fbpx

“ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่ายังไม่แพ้ และจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น” คุยกับ ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. ยูเครนที่ตัดสินใจจับปืนเพื่อประเทศ

รุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครน นั่นคือสัญญาณว่าความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนยกระดับไปสู่สงครามเต็มขั้นแล้ว

ขณะที่รัสเซียมุ่งรุกเปิดฉากโจมตียูเครนจนปรากฏเป็นโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ณ ใจกลางยูเรเชีย ทางเลือกของชาวยูเครนมีไม่มากนัก กว่าหลายแสนคนตัดสินใจลี้ภัยสงครามเข้าสู่พรมแดนโปแลนด์เพื่อรักษาชีวิตตนเองให้อยู่รอดรอวันที่สันติภาพกลับคืนสู่ยูเครน

แต่สำหรับอีกหลายคน พวกเขาและเธอไม่พร้อมและไม่ต้องการจะไปจากบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รัก เมื่อประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ออกถ้อยแถลงปลุกใจและสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน พร้อมประกาศว่ารัฐบาลจะยังยืนหยัดไม่ถอยอยู่ที่กรุงคีฟ และจะแจกอาวุธให้แก่ประชาชนยูเครนที่พร้อมลุกขึ้นมาต่อกรกับกองทัพรัสเซีย ประชาชนร่วมหลายหมื่นตัดสินใจละทิ้งชีวิตสามัญธรรมดาร่วมจับปืนต่อต้านการใช้กำลังทางทหารที่ก้าวร้าวและไร้ความชอบธรรมของรัสเซีย

ในบรรดาสมาชิกรัฐสภายูเครนหลายคนที่ตัดสินใจร่วมจับอาวุธสู้ไปพร้อมกับประชาชน ‘คีรา รูดิก’ (Kira Rudik) หัวหน้าพรรคโฮโลส (Holos Party: Voice Party) – พรรคฝ่ายค้านสายเสรีนิยม โปรยูเครน โปรยุโรป คือหนึ่งในนั้น

ยามสงบ เธอคอยวิพากษ์วิจารณ์ คานอำนาจและตรวจสอบรัฐบาลเซเลนสกี แต่ในยามสงคราม หลังลงมติรับรองการประกาศใช้กฎอัยการศึก เธอวางความขัดแย้งทางการเมืองในสภาลงชั่วคราวและร่วม “ต้านและโต้กลับ” รัสเซีย ทั้งในสภาและในกรุงคีฟ

ล่วงเข้าสู่วันที่ห้าของการบุกโจมตี ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกจับตามองสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย 101 มีโอกาสต่อสายตรงไปยังกรุงคีฟเพื่อคุยกับคีราว่า อะไรที่ทำให้นักการเมืองอย่างเธอที่ไม่เคยคิดฝันจะจับอาวุธตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านและรับการฝึก พร้อมชวนคุยถึงความคิดความอ่านของเธอในห้วงเวลาสำคัญที่จะนำสันติภาพกลับมาสู่ยูเครน

หมายเหตุ – สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2022

คีรา รูดิก ถือปืนคาลาชนิคอฟที่ได้รับแจกจากทางรัฐบาลยูเครน | ภาพจาก เฟซบุ๊ก Kira Rudik

ช่วง 3-4 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่รัสเซียประกาศบุกโจมตี นับเป็นช่วงเวลายากลำบากสำหรับยูเครน ตอนนี้สถานการณ์ที่คีฟเป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงนี้คีฟตกอยู่ในการโจมตีทางอากาศทุกวัน ประมาณ 2-5 ครั้ง ปกติรัสเซียจะโจมตีช่วงกลางคืน แต่บางครั้งก็โจมตีช่วงกลางวันเหมือนกัน ทุกครั้งที่เราได้ยินสัญญาณไซเรน เราจะต้องไปที่หลุมหลบภัยเพื่อลดโอกาสเสียชีวิต

ล่าสุดกองทัพอากาศรัสเซียโจมตีอพาร์ตเมนต์ใกล้ๆ บริเวณที่ฉันอาศัยอยู่ แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ไม่มีใครเสียชีวิต

นอกจากนี้ กองทัพรัสเซียกำลังมุ่งหน้ามาที่คีฟ บุกมาจากสองทาง ทั้งทิศเหนือและใต้ แต่เราจะต้านกองทัพรัสเซีย หน่วยปฏิบัติการพิเศษได้รับหน้าที่ให้ดูแลจุดยุทธศาสตร์สำคัญในเมือง ส่วนกลุ่มต่อต้าน (resistance groups) จะคอยลาดตระเวนตามถนน คอยเฝ้าระวังหน่วยย่อยที่กำลังเคลื่อนพลมายังคีฟและพยายามรุกรานโจมตีเรา

(หลังจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีประกาศแจกอาวุธให้แก่ชาวยูเครนที่พร้อมจะร่วมสู้) เราตัดสินใจจัดตั้งกลุ่มต่อต้านขึ้นมาหลังจากสงครามเริ่ม เราได้รับแจกอาวุธ ส่วนฉันเองก็มีปืนคาลาชนิคอฟ (ปืน AK-47) อยู่กับตัว กำลังอยู่ในช่วงการฝึกยิงอยู่ ในกลุ่มต่อต้านที่ฉันสังกัด เรามีสมาชิกประมาณ 15 คน ฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม สู้ตายค่ะ! (หัวเราะ) เท่าที่รู้ ส.ส. ในฝ่ายเดียวกันก็เข้าร่วมกับกองกำลังต่อต้านกันหมด

ทุกๆ ค่ำคืน โลกและพันธมิตรจะบอกว่า นี่อาจเป็นคืนสุดท้ายของคีฟแล้ว แต่ทุกเช้าที่เราตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่า เรายังไม่แพ้ คีฟยังไม่ถูกยึด บอกตามตรง เราวางแผนว่าจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เราจะต่อต้านและสู้รัสเซียกลับ ไม่ใช่แค่ให้ถอยร่นจากยูเครนเท่านั้น แต่ให้ถอยกลับไปยังรัสเซียเลย

อพาร์ตเมนต์ที่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศในเช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2022 วันที่สามของการบุกโจมตี | ภาพจาก เฟซบุ๊ก Kira Rudik

คุณคิดว่าอีก 2-3 วันข้างหน้า สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

รัสเซียคิดว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) รัสเซียคิดว่าจะจัดการปิดฉากกับยูเครนได้ไว เพราะวางแผนไว้แบบนี้เลยไม่ได้จัดหากำลังหรืออะไรให้ทหารอย่างเพียงพอ รัสเซียคิดแค่ว่าบุกมาแล้วจะเอาชนะยูเครนได้ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ที่จริงกลับกันเลย เราสู้กลับ รัสเซียก็ยิ่งส่งทหารเข้ามามากยิ่งขึ้นเพื่อแสดงว่า ทำไมรัสเซียถึงบุกมาและเริ่มทำสงคราม

แต่ที่เราเห็นตอนนี้คือ ปูตินเสียกำลังทหารกว่าพันคนต่อวัน ในวันที่ 3 ของสงคราม ทหารรัสเซียเสียชีวิตไปแล้วกว่า 3 พันคน เพราะฉะนั้นเราแค่ต้องต้านต่อไปให้ได้อีก 10 วัน เราวางแผนไว้อย่างนี้ ต้านและโต้กลับ มาตรการคว่ำบาตรก็กำลังดำเนินอยู่ น่าจะสร้างปัญหาภายในให้ปูตินได้มากอยู่

ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมาหลังจากรัสเซียประกาศบุกโจมตี คุณเล่าว่าคุณตัดสินใจร่วมจับปืนพร้อมกับ ส.ส. คนอื่นๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน คุณคิดอะไรอยู่ตอนที่ตัดสินใจ

เหมือนฝันมาก ถ้าคุณถามฉันเมื่อประมาณ 5 วันก่อน ฉันคงตอบว่า “โอ้ ไม่ล่ะ” แต่พอมองไปที่ครอบครัวและบ้าน ฉันโกรธมากที่การตัดสินใจทำสงครามโจมตียูเครนของปูตินทำให้ชีวิตสามัญธรรมดาต้องเปลี่ยนไป นี่คือจุดที่ฉันตัดสินใจจะจับปืน ฉันจะไม่หนี จะปกป้องประเทศ เมือง และครอบครัวของฉัน ก่อนหน้านี้เหล่า ส.ส. ต่างก็ถกเถียงการเมืองกันในสภา แต่ตอนนี้เราต้องร่วมกันสู้ เราฝึกอาวุธและจะมุ่งหน้าไม่ถอย   

ความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซียปรากฏให้เห็นลางๆ มาร่วมหลายเดือนแล้วก่อนปูตินจะประกาศบุก คุณคาดคิดมาก่อนหน้านี้ไหมว่าสุดท้ายแล้วรัสเซียจะบุกยูเครนจริงๆ

คิดค่ะ เราอยู่ในสงครามกับรัสเซียมาร่วม 8 ปีแล้ว (กรณีสงครามดอนบาส) เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่รัสเซียโจมตียูเครนและพยายามจะผนวกดินแดนของเรา (โดเนตสก์และลูฮานสก์) ฉันบอกทุกคนเสมอว่าอย่าเชื่อรัสเซีย รัสเซียจะโจมตีแน่ๆ สักวันหนึ่ง ปูตินไม่รักษาสัญญาหรอก แต่ทั้งรัสเซียและมิตรประเทศก็บอกว่า ต้องมีหนทางทางการทูตที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้แน่ๆ แต่สุดท้ายก็เกิดสงคราม

นี่ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายสำหรับยูเครน เพราะเรารู้ว่ารัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวร้าวที่สุดในโลก แต่ไม่มีทางเลยที่จะไม่มีการต้านรัสเซียกลับ และยูเครนคือหนึ่งในพลังต่อต้าน อย่างที่เรากำลังต้านอยู่ตอนนี้

ยูเครนกับรัสเซียตกอยู่ใน ‘ความขัดแย้งแช่แข็ง’ มาเป็นเวลา 8 ปีแล้วนับตั้งแต่การผนวกไครเมียและสงครามในภูมิภาคดอนบาสในปี 2014 อย่างที่คุณบอก คุณคิดว่าสงครามครั้งนี้จะต่างออกไปไหม

อย่างแรกเลย ครั้งนี้เราได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตร ทั้งมาตรการคว่ำบาตรและการสนับสนุนทางการทหารและการป้องกัน อย่างที่สองคือ กองทัพยูเครนต่างไปจากปี 2014 เมื่อปี 2014 เราอ่อนแอกว่านี้ แต่ตอนนี้เราสร้างกองทัพที่เข้มแข็งขึ้นมา ส่วนกองกำลังต่อต้านก็กำลังไปได้สวย

หนึ่งใน ‘ข้ออ้าง’ ของปูตินในการรุกรานยูเครนในครั้งนี้คือ “ต้องล้มล้างรัฐบาลนีโอนาซีลง” ในฐานะที่คุณเป็น ส.ส. ในรัฐสภา คุณมองข้ออ้างนี้อย่างไร

พูดตรงๆ ยากมากที่จะออกความเห็นว่าปูตินคิดอะไรอยู่ในหัว ยูเครนเป็นประเทศประชาธิปไตย นักการเมืองในสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราเป็นพันธมิตรกับโปแลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ทำไมถึงมีคนคิดว่าประเทศเราจะดำเนินต่อไปได้ถ้ามีกลิ่นอายความเป็นนาซี ฉันไม่เข้าใจ ปูตินเป็นบ้า ทุกอย่างที่ปูตินพูดเป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น

คุณเคยฟังถ้อยแถลงของปูตินก่อนจะบุกยูเครนใช่ไหม มันเหมือนหลุดออกมาจากนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์เลย ตอนที่ปูตินบอกว่า ยูเครนไม่เคยดำรงอยู่ และไม่ควรจะดำรงอยู่ (ในฐานะประเทศ)  

มีการถกเถียงอย่างมากกันว่าปูตินกลัวอะไรมากกว่ากันระหว่างนาโตกับยูเครนที่เป็นประชาธิปไตย คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ฉันไม่คิดนะว่าจริงๆ แล้ว ปูตินจะกลัวนาโตขนาดนั้น พูดให้ชัดคือ โปแลนด์เป็นสมาชิกนาโต แล้วถ้ามีกองกำลังนาโตในยูเครน นั่นเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่สิ่งที่ปูตินกลัวจริงๆ คือการที่มีประเทศประชาธิปไตยติดพรมแดน เพราะยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศหลังโซเวียตที่เคยแสดงให้เห็นแล้วว่า เรามีทางของตัวเอง เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะเลือกแนวทางแบบโลกตะวันตก ไม่ตกหลุมโฆษณาชวนเชื่อและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียและของปูติน

นี่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวสำหรับปูตินที่สุด ปูตินอาจจะคิดว่าเขาคุมคาซัคสถาน เบลารุส หรือค่อยๆ ซึมอิทธิพลต่อรัฐบาลจอร์เจียได้ แต่เขาทำแบบนี้กับยูเครนไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมปูตินถึงเลือกตัดสินใจใช้กำลังทางการทหาร ซึ่งมักจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะว่าไม่มีทางอื่นแล้วที่ปูตินจะใช้จัดการยูเครนได้ พูดได้ด้วยความยินดีเลย

มองอย่างไรที่ปูตินคิดว่าการใช้กำลังจะทำให้ยูเครนยอมแพ้ได

คิดผิดแล้วค่ะ

คีรา รูดิก | ภาพจาก เฟซบุ๊ก Kira Rudik

อะไรที่จะหยุดสงครามและทำให้เอาชนะปูตินได้

คิดว่าควรจะต้องมีการรวมกันและสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหมด เหมือนอย่างในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการแบ่งค่ายระหว่างประเทศประชาธิปไตยและอีกค่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราเห็นความเป็นเอกภาพในหมู่ชาวยูเครนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการเอาชนะปูติน ฉันมั่นใจว่าตอนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกที่จะหยุดประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวร้าวได้

รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรและการสนับสนุนชาวยูเครนจะทำให้รัสเซียถอยกลับได้ ให้ปูตินต้องคอยกลับไปจัดการกับปัญหาภายในประเทศ และทำให้รัสเซียยอมแพ้ได้

ในขณะที่โลกมีปฏิกิริยาต่อการรุกรานของรัสเซียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคว่ำบาตรหรือการสนับสนุนทางด้านการป้องกัน คุณคิดว่ายูเครนได้รับการช่วยเหลือจากประชาคมโลกเพียงพอแล้วหรือยัง

ก่อนอื่น เรารู้สึกขอบคุณจริงๆ สำหรับความช่วยเหลือทุกอย่าง เรารู้ว่าเรามีมิตรอยู่ทั่วโลก กลุ่มประเทศประชาธิปไตยให้การสนับสนุนเราอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การโจมตีของปูตินไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ปูตินประกาศว่าจะโจมตียูเครนเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนตัวคิดว่ามาตรการคว่ำบาตรและการสนับสนุนต่างๆ ค่อนข้างจะมาช้าไปหน่อย ในความหมายที่ว่า ถ้ามีมาตรการคว่ำบาตรก่อนหน้า ก็อาจจะไม่เกิดสงคราม แต่ตอนนี้เรามีสิ่งที่เราต้องการแล้ว

ที่เราต้องการมากที่สุดตอนนี้คือเขตห้ามบิน ฉันและพรรคเรียกร้องให้มีมาตรการปิดน่านฟ้าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตอนแรกประเทศพันธมิตรที่เป็นสมาชิกนาโตบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้คือโอกาสที่จะทำแล้ว การปฏิบัติทางบกเป็นไปได้ด้วยดี เราสู้รัสเซียได้ แต่เป็นเรื่องยากมากที่เราจะป้องกันน่านฟ้าทุกเมืองในยูเครน เราต้องการความช่วยเหลือจากประเทศพันธมิตรนาโตในเรื่องนี้ นี่คือประเด็นหลักที่สำคัญที่สุด

ถามในฐานะที่คุณเป็น ส.ส. อยากทราบว่ารัฐบาลยูเครนวางแผนอย่างไรต่อไป ประธานาธิบดีเซเลนสกีเองก็ประกาศว่าจะยังอยู่ในกรุงคีฟต่อไป   

ในฐานะ ส.ส. และหัวหน้าพรรคโฮโลส ฉันจะอยู่ที่คีฟ จับอาวุธ และรวบรวมคนที่สามารถถืออาวุธได้เข้ากลุ่มร่วมต่อต้าน

สอง พวกเราในฐานะ ส.ส. กำลังร่วมกันตราข้อกฎหมายว่าด้วยการสบคบคิดกับฝ่ายตรงข้าม การบูรณะประเทศขึ้นมาใหม่ และการขอความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ สภาทำงานร่วมกันจากทางไกลอย่างไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรากำลังทำให้คืบหน้าอยู่

ฉันกังวลมากเรื่องว่าจะบูรณะประเทศขึ้นมาใหม่หลังสงครามจบได้อย่างไร แต่เราพร้อมแล้วที่จะลงมือ

คีรา รูดิก | ภาพจาก เฟซบุ๊ก Kira Rudik

สำหรับเราที่อยู่ไกลจากยูเครน แม้จะเข้าใจความเลวร้ายจากผลกระทบของสงครามต่อประชาชนคนธรรมดา แต่ไม่ง่ายที่จะเชื่อมโยงว่า ในภาพรวม สิ่งที่เกิดขึ้นที่ยูเครนตอนนี้มีความหมายอย่างไรต่อโลก อยากให้คุณช่วยให้ภาพเราหน่อย

ตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตอยู่ 2-3 ประการ หนึ่ง วิกฤตพลังงานที่รัสเซียสามารถควบคุมซัพพลายก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และสามารถควบคุมปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันได้ สอง คือวิกฤตการป้องกันและความมั่นคง ซึ่งตั้งอยู่บนคำถามที่ว่า ใครปฏิเสธรัสเซีย ปฏิเสธจีน หรือปฏิเสธสหรัฐฯ ได้บ้าง และระเบียบโลกใหม่ควรมีหน้าตาแบบไหน และสาม วิกฤตคุณค่าประชาธิปไตย ว่าเราควรจะเดินไปทางไหน หรือคุณค่าแบบไหนกันแน่ที่เราควรพร้อมจะตายเพื่อมัน

เรารู้ว่าในอดีต ความเปลี่ยนแปลงจากสงครามโลกครั้งที่สองมีผลกระทบกับทุกคน ทั้งสามวิกฤตนี้ไม่ควรถูกกำหนดจากเพียงแค่ประเทศเดียว เมื่อราคาพลังงานมีการปรับเปลี่ยน ทุกประเทศได้รับผลกระทบ เมื่อมีปัญหาเรื่องการป้องกันและความมั่นคงเกิดขึ้น ทุกประเทศได้รับผลกระทบ และเมื่อมีคนกลุ่มเล็กๆ กำลังต่อสู้กับทรราชที่ก้าวร้าวที่สุดในโลก เรื่องราวเช่นนี้ก็มีผลกระทบกับทุกคนเหมือนกัน

โลกกำลังจับตาสถานการณ์ในยูเครน ในฐานะที่คุณเป็นคนยูเครน คุณอยากจะสื่อสารอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนต่อโลกบ้าง

อย่างแรกเลย เรารู้สึกขอบคุณที่สนับสนุนยูเครน น่าประทับใจมากที่ทุกวันเราได้เห็นข้อความนับพันจากทั่วโลกว่า “เราอยู่เคียงข้างยูเครนนะ เข้มแข็งไว้”  

และเราอยากแสดงให้เห็นว่าเราจะยังคงอยู่ ไม่ถอย จะไม่ไปไหนทั้งนั้น และจะต่อสู้กับรัสเซีย

ในระเบียบโลกใหม่ จะมีการรวมกันระหว่างประเทศประชาธิปไตย จะมีการรวมกันระหว่างกลุ่มประเทศดีปะทะกับการรวมกลุ่มของประเทศเลว และฉันมั่นใจว่ายูเครนจะอยู่กับกลุ่มประเทศดี เพราะฝ่ายดีจะชนะเสมอ

สุดท้าย คุณคิดว่าสงครามจะสิ้นสุดในเร็วๆ นี้ไหม

ฉันคิดว่าสงครามจะจบลงภายใน 10 วันข้างหน้า แต่อาจจะคิดผิดก็ได้ ฉันเป็นแค่นักการเมืองและหญิงที่ลุกขึ้นจับอาวุธเท่านั้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save