fbpx
แย่กว่านี้มีอีกไหม? : เปิดใจคนท้องถิ่น มองปัญหาในบ้านเกิด อดีตและอนาคต อบจ. ไทย

แย่กว่านี้มีอีกไหม? : เปิดใจคนท้องถิ่น มองปัญหาในบ้านเกิด อดีตและอนาคต อบจ. ไทย

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“บ้านเราจะเดินทางไปไหนก็ลำบากมาก จะรอรถประจำทางสักคันก็ต้องรอไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง”

“ตำบลนี้วันดีคืนดีก็ไฟดับ ชนิดที่ว่าแค่หมาฉี่รดเสาไฟก็ดับแล้ว”

“น้ำประปาเป็นสีโคลนมาเกือบเดือน แจ้งเขาไปก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น”

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ เรามักจะตั้งคำถามเสมอว่าทำไมคุณภาพชีวิตของเราช่าง..ห่วยแตก

ไฟฟ้า ประปา ขนส่งสาธารณะ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขง่ายๆ จากตัวเราได้อย่าง ‘ตื่นเช้าขึ้นอีกครึ่งชั่วโมงสิ จะได้ไปรอรถทัน’ หรือ ‘อย่าปล่อยหมาเดินเยี่ยวเรี่ยราดสิ ถ้ารู้ว่าไฟจะดับ’ แต่ควรเป็นสาธารณูปโภคที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนทุกจังหวัดได้รับความสะดวกสบาย ผ่านการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.

ทว่า ช่วงหลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ตำแหน่งนายก อบจ. และ ส.อบจ. – สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถูกแช่แข็งไว้ให้คนเดิมบริหารมาตลอด ไม่เกิดการเลือกตั้งใหม่แม้ครบวาระ 4 ปี จนอาจทำให้คนทำงานที่ควรขยันขันแข็ง รับฟังปัญหาของคนในพื้นที่เพื่อ ‘หาเสียง’ สร้างความเชื่อมั่น เกิดอาการเฉื่อยชา

เวลาผ่านไปกว่า 6 ปี ในที่สุดวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ การเลือกตั้งอบจ. ก็ได้เวียนกลับมาอีกครั้ง การเริ่มขยับเขยื้อนของสนามการเมืองท้องถิ่นสร้างแรงกระเพื่อมไปยังทุกพื้นที่นอกเมืองกรุง ส่งสัญญาณตระหนักรู้แก่คนทุกกลุ่ม ว่าการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของม็อบ ไม่ใช่แค่เรื่องของ ส.ส. ในสภา แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน ที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตดีๆ ได้ผ่านการเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารงาน

อย่างไรก็ตาม 6 ปีที่ห่างหายจากการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นเวลานานพอจะทำให้เด็กหลายคนเติบโต เป็น First-time voter ที่จะมาช่วยเพิ่มสีสันของคะแนนเสียง โอกาสนี้ 101 จึงขอชวนมาทำความรู้จักกับอบจ. ใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่ที่มาที่ไป ทำไมจึงเพิ่งเกิดการเลือกตั้งตอนนี้ และจากการได้ยินได้ฟังเสียงคนในพื้นที่ ผ่านกิจกรรม “แย่กว่านี้ มีอีกไหม? – ร่วมกันส่งเสียงจากคนรู้จริงในพื้นที่ส่งไปให้ถึงอบจ.!” อะไรคือปัญหาที่พวกเขาต้องการให้แก้ไข จะทำอย่างไร ให้ อบจ. สามารถพึ่งพาได้จริง

 

 

อบจ. เกิดขึ้นมาทำไม?

 

ห่างหายไม่ได้ยินชื่อเสียหลายปี ตอนนี้หลายคนอาจไม่แน่ใจนักว่า อบจ. อยู่มานานแค่ไหนและทำหน้าที่อะไร

ในบทความ “ย้อนรอยสองทศวรรษ อบจ. เปลี่ยนการเมืองไทยอย่างไร” ของณัฐกร วิทิตานนท์ ได้ให้คำตอบสองข้อนั้นแก่เรา ว่าแท้จริงแล้ว อบจ. ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ชื่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 หลังท่านจอมพลกลับจากการเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป แล้วติว่าหน่วยงานท้องถิ่นของไทยที่มีอยู่ตอนนั้นน้อยเกินไป

หน่วยงานท้องถิ่นที่ว่า ได้แก่ เทศบาล ซึ่งดูแลเขตเมือง และสุขาภิบาล ดูแลเขตกึ่งเมือง ไม่ว่าทางไหนก็ล้วนแต่กระจุกตัวอยู่กับชุมชนเมือง แล้วพื้นที่นอกเขตเมือง (หรือที่เรียกกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ชนบท’) เล่า ใครจะรับผิดชอบ?

เพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศมีหน่วยงานคอยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อบจ.จึงเกิดขึ้นมารับหน้าที่นั้น และเกิดขึ้นทีเดียว 70 แห่ง เท่ากับจำนวนจังหวัดในยุคดังกล่าว แต่ใช่ว่าเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ท้องที่ได้มากมาย เพราะพื้นที่ใต้ความดูแลของ อบจ. บางแห่งมีส่วนทาบทับกับจังหวัดที่อยู่ใต้อำนาจของหน่วยงานส่วนภูมิภาค และ อบจ. เองก็ต้องทำตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคและหัวหน้าฝ่ายบริหารจากการแต่งตั้งของรัฐในขณะนั้น

เมื่อรวมกับงบประมาณที่ได้อย่างจำกัดจำเขี่ย อบจ. จึงเป็นแค่หนึ่งในหน่วยงานเล็กๆ ท่ามกลางหน่วยงานท้องถิ่นมากมาย ยิ่งในเวลาต่อมา หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง แต่กลับลงเอยที่การตั้ง อบต. เพิ่มขึ้นมาเพื่อกระจายอำนาจ ทำให้พื้นที่ที่ อบจ. รับผิดชอบหลายแห่งถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับ อบต. จนแทบไม่เหลืออะไรเลย

ตัวตนของ อบจ. (และหน่วยงานท้องถิ่นอีกมากมาย) กลายเป็นกระแสกดดันให้รัฐบาลต้องปฏิรูปการบริหารเสียใหม่ ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองหลังเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐบาลจากพรรคความหวังใหม่ในขณะนั้น จึงเลือกเพิ่มอำนาจให้ อบจ. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลครอบคลุมทั้งจังหวัด ผ่าน พ.ร.บ.องค์การบริการส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 เรียกว่าเป็น ‘ร่มใหญ่’ ที่มีเทศบาลและ อบต. เป็นส่วนหนึ่ง รวมถึงเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น นายก อบจ. อีกด้วย

หลังจากปี 2540 ที่ อบจ. พลิกโฉมครั้งใหญ่ 6 ปีให้หลัง ก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการแก้ไขกฎหมายให้นายก อบจ. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แทนการเลือกกันเองจาก ส.อบจ. เพื่อสร้างระบบคานอำนาจระหว่างนายกและสภา มรดกตกทอดจากปี 2546 จึงเป็นโครงสร้างของ อบจ. ที่ประกอบไปด้วยนายก อบจ. และสภา อบจ. ซึ่งมีที่จากการเลือกตั้งแยกจากกัน

รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเนืองๆ เพื่อเลือกนายก อบจ. หรือ ส.อบจ. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลังอยู่จนครบวาระ 4 ปี

 

รัฐประหารผ่านไป 6 ปี ทำไมเพิ่งได้เลือกตั้ง อบจ. ตอนนี้?

 

การเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2563 ถือเป็นไม่กี่ครั้งที่เรามีโอกาสได้เลือกนายก อบจ. พร้อมกับ ส.อบจ. ในคราวเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้น อบจ. เคยเกือบถูก ‘ยุบ’ โดยคสช. เสียด้วยซ้ำ

มูลเหตุสำคัญ คือ คำให้สัมภาษณ์ของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตำหนินายก อบจ.ว่าใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง แถมในภาพรวม อบจ. ยังดูเหมือนมีอำนาจซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น เช่น เทศบาล หรือ อบต. รวมถึงช่วงหลังการรัฐประหาร คณะคสช. พยายามรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตย (bureaucratic polity) ในระดับท้องถิ่น คือกลับมาใช้ระบบ ‘แต่งตั้ง’ (สรรหา) ข้าราชการแทนการเลือกตั้ง เหมือนสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร

สำหรับประเด็นหลัง ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์เกียรติคุณคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า การรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลมักปลดคนในการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วแทนที่ด้วยข้าราชการประจำ เช่น ปลัดอำเภอ นายอำเภอ รองผู้ว่าฯ มาทำหน้าที่แทนเสมอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงเล่าลือเรื่องการยุบ อบจ. เกิดขึ้น ทำให้คนทำงานใน อบจ. ทั่วประเทศแต่งชุดดำประท้วง จนสุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกมาปฏิเสธ และใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ให้นักการเมืองท้องถิ่นที่พ้นจากเก้าอี้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม

 

“หลังยึดอำนาจ นายก อบจ. หลายสิบคนโดนเรียกไปปลดกลางอากาศ แต่หลายเดือนต่อจากนั้นก็คืนตำแหน่งให้ดังเดิม ถ้าเดาแบบชาวบ้านคงมีการต่อรองกันแล้วว่าให้เป็นเด็กดี”

 

เนื่องจาก อบจ. ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงกำหนดครบวาระ เพราะเพิ่งเลือกตั้งกันเมื่อปี 2555 กว่าจะครบก็ต้องรอถึงปี 2559 คสช.เลือกชะลอการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ เท่ากับว่า นายก อบจ. กับ ส.อบจ. ชุดเดิมไม่ต้องเปลี่ยนมือนานถึง 6 ปี

ในสายตาของธเนศวร์ นี่คือการทำให้ข้าราชการการเมืองกลายเป็นข้าราชการประจำ ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นทำงานแบบขาดความกระตือรือร้น แถมยัง ‘สยบยอม’ ต่อคณะคสช.อีกด้วย

 

6 ปีที่ผ่านมา (คสช.) ทำให้แทบทั้งหมดเป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่ในโอวาท จะทำอะไรก็ต้องดูผู้มีอำนาจสูงสุด ขืนซ่าก็โดนถอดหมดอำนาจทันที ทุกคนกลายเป็นข้าราชการกินเงินเดือนประจำ ทำงานบ้างไม่ทำงานบ้างก็ไม่มีใครว่าอะไร”

 

ธเนศวร์ ให้ความเห็นว่า อันที่จริงแล้ว ตัวเลข 6 ปีที่รั้งรอไม่ให้เลือกตั้งสักทีอาจไม่มีความหมายอะไรมาก นอกเสียจากรัฐบาลไม่ต้องการให้นักการเมืองท้องถิ่นมีโอกาสพูดปัญหาของประเทศ ไม่อยากให้เกิดพื้นที่ ‘รวมตัวกันด่า’ รัฐบาลกลาง ระหว่างประชาชนและนักการเมืองระดับชาติที่ลงมาช่วยหาเสียง ให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง

แต่ตอนนี้สถานการณ์กลับตาลปัตร ประเด็นการเมืองระดับชาติกำลังร้อนแรง เกิดการชุมนุมวิจารณ์รัฐบาลแทบทุกวัน การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจทำให้คนเบนความสนใจกลับมาสู่เรื่องในจังหวัดมากขึ้น และเป็นการหยั่งเชิงว่าถ้าต้องมีการยุบสภาจริง เลือกตั้งใหม่จริง คะแนนเสียงในแต่ละท้องที่ที่มีต่อพรรคการเมืองต่างๆ เป็นอย่างไร เพราะนักการเมืองท้องถิ่นเองก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองในระดับชาติเช่นเดียวกัน

 

เลือกตั้งครั้งนี้ คนอยากให้แก้เรื่องอะไร?

 

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถชี้วัดความนิยมของประชาชนที่มีต่อกลุ่มการเมืองระดับชาติได้ อาจไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง เพราะจากการวิเคราะห์ของณัฐกร ในรายการ 101 One-On-One “จับตาเลือกตั้งท้องถิ่นไทย” การเมืองท้องถิ่นมักดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับการเมืองระดับชาติมาตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 2549

ถ้าคนรักชอบพรรคใด ก็มักจะเลือกผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. จากพรรคนั้นแทบทั้งจังหวัด ซึ่งสำหรับณัฐกรแล้ว นี่ถือว่าเป็นการทำลายการเมืองท้องถิ่นแบบหนึ่ง เพราะคนควรจะแข่งขันกันที่นโยบายมากกว่าสังกัดพรรค

 

“เราเลือกตัวบุคคลได้ โดยไม่ต้องคิดมากว่าเขาอยู่พรรคไหน ถ้าคนนั้นมีไอเดียดีๆ ที่จะทำเพื่อพัฒนาจังหวัด แล้วเขามีความกล้า อาสามาทำ เราก็ควรจะเลือกเขา โดยไม่จำเป็นว่าเขาจะอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่พอหลังปี 2549 เป็นต้นมา ประเด็นพวกนี้ถูกลดทอนลงไป”

 

ไม่เพียงแต่ฝั่งผู้เลือกเท่านั้นที่ควรศึกษานโยบายของผู้สมัครฯ เพื่อเลือกคนทำงานได้ตรงใจ ฝ่ายผู้สมัครฯ ก็ต้องรับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อนำไปแก้ไขและพัฒนาท้องถิ่นให้ครอบคลุม ไม่รวมศูนย์ที่จังหวัดไหน หรือเขตใดเขตหนึ่ง

ตัวอย่างจากภาคกลางเป็นกรณีที่เห็นได้ชัด ว่าหลังออกจากกรุงเทพฯ ไปไม่กี่อึดใจ ความสะดวกสบายต่างๆ กลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

 

นครนายก เป็นเมืองในฝันที่ใกล้กรุงฯ ที่มีตัวเลือกระบบขนส่งสาธารณะน้อยมาก จะไปไหนแต่ละทีรอรถนานเป็นครึ่งชั่วโมง ส่วนตัวอยากให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ระบบขนส่งสาธารณะสามารถรองรับได้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ให้ใช้บริการได้อย่างทั่วถึงค่ะ”

สมุทรปราการเปลี่ยนเถอะ อย่าให้รถไฟฟ้าหลอกเราว่าเจริญ แถวบ้านแต่ก่อนเคยมีเมล์ส้ม เมล์แอร์ อยู่ดีๆ เมล์แอร์หาย ซักพักเมล์ส้มหาย มีแต่ 2แถววิ่งจาก สำโรง-บางบ่อ ตากแดดตากลมจนเปื่อย รถตู้ถ้าไม่ขึ้นจากสำโรงอย่าหวังจะได้นั่ง จังหวัดติดกรุงเทพฯ แต่การเดินทางแย่มาก ถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว”

ชาวพิจิตรของเราจะไม่ยอมน้อยหน้าค่ะ เด่นๆ เลยก็คือบึงสีไฟนี่ล่ะ ขุดไม่เสร็จสักที ขุดแล้วก็เอาดินมากอง ถึงจะเริ่มทยอยขนออกแล้ว แต่แน่นอนค่ะ ถนนรอบบึงพังไปแล้วเรียบร้อย ไหนจะบึงบัว หอชมนก บลาๆ ขนส่งสาธารณะไม่ห่วยนะคะ เพราะไม่มีค่ะ ผลงาน อบจ. มีอะไรมั่ง นึกไม่ออกค่ะ”

**ความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม แย่กว่านี้มีอีกไหม? **

 

กระทั่งจังหวัดที่ติดกับเมืองกรุงอย่างปทุมธานี ในชุมชนตลาดไทซึ่งหลายคนเข้าใจว่ามีความเจริญไม่ต่างกัน จากภาพถนนลาดยางกว้างขวาง และความคึกคักในฐานะพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมย่านการค้า แต่ความเป็นจริงแล้ว คนท้องที่ก็ยังต้องการให้ อบจ. เข้ามาดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติม เพราะเส้นทางคมนาคมที่แสนสะดวกสบาย ทำให้รถราช่างวิ่งเร็วเหลือใจ

 

“สิ่งที่เราอยากได้คือลูกระนาด รถจะได้ลดความเร็วลงบ้างเวลาขับผ่านชุมชน บางทีรถบรรทุกขับเข้ามาเกี่ยวเสาไฟขาด ก็ต้องรอหลายวันกว่าจะมาซ่อม ก็เลยคิดว่า ไม่ใช่ว่ามีถนนแล้วจะดีตลอด ต้องมีคนมาดูแลด้วย”

 

ขยับออกจากภาคกลาง อีกหนึ่งพื้นที่ที่กำลังทวีความคึกคักจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวจำนวนมากคือ ภาคตะวันออก หลังการประกาศแผนเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้มีลักษณะเป็นโลกาภิวัตน์-ท้องถิ่น หรือก็คือเป็นสังคมเมือง-ชนบท อยู่ใกล้ชิดกัน ตามคำของ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ลักษณะโครงสร้างสังคมเช่นนี้ ทำให้เกิดคนสามกลุ่มในภาคตะวันออก ได้แก่ กลุ่มชนชั้นนำที่คอยคุมทรัพยากร ผูกขาดอำนาจทางการเมืองในท้องถิ่น กลุ่มชนชั้นกลางซึ่งสนใจการเมืองระดับชาติ มักครุ่นคิดถึงคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และอนาคตของเมืองที่ตนอาศัยอยู่

ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มชาวบ้านทั่วไป เป็นผู้ที่พึ่งพาเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นอยู่มาก เพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากรและการบริหารจากราชการ ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกนักการเมืองท้องถิ่นที่ช่วยให้ตัวเขาเองสามารถเอาตัวรอดในชีวิตประจำวันได้

อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนหนึ่งจากคนตะวันออก ก็แสดงให้เห็นว่าความเจริญด้านอุตสาหกรรม อาจแปรผกผันกับค่าแรงและสาธารณูปโภคที่จำเป็น

 

“ชลบุรี เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเจริญรองจาก กทม. แต่สาธารณูปโภคพื้นฐานเข้าถึงยากมาก โดยเฉพาะรถประจำทางที่มีไม่กี่สาย ไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา ค่าครองชีพสูงพอๆ กับกรุงเทพ ค่าแรงต่ำกว่าความเจริญของจังหวัดมีแค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นแหละค่ะ นายจ้างรวยเอาๆ ส่วนมดงานก็รอไปค่ะ”

**ความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม แย่กว่านี้มีอีกไหม? **

 

ปัญหาเรื่องค่าแรงต่ำยังเกิดขึ้นในภาคเหนือ – ภาคที่ดูเหมือนการท่องเที่ยวเฟื่องฟูอยู่เนืองนิจ แต่จากคำบอกเล่าของ รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ จากสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ชี้ให้เห็นว่านอกจากเมืองชื่อดังอย่างเชียงใหม่มีค่าแรงต่ำแล้ว ภาคเหนือยังขาดแคลนแหล่งงานในท้องถิ่น จนทำให้คนส่วนใหญ่เลือกทิ้งบ้านเกิดไปหางานทำที่อื่น

 

“ผมจึงคิดว่าสิ่งหนึ่งที่คนอยากจะเห็นแน่ๆ คือจะทำอย่างไรให้เกิดแหล่งงาน เกิดการจ้างงานอย่างยั่งยืนในท้องถิ่น ทำให้คนท้องถิ่นอยู่กับบ้านได้ และอยู่แบบคุณภาพดีด้วย”

 

คำว่า ‘คุณภาพดี’ ย่อมหมายถึงการมีสุขภาพที่ดีด้วย ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาหมอกควันถือเป็นโจทย์สำคัญที่ยังไม่มีใครแก้ไข และนับวันก็ยิ่งทวีความซับซ้อน เมื่อคนเมืองและคนทำการเกษตรต่างเข้าใจปัญหานี้ต่างกัน คนเมืองมักโทษว่าเกษตรกรเป็นผู้เผาป่า เผาไร่ ซึ่งสะท้อนผ่านความเห็นส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่

 

“เรื่องควันไฟ ช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย.จะเยอะมาก คือกฎหมายห้ามเผาก็มีนะ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมควบคุมบังคับใช้ไม่ได้ ป้าๆ ลุงๆ แถวบ้านก็เผากันแบบ Don’t care เราอยากให้บังคับใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบให้เข้มข้นกว่านี้ เพราะปัญหาควันในเชียงใหม่ก็สะสมมานาน แก้กันมากี่ชาติก็ไม่หายสักที”

**ความเห็นส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม แย่กว่านี้มีอีกไหม? **

 

ไม่ว่าจะเข้าใจปัญหาหมอกควันกันอย่างไร สุดท้าย ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครกล้าหยิบยกขึ้นมาเป็นพันธกิจของท้องถิ่นภาคเหนือ ไม่มีการพูดคุยระดับนโยบายว่าทางออกร่วมกันของเกษตรกรและคนเมืองควรมีหน้าตาอย่างไร ทำให้แม้แต่คนเหนือก็ยังไม่แน่ใจ ว่า อบจ.มีอำนาจแค่ไหนในการจัดการปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเด็นด้านขนส่งสาธารณะก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ยังคาราคาซัง –โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองท่องเที่ยวใหญ่อย่างเชียงใหม่

 

“ขนส่งสาธารณะในตัวเมือง และระหว่างอำเภอ คือโก่งราคานักท่องเที่ยวสุดฤทธิ์ หรือแม้แต่คนในพื้นที่ วันดีคืนดีลืมราคาขึ้นมาก็โดนโกงจ้า รถแดงนี่ตัวดีเลย นั่งระยะเท่ากันพูดคำเมือง 20 พูดภาษากลาง 100 มันเกินไปมั้ยแม่ โกงอะไรขนาดนั้น ควรมีมาตรการ หรือ เกณฑ์ในการควบคุมราคาค่าโดยสารให้คงที่หน่อย มันเป็น Impression ของนักท่องเที่ยวด้วย บางคนมาเที่ยวเชียงใหม่สนุกๆ แต่สุดท้ายก็มาเฟล เพราะพวกรถประจำทางโกงราคานี่แหละ เห็นเคสแบบนี้หลายรายเหมือนกัน”

“เชียงใหม่รถติดมากกกกกก ค่ะ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล คือหมดเสน่ห์ความเป็นเมืองน่าเที่ยวไปเยอะมาก ทางขึ้นม่อนแจ่มแถวบ้าน เป็นทางชันขึ้นดอยนี่ติดกันระนาว เวลาขับมอเตอร์ไซค์ก็อันตรายมากกกกกก มันควรมีการบริหารจัดการจราจรที่ดีกว่านี้มั้ย หรือจำกัดนักท่องเที่ยวได้รึเปล่า เพราะความน่าเที่ยวของเชียงใหม่น้อยลงทุกวันจากการที่รับนักท่องเที่ยวเยอะมาก และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวไม่ทันนี่แหละ”

**ความเห็นส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม แย่กว่านี้มีอีกไหม? **

 

ถึงแม้จะหลีกหนีจากเหนือ ลงมาสู่ใต้ ก็ใช่ว่าปัญหาเรื่องเดียวกันนี้จะหมดไป

 

“ภูเก็ต เมืองโคตรแมสแต่การเดินทางคือลำบากลำบน คนท้องถิ่นใครไม่มีรถ ก็ต้องมอ’ไซค์ ถ้าไม่มีทั้งสองคือเป็นง่อยไปเลยจ้า บางบ้านอยู่ไกลถนนใหญ่นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย จำนวนรถโพท้อง (2 แถว) ไม่ครอบคลุมเส้นทางใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนแท็กซี่นี่มาเฟียสุด มีให้เรียกที่เดียวคือสนามบิน แถมฟันราคา

“ฝั่งป่าตองนี่ไม่ต้องพูดถึงเลยนะ มีแต่รถ 2 แถวที่เหมาอย่างเดียวอะ ไม่แปลกใจถ้าคนจะรู้สึกว่าภูเก็ตดูไม่ต้อนรับคนไทย เพราะใครมาเที่ยวเดี๋ยวนี้ต้องเช่ารถเท่านั้น พึ่งพาอะไรสาธารณะไม่ได้เลยเด้อ”

**ความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม แย่กว่านี้มีอีกไหม? **

 

ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่คนใต้ – รวมถึงคนใน 3 จังหวัดชายแดนให้ความสนใจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น การคมนาคม ไฟฟ้า ประปา

 

“นครศรีธรรมราชนะคะ

– น้ำไม่ไหล บางที่น้ำไหลแต่สีเหมือนชาเย็น เป็นมาหลายปีแล้ว

– น้ำท่วมจังหวัดทุกปี มันพอจะแก้ได้ไหม ศึกษาผังเมืองหรือหาวิธีที่พอจะทุเลาลงได้ไหม

– อยากมีรถประจำทางเพิ่ม อยากให้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาเพราะไม่มีรถส่วนตัวเดินทางลำบาก”

**ความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม แย่กว่านี้มีอีกไหม? **

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาเศรษฐกิจอย่างราคายาง-ปาล์มตก และรายได้จากการท่องเที่ยวหดหายเพราะโควิด-19 ซึ่ง ดร.สินาf มองว่าอาจเป็นประเด็นใหญ่เกินขอบเขตอำนาจของ อบจ. ต้องอาศัยอำนาจส่วนกลางเข้ามาช่วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ภาคใต้ดูเหมือนจะถูกบริหารด้วยนโยบายแบบรวมศูนย์ หลายโครงการเช่นนโยบายท่าเรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน กระทั่งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ล้วนเป็นการพัฒนาที่คนท้องถิ่นไม่เห็นด้วย เมื่อ อบจ. ซึ่งควรเป็นปากเสียงหนึ่งของคนในจังหวัดไม่สามารถช่วยเหลือได้มาก ทำให้คนใต้ไม่แน่ใจเลยว่า อบจ. จะตอบโจทย์ชีวิตพวกเขามากน้อยแค่ไหน

ฝ่าย รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามเองก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า อบจ. มีอำนาจในการจัดบริการสาธารณะอย่างจำกัด การพัฒนาแทบทุกมิติมักตกอยู่ภายใต้ดูแลของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้ยากต่อการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบบ้านเกิดของตน อย่างในภาคอีสาน มีปัญหาสำคัญคืออำนาจในการจัดการปัญหาด้านทรัพยากรไม่ได้อยู่ในมือท้องถิ่น

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดิน ป่าไม้ เหมืองแร่โปแตช เหมืองแร่ทองคำ การขุดเจาะปิโตรเลียม ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลถูกรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ซ้ำร้าย ยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจที่แตกกระจาย มีกรมกองหลายแห่งดูแลทับซ้อนกัน เมื่อเกิดปัญหาเรื่องหนึ่ง จึงต้องร้องเรียนหลายหน่วยงาน ใช้เวลานานกว่าจะได้ข้อยุติ รู้ตัวอีกที คนท้องถิ่นก็อาจจะใช้ประโยชน์อะไรจากทรัพยากรในท้องที่ตัวเองไม่ได้เลย

การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ คนอีสานจำนวนมากจึงหวังแค่ให้ผู้สมัครเข้ามาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างซ่อมถนน หรือดูแลปัญหาสาธารณูปโภคบางส่วนเท่านั้น ส่วนการพัฒนาอื่นๆ ยังคงเป็นความหวังที่ดูเลือนราง

 

“บ้านยายของเราอยู่มหาสารคาม บ้านย่าเราอยู่อุบล เป็นภาคอีสานทั้งคู่แต่แตกต่างกันอย่างชัดเจน หมู่บ้านยายเราที่มหาสารคามเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ทางเข้าเป็นถนนดินแดงๆ ซึ่งเขาก็มีแผนสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน แต่นานมาก จนเราโตแล้วก็ยังสร้างไม่เสร็จ ทำไปนิดเดียวแล้วก็ไม่ทำต่อ

“ถ้าเทียบกับอุบล มหาสารคามยังไม่ได้พัฒนาอะไรมาก เพราะบ้านยายเราอยู่นอกตัวเมืองด้วยมั้ง ทุกอย่างเลยไกลไปหมด ไปไหนมาไหนลำบากมากถ้าไม่มีรถ ถึงเดี๋ยวนี้จะมีรถประจำทางคล้ายๆ รถทัวร์ แต่เราก็ต้องมาดักรอหน้าหมู่บ้าน เพราะไม่รู้จะมาตอนไหน นานๆ ทีจะเห็นสักคัน

“ตอนเราไปอุบล เราไม่รู้สึกว่าขาดอะไรเลย อาจจะเพราะบ้านย่าเราอยู่ในเมือง เราเลยเห็นห้างเซ็นทรัล สวนน้ำ แต่มหาสารคามไม่มี เราอยากให้ทุกที่มันเจริญเท่ากัน พัฒนาไปพร้อมๆ กัน”

**ความเห็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ผู้ร่วมสนุกในกิจกรรม แย่กว่านี้มีอีกไหม? **

 

ทำอย่างไรให้อบจ. และการเมืองท้องถิ่นเข้มแข็งกว่านี้?

 

หากมองดูให้ดี บางทีความรู้สึกของใครหลายคนที่ว่า ‘เลือกอบจ.ไปก็ทำอะไรไม่ได้มาก’ อาจมีต้นตอจากเรื่องเดียวกัน คือการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางของไทย และการบริหารงานที่ทับซ้อนกันไปมาระหว่างท้องถิ่น (อบจ.) กับภูมิภาค (ผู้ว่าราชการจังหวัด)

ดังนั้น ประเด็นการกระจายอำนาจ จึงเป็นหนทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่นักวิชาการหลายท่านได้ขบคิด ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ว่าทำอย่างไรส่วนกลางจึงจะยอมปล่อยมือ วางใจ ให้ อบจ.ได้ทำหน้าที่แบบที่ควรจะเป็น หรือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

เริ่มจากข้อเสนอจาก รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง ผู้มองว่าการปฏิรูประบบต่างๆ ในปัจจุบันอาจทำได้ยาก และเกี่ยวพันกับการแก้กฎหมายหลายฉบับมาก ดังนั้น สิ่งที่ ‘ทำได้ง่ายและเร็ว’ ในเวลานี้ คือการเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ที่กุมอำนาจอยู่กับพี่น้องประชาชนโดยตรง เช่น ออกแบบกลไกให้ประชาชนได้ตรวจสอบ กำกับการทำงานของส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงให้คนท้องถิ่นได้มีสิทธิคัดเลือกผู้ที่จะมาทำงานเป็นผู้ว่าฯ คนดูแลสำนักงานราชการต่างๆ ในจังหวัดตนเอง เป็นต้น

 

“การนำอำนาจกระจายไปยังองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่หนทางเดียวในการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจที่ดีที่สุดคือการนำอำนาจไปสู่ในมือพี่น้องประชาชน”

 

ทั้งนี้ ฝ่ายอบจ. –หรือสภา อบจ. เองก็สามารถทำหน้าที่ช่วยประชาชนตรวจสอบการทำงานของส่วนกลางได้เช่นกัน เพราะมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ระบุชัดว่า สภาอบจ. สามารถเชิญผู้ว่าฯ และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดมาชี้แจงงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดได้ เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติเพื่อปกป้องผลประโยชน์คนท้องถิ่นที่ชอบธรรม

ข้อเสนอถัดมา คือมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง ดร.สินาด ตรีวรรณไชย ซึ่งให้ความเห็นเรื่องนิยามการกระจายอำนาจว่าเป็นการให้อิสระเรื่องจัดการบริการสาธารณะแก่ท้องถิ่น เบื้องต้นประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ หนึ่ง การศึกษา – มอบอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการเรื่องหลักสูตร คุณภาพครู เพื่อสร้างบุคลากรครูที่ตอบโจทย์วัฒนธรรม บริบทสังคมของแต่ละจังหวัด

สอง ทรัพยากรธรรมชาติ – เนื่องจากบางพื้นที่อย่างภาคใต้มีสัดส่วนรายได้จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวมาก ตรงกันข้ามกับรายได้จากภาคอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือมีความพยายามสร้างเขตอุตสาหกรรมขึ้นมากมายในท้องถิ่น ซึ่งมลพิษจากโรงงานอาจทำลายทรัพยากรและฐานรายได้สำคัญ ดังนั้น รัฐควรมอบอิสระให้คนพื้นที่ออกแบบนโยบายบริหารทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนอาศัยจริง

สาม คือเรื่องการกระจายงบประมาณ ดร.สินาด ได้ฝากคำแนะนำไว้สองประเด็น คือ การใช้จ่ายงบประมาณพัฒนาท้องถิ่นควรมีการประเมิน ‘ค่าเสียโอกาส’ ด้านต่างๆ ก่อนลงมือทำโครงการ เพื่อสร้างการตรวจสอบตัดวงจรนโยบายที่เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ในระยะยาว และถ้าเกิดกระจายอำนาจจริง ควรคำนึงถึงการออกแบบกลไกเก็บภาษีจากพื้นที่ที่มีรายได้เยอะ อบจ. ที่มีเงินเยอะ เพื่อกระจายงบไปสู่พื้นที่ที่มีรายได้น้อยกว่า เป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง

 

“ผมอยากจะย้ำว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่เหตุผลที่จะบล็อกการกระจายอำนาจ เรามีกลไกส่วนกลางที่แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้”

 

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่พูดเรื่องงบประมาณท้องถิ่น เขาเสนอว่า อบจ. ควรมีอิสระด้านการคลังมากกว่านี้ และรัฐควรเพิ่มสัดส่วนรายได้แก่ท้องถิ่น –อย่างน้อยให้ได้เท่ากับร้อยละ 35 ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลตามความตั้งใจเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2540 ก่อนเกิดรัฐประหาร 2549

นอกจากนี้ เราควรปรับโครงสร้างการบริหาร โดยยุบระบบภูมิภาค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเปลี่ยนเป็นผู้ตรวจการ หรือที่ปรึกษาของนายก อบจ. เพื่อให้นายก อบจ. เป็นศูนย์กลางบริหารอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมา การตัดสินใจต่างๆ ของ อบจ. ส่วนหนึ่งยังขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ หรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ในสังกัดภูมิภาคอยู่ ทำให้ อบจ.ไม่อาจขยับเขยื้อนได้ดังใจ

และถ้าจะไปให้ไกลกว่าการกระจายอำนาจสู่ อบจ. รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ เสนอว่าเราต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในการเมืองระดับท้องถิ่น — วัฒนธรรมที่ทุกคนใกล้ชิดกับการเมือง ตั้งแต่ระดับนักเรียนนักศึกษา ผ่านการเล่าเรียน พาไปดูการประชุมสภา อบจ. มีสื่อท้องถิ่นคอยตรวจสอบการทำงาน รายงานเรื่องราวและนโยบายของ อบจ. แก่ประชาชน ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สถาบันการศึกษาระดับท้องถิ่น ได้ทำงานวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และร่วมตั้งโจทย์พัฒนาพื้นที่แก่นักการเมืองท้องถิ่นมากกว่าปัจจุบัน

ประเด็นหลังนี้ เป็นสิ่งที่ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว เห็นด้วยพร้อมเสริมว่า นอกเหนือจากการที่นักวิชาการใช้ ‘องค์ความรู้ทางวิชาการ’ มาปรับให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นแล้ว ยังต้องบูรณาการกับ ‘องค์ความรู้ราชการ’ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของผู้มีอำนาจ และให้ความสำคัญกับ ‘องค์ความรู้ของชาวบ้าน’ ที่เกิดจากประสบการณ์คนในพื้นที่ด้วย จึงจะเกิดประโยชน์และใช้ปฏิบัติได้จริง

สุดท้ายแล้ว ในเมื่อการเมืองท้องถิ่นผูกพันกับการเมืองระดับชาติ ธเนศวร์ เจริญเมือง จึงมองว่าการสร้างความเข้มแข็งแก่การเมืองท้องถิ่นที่ดีที่สุดทางหนึ่ง คือยุติการทำรัฐประหารตลอดไป เพื่อให้กลไกประชาธิปไตยได้ทำงานเต็มที่ ให้คนท้องถิ่นได้เลือกตั้ง อบจ. และ ส.อบจ. หลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครบวาระ 4 ปีอย่างสม่ำเสมอ ได้มีโอกาสตรวจสอบ เรียกร้อง และเรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมืองต่อเนื่อง

เพราะถ้าห่างเหินจากการเลือกตั้งไปเนิ่นนานอีกครั้ง (หรืออีกหลายครั้ง) คนท้องถิ่นจะไม่ทันทำความรู้จักนักการเมืองหน้าใหม่ ไม่เห็นผลงานของคนใน อบจ. จนกลับไปเข้าสู่วงจรเดิมๆ เลือกคนเดิมที่รู้จัก เฝ้ารอ คาดหวัง หมดหวัง เฉยชา..

ซึ่งนั่นอาจทำให้ความสงสัยที่ว่า “#ถ้าการเมืองท้องถิ่นดี ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร” ยิ่งยากจะได้รับการคลี่คลาย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save