fbpx

จากมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก สู่กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และสิ่งที่อาเซียนต้องเข้าใจ

12-13 พฤษภาคม 2022 ผู้นำอาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา) และผู้นำสหรัฐฯ จะมีการประชุมร่วมกัน โดยเชื่อว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันถกแถลงเพื่อแสวงหาฉันทามติและออกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมในประเด็นอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific) เพื่อที่พวกเราคนไทยจะเข้าในเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานก่อนในสองประเด็น นั่นคือ ‘มหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Strategy) และ ‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF)

มหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกคือหนึ่งในมาตรการหลักภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวของสหรัฐฯ (National Security Strategy of the United States of America – NSS) ที่ถูกประกาศในปี 2017 ซึ่งนั่นหมายความว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีจะเป็นท่านใด พวกเขาก็ต้องดำเนินนโยบายในระยะเวลา 4 ปี (1 สมัย) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกนี้ โดยประธานาธิบดีแต่ละคนอาจมีการตีความขอบเขตการดำเนินการทางยุทธศาสตร์ (strategic way) และมีเครื่องมือในการดำเนินยุทธศาสตร์ (strategic means) ที่แตกต่างกัน

สำหรับประเทศไทยและประชาคมอาเซียน พวกเราได้รับรู้รับทราบความคิดของประธานาธิบดี Joe Biden ที่มีต่อมหายุทธศาสตร์นี้ (อย่างเป็นทางการ) ผ่านการแถลงของเขา ณ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2021 ต่อหน้าผู้นำจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ผู้นำเมียนมาไม่เข้าร่วมการประชุม) รวมทั้งผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และรัสเซีย

ประธานาธิบดี Biden ถกแถลงต่อผู้นำเอเชียตะวันออกว่า Indo-Pacific Strategy ของสหรัฐฯ ในสมัยของเขาจะวางอยู่บนหลักการ 5 ข้อ นั่นคือ 1) เสรีภาพและเปิดกว้าง (Free and Open) 2) เชื่อมโยง (Connected) 3) เจริญรุ่งเรือง (Prosperous) 4) มีความมั่นคง (Secure) และ 5) ยืดหยุ่นยั่งยืน (Resilient)

อย่างไรก็ตาม หลายข้อก็สร้างความงุนงงให้กับผู้คนในหลากหลายประเทศด้วยเช่นกัน เช่นในมิติ Free and Open โดยนอกจากสหรัฐฯ จะพูดถึงประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิของภาคประชาสังคม การต่อต้านการคอร์รัปชัน และการส่งเสริมเสรีภาพในการเข้าถึงเทคโนโลยีและโลกไซเบอร์แล้ว สหรัฐฯ ยังกล่าวว่าตนเองจะดูแลให้ทะเล มหาสมุทรและน่านฟ้าของภูมิภาค ได้รับการควบคุมและใช้งานพื้นที่ ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในอีกซีกโลกไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด และในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่ไม่ยอมรับและให้สัตยาบันในกฎกติกาสากล โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law Of the Sea – UNCLOS) นอกจากนี้ในหลายๆ ครั้ง สหรัฐฯ เองก็กระทำการยั่วยุโดยนำเรือรบของตนเดินเรือเข้าไปในน่านน้ำภายในของประเทศต่างๆ โดยไม่แจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าของพื้นที่

หรือในประเด็นต่อมาอย่างเรื่องความเชื่อมโยง ที่สหรัฐฯ กำหนดรายชื่อพันธมิตรที่สหรัฐให้ความสำคัญในระดับต่างๆ อาทิ กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรหลักอย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย สร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนในภูมิภาคกับอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน (ซึ่งถือเป็นการยั่วยุหลักการจีนเดียวที่สหรัฐฯ ยอมรับ) เวียดนาม และหมู่เกาะแปซิฟิก พร้อมทั้งจะสนับสนุนประชาคมอาเซียน พันธมิตร QUAD รวมทั้งอินเดียให้ขึ้นเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค แต่หลายๆ ประเทศก็เคยผิดหวังมาแล้วและยังคงจำได้ดีกับโครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในอดีตของสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อ Blue Dot Network ซึ่งเคยประกาศไว้ในช่วงต้นของทศวรรษ 2010s (สมัยที่ Biden ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี) พร้อมๆ กับที่จีนประกาศโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดยในปัจจุบัน เราเห็น BRI เชื่อมโยงทุกภูมิภาคทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาใต้เข้าด้วยกัน แต่เรากลับยังไม่เห็น Blue Dot Network เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับที่เราได้เห็น Biden ในฐานะประธานาธิบดีเสนอโครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก Built Back Better World (B3W) ต่อที่ประชุม G7 ซึ่งก็ยังไม่เห็นประเทศใดขานรับ

ส่วนในมิติที่ 3 ซึ่งก็คือความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ถือเป็นมิติที่เป็นโครงสร้างหลักที่จะทำงานร่วมกับประเด็นรองในอีก 4 มิติที่เหลือของมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็น ‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ (IPEF) ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอต่อไป

ขณะที่ในมิติความมั่นคงซึ่งเป็นมิติที่ 4 สหรัฐฯ ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของจีน (สหรัฐฯ ยอมรับหลักการจีนเดียว และยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน) แต่ในมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก สหรัฐฯ แถลงว่าจะรักษาสันติภาพและความมั่นคงในบริเวณช่องแคบไต้หวัน (ซึ่งตามหลักการจีนเดียว พื้นที่นี้คือน่านน้ำภายในของประเทศจีน ซึ่งจีนมีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์)

ส่วนมิติที่ 5 คือความยืดหยุ่นยั่งยืน ซึ่งสหรัฐได้ประกาศจะดำเนินนโยบายและตั้งเป้าหมายในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 ลดการกระทำที่จะทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม รวมทั้งต้องร่วมกันเดินหน้ายุติการแพร่ระบาดของโควิด-19

เห็นได้ว่าหลายๆ มิติในมหายุทธศาสตร์นี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อยั่วยุจีนและเพื่อแสวงหาพันธมิตรในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งนี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่อาเซียนต้องพึงระวัง เนื่องจากในทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งและแข่งขันกันทางดุลอำนาจ

หนึ่งในแนวทางการดำเนินการทางยุทธศาสตร์ (strategic way) และเครื่องมือในการดำเนินยุทธศาสตร์ (strategic means) ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ ‘การเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ (IPEF) โดยคาดว่าจุดเริ่มต้นของการเจรจาจะเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ วันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้

“กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกจะไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA)” นี่คือคำประกาศของ Katherine Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative) ขณะที่ตัวผู้เขียนเองก็ได้รับการยืนยันจากร่วมสนทนากับคุณ Michael Heath อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตและตัวแทนหน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า IPEF จะไม่ใช่การเปิดตลาดสหรัฐ (market access) ผ่านการยกเลิกมาตรการทางภาษี (“IPEF will not provide improved market access through tariff elimination.”)

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ แล้วตกลง IPEF คืออะไร? นี่คือคำถามที่หาคำตอบยากมากๆ เพราะจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครได้เห็นเลยว่า IPEF มีเนื้อหาอย่างไรบ้าง

จากถ้อยแถลงของผู้นำสหรัฐฯ และจากเอกสารต่างๆ ที่มีการเผยแพร่ ทำให้นักวิชาการทั่วโลกจับทางและคาดการณ์ได้แต่เพียงว่า IPEF จะเป็นการเจรจาที่สหรัฐฯ จะใช้แนวทางเดียวกันกับข้อตกลงการค้าสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (US-Mexico-Canada Agreement – USMCA) ซึ่งมีการเจรจากันไปในสมัยของประธานาธิบดี Donald Trump โดย USMCA คือการที่สหรัฐฯ นำเอาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement – NAFTA) ซึ่งเดิมได้ลดภาษีศุลกากรระหว่างกันไปแล้วจนเป็น 0% (ดังนั้นจึงไม่มีการลดภาษีได้อีกเหมือนที่ Katherine Tai กล่าว) มาเจรจากันใหม่ โดยวิธีการเจรจาเป็นรูปแบบที่สหรัฐฯ ใช้อำนาจต่อรองที่สูงกว่าในการเจรจากับเม็กซิโกก่อนในรูปแบบทวิภาคี จากนั้นจึงนำข้อตกลงที่ได้มาใช้ในการกดดันต่อรองกับแคนาดาต่อ

IPEF ก็คงคล้ายๆ กัน นั่นคือเป็นการเจรจาต่อรองที่เน้นสร้างมาตรฐานใหม่ที่สูงกว่ามาตรฐานเดิม และเชื่อว่าหลายๆ ประเทศที่เจรจากับสหรัฐฯ ก็คงไม่สามารถปรับมาตรฐานภายในประเทศของตนให้สูงขึ้นตามระดับที่สหรัฐฯ ต้องการได้ทั้งหมด ดังนั้น IPEF จะเป็นกรอบความร่วมมือที่มีลักษณะเป็น module (องค์ประกอบ/ภาค/ส่วน/หน่วย ที่แยกย่อยลงมาจากภาพรวม/องค์รวมทั้งหมด) โดยสหรัฐฯ จะนำแต่ละ module มาเจรจากับแต่ละประเทศที่มีลักษณะความพร้อมแตกต่างกัน และในทางปฏิบัติเราก็คงคาดหวังได้ว่า คงไม่มีคู่เจรจาไหนที่จะสามารถทำได้ตามที่สหรัฐฯ ต้องการครบในทุก module

หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ สหรัฐฯ คงมีประเด็นสำคัญที่ต้องการเจรจา (กดดัน) ที่ตนเองอยากได้ (request) และจะมีข้อเสนอ (offer) ให้กับประเทศที่ยอมรับ โดยแต่ละประเด็นในแต่ละ module ที่สหรัฐฯ จะทำข้อตกลงกับแต่ละประเทศ จะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าอำนาจต่อรองระหว่างประเทศนั้นๆ กับสหรัฐฯ จะมีมากน้อยขนาดไหน

ประเด็นและ module ต่างๆ ที่จะถูกยกมาเป็นประเด็นในการเจรจาภายใต้กรอบ IPEF จะวางอยู่บนหลักการ 4 ด้าน โดยในแต่ละด้าน ก็มีประเด็นที่ประเทศต่างๆ ห่วงกังวลต่อข้อเสนอของสหรัฐฯ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ความเป็นธรรมและการค้าที่ยืดหยุ่นยั่งยืน (Fair and Resilient Trade)

สหรัฐฯ ต้องการยกระดับมาตรฐานและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และกฎระเบียบมาตรฐานในเรื่องการค้าและโครงสร้างพื้นฐานบนโลกดิจิทัล มาตรฐานด้านความมั่นคงทางอาหาร กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรโดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ และมาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีแนวโน้มลึกซึ้งและกว้างขวางมากกว่าระดับที่ผูกพันในข้อตกลงการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)

แน่นอนว่าสำหรับประเทศที่ต้องเจรจากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเด็นห่วงกังวลน่าจะอยู่ที่มาตรฐานของสหรัฐฯ ที่สูงจนไม่สามารถปฏิบัติตามได้ โดยเฉพาะในประเด็นแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา และภาคเกษตร ซึ่งต้องเข้าใจว่าภาคเกษตรถือเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ

2. ความยืดหยุ่นยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Resiliency)

สหรัฐฯ อาจมีข้อเสนอสำหรับแต่ละประเทศที่จะเจรจาด้วยว่า ประเทศนั้นๆ ห้ามซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก สินค้าและบริการกับประเทศอื่นๆ ในหมวดรายการสินค้าและบริการใดบ้าง โดยเหตุผลที่ห้ามการซื้อ ขาย สินค้าและบริการ คงวางอยู่บนเหตุผลทางด้านความมั่นคง มากกว่าเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการห้ามประเทศต่างๆ ซื้อและห้ามใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมของจีน และห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปยังผู้ผลิตจีน

สิ่งที่น่ากังวลในประเด็นนี้คือประสิทธิภาพของห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains – GVCs) ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัตถุดิบขั้นต้น ขั้นกลาง สินค้าและบริการ ได้ในราคาถูกที่สุดและคุณภาพดีที่สุดจากผู้ประกอบการทั่วโลก เพื่อให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจสูงสุด และผู้ผลิตของเราสามารถควบคุมต้นทุนให้มีความสามารถทางการแข่งขันสูงสุด จะไม่เกิดขึ้น ทำให้ความเชื่อมโยงในรูปแบบโลกาภิวัตน์ถดถอย

กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ การเลือกข้างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์โดยมีความมั่นคงเป็นแกนกลาง ภายใต้สถานการณ์แยกขั้วอำนาจการผลิต (The Great Decoupling) ซึ่งกำลังเกิดขึ้น จะนำมาซึ่งความสูญเสียกับทุกฝ่าย อันเนื่องมาจากการสูญเสียประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างของเสียที่เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในภาคการผลิตและการบริโภค

3. ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Infrastructure, Clean Energy and Decarbonization)

เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นั่นคือตลอดช่วงเวลาประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา อาเซียนยังไม่ได้เห็นโครงการความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เกิดจากการลงทุนโดยสหรัฐฯ ทั้งผ่าน Blue Dot Network และ Built Back Better World และเช่นเดียวกันกับที่กล่าวไว้ในเสาหลักที่ 1 นั่นคือประเด็นการตั้งมาตรฐานของสหรัฐฯ ในเรื่องพลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะสูงจนประเทศอื่นๆ ตามไม่ทัน และ/หรืออาจจะถูกเบี่ยงเบนจนกลายเป็นเครื่องมือในการกีดกันการค้าในที่สุด

4. ระบบภาษีและการต่อต้านการคอร์รัปชัน (Tax and Anti-Corruption)

แน่นอนว่าประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชันคือเครื่องมือการต่อรองที่ฝั่งอาเซียนหลายๆ ประเทศต้องห่วงกังวล และจนถึงปัจจุบัน เราก็ยังไม่ได้เห็นรายละเอียดในสิ่งที่สหรัฐฯ จะนำมาเจรจากับแต่ละประเทศคู่เจรจา

ส่วนในประเด็นระบบภาษี เชื่อว่ากลไกในรูปแบบ Cross Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่สหภาพยุโรปนำมาใช้ในรูปแบบมาตรการที่มิใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Measures – NTMs) เพื่อให้ผู้ที่ต้องการนำสินค้าเข้าไปขายในยุโรปต้องจ่ายเงินซื้อใบรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในมูลค่าที่เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยในระหว่างกระบวนการผลิตทั้งหมด น่าจะเป็นกลไกที่ถูกนำมาปรับใช้ โดยอาจมิใช่ใช้เพียงเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อม แต่ยังอาจจะปรับใช้กับมิติมาตรฐานแรงงาน กลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และมิติอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการในหลักการข้อที่ 1 และ 3

สิ่งที่เรายังอาจจะมองไม่เห็น ณ ขณะนี้ คือเมื่อเจรจาและยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐฯ แล้ว สิทธิประโยชน์ใดจะเป็นข้อเสนอที่สหรัฐฯ นำมาแลกเปลี่ยน หากสิ่งที่เป็นข้อเสนอของสหรัฐฯ ไม่ได้มีคุณค่ามากเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ แจ้งไว้แล้วว่า IPEF ไม่ใช่การเปิดตลาดเพิ่มผ่านการลดเว้นภาษี จึงแปลว่าข้อเรียกร้องและข้อเสนอของสหรัฐฯ ในรอบนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยมิติภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ มิใช่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศบนพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอีกต่อไป

ดังนั้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและทำให้ตนเองสามารถปิดจุดอ่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกดดันให้ต้องถูกเลือกข้างจากมหาอำนาจ ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งกับมหาอำนาจอื่นๆ ได้ ประเทศไทยและประชาคมอาเซียนต้องยึดหลักการสำคัญในการดำเนินนโยบายในทุกภาคส่วนทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นั่นคือหลักการสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพื่อต้านทานแรงกดดันจากภายนอก โดยหลักการสำคัญที่ทั่วโลกยอมรับในการสร้างความเข้มแข็งจากภายในคือ Environment-Society-Governance (ESG) ซึ่งก็คือการมีธรรมาภิบาลเพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี โดยในระดับประเทศ ประเทศไทยของเราก็พัฒนาโมเดลเศรษฐกิจของไทยเพื่อรองรับแนวคิด ESG ที่เรียกว่า ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ อันประกอบไปด้วย 2 แนวคิดสำคัญที่ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) และ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เราพูดได้ว่า BCG คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ขณะที่สำหรับภาคเอกชนและภาคประชาชน ผมขออนุญาตนำเอาความคิดของ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันแนวคิด ESG มาใช้ปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจ โดยท่านกล่าวไว้ว่า วิธีปฏิบัติของธุรกิจจะต้องยึดแนวคิด “ธุรกิจต้องชนะและสังคมสิ่งแวดล้อมต้องพัฒนา” กล่าวคือต้องได้ประโยชน์ทั้งองค์กรและภาคสังคม ตามหลักการ Shared Value (คุณค่าร่วมกัน)

ประเทศไทยเราจำเป็นต้องรู้เท่าทันภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ และต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายในเพื่อลดแรงกดดันจากภายนอก ในสถานการณ์ที่เรากำลังถูกกดดันจากมหาอำนาจเช่นนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save