fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนธันวาคม 2563

Spotlight ประจำเดือนธันวาคม 2563

 

คน | คุก : ทลายกำแพงความคิด ปลดล็อกอนาคตกระบวนการยุติธรรมไทย

 

เมื่อพูดถึง ‘เรือนจำ’ หรือที่คนมักเรียกกันติดปากว่า ‘คุก’ ภาพในใจใครหลายคนคงหนีไม่พ้นอาคารสูงทะมึน กำแพงสูงหนา กั้นคนภายในออกจากภายนอก ตามความคิดที่เราเชื่อกันมานานแสนนานว่า คนที่อยู่ในคุกเป็นคนไม่ดี จำเป็นต้องถูกกักขังและได้รับบทลงโทษ อีกทั้งยังเพื่อบำบัดฟื้นฟูพวกเขาและสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมส่วนรวม

นั่นไม่ใช่ความคิดที่ผิดไปเสียทั้งหมด ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งทำความผิดและจำเป็นต้องได้รับโทษคุมขัง แต่ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ต้องขังอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ทำความผิดในคดีร้ายแรง แต่ด้วยตัวกระบวนการทำให้เขาหรือเธอจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จนเกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำซึ่งเป็นปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมไทยและอีกหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ ยังไม่นับปัญหาความไม่อ่อนไหวด้านเพศภาวะที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังหลายคนต้องเจอกับปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นปัญหาสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ (The Bangkok Rules) ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางอย่างผู้หญิง ตั้งแต่แรกรับเข้าสู่เรือนจำจนถึงวันที่พ้นออกจากรั้วเรือนจำไปแล้ว กระนั้นก็ดี นอกจากข้อกำหนดกรุงเทพที่มุ่งทำงานกับผู้ต้องขังในเรือนจำแล้ว ยังมีประเด็นอื่นที่ควรพิจารณาอีกด้วย – เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะแก้ที่รากฐานของปัญหาตั้งแต่ต้น โดยการใช้มาตรการอื่นแทนการส่งคนเข้าคุก และเราจะลดช่องว่างระหว่างชุมชนกับเรือนจำอย่างไร เพื่อไม่ให้อดีตผู้ต้องขังต้องรู้สึกโดดเดี่ยวหรือเสมือนถูกสังคมตีตรา

เรื่องที่ว่ามาอาจฟังดูไกลตัว เป็นเรื่องคน (ใน) คุก หรือเรื่องของคนในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น นี่คือเรื่องของมนุษย์ และเรากำลังพูดโดยคำนึงถึงมิติของความเป็นมนุษย์ที่ถูกทั้งกำแพงหนาสูงและอคติในใจของเราบดบังอยู่

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ ในเดือนธันวาคมนี้ 101 ชวนคุณสำรวจเรื่องราวในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ไกลตัวเราอย่างที่คิด ไล่เรียงตั้งแต่ภาพใหญ่จนกระทั่งถึงเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ที่ดำเนินอยู่ในทุกวัน

เพียงแค่คุณลองเปลี่ยนมุมมอง
ภาพที่เคยเห็นก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เคยคิดเสมอไป

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนธันวาคม 2563

 

 

ครั้งแรกในรอบ 7 ปี – จับตาการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563

 

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์

ณัฐกร วิทิตานนท์ ชวนจับตาการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563

มีประเด็นอะไรที่น่าจับตามองบ้าง มีอินไซต์ไหนที่น่าสนใจ และเพราะอะไรการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงสำคัญ

“จากที่ไล่ดูมีทั้งสิ้น 12 จังหวัดที่สองพรรคแกนนำฝ่ายค้านต้องลง ‘ชนกัน’ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางจังหวัดดูราวกับว่ามีการหลีกให้เพื่อมิให้ตัดคะแนนกันเอง เช่น พะเยา

“ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐมีมติไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศในนามพรรค ส่วนพรรคอื่นแม้ไม่มีนโยบายส่งผู้สมัครแบบเป็นทางการ แต่ก็มีผู้สมัครที่เป็นคนของพรรคลงเลือกตั้งโดยถ้วนหน้า”

“บางพรรคก็ให้ผู้สมัครใช้โลโก้พรรคในการหาเสียงได้ เช่น ประชาธิปัตย์ บางพรรคก็ห้าม เช่น ภูมิใจไทย เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นระบุในทำนองว่าห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นช่วยผู้สมัครหาเสียง (พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 34) แต่เป็นอันรู้กันในแต่ละพื้นที่ว่าผู้สมัครคนสำคัญรายใดยึดโยงกับพรรคไหนบ้าง”

 

สามพี่น้องผู้ปฏิวัติโลกการเงิน

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย

“โลกการเงินกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ระบบธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ หรือแม้แต่เงินตราที่เราใช้ซื้อของ ก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้”

“หากเปรียบ ‘ภาคการเงิน’ เป็นเสมือนธุรกิจครอบครัวในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่พ่อแม่กำลังส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่นลูกบริหารต่อไป หน้าตาของ ‘ธุรกิจ’ นั้นจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกๆ ที่มารับช่วงต่อเป็นคนอย่างไร”

สันติธาร เสถียรไทย เขียนถึง สามพี่น้อง พี่ใหญ่การเงิน-พี่รองดิจิทัล-น้องเล็ก DLT ที่กำลังจะก้าวเข้ามาปฏิรูป-ปฏิวัติเปลี่ยนโฉมโลกการเงินแห่งอนาคต

“เทรนด์ปัจจุบันที่เริ่มมาให้เห็นแล้วคือ ทุกสถาบันการเงินแม้อาจมีจุดเริ่มต้นต่างกัน แต่ก็หันมามีทั้ง ‘พี่ใหญ่’ และ ‘พี่รอง’ อยู่ด้วยกัน”

“ส่วน DLT น้องเล็กก็เริ่มถูกปรับมาใช้แบบ ‘เฉพาะจุด’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันและตลาดการเงิน โดยเฉพาะในส่วนที่ระบบแบบดั้งเดิมยุ่งยากและมีความซับซ้อนสูง”

“คลื่นการเปลี่ยนแปลงภาคการเงินที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สุดท้าย สามพี่น้องจะปฏิรูปหรือปฏิวัติการเงินในแต่ละประเทศเพียงใด คงขึ้นอยู่กับบทบาทของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในประเทศนั้นๆ ด้วย”

 

ควรทำอย่างไรเมื่อบาทแข็ง(อีกแล้ว)?

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

บาทแข็งอีกแล้ว!

ทำไมในยุคโควิด รายได้ท่องเที่ยวลดลง การส่งออกได้รับผลกระทบ แต่เงินบาทยังแข็งค่าได้อีก?

แบงก์ชาติควรแก้ปัญหาอย่างไร ทำไมการแทรกแซงค่าเงิน / การปรับมาตรการควบคุมเงินไหลเข้า-ออก / การลดดอกเบี้ย จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ต้นเหตุของปัญหาอยู่ตรงไหน และทางออกคืออะไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย มีคำตอบ

 

หมอมงคล ณ สงขลา – ผู้สร้างสรรค์ระบบสุขภาพไทยโดยไม่ต้องรอเป็นใหญ่

 

โดย สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

ในวาระรำลึกการจากไปของ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ถือธงนำในการแปลงนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่การปฏิบัติ และผู้หาญกล้าประกาศใช้มาตรการบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล)

101 ชวนอ่านตัวตนและผลงานของ นพ.มงคล ผ่านสายตาของ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

 

ย้อนรอยสองทศวรรษ อบจ. เปลี่ยนการเมืองไทยอย่างไร

 

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์

ในช่วงที่การเลือกตั้งนายก อบจ. กลับมาครั้งแรกในรอบ 6 ปี ณัฐกร วิทิตานนท์ พาย้อนไปรู้จักการเกิดขึ้นของ อบจ. ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยอย่างแนบแน่น

ภายใต้ภาพลักษณ์ของ ‘มาเฟียการเมือง’ และการแข่งขันที่ดูยากจะเข้าถึง มีอุดมการณ์อะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง การเมืองระดับประเทศส่งผลอย่างไรต่อการเมืองท้องถิ่น และการเข้ามาของ คสช. ส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาการกระจายอำนาจในประเทศไทย

 

มานุษยวิทยาผัสสะ

 

โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร เขียนถึง “มานุษยวิทยาผัสสะ” หรือการศึกษามนุษย์ผ่านผัสสะต่างๆ เช่น การมอง การฟัง การสัมผัส การดม และการรับรส

““มานุษยวิทยาว่าด้วยผัสสะต่างๆ” พัฒนามาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 … งานกลุ่มนี้เสนอให้เข้าใจการรับรู้เชิงผัสสะของสังคมต่างๆ ทั่วโลก ว่าแตกต่างกันเนื่องจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

“เช่น ตะวันตกมันเน้นการมองและฟังเหนือผัสสะอื่นๆ แต่ในหลายสังคมกลิ่นและสัมผัสสำคัญกว่า นอกจากนั้นกลุ่มนี้ยังเสนอให้นักมานุษยวิทยาค้นหาวิธีวิทยาเฉพาะสำหรับการศึกษาผัสสะ ที่จะต้องร่วมรู้สึกกับเจ้าของวัฒนธรรมผัสสะที่แตกต่างออกไปด้วย”

“อีกกลุ่มคือ “ชาติพันธุ์นิพนธ์/มานุษยวิทยาเชิงผัสสะ” …ที่ดึงเอามิติเชิงเรือนร่างของผัสสะ ความเป็นปัจเจกบุคคลของมนุษย์ที่ไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ใต้บงการของอำนาจสังคมเสมอไป นิเวศวิทยา/สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัตถุ ตลอดจนดึงเอาสถานะความเป็นสัตว์ของมนุษย์เข้ามาในการศึกษาผัสสะมากขึ้น การมีทั้งมิติเชิงปรัชญา จิตวิทยา และชีววิทยา ที่ผสมรวมกับการศึกษาสังคม-วัฒนธรรมแบบข้ามพื้นที่ของมานุษยวิทยา ทำให้งานกลุ่มนี้ทั้งกว้างขวาง ข้ามสาขาวิชา และลุ่มลึกในหลายมิติมากยิ่งขึ้น”

 

ครั้งหนึ่ง “ปาตานี” เกือบจะได้เป็นส่วนหนึ่งของ Melayu Raya (Indonesia Raya)

 

โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล

“การมีอยู่ของขบวนการที่ต้องการแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระ หรืออย่างเบาที่สุดคือเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนโยบายการบริหารปกครองของรัฐไทยเป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐไทยไม่สามารถกลืนกลายหรือผสมกลมกลืนทำให้คนปาตานีมีสำนึกว่าตนเองเป็น ‘คนไทย’ ได้เบ็ดเสร็จเฉกเช่นที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ”

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึง Tengku Mahmood Mahyiddeen บุคคลสำคัญของปาตานีและผู้ที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์มาเลเซีย รวมถึงแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า Melayu Raya (Indonesia Raya) และเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

“ไม่ว่าจะเป็น Indonesia Raya หรือ Melayu Raya ขอบเขตพื้นที่ที่บรรดานักชาตินิยมอภิปรายกันครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่คอคอดกระจนถึง Merauke หมายความว่า นักชาตินิยมมลายูและอินโดนีเซียในขณะนั้นได้คุยกัน และเกิดแนวคิดเรื่องรวมชาติที่ประกอบด้วยคนเชื้อสายมลายูขึ้น ซึ่งปาตานีได้เข้าร่วมกับแนวคิดนี้ด้วย”

“ผลจากการประชุมของบรรดาผู้นำในคราวหนึ่งเมื่อต้นปี 1963 ก่อให้เกิดการจัดตั้ง ‘ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ’ หรือ BRN…ผู้นำ BRN ดำริว่า การต่อสู้กับรัฐไทยต้องใช้วิธีการ ‘ปฏิวัติ’ ตามแนวคิดสังคมนิยม จึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายของการสร้างรัฐอิสระได้ โดยใช้ยุทธวิธีสามประสาน ได้แก่ วิธีทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร”

“อย่างไรก็ดี แนวคิดสังคมนิยมของ BRN ไม่ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มมลายูมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา ส่วนกลุ่มชนชั้นศักดินามลายูเดิมก็รู้สึกต่อต้าน BRN เนื่องจากหลักการต่อต้านระบบศักดินาของ BRN”

 

“ประเทศไทยจะมีเกียรติภูมิ ถ้าเราเป็นประชาธิปไตย” – ‘ทูตนอกแถว’ รัศม์ ชาลีจันทร์

 

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“แน่นอน รัฐประหารไม่ได้มีผลแค่การต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มันส่งผลทั้งต่อประเทศอยู่แล้ว แต่ถ้ามองแค่การต่างประเทศ ในบริบทโลกปัจจุบัน การเป็นเผด็จการไม่เป็นผลดีเลย เพราะในการดำเนินการทูต เราต้องพยายามสร้างตัวเลือกที่หลากหลายให้ประเทศมีทางเลือกในการดำเนินนโยบาย ไม่ใช่จำกัดให้ตัวเลือกของประเทศเหลือน้อยลงจนแทบไม่มีตัวเลือก”

ในวันที่ประชาธิปไตยยังไม่กลับคืนสู่มือของประชาชนได้อย่างแท้จริง 101 สนทนากับ ‘ทูตนอกแถว’ รัศม์ ชาลีจันทร์ ว่าด้วยการนักการทูต-การทูตไทยใต้เงาเผด็จการ และเหตุที่ว่าทำไมประชาธิปไตยคือ ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ ที่แท้จริง

“สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การต่างประเทศที่เป็นไปเพื่อสร้างและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และถ้าจะทำเช่นนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศของเราต้องเป็นประชาธิปไตย เพราะการเป็นประชาธิปไตยจะช่วยให้การต่างประเทศของเราเป็นที่ยอมรับ ส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ ตราบเท่าที่เรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจต่างๆ พังหมด ช่องทางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศก็ถูกจำกัด ไม่สามารถส่งเสริมเกื้อหนุนทิศทางของประเทศได้”

“ในฐานะข้าราชการ คุณต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่ในฐานะประชาชนพลเมือง เรามีสิทธิที่จะแสดงออก แต่ไม่ว่าจะเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง มันไม่สำคัญเท่ากับที่ต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือไม่ และคุณต้องรู้ได้แล้วว่าชาติคือประชาชน”

“บางทีก็ต้องมีจุดยืน ตระหนักได้ว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ เราควรจะต้องค้านบ้าง ถ้ามีเรื่องที่เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ควรจะพูด จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ความเห็นจะถูกตีกลับหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอย่างไรก็ตาม เราไม่ใช่คนที่ตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่คุณได้พูดแล้วหรือยัง คุณสู้แล้วหรือยัง”

“แม้นักการทูตต้องโกหกเพราะจำเป็น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการพูดความจริง เพราะฉะนั้น การที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยคือการโฆษณาประเทศที่ดีที่สุด ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ก็ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความชอบธรรม พูดอะไรไปก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะความจริงกับสิ่งที่พูดมันต่างกัน”

 

School Town King โลกที่บังคับให้เด็กฝันเป็นคนธรรมดา

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ความฝันทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่การเรียนมีโอกาสได้แค่ครั้งเดียว”

คำพูดนี้ออกจากปากเด็กมัธยมต้นที่มุ่งมั่นในการทำเพลงแร็ป เริ่มมีชื่อเสียง และพบว่าโลกไม่อนุญาตให้เขาฝัน

วจนา วรรลยางกูร เขียนถึง ภาพยนตร์สารคดี ‘ School Town King : แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ที่เล่าเรื่องชีวิตเด็กคลองเตยที่ฝันจะเป็นแร็ปเปอร์ชื่อดัง นอกจากการพูดถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของเด็กสองคนแล้ว สารคดียังฉายภาพปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยผ่านชีวิตในชุมชนแออัด

“ถ้าพ่อแม่ของพวกเขาร้องขออะไรได้สักอย่าง คงเป็นการขอร้องให้ลูกเป็น ‘คนธรรมดา’ เพราะการเรียนจบรับเงินเดือนหมื่นห้าแบบคนทั่วไปคือปลายทางที่เด็กหลายคนในชุมชนฝันถึง”

“บุ๊คและนนท์มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องการแร็ป เขาโดดเด่นออกมาจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน รู้ตัวดีว่าชอบอะไรและอยากเป็นอะไร พร้อมพุ่งเข้าชนสิ่งนั้น แต่หากมองจากระบบการศึกษาไทยแล้ว พวกเขาเป็นเพียงเด็กไม่เก่งและสุ่มเสี่ยงจะเรียนซ้ำชั้น”

 

ไทยในสมัยสงครามเย็น

 

โดย แมท ช่างสุพรรณ

แมท ช่างสุพรรณ เล่าถึงการสร้างนิยามและเอกลักษณ์ความเป็นไทยในช่วงสงครามเย็นผ่านหนังสือ Thailand in the Cold War ของ Matthew Phillips

“ความประทับใจเป็นพิเศษโดยส่วนตัวของผมใน Thailand in the Cold War มีสองประการ

ประการแรกคือการให้ภาพพัฒนาการของทิศทางความเป็นไทยที่ทำให้มองเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เป็นจุดยึดเหนี่ยวหลักในการสร้างชาติคืออดีตที่ล่วงเลย หรือในแง่หนึ่งคือความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมภายใต้การปกครองสถาบันกษัตริย์ก่อนการมาถึงของคณะราษฎร

เพราะนั่นคือสิ่งที่โลกตะวันตกและความเป็นสมัยใหม่แบบสากลไม่มี เหมาะเจาะพอดีกับความต้องการเห็นสิ่งแปลกตาในสหรัฐอเมริกา”

“ประการต่อมาคือการอธิบายปรากฏการณ์โดยใช้ภาพลักษณ์ของบุคคลที่วางอยู่บนภาพของมหรสพเชิงวัฒนธรรมทำให้เห็นจุดตัดและจุดเปลี่ยนเชิงอุดมการณ์

ภาพเหตุการณ์งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่จัดโดย ป.พิบูลสงคราม ได้ขับเน้นภาพของกษัตริย์ให้สูงส่ง กษัตริย์ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมในอดีตที่เรืองรองและควรหวงแหนจึงคืนกลับสู่ความสำคัญในเชิงจิตวิทยาการปกครองอีกครั้ง”

การประเมินความสาเร็จ/ความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

 

โดย อุเชนทร์ เชียงเสน

“การประเมินความสำเร็จ/ล้มเหลวเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อย่างไรก็ตาม การถกเถียงในเรื่องนี้ ไม่ได้จำกัดไว้ในหมู่นักวิชาการเท่านั้น แต่รวมถึงผู้เข้าร่วมขบวนการเอง ดังที่กำลังเกิดขึ้นในขบวนการต่อต้านรัฐบาลและการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน”

“ที่เป็นเช่นนี้เพราะการประเมินความสำเร็จ/ล้มเหลวไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่เป็นทำความเข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านๆมา แต่ยังมีส่วนช่วยกำหนดหรือปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหวในอนาคตด้วย แต่การประเมินในเรื่องนี้มีความซับซ้อนและต้องพิจารณาจากหลากหลายมิติพอสมควร ในขบวนการเคลื่อนไหวเดียวกัน ประเด็นเดียวกันก็อาจนำไปสู่ผลการประเมินที่แตกต่างกัน และมีข้อถกเถียงจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง”

 

อุเชนทร์ เชียงเสน นำเสนอแนวทางว่าเราจะสามารถประเมินขบวนการเคลื่อนไหวได้อย่างไรบ้าง และต้องพิจารณาถึงปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อนำไปทดลองประเมินขบวนการเคลื่อนไหวที่กำลังร้อนแรงในตอนนี้

 

101 One-on-One EP.200 “สื่อในสมรภูมิข่าว: บทเรียนจากเนชั่น ถึงอนาคตสื่อไทย”

 

โดย 101 One-on-One

2020 เป็นปีที่สมรภูมิข่าวดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่ง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “เนชั่น” เป็นสื่อที่ได้รับการกล่าวขวัญและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นตลอดปีที่ผ่านมา

จากบทบาทสื่อการเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม สู่กระแส “แบนเนชั่น” จนถึงการยกเครื่องใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พร้อมกับการกลับบ้านของ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” อดีตซีอีโอเนชั่นทีวียุค “สุทธิชัย หยุ่น” ในฐานะผู้อำนวยการใหญ่เนชั่นทีวี ผู้ประกาศ #ภารกิจนำพาเนชั่นกลับสู่พื้นผิวโลก บน #เส้นทางสู่สถาบันสื่อมืออาชีพ

101 ชวน “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ตอบคำถามกันสดๆ ทุกคำถาม ไขทุกข้อข้องใจ — เขามองเห็นปัญหาอะไรในเนชั่นช่วงสามปีครึ่งที่เดินจากไป, เขาคิดอะไรถึงกลับมารับภารกิจยากลำบากในวัย 60 ปี, เขามีแผนการลงมือเปลี่ยนเนชั่นให้เป็นสื่อที่สังคมไว้วางใจได้อย่างไร, เราเรียนรู้บทเรียนอะไรจากกรณีเนชั่น และตัวเขามองอนาคตวงการสื่อไทยในยุค technology disruption และ political disruption อย่างไร

 

ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น

 

โดย กรกมล ศรีวัฒน์

ในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์เกมการเมือง พวกเขาใช้สิทธิและเสียงพาพรรคอนาคตใหม่กวาดที่นั่งเป็นพรรคอันดับที่ 3 ไปอย่างเหนือความคาดหมาย ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกสภากำลังเข้มข้น คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เคยถูกแช่แข็งมานานนับตั้งแต่ คสช. เข้ามา อาจเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สะท้อนความต้องการในการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่

ก่อนจะเดินเข้าคูหา กาเบอร์ในใจในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 101 พาไปสำรวจมุมมองของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการถึงความรู้สึกนึกคิด และความคาดหวังต่อการพัฒนาบ้านเกิด ในดินแดนที่หลายคนมองว่ามี “เจ้าถิ่น” อย่างตระกูลอัศวเหม ซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับพรรคพลังประชารัฐ และผลการเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐก็พิสูจน์ความเข้มแข็งด้วยการกวาดที่นั่ง ส.ส. เขตไปอย่างท่วมท้นทั้งหมด 6 เขต จาก 7 เขต

เสียงของคนหนุ่มสาวคิดเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะพัดพาคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และในฐานะคนรุ่นใหม่ พวกเขาคาดหวังอะไรผ่านการใช้สิทธิ์ใช้เสียง

 

ปอกเปลือกความคิดเจเน็ต เยลเลน ว่าที่ขุนคลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ จะพาเศรษฐกิจไปทางไหน

 

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา พาไปถอดรหัสความคิดของเจเน็ต เยลเลน ว่าที่รัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ว่าเธอจะพาเศรษฐกิจไปทางไหน

“การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ คนใหม่อย่างเป็นทางการในต้นปีหน้ามีความเหมือนกับตอนที่เธอเข้าสู่เก้าอี้ประธานเฟดอย่างหนึ่งคือเธอต้องเข้ามาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่”

“น่าจับตานโยบายเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ของอดีตประธานเฟดหญิง ผู้เคยได้ชื่อว่าเป็นสายพิราบทางการเงิน (monetary dove) ที่ไม่เชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำมากเท่ากับปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน เมื่อเธอรับบทขุนคลัง จากพิราบการเงินจะกลายเป็นพิราบการคลังที่จะผลักดันการใช้จ่ายภาครัฐขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนักหรือไม่ แล้วจะจัดการปัญหาเรื่องงบประมาณขาดดุลและหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไร”

อารมณ์ขัน: อาวุธทรงอานุภาพ

 

โดย นิติ ภวัครพันธุ์

“หลังจากที่ยึดอำนาจปกครองประเทศได้อย่างสมบูรณ์แล้ว โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตผู้แข็งแกร่งและโหดเหี้ยม ก็ยังรู้สึกไม่พอใจ จึงเรียกผู้อํานวยการไปรษณีย์ของประเทศเข้าพบ และมีคำสั่งให้ไปรษณีย์ทำการผลิตแสตมป์ที่มีภาพใบหน้าของตนออกจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในการส่งจดหมาย

“ด้วยความเกรงกลัวสตาลิน ผอ. สั่งให้ทำการผลิตแสตมป์แบบหามรุ่งหามค่ำ ไม่นานนักแสตมป์ดังกล่าวก็ออกวางตลาดและปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สร้างความประหลาดใจแก่ ผอ. เป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ประหลาดยิ่งกว่าคือพนักงานไปรษณีย์ไม่พบจดหมายที่ใช้แสตมป์รูปสตาลินเลย ทั้งๆ ที่ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก”

“ส่วนสตาลิน หลังจากที่เฝ้ารอคอยเพื่อชื่นชมกับแสตมป์ที่มีรูปใบหน้าของตนนานนับเดือน แต่ก็ไม่เห็นมี เลยรู้สึกขุ่นเคืองใจ สั่งให้ ผอ. เข้าพบทันที”

สตาลิน: “ผอ. เรื่องแสตมป์ที่สั่งให้ทำ ไปถึงไหนแล้ว?” น้ำเสียงแข็งกร้าว ใบหน้าถมึงทึง

ผอ.: “เสร็จเรียบร้อย ออกวางตลาดและขายดีมากครับ ฯพณฯ” ลนลานด้วยความกลัว รีบหยิบแสตมป์หนึ่งแผงที่เตรียมมาให้สตาลินดู

สตาลิน: หลังจากที่พิจารณาแสตมป์อยู่ครู่หนึ่งก็เอ่ยว่า “ดีๆ ดูดี แต่ทำไมไม่เห็นชาวบ้านใช้กันเลยล่ะ?”

ผอ.: “ใช้ครับๆ แต่เราค้นพบว่ามีปัญหาเรื่องวิธีติดแสตมป์ ซึ่งคนทั่วไปทำไม่ถูกต้องครับ ฯพณฯ”

สตาลิน: “วิธีติดแสตมป์ไม่ถูกต้อง?! อะไรกัน ง่ายจะตาย” ว่าแล้วก็ฉีกแสตมป์ออกหนึ่งดวง แล้วถ่มน้ำลายลงบนแสตมป์ด้านที่มีกาว แปะแสตมป์ลงบนกระดาษเพื่อแสดงวิธีการติดแสตมป์ให้ ผอ. ดู

ผอ.: “คือชาวบ้านเขาถ่มน้ำลายอีกด้านครับ ฯพณฯ””

นิติ ภวัครพันธุ์ ชวนอ่าน ‘อารมณ์ขัน’ อาวุธที่ทำให้อำนาจกลายเป็นสิ่งที่ถูกท้าทายและหัวเราเยาะ

“เรื่องเล่าข้างบนเป็นหนึ่งในตลกการเมืองที่มีอยู่มากมาย จะแตกต่างกันที่โครงเรื่องหรือพล็อต แต่ตัวละครที่ถูกพาดพิงถึง ถูกล้อเลียน มักเป็นผู้มีอำนาจ ผู้นำประเทศ นักการเมือง ดังนั้น ชื่อของตัวละครจึงเปลี่ยนแปลงได้ตามใจผู้เล่า จะเป็นใครก็ได้แต่มักเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งรวมถึงผู้นำทางศาสนาด้วย”

“เท่าที่ทราบ พล็อตเรื่องเกี่ยวกับแสตมป์ได้รับความนิยมมาก แม้แต่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาบางคนก็ถูกนำมาล้อเลียน ในการเล่าเรื่องนี้ บางคนเล่าสั้นๆ มีเพียงชื่อของผู้ที่จะล้อเลียนและวิธีติดแสตมป์ บางคนอาจเล่ายาว (เช่นเรื่องข้างบน) เพิ่มสีสันในการเล่าเรื่อง และที่ขาดไม่ได้คือการออกเสียงถ่มน้ำลาย “ถุย” ดังๆ เพื่อเน้นการกระทำต่อเป้าหมาย”

 

ครั้งแรกของฉัน เกิดขึ้นตอน 11 ขวบครึ่ง – เมื่อเด็กไทยมีประจำเดือนเร็วขึ้น

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“เมื่อคำนวณจากข้อมูล จะพบว่าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 อายุเฉลี่ยของคนที่เริ่มมีประจำเดือนคือ 11.57 ปี ซึ่งถือว่าเป็นที่ตัวเลขที่น้อย ส่วนอายุต่ำสุดที่เป็นประจำเดือนคือ 7.96 ปี ช้าสุดอยู่ที่ 16.92 ปี”

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เขียนถึงปรากฏการณ์ที่เด็กหญิงไทย (หรืออาจจะทั่วโลก) มีประจำเดือนและเข้าสู่วัยสาวเร็วยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

“จากข้อมูลสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีประจำเดือนและการดูแลตนเองของเด็กไทย อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมนั้น ‘น่าเป็นห่วงมาก’ ”

“เมื่อถูกถามว่าประจำเดือนเป็นของต่ำหรือของอัปมงคลใช่หรือไม่ เด็กไทยกว่าร้อยละ 55 ยังตอบว่าใช่ และมีถึงร้อยละ 74.64 คิดว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ขณะที่เด็กอีกส่วนหนึ่ง ราวร้อยละ 29.91 คิดว่าการมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องน่าอาย”

“แม้เด็กจะเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกที่อายุ 11 ปีครึ่ง หรือประมาณชั้น ป.6 แต่ในความเป็นจริง ยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่เป็นประจำเดือนตอนอายุน้อยกว่านั้น และมีโรงเรียนน้อยมากที่พูดถึงเรื่องประจำเดือน พูดว่าเพศสัมพันธ์หมายถึงอะไร ส่งผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์ ในวิชาเพศศึกษาชั้น ป.3-ป.5”

 

วิกฤตการเมืองในสองนคราประชาธิปไตย : สหรัฐฯ กับไทย

 

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจบลงแล้วร่วมเดือน แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ กลับกล่าวอ้างต่างๆ นานาว่าถูกโกงเลือกตั้ง

การเมืองสหรัฐจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้น เมื่อมองการเมืองอเมริกา เราเห็นอะไรในการเมืองไทยบ้าง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สำรวจวิกฤตการเมืองในสองนคราประชาธิปไตย – สหรัฐและไทย

……….

การเกิดปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้คำถามต่อคณะผู้เลือกตั้งทำท่าจะมีความหมายในทางลบมากขึ้น ว่าไปแล้ว สิ่งที่เจมส์ แมดิสัน หวาดกลัวว่าจะเกิดมีผู้นำแบบประชานิยมและชาตินิยมอย่างสุดขั้วนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อเมริกา จนกระทั่งทรัมป์มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์และนักจัดรายการเรียลลิตี้โชว์ทางโทรทัศน์ ได้สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนไปทั่วประเทศ

แต่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในการแก้ไขคลี่คลายปมความขัดแย้งระหว่างรูปแบบและเนื้อหาของระบบประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ให้ค่อยเพิ่มความสมบูรณ์มากขึ้น นั่นคือทำให้การเข้าร่วม การมีสิทธิมีเสียง และการตรวจสอบควบคุมรัฐบาลและอำนาจรัฐเกิดขึ้นได้จริง ประชาธิปไตยในอเมริกาจึงมีทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่สอดคล้องไปกันได้ในระยะยาว แม้เกิดวิกฤตเช่นการพยายามเล่นนอกอำนาจของทรัมป์ก็ตาม ในที่สุดการแก้ไขและจัดการก็จะต้องมาจากปัจจัยและกลไกภายในระบบประชาธิปไตยเอง ไม่ใช่มาจากปัจจัยและกลไกภายนอกระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

กรณีของการเมืองไทยจึงเป็นด้านลบของการไม่สามารถแก้ไขจัดการความขัดแย้งระหว่างรูปแบบและเนื้อหาของระบบประชาธิปไตยลงไปได้ หากแต่หันกลับไปหาวิธีการเดิมๆ คือการใช้กำลังนอกระบบและกลไกนอกระบบอยู่เรื่อยมา แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญเองก็ถูกทำให้เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือและนอกระบบประชาธิปไตยไปด้วยเช่นกัน.

 

เลือกตั้งท้องถิ่นภาคตะวันออก: เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อน และกลุ่ม-ตระกูลการเมืองเดิมที่ยังทรงอิทธิพล กับ โอฬาร ถิ่นบางเตียว

 

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“การมีหลายภาคเศรษฐกิจอยู่รวมกันในพื้นที่ ก็ทำให้ประชาชนในภาคตะวันออกมีความคิดความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย จนเป็นโจทย์ยากที่เหล่าผู้ลงสมัครเลือกตั้ง อบจ. จะต้องตีให้แตก”

“ความแตกต่างกันระหว่างชนชั้นกลางกับชาวบ้านทั่วไป ทำให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคตะวันออกจะต้องผลิตเมนูขึ้นมาสองแบบ คนหาเสียงจะรู้ดีว่าเมนูแต่ละแบบมีคนกลุ่มไหนเป็นคนอ่าน”

101 พูดคุยกับ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชวนวิเคราะห์ความซับซ้อนของพลวัตและสนามการเมืองท้องถิ่นภาคตะวันออก รวมไปถึงเสนอแนะการออกแบบนโยบายการกระจายอำนาจในอนาคต

“ในภาพรวมของศึกเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งที่จะถึงนี้ กลุ่มคนที่ได้เปรียบยังคงเป็นคนที่มาจากกลุ่มหรือตระกูลการเมืองทรงอิทธิพลดั้งเดิมในพื้นที่
ถึงแม้จะมีคู่ต่อสู้ที่มาจากกลุ่มการเมืองใหม่ แต่ในบางจังหวัด คนที่ลงสมัครในนามของกลุ่มการเมืองใหม่ ที่จริงแล้ว อาจเป็นนอมินีของกลุ่มหรือตระกูลการเมืองเดิม”

” คนท้องถิ่นจะต้องดีไซน์เสื้อใส่เอง ไม่ใช่เอาเสื้อที่คนกรุงเทพฯ ดีไซน์มาใส่ ส่วนกลางจะต้องจัดการความสัมพันธ์กับท้องถิ่นใหม่ นี่จะเป็นทางออกที่ดีของการแก้ปัญหาการกระจายอำนาจในไทย”

 

แนวคิดเรื่องการมีระบอบรัฐธรรมนูญในประเทศสยามก่อน 2475

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แนวคิดเรื่องการมีระบอบรัฐธรรมนูญในประเทศสยามค่อยๆ เติบโตขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6-7 ทั้งจากเจ้านายและราษฎร ทั้งภายในประเทศและผู้ซึ่งได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศ

กษิดิศ อนันทนาธร ชวนย้อนมองพัฒนาการทางความคิดและการปรับตัวของกษัตริย์ จนบรรจบที่การอภิวัฒน์ 2475

“ในรัชกาลที่ 5 มีคณะบุคคลคณะหนึ่ง ประกอบด้วยเจ้านายและขุนนางที่รับราชการในสถานทูต ณ กรุงลอนดอนและกรุงปารีส ทำหนังสือกราบบังคมทูลเสนอให้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็น “คอนสติติวชั่นแนลโมนากี” (Constitutional Monarchy) โดยยังไม่ได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาขึ้นในเวลานั้น แต่เรียกร้องให้บุคคลเสมอกันในทางกฎหมาย มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น”

“อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นพ้องด้วย เนื่องจากยังไม่เห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสม ราษฎรยังไม่พร้อมต่อรูปแบบการปกครองใหม่ ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย”

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์แล้ว ก็ทรงวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของสยามที่จะมีระบอบการปกครองแบบที่ “กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” ว่า สยามไม่สามารถปกครองแบบที่มี “คอนสติตูชั่น” ที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีความรู้ และหากให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาชนจะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด”

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับราชสมบัติมาจากพระบรมเชษฐาธิราช แม้ทรงรับรู้ว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ไขระเบียบทางการเมืองไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่อาจพ้นจากความรู้สึกแห่งสมบูรณาญาสิทธิ์ไปได้ การแก้ไขระเบียบทางการเมืองของพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็นไปอย่างจำกัดเป็นอย่างยิ่งเมื่อเปรียบกับความต้องการของราษฎร”

“กล่าวได้ว่า การปรับตัวต่อการมีระบอบรัฐธรรมนูญของของฝ่ายชนชั้นปกครองตลอด 40 ปีของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นไปอย่างเชื่องช้า จนในที่สุด เมื่อสถานการณ์สุกงอม ข้าราชการ ทหาร และพลเรือนกลุ่มหนึ่งในนาม “คณะราษฎร” ก็ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475”

 

อนาคต | คน | คุก และกระบวนการยุติธรรมไทย ภายใต้ 10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“เวลาเราพูดถึงผู้ต้องขัง เรากำลังพูดถึงมนุษย์และเรื่องราวเบื้องหลังของพวกเขา ที่ถูกทั้งกำแพงหนาสูงของเรือนจำและกำแพงที่มองไม่เห็นในใจของเราบดบังอยู่ การจะรับฟังเรื่องราวเหล่านี้จึงต้องเปิดหู เปิดตา และที่สำคัญคือเปิดใจ ฟังเสียงที่อาจไม่เคยมีใครรับฟัง มองให้ลึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในนั้น”

101 ชวนร่วมอ่านอนาคต-คน (ใน)-คุก รวมถึงสำรวจปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทย และมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น รวมไปถึงการมองหาทางเลือกอื่นที่มิใช่การจำคุกตั้งแต่แรก

“คุกหรือเรือนจำได้ละเลยความต้องการหรือลักษณะเฉพาะบางอย่างของผู้ต้องขังหญิงไป เช่น การมีประจำเดือน หรือบทบาทความเป็นแม่ ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบทั้งทางกายและใจต่อผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อการบำบัดฟื้นฟูในอนาคตด้วย”

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ข้อกำหนดกรุงเทพไม่ได้เน้นแค่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต ‘ใน’ เรือนจำ แต่ยังมองไกลไปถึงชีวิต ‘นอก’ เรือนจำ เพื่อเปลี่ยนเรือนจำจากสถานที่กักขังกลายเป็นสถานที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฟื้นฟูและประคับประคองจิตใจ จนกลายเป็นสถานที่เปลี่ยนชีวิตอย่างแท้จริง”

“ถ้าเราจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด เราอาจจะเริ่มต้นที่การไม่นำคนเข้าไปในคุกเป็นจำนวนมากตั้งแต่แรก แต่อาจจะลองหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นแทน เช่น การใส่กำไลติดตามตัวหรือการทำงานบริการสังคม เพื่อที่เรือนจำจะได้มีไว้รองรับผู้ที่จำเป็นต้องรับโทษคุมขังจริงๆ และจะได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพต่อไป”

 

Highlight เด่น #ถ้าการเมืองท้องถิ่นดี จับตาการเลือกตั้งนายก อบจ.

 

เมื่อท้องถิ่นกลับมาเคลื่อนไหว เจาะสนามเลือกตั้ง อบจ. กับ ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์เกียรติคุณคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงสิ่งที่ต้องจับตามองในการเลือกตั้ง อบจ. และการทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เมื่อไม่มีการเลือกตั้งมา 6 ปี อำนาจการจัดการแทบทั้งหมดก็อยู่ในมือของระบบราชการและรัฐบาลคสช. เพราะหลังยึดอำนาจ มีนายก อบจ. หลายสิบคนโดนเรียกไปปลดกลางอากาศ บางคนโดนเรียกตัวไปสอบหลายครั้งแล้วโดนปลด ปรากฏว่าหลายเดือนต่อจากนั้นก็คืนตำแหน่งให้ดังเดิม ถ้าเดาแบบชาวบ้านคงมีการต่อรองกันแล้วว่าให้เป็นเด็กดี”

“กลายเป็นว่าวันนี้เป็นการเลือกตั้งเป็นทีม ผู้สมัคร ส.จ. จับมือกับผู้สมัครนายก อบจ. พรรคเดียวกันเลือกด้วยกัน แล้วใครจะไปตรวจสอบการทำงานของนายก อบจ.เมื่อเป็นทีมเดียวกันหมด ผลก็คือไปรับประทานด้วยกัน นี่คือปัญหาใหญ่ของปรัชญาที่ผิดพลาดของการปกครองท้องถิ่น”

“อบจ. มีบทบาทจำกัดมาก ผู้ว่าฯ คุมหมดเลย นายก อบจ. ก็ใช้วิธีหยวนๆ ไม่ทะเลาะกับผู้ว่าฯ เพราะผู้ว่าฯ เป็นคนอนุมัติทุกโครงการ อยู่กันไปแบบนี้เพราะระบบราชการซ้อนกันระหว่างนายก อบจ.กับผู้ว่าฯ ในระยะยาวก็แก้ปัญหาไม่ได้

“ผมเคยเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง มีผู้ว่าฯ ซีอีโอคนเดียวไปเลย อย่างนี้จะชัดเจน อยู่ 4 ปีทำอะไรได้มาก”

 

“รัฐต้องปล่อยให้ท้องถิ่นเป็นผู้เล่นอย่างแท้จริง” ก้าวต่อไปของเลือกตั้งท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ กับ วีระศักดิ์ เครือเทพ

 

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“การเลือกตั้งช่วยฟื้นคืนชีวิตให้ท้องถิ่นได้แค่ระดับหนึ่ง การเลือกตั้งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจเท่านั้น มิติของการกระจายอำนาจมีมากกว่าแค่การเลือกตั้ง ปีนี้ปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งก็จริง แต่กลไกการกระจายอำนาจอื่นๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยแม้แต่น้อย”

ในวันที่ท้องถิ่นเริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวอีกครั้ง 101 สนทนากับ รศ.ดร. วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563 และการกลไกกระจายอำนาจไทย 20 ปีหลังทศวรรษแห่งการกระจายอำนาจที่อาจไม่ตอบโจทย์ ‘ท้องถิ่นไทย’ อีกต่อไปแล้ว

“ภารกิจ บทบาท อำนาจหน้าที่กฎหมายกำหนดให้ส่วนท้องถิ่นทำอะไรได้ไม่มากนัก งบประมาณที่กฎหมายกำหนดให้ท้องถิ่นมีได้ ก็ไม่ได้ให้ท้องถิ่นมีเงินมากพอที่จะริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ได้มากนัก พูดง่ายๆ คือ งานก็ทำไม่ถนัด เงินก็ไม่ค่อยมี ไม่ได้เปลี่ยนไปจากก่อนปลดล็อกเลือกตั้งเลย ไม่ว่าผู้สมัครนายก อบจ. จะหาเสียงด้วยนโยบายที่หวือหวาแปลกใหม่ ท้ายที่สุดก็จะติดกรอบกฎหมาย”

“เรื่องที่น่าเสียดายมากคือ ไม่มีผู้สมัครนายก อบจ. ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปฏิรูปการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือตั้งคำถามว่าจะวางกรอบกฎหมายที่ให้อิสระ อบจ. มากกว่านี้ได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่กฎหมายที่มีอยู่อาจสร้างข้อจำกัดไม่ให้นโยบายที่หาเสียงไว้เป็นจริงได้”

“การเมืองท้องถิ่นเป็นแค่หมากตัวหนึ่งของกระดานเกมการเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่นที่เป็นอยู่ ไม่ใช่การเมืองเพื่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง รัฐไม่ได้ปลดล็อกการเลือกตั้งเพราะอยากให้ท้องถิ่นเติบโตพัฒนา หรือเพราะอยากให้เกิดการกระจายอำนาจที่แท้จริง แต่ยอมให้เลือกตั้งเพราะต้องการใช้เป็นหมากสร้างฐานการเมืองระดับชาติเท่านั้น”

“หากรัฐส่วนกลางยอมให้รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละพื้นที่มีผู้เล่นของตัวเอง ยอมปล่อยให้มีอำนาจ มีทรัพยากรเล่นกันเองในจังหวัด ความขัดแย้งทางการเมืองจากการแก่งแย่งกันในระดับชาติอาจจะลดลงก็ได้ เพราะพออำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ระดับชาติ สนามการเมืองสำคัญก็อยู่ที่แค่ระดับชาติ แต่ถ้ากระจายอำนาจลงไปที่พื้นที่ได้จริง ก็จะมีสนามการเมืองให้เล่นในพื้นที่ถึง 76 จังหวัด 8,000 กว่าตำบล ไม่ว่าใครจะอยากลงสนาม ใครอยากมีอิทธพล หรือใครขัดแย้งกัน ทุกอย่างจะเกิดขึ้นในพื้นที่ และจบในพื้นที่”

 

จับตาเลือกตั้งท้องถิ่นไทย กับ ณัฐกร วิทิตานนท์

 

โดย 101 One-on-One

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือนธันวาคม 2563 เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่มีรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 และเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความแหลมคมของการเมืองระดับชาติ

หลังถูกแช่แข็งมานาน อะไรคือโจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้งท้องถิ่นไทย การเมืองภาพใหญ่ส่งผลต่อท้องถิ่นอย่างไร ท้องถิ่นมีนัยสำคัญต่อการเมืองภาพระดับชาติแค่ไหน และอนาคตของการกระจายอำนาจจะเป็นอย่างไร

101 สนทนาเพื่อตั้งโจทย์กับ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

ย้อนรอยสองทศวรรษ อบจ. เปลี่ยนการเมืองไทยอย่างไร 

 

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์

ในช่วงที่การเลือกตั้งนายก อบจ. กลับมาครั้งแรกในรอบ 6 ปี ณัฐกร วิทิตานนท์ พาย้อนไปรู้จักการเกิดขึ้นของ อบจ. ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยอย่างแนบแน่น

ภายใต้ภาพลักษณ์ของ ‘มาเฟียการเมือง’ และการแข่งขันที่ดูยากจะเข้าถึง มีอุดมการณ์อะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง การเมืองระดับประเทศส่งผลอย่างไรต่อการเมืองท้องถิ่น และการเข้ามาของ คสช. ส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาการกระจายอำนาจในประเทศไทย

 

ครั้งแรกในรอบ 7 ปี: จับตาการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563 

 

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์

ณัฐกร วิทิตานนท์ ชวนจับตาการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563

มีประเด็นอะไรที่น่าจับตามองบ้าง มีอินไซต์ไหนที่น่าสนใจ และเพราะอะไรการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงสำคัญ

“จากที่ไล่ดูมีทั้งสิ้น 12 จังหวัดที่สองพรรคแกนนำฝ่ายค้านต้องลง ‘ชนกัน’ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางจังหวัดดูราวกับว่ามีการหลีกให้เพื่อมิให้ตัดคะแนนกันเอง เช่น พะเยา

“ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐมีมติไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศในนามพรรค ส่วนพรรคอื่นแม้ไม่มีนโยบายส่งผู้สมัครแบบเป็นทางการ แต่ก็มีผู้สมัครที่เป็นคนของพรรคลงเลือกตั้งโดยถ้วนหน้า”

“บางพรรคก็ให้ผู้สมัครใช้โลโก้พรรคในการหาเสียงได้ เช่น ประชาธิปัตย์ บางพรรคก็ห้าม เช่น ภูมิใจไทย เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นระบุในทำนองว่าห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นช่วยผู้สมัครหาเสียง (พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 34) แต่เป็นอันรู้กันในแต่ละพื้นที่ว่าผู้สมัครคนสำคัญรายใดยึดโยงกับพรรคไหนบ้าง”

 

เลือกตั้งท้องถิ่นภาคเหนือ: ความหวังของคนเมือง เรื่องที่ อบจ. ต้องเข้าใจ กับ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“ก่อนการรัฐประหารรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ คนในภาคเหนือมีความหวังกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงมาก หลายจังหวัดที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ก็อยู่ในความรู้สึกแห่งความหวังว่ามีอนาคตรออยู่ข้างหน้า”

“แต่หลังจากรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เป็นต้นไป หรือเทียบไกลถึงเศรษฐกิจหลังยุคคุณทักษิณเป็นต้นมา คนภาคเหนือที่หวังว่าจะได้อานิสงส์ความเจริญโดยทั่วกันกลับรู้สึกไม่ค่อยเป็นไปตามที่หวัง”

101 สนทนากับ รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ต้อนรับการมาเยือนของการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563 มองภาพพลวัตด้านการเมืองและเศรษฐกิจในภาคเหนือ ความต้องการของคนเมือง และวิธีกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

“ปัญหาหมอกควัน เป็นปัญหาที่ทุกคนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตเหมือนกันหมด แต่ผมยังไม่เห็นว่าคนแต่ละท้องถิ่นจะพยายามผนวกเรื่องนี้เป็นพันธกิจของท้องถิ่นร่วมกัน ไม่เห็นกระบวนการเชิงนโยบายในระยะยาว”

“เมื่อเทียบกันภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งงาน ภาคเหนือมีเพียงสองจังหวัดเท่านั้นที่เป็นแหล่งงานใหญ่ คือ เชียงใหม่กับลำพูน ท้องถิ่นไม่มีแหล่งงาน ดังนั้น คนจำนวนมากที่จบปริญญาตรีมีจำนวนน้อยมากที่กลับมาอยู่บ้าน”

“สิ่งหนึ่งที่คนอยากจะเห็นแน่ๆ คือจะทำอย่างไรให้เกิดแหล่งงาน เกิดการจ้างงานอย่างยั่งยืนในท้องถิ่น ทำให้คนท้องถิ่นอยู่กับบ้านได้ และอยู่แบบคุณภาพดีด้วย”

 

เลือกตั้งท้องถิ่นภาคอีสาน : อบจ. ต้องเข้มแข็ง อำนาจต้องถึงมือพี่น้องประชาชน กับ อลงกรณ์ อรรคแสง

 

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“ปัญหาใหญ่ที่เห็นได้อย่างเด่นชัด พบได้ทั่วทุกหัวระแหงของภาคอีสานคือ อำนาจในการจัดการปัญหาการจัดการทรัพยากรไม่ได้อยู่ในมือท้องถิ่น โดยเฉพาะกรณีปัญหาที่ดินและป่าไม้ แต่กลับรวมศูนย์อย่างแตกกระจาย”

“หากไล่ดูจากเฟซบุ๊กเพจของผู้สมัครในภาคอีสาน จะพบว่าคนในพื้นที่คาดหวังเพียงแค่ให้ผู้สมัครแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุเท่านั้น เช่น ต้องการให้ผู้สมัครเข้ามาจัดการซ่อมถนน โดยบอกต่อผู้สมัครว่า “ถนนเส้นนี้รอท่านอยู่นะ” เหตุที่คาดหวังเพียงแค่นี้ เป็นเพราะประชาชนเข้าใจขอบเขตอำนาจของ อบจ. ว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง”

101 สนทนากับ รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจาะสนามการเลือกตั้งอีสาน และหาเส้นทางปลดล็อกการกระจายอำนาจในอนาคต

“เมื่อพิจารณาภูมิทัศน์การเมืองท้องถิ่นครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า สนามการเลือกตั้งคือการต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติและผู้สมัครที่เป็นอดีตนายก อบจ. แต่ในบางพื้นที่ ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้สมัครอิสระอาจชนะการเลือกตั้งได้”

“สำหรับผม การนำอำนาจกระจายลงไปยังองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่หนทางเดียวในการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจที่ดีที่สุดคือการนำอำนาจไปสู่ในมือพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น ต้องมีการออกแบบกลไกบางอย่างที่กระจายอำนาจจากส่วนกลางมาสู่ประชาชนในท้องถิ่น”

“องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือข้าราชการประจำจังหวัดอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด ควรเป็นเพียงหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการ ‘ลำเลียง’ (delivery) การตัดสินใจของพี่น้องประชาชนไปปฏิบัติ และต้องมีการลดอำนาจในการตัดสินใจของหน่วยงานเหล่านี้ในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในพื้นที่”

 

เลือกตั้งท้องถิ่นภาคใต้: อบจ. ต้องคาดหวังได้ การกระจายอำนาจต้องมีทิศทาง กับ สินาด ตรีวรรณไชย

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ภาคใต้น่าจะเป็นหนึ่งในภาคที่แสดงให้เห็นนโยบายแบบท็อปดาวน์หรือแบบรวมศูนย์ได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรื่องท่าเรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือเรื่องร้อนๆ ล่าสุดอย่างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในด้านหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการกระจายอำนาจของเรายังไม่ไปไหน และเมื่อช่องทางถูกบล็อกไม่ว่าจะเป็นระดับ อบจ. หรือระดับอื่นๆ จึงทำให้ประชาชนไม่มีที่พึ่งในการสื่อสาร หรือไม่มีช่องทางส่งเสียงว่านโยบายต่างๆ ควรจะทำหรือไม่ทำอย่างไร”

101 สนทนากับ ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยพลวัตเศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่นของภาคใต้หลังจากการเลือกตั้งท้องถิ่นถูกจำกัดมาหลายปี ความต้องการของคนพื้นที่ แนวทางของผู้สมัครและนโยบายสาธารณะ ไปจนถึงอนาคตของนโยบายกระจายอำนาจ

“คนจะแคร์เรื่องคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของเขา เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำ เรื่องเหล่านี้เป็นคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ควรจะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว แต่กลายเป็นเรื่องที่ราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางเป็นคนจัดการ ท้องถิ่นไม่มีความเป็นเจ้าของ ทำให้ประชาชนต้องคิดว่าความต้องการของพวกเขาต่อเรื่องการศึกษา พื้นที่สาธารณะ สิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตอบสนองได้ไหม”

“ผู้สมัครเลือกตั้งจะเสนอนโยบายแบบกลางๆ ซึ่งทำให้ได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนที่หลากหลายกว่าการเสนอนโยบายที่ถูกใจฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ขนส่งมวลชน การศึกษา การท่องเที่ยว อาจจะมีเรื่องภัยพิบัติเพิ่มเข้ามา แต่ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องยากๆ อย่างเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ปัญหายาง-ปาล์มแก้ยังไง”

“เวลากรมเจ้าท่าไปสร้างเขื่อนกันคลื่นแถวชายหาด ใช้งบประมาณร้อยล้าน ในภาวะแบบนี้ท้องถิ่นควรสามารถเสนอได้ว่าจำนวนเงินเหล่านี้เป็นค่าเสียโอกาสในการผลิตบริการสาธารณะอื่นๆ ของท้องถิ่นอย่างไร เช่น ถ้าเอางบประมาณไปถมทะเลอย่างไม่มีเหตุมีผล เมื่อทำวิจัยแล้วพบว่าเป็นการลุกล้ำพื้นที่ชายหาดในระยะยาว ดังนั้นถ้าเราไปทำอีก แปลว่าไปลดการพัฒนาส่วนอื่นๆ วิธีแบบนี้จะทำให้ท้องถิ่นเปลี่ยนใจผู้บริหารได้ง่าย ทำให้นโยบายถูกตรวจสอบได้เยอะ และเป็นการตัดวงจรของการนำเสนอนโยบายที่ไม่คิดถึงค่าเสียโอกาสของท้องถิ่น”

“ถ้าในอนาคตมีการกระจายอำนาจจริง เราจะพบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้เยอะ กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รายได้น้อย จะเกิดความเหลือมล้ำตามมา…แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่เหตุผลที่จะบล็อกการกระจายอำนาจ เรามีกลไกส่วนกลางที่แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้”

 

เลือกตั้งท้องถิ่นภาคตะวันออก: เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อน และกลุ่ม-ตระกูลการเมืองเดิมที่ยังทรงอิทธิพล กับ โอฬาร ถิ่นบางเตียว

 

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“การมีหลายภาคเศรษฐกิจอยู่รวมกันในพื้นที่ ก็ทำให้ประชาชนในภาคตะวันออกมีความคิดความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย จนเป็นโจทย์ยากที่เหล่าผู้ลงสมัครเลือกตั้ง อบจ. จะต้องตีให้แตก”

“ความแตกต่างกันระหว่างชนชั้นกลางกับชาวบ้านทั่วไป ทำให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคตะวันออกจะต้องผลิตเมนูขึ้นมาสองแบบ คนหาเสียงจะรู้ดีว่าเมนูแต่ละแบบมีคนกลุ่มไหนเป็นคนอ่าน”

101 พูดคุยกับ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชวนวิเคราะห์ความซับซ้อนของพลวัตและสนามการเมืองท้องถิ่นภาคตะวันออก รวมไปถึงเสนอแนะการออกแบบนโยบายการกระจายอำนาจในอนาคต

“ในภาพรวมของศึกเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งที่จะถึงนี้ กลุ่มคนที่ได้เปรียบยังคงเป็นคนที่มาจากกลุ่มหรือตระกูลการเมืองทรงอิทธิพลดั้งเดิมในพื้นที่ ถึงแม้จะมีคู่ต่อสู้ที่มาจากกลุ่มการเมืองใหม่ แต่ในบางจังหวัด คนที่ลงสมัครในนามของกลุ่มการเมืองใหม่ ที่จริงแล้ว อาจเป็นนอมินีของกลุ่มหรือตระกูลการเมืองเดิม”

” คนท้องถิ่นจะต้องดีไซน์เสื้อใส่เอง ไม่ใช่เอาเสื้อที่คนกรุงเทพฯ ดีไซน์มาใส่ ส่วนกลางจะต้องจัดการความสัมพันธ์กับท้องถิ่นใหม่ นี่จะเป็นทางออกที่ดีของการแก้ปัญหาการกระจายอำนาจในไทย”

 

จินตนาการต่อชีวิตที่ดี และ การเลือกตั้งท้องถิ่นของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับ เอกรินทร์ ต่วนศิริ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“เมื่อเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคิดคำนวณไปถึงมิติความปลอดภัยของผู้คนในพื้นที่ โดยที่ชีวิตของพวกเขายังพัฒนาได้ด้วย ไม่ใช่ปลอดภัยแต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ปากท้องเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมคิดว่านี่เป็นงานยากที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น”

101 ชวน ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้อำนวยการปาตานีฟอรั่ม มาตอบคำถามว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นของคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาพการพัฒนาท้องถิ่นชายแดนใต้ที่สอดรับกับชีวิตของผู้คนเป็นอย่างไร นักการเมืองท้องถิ่นอยู่ตรงไหนท่ามกลางบริบทความรุนแรงที่ไม่อาจมองข้าม และการกระจายอำนาจแบบใดที่จะทำให้การพัฒนาอยู่ในมือคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

“ภารกิจของ อบจ. มีเยอะมาก แต่งบประมาณไม่บาลานซ์กัน ขณะที่งบประมาณความมั่นคงมีเยอะ แต่ภารกิจที่ทำเต็มหมดแล้วจนต้องไปขยายภารกิจเรื่องการพัฒนา และเมื่องานพัฒนาไปอยู่ในมือของฝ่ายความมั่นคง ก็พัฒนาแบบฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชน”

“ระบบอุปถัมภ์และสายสัมพันธ์ทางเครือญาติก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญมากๆ ในการเลือกตั้งที่นี่ เพราะมีคอนเซ็ปต์ทางด้านศาสนาที่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างญาติ ห้ามตัดญาติขาดมิตรกัน คนในพื้นที่หลายคนจึงเลือกตั้งตามเครือญาติหรือสายสัมพันธ์”

“ถ้ามองประชาชนที่นี่เป็นอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มองในความหมายคนเท่ากันที่มีความคิด ความฝัน มีจินตนาการต่อชีวิตที่ดีไม่ต่างจากคนกรุงเทพฯ หรือคนหัวเมืองใหญ่ ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้สำเร็จ”

 

ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น

 

โดย กรกมล ศรีวัฒน์

ในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์เกมการเมือง พวกเขาใช้สิทธิและเสียงพาพรรคอนาคตใหม่กวาดที่นั่งเป็นพรรคอันดับที่ 3 ไปอย่างเหนือความคาดหมาย ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกสภากำลังเข้มข้น คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เคยถูกแช่แข็งมานานนับตั้งแต่ คสช. เข้ามา อาจเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สะท้อนความต้องการในการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่

ก่อนจะเดินเข้าคูหา กาเบอร์ในใจในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 101 พาไปสำรวจมุมมองของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการถึงความรู้สึกนึกคิด และความคาดหวังต่อการพัฒนาบ้านเกิด ในดินแดนที่หลายคนมองว่ามี “เจ้าถิ่น” อย่างตระกูลอัศวเหม ซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับพรรคพลังประชารัฐ และผลการเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐก็พิสูจน์ความเข้มแข็งด้วยการกวาดที่นั่ง ส.ส. เขตไปอย่างท่วมท้นทั้งหมด 6 เขต จาก 7 เขต

เสียงของคนหนุ่มสาวคิดเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะพัดพาคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และในฐานะคนรุ่นใหม่ พวกเขาคาดหวังอะไรผ่านการใช้สิทธิ์ใช้เสียง

 

#ถ้าการเมืองท้องถิ่นดี เราจะมีอะไรได้บ้าง : สำรวจความต้องการชุมชนก่อนเลือกตั้ง อบจ.

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

#ถ้าการเมืองท้องถิ่นดี เราจะมีอะไรได้บ้าง : สำรวจความต้องการชุมชนก่อนเลือกตั้ง อบจ.

ก่อนการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะมาถึงในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ 101 ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชนเทศบาลเมืองท่าโขลง ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ว่าด้วยคำถาม “ถ้าการเมืองท้องถิ่นดี อยากให้มีอะไรเพิ่มในชุมชนบ้าง”

พื้นที่แห่งนี้ใกล้บริเวณตลาดไท ตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนวนคร ด้วยบริเวณที่อยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมและการค้า มีถนนวิภาวดีตัดผ่าน เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ตัดตรงออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาอยู่อาศัย ทั้งผู้คนในชุมชนริมคลองที่อยู่แต่เดิมมาหลายสิบปี ไปจนถึงพ่อค้าแม่ขาย เจ้าของธุรกิจ และแรงงานต่างชาติ ที่เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน

แม้จะอยู่ในเขตปริมณฑล ติดเมืองหลวงของประเทศอย่างแนบสนิท แต่ระบบการพัฒนาเมืองยังแตกต่างกันพอสมควร ด้วยลักษณะที่หลากหลายและมีพลวัตนี้ น่าสนใจว่า การพัฒนาที่เข้ามามากมายนั้นสอดคล้องกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยจริงหรือไม่ และถ้าพวกเขามีสิทธิเลือกคนมาจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้ พวกเขาต้องการอะไร

 

แย่กว่านี้มีอีกไหม? : เปิดใจคนท้องถิ่น มองปัญหาในบ้านเกิด อดีตและอนาคต อบจ. ไทย

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“เวลาผ่านไปกว่า 6 ปี ในที่สุดวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ การเลือกตั้งอบจ. ก็ได้เวียนกลับมาอีกครั้ง”

“การเริ่มขยับเขยื้อนของสนามการเมืองท้องถิ่นสร้างแรงกระเพื่อมไปยังทุกพื้นที่นอกเมืองกรุง ส่งสัญญาณว่าการเมืองแต่เป็นเรื่องของคนทุกคน ที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตดีๆ ได้ผ่านการเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารงาน”

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งอบจ. 2563 101 ขอชวนคุณมาทำความรู้จักอบจ. อีกครั้ง ไล่เรียงตั้งแต่ที่มาที่ไป ทำไมต้องรอถึง 6 ปีหลังรัฐประหารกว่าจะได้เลือกตั้งใหม่ ร่วมรับฟังเสียงคนในพื้นที่ทั่วไทยว่าแต่ละแห่งต้องการอะไร

และจะทำอย่างไรให้อบจ.สามารถพึ่งพาได้จริง

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนธันวาคม 2563

 

เตียง ศิริขันธ์ สามัญชนคนมีอุดมคติ

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

คราวหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้นัดพบผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่อถึงเวลานัด ผู้แทนนายนั้นมาเข้าพบด้วยเสื้อผ้าขาดๆ พร้อมกับรอยแผลที่แขนขา แล้วอธิบายว่า ขึ้นเครื่องบินเล็กจากโคราชมาพระนคร แต่เกิดอุบัติเหตุกลางทาง ตกลงไปที่ต้นไม้ใหญ่ ตัวเขาลงไปได้โดยครูดกับต้นไม้นั่น จึงถูกกิ่งไม้เกี่ยวเสื้อผ้าและแขนขา แต่ยังคงมีสติดี จึงมองนาฬิกาข้อมือซึ่งเป็นของเขาเอง เห็นว่าใกล้เวลานัดหมายเต็มที ถ้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนจะไม่ทันกาล จึงเรียกแท็กซี่ตรงมายังที่นัดหมายทันที

เตียง ศิริขันธ์ คือชายคนที่กล่าวถึง

 

โหร หมอดู กับคาพยากรณ์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ ขวัญเรือน พันธ์พีระพิชย์

ในสังคมที่โหร หมอดู และคำนายฝังลึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอย่างสังคมไทย แต่นอกเหนือไปจากความถูกผิดและแม่นยำ ลักษณะของคำทำนาย จังหวะเวลา และตำแหน่งแห่งที่ของผู้ทำนาย ย่อมสะท้อนความเป็นไปของการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ ขวัญเรือน พันธ์พีระพิชย์ เปรียบเทียบคำทำนายของโหรและหมอดูในช่วงปลายปี 2562 กับช่วงที่โควิด-19 ระบาด ว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร และความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เราเห็นอะไร

 

จำคุกตลอดชีวิต ติดคุกจริงกี่ปี?

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท เขียนถึงกรณีฆาตกรต่อเนื่อง 6 ศพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในกระบวนการปล่อยนักโทษก่อนกำหนด ทั้งโทษจำคุกตลอดชีวิต และโทษประหารชีวิต ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่านักโทษประเภทนี้ต้อง ‘แก่ตายในคุก’

ปกป้องอธิบายว่า ในความเป็นจริง ผู้กระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตายที่ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตในประเทศไทย ไม่ได้แก่ตายในคุกมาเป็นเวลานานแล้ว ด้วยสาเหตุสองประการคือ

1) แนวคิดในการลงโทษผู้กระทำความผิดสมัยใหม่เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้การแก้แค้น หรือ ตัดออกจากสังคม แนวคิดใหม่ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน คือการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อให้เขากลับเข้าสู่สังคมอย่างปกติ

2) สภาพความแออัดของเรือนจำไทย ทำให้กรมราชทัณฑ์ต้องเร่งระบายนักโทษออกก่อนกำหนด

ทั้งนี้ ปกป้องได้เสนอแนวทางในการอุดช่องโหว่ดังกล่าว 3 ข้อ ซึ่งสอดคล้องกับระบบที่หลายประเทศใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

1) เพิ่มระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมในกรณีโทษจำคุกตลอดชีวิต จาก 10 ปี เป็น 20 ปี เพื่อให้สังคมแน่ใจว่าตลอด 20 ปี ผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยสังคมจะต้องอยู่ในเรือนจำ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 52

2) ให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาและสั่งให้มีการพักการลงโทษหรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนด โดยระยะแรกอาจจะเริ่มให้ศาลเป็นผู้พิจารณาปล่อยนักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิต โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือที่ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปก่อน ส่วนความผิดอื่นให้เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ดำเนินการแบบเดิม

3) นักโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือนักโทษที่เป็นภัยสังคมอื่นๆ เช่น ฆาตกร ข่มขืน หรือพวกใช้ความรุนแรง ควรจะมีกระบวนการประเมินความพร้อมก่อนปล่อยตัวอย่างจริงจังและดำเนินการเฉพาะราย

 

จากเสรีนิยมเก่าสู่เสรีนิยมใหม่ – รัฐไทยอยู่ตรงไหน

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

เสรีนิยมใหม่ยังมีมิติทางการเมืองซ่อนอยู่ด้วย แม้จะไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตยแบบเปิดเผย แต่ก็มักจะยอมแลกหรือลดหลักการประชาธิปไตยหากจำเป็น ด้วยอิทธิพลจากทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ (Public Choice) ที่มองการเมืองเป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ระดับบุคคล เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะให้ไกลจากนักเลือกตั้ง เสรีนิยมใหม่ทางการเมือง จึงเสนอให้ปรับกระบวนการออกแบบนโยบายให้ “ปราศจากการเมือง” (de-politicisation) มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

รูปธรรมของแนวคิดนี้ก็คือการลดอำนาจตัดสินใจของรัฐสภา และถ่ายโอนกระบวนการจัดการนโยบายสาธารณะให้มาอยู่ในมือของ “ผู้เชี่ยวชาญ” แทน ผ่านองค์กร หน่วยงาน และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ในประเทศตะวันตกที่กลไกประชาธิปไตยเข้มแข็ง กระบวนการกำจัดการเมืองนี้นับเป็น “นวัตกรรมทางสถาบัน” ที่ออกแบบมาเพื่อคานอำนาจระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่ยึดหลักวิชากับนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงได้รับการโปรโมตอย่างแพร่หลายจนกลายมาเป็นแนวทางปฏิรูประบบราชการและกลไกรัฐในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น ในเวทีโลก ต่อให้เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจอาจอ่อนกำลังลงเพราะเผชิญกับแรงต้านทานทางสังคมมาตลอดสองสามทศวรรษ เสรีนิยมใหม่ทางการเมืองกลับกำลังสยายปีกในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก เพราะมีรูปแบบที่แนบเนียนกว่า ทั้งยังไม่ถูกถกเถียงและศึกษาเท่ากับมิติทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เริ่มมีงานระยะหลังที่ชี้ให้เห็นว่า หากนำแนวทางปลอดการเมืองมาใช้ในประเทศที่เป็นระบอบเผด็จการหรือกึ่งประชาธิปไตย อาจเป็นอีกครั้งที่แนวคิดซึ่งฟังดูดีมีหลักการถูกหยิบยืมมาใช้เติมพลังให้กับอำนาจนอกรัฐสภาและลดทอนอำนาจประชาชน

นี่คือวิวัฒนาการอันซับซ้อนของแนวคิด “เสรีนิยม” ในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก

แล้วรัฐไทยมีความเป็นเสรีนิยมแค่ไหน เก่าหรือใหม่มากกว่ากัน?

การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : เมื่อคดีข่มขืนยอมความไม่ได้อีกต่อไป

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท เขียนถึงการการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่การยอมความในคดีข่มขืน การคุ้มครองเด็ก และการเพิ่มโทษคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากโสเภณี
“28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้เปลี่ยนเป็นความผิดอาญาแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยผลของประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่มาตรา 281 คงเหลือให้เป็นความผิดยอมความได้เฉพาะการข่มขืนระหว่างคู่สมรสในบางพฤติการณ์ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างการดำเนินคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยสร้างความรับรู้ให้กับคนในสังคมโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ให้เคารพและให้เกียรติทางเพศกับผู้อื่น ไม่ใช่ซึมซับการใช้อำนาจเหนือเหมือนในฉากหนังเดิมๆ ว่าข่มขืนไปก่อนแล้วเขาก็จะมารักเราเอง…”

“หากวันนี้เราทราบว่ามีผู้ย้ายมาเป็นเพื่อนบ้านใหม่เคยทำผิดฐานฉ้อโกงมาหลายคดี แต่เพื่อนบ้านใหม่นั้นไม่เคยถูกลงโทษเลยเพราะคดีอาญายุติหมด เพราะผู้เสียหายไม่เอาเรื่องบ้าง มีการยอมความบ้าง เราคงยังรู้สึกปลอดภัยอยู่ เพราะเขาไม่ใช่ภัยสังคม เพียงแต่หากเขาขอยืมเงิน เราอย่าให้ยืมเขาก็พอ

ตรงกันข้าม หากวันนี้เราทราบว่ามีเพื่อนบ้านย้ายมาอยู่ใหม่ที่เคยทำผิดข่มขืนกระทำชำเราหลายคดี และไม่เคยถูกลงโทษเลยเพราะคดียุติลง เพราะยอมความบ้างหรือเหตุผลทางเทคนิคบ้าง เราคงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเราและครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ข่มขืนกระทำชำเราจึงควรเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้

สำหรับข้ออ้างที่ว่าผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ ก็อย่าไปบังคับเขา เพราะจะเป็นการกระทบจิตใจเขาซ้ำสอง ในเรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมได้แก้ไขมานานแล้ว กล่าวคือ การสอบสวนความผิดเกี่ยวกับเพศที่ผู้เสียหายเป็นผู้หญิง ต้องใช้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้ถามปากคำ นอกจากนี้ ศาลสามารถคุ้มครองผู้เสียหายไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิดในการพิจารณาคดีเหล่านี้ได้”

 

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนธันวาคม 2563

 

101 One-on-One EP.198 School Town King : เปิดโลกเหลื่อมล้ำผ่านชีวิตจริงแร็ปเปอร์คลองเตย

 

โดย 101 One-on-One

คุยเบื้องหลังสารคดีที่ว่าด้วยชีวิตของเด็กหนุ่มจากคลองเตยสองคน ‘บุ๊ค’ และ ‘นนท์’ ที่ฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์

ตลอดการถ่ายทำกว่า 2 ปี ที่ตามติดชีวิตของพวกเขาตั้งแต่ตื่นนอน เรียนหนังสือ แต่งเพลง ไปจนถึงช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดี ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ที่ฉายภาพให้เห็นความฝันของหนุ่มสาวที่พลุ่งพล่าน ขณะเดียวกันก็ยืนอยู่บนซากปรักหักพังของความเหลื่อมล้ำในสังคม การเข้าถึงโอกาสของพวกเขาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างใจคิด

101 ชวนผู้กำกับ เบส – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และสองตัวละครหลัก บุ๊ค – ธนายุทธ ณ อยุธยา และ นนท์ – นนทวัฒน์ โตมา มาพูดคุยตั้งแต่วิธีคิด วิธีทำงานสารคดี และคุยถึงชีวิตของพวกเขาในปัจจุบัน

ความฝัน ความหวังของพวกเขาเป็นอย่างไร พวกเขามองสังคมอย่างไร และเรื่องราวเหล่านี้สะท้อนสังคมเราแบบไหน

 

101 One-on-One EP.200 “สื่อในสมรภูมิข่าว: บทเรียนจากเนชั่น ถึงอนาคตสื่อไทย”

 

โดย 101 One-on-One

2020 เป็นปีที่สมรภูมิข่าวดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่ง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “เนชั่น” เป็นสื่อที่ได้รับการกล่าวขวัญและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นตลอดปีที่ผ่านมา

จากบทบาทสื่อการเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม สู่กระแส “แบนเนชั่น” จนถึงการยกเครื่องใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พร้อมกับการกลับบ้านของ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” อดีตซีอีโอเนชั่นทีวียุค “สุทธิชัย หยุ่น” ในฐานะผู้อำนวยการใหญ่เนชั่นทีวี ผู้ประกาศ #ภารกิจนำพาเนชั่นกลับสู่พื้นผิวโลก บน #เส้นทางสู่สถาบันสื่อมืออาชีพ

101 ชวน “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ตอบคำถามกันสดๆ ทุกคำถาม ไขทุกข้อข้องใจ — เขามองเห็นปัญหาอะไรในเนชั่นช่วงสามปีครึ่งที่เดินจากไป, เขาคิดอะไรถึงกลับมารับภารกิจยากลำบากในวัย 60 ปี, เขามีแผนการลงมือเปลี่ยนเนชั่นให้เป็นสื่อที่สังคมไว้วางใจได้อย่างไร, เราเรียนรู้บทเรียนอะไรจากกรณีเนชั่น และตัวเขามองอนาคตวงการสื่อไทยในยุค technology disruption และ political disruption อย่างไร

 

101 One-On-One Ep.202 “ปฏิรูประบบยุติธรรม เปลี่ยนสังคมไทย” – ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 

โดย 101 One-on-One

30% ของผู้ต้องขังไทยเป็นคนที่ไม่สมควรที่จะต้องอยู่ในคุก!! 30% ที่ว่าคิดเป็นนักโทษจำนวนกว่า 100,000 คน จำนวนไม่น้อยในนี้ติดคุกเพียงเพราะ ‘ไม่มีเงินประกัน’ ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นไม่เพียงแต่ช่องโหว่ใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ยังรวมถึงสังคมไทยโดยร่วมด้วย ไม่ต้องพูดถึงว่า มีอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ‘นักโทษการเมือง’

101 ชวน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาถึงปัญหาและหนทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และภาพแบบไหนในกระบวนการยุติธรรมที่เขาใฝ่ฝันถึง

 

101 Policy Forum #9 : จับตาการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563

 

โดย 101world

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ในสภา และไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร

สำหรับเดือนนี้ ร่วมจับตาการเลือกตั้งท้องถิ่น 20 ธันวาคม 2563 กับ 4 นักวิชาการที่ติดตามพลวัตเศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ใน 4 พื้นที่ทั่วไทย

พบกับ รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง | ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ | รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มีพลวัตด้านการเมืองและเศรษฐกิจอะไรที่น่าสนใจ | การเมืองเชิงนโยบายในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร อะไรคือโจทย์ที่ประชาชนต้องการ และนักการเมืองท้องถิ่นตอบโจทย์เหล่านั้นอย่างไร | การเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่นสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร | อนาคตของนโยบายกระจายอำนาจควรเป็นเช่นไร | ฯลฯ

 

101 Policy Forum #10 : เปิดนโยบายท้องถิ่น โค้งสุดท้ายเลือกตั้งนายก อบจ. 20 ธันวาคม 2563

 

โดย 101world

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ในสภา และไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร

101 เกาะติดโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งนายก อบจ. กับ 3 ผู้สมัครนายก อบจ. จาก 3 กลุ่มการเมือง ใน 3 พื้นที่ทั่วไทย

ณรงเดช อุฬารกุล ผู้สมัครนายก อบจ. สกลนคร คณะก้าวหน้า | วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงราย พรรคเพื่อไทย | สาธร​ วงศ์​หนอง​เตย​ ผู้สมัคร​นายก ​อบจ. ตรัง ทีมตรังพัฒนาเมืองตรัง

ความสำคัญของการเมืองท้องถิ่น และบทบาทที่ควรจะเป็นของนายก อบจ. | นวัตกรรมเชิงนโยบายที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาในพื้นที่ | การเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น และการเมืองภาคประชาชน สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร | อนาคตของนโยบายกระจายอำนาจควรเป็นเช่นไร | ฯลฯ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save