารยธรรมตะวันตก ไม่มีปรัชญาที่มีน้ำหนักในการถกเถียงค้นหาความจริง ก็ลำบากแล้ว ถ้าเราปล่อยให้ทุกอย่างอยู่ในมือของนักการเมืองและอำนาจรัฐ ไม่มีหลักประกันอะไร จะเกิดการที่ผลประโยชน์ส่วนตัวถูกนำมารวมกับผลประโยชน์ของทางการแทน

สิริพรรณ: จริงๆ พื้นที่ศาลสูงเป็นพื้นที่ของการแข่งขัน เป็นพื้นที่การแข่งขันเชิงความคิด เชิงอุดมการณ์ ถ้าพรรคเดโมแครตคุมวุฒิสภาไม่ได้ ก็ไม่มีทางเลยที่จะแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้หากมีโอกาส เหมือนที่พรรครีพับลิกันไม่ยอมให้โอบามาแต่งตั้งเมอร์ริค การ์แลนด์ (Merrick Garland) ดังนั้นการเมืองเรื่องศาลสูงจึงไม่ใช่แค่เรื่องศาลสูง แต่เป็นการสะท้อนถึงภูมิทัศน์และทิศทางประชาธิปไตยของสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองการจัดระเบียบสังคมในเชิงอุดมการณ์ด้วย

ปกป้อง: การเมืองเรื่องศาลสูงสำคัญมาก เพราะกระทบต่อความก้าวหน้าทางสังคมสูง ผู้พิพากษาศาลสูงมีทั้งหมด 9 คน ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะเสียชีวิต เท่ากับว่าแม้ทรัมป์จะไม่อยู่ตำแหน่งแล้ว แต่ผู้พิพากษาที่แต่งตั้งโดยทรัมป์ยังอยู่ และเขาก็แต่งตั้งคนอายุ 40-50 ปี ซึ่งจะอยู่ได้อีกนาน ทิ้งมรดกไว้ได้อีก 30-40 ปี

เมื่อก่อนศาลสูงจะมีฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้าประมาณ 4-4 คน และมีอีกหนึ่งคนที่มีฐานอนุรักษนิยมค่อนไปทางกลางรับบทเป็น swing vote แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีฝ่ายอนุรักษนิยมมากถึง 6 คน เพราะฉะนั้น ต่อให้จะสวิงผลการตัดสินมาคนหนึ่งก็ยังเปลี่ยนผลไม่ได้ ทำให้เราเห็นการกลับคำพิพากษาเรื่องสิทธิการทำแท้งเสรีที่อยู่มา 50 ปี และน่าจับตาว่าจะมีเรื่องอะไรต่อจากนี้อีก

มองฉากทัศน์การเมืองสหรัฐฯ หวนกลับดูภูมิทัศน์การเมืองไทย

สิริพรรณ: การเมืองสหรัฐฯ กับไทยเหมือนเส้นขนาน เปรียบเทียบได้ชัดเจนในแง่ที่สังคมจำนวนหนึ่งมีความอนุรักษนิยมถึงขั้นเป็นอำนาจนิยม มีผู้นำที่ไม่ได้เคารพกติกา ใช้โซเชียลมีเดียบิดเบือนถึงขั้นสร้างข้อมูลเท็จ แต่ที่ต่างคือสหรัฐฯ ยังไม่มีทหารมาทำรัฐประหาร ส่วนการเมืองของพรรครีพับลิกัน เราอาจต้องสกัดออกมาให้ได้ว่าเป็นค่านิยมของเขาที่ปฏิเสธการเลือกตั้งและประชาธิปไตย หรือเป็นแค่ค่านิยมของทรัมป์และผู้นำบางคน ถ้าสกัดออกมาได้ ตรงนี้คืออันตรายของประชาธิปไตยสหรัฐฯ ส่วนพรรคเดโมแครตแม้จะสู้บนพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่บางทีมันไม่พอ มันต้องส่งสาส์นถึงประชาชนให้เข้าใจถึงผลงานและแรงปรารถนาในการวางรากฐานของสังคมในระยะยาวกว่านี้

สำหรับเรื่องนักการเมืองหน้าใหม่ในการเมืองสหรัฐฯ ถือว่าเป็นเรื่องยาก เพาะคนหน้าใหม่ในการเมืองสหรัฐฯ ก็คือกลุ่ม ส.ส. หรือ ส.ว. หน้าเก่าที่ชนะมาทั้งหมด ทุกวันนี้ความยากของสังคมอเมริกันคือความหลากหลายเชิงประชากรสูงมาก ทำให้การสร้างภาวะผู้นำ (leadership) ของทั้งสองพรรคเป็นเรื่องท้าทายที่สุด คนแบบโอบามานี่คือไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทว่าที่น่าสนใจคือ โอบามาเป็นเหมือนโมเมนตัมที่เหวี่ยงให้เกิดพรรครีพับลิกันแบบในปัจจุบัน เพราะคนอเมริกันจำนวนหนึ่งรับไม่ได้กับการที่คนดำขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ถ้าพูดง่ายๆ คือโอบามาทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพเหวี่ยงมาทางซ้าย ชนิดที่คนอเมริกันจำนวนหนึ่งบอกว่าตนเองเคยเป็นฝ่ายซ้าย แต่เกือบจะกลายเป็นขวาในยุคโอบามา นี่คือดาบสองคมที่ได้มาจากการเป็นเสรีมากขึ้น

ถ้ามองไปถึงปี 2024 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นและเป็นแคนดิเดตผู้สมัคร ไบเดนก็น่าจะลงด้วย แต่คำถามคือทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งขั้นต้นหรือเปล่า นี่ก็เป็นการแข่งกันในพรรครีพับลิกันต่อไป แต่ส่วนตัวคิดว่าอาจจะเป็นแคนดิเดตหน้าใหม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครเข้าตาเลย แต่อาจจะถึงเวลาที่สองพรรคจะผลัดใบให้คนรุ่นใหม่ และนี่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับสังคมอเมริกันเช่นกัน

ธเนศ: ถ้าให้มองการเมืองสหรัฐฯ ยาวไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีกสองปีข้างหน้า ผมว่าไบเดนน่าจะไม่ลง ทรัมป์ก็น่าจะไม่ลง คือไม่ใช่ว่าไม่อยากมา แต่อาจจะโดนสักคดีก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็มองได้ว่าเป็นการช่วงชิงจังหวะกันอยู่ (ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน ทรัมป์ประกาศลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 อย่างเป็นทางการแล้ว – กองบรรณาธิการ)

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าผมค่อนข้างจะประทับใจกับระบบการเมืองอเมริกัน ที่แม้อาจจะไม่มีดาวรุ่ง แต่ในช่วงการเลือกตั้งจะมีคนหน้าใหม่ คนที่มีพละกำลังในการทำอะไรๆ เยอะมาก นั่นคือความหลากหลายและความแปลกใหม่ที่ให้ชีวิตชีวากับการเมืองอเมริกัน ผมอยากเห็นการเมืองไทยมีการเปิดพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวเข้ามาบ้าง เหมือนอย่างการเกิดพรรคอนาคตใหม่ จะเห็นว่าเขาเข้ามาเองนะ ระบบไม่ได้เปิดช่องอะไรให้เขาเลย เราจึงควรคิดว่าจะทำยังไงให้ระบบการเมืองไทยเริ่มคิดถึงการสร้างคนใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่มีความเชื่อแบบไหน เพราะความแตกต่างหลากหลายจะสร้างความงดงามให้กับระบบการเมือง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save