fbpx

Crisis beyond Ukraine: มองวิกฤตมนุษยธรรม-กฎหมายระหว่างประเทศ-ความมั่นคง ผ่านสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ล่วงผ่านมากว่า 1 เดือน สงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้สัญญาณที่จะสิ้นสุดลง

ภาพซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนจากการระดมบุกโจมตีของรัสเซียในหลายเมืองสำคัญอย่างกรุงคีฟ คาร์คีฟ เชอร์นิฮิฟ หรือมาริอูโปล ภาพการต่อกรต่อกองทัพรัสเซียผู้รุกรานของกองทัพและประชาชนยูเครน ภาพการอพยพลี้ภัยหนีตายจากสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ภาพการปะทะกันระหว่างวิวาทะของมหาอำนาจโลก และภาพการเจรจาซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ไร้ความคืบหน้า คือภาพที่ปรากฏออกมาสู่สายตาประชาคมโลกตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา 

แต่ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นวิกฤตโลกอะไรที่ซ่อนอยู่บ้าง

ทำไมกลไกกฎหมายระหว่างประเทศที่ควรจะรักษาสันติภาพโลกเอาไว้จึงล้มเหลว? การเมืองมหาอำนาจจะเดินหน้าไปทางไหนต่อ? และที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ‘มนุษย์’ อยู่ตรงไหนในสมการความขัดแย้งครั้งนี้?

ร่วมถอดรหัส ‘วิกฤต’ ที่ไกลกว่าวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนพร้อมกันได้ นับจากบรรทัดด้านล่างนี้

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ วิกฤตกฎหมายระหว่างประเทศและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรป – ณัฐนันท์ คุณมาศ

ภาพจาก kunnamas.com

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการณ์กฎหมายระหว่างประเทศที่ดำเนินมาอยู่ก่อนการรุกรากของรัสเซียเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นี่ทำให้เราต้องคิดเรื่องปัญหาของแนวคิดเสรีนิยมเชิงสถาบันแล้ว” นี่คือภาพใหญ่ของวิกฤตการณ์ยูเครนในทัศนะของ ณัฐนันท์ คุณมาศ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความล้มเหลวของกฎหมายระหว่างประเทศส่อเค้าลางก่อนรัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครน นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ณัฐนันท์ชี้ให้เห็นว่า องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) เข้ามามีบทบาทในข้อตกลงสำคัญทางความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศยุโรปตะวันตก ประเทศยุโรปตะวันออก รัสเซีย และยูเครนในปี 1994 โดยมีประเด็นพูดคุยสำคัญคือ รัสเซียไม่ต้องการให้รัฐหลังโซเวียตเข้าร่วมนาโต อย่างไรก็ตาม OSCE มีลักษณะเป็นเพียงแค่กลไกสร้างความเชื่อมั่นเท่านั้น (confidence building measures) ไม่ได้มีภาระผูกพันทางกฎหมาย ประเด็นว่าด้วยนาโตจึงตกค้างมาอย่างยาวนาน

อีกกลไกกฎหมายระหว่างประเทศหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนคือ รายงานกรุงบูดาเปสต์ (Budapest Memorandum) ปี 1994 ที่ว่าด้วยการส่งคืนอาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนแก่รัสเซีย แลกกับการที่สหรัฐฯ อังกฤษ และรัสเซียต้องประกันเอกราช อธิปไตย และพรมแดนของยูเครน รวมทั้งห้ามคุกคามโดยใช้กำลังทหารหรือข่มขู่ทางเศรษฐกิจต่อยูเครน และให้มีการปรึกษาหารือในรัฐภาคีก่อนหากมีพันธกรณีข้อใดที่ไม่กระจ่าง แต่ก่อนที่รัสเซียจะหันไปใช้กำลังทางการทหาร ก็ไม่ได้มีการใช้กลไกดังกล่าวแต่อย่างใด 

“ประเด็นสำคัญใน Budapest Memorandum ที่น่ากังวลมากคือเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ในเอกสารระบุว่า ห้ามให้อาวุธนิวเคลียร์ต่อรัฐที่ไม่มีนิวเคลียร์อย่างยูเครน เว้นเสียแต่ว่ามีการโจมตีอาณาเขตของรัสเซียหรือดินแดนในภาวะพึ่งพิง (dependent territory) ที่น่ากังวลคือรัสเซียอาจใช้ non-strategic nuclear ในภูมิภาคดอนบาสที่รัสเซียอาจอ้างว่าเป็นดินแดนในภาวะพึ่งพิงของรัสเซียได้”

แต่ความล้มเหลวที่ชัดเจนที่สุดสะท้อนผ่านข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Agreement) ในปี 2014 และข้อตกลงกรุงมินสก์ II (Minsk II Agreement) ในปี 2015 หลังจากการปฏิวัติยูโรไมดานต่อต้านประธานาธิบดีโปรรัสเซียกลายเป็นชนวนไปสู่การผนวกแหลมไครเมียและขบวนการแบ่งแยกดินแดนในแคว้นโดเนตสก์กับลูฮานสก์ จนกลายเป็นความขัดแย้งแช่แข็งยาวนานกว่า 8 ปีและกลับมาเป็นหนึ่งในชนวนของความขัดแย้งครั้งนี้อกีครั้ง

“ข้อตกลงกรุงมินสก์พยายามให้มีการจัดการเลือกตั้งในภูมิภาคดอนบาส นิรโทษกรรมทหารหรือนักโทษจากกรณีการผนวกไครเมียและสงครามในยูเครนภาคตะวันออก และให้มีการหยุดยิง แต่เป้าหมายแรกที่ต้องการให้หยุดยิงก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ”

“จุดอ่อนของข้อตกลงคือไม่ได้ปฏิบัติกับรัสเซียในฐานะผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง การจัดการความขัดแย้งเน้นไปที่ระหว่างแค่ยูเครนและฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสเท่านั้น”

“นี่คือช่องโหว่ที่นำไปสู่การตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือการันตีสันติภาพเหล่านี้” และเปิดให้การรุกรานยูเครนของรัสเซียเกิดขึ้นได้

และเมื่อสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนปะทุขึ้น ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวจากยูเครนในการร้องขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ให้ตีความอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide Convention) จากการที่รัสเซียกล่าวอ้างว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส แม้ว่าจะมีการตัดสินออกมาแล้วว่าไม่เข้าข่าย และให้รัสเซียหยุดกระทำการใดๆ ที่จะขยายความขัดแย้งให้รุนแรงกว่าเดิม แต่ ICJ ก็ไม่ได้มีอำนาจในการลงโทษทางกฎหมายต่อรัสเซียอย่างเป็นรูปธรรม หรือในการยื่นฟ้องรัสเซียข้อหาอาชญากรรมสงครามต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ของยูเครน ซึ่งรัสเซียและยูเครนก็ไม่ได้เป็นภาคีธรรมนูญศาลกรุงโรม แม้ยูเครนจะยอมรับอำนาจศาล และอัยการก็ได้ประกาศเปิดการไต่สวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว แต่ไม่มีกระบวนการบังคับใช้ข้อกฎหมายเช่นกัน

“ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือเป็นเสือกระดาษ” ณัฐนันท์วิพากษ์ 

เมื่อมองในระดับสหภาพยุโรป แน่นอนว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเปลี่ยนพลวัตทางการเมืองของสหภาพยุโรป

ประการแรก ณัฐนันท์มองว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรป (EU Solidarity) กลับมาเข้มแข็งขึ้น มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันยิ่งขึ้น หลังผ่านวิกฤตยูโรโซนและวิกฤตผู้ลี้ภัยในช่วงทศวรรษที่ 2010 ที่นำไปสู่ความไร้เอกภาพทางนโยบายในบรรดารัฐสมาชิก 

“ขณะนี้กลายเป็นว่าหลายเรื่องที่เคยยากลำบากกลับคลี่คลาย หลายเรื่องที่เคยเกี่ยงกัน ทะเลาะกัน กลับมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ เราเห็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินที่เข้มข้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เราเห็นความจริงจังในการลดการพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียและหาทางเลือกอื่น หลังจากเป็นประเด็นที่ค้างคามาตั้งแต่สมัยสงคราม 5 วันในจอร์เจียปี 2008 และเรายังเห็นการพูดคุยเรื่องการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกด้วย”

ประการที่สอง สหภาพยุโรปที่ได้ชื่อว่าเป็น “ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ คนแคระทางการเมือง และหนอนทางทหาร” (“economic giant, political dwarf and military worm”) กลายเป็นหนึ่งในตัวแสดงทางความมั่นคงในสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินงบประมาณกลางให้แก่ยูเครน เพื่อสนับสนุนการซื้ออาวุธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและถือว่าน่าตกใจไม่น้อย “นี่คือความท้าทายของการเป็นมหาอำนาจพลเรือนหรือมหาอำนาจทางปทัสถานของสหภาพยุโรป”

ประการที่สาม หนึ่งในพี่ใหญ่ของสหภาพยุโรปอย่างเยอรมนีที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลนาซี เยอรมนีตัดสินใจเพิ่มงบกลาโหมให้มีสัดส่วนเป็น 2% ต่อ GDP หลังเกิดสงคราม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัตินโยบายความมั่นคงของเยอรมนีก็ว่าได้

ประการที่สี่  แม้สหภาพยุโรปจะแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการรับผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน อย่างไรก็ตาม ณัฐนันท์ตั้งคำถามต่อว่า หากวิกฤตการณ์ดำเนินต่อไป ท้ายที่สุดแล้ว รัฐที่เดิมมีนโยบายผู้ลี้ภัยที่แข็งกร้าวอย่างโปแลนด์และฮังการี จะยังรับผู้ลี้ภัยในระยะยาวหรือไม่

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ กลางการเมืองมหาอำนาจ – พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ 

หากมองวิกฤตการรุกรานยูเครนผ่านเลนส์ ‘การเมืองมหาอำนาจ’ พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบาย ‘ปม’ ของมหาอำนาจระดับรองอย่างรัสเซียที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งว่า มีเหตุมาจากความวิตกกังวลและความไม่พอใจของรัสเซียต่อระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยม (liberal order) ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรโลกตะวันตกเป็นแกนนำในการวางโครงสร้างและผลักดันนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา 

“หากมองในระดับโครงสร้างระเบียบระหว่างประเทศที่เริ่มก่อร่างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น จะเห็นได้ว่าประเทศมหาอำนาจระดับใกล้เคียงสหรัฐฯ ที่เรียกว่า revisionist power อย่างจีนหรือรัสเซียพยายามจะแสดงให้เห็นว่าไม่พอใจต่อระเบียบระหว่างประเทศในขณะนี้ และอาจจะต้องการปรับเปลี่ยนหรือล้มล้าง”

และกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็คือภาพสะท้อนความไม่พอใจและความวิตกกังวลของรัสเซีย

“นโยบายและยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาตั้งแต่หลังสงครามเย็นสร้างความวิตกกังวลแก่มหาอำนาจอื่น โดยเฉพาะมหาอำนาจระดับรอง หลายคนก็พยายามอธิบายเหตุของสงครามครั้งนี้ว่า มาจากการขยายเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตที่แผ่เข้าไปในยุโรปตะวันออก หรือแม้แต่การขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปที่แผ่เข้าไปในเขตอิทธิพลเก่าของรัสเซีย ซึ่งไม่ว่าจะมากน้อยอย่างไรก็ตาม ก็ส่งผลต่อพลวัตความขัดแย้งครั้งนี้” 

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญมีอยู่ว่า ชนวนเหตุที่นำไปสู่การรุกรานยูเครนแบบสายฟ้าแลบคืออะไร สงครามครั้งนี้คือสงครามที่มีเหตุจากการยั่วยุ (provoked war) หรือสงครามที่ปราศจากการยั่วยุ (unprovoked war) กันแน่

พงศ์พิสุทธิ์เสนอว่า หากมองผ่านมุมมองฝ่ายโลกตะวันตก ชัดเจนว่าสงครามครั้งนี้คือ ‘สงครามที่ปราศจากการยั่วยุ’ เพราะเมื่อพิจารณาอำนาจทางความมั่นคงและเศรษฐกิจของยูเครนในโครงสร้างอำนาจโลกแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้ที่ยูเครนจะกลายเป็นภัยคุกคามสำหรับรัสเซียจนกลายเป็นแรงจูงใจหรือสาเหตุให้รัสเซียตัดสินใจบุกรุก  

เมื่อปราศจากการยั่วยุและชนวนเหตุที่ชัดเจน พงศ์พิสุทธิ์ชี้ให้เห็นอีกแนววิเคราะห์สาเหตุการรุกรานยูเครนว่า มาจากวิธีคิดของวลาดิเมียร์ ปูติน

“หลายคนพยายามลองวิเคราะห์เหมือนกันว่า การบุกยูเครนครั้งนี้มีสาเหตุจากปูตินมากน้อยเพียงใด ในฐานะผู้นำทางการเมืองที่ครองอำนาจในรัสเซียมาอย่างยาวนาน หากลองวิเคราะห์ความคิดปูตินที่สะท้อนออกมาผ่านสื่อ จะเห็นว่าปูตินโหยหาความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซีย เราสามารถมองความรู้สึกเป็นฐานในการวิเคราะห์สาเหตุที่รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครนได้เช่นกัน”

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 1 เดือนโดยปราศจากสัญญาณที่ความตึงเครียดจะผ่อนคลายลง อีกคำถามหนึ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ สงครามจะก้าวไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ (total war) ในความหมายที่ว่ารัสเซียต้องการมุ่งโจมตีเพื่อให้ยูเครนจำนนและผนวกยูเครนหรือไม่

ในแง่ความตั้งใจ (intention) หากพิจารณาจากการเจรจาพูดคุยระหว่างประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีอิมมานูเอล มาครงในช่วงเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา พงศ์พิสุทธิ์มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เครมลินจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างถึงที่สุด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มองได้เช่นกันว่า การใช้กำลังทางทหารมุ่งหน้าทำสงครามต่อของปูตินเสมือนการขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนท่าทีที่อ่อนลงและยอมถอนกำลังย่อมกระทบต่อการฐานอำนาจทางการเมือง และอาจนำไปสู่การล่มสลายของปูตินในท้ายที่สุด

“แต่คำถามคือ รัสเซียมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่” พงศ์พิสุทธิ์ตั้งคำถาม

เมื่อวิเคราะห์ผ่านมุมยุทธศาสตร์ทางการทหาร แม้ว่าศักยภาพทางการทหารของรัสเซียจะสูงกว่ายูเครนอย่างชัดเจน แต่หากเปรียบเทียบศักยภาพทางการทหารของรัสเซียกับมหาอำนาจขั้วตรงข้ามที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนและอาจมีโอกาสที่จะเข้ามาพัวพันในสงครามอย่างสหรัฐฯ จะเห็นว่างบประมาณทางการทหารที่บ่งชี้ศักยภาพในการพัฒนาประสิทธิภาพกองทัพและเทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐฯ สูงกว่ารัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ นับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 รัสเซียเผชิญต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบสหรัฐฯ 

ฉะนั้น หากพิจารณาตัวแบบผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประสิทธิภาพทางการทหาร การติดกับการทำสงครามยืดเยื้ออาจยิ่งทำให้รัสเซียมีราคาต้องจ่ายสูงขึ้น อย่างที่การทำสงครามในอัฟกานิสถานช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นระยะเวลายาวนานผลาญทรัพยากรไปมหาศาล จนล้มเหลวกลายเป็น ‘สงครามเวียดนามของสหภาพโซเวียต’ ในท้ายที่สุด 

“ถ้าดูปัจจัยทางเศรษฐกิจ ก็น่าตั้งคำถามว่ารัสเซียจะยื้อการบุกยูเครนได้ต่อไปอีกนานแค่ไหน มีการคาดการณ์ว่างบประมาณที่ใช้ในการทำสงครามครั้งนี้ค่อนข้างน้อย รวมทั้งยังมีการตอบโต้จากกองทัพยูเครนและกองกำลังป้องกันของพลเรือนยูเครนอย่างแข็งกร้าว ทำให้รัสเซียไม่อาจจบสงครามอย่างรวดเร็วได้อย่างที่ตั้งใจไว้และติดพันอยู่ในสงคราม จนอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองรัสเซียในอนาคต” 

มองในระดับโครงสร้างระเบียบโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครนเขย่าขั้วอำนาจการเมืองโลกไม่น้อย ในทัศนะของพงศ์พิสุทธิ์ สงครามครั้งนี้ส่งผลให้แนวนโยบายของสหรัฐฯ และยุโรปดำเนินไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นในบางมิติ อย่างในทางความมั่นคง ทิศทางงบประมาณกลาโหมเป็นไปในทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐสมาชิกนาโตในยุโรปรับภาระงบประมาณทางการทหารเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยทรัมป์ และอาจปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น มีเอกภาพมากขึ้น

“เดิมโครงสร้างอำนาจโลกหลังสงครามเย็นมีลักษณะหลายขั้ว (plurality) ยุโรปเองก็พยายามบอกว่าตนเองเป็นมหาอำนาจเชิงปทัสถาน (normative power) สนับสนุนประชาธิปไตยและคุณค่าสิทธิมนุษยชน แต่หากสงครามดำเนินต่อไป อาจจะมีการปรับขั้วโครงสร้างอำนาจและการเมืองโลกที่มียุโรปและสหรัฐฯ ใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม” 

ในขณะเดียวกัน สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจเปลี่ยนพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนให้ใกล้ชิดแนบแน่นยิ่งขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่ในความสัมพันธ์มีทั้งความร่วมมือในระดับที่ค่อนข้างสูง มีความตึงเครียดและความสงสัยเคลือบแคลงใจทางยุทธศาสตร์บ้าง จากการที่จีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทางตะวันออกไกลของรัสเซียผ่านยุทธศาสตร์ Belt Road Initiative แต่หลังจากโลกตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน ตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินระหว่างประเทศ จีนก็กลายเป็นทางเลือกของรัสเซียมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่รัสเซียหันไปใช้ระบบ UnionPay แทน

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ อาจมีผลต่อการประเมินนโยบายและท่าทีของจีนต่อรัสเซียในความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเช่นกัน พงศ์พิสุทธิ์มองว่า จากการพูดคุยระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2022 การขู่เตือนจากสหรัฐฯ ว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อจีนหากจีนช่วยเหลือรัสเซียมากไปกว่านี้ อาจทำให้จีนต้องประเมินผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในสหรัฐฯ เข้ามาในสมการ ขณะที่จีนก็พยายามปรามให้สหรัฐฯ ลดท่าทีแข็งกร้าวต่อรัสเซีย 

“ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจทำให้จีนและรัสเซียเข้าขากันมากขึ้น หลายคนวิเคราะห์ว่าขั้วอำนาจโลกอาจเปลี่ยนผ่านไปสู่สองขั้ว แต่ก็ยังรู้ได้ไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในอนาคต”

สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนไม่เพียงแค่นำไปสู่หายนะและโศกนาฏกรรมกลางยูเรเชียเท่านั้น แต่ยังสั่นสะเทือนความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเช่นกัน

“ในปัจจุบัน ชาติตะวันตกมีความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (strategic ambiguity) หลายประการในการไม่ปกป้องยูเครนทางการทหารอย่างเต็มที่ด้วยการส่งกองกำลังทหารเข้าไป ซึ่งมีเหตุผลรองรับอยู่ นี่อาจทำให้จีนประเมินนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกว่า อาจจะไม่มีความชัดเจนทางยุทธศาสตร์ในการปกป้องไต้หวันหรือทะเลจีนใต้เช่นกัน และจะสามารถเลี่ยงการปะทะกับสหรัฐฯ ไปได้ หากจะตัดสินใจใช้กำลังทางการทหารบุกรุกไต้หวันและทะเลจีนใต้”

“แต่ส่วนตัวผมมองว่าไม่ง่าย เพราะจีนต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจตามมาจากการคว่ำบาตรให้ดี อย่างที่บอกแล้วว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเริ่มมีเอกภาพทางนโยบายแล้ว”

ในอนาคต หากจีนตัดสินใจดำเนินนโยบายที่ก้าวร้าวต่อไต้หวันและโลกตะวันตกประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตร พงศ์พิสุทธิ์มองว่าจีนต้องเผชิญความเสี่ยงหลายประการที่จะกระทบต่อทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพและความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

ประการแรก แม้จีนจะมียุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจผ่านการปฏิรูปในตลาดภายในประเทศให้เข้มแข็งเพื่อการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ แต่มาตรการคว่ำบาตรจะยังกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอยู่พอสมควรจากสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP ที่ยังนับว่าค่อนข้างสูง 

ประการที่สอง การขยับขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านยุทธศาสตร์ใหญ่อย่าง Belt Road Initiative ซึ่งเกี่ยวพันกับวาระ ‘การรื้อฟื้นประชาชนจีน’ ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ประการที่สาม มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินอาจกระทบต่อชนชั้นนำทางการเมืองและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวคือ กระทบต่อผลประโยชน์หลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผูกอยู่กับความเจริญทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีอาจเสื่อมลงจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตร

ประการที่สี่ การตัดสินใจบุกไต้หวันของสีจิ้นผิงอาจทำให้กลุ่มทางการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรกลับมาสร้างแรงกดดันและท้าทายอำนาจนำของสีจิ้นผิงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

“เพราะฉะนั้น หากจีนจะดำเนินนโยบายก้าวร้าวและต้องเผชิญต่อผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรแบบที่รัสเซียกำลังเจอ น่าคิดว่ากรณีรัสเซียน่าจะเป็นบทเรียนให้สีจิ้งผิงหรือเปล่าว่าไม่ควรเดินตามรอย” พงศ์พิสุทธิ์กล่าว

วิกฤตยูเครน: วิกฤตมนุษยธรรมและความเหลื่อมล้ำของระบบผู้ลี้ภัย – ภาณุภัทร จิตเที่ยง 

ภาพจาก kaanjittiang.com

สงครามไม่ใช่เพียงแค่เกมกระดานการเมืองระหว่างมหาอำนาจโลกเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งของสงครามที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดคือ ‘หายนะต่อมนุษยชาติและมนุษยธรรม’

“ผมไม่เห็นว่าสงครามใดก็ตามมีความชอบธรรมทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากดูผลกระทบของสงครามที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต่อทั้งทหารและพลเรือนทั่วไป ทุกคนคือคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ย่าตายาย เพื่อน หรือลูกหลานทั้งสิ้น ทุกชีวิตมีเลือดเนื้อ ชีวิตจิตใจ และมีคุณค่า” ภาณุภัทร จิตเที่ยง จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวนำ

หากมองสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านเลนส์มนุษยธรรม สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันเรียกได้ว่ามีความสาหัสร้ายแรงมาก ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ชี้ให้เห็นว่า ประชากรกว่า 2 แสนคน โดยเฉพาะในแคว้นโดเนตสก์และลูฮานสก์ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำใช้ ประชากรอีกประมาณ 1 แสนคนไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถอพยพออกจากพื้นที่ที่ถูกโจมตีปิดล้อมโดยกองทัพรัสเซียได้ เพราะเส้นทางการอพยพถูกทำลาย อีกทั้งการอพยพยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน ประชากรราว 4 ล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องอพยพข้ามพรมแดนไปยังประเทศรอบข้าง เช่น โปแลนด์ โรมาเนีย มอลโดวา ฮังการี สโลวาเกีย และรัสเซีย ที่สำคัญ การเดินทางอพยพยังดำเนินไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว

แน่นอนว่าอีกภาพหนึ่งที่ปรากฏขึ้นกลางวิกฤตมนุษยธรรมคือ การจัดการให้ความช่วยเหลือผู้ที่หนีภัยสงคราม อย่างไรก็ตาม ภาณุภัทรฉายภาพให้เห็นว่า หนึ่งในกลไกที่กลายเป็นประเด็นในสงครามครั้งนี้คือ ความล้มเหลวในการสร้างระเบียงทางมนุษยธรรม (humanitarian corridor) เพื่อให้เป็นเส้นทางอพยพที่ปราศจากการสู้รบ เพราะในเมื่อระเบียงทางมนุษยธรรมสร้างจากความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่ตกอยู่ในความขัดแย้ง ความวิตกกังวลจากการใช้พื้นที่ลี้ภัยเพื่อลำเลียงอาวุธไปยังพื้นที่สู้รบหรือการสร้างเส้นทางที่ไม่ได้มุ่งสู่พื้นที่ปลอดการสู้รบจริงย่อมนำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ 

“คำถามคือ มีความจำเป็นหรือเปล่าที่ต้องมีระเบียงทางมนุษยธรรม สำหรับผม มันจำเป็นและสำคัญมากในสงคราม เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ระเบียงทางมนุษยธรรมเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง มันไม่ได้มีตัวแบบที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่แก่นสำคัญคือ ระเบียงมนุษยธรรมจะเป็นไปได้ต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (political will) จากทั้งสองฝ่าย สุดท้ายคำตอบก็กลับมาสู่จุดที่ว่า รัฐให้คุณค่าความเป็นมนุษย์มากแค่ไหน”

ในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อีกประเด็นหนึ่งที่ภาณุภัทรมองว่าน่าสนใจคือ ปฏิกิริยาตอบสนองของสหภาพยุโรปต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยยูเครนที่รวดเร็ว มีความเป็นไปได้ และเหมือนกับว่ามีการเตรียมการรอรับไว้แล้ว ซึ่งสะท้อนผ่านกลไก 3 ส่วนที่นำมาใช้ในการจัดการผู้ลี้ภัยจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ส่วนที่หนึ่ง Temporary Protection Directive ที่ให้สถานะคุ้มครองชั่วคราวเป็นระยะเวลา 3 ปีแก่ผู้ย้ายถิ่นจากพื้นที่ที่มีความรุนแรงหรือการสู้รบอย่างเร่งด่วน ผ่านการลดทอนความซับซ้อนของกระบวนการคัดกรองเพื่อพิสูจน์ภัยความหวาดกลัวการประหัตประหารก่อนให้สถานะผู้ลี้ภัยตามกลไกในระบบรับผู้ลี้ภัยปกติ โดยสถานะคุ้มครองชั่วคราวได้ให้สิทธิและสวัสดิการบางประการแก่ผู้ลี้ภัย เช่น สิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย สิทธิในการเข้าถึงตลาดแรงงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางสาธารณสุข 

“Temporary Protection Directive มีความสำคัญตรงความเร็ว ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ความเร็วสำคัญ เพราะคนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อย่าลืมว่าคนที่หนีภัยสงครามไม่ได้มีอะไรติดตัวมามากมาย เพราะฉะนั้น ความเร็วในการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น”

ส่วนที่สอง กองทุน CARE (Cohesion Action for Refugees in Europe) จัดตั้งขึ้นมาในปี 2014 หลังวิกฤตการณ์คาบสมุทรไครเมีย โดยมีการลงงบประมาณจากรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปราว 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการบูรณะฟื้นฟูเบื้องต้น ซึ่งแม้ว่าชื่อของกองทุนจะไม่ได้ระบุเป้าความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจง แต่ภาณุภัทรตั้งข้อสังเกตว่า การจัดตั้งกองทุนที่มีที่มาจากวิกฤตไครเมียสะท้อนนัยยะให้เห็นว่า สหภาพยุโรปมีการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์การลี้ภัยที่อาจตามมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว

ส่วนที่สาม เว็บไซต์ Solidarity Platform ซึ่งให้ข้อมูลสำหรับผู้หนีภัยสงครามจากยูเครนอย่างละเอียดครบถ้วน ตั้งแต่คุณสมบัติในการร้องขอสถานะคุ้มครองชั่วคราวจากสหภาพยุโรป หรือหากคุณสมบัติไม่ครบ จะสามารถรับความช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง สิทธิและสวัสดิการที่จะได้รับจากสถานะคุ้มครองชั่วคราว ระยะเวลาของสถานะ รายละเอียดในการเดินทางต่อในสหภาพยุโรปหลังได้รับสถานะคุ้มครองชั่วคราวจากประเทศพรมแดนแรก หรือรายละเอียดในการขอ residential permit ในกรณีที่มีญาติอาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป 

“ทั้งหมดนี้ฉายภาพให้เห็นว่า การจัดการผู้ลี้ภัยในครั้งนี้ต่างไปจากในอดีตที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งสิ้นโดยอาศัยบทกฎหมายที่สหภาพยุโรปมีอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ในระดับรัฐสมาชิก โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยยูเครนมากที่สุดในครั้งนี้ก็มีการออกกฎหมายผ่านสภาเซมด้วยมติเอกฉันท์ทันทีหลังจากรัสเซียบุกยูเครน เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางสังคมในโปแลนด์ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย และยูเครนเองก็ไม่ใช่ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง อีกทั้งหลายประเทศอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือไอร์แลนด์ก็พยายามช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยยูเครนสามารถเดินทางเข้าพรมแดนได้ 

“คำถามคือ ทำไมทุกอย่างถึงเป็นไปได้ทั้งสิ้นในกรณียูเครน ในขณะที่การจัดการผู้ลี้ภัยกรณีเบลารุสหรือซีเรียมีหลายอย่างที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่วิกฤตผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิด ณ บริเวณพรมแดนสหภาพยุโรปเหมือนกันทั้งหมด”

ต่อคำถามดังกล่าว ภาณุภัทรเสนอคำตอบผ่านการมองสงครามและสถานการณ์การลี้ภัยผ่านเลนส์เชื้อชาติ (race)

“หากเราไม่ได้มองสงครามครั้งนี้ผ่านเลนส์รัฐชาติว่าเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่มองผ่านเลนส์เชื้อชาติในฐานะสงครามระหว่างคนขาวสองกลุ่ม เราจะเห็นพลวัตบางอย่างที่ซ่อนอยู่และมีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยครั้งนี้” 

ภาณุภัทรอธิบายว่า สาเหตุแรกที่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นไปได้ในกรณียูเครนคือ ‘ความต่างทางอารยธรรม’ (relative civilization) ระหว่างชนชาติ ซึ่งมุมมองเช่นนี้สะท้อนผ่านการรายงานข่าวผู้ลี้ภัยยูเครนของสื่อตะวันตกว่า “ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นคนขาว มีการศึกษา เป็นชนชั้นกลาง มีอารยธรรม ซึ่งต่างจากผู้ลี้ภัยจากอิรักหรืออัฟกานิสถาน” 

สาเหตุที่สอง ลักษณะของผู้ลี้ภัยชาวยูเครนตรงกับ ‘ผู้ลี้ภัยในอุดมคติ’ (ideal refugee) ของระบบลี้ภัยโลกที่สร้างขึ้นมาภายใต้อนุสนธิสัญญาผู้ลี้ภัยในปี 1951 เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในยุโรปหลังสงครามโลก แต่ไม่ได้ตอบสนองสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่อื่นในโลก เพราะฉะนั้น ระบบผู้ลี้ภัยโลกที่ตอบสนองต่อการอพยพของกลุ่มคนเหล่านี้จึงทำให้การช่วยเหลือจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวยูเครนยังมีลักษณะตรงกับสมมติฐานที่ว่า คนขาวมีศักยภาพที่จะกลืนเข้ากับสังคมยุโรปได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับภาพที่สื่อตะวันตกที่สะท้อนไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน

สิ่งที่ตามมาจากการมีผู้ลี้ภัยในอุดมคติคือ ลำดับชั้นและความเหลื่อมล้ำในบรรดาผู้ลี้ภัย ภาณุภัทรเล่าว่า ในวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเท่านั้น แต่ยังมีนักเรียนชาวอินเดียหรือนักเรียนชาวแอฟริกาที่มาศึกษาต่อในยูเครน แต่ภาพที่ปรากฏในหน้าข่าวคือ นักเรียนเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือรวดเร็วเท่าคนยูเครนเมื่อเข้าสู่กระบวนการตามกลไก Temporary Protection Directive โดยต้องรอให้คนยูเครนได้รับความช่วยเหลือก่อน

“ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ที่จริงแล้วการจัดการผู้ลี้ภัยเป็นไปได้ หากว่ารัฐมีเจตจำนงทางการเมืองและมองว่าผู้ลี้ภัยคือมนุษย์ที่มีศักยภาพ ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้มองทั้งสิ้น บางครั้งเราไม่ได้จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือบางอย่าง ถ้าเราเปลี่ยนเลนส์ในการมอง มุมมองจะเปลี่ยน นี่คือนัยที่สำคัญที่สุดต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก” 

อีกคำถามที่ตามมาจากวิกฤตผู้ลี้ภัยยูเครนคือ แนวทางการจัดการผู้ลี้ภัยในครั้งนี้จะกลายเป็นปทัสถานของสหภาพยุโรปที่มีอัตลักษณ์ผูกอยู่กับคุณค่าสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมต่อไปหรือไม่ในอนาคต

สำหรับภาณุภัทร แนวทางการจัดการและให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจะกลายเป็นปทัสถานตราบเท่าที่ผู้ลี้ภัยเป็นคนขาว แต่หากเป็นผู้ลี้ภัยที่สหภาพยุโรปมองไม่เห็นศักยภาพหรือทุนมนุษย์ในการบูรณาการเข้าสู่สังคมยุโรป โอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือก็จะยากขึ้น เพราะการเมือง นโยบาย และวาทกรรมต่างๆ ได้ประกอบสร้างให้การอพยพลี้ภัยกลายเป็นประเด็นความมั่นคงมากกว่าประเด็นทางมนุษยธรรม

“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการมองสงครามทุกครั้งคือ เราต้องไม่ลืมคนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม บางครั้งความมั่นคงไม่ได้มีแค่ความมั่นคงของรัฐหรือความมั่นคงทางการทหารเท่านั้น รัสเซียอาจจะมองว่าต้องทำสงครามต่อยูเครน เพราะมี existential threat แต่ภัยคุกคามไม่ได้ตั้งมั่นตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดการรุกรานขึ้น ผลกระทบเกิดขึ้นจริงต่อคน คนที่เสียชีวิต คนที่บาดเจ็บ คนที่ต้องลี้ภัยคือเลือดเนื้อทั้งนั้น”

“แม้ผมจะมองว่าสงครามครั้งนี้ว่าเป็นสงครามระหว่างคนขาว แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนขาว คนผิวสี คนเอเชีย คนละติน หรือคนเชื้อชาติอะไรก็แล้วแต่ก็คือคนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่อยากให้มองให้ลึกซึ้งทุกครั้งคือ รัฐไม่ได้มุ่งสู่เป้าหมายได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยคนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ไหมที่จะมองคนให้สำคัญกว่ารัฐ นี่คือโจทย์เรื่องความมั่นคงมนุษย์ที่ต้องมองให้มากขึ้นในอีกมิติหนึ่งของการทำความเข้าใจสงคราม”

“ผมไม่อยากคาดการณ์ว่า endgame ของสงครามครั้งนี้จะเป็นอย่างไร มันมีฉากทัศน์มากมาย นักรัฐศาสตร์ไม่ใช่ผู้ทำนายเสมอไป แต่การที่เราลองพินิจต่อผลที่ตามมาจากการที่มองไม่เห็นคนในสมการของสงครามที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาสงครามไม่สิ้นสุด เมื่อไหร่ก็ตามที่เราลองใส่คนในสมการมากขึ้น นั่นอาจจะเป็น endgame ที่แท้จริง และอาจจะไม่ใช่ endgame แค่ในวันนี้ แต่จะเป็น endgame ในระยะยาว” 


หมายเหตุ  – เรียบเรียงจากงานเสวนา “วิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน” จัดโดย ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565 เวลา 13.15-16.15 น.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save