fbpx
คน คุก

อนาคต | คน | คุก และกระบวนการยุติธรรมไทย ภายใต้ 10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

ตั้งแต่เริ่มต้นอารยธรรมจนกระทั่งถึงยุคเทคโนโลยีเขย่าโลก หนึ่งในแนวคิดที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตลอดสายธารของประวัติศาสตร์มนุษย์คือ ‘คุก’ หรือ ‘การกักขัง’ เพื่อจำกัดอิสรภาพของผู้ที่ทำความผิด ในช่วงเริ่มแรก คุกเป็นเพียงสถานที่ชั่วคราวไว้กักตัวเพื่อรอประหารชีวิตหรือใช้ชีวิตเป็นทาสเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารยธรรมของมนุษย์เริ่มพัฒนาขึ้นตามลำดับ คุกได้เปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ชั่วคราว กลายเป็นสถานที่ที่มีไว้ลงโทษผู้กระทำความผิด และเป็นสถานฟื้นฟูเยียวยาด้วยเช่นกัน

แม้แนวคิดหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องคุกจะเปลี่ยนแปลงไป คุกถูกให้นิยามและความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนจะยังไม่ค่อยเปลี่ยนตามคือการออกแบบคุก มีงานหลายชิ้นระบุว่า คุกถูกออกแบบ ‘โดย’ ผู้ชาย และ ‘เพื่อ’ ผู้ชาย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังส่วนใหญ่ในนั้น ทำให้กลายเป็นสถานที่ที่ขาดความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ กล่าวคือคุกหรือเรือนจำได้ละเลยความต้องการหรือลักษณะเฉพาะบางอย่างของผู้ต้องขังหญิงไป เช่น การมีประจำเดือน หรือบทบาทความเป็นแม่ ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบทั้งทางกายและใจต่อผู้ต้องขังหญิง อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อการบำบัดฟื้นฟูในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับความไม่ละเอียดอ่อนทางเพศภาวะในเรือนจำมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีความพยายามที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ (the Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง อันเกิดจากความริเริ่มและการผลักดันของประเทศไทย จนกลายเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ 101 ชวนร่วมเดินตามเส้นทางของข้อกำหนดกรุงเทพที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง – โครงการนี้เริ่มต้นได้อย่างไร ข้อกำหนดกรุงเทพอยู่ตรงไหนในกระแสธารของโลก และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง รวมถึงย้อนไปถึงรากฐานของปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำและวิธีแก้ไข

จุดเริ่มต้นปัญหา ‘คุกล้น-คุณภาพชีวิตย่ำแย่’

จากรายงาน Global Prison Trend 2020 พบว่า ปัจจุบัน ประชากรผู้ต้องขังทั่วโลกมีจำนวนกว่า 11 ล้านคน แม้ผู้ต้องขังหญิงจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มน้อยอยู่ แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังหญิงได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากประเด็นที่ว่าผู้ต้องขังหญิงมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังในเรือนจำกระทำความผิดที่ไม่รุนแรง แต่กลับมีการใช้โทษจำคุกมากขึ้นและยาวนานขึ้น เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ทำให้ผู้ต้องขังกว่า 83% ถูกจำคุกเพราะมียาเสพติดในครอบครองเพื่อใช้เสพ

เมื่อมีการใช้โทษจำคุกกับคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ทำให้จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำพุ่งสูงขึ้น นำไปสู่ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ซึ่งปัจจุบันมีประเทศกว่า 122 ประเทศกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวอยู่ การที่นักโทษล้นคุกย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ และสุขอนามัยของผู้ต้องขังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในกรณีของกลุ่มเปราะบางอย่างผู้ต้องขังหญิง พวกเธออาจเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่าใคร

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่องสุขอนามัย จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คุกถูกออกแบบเพื่อผู้ชาย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังกลุ่มใหญ่ในนั้น คุกหรือเรือนจำจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่อ่อนไหวต่อเพศภาวะ และละเลยความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง เช่น การมีประจำเดือน ซึ่งเรือนจำหลายที่ไม่มีห้องสุขาหรือห้องอาบน้ำที่มิดชิดเพียงพอ หรืออีกประเด็นคือเรื่องยาเสพติด ซึ่งมีรายงานระบุว่า 80% ของผู้หญิงที่ถูกส่งเข้ามาในเรือนจำมีปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติด แต่ระบบเรือนจำหลายแห่งกลับยังไม่ได้รับประกันหรือจัดหาโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูให้กับผู้ต้องขังที่ดีพอ นี่จึงอาจจะเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่เรือนจำทั่วโลกต้องช่วยกันขบคิดต่อไป

นอกจากตัวผู้ต้องขังหญิงที่ได้รับผลกระทบแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกันคือ กลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการที่แม่เป็นผู้ต้องขัง หรืออาจเรียกว่า ‘เหยื่อที่มองไม่เห็น’ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยหรือประเทศในเอเชียอาจจะมีลักษณะเด่นคือ ระบบครอบครัวขยาย ที่มีปู่ย่าตายายมาคอยสนับสนุนหรือช่วยดูแลเด็ก ทำให้เด็กเติบโตขึ้นได้และมีบาดแผลน้อยกว่าเด็กที่อยู่ในประเทศที่มีระบบครอบครัวไม่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี เพื่อจะบรรเทาเบาบางปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยมีการจัดตั้ง ‘โครงการกำลังใจ’ ในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เนื่องจากทรงเห็นถึงสภาพปัญหาของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเป็นเสมือนกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในกระบวนการยุติธรรม พระองค์จึงทรงริเริ่มโครงการกำลังใจขึ้น โดยเน้นไปที่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่มีเด็กติดผู้ต้องขัง มีการจัดตั้งมุมแม่และเด็ก เตรียมความพร้อมก่อนคลอดให้ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ หรืออนุญาตให้เด็กติดผู้ต้องขังอยู่กับแม่ได้ และด้วยจุดแข็งของคนไทยที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมให้ความช่วยเหลือ ทำให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยได้ขยายผลเป็นโครงการเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของผู้ต้องขังหญิง (Enhancing Lives of Female Inmates หรือ ELFI)

จากความสำเร็จดังกล่าวนำมาสู่การต่อยอดสิ่งที่ใหญ่กว่าขอบเขตของประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยทำการศึกษาเรื่องมาตรฐานผู้ต้องขังของสหประชาชาติ ซึ่งแม้จะมีการจัดทำมาตรฐานสำหรับผู้ต้องขังมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่มาตรฐานดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเพศภาวะเท่าที่ควร นำไปสู่การร่างข้อกำหนดกรุงเทพและการพัฒนา จนกระทั่งในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 65 ได้เห็นชอบข้อกำหนดดังกล่าว และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยที่เป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้

‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง

หากกล่าวให้ชัดเจนและครอบคลุมที่สุด ข้อกำหนดกรุงเทพถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และผู้กระทำผิดหญิงอย่างเหมาะสมตามเพศภาวะ และได้การยอมรับในระดับสากล สาระสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพคือ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (principle of non-discrimination) โดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะเชิงเพศภาวะและการดำเนินมาตรการบำบัดฟื้นฟูที่ตอบรับกับลักษณะเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง ด้วยการให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรือนจำ และปรับปรุงแผนงานเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง เช่น การบำบัดฟื้นฟูต่างๆ สำหรับผู้ต้องขังตั้งแต่แรกรับจนถึงปล่อยตัว

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ข้อกำหนดกรุงเทพไม่ได้เน้นแค่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต ‘ใน’ เรือนจำ แต่ยังมองไกลไปถึงชีวิต ‘นอก’ เรือนจำ เพื่อเปลี่ยนเรือนจำจากสถานที่กักขังกลายเป็นสถานที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฟื้นฟูและประคับประคองจิตใจ จนกลายเป็นสถานที่เปลี่ยนชีวิตอย่างแท้จริง

หลังจากข้อกำหนดกรุงเทพได้รับความเห็นชอบ ในส่วนของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการต่อยอดของข้อกำหนดกรุงเทพ ได้มีการประกาศ ‘พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554’ ขึ้น เพื่อสนับสนุนข้อกำหนดกรุงเทพ และยังขยายไปถึงการศึกษาวิจัยเส้นทางการเข้าสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิง เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำทั่วโลก มีหลายหน่วยงานทั้งในไทยและต่างประเทศมาทำงาน เรียนรู้ร่วมกัน มีเรือนจำต้นแบบให้ได้ศึกษาดูงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ

ในประเทศไทย มีการจัดทำ ‘เรือนจำต้นแบบ’ หลายแห่งที่นำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง เช่น เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ที่แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก (4 ไร่ 2 งาน) แต่มีการจัดระเบียบภายในอย่างมีประสิทธิภาพ จัดพื้นที่อย่างเป็นระบบ ทำให้ทั้งเรือนนอน ที่ฝึกอาชีพ ครัว และห้องสมุด อยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล

อีกแห่งคือเรือนจำกลางนครสวรรค์ ที่นับเป็นเรือนจำที่มีอายุยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ด้านหน้าเรือนจำจะมี ‘ตลาดหน้าคุก’ ไว้ขายผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขัง ขณะที่ภายในเรือนจำใช้สีขาวสว่างชวนผ่อนคลาย แตกต่างจากภาพความคิดของหลายๆ คนที่อาจมองว่าเรือนจำต้องดูทึมเทาชวนอึดอัด และยังมีโปรแกรมการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง (rehabilitation) และการฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมผู้ต้องขังสำหรับการใช้ชีวิตนอกเรือนจำ

เรือนจำกลางนครสวรรค์

นอกจากนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ จึงก่อให้เกิด ‘โครงการเรือนจำต้นแบบเพื่อนำร่องการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในประเทศกัมพูชา’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง TIJ กับกรมราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชา เพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมในประเทศกัมพูชาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะใช้ระยะเวลา 2 ปี เพื่อฝึกอบรมการบริหารจัดการเรือนจำให้มีการคำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะมากขึ้น ที่เรือนจำ CC2 ซึ่งเป็นเรือนจำหญิงที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ซึ่งโครงการดังกล่าวจะยึดข้อกำหนดกรุงเทพเป็นหลักสำคัญ

รู้จักกับ ‘ข้อกำหนดโตเกียว’ และ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ 

นอกจากข้อกำหนดกรุงเทพ อีกหนึ่งข้อกำหนดสำคัญที่มีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมไม่แพ้กัน และเกิดขึ้นก่อนข้อกำหนดกรุงเทพเล็กน้อย คือ ‘ข้อกำหนดโตเกียว’ พ.ศ. 2533 ซึ่งจะครอบคลุมมาตรการทั้งหมดที่มิใช่การคุมขัง และให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนและสาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่จะนำไปสู่การส่งเสริมสังคมแบบถ้วนหน้า (inclusive society)

จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นข้อกำหนดโตเกียวต้องย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2498  ที่เกิด ‘ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners – SMR)’ ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการราชทัณฑ์และสิทธิมนุษยชน ก่อนจะมาด้วยข้อกำหนดโตเกียว และข้อกำหนดกรุงเทพดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

โครงสร้างพื้นฐานของข้อกำหนดโตเกียวจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อนการพิจารณาคดี ที่เปิดให้มีการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังได้ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการพิพากษา อาจมีการพักการลงโทษ หรือปล่อยตัวก่อนกำหนดได้โดยมีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งจุดเด่นอย่างหนึ่งของข้อกำหนดโตเกียวคือ การเปิดให้ประชาชนและอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขัง และทำให้ผู้ต้องขังสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้งหนึ่ง

ถัดจากข้อกำหนดโตเกียวและข้อกำหนดกรุงเทพแล้ว อีกหนึ่งข้อกำหนดที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง’ หรือ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ (the Mandela Rules) ที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากลใหม่ในการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังทั่วโลกในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่เสนอและให้การสนับสนุนร่างข้อกำหนดดังกล่าว

ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมขึ้น ข้อกำหนดแมนเดลาจะเป็นการวางมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการเรือนจำที่ดี รวมทั้งวางมาตรฐานให้มีการเคารพสิทธิของผู้ต้องขังตามหลัก 5 ประการ ทั้งยังกำหนดให้รัฐต้องรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง และผู้ต้องขังต้องได้รับบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับคนทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ ที่กำหนดให้เรือนจำต้องให้บริการด้านสุขอนามัยและสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมความจำเป็นทางเพศภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ

[box]

หลักการ 5 ประการของข้อกำหนดแมนเดลา 

1) ผู้ต้องขังพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์

2) ห้ามการทรมานหรือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความทารุณ

3) ให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ

4) วัตถุประสงค์ของเรือนจำ คือ การคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำผิดซ้ำ

5) ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการด้านต่างๆ ในเรือนจำและผู้เข้าเยี่ยม จะต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา [/box]

เริ่มต้นแก้ที่รากปัญหา ‘นักโทษล้นคุก’

 

การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง

แม้ว่าข้อกำหนดโตเกียว ข้อกำหนดกรุงเทพ รวมถึงข้อกำหนดแมนเดลา จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังได้จริง แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า หากจะแก้ปัญหาจริงๆ เราอาจจะต้องมองให้ไกลกว่ากำแพงเรือนจำ ย้อนกลับไปดูที่รากฐานเริ่มต้นของปัญหา คือ ‘นักโทษล้นคุก’ จึงเริ่มมีการพูดถึงเรื่องการนำ ‘มาตรการที่มิใช่การคุมขัง’ (non-custodial measures) เข้ามาใช้ตั้งแต่ต้น

“เมื่อผู้ต้องขังหญิงต้องเข้าสู่เรือนจำ เราพบว่าการจำคุกกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ครอบครัว และชุมชนในวงกว้าง” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ฉายภาพกว้างให้เห็น พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า แม้จะมีข้อมูลชี้ว่าการคุมขังควรเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่ทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่หลายประเทศก็มิได้จัดหามาตรการที่ตอบสนองต่อความอ่อนไหวของเพศภาวะเท่าที่ควร

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้หญิงทั่วโลกที่ถูกคุมขังก่อนการดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงานมีจำนวน ‘เท่ากับ’ หรือ ‘มากกว่า’ จำนวนนักโทษหญิงเสียอีก ขณะที่ในบางประเทศ อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าจำนวนผู้กระทำผิดชายที่ถูกกักขังก่อนการพิจารณาคดีเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถ้าเราจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด เราอาจจะเริ่มต้นที่การไม่นำคนเข้าไปในคุกเป็นจำนวนมากตั้งแต่แรก แต่อาจจะลองหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นแทน เช่น การใส่กำไลติดตามตัวหรือการทำงานบริการสังคม เพื่อที่เรือนจำจะได้มีไว้รองรับผู้ที่จำเป็นต้องรับโทษคุมขังจริงๆ และจะได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพต่อไป

ประเทศไทยเองก็เริ่มคิดถึงการลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างจริงจัง โดยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ แนวนโยบายของอดีตประธานศาลฎีกา ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ที่มีการออกคำแนะนำแก่ผู้พิพากษา เพื่อเป็นแนวนำทางในการใช้ทางเลือกอื่นแทนการจำคุก รวมถึงทำงานเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ดร.สุธาทิพ ยุทธโยธิน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา อธิบายถึงแนวทางการทำงานดังกล่าวว่า ในกรณีของผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์หรือไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ผู้พิพากษาอาจตัดสินใจใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุกได้ แต่จะต้องศึกษาผู้ต้องหาอย่างละเอียดเสียก่อน โดยการถามคำถามโดยตรงหรือศึกษาจากการสืบสวนสอบสวนที่ได้มาจากเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งจะช่วยให้รับรู้ความต้องการและโอกาสในการบำบัดฟื้นฟูของผู้ต้องหา

ในกรณีของกลุ่มเปราะบางอย่างผู้กระทำผิดหญิง สุธาทิพกล่าวว่า ด้วยความที่ทางเลือกอื่นแทนการจำคุกมักจะถูกประยุกต์ใช้กับการกระทำความผิดที่มิใช่คดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งผู้ต้องหาส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ผู้กระทำผิดหญิงในประเทศไทยจึงย่อมจะได้ประโยชน์จากมาตรการตรงนี้ด้วย

กรณีศึกษา ‘โปรตุเกสโมเดล’: ยกเลิกการใช้มาตรการทางอาญา (decriminalised) แต่ไม่ได้ทำให้ถูกกฎหมาย (legalised) ในกรณีการครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ

อย่างที่เราทราบกันว่า สาเหตุที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเข้าคุกเป็นเพราะเรื่องยาเสพติด ซึ่งเป็นคดีที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ และถ้ามองให้ลึกกว่านั้น ผู้หญิงบางคนมียาเสพติดไว้เพื่อเสพ บางคนโดนร่างแหเพราะคนใกล้ตัวครอบครองยาเสพติด การที่ผู้หญิงต้องติดคุกด้วยคดียาเสพติดจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาเรือนจำล้นโดยไม่ต้องสงสัย

คำถามสำคัญคือ เรามีแนวทางอะไรที่ดีกว่าการจำคุกหรือไม่ เราจะทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องนำคนเข้าไปในเรือนจำตั้งแต่แรก?

หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจ และอาจเป็นหนึ่งทางออกที่ช่วยแก้ปัญหานี้คือ แนวทางของประเทศโปรตุเกส ก่อนหน้านี้โปรตุเกสถือเป็นประเทศที่เจอปัญหาผู้เสพยาในระดับต้นๆ ของยุโรป ต่อมาโปรตุเกสได้มีแนวทางแก้ปัญหา โดยในกรณีที่เจอผู้ที่มียาในครอบครองในปริมาณไม่เกิน 10 วันของการเสพตามค่าเฉลี่ยถือว่าเป็นผู้เสพ และใช้มาตรการที่ไม่ใช่โทษทางอาญา (decriminalised) คือใช้มาตรการทางปกครองแทน และให้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมายร่วมกับฝ่ายสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์เข้ามาดูแลการบำบัด[1] ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ใช้กลไกโทษปรับ หรือมาตรการทางปกครองอื่นๆ เช่น การเตือน ห้ามเข้าออกสถานที่ หรือห้ามพบบุคคล แทน[2]

จะเห็นว่า แนวทางนี้อาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่ทำได้จริง และสามารถช่วยแก้ปัญหาคุกล้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้เสพยาก็จะไม่ถูกตีตราจากการถูกลงโทษทางอาญา และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

คน | คุก

‘คุก’ หรือ ‘การกักขัง’ คือสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคสมัย และพัฒนาไปพร้อมกับอารยธรรมของมนุษย์ในแต่ละช่วง – จากสถานที่ชั่วคราวสู่อาคารถาวรหลังกำแพงหนา จากสถานที่กักขังสู่สถานที่ฟื้นฟูและเยียวยา – แต่ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยใด สิ่งที่อาจไม่เคยเปลี่ยนไปมากเลยคือ ความคิดของสังคมภายนอก

“คนขี้คุก” “ทำผิดเองก็สมควรแล้ว” “ใครจะอยากรับอดีตคนคุกเข้าทำงาน” และอีกคำครหามากมายที่กลายเป็นตราประทับ (อดีต) ผู้ต้องขังอย่างไม่มีวันเลือนราง ทำให้หลายคนที่เคยออกมาพร้อมความฝันในการดำเนินชีวิตตามปกติ ต้องถูกผลักไสกลับเข้าหลังกำแพงหนาสูงอีกครั้งเพราะขาดโอกาส หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผู้ต้องขังบางคนอาจได้รับผลกระทบทั้งทางกายและใจตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางอย่างผู้ต้องขังหญิง เพราะการขาดความเข้าใจความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้กำลังจะบอกว่า คนที่เข้าสู่เรือนจำไม่ได้กระทำความผิด แน่นอนว่า มีหลายคนที่ทำความผิดรุนแรงและจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพื่อปรับพฤติกรรม แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในนั้นตั้งแต่แรก ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะโอบอุ้ม ฟื้นฟูและเยียวยา รวมถึงช่วยพยุงคนกลุ่มนี้ให้กลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งข้อกำหนดโตเกียว ข้อกำหนดกรุงเทพ หรือข้อกำหนดแมนเดลา รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ ล้วนเป็นความพยายามในการสร้างมาตรฐานระดับสากลในเรือนจำและฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขัง รวมถึงสร้างอนาคตและเส้นทางของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนในกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เพราะเวลาเราพูดถึงผู้ต้องขัง เรากำลังพูดถึงมนุษย์และเรื่องราวเบื้องหลังของพวกเขา ที่ถูกทั้งกำแพงหนาสูงของเรือนจำและกำแพงที่มองไม่เห็นในใจของเราบดบังอยู่ การจะรับฟังเรื่องราวเหล่านี้จึงต้องเปิดหู เปิดตา และที่สำคัญคือเปิดใจ ฟังเสียงที่อาจไม่เคยมีใครรับฟัง มองให้ลึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในนั้น ร่วมโอบอุ้มและเยียวยาพวกเขาไปพร้อมๆ กับวิถีทางในกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่อดีตผู้ต้องขังจะได้กลับออกมาและใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง ร่วมขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกันโดยไม่มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป

อ้างอิง:

[1] “โปรตุเกสโมเดล” สายกลางแก้ยาบ้า ไม่ทำให้ถูกกฎหมาย-ไม่ใช่ขายเสรี

[2] TIJ ชูโปรตุเกสโมเดลแก้ยาเสพติดชะงัด ไม่เอาโทษทางอาญามาใช้กับผู้เสพ


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save