fbpx
ครั้งหนึ่ง “ปาตานี” เกือบจะได้เป็นส่วนหนึ่งของ Melayu Raya (Indonesia Raya)

ครั้งหนึ่ง “ปาตานี” เกือบจะได้เป็นส่วนหนึ่งของ Melayu Raya (Indonesia Raya)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

รัฐปาตานีในอดีตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยตั้งแต่ถูกผนวกอย่างเป็นทางการจากสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษในปี 1909 ซึ่งถ้าจะยอมรับกันตามตรง การผนวกรวมปาตานีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย(ยัง)ไม่ประสบความสำเร็จ การมีอยู่ของขบวนการที่ต้องการแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระ หรืออย่างเบาที่สุดคือเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนโยบายการบริหารปกครองของรัฐไทยเป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐไทยไม่สามารถกลืนกลายหรือผสมกลมกลืนทำให้คนปาตานีมีสำนึกว่าตนเองเป็น ‘คนไทย’ ได้เบ็ดเสร็จเฉกเช่นที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

ในช่วงที่ขบวนการชาตินิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เบ่งบาน และตามมาด้วยการยึดครองของญี่ปุ่น นักชาตินิยมมลายูปาตานีได้มีสายสัมพันธ์กับนักชาตินิยมมลายูในดินแดนมาเลเซียและอินโดนีเซีย จนถึงขนาดเคยเกิดความคิดที่จะสร้างประเทศเอกราชร่วมกันภายใต้ชื่อ Melayu Raya (Indonesia Raya) ทว่าแนวคิดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไนกลายเป็นประเทศเอกราชที่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง แต่ปาตานียังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้

บทความนี้จะพาไปรู้จัก Tengku Mahmood Mahyiddeen บุคคลสำคัญของปาตานีและผู้ที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์มาเลเซีย รวมถึงแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า Melayu Raya (Indonesia Raya) และเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

 

Tengku Mahmood Mahyiddeen เป็นใคร?

 

Tengku Mahmood Mahyiddeen[1] (1908-1954) เป็นบุตรชายคนสุดท้องของ Tengku Abdul Kadir Kamaruddeen (1875-1933) สุลต่านองค์สุดท้ายของปาตานี โดย Tengku Mahmood Mahyiddeen ได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนักที่รัฐกลันตันตามบิดาที่ลี้ภัยไปอยู่ที่นั่นเมื่อปี 1915[2] หลังจากถูกจับกุมและคุมขังในข้อหาเป็น ‘กบฏ’ ต่อสยาม หลังจากที่มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองให้เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ที่กลันตันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Tengku Mahmood Mahyiddeen ได้เข้าร่วมรบกับกองกำลังอาสาในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมมลายูปาตานีโดยเฉพาะในช่วงปี 1945-1949 ที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ปาตานีเป็นอิสระจากสยาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำทางการเมืองชาวมุสลิมมลายูปาตานีหลายท่าน

Tengku Mahmood Mahyiddeen ไม่เพียงเป็นบุคคลสำคัญของปาตานีเท่านั้น หากยังเป็นผู้ที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ประเทศมาเลเซียด้วย แต่ในปัจจุบัน ชื่อและเรื่องราวของ Tengku Mahmood Mahyiddeen กลับเป็นที่รู้จักของชาวมลายูปาตานีน้อยมาก ในขณะที่ชาวมาเลเซียอาจจะรู้จักเรื่องราวชีวิตของเขามากกว่าชาวมลายูปาตานี

 

ไทย ปาตานี สงครามโลกครั้งที่สอง และ Melayu Raya (Indonesia Raya)

 

ชาตินิยมมลายูในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษก่อตัวขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1920-1930 โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ได้เกิดแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า Melayu Raya หรือ Indonesia Raya คือการรวมกลุ่มคนเชื้อชาติมลายูในบริเวณอาณานิคมของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์เข้าด้วยกันเป็นชาติเดียวที่มีอธิปไตยร่วมกัน ซึ่งก็คือดินแดนของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน

แนวคิดดังกล่าวถูกนำเสนอโดยบรรดานักเรียนและศิษย์เก่าของ Universiti Pendidikan Sultan Idris ในมาเลเซีย นักชาตินิยมอินโดนีเซียเช่น ซูการ์โน และ Muhammad Yamin ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะใช้ชื่อว่า Melayu Raya เนื่องจากเป็นชื่อที่จำกัดให้คิดถึงกลุ่มชาติพันธุ์มลายูเท่านั้น แต่ในบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซียมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายมาก จึงได้เสนอชื่ออื่นคือ Indonesia Raya แทน แต่ไม่ว่าจะเป็น Indonesia Raya หรือ Melayu Raya ขอบเขตพื้นที่ที่บรรดานักชาตินิยมอภิปรายกันครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่คอคอดกระจนถึง Merauke[3] หมายความว่า นักชาตินิยมมลายูและอินโดนีเซียในขณะนั้นได้คุยกัน และเกิดแนวคิดเรื่องรวมชาติที่ประกอบด้วยคนเชื้อสายมลายูขึ้น ซึ่งปาตานีได้เข้าร่วมกับแนวคิดนี้ด้วย

ต่อมาในปี 1938 ได้มีการก่อตั้งองค์กรการเมืองของชาวมลายูชื่อว่า Kesatuan Melayu Muda (KMM) ขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ โดยมีบรรดานักชาตินิยมมลายูคนสำคัญๆ เช่น Ibrahim Yaakub, Ishak Hajdi Mohamed, Onn Haji Siraj และ Mustaffa Haji Hussin เป็นต้น KMM มีเป้าหมายคือรวบรวมกลุ่มคนมลายูเข้าด้วยกันโดยไม่คำนึงถึงถิ่นฐาน ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวมลายู และสนับสนุนแนวคิด Melayu Raya

หนึ่งในนักชาตินิยมมลายูคนสำคัญอย่าง Ibrahim Yaakub ได้จัดประชุมกับผู้นำปาตานีที่กลันตัน และมีการประชุมหารือกันเรื่องแนวคิด Melayu Raya หลังจากการประชุมครั้งนี้ได้มีมติให้ทำการเปิดสาขาของ KMM ที่ปาตานี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ได้มีการแต่งตั้งผู้แทน KMM ในการติดต่อกับผู้นำปาตานีที่อยู่ที่กลันตัน เคดาห์ และเปรัค การทำงานของ KMM จะขยายเครือข่ายผ่านโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะโดยมีการติดต่อครูที่สอนตามโรงเรียนปอเนาะต่างๆ[4]

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้รุกรานและยึดครองดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ในวันที่ 21 ธันวาคม 1941 ที่ประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองโดยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้ตอบแทนด้วยการยกกลันตัน ตรังกานู เกดาห์ และเปอร์ลิสให้แก่ไทย ต่อมา ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 1942 ตามมาด้วยการที่ญี่ปุ่นยึดสิงคโปร์ได้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนี่เองที่ Tengku Mahmood Mahyiddeen มีบทบาทในการร่วมรบเป็นทหารอาสากับกองกำลังอังกฤษต่อต้านการบุกของกองทัพญี่ปุ่น โดยเป็นผู้นำ ‘Force 136’ ทำสงครามกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นและไทยที่ดินแดนแหลมมลายู ต่อมาได้ล่าถอยไปที่สิงคโปร์ เมื่อสิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น เขาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่อินเดีย และได้จัดรายวิทยุของ All India Radio โดยรับผิดชอบการออกอากาศเป็นภาษามลายูในชื่อ ‘Suara Harimau Malaya’ ซึ่งหมายความว่า ‘เสียงเสือมลายา’ รายการนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วคาบสมุทรมลายารวมถึงปาตานีด้วย ซึ่ง Tengku Mahmood Mahyiddeen ได้เรียกร้องให้ชาวมลายูต่อต้านทั้งญี่ปุ่นและสยาม[5]

ในช่วงก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะประกาศความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง นักชาตินิยมมลายูและอินโดนีเซียต่างอภิปรายถกเถียงกันอย่างหนักถึงอนาคตของ ‘ชาติ’ ตัวเอง ซึ่งหมายถึงการประกาศเอกราช สำหรับนักชาตินิยมมลายูปาตานั้น แม้ว่าจะไม่มีสาขา KMM ที่ปาตานี ความสัมพันธ์ของผู้นำ KMM ที่กลันตันกันกับผู้นำมลายูที่ปาตานีก็ยังคงแน่นแฟ้น หนึ่งในประจักษ์พยานคือการที่มีตัวแทนจากปาตานีเข้าร่วมประชุม Kongres Malaya Merdeka ที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1945 ที่ประชุมได้หารือกันเรื่องการเตรียมการเพื่อประกาศเอกราชของประเทศให้สอดคล้องกับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย แต่สิ่งที่ผู้นำ KMM ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือ การประกาศเอกราชของอินโดนีเซียในวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ทำให้ผู้นำ KMM รู้สึกกังวลว่า ทำไมอินโดนีเซียไม่รอและ/หรือไม่รวมเอาชาติมลายูทั้งหมดเข้าไปด้วย การประกาศเอกราชของอินโดนีเซียจึงส่งผลให้การต่อสู้ของ KMM อ่อนแอลง ในที่สุด Ibrahim Yaakub ก็ได้ยุบองค์กร KMM และหนีไปอยู่ที่อินโดนีเซีย ส่งผลให้โครงการประกาศเอกราชร่วมกันของชาติของคนมลายูเป็นอันล้มเหลวลงไป และส่งผลให้ผู้นำปาตานีที่หวังว่าจะได้เป็นเอกราชก็ผิดหวังด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้นำปาตานียังมีความหวังกับอังกฤษว่าอังกฤษจะช่วยให้ปาตานีได้เอกราช

ทางฝั่ง Tengku Mahmood Mahyiddeen ได้ขอให้อังกฤษเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดินแดนตั้งแต่คอคอดกระเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ แต่ทว่าอังกฤษไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เพราะถูกอเมริกากดดัน อีกทั้งสยามยังสัญญาว่า จะให้ข้าวสารจำนวน 1,500,000 ตันแก่รัฐบาลอังกฤษในดินแดนมลายูถ้าอังกฤษไม่เรียกร้องดินแดนตรงนั้น ประกอบกับช่วงนั้นดินแดนมลายูกำลังประสบวิกฤตอาหาร รัฐบาลอังกฤษจึงจำต้องยอมรับข้าวจากไทย และในวันที่ 1 มกราคม 1946 ก็ได้มีการลงนามในสัญญาสยาม-อังกฤษ ทำให้สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเป็นส่วนหนึ่งของไทย[6]

ต่อมาในช่วงต้นปี 1948 Tengku Mahmood Mahyiddeen ได้เป็นผู้นำชาวมลายูปาตานีที่อยู่ที่มลายา โดยเฉพาะที่กลันตันก่อตั้งองค์กรการเมืองชื่อ Gabungan Melayu Patani Raya หรือ GEMPAR ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องเอกราชจากรัฐไทยและต้องการให้ปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาลายา[7] โดยได้รับการสนับสนุนจากชาวมลายูปาตานีที่อยู่ในรัฐไทยด้วยเช่นกัน

 

ส่งท้าย

 

Tengku Mahmood Mahyiddeen ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1954 หลังการถึงแก่อสัญกรรมของเขาและกรณีหะยีสุหลงถูกจับกุมและหายตัวไป ทำให้การต่อสู้ของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวมลายูปาตานีอ่อนแอลง บรรดาสมาชิกขบวนการที่ต่อสู้อยู่ในป่าเกิดความลังเลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ จะมอบตัว หรือจะต่อสู้ต่อ ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐไทยและมาเลเซียดำเนินการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทำให้ยิ่งมีชาวบ้านที่ถูกกดดันให้ต้องเข้าป่ามากยิ่งขึ้นจากการถูกกล่าวว่าหรือต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของผู้ที่เข้าป่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการต่อสู้ในแนวทางของการก่อการร้าย ทำการปล้นจี้ชิงทรัพย์มากกว่าจะเป็นการเรียกร้องเอกราช[8]

การได้รับเอกราชของมาเลเซียจากอังกฤษทำให้ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ชาวมลายูปาตานีกลับคืนมา บรรดาผู้นำชาวมลายูปาตานีทั้งที่อยู่ที่ฝั่งมาเลเซียและปัตตานีที่ก่อนหน้านี้อยู่เงียบๆ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวและมีการติดต่อระหว่างกันด้วยความหวังว่าจะสานต่อการต่อสู้ของ GEMPAR และหะยีสุหลง ซึ่งการที่ไม่มีองค์กรทางการเมืองหลังจาก GEMPAR ทำให้ขบวนการอ่อนแอ

ผลจากการประชุมของบรรดาผู้นำในคราวหนึ่งเมื่อต้นปี 1963 ก่อให้เกิดการจัดตั้ง ‘ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ’ หรือ BRN ซึ่งย่อมาจาก Barisan Revolusi Nasional (National Liberation Front) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่มีอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียว มี Haji Mohamed Amin เป็นประธาน และมี Tengku Jalal เป็นรองประธาน หลังการก่อตั้ง BRN มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในบริเวณรอยต่อไทยและมาเลเซีย ผู้นำ BRN ดำริว่า การต่อสู้กับรัฐไทยต้องใช้วิธีการ ‘ปฏิวัติ’ ตามแนวคิดสังคมนิยม จึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายของการสร้างรัฐอิสระได้ โดยใช้ยุทธวิธีสามประสาน ได้แก่ วิธีทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร

อย่างไรก็ดี แนวคิดสังคมนิยมของ BRN ไม่ได้รับการยอมรับโดยกลุ่มมลายูมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา ส่วนกลุ่มชนชั้นศักดินามลายูเดิมก็รู้สึกต่อต้าน BRN เนื่องจากหลักการต่อต้านระบบศักดินาของ BRN ยิ่งไปกว่านั้น ระบบศักดินายังคงดำรงอยู่ที่ปาตานี ชนชั้นศักดินาเดิมยังได้รับความเคารพอย่างสูงจากชาวมลายู แนวคิดต่อต้านทุนนิยมของ BRN ก็ไปขัดแย้งกับกลุ่มนายทุนที่มีอิทธิพลต่อการทำมาหากินของประชาชนชาวมลายูในพื้นที่

จึงกล่าวได้ว่า นอกจากรัฐไทยแล้ว BRN ยังไม่ได้รับการยอมรับ อย่างน้อยที่สุดก็จากสามกลุ่มดังที่ได้กล่าวไป ส่วนกลุ่มที่ยอมรับแนวคิดและอุดมการณ์ของ BRN คือกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการศึกษาแบบ ‘ทางโลก’ และกลุ่มเยาวชนที่ได้รับการศึกษาแบบศาสนา แต่ค่อนข้างเปิดกว้างต่อโลกข้างนอก[9]

ขณะที่ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 สำนึกเรื่องชาติและการเมืองที่ต้องการจะก่อตั้งเป็นประเทศของชาวมลายูมุสลิมที่ปาตานีได้เกิดขึ้น และขยายตัวในทศวรรษ 1960 และ 1970 อีกทั้งการเกิดพรรคการเมืองในประเทศต่างๆ ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมของคนมลายูในการเมืองในระบบมากขึ้น ทำให้คนมลายูมีสำนึกทางการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย และก่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมมลายูเข้มแข็งขึ้น[10] อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าสำนึกเรื่องชาติและการเมืองดังกล่าวยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร และเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน

 


[1] บางทีก็พบการเขียนชื่อเป็น Tengku Mahmud Mahyiddeen สำหรับในภาษาไทยนั้นมีการเขียนชื่อของ Tengku Mahmud Mahyiddeen ไว้หลากหลายแบบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ชีวประวัติของ Tengku Mahmood Mahyiddeen มีความสับสนและคลาดเคลื่อนอยู่หลายประการในเอกสารและหลักฐานต่างๆ ในบทความนี้ใช้การเขียนตามนักวิชาการและนักเขียนมาเลเซียที่รู้จักเป็นการส่วนตัวและสนิทสนมกับครอบครัวของ Tengku Mahmud Mahyiddeen ดู Mohd.Zamberi A. Malek, Harimau Malaya: Biografi Tengku Mahmood Mahyiddeen. Bangi: Universiti Kebangsaan Malaysia, 1999.

[2] อิบรอฮิม ชุกรี (นามแฝง), ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี, หะสัน หมัดหมาน และมะหามะซากี เจ๊ะหะ (แปล). ดลมนรรจ์ บากา (เรียบเรียง). ปัตตานี:โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, 2541, หน้า 42-43. และ Ramli Ahmad, “Pergerakan Pembebasan Patani,” Latihan Ilmiah unuk Ijazah Sarjana Muda Sastera (Sejrarah) 1975/76, Jabatan Sejarah, Universiti Malaya, Kuala Lumpur, 1975-76, p. 19. อารีฟิน บินจิ, อ. ลออแมน และ ซูฮัยมีย์ อิสมาแอล, ปาตานี…ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู, สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลาม ภาคใต้, 2558. ระบุว่า เติงกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดินกลับไปถึงปาตานีปี 1904 และในปี 1906 ได้เดินทางออกจากปาตานีไปยังกลันตันและพำนักที่กลันตันจนกระทั่งเสียชีวิต

[3] Ramli Ahmad, “Pergerakan Pembebasan Patani,” p. 57.

[4] Ramli Ahmad, “Pergerakan Pembebasan Patani,” p. 58.

[5] Nik Anuar Nik Mahmud, “Perjuangan Tengku Mahmood Mahyiddeen,” in Anuar Nik Mahmud, Nik. Mohd, dan Zamberi A. Malek (eds.),Tamadun dan Sosio-Politik Melayu Patani, Kuala Lumpur: Persatuan Sejarah Malaysia, 2007, p. 125.

[6] Ramli Ahmad, “Pergerakan Pembebasan Patani,” pp. 62-63.

[7] Majlis Permesyaratan Rakyat Melayu Patani (The Patani Malay Consultative Congress), Hidup Mati Bangsa Melayu Patani. Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani (Bersatu), 1997, pp. 20-21.

[8] Ramli Ahmad, “Pergerakan Pembebasan Patani,” pp. 81-83.

[9] นอกจาก BRN แล้วยังมีกลุ่มขบวนการอื่นๆ อีกโดยจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

[10] Ramli Ahmad, “Pergerakan Pembebasan Patani,” p. 55.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save