โลกไม่มีวันเหมือนเดิม – และไม่มีทางจะกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อต้องเผชิญต่อ ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ (game changer) อย่างโควิด-19 ที่เข้ามาพลิกสมการดุลการเมืองและอำนาจโลก
ยิ่งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจพญาอินทรีและพญามังกร – ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเขม็งเกลียวและทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ เสมือนว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง ‘การช่วงชิงอำนาจบนแผนที่’ (‘Mapfare’) เข้าไปทุกขณะ
ท่ามกลางกระแสลมการเมืองโลกที่เชี่ยวกราดเช่นนี้ โลกและไทยย่อมเลี่ยงความท้าทายและความสุ่มเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ไม่พ้น
ในวันที่โลกกำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2022 จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของ ‘แผนที่ใหม่’ ในเกมการเมืองโลกบนระเบียบโลกที่กำลังหวนคืนสู่ระบบสองขั้วอำนาจอีกครั้งและกำลังขยับขยายปริมณฑลการขับเคี่ยวไปสู่สนามเทคโนโลยี และสนามระบบคุณค่า มองความท้าทายจาก ‘การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่’ ในมิติเชิงอำนาจ โลกทัศน์ โรคระบาด เทคโนโลยี และพลังงานที่โลกจะต้องเผชิญ พร้อมทั้งมองยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยท่ามกลางกระแสลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน
หมายเหตุ – เรียบเรียงจากพอดแคสต์ “Direk Podcast Ep.15 : รีวิวการเมืองโลกปี 2021 และแนวโน้มปี 2022” โดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชีพจรการเมืองโลก 2021 ใต้ระบอบโควิด
ในทัศนะของจิตติภัทร การเมืองโลกยุคหลังโควิด-19 ในปี 2021 นำมาสู่ทั้ง ‘ความต่อเนื่อง’ และ ‘ความเปลี่ยนแปลง’
“สำหรับความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าโควิด-19 คือสิ่งที่เข้ามาดิสรัปต์ระเบียบโลก โควิดคือ ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ (game changer) หรือ ‘ตัวเร่งขนาดใหญ่’ (great accelerator) ที่ปรับดุลอำนาจโลกใหม่”
แล้วโควิด-19 เปลี่ยนการเมืองโลกไปอย่างไรบ้าง?
ประการที่หนึ่ง โควิด-19 ท้าทายกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถูกท้าทายอยู่แล้วก่อนหน้าการระบาด และเร่งกระบวนการลดทอนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) มากขึ้น ระบบห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนจากห่วงโซ่อุปทานเครือข่ายระดับโลก (global supply chain) ไปพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานระดับท้องถิ่น (local supply chain) หรือระดับภูมิภาคมากขึ้น เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจจึงมีลักษณะพึ่งพาตนเองและ inward looking มากขึ้น
อีกประเด็นที่ตามมาจากกระแสลดทอนโลกาภิวัตน์ที่จิตติภัทรมองว่าสำคัญ คือปรากฏการณ์ localization ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตของเศรษฐกิจทุนนิยมโลก จากระบบ Toyotism ที่ผลิตสินค้าภายใต้ระบบ ‘just-in-time’ โยกย้ายฐานการผลิตไปในต่างพื้นที่ทั่วโลก ไปสู่ระบบ ‘just-be-sure’ ที่หันไปพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศหรือในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เพราะความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
“ตรงนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการเมืองระหว่างประเทศในอีกมิติหนึ่งที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือจะยิ่งทำให้ระบบ just-be-sure ไปไกลยิ่งกว่าเดิม เพราะวันนี้ หลายรัฐเริ่มดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ‘กลับขึ้นฝั่ง’ (reshoring) แทนที่ประเทศที่มีทุนขนาดใหญ่จะโยกย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศเหมือนแต่ก่อน ทั้งหมดนี้จะนำมาสู่การว่างงานที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน”
ประการที่สอง ภาวะหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น จากทั้งการปิดประเทศ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจและงบประมาณที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น ซึ่งจิตติภัทรมองว่านี่คือโจทย์เศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญต่อไปในระยะยาว
ประการที่สาม โควิด-19 ทำให้เกิด the great decoupling หรือการถ่างออกจากกันระหว่างรัฐมากขึ้น มีการกล่าวโทษและตอบโต้ซึ่งกันและกัน อย่างเช่นกรณีการกล่าวโทษและตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรกับจีน ว่าจีนเป็นต้นตอของการปล่อยไวรัสออกมา นอกจากนี้ ยังมีการตอบโต้ผ่านมาตรการการค้าและการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น
ประการที่สี่ รัฐชาติกลับมามีบทบาทสำคัญจากการบริหารจัดการโรคระบาด กระจายวัคซีน และการปิดประเทศ นำมาสู่กระบวนการ reterritorization หรือทำให้พรมแดนกลับมาเข้มแข็งและหนาแน่นมากขึ้น จากเดิมที่โลกมีความไร้พรมแดน (borderless) ในยุคโลกาภิวัตน์เฟื่องฟู เมื่อพรมแดนเริ่มกลับมาชัดเจน รัฐมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในมาตรการด้านสาธารณสุข การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือปรากฏการณ์ร่วมสมัยอย่างผู้อพยพและผู้ลี้ภัย
ประการที่ห้า โควิด-19 เร่งกระบวนการชาตินิยม ประชานิยม และการปกป้องทางการค้า (protectionism) ผ่านทั้งมาตรการขึ้นกำแพงภาษีและมาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้ไปไกลมากขึ้น อย่างกรณีสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนก็มีการกล่าวถึง ‘Buy American’ ที่มีลักษณะปกป้องการค้าอ่อนๆ
ประการที่หก วัคซีนกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของการเมืองระหว่างประเทศสำหรับทุกรัฐ โดยเฉพาะมหาอำนาจที่พยายามจะใช้การทูตวัคซีน (vaccine diplomacy) ทั้งในฐานะเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ และเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อกำหนดว่า ใครจะมีผลประโยชน์ทางวัคซีนในบริเวณไหน ภูมิภาคใด ส่วนรัฐขนาดกลางและรัฐขนาดเล็กก็ต้องวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองว่าจะอยู่ขั้วอำนาจไหน เพราะฉะนั้น การเลือกวัคซีนและการให้วัคซีนย่อมมีนัยสำคัญทางการเมือง
ระเบียบโลกสองขั้วอำนาจ และสมการเกม ‘Mapfare’ ปี 2021
อีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่การเมืองโลกเผชิญในปี 2021 คือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจพญาอินทรีและพญามังกรที่ทวีความเข้มข้น และความตึงเครียดระหว่างรัฐต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
“สิ่งที่เราเห็นในปีที่ผ่านมา คือระเบียบโลกที่เปลี่ยนดุลอำนาจไปสู่ระบบสองขั้วอำนาจ (Bipolar world) มากขึ้น นี่เป็นข้อเสนอนะ ยังถกเถียงกันได้ บางคนอาจจะมองว่าโลกอยู่ภายใต้ระเบียบแบบหลายขั้วอำนาจ แต่สำหรับผม ถ้ามองการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับมหภาค (global macro geopolitics) โลกมีสองมหาอำนาจ (G2) ที่กำหนดทิศทางของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกและระเบียบการเมืองโลกไปแล้ว”
“การปะทะกันระหว่างประชาชาติ (clash of nations) กำลังจะกลับมาเป็นหัวใจของระบบการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน”
จิตติภัทรอธิบายว่า คุณลักษณะสำคัญของระเบียบโลกสองขั้วอำนาจของศตวรรษที่ 21 มีอยู่ 6 ประการ
ประการแรก ระเบียบโลกวางอยู่บนการแข่งขันช่วงชิงอำนาจในทุกมิติระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งในมิติการค้า การเงิน ระบบคุณค่า เทคโนโลยีและนวัตกรรม จิตติภัทรเสนอให้มองภาพใหญ่ของระเบียบโลกปัจจุบันผ่าน ‘Mapfare’
“ในอนาคต สิ่งที่เราต้องรับมือไม่ใช่ warfare อีกต่อไป แต่เราต้องรับมือกับ ‘Mapfare’ ตามที่ William Callahan แห่ง LSE เรียก คือรูปแบบการจัดความสัมพันธ์ของแผนที่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่แผนที่ทางกายภาพอย่างเดียว แต่คือแผนที่เชิงความคิด โลกทัศน์ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยีที่กำหนดแผนที่ใหม่ของระเบียบโลกปัจจุบัน
“เพราะฉะนั้น โจทย์ในวันนี้คือ เราจะต้องเข้าใจว่า ‘แผนที่’ ของโลกใหม่ในศตวรรษที่ 21 มีหน้าตาอย่างไร”
ประการที่สอง ระเบียบโลกมีความลักลั่น (paradox) อยู่ในตัว กล่าวคือ สองมหาอำนาจพึ่งพิงซึ่งกันและกันสูงมากในทุกมิติ ทั้งด้านการค้า การเงิน การลงทุน แต่ในเวลาเดียวกันก็ถ่างออก แยกตัวออกจากกันมากขึ้นในทุกมิติเช่นกัน ความลักลั่นดังกล่าวทำให้ระเบียบโลกออกอาการขัดแย้ง ตึงเครียด และแข่งขันมากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม ระเบียบโลกสองขั้วอำนาจขยับไปสู่การแข่งขันทางระบบความคิด ระบบคุณค่า ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ตึงเครียดยิ่งขึ้น จิตติภัทรเรียกระเบียบโลกเช่นนี้ว่า ‘1 โลก 2 ระบบ’ กล่าวคือ มีระเบียบโลกสองชุดที่ปะทะกันบนฐานของระบบคุณค่า ชุดหนึ่งเป็นระบบที่วางอยู่บนฐานของเสรีนิยม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจการค้าเสรี ส่วนอีกชุดหนึ่งคือระบบที่เน้นอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐเป็นสำคัญ บางคนเรียกระบบเช่นนี้ว่าเป็นระบบทุนนิยมที่มีลักษณะแบบจีนหรือเอเชีย บางคนก็เรียกว่าระบบเวสฟาเลียใหม่ ซึ่งการปะทะและขับเคี่ยวกันภายใต้ 1 โลก 2 ระบบเข้มข้นขึ้นหลังจากโจ ไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าจะผ่านการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของจีนในมณฑลซินเจียง ไต้หวัน หรือฮ่องกง หรือการจัดการประชุม Summit for Democracy เพื่อส่งออกคุณค่าแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย
ประการที่สี่ การแข่งขันภายใต้ระเบียบโลกสองขั้วอำนาจจะนำไปสู่การกำหนดสถานะหรืออำนาจของผู้นำโลกในอนาคต ซึ่งเมื่อพิจารณวาทกรรมทางด้านยุทธศาสตร์การต่างประเทศของสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยทรัมป์จนถึงไบเดน จะพบว่าหัวใจสำคัญเปลี่ยนจากการต่อต้านการก่อการร้ายไปอยู่ที่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก วางจีนให้เป็น ‘คู่แข่ง’ ทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ ‘หุ้นส่วน’ ทางยุทธศาสตร์อีกต่อไป รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ยังระบุไว้ชัดเจนเช่นกันว่า สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ประเทศใดขึ้นมามีอำนาจแทนที่สหรัฐฯ กล่าวคือ การเปลี่ยนผ่านอำนาจ (power transition) จะต้องไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็ต้องไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
ประการที่ห้า ภาพของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะวางอยู่บน 3T คือ การค้า (Trade) เทคโนโลยี (Technology) และดินแดน (Territory)
“สำหรับ T – Trade ตัวแรก สงครามการค้าการลงทุนยังสำคัญอยู่ เพราะสองมหาอำนาจยังพึ่งพิงซึ่งกันและกัน โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมโหฬาร เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ ก็ต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้”
“T ที่ 2 คือ T – Technology หรือภูมิรัฐศาสตร์ทางเทคโนโลยี (techno geopolitics) ที่สองมหาอำนาจต่างแข่งขันขับเคี่ยวกันในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อที่จะครอบครองและกำหนดบทบาทว่าใครจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ไม่ว่าจะเป็น 5G ปัญญาประดิษฐ์ การเข้าถึงโลกไซเบอร์ หรือควอนตัม”
“T ตัวสุดท้ายคือ T – Territory หรือดินแดน เมื่อโลกกำลังเผชิญกับการหวนคืนของพรมแดน การแข่งขันหรือการปะทะกันเรื่องดินแดนกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าไปดูในแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลายพื้นที่ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและการแข่งขันของมหาอำนาจ เช่น ทะเลจีนใต้ แม่น้ำโขง ไครเมีย ยูเครน หรือเบลารุส”
จิตติภัทรยกตัวอย่างเสริมต่อว่า ไต้หวันคือกรณีที่การขับเคี่ยวทางภูมิรัฐศาสตร์ในระนาบ 3T เกิดขึ้นอย่างร้อนแรง ในมิติดินแดน จีนก็ยืนยันอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวัน ในขณะที่สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนก็ค้ำประกันด้านความมั่นคงให้ไต้หวันเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ส่วนในมิติการแข่งขันทางเทคโนโลยี ไต้หวันนับว่าเป็นตัวละครสำคัญในการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ทางเทคโนโลยี เนื่องจากไต้หวันมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) ที่ผลิต semiconductor อันเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดว่าใครจะสามารถควบคุมเทคโนโลยี 5G ได้มากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น จีนที่ขาดแคลนชิปเป็นทุนเดิมก็ยิ่งต้องการชิปเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ให้ได้
ประการสุดท้าย ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าระเบียบโลกสองขั้วอำนาจในศตวรรษที่ 21 จะนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่หรือไม่ แม้จิตติภัทรมองว่า การแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ได้ในอนาคต แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ยกระดับถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นสงครามเย็น เพราะยังไม่ปรากฏระบบพันธมิตรที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ระบบพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการในรูปแบบมินิภาคี (minilateral) ที่กำลังค่อยๆ เริ่มก่อตัวอย่าง Quad หรือ AUKUS มีความสุ่มเสี่ยง เนื่องจากโจทย์ใหญ่ของทั้งสองความร่วมมืออยู่บนฐานของการสกัดกั้นจีน อีกทั้งประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กเลือกดำเนินนโยบายประกันความเสี่ยง (hedging) เล่นเกมรักษาระยะห่างจากจีนและสหรัฐฯ ไว้เพื่อรับผลประโยชน์จากทั้งสองฝั่ง หรือประเทศสำคัญในยุโรปที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ อย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีก็พยายามดำเนินยุทธศาสตร์แบบมีอิสระ (strategic autonomy) ทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมทั้งพยายามผลักดันให้สหภาพยุโรปทำข้อตกลงการค้าการลงทุนกับจีนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม “ถ้าการแข่งขันเข้มข้นจนไต่ระดับไปสู่การเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ มีแนวโน้มที่สงครามจะเข้มข้นกว่าสงครามเย็นในอดีต ส่วนหนึ่งเพราะสหภาพโซเวียตเป็นผู้เล่นระดับรองในเศรษฐกิจโลก ตรงกันข้ามกับจีนที่เป็นพี่เบิ้มของเศรษฐกิจโลกในวันนี้ จีนมีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการทหาร น่ากังวลมากหากจะเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่”
“ภายใต้ระบบสองขั้วอำนาจแบบนี้ มีข้อน่ากังวลอย่างหนึ่งคือ เวลาช้างสารชนกัน สำนวนไทยก็บอกไว้อยู่ว่าสิ่งที่ตามมาคือ หญ้าแพรกก็แหลกลาญ เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐขนาดกลางและรัฐขนาดเล็กคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้สถานะ อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองไม่ถูกทำลายหรือถูกดึงเข้าไปอยู่ในสมการแบบนี้”
ทั้งหมดนี้คือแผนที่ใหม่ของระเบียบโลกในปี 2021 และศตวรรษที่ 21
สมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์บนสมการเกม ‘Mapfare’ ปี 2022
ในปี 2022 จิตติภัทรมองว่า ยังคงมีหลายประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองภายใต้ระเบียบการเมืองโลกแบบสองขั้ว ทั้งในระนาบความขัดแย้งและความร่วมมือ
ประเด็นหนึ่งที่จิตติภัทรคาดการณ์ว่าน่าจะขับเคี่ยวกันมากยิ่งขึ้นคือเรื่องระบบคุณค่า ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้จะยังคงเป็นประเด็นต่อไปในปี 2022
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแข่งขันในการสร้างระบบพันธมิตร ซึ่งจิตติภัทรมองว่า การพัฒนาพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการแบบ 3-4 ฝ่ายของสหรัฐฯ ภายใต้ Quad ในอินโด-แปซิฟิกและ AUKUS ซึ่งเป็นความร่วมมือทางกลาโหมและเทคโนโลยีระหว่างประเทศกลุ่มประเทศ anglo-sphere อาจจะนำไปสู่ระบบ San Francisco 2.0 อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงสงครามเย็น
นอกจากนี้ สองมหาอำนาจจะงัดข้อกันในสมรภูมิอินโด-แปซิฟิกรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เพราะในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนพยายามผลักดันโครงการ Build Back Better World (B3W) ออกมาแข่งกับ Belt and Road Initiative (BRI) ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ทางดิจิทัลและไซเบอร์ รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสหรัฐฯ เองพยายามเสนอว่าโครงการพัฒนาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทูตกับดักหนี้ (debt-trap diplomacy) และยังเน้นย้ำวาทกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ‘คุณภาพสูง’ อีกด้วย
อีกสมรภูมิการแข่นขันระหว่างมหาอำนาจที่จิตติภัทรมองว่าน่าจะเข้มข้นมากขึ้นคือสนามเทคโนโลยี การแบนบริษัท Tech Giant ของจีนในสหรัฐฯ จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น โจทย์ใหญ่ของการแข่งขันทางเทคโนโลยีสำหรับปี 2022 จะอยู่ที่เรื่องไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ การเงินดิจิทัล (digital finance) และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ
อย่างไรก็ตาม จิตติภัทรชี้ให้เห็นว่า ในปี 2022 ก็ยังเหลือพื้นที่ของความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และจีนระดับหนึ่ง คือประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อย่างที่เริ่มมีการกำหนดเส้นตายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ไว้ที่ปี 2050 แต่ก็ยังมีความลักลั่นอยู่พอสมควร เพราะรูปแบบความร่วมมือและทิศทางของปทัสถานทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก
ทั้งหมดนี้ หากมองผ่าน Mapfare จะเห็นการเผชิญหน้ากันระหว่างแผนที่ทางความคิดและภูมิรัฐศาสตร์หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก แผนที่ว่าด้วยสหรัฐฯ แผนที่ว่าด้วยจีน แผนที่ว่าด้วยสหภาพยุโรป แผนที่ด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงแผนที่ด้านพลังงาน
“วันนี้เราอาจจะต้องเข้าใจและรู้เท่าทันใน Mapfare ว่าเกมสมการอำนาจโลกไปทางไหน สหรัฐฯ กับจีนแข่งขันเรื่องไหนกันอยู่ และไม่ได้แข่งขันเรื่องไหนกันบ้าง”
‘Mapfare’ กับทางแพร่งใหม่ทางความมั่นคงแห่งศตวรรษที่ 21
ในเมื่อโลกกำลังตกอยู่ในสมรภูมิสงครามแผนที่ คำถามมีอยู่ว่า มันจะนำไปสู่อะไร?
“สิ่งที่สำคัญคือ Mapfare อาจนำไปสู่ ‘ทางแพร่งใหม่ทางความมั่นคง’ (security dilemma) ในศตวรรษที่ 21”
จิตติภัทรตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในทางทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทางแพร่งใหม่ทางความมั่นคงที่เกิดจาก Mapfare จะกลายเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายขึ้น เพราะโจทย์ทางแพร่งทางความมั่นคงที่วางอยู่บนความหวาดระแวงต่อ ‘เจตนา’ (intention) ที่หยั่งรู้ได้ยากว่า รัฐที่กำลังผงาดขึ้นมามีกำลังและอำนาจจะท้าทายความมั่นคงรัฐมหาอำนาจเดิมหรือไม่นั้น ไม่ได้ตั้งอยู่บนโครงสร้างระเบียบโลกแบบเดิมที่มองเพียงการสะสมกำลังอาวุธอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เปลี่ยนแปลงและขยับขยายไปสู่เรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม การค้า ระบบพันธมิตร และคุณค่า เพราะฉะนั้น เมื่อโครงสร้างเปลี่ยน รัฐต่างๆ ภายใต้ระเบียบโลกต้องรู้ ทำความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์บริบท โอกาสและข้อจำกัดของโครงสร้างระเบียบโลกใหม่เพื่อเลือกตัดสินใจดำเนินนโยบายให้เหมาะสมกับเงื่อนไข
“หลายทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลักไม่ได้เสนอให้รัฐต้องแสดงหรือเลือกใช้นโยบายแบบไหนเป็นการเฉพาะ เพราะมันไม่มี one solution fits all ว่าถ้าใช้นโยบายแบบไหนแบบหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะวิเคราะห์โครงสร้างได้ดีแค่ไหน และเลือกนโยบายแบบใด ทุกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการถ่วงดุล (balancing) เข้าไปร่วมขบวน (bandwagoning) หรือประกันความเสี่ยง (hedging) มันมีโอกาสและข้อจำกัดอยู่”
ข้อสังเกตถัดมา จิตติภัทรเสนอว่า การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจภายใต้ Mapfare ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการแสวงหาอำนาจและเกียรติยศ (power and prestige) ซึ่งเป็นความต่อเนื่องของการเมืองโลก และยังเสนอต่อว่า หากมองการแข่งขันแสวงหาอำนาจผ่านมุมมองของ Hans J. Morgenthau จะเห็นภาพการแสวงหาอำนาจใน Mapfare ที่ชัดเจนขึ้นอย่างน้อย 3 ภาพด้วยกัน คือ หนึ่ง การธำรงรักษาสถานภาพอำนาจเดิม (status quo) ซึ่งหากมองผ่านมุมสหรัฐฯ สิ่งที่สหรัฐฯ มองว่าตนเองกำลังทำอยู่คือการธำรงรักษาอำนาจ สอง การขยายและเพิ่มพูนอำนาจที่นำไปสู่นโยบายแบบจักรวรรดินิยมหรือนโยบาย revisionism ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบหรือดุลอำนาจ ซึ่งทุกวันนี้ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและรัสเซียก็กำลังมองว่า ต่างฝ่ายต่างกำลังพยายามขยายอำนาจของตนเองไปสู่บริเวณอื่น และสาม การแสดงออกซึ่งอำนาจและเกียรติยศ หรือการแสวงหาการยอมรับระหว่างประเทศ (recognition)
อีกข้อสังเกตหนึ่งในเกมแสวงหาอำนาจบน Mapfare คือความเข้มข้นและความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่การขับเคี่ยวไม่ได้วางอยู่บนฐานของผลประโยชน์อย่างเดียว แต่มหาอำนาจทั้งสองต้องการที่จะกำหนด ส่งเสริม และส่งออกคุณค่าทางการเมืองและเศรษฐกิจของตนไปสู่การเมืองโลกด้วย กล่าวคือ การแข่งขันว่าด้วยคุณค่าหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งในสมรภูมิการช่วงชิงอำนาจ หลังจากที่สิ้นสุดลงไปแล้วหลังการจบลงของสงครามเย็น
“ถ้าจัดสมการดุลอำนาจนี้ไม่ดี ในปี 2022 การเมืองโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญการทำให้การเมืองโลกเป็นเรื่องศีลธรรม (moralization of global politics)”
“ถ้าการเมืองโลกอยู่บนฐานของผลประโยชน์ล้วนๆ วันหนึ่งแข่งกันได้ อีกวันหนึ่งก็ร่วมมือกันได้ เพราะผลประโยชน์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่พอนำคุณค่าเข้ามาในสมการของเกมอำนาจโลก วิธีคิดมันเปลี่ยน นำไปสู่การทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องศีลธรรม มีโลกที่ดีกับโลกที่ชั่วร้าย สองฝ่ายไม่มีจุดร่วม และนำไปสู่นโยบายสกัดกั้นขึ้นมา ทำให้ความร่วมมือเป็นไปได้ยากขึ้น”
นอกจากนี้ การะปะทะกันของระเบียบสองชุด (clash of order) จะทำให้การออกแบบองค์การระหว่างประเทศ และกำหนดกติกา ปทัสถานระหว่างประเทศยากขึ้นด้วย ยากทั้งสำหรับปทัสถานเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างการลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทุกวันนี้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียตัดสินใจถอนตัวจากกติกาแล้ว และยากสำหรับกติกาและปทัสถานใหม่ที่ยังไม่ได้มีการกำหนด อย่างเช่นบนพื้นที่ไซเบอร์หรือการเงินดิจิทัล
“วันนี้การเมืองโลกยังไม่ถึงระดับนั้น แต่ก็มีแนวโน้ม มีศักยภาพ และความสุ่มเสี่ยงที่กำลังมุ่งไปในทิศทางนั้น นี่คือความน่าวิตกกังวล”
สำหรับข้อสังเกตสุดท้าย จิตติภัทรมองว่า ‘การทูตเชิงอารมณ์’ (emotional diplomacy) กลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศในฐานะส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและการทูต เพื่อแสดงออกถึงผลประโยชน์แห่งชาติหรือนโยบายการต่างประเทศบางอย่าง
ทุกวันนี้ การทูตเชิงอารมณ์ปรากฏให้เห็นทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯ และโลกตะวันตก และฝ่ายจีนและรัสเซีย ในฝ่ายโลกตะวันตก นโยบายการทูตที่อิงอยู่กับคุณค่า (value-laden diplomacy) ที่โลกตะวันตกใช้ก็มีมิติเชิงอารมณ์แฝงอยู่ หรือในกรณี AUKUS ฝรั่งเศสก็ตอบโต้สหรัฐฯ และออสเตรเลียอย่างรุนแรงว่า แทงข้างหลังและทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ ส่วนฝ่ายจีนและรัสเซีย แนวทางการทูตนักรบหมาป่า (Wolf warrior diplomacy) หรือนโยบายการทูตแบบแข็งกร้าวก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทูตเชิงอารมณ์เช่นกัน เห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่นักการทูตจีนวิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และ AUKUS อย่างร้อนแรง หรือกรณีที่เอกอัครราชทูตจีนและรัสเซียประจำกรุงวอชิงตันร่วมกันเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ Summit for Democracy
Global Politics 2022 and Beyond: ความท้าทายบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน
มองต่อไปในปี 2022 และตลอดทั้งศตวรรษที่ 21 จิตติภัทรมองว่า การเมืองโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ใน 4 มิติ
Power Transition: การเปลี่ยนผ่านอำนาจ
มิติแรกคือการเปลี่ยนผ่านอำนาจ (power transition) ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ สงครามจากการเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่ และมีความเสี่ยงอะไรบ้างในการเปลี่ยนผ่าน
แม้ว่านักวิชาการบางคน อย่าง Graham T. Allison แห่งฮาร์วาร์ด เจ้าของข้อเสนอ Thucydides Trap จะมองว่า ความหวาดระแวงในใจของสหรัฐฯ ต่อการผงาดขึ้นมามีอำนาจของจีนจะนำไปสู่สงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จิตติภัทรเห็นต่างออกไปในโจทย์คลาสสิกข้อนี้ว่า สงครามยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากในโครงสร้างระเบียบโลกปัจจุบันมีกลไกยับยั้ง (constraints) ไม่ให้สงครามเกิดขึ้นโดยง่าย อย่างเช่นการป้องปรามนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) ที่ทำให้ราคาของการตัดสินใจเข้าสู่สงครามเพิ่มสูงขึ้น หรือการพึ่งพิงซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐต่างๆ จะพิจารณาหรือมองเห็นสิ่งเหล่านี้หรือไม่
“หากมองลงไปให้ลึก Thucydides Trap กำลังเป็นเครื่องเตือนใจว่า มหาอำนาจนั่นแหละคือผู้ที่จะกำหนดว่าสงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่ได้”
หากมองโจทย์การเปลี่ยนผ่านอำนาจผ่านแผนที่ความคิดของสหรัฐฯ สิ่งที่จิตติภัทรมองว่าเป็นโจทย์และปมปัญหาใหญ่ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญมีอยู่ 3 ปม
ปมที่หนึ่ง ปัญหาขาดดุลการค้า สหรัฐฯ เริ่มประสบปัญหามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้วิธีการลดค่าเงินผ่านการออกจากระบบ Bretton Woods ในทศวรรษที่ 1970 และผ่านการทำข้อตกลง Plaza Accord ในทศวรรษที่ 1980 เพื่อไม่ให้สหรัฐฯ สูญเสียสถานะเบอร์หนึ่งทางเศรษฐกิจ มาสู่ยุคทรัมป์ ทรัมป์เลือกแก้ไขปัญหานี้ด้วยการใช้สงครามการค้ากับจีน เพราะไม่รู้ว่าจะใช้มาตรการไหน และสงครามการค้าในฐานะมาตรการปกป้องทางการค้ารูปแบบใหม่จะยังคงดำเนินต่อมายังสมัยไบเดนและอนาคตอันใกล้
ปมที่สอง วิกฤตพลังงาน สหรัฐฯ ต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศอย่างมากตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา และแม้สหรัฐฯ จะพยายามแก้โจทย์ผ่าน Carter Doctrine ด้วยการเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเข้มข้น แต่ก็แก้โจทย์ได้ไม่ตก จนกระทั่งวันนี้ สหรัฐฯ แก้โจทย์พลังงานได้แล้วหลังปฏิวัติชั้นหินดินดาน (Shale Revolution) พัฒนาเทคโนโลยีขุดเจาะสกัดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานบนพื้นดินได้สำเร็จ ทำให้สหรัฐฯ หวนกลับมาเป็น Big Three ทางพลังงานของโลกร่วมกับรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย เพราะฉะนั้น จิตติภัทรมองว่าสหรัฐฯ น่าจะไปได้ดีในเกมด้านพลังงาน
และปมที่สาม ซึ่งพันร่วมอยู่กับโจทย์ปมปัญหาขาดดุลการค้า คือโจทย์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ว่าสหรัฐฯ จะสามารถธำรงรักษาสถานะผู้นำเบอร์ 1 ของโลกได้อย่างไร ซึ่งความหวั่นวิตกของสหรัฐฯ สะท้อนออกมาแล้วผ่านวาทกรรมในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกว่า สหรัฐฯ จะขอครองตำแหน่งผู้นำโลกต่อไป จะไม่ยอมให้ใครขึ้นมาแทนที่ และจะใช้ทุกยุทธศาสตร์ กลไก และระบบพันธมิตรในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จิตติภัทรจะมองว่าสงครามจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ แต่การเปลี่ยนผ่านอำนาจก็ยังมีความเสี่ยงอยู่
แน่นอนว่าความเสี่ยงอย่างแรกที่อาจเกิดขึ้นคือ ‘ทางแพร่งทางความมั่นคง’ ยิ่งสภาวะการเปลี่ยนผ่านอำนาจเข้มข้นมากขึ้น ร่องรอยของทางแพร่งทางความมั่นคงก็จะยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เริ่มปรากฏการสะสมกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้นในห้วงยามที่โรคระบาดยังดำเนินอยู่ เช่น การซื้อเรือดำน้ำของออสเตรเลีย
ส่วนความเสี่ยงอย่างที่สองคือ ‘ทางแพร่งพันธมิตร’ (alliance dilemma) ซึ่งแม้ว่าการมีพันธมิตรในการเมืองระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จิตติภัทรชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้จากการมีระบบพันธมิตรคือ การเลือกข้างอย่างชัดเจนของบางประเทศ อย่างในกรณีออสเตรเลียที่เลือกข้างสหรัฐฯ และต้องเจอมาตรการบอยคอตทางการค้าจากจีน ซึ่งที่จริงแล้วเจ็บหนักทั้งออสเตรเลียและจีน นอกจากนี้ ทางแพร่งพันธมิตรยังตามมาด้วยพันธกรณีในการประกันทางความมั่นคงในระบบพันธมิตร (security commitment) ว่าพันธมิตรจะค้ำประกันความมั่นคงได้มากน้อยแค่ไหน อย่างที่เป็นประเด็นในกรณีสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน หรือพันธมิตรจะไว้เนื้อเชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหน อย่างในกรณีฝรั่งเศสกับ AUKUS
อีกความเสี่ยงหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านอำนาจคือ ความเสี่ยงที่เหตุการณ์ขนาดเล็กอาจกลายเป็นชนวนที่ทำให้ความขัดแย้งระดับใหญ่ปะทุขึ้นมา อย่างเหตุการณ์ความขัดแย้งในบริเวณทะเลจีนใต้ หลายครั้งมักจะถูกเปรียบว่าอาจเป็นชนวนเหมือนกับการบุกโปแลนด์ของนาซีเยอรมนี กลายเป็นชนวนไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป
Paradigmatic Transition: การเปลี่ยนผ่านเชิงกระบวนทัศน์ของระเบียบโลก
นอกจากความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจ อีกความท้าทายหนึ่งที่โลกในปี 2022 จะต้องเผชิญคือ การเปลี่ยนผ่านเชิงกระบวนทัศน์ของระเบียบโลก (paradigmatic transition) กล่าวคือ โลกกำลังเผชิญกับการปะทะกันระหว่างระเบียบสองชุด ระหว่างระเบียบโลกเสรีนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำอยู่แต่เดิมตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กับระเบียบที่อำนาจวางอยู่บนฐานของรัฐชาติและอำนาจอธิปไตยที่กลับขึ้นมาท้าทาย
“ในปัจจุบัน ระเบียบโลกเสรีนิยมถูกสั่นคลอนจากหลายส่วน จากภายในระบอบเอง อย่างการสั่นคลอนจากชาตินิยมและประชานิยม ทรัมป์ เบร็กซิต หรือวิกเตอร์ ออร์บานแห่งฮังการีคือตัวอย่าง
“จากภายนอก ระเบียบอีกชุดหนึ่งที่เริ่มกลับมาสำคัญ คือระเบียบที่วางอยู่บนอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ บูรณาภาพเหนือดินแดน และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น” ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ระเบียบชุดนี้เข้มแข็งมากขึ้นจากการที่รัฐมีบทบาทเพิ่มขึ้น และท้าทายระเบียบโลก ระบบคุณค่าและปทัสถานแบบเดิม จะเห็นว่าจีนและรัสเซียก็พยายามท้าทายระเบียบชุดนี้อยู่”
จิตติภัทรชี้ให้เห็นว่า ปทัสถานหนึ่งในระเบียบโลกเสรีนิยมที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งในมุมมองของจีนและรัสเซีย นี่คือการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของรัฐจากภายนอก มุมมองเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในการเมืองทั้งระดับโลกอย่างกรณีซีเรีย ที่มหาอำนาจฝ่ายเน้นอำนาจอธิปไตยตั้งคำถามต่อการแทรกแซงอย่างมาก และทำให้ระบอบ Bashar al-Assad ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ หลังจากที่กรณีลิเบียก่อนหน้านี้ที่ UN ให้อำนาจแก่ NATO ในการยุติความขัดแย้งจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง ส่วนในระดับภูมิภาค ในกรณีการปฏิวัติสี (Color Revolution) ช่วงทศวรรษที่ 2000 ที่ประเทศหลังบ้านรัสเซียอย่างยูเครน หรือจอร์เจียเปลี่ยนผ่านระบบการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย รัสเซียก็มองว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองที่โลกตะวันตกเข้ามามีบทบาท
“การเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์แบบนี้ทำให้มีพื้นที่ความขัดแย้งเยอะ พื้นที่ของความร่วมมือเกิดยากขึ้น เพราะถูกกำหนดด้วยคุณค่ามากกว่าเรื่องผลประโยชน์”
Pandemic Transition: การเปลี่ยนผ่านโรคระบาด
ความท้าทายอย่างที่สามในปี 2022 คือการเปลี่ยนผ่านโรคระบาด (pandemic transition)
ในกระแสการเปลี่ยนผ่านจาก Covid World ไปสู่ Post-covid World จิตติภัทรมองว่า การทูตวัคซีนจะพัวพันกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจที่กำลังเข้มข้นขึ้น ว่าใครจะมีอิทธิพล หรือมีบทบาททางยุทธศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างไร และจะยิ่งทำให้โลกแตกกระจายและแตกสลายมากขึ้นจากยุทธศาสตร์กลับขึ้นฝั่งและระบบการผลิตของทุนนิยมที่เปลี่ยนไปสู่ระบบ just-be-sure มากยิ่งขึ้น
“ผมคิดว่าเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกหลังโรคระบาดได้ยาก สุดท้าย การเมืองระหว่างประเทศจะเป็นเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตผู้คนมากขึ้น การเมืองระหว่างประเทศจะมีความเป็นชีวการเมือง (biopolitics) มากขึ้น รัฐชาติจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการกำหนดว่าอะไรบ้างที่ใช่หรือไม่ใช่ประเด็นความมั่นคง
“ประเด็นสาธารณสุขจะกลายเป็นประเด็นความมั่นคง เกี่ยวพันกับการสอดส่อง ดูแลและควบคุมชีวิตผู้คนมากขึ้น ยิ่งโควิดอยู่นานเท่าไหร่ อำนาจของรัฐชาติที่เกี่ยวพันกับชีวการเมืองก็ยิ่งสูงขึ้น”
Post-/ Trans-national Transition: การเปลี่ยนผ่านข้ามชาติ
และความท้าทายมิติสุดท้าย โลกกำลังต้องเผชิญความต่อเนื่องของการเปลี่ยนผ่านข้ามชาติ (post-/ trans-national transition) จากร่องรอยการสลายลงของพรมแดนรัฐชาติ
“เราอยู่กับการเปลี่ยนผ่านข้ามชาติที่ประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ได้จบลงแค่ที่พรมแดนรัฐชาติมาสักพักใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ PM2.5 หรือโรคระบาด แต่ในปี 2022 disruptive technology และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) คือการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่เพิ่มขึ้นมา”
ในมิติ disruptive technology ที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดิสรัปต์เศรษฐกิจโลกมากมาย แต่สำหรับปี 2022 การเงินดิจิทัล (digital finance) แบบใหม่อย่าง Decentralized Finance (DeFi) คือการเปลี่ยนผ่านที่ต้องจับตามอง
สำหรับการเงินดิจิทัลโลก จิตติภัทรตั้งข้อสังเกตในการมองไว้ 3 ประเด็น
ข้อสังเกตแรก การเติบโตอย่างรวดเร็วในภาคการเงินดิจิทัล และการเกิดขึ้นสกุลเงินดิจิทัลสกุลใหม่มีลักษณะที่ก้าวไปสู่ระดับโลก (globalized) มากยิ่งขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งเส้นแบ่งระหว่างความเป็นบรรษัทการเงินและบริษัท Tech Giant เริ่มเลือนรางมากยิ่งขึ้น จากการที่บริษัท Tech Giant พยายามที่จะรวบรวมผลิตภัณฑ์การเงินดิจิทัลให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน (single platform) อย่างที่เฟซบุ๊กพยายามสร้าง digital wallet และสกุลเงินไลบราออกมา การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ DeFi เช่นนี้ตามมาด้วยความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความเป็นส่วนตัว (privacy) ของข้อมูลบุคคล และมีแนวโน้มที่น่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น
แม้จะกลายเป็นประเด็นระดับโลกมากยิ่งขึ้น แต่ในข้อสังเกตประการที่สอง จิตติภัทรมองว่าการเงินดิจิทัลยังคงเป็นประเด็นภายใต้กรอบรัฐระดับหนึ่ง เพราะนอกจากการแข่งขันระหว่างกลุ่มในภาคการเงินดิจิทัลและบรรษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่แล้ว ธนาคารกลางหรือสถาบันกำกับควบคุมทางการเงินอื่นๆ ก็พยายามจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุม กำหนด และกำกับกติกาในภาคการเงินดิจิทัลเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งธนาคารกลางบางประเทศยังเริ่มพัฒนาค่าเงินดิจิทัลของตัวขึ้นมา อย่างเช่นค่าเงินหยวนดิจิทัลของรัฐบาลจีน ซึ่งในอีกมุมหนึ่ง อาจมองได้ว่ารัฐพยายามควบคุมระบบการเงินดิจิทัลมากยิ่งขึ้น และหลายกรณีอาจมีความสุ่มเสี่ยงในการควบคุมความเป็นส่วนตัวด้วย
ส่วนข้อสังเกตสุดท้าย การเงินดิจิทัลโลกยังมีความลักลั่นอยู่ คือแม้จะเติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลกแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการวางระเบียบ กติกาหรือปทัสถานในการควบคุมอย่างชัดเจนในระดับระหว่างประเทศ (internationalized) เท่าไหร่นัก และยังไม่ได้เป็นโจทย์ใหญ่อันดับแรกๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ แต่จิตติภัทรมองว่า ในอนาคตอาจได้เห็นการแข่งขันของมหาอำนาจในแผนที่การเงินดิจิทัลมากขึ้น
ส่วนในมิติการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โจทย์ใหญ่สำหรับปี 2022 คือการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลดั้งเดิม อย่างน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ไปสู่พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) หรือพลังงานสีเขียวมากขึ้น
แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวยังมีหลายโจทย์ที่การเมืองโลกต้องแก้ให้ตกในอนาคต
จิตติภัทรชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่หลายรัฐสำคัญทั่วโลกตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้กลายเป็นศูนย์ แต่การบรรลุเป้าหมายยังต้องเผชิญหน้ากับการเมืองภายใน กลุ่มทุนด้านพลังงาน อีกทั้งยังมีอีกหลายรัฐที่ยังต้องพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวอาจไม่ได้เกิดในระนาบเดียวกันทั่วโลก
อีกโจทย์หนึ่งที่จิตติภัทรตั้งคำถามคือ วาระการลดโลกร้อนจะกลายเป็นเพียงการ ‘ฟอกเขียว’ หรือ CSR สำหรับรัฐและบรรษัทข้ามชาติให้มีภาพลักษณ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือไม่ ตราบใดที่การค้าคาร์บอน (carbon trading) ระหว่างประเทศมหาอำนาจหรือประเทศขนาดใหญ่ยังดำเนินต่อไป
ส่วนในทางนโยบาย โจทย์ที่ต้องคิดคือ ภายใต้บริบทที่ราคาพลังงานสูงขึ้น ใครจะเป็นคนแบกรับภาระในการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสีเขียว อย่างในยุโรป ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมาก
และหากมองโจทย์การเปลี่ยนผ่านพลังงานผ่านแผนที่ด้านพลังงาน ทั้งระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากการระบาดและเศรษฐกิจโลกตกต่ำจะทำให้ประเทศที่กำลังขยับขยายการพัฒนาและพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานอย่างจีนและอินเดียต้องยิ่งตีโจทย์การเปลี่ยนผ่านพลังงานให้แตก ในขณะที่สหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติชั้นหินดินดานแล้วอาจอยู่ในสถานะที่ดำเนินนโยบายด้านพลังงานได้ยืดหยุ่นขึ้น และสามารถใช้การส่งออกพลังงานเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจและสร้างอิทธิพลได้มากขึ้น
‘ไผ่ลู่ลม’ ในกระแสลมโลกสองขั้วอำนาจ?
ท่ามกลางกระแสลมอันแปรปรวนจากการที่ระเบียบโลกขยับเข้าสู่ระบบสองขั้วอำนาจยิ่งขึ้น คำถามสำคัญของการต่างประเทศไทยมีอยู่ว่า การดำเนินนโยบาย ‘ไผ่ลู่ลม’ (bamboo diplomacy) จะยังเพียงพอต่อการยืนอยู่ในระเบียบโลกที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หรือหากถามให้ถึงที่สุด ไทยควรต้องก้าวให้พ้นนโยบายแบบไผ่ลู่ลมหรือเปล่า
“ในวันนี้ ลมของการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เพราะฉะนั้น แรงลมที่มากขึ้น ก็ทำให้ไทยเป็นไผ่ลู่ลมได้ยากขึ้น รัฐขนาดกลาง รัฐขนาดเล็กก็ถูกแรงกดดันบีบกลายๆ ให้ต้องเลือกข้างมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม หากมองนโยบายการต่างประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมา จิตติภัทรมองว่ามีความเป็นจริงอยู่หลายประการสำคัญที่ต้องตั้งคำถามและยอมรับให้ได้ เพื่อที่จะหาจุดสมดุลของไทยในระเบียบโลกสองขั้วอำนาจให้ตรงจุด
ประการที่หนึ่ง จิตติภัทรตั้งคำถามต่อการดำเนินนโยบายรักษาระยะห่างเพื่อประกันความเสี่ยงกับมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายว่า เป็นการประกันความเสี่ยงจากการวางยุทธศาสตร์ใหญ่อย่างชัดเจน หรือเป็นการประกันความเสี่ยงโดยบังเอิญ (hedging by default) กันแน่ ซึ่งหากประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จิตติภัทรเปิดประเด็นให้เห็นว่า ไทยกำลังดำเนินนโยบายประกันความเสี่ยงโดยบังเอิญ คือแต่ละกระทรวง ทบวง กรมต่างไปกันคนละทิศคนละทาง บางกระทรวงก็แนบแน่นกับสหรัฐฯ บางกระทรวงก็แนบแน่นกับจีน
“ถ้าเป็นการประกันความเสี่ยงโดยบังเอิญ ผมว่าน่ากังวล เพราะผลประโยชน์อยู่ที่ระบบราชการ หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แทนที่จะมียุทธศาสตร์หลักของประเทศในการดำเนินนโยบาย”
ประการที่สอง หลังการรัฐประหาร 2014 เป็นต้นมา โครงสร้างและบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบคุณค่ากลายเป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่ทำให้ไทยเข้าใกล้จีนและรัสเซียมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “หากมองในแง่นี้ ไทยก็ไม่ได้เป็นไผ่ลู่ลม แต่เราอยู่ข้างจีนมากขึ้น”
ประการที่สาม แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์หลักดั้งเดิมของสหรัฐฯ ก็ตาม แต่บริบทการเมืองภายในของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปและบริบทการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร 2014 ทำให้ไทยอยู่นอกเรดาร์ของยุทธศาสตร์การต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการที่ไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุทธศาสตร์การต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ออกมาในเดือนมีนาคม 2021 หรือการที่ไทยไม่ใช่จุดมุ่งหมายในการเยือนของผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ ในช่วงระยะหลังที่ผ่านมา
ประการที่สี่ หากมองออกมาในระดับภูมิภาค ปัจจุบัน ASEAN Centrality ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า อาจเป็นเพียงแค่มายาคติหรือไม่ เมื่อกลไกการบูรณาการความร่วมมือในระดับเอเชีย-แปซิฟิกต่างๆ ของอาเซียน เช่น ADMM (ASEAN Defence Ministers Meeting) หรือ ARF (ASEAN Regional Forum) ถูกมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างสหรัฐฯ ข้ามไปค่อนข้างมากในทางปฏิบัติ แล้วหันไปสร้างกรอบความร่วมมืออื่นที่ไม่ได้อยู่ในกรอบอาเซียน ทั้ง Quad, AUKUS และ Indo-Pacific Forum for Business ส่วนการเชิญประเทศเข้าร่วมประชุม Summit for Democracy ก็สะท้อนการแบ่งอย่างชัดเจนว่า ประเทศไหนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยกับสหรัฐฯ หรือประเทศไหนอยู่กับจีน
“บริบทเช่นนี้ทำให้ ASEAN Centrality ในระดับภูมิภาคอ่อนแอลงพอสมควร รวมไปถึงไทยก็ไม่ได้เลือกเล่นบทบาทผู้นำในอาเซียนอย่างชัดเจน” เนื่องจากไทยเลือกเล่นการทูตแบบเงียบ (quiet diplomacy) ใช้การเจรจาเบื้องหลัง ซึ่งแม้ว่าจะมีความสำคัญในการไกล่เกลี่ยและหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน แต่ก็ทำให้สถานะและบทบาทของไทยไม่เด่นชัดนัก
Leading from the Middle: ดุลอำนาจของไทยในสมรภูมิการเมืองโลกสองขั้วอำนาจ
ในสภาวะที่ไทยอยู่นอกเรดาร์สหรัฐฯ หันไปหาจีนมากขึ้น จิตติภัทรมองว่า ไทยยังคงพอมีหนทางในการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสองมหาอำนาจให้สมดุลมากขึ้น
“อย่างแรกที่เราพอจะทำได้คือ ทำความเข้าใจและคาดการณ์แผนที่โลกใหม่ (new global map) ในศตวรรษที่ 21 จะได้รู้ว่าเราอยู่ในเกมสมการการเมืองโลกแบบไหน ภูมิรัฐศาสตร์แบบไหน แข่งขันกันเรื่องอะไร เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ได้ชัดเจน”
ประการต่อไปคือ การไม่เลือกข้างอย่างชัดเจน ผ่านการรักษาระยะห่างอย่างสมดุล (equidistance) เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
“โจทย์สำหรับผมมีอยู่ว่า เราได้ผลประโยชน์ตรงไหน ก็เลือกจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประเทศหรือมหาอำนาจนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกกำหนดว่าอะไรคือผลประโยชน์ อะไรคือผลประโยชน์หลัก อะไรคือผลประโยชน์รอง ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ตรงนี้เกิดจากการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติผ่านการวางแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
แล้วในทางปฏิบัติ ไทยจะประกันความเสี่ยงและรักษาระยะห่างอย่างมียุทธศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง
ประการแรก จิตติภัทรเสนอว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ของไทยผ่านไทยแลนด์ 4.0 ต้องควบคู่ไปกับการพิจารณาว่ายุทธศาสตร์จะสามารถกระจายความมั่งคงและลดความเหลื่อมล้ำได้แค่ไหน รวมทั้งยังต้องกำหนด niche market ให้ชัดเจนว่า จะพัฒนาระบบไอทีอย่างไร จะมีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และจะพัฒนาภาคเกษตรกรรมก้าวหน้าอย่างไร โดยที่ไม่ได้อิงอยู่กับทุนขนาดใหญ่อย่างเดียว เพื่อรับมือกับโลกาภิวัตน์ที่กำลังแหลกสลายและการกลับขึ้นฝั่งจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจนำไปสู่การตกงานจากเทคโนโลยีได้
นอกจากไทยจะต้องกำหนด niche market แล้ว จิตติภัทรเสนอว่าไทยไม่จำเป็นต้องวิ่งไล่ตามทุกกระแส แต่ต้องรู้เท่าทันทุกอย่างที่เกิดขึ้นใน Mapfare ว่าเกมอำนาจเดินไปทางไหน และไทยควรวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองอย่างไร ไทยอาจต้องให้ความสนใจเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบไซเบอร์ หรือปัญญาประดิษฐ์ที่มหาอำนาจกำลังแข่งขันกันมากขึ้น ส่วนสกุลเงินคริปโตที่เป็นกระแส มหาอำนาจก็ยังไม่ได้แข่งขันกันมากเท่าไหร่นัก
ประการต่อมา ไทยควรต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ในภูมิภาคผ่านการเชื่อมต่อ (connectivity) ให้ดีว่า ไทยควรจะเชื่อมต่อกับเส้นทางหลักในภูมิภาค ทั้งการเชื่อมต่อทางบก (landbridge) และทางกลุ่มระบบแม่น้ำ (riverbridge) ให้มากขึ้น เชื่อมต่อกับเงินทุน โครงสร้างของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจทุกฝ่ายได้อย่างพอเหมาะพอควรอย่างไรบ้าง เพื่อรักษาความเป็นศูนย์กลาง (centrality) ในภูมิภาค
สำหรับการเชื่อมต่อทางบก จิตติภัทรมองว่า ไทยต้องเชื่อมต่อไปให้ไกลกว่าระดับภายในประเทศและระดับอนุภูมิภาค ทั้งระเบียงเศรษฐกิจทางเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก และยิ่งไปกว่านั้น ไทยต้องคิดว่าจะเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานของมหาอำนาจหรือประเทศสำคัญที่ขยับขยายมาในบริเวณที่ใกล้อย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์ อย่างวันนี้ที่จีนทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงมาเชื่อมต่อกับลาว ไทยก็ต้องหาทางเชื่อมโยงให้ได้ โดยไม่ตกอยู่ในกับดักหนี้สาธารณะ
ส่วนการเชื่อมต่อทางกลุ่มระบบแม่น้ำ จิตติภัทรมองว่า กรอบ ACMECS ที่มีอยู่แล้วถือว่าเป็นหนึ่งในกรอบการเชื่อมโยงระบบแม่น้ำในอนุภูมิภาคและกรอบการเจรจาที่มีศักยภาพในการสร้างความเป็นศูนย์กลางได้จริง อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญอยู่ที่ว่า ยังต้องอาศัยภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนและขยับขยายการเชื่อมต่อกรอบระบบแม่น้ำออกไปเพื่อสร้างความเป็นศูนย์กลางให้ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่จิตติภัทรมองว่าเป็นโจทย์ยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อสำคัญที่ต้องคิดให้ตกเพื่อเปลี่ยนภูมิทัศน์การเชื่อมต่อคือ การขุดคอคอดกระ
“แน่นอนว่ามีความกังวลเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงแห่งชาติ แต่ถึงเวลาที่จะต้องมาคุยกันจริงๆ แล้วหรือเปล่าว่า สุดท้ายแล้ว ตรงนี้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของใคร การขุดคลองจะเปลี่ยนภูมิทัศน์การเชื่อมต่อได้มากน้อยแค่ไหน แล้วไทยจะวางตำแหน่งแห่งที่โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจได้อย่างไร”
“ผมคิดว่า โจทย์เหล่านี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ไทยวางตำแหน่งแห่งที่ได้ทั้งในระดับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และระดับภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงอินโด-แปซิฟิกในภาพรวม”
กระนั้นก็ดี ไทยย่อมประสบกับข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ จากทั้งโครงสร้างระบบระหว่างประเทศ และการเมืองภายใน แต่ในสภาวะเช่นนี้ นอกจากไทยจะต้องกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติให้ชัดเจน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่รักษาระยะห่างกับมหาอำนาจได้จริงแล้ว จิตติภัทรเสนอว่า ไทยต้อง ‘leading from the middle’ หรือนำจากกลุ่มประเทศระดับกลาง
คำถามต่อมาคือ ไทยต้องดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อที่จะ ‘นำจากตรงกลาง’ ให้ได้
จิตติภัทรเสนอว่า อย่างแรกคือ ต้องคานและถ่วงดุลอำนาจของมหาอำนาจไม่ให้กระทบผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาค
ต่อมาคือ แสดงให้มหาอำนาจเห็นให้ได้ว่า โครงสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงและเศรษฐกิจในอาเซียนยังเป็นใจกลางที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ ทำงานได้ดีเพียงพอและตอบโจทย์ต่างๆ โดยที่มหาอำนาจไม่จำเป็นต้องแสวงหากลไก “ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่มหาอำนาจสร้างกลไกความร่วมมือใหม่ขึ้นมาแล้วข้ามอาเซียนไป เพราะกลไกเดิมในภูมิภาคไม่ได้ฟังก์ชันดีเพียงพอ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้กลไกของอาเซียนกลับมาให้ได้”
อีกประการหนึ่งคือ ต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อไกล่เกลี่ยประเด็นความขัดแย้งและสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค และวางตำแหน่งในเกมของมหาอำนาจ ซึ่งหากไทยวางสถานะของตนเองไว้ชัดเจน ก็จะทำให้นำผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ไปตอบโจทย์การสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้ดีขึ้น
“ทั้งนี้ทั้งนั้นเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องอาศัยความพยายาม ความเป็นผู้นำ และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะร่วมมือกันในทิศทางไหน และคิดจากฐานผลประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น” ซึ่งจิตติภัทรยกตัวอย่างว่า ไทยเคย ‘นำจากตรงกลาง’ สำเร็จในการริเริ่มยุทธศาสตร์เปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามการค้า เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งในอินโดจีนให้กลายเป็นพื้นที่ความร่วมมือและประสานผลประโยชน์
ส่วนในการจัดวางความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือต้องอาศัยเกมแบบพหุภาคี (multilateral) มากขึ้น โดยเฉพาะในวันนี้ที่มหาอำนาจเล่นเกมทวิภาคี มินิภาคี หรือแม้กระทั่งเอกภาคีนิยมที่ดำเนินการฝ่ายเดียวมากขึ้น เพราะความร่วมมือแบบพหุภาคีคือเครื่องมือของรัฐขนาดเล็กในการผูกพันรัฐมหาอำนาจเข้ากับกติกากลางที่ประเทศอื่นๆ ยอมรับร่วมกัน และเห็นว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน
สุดท้ายคือ ไทยและอาเซียนต้องส่งเสริมการประกันความเสี่ยงในระดับสถาบันระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคมากขึ้น ผ่านการประกันความเสี่ยงแบบสามประสาน (triple hedging) คือ ร่วมมือทางความมั่นคงกับสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ร่วมมือและผูกพันทางเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นๆ และดำเนินการทูตแบบรัฐอำนาจระดับกลางที่ใช้กลไกเชิงสถาบันระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค พหุภาคีนิยม และปทัสถานร่วมกันในการกำกับพฤติกรรมของมหาอำนาจ
“ในแง่นี้ ก็จะทำให้เราอยู่ในกระแสลมที่เชี่ยวกรากได้อย่างมั่นคงและมั่งคั่งมากขึ้น”