วจนา วรรลยางกูร เรื่อง
เป็นเวลา 6 ปี นับแต่ คสช. ยึดอำนาจและไม่ให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยให้คณะผู้บริหารเดิมอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อมา
การเลือกตั้ง อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคมนี้จึงเป็นที่น่าจับตายิ่ง เมื่อเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ หลังว่างเว้นจากการเลือกตั้งมานาน ขณะเดียวกันก็มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก พร้อมความตื่นตัวจากแต่ละพรรคและกลุ่มการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองท้องถิ่นมีความผูกพันกับการเมืองระดับชาติ แต่ละพรรคการเมืองต้องรักษาฐานความนิยมของผู้สมัครในเครือข่ายตัวเองไว้ แต่กฎหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ทำให้มีไม่กี่พรรคที่ตัดสินใจส่งผู้สมัครในนามพรรคอย่างเปิดเผย
101 พูดคุยกับ ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์เกียรติคุณคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงสิ่งที่ต้องจับตามองในการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ และการทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการเมืองท้องถิ่นหลังจากถูกแช่แข็งมาหลายปี แต่สิ่งสำคัญที่ควรถูกพูดถึงไปพร้อมกัน คือเรื่องการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถตัดสินใจเองได้ และไม่เกิดภาวะอำนาจทับซ้อนระหว่างส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเช่นในปัจจุบัน
การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร ทำไม คสช. ถึงแช่แข็งลากยาวมาขนาดนี้
การปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นเพราะรัชกาลที่ 5 และรัชกาลอื่นๆ เสด็จฯ ต่างประเทศแล้วพบว่าประเทศที่เจริญล้วนมีการปกครองส่วนท้องถิ่น พอท่านกลับมาก็สถาปนาการปกครองท้องถิ่น แต่ด้วยวิธีคิดแบบไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยจึงเอามาเพียงรูปแบบแต่ไม่ทำจริงๆ เช่น สุขาภิบาลที่เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ใช้การแต่งตั้งทั้งหมด หรือนายก อบจ. ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งควบสองตำแหน่ง ทำให้การปกครองท้องถิ่นมีภาพที่สวย แต่เป็นการแต่งตั้งจากรัฐบาลมาทำหน้าที่ปกครองแทนประชาชน
ที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะปลดคนในการปกครองท้องถิ่นแล้วแทนที่ด้วยข้าราชการประจำทั้งหมด เช่น ให้ปลัดอำเภอ นายอำเภอ รองผู้ว่าฯ มาทำหน้าที่แทน ปรากฏว่าการรัฐประหารในปี 2557 มีลักษณะพิเศษมาก คือไม่ปลด แต่ไม่ให้มีเลือกตั้ง ให้คนเดิมทำหน้าที่ต่อไปซึ่งผ่านมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว เป็นการเปลี่ยนให้ข้าราชการการเมืองไปอยู่ในตำแหน่งรักษาการแล้วกินเงินเดือนประจำ นี่คือ the bureaucratization of political officer ทำให้ข้าราชการการเมืองกลายเป็นข้าราชการประจำ อยู่กินเงินเดือนไปเรื่อยๆ เหมือนข้าราชการทั่วไป ปัญหาคือทำให้คนเหล่านี้ขาดความกระตือรือร้น ทั้งที่ปกติแล้ว นักการเมืองต้องทำงานเต็มที่ 4 ปีให้คนเห็นผลงาน ถ้าทำงานดีประชาชนพอใจก็ได้รับเลือกตั้งต่อ ถ้าทำไม่ดีประชาชนก็เขี่ยออกไป
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พวกผมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่นักการเมืองท้องถิ่นเองกลับไม่กระตือรือร้นเลย เพราะแม้ว่าไม่มีเลือกตั้ง เขาก็ได้เงินเดือนอยู่แล้ว แต่มีคนจำนวนมากที่อยากให้มีการเลือกตั้ง คือ 1.ผู้แข่งขันคนอื่นที่อยากเป็นบ้าง 2.ประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง อยากเห็นประชาธิปไตยในบ้านเมือง ไม่อยากเห็นคนเก่าที่ไม่ทำงานได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป 3.กลุ่มคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง เช่น หัวคะแนน
ผมคิดว่าเหตุที่รัฐบาลไม่ให้มีการเลือกตั้งมา 6 ปี เพราะเขาไม่ต้องการให้มีเวทีเสวนาที่จะทำให้นักการเมืองท้องถิ่นพูดเรื่องปัญหาประเทศ เป็นพื้นที่ให้ได้ด่ารัฐบาลกลาง ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง และอาจมีนักการเมืองระดับชาติแทรกลงมาหาเสียงหรือพูดตำหนิรัฐบาลด้วย
เหตุผลที่มีการเลือกตั้ง ผมคิดว่าเพราะตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศกำลังดุเดือด คนชุมนุมวิจารณ์รัฐบาลทุกวัน เขาต้องการให้คนย้ายความสนใจจากการเมืองระดับประเทศมาสู่ท้องถิ่น จึงจัดเลือกตั้ง อบจ. วันที่ 20 ธ.ค.นี้ เพื่อแปรความสนใจของคนให้หันมาคุยกันเรื่องอาหารการกิน หมอกควัน รถติดในท้องถิ่น ไม่คุยเรื่องคุณประยุทธ์ คุณประวิตร หรือศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ผมไปไหนคนก็ถามว่า “อาจารย์เลือกเบอร์ไหน” มีป้ายติดตามที่ต่างๆ มีการปราศรัยหาเสียง ทำให้ดึงความสนใจจากระดับประเทศมาได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ผมเดาว่ารัฐบาลต้องการทดสอบว่าคะแนนของกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่นเป็นอย่างไร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองระดับชาติ เช่น ถ้าพลังประชารัฐทำได้ดีก็แสดงว่าอนาคตระดับประเทศของพรรคนี้ใช้ได้ แต่ถ้าเพื่อไทยคะแนนนำก็เป็นสัญญาณไม่ดีแล้ว เขาจะจับทิศทางได้ว่าแต่ละจังหวัดคะแนนแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร
อาจารย์คิดว่าทำไมเขาให้จัดเลือกตั้ง อบจ. ก่อน แต่ส่วนท้องถิ่นระดับอื่นยังไม่มีการเลือกตั้ง
ถ้าคุณให้เลือกตั้ง อบต. หรือเทศบาลก่อน คะแนนก็จะแตกกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก เอามาทำเป็นจิ๊กซอว์แล้วภาพไม่ชัด แต่ถ้าเป็นคะแนนระดับจังหวัดจะเห็นชัดเจน ดูรู้ว่าภาคไหนเป็นยังไง ถ้าพลังประชารัฐได้ที่นั่งท้องถิ่นน้อยแสดงว่ามีปัญหา ต้องทำงานมากขึ้น
การให้เลือกตั้งระดับจังหวัดจะทำให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองต่อไปได้ คนด่าคุณประยุทธ์อยู่ทุกวัน เขาก็ต้องคิดว่าจะยุบสภาดีไหม เลือกตั้งใหม่จะดีไหม เขาก็ต้องดูคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นจึงจะตัดสินใจได้ ถ้าวันที่ 21 ธ.ค. หนังสือพิมพ์พาดหัว “เพื่อไทยผงาด 50 จังหวัด” …โอ้โห หนาวไหมล่ะ เขาต้องดูก่อนว่าคะแนนเลือกตั้ง อบจ. จะออกมาหัวหรือก้อย
ช่วงที่การเมืองท้องถิ่นหยุดนิ่ง ฝ่ายภาครัฐตั้งแต่รัฐบาลคสช.ถึงรัฐบาลประยุทธ์ ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงและสร้างอะไรไว้บ้าง
เมื่อไม่มีการเลือกตั้งมา 6 ปี อำนาจการจัดการแทบทั้งหมดก็อยู่ในมือของระบบราชการและรัฐบาลคสช. เพราะหลังยึดอำนาจ มีนายก อบจ. หลายสิบคนโดนเรียกไปปลดกลางอากาศ น่าสนใจว่าบางคนโดนเรียกตัวไปสอบหลายครั้งแล้วโดนปลด แต่หลายเดือนต่อจากนั้นก็คืนตำแหน่งให้ดังเดิม ถ้าเดาแบบชาวบ้านคงมีการต่อรองกันแล้วว่าให้เป็นเด็กดี
6 ปีที่ผ่านมาทำให้แทบทั้งหมดเป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่ในโอวาท จะทำอะไรก็ต้องดูผู้มีอำนาจสูงสุด ขืนซ่าก็โดนถอดหมดอำนาจทันที ทุกคนกลายเป็นข้าราชการกินเงินเดือนประจำ ทำงานบ้างไม่ทำงานบ้างก็ไม่มีใครว่าอะไร
ระบบราชการของไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้วอีกไม่นานก็ย้าย การบริหารของแต่ละจังหวัดจึงไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไร คนที่เป็นผู้ว่าฯ ปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุก็เตรียมดูที่ดินสร้างบ้านพักตากอากาศสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณ หาที่ดินทำร้านกาแฟให้ลูกให้หลานหรือทำรีสอร์ต ผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่จึงรักษาสภาพเดิมไว้ เราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ แล้วทุกจังหวัดมีปัญหาคล้ายกันหมด เช่น ภาคเหนือมีปัญหาเรื่องป่าไม่ได้รับการรื้อฟื้นเป็นเรื่องเป็นราว เรื่องหมอกควันมีทุกปี และปัญหาขนส่งสาธารณะเป็นเหมือนกันทุกจังหวัด ไม่มีขนส่งมวลชนที่ดี งบส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้ว่าฯ แล้วเอาไปทำอย่างอื่น เช่น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องจิตอาสา อย่าลืมว่าไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ทุกคนต้องเดินทาง แม้ว่าเศรษฐกิจจะเสื่อมทรุดมากแต่การจราจรไม่เคยหยุดเลย เพราะคนต้องเดินทาง ฉะนั้นการจราจรจึงติดขัดทุกเมืองแล้วไม่มีการแก้ไข
ช่วงที่ถูกแช่แข็งจะส่งผลถึงคะแนนนิยมของเครือข่ายอำนาจเดิมในท้องถิ่นบ้างไหม บางคนมองว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าใหม่อาจมีโอกาสมากขึ้น หรือผ่านมาหลายปีแล้วคนเก่าอาจเลิกเล่นการเมืองไป
มีความเป็นไปได้สามแบบ 1.เนื่องจากว่าหกปีมานี้ไม่มีวี่แววของการเลือกตั้งเลย คนหน้าใหม่จึงมีการเตรียมตัวน้อยมาก คนไม่ทันได้หาเสียง อย่างคณะก้าวหน้าก็หาคนได้ลำบาก อาจมีคนมาสมัคร แต่การพิจารณาคุณสมบัติยังขาดความถี่ถ้วน จังหวัดที่ไม่ชัวร์เขาจึงไม่ส่ง เพราะถ้าคนไม่ดีเข้ามาก็เสียหายเหมือนคุณศรีนวล
2.สำหรับคนหน้าเก่าที่เป็นนักการเมืองมานานพอสมควรเขาย่อมรู้อยู่แล้ว ที่ผ่านมามีงบประมาณในการทำงานส่วนรวมและหาเสียง เขาก็ทำของเขาอยู่ บางจังหวัดเก่งมาก มีการเชิญนายกเทศมนตรีและนายก อบต. มาประชุมแล้วมีรางวัลให้เล็กๆ น้อยๆ เป็นการผูกสัมพันธ์กัน คนที่เคยเป็นนายก อบจ. มาแล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะกลับมาอีก เพราะคนพวกนี้มีประสบการณ์ มีการผูกสัมพันธ์แล้วไม่ทิ้งกัน และในสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจต้องมีบ้างไม่มากก็น้อย การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การตอบแทนกันก็น่าจะมีพอสมควร
มีนายก อบจ. 3-4 คน ที่เคยเป็นมาแล้ว 5 สมัย เท่ากับ 20 ปี ก็มีแนวโน้มจะได้เป็นอีก สมาคมนายก อบจ. แต่ละภาคก็มีการดูแลกัน เช่น นายก อบจ.ภูเก็ตจะขึ้นมาเชียงรายก็โทรไปบอกนายก อบจ.เชียงรายว่าจะมีลูกน้องไปเที่ยวสี่คันรถ เขาก็เตรียมโรงแรมราคาถูกให้ เลี้ยงอาหารฟรีหนึ่งมื้อ มีคนพาไปเที่ยว แจกขนม แจกของฝากจากเชียงราย คราวหน้าเชียงรายอยากหาเสียงบ้างก็พาประชาชนไปดูทะเลภูเก็ต เป็นการแลกเปลี่ยนและช่วยกันโดยปริยาย คนเก่าจึงมีโอกาสสูงและมีแรงสนับสนุนเยอะ
3.โอกาสที่คนใหม่จะเข้ามาก็มีเหมือนกัน ถ้านายกคนเก่าแก่มากแล้ว ไม่เอาแล้ว นี่จะเป็นการเจอกันของคนหน้าใหม่กับนายกคนเก่า โอกาสจะสูสีกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครคนใหม่โดดเด่นแค่ไหน หรือถ้าทีมเก่าห่วยแตกไม่ดูแลชาวบ้านเลย ภาษาเหนือเรียกว่า “ก้าย” คือเบื่อมาก ไม่ไหวแล้ว เอาคนใหม่ดีกว่า คนใหม่ก็จะมีโอกาสเหมือนกัน
ตอนนี้เชียงใหม่กำลังตื่นเต้นกันมาก เพราะคุณจตุพร พรหมพันธุ์ มาเชียร์คุณบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ คนที่รักเพื่อไทยก็จะเลือกเพื่อไทยต่อไป แต่อีกส่วนหนึ่งคล้อยตามคุณจตุพรที่มาเชียร์คุณบุญเลิศ ตอนนี้เป็นการทะเลาะกันระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อแดง กลายเป็นว่าเสื้อแดงทักษิณหรือเสื้อแดงพลังประชารัฐ แต่คุณบุญเลิศเขาไม่ใช้คำว่าพลังประชารัฐ เขาบอกว่าลงในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม…ดูลีลาเขาสิ
พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นปี 2562 จะทำให้เราเห็นภาพการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างไปแค่ไหน
ผมว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะไม่มีการเตรียมการอะไรเลย ถ้ารัฐบาลประกาศล่วงหน้าว่าอีกกี่เดือนข้างหน้าจะเลือกตั้ง คุณธนาธร คุณปิยบุตร หรือคุณทักษิณอาจขยับได้มากกว่านี้ แต่นี่ไม่ได้เตรียมอะไรเลย
การปกครองท้องถิ่นทุกระดับ อบจ .อบต. และเทศบาล เป็นระบบเลือกตั้งนายกโดยตรงเหมือนกันหมดเลย เป็น strong executive system คือระบบผู้บริหารเข้มแข็งเพราะมาจากการเลือกโดยตรง เมื่อมีผู้บริหารเข้มแข็งก็มีแนวโน้มที่จะฉ้อฉลอำนาจหรือโกงได้ จึงต้องมีการตรวจสอบที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน วิธีการที่ดีคือมีสภาเป็นผู้ตรวจสอบ แต่กลายเป็นว่าวันนี้เป็นการเลือกตั้งเป็นทีม ผู้สมัคร ส.จ. จับมือกับผู้สมัครนายก อบจ. พรรคเดียวกันเลือกด้วยกัน แล้วใครจะไปตรวจสอบการทำงานของนายก อบจ.เมื่อเป็นทีมเดียวกันหมด ผลก็คือไปรับประทานด้วยกัน นี่คือปัญหาใหญ่ของปรัชญาที่ผิดพลาดของการปกครองท้องถิ่น
ตอนปี 2546 ที่ผมรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.โดยตรง ผมไม่เคยคิดว่าจะเกิดเรื่องเลวๆ แบบนี้เลย แทนที่สภาจะไปตรวจสอบนายก กลับไปอยู่ทีมเดียวกัน แล้วกระทรวงมหาดไทยก็ยอมให้จับมือกัน ทั้งที่ระบบนี้ต้องแบ่งการทำงาน ตรวจสอบการทำงาน ประชาชนเลือก ส.จ. ให้ไปทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารแทนประชาชน แต่กลายเป็นไปสมสู่กันเสียนี่
แล้วระบบต้องแก้ไขอย่างไรเพื่อให้สภาทำหน้าที่ตรวจสอบได้จริงๆ
1.ห้ามสมัครทีมเดียวกัน ต้องแยกกันเด็ดขาด ไม่ให้อยู่กลุ่มเดียวกัน ส่วนจะไปแอบอยู่ด้วยกันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ห้ามประกาศเป็นทีมเดียวกัน ให้ถือว่าผิดกฎหมาย
2.จะต้องยุติการทำรัฐประหารตลอดไป ให้มีการเลือกตั้งต่อเนื่องทุก 4 ปี เพราะผมเลือกนายก อบจ. ไปแล้วไม่ทำอะไรเลย 4 ปีผมก็ไม่เลือกอีกแล้ว หรือผมเลือก ส.จ. ไปแล้วไม่เคยเห็นหน้า ไม่ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เลย มีปัญหาโทรติดต่อก็ไม่รับสาย ใครจะเลือกคุณอีกล่ะ การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของประชาชนในการตรวจสอบและเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารทำอะไร การเลือกตั้งที่ต่อเนื่องจะให้ความรู้และประสบการณ์ทางการเมืองแก่ประชาชน เพราะการปล่อยให้เลือกเป็นทีมได้แบบนี้มันเสียหายมาก ประชาชนก็ไม่รู้
พอนานๆ ทีจะมีเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้คนมีแนวโน้มจะเลือกคนเก่าสูง เพราะยังไม่ทันรู้จักชื่อคนใหม่ที่เพิ่งหาเสียงเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว คนเก่าไม่ดีคนก็ไม่รู้ เพราะโดนยึดอำนาจไปเสียก่อน ไม่ทันได้โชว์ฝีมือ การเมืองไทยจึงเป็นการเมืองของตระกูลคนเก่าต่างๆ ที่อยู่มาต่อเนื่อง ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีก็เลือกไป เพราะคุ้นนามสกุล การรัฐประหารทำให้กระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนหยุดชะงักแล้วจบลงที่เลือกตั้งคนเก่า
3.ต้องบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในการศึกษา คนที่จะรู้เรื่อง อบจ. อบต. เทศบาล คือคนที่เรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนักศึกษา 4 หมื่นกว่าคน มีคนเรียนรัฐศาสตร์อยู่ 70 คน นอกนั้นไม่รู้เลย เพราะไม่เคยเรียนและไม่สอน
แค่สามข้อนี้ก็เหนื่อยแล้วถ้าทำได้
สิ่งที่พรรคการเมืองกลัวกันคือกฎหมายห้ามช่วยหาเสียง เป็นไปได้ไหมที่นักการเมืองหรือข้าราชการจะไม่ไปช่วยหาเสียงหรือให้การสนับสนุนผู้สมัครที่เป็นเครือข่ายกัน
เป็นไปไม่ได้ด้วยสองเหตุผล 1.การโทรศัพท์ติดต่อส่งข้อความถึงกันทำได้หมด การใช้อิทธิพลอย่างอื่นก็ทำได้หมด 2.ถ้า กกต. อยู่ฝ่ายไหนก็แล้วแต่ว่าจะเล่นงานใคร
ในทางกฎหมายเรื่องนี้จึงยาก มีแต่การเลือกตั้งต่อเนื่องเท่านั้นที่จะช่วยขัดเกลาให้คนทำงานจริงเข้ามาได้ แต่ที่เขาทำอย่างนี้ได้ เพราะมีพวกกันอยู่ไม่กี่คนแล้วติดต่อกันได้ ถ้า กกต. เห็นด้วยกับพวกเขา เวลาทำผิดก็ทำเป็นไม่เห็นเสียก็จบ คนเราเป็นพี่น้องกันก็ต้องช่วยกันอยู่แล้ว ยิ่งข้าราชการเก่ามาลงการเมืองยิ่งขอกันง่ายมาก
การเมืองระดับชาติส่งผลแค่ไหนต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง เช่นคนที่ลงในนามพรรคจะสามารถชนะกลุ่มตระกูลที่มีอิทธิพลในพื้นที่ได้หรือไม่
เวลานี้เป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคราชการคือรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่ กับพรรคฝ่ายท้าชิง ยกตัวอย่างถ้าคุณเป็นคนเสื้อแดง รักเพื่อไทยมาก ก็มีโอกาสที่คุณจะลงคะแนนให้คนที่เพื่อไทยส่ง คนที่รักพรรคไหนเขาก็รักอย่างนั้น แต่คนที่โลเลคือคนกลางๆ ที่อาจรู้สึกว่าทักษิณก็ดีนะแต่ตอนนี้เขาไม่อยู่แล้ว เศรษฐกิจเราก็ไม่ดี แล้วพอมีคนมาจ่ายให้เขาจะเอนเอียงไหม ด้านหนึ่งจตุพรก็เปลี่ยนใจแล้ว ณัฐวุฒิก็ติดคุก สุดารัตน์ก็ไปแล้ว ขุนพลพรรคเพื่อไทยก็ไปแล้ว คนที่รักก็รักไปแต่อุดมการณ์จะอยู่ยาวแค่ไหน นี่เป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายอื่นที่มีเงินจะเข้ามามีบทบาทโดยใช้ระบบราชการ ผมได้ยินบางคนบอกว่าไม่ว่ายังไงก็จะเลือกเพื่อไทย ก็แล้วแต่ความเข้มแข็งทางอุดมการณ์ แต่ยืนยันได้ว่าคนที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจจะต้องหวั่นไหวแน่นอน
การส่งผู้สมัครของคณะก้าวหน้าจะมีผลต่อการเลือกตั้งไหม เช่นการพยายามหาเสียงเชิงนโยบาย หรือปลุกคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่น
มีผลครับ ทำให้คนจำนวนหนึ่งตื่นตัวมากขึ้น เช่นที่คุณพรรณิการ์ วานิชพูดถึงสภารับเหมา สภาผูกขาด สภาเล่นเส้นเล่นสาย มันทำให้คนตื่นตัว แต่ปัญหาคือคนที่จะไปลงคะแนนแต่ละอำเภอมีแค่ไหน อย่างเชียงใหม่ ส.ส.เขต 1 คือเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ได้ที่สอง แสดงว่าคนรุ่นใหม่เชียร์มากเลย แต่แพ้ไป 2 พันกว่าคะแนน คำถามคือแล้วจังหวัดไหนมีจำนวนคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษามาก ถ้าคุณสมบัติผู้สมัครอีกฝ่ายแย่มาก ผู้สมัครก้าวหน้าก็มีสิทธิชนะบางเขตในอำเภอต่างๆ
เรื่องการประท้วงจะส่งผลแค่ไหนต่อการตัดสินใจของคน
ก็มีส่วน พวกที่ออกมาประท้วงคือสายประชาธิปไตย รวมถึงผู้สนับสนุนอนาคตใหม่ คนที่เข้าชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ แน่นอนว่าเขาต้องเลือกฝ่ายประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่คำถามคือมันมากพอไหมล่ะ อย่างอำเภอเมืองเชียงใหม่ถือว่ามีเยอะ เป็นคนหนุ่มคนสาวมาเรียนในเชียงใหม่ที่มี 8-9 มหาวิทยาลัย คราวที่แล้วเขาแพ้เพื่อไทย คราวนี้จะมีมากพอที่จะสู้กับเพื่อไทยและพลังประชารัฐไหม
ผลการเลือกตั้ง อบจ. จะมองว่าเป็นนัยถึงการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปได้แค่ไหน
ผลการเลือกตั้ง อบจ. มีผลแน่นอน ทั้งทำลายฝ่ายตรงข้ามและเป็นการวางภาพยุทธศาสตร์การเมืองระดับประเทศว่า แนวโน้มที่จะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งมีสูงขนาดไหน หรือคะแนนจะออกมาชนิดที่ว่าเอาเงินไปแจกเป็นอำเภอๆ แล้วคนยังเลือกเพื่อไทยอยู่ ผมไปเจอคนพูดแซวกันว่า “รับเงินหมากาเบอร์ 1” หมายถึงผู้สมัครเพื่อไทยเชียงใหม่เบอร์ 1 ปัญหาคือคนแบบนี้จะมีเยอะขนาดไหน ถ้าอุดมการณ์ง่อนแง่นก็อาจคิดว่าอุตส่าห์รับเงินเขามาแล้วต้องตอบแทนบุญคุณสิ
อาจารย์มองบทบาท อบจ. ที่ผ่านมาอย่างไร มีความใกล้ชิดประชาชนขนาดไหน ประชาชนจะรู้สึกว่าต้องมีส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้แค่ไหน
ผมคิดว่าประชาชนก็ผูกพันนิดหน่อย ภูมิใจที่มี ส.จ. ของตัวเองไปนั่งในสภาและมีนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ อบจ. มีบทบาทไม่ชัดเจน พอหาเสียงก็พูดดี บางทีไม่ได้ทำก็พูดดี บอกว่าจะดูแลเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เนื่องจากประชาชนบ้านเราไม่สามารถจัดระบบความคิดได้ เช่น ทำไมกรุงเทพมีรถไฟฟ้าแต่เราไม่มี ทำไมปัญหาหมอกควันไม่จบ ซึ่งปัญหาอยู่ที่ว่านายก อบจ. ทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างติดอยู่ที่ผู้ว่าฯ
ระบบเลือกตั้งเป็นการทำให้คนสบายใจ รู้สึกว่ามีคนของเราเข้าไป เขาต้องฟังเรานะ แต่เราก็เห็นว่าไม่มีจังหวัดไหนเลยที่มีรถราง ยกเว้นขอนแก่น นอกนั้นไม่มีจังหวัดไหนที่ อบจ. มีบทบาท เพราะบทบาทจำกัดมาก ผู้ว่าฯ คุมหมดเลย นายก อบจ. ก็ใช้วิธีหยวนๆ ไม่ทะเลาะกับผู้ว่าฯ เพราะผู้ว่าฯ เป็นคนอนุมัติทุกโครงการ อยู่กันไปแบบนี้เพราะระบบราชการซ้อนกันระหว่างนายก อบจ.กับผู้ว่าฯ ในระยะยาวก็แก้ปัญหาไม่ได้
ผมคิดว่าต้องมีซีอีโอคนเดียว เลือกว่าจะเอาแบบผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งหรือเอาแบบมีนายก อบจ.แล้วไม่มีผู้ว่าฯ ไปเลย
ผมเคยเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง มีผู้ว่าฯ ซีอีโอคนเดียวไปเลย อย่างนี้จะชัดเจน อยู่ 4 ปีทำอะไรได้มาก แล้วถึงตอนนั้นคนจะต้องแข่งกัน ตอนนี้มันปิดหมด มีนายก อบจ.แล้วยังมีผู้ว่าฯ อีก ปัญหาก็หมักหมม 10-20 ปี ทุกจังหวัดปัญหาคล้ายกันหมด
ประชาชนอาจรู้สึกว่าที่จริง อบจ. อาจทำอะไรไม่ได้มาก เราจะทำให้เขาเห็นได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญ
ก็อย่างที่บอกว่าอยู่ๆ ไป มีเลือกตั้งก็ไปเลือกตามหน้าที่ อย่างที่เขาพูดว่าเป็นพลเมืองดีไปเลือกตั้งเพื่อรักษาประชาธิปไตย เราจึงต้องยกระดับการต่อสู้ทางการเมือง ตอนนี้เยาวชนที่ตื่นตัวต่อสู้ในระดับประเทศหมดเลย แต่ท้องถิ่นอ่อน ด้านหนึ่งเพราะไม่ได้เรียนมา ไม่มีความรู้ว่าการปกครองท้องถิ่นสำคัญยังไง เยาวชนก็ไปชุมนุมระดับประเทศหมดเลย ไม่ค่อยสนใจท้องถิ่น ใครลงเลือกตั้งก็ไม่สนใจ เป็นอย่างนี้ถึงมีปัญหา
ถ้าคุณยังมีระบบแบบนี้ นายก อบจ.ไปกินบ้านกินเมือง ในความเป็นจริงก็ทำได้แค่นี้แหละ เราต้องรณรงค์กันเรื่องผู้ว่าฯ ซีอีโอหรือให้นายก อบจ. มีอำนาจคนเดียว ไม่ทับซ้อน ทำให้เต็มที่ไปเลยจึงจะแก้ปัญหาได้
เรายังทำไม่ได้เพราะความตื่นตัวของประชาชนยังไม่ถึงขั้นนั้นก็ต้องทนไปก่อน กรณีเกาหลีใต้เขาไล่รัฐบาลเผด็จการก่อน พอรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมาก็รื้อระบบราชการส่วนภูมิภาคทิ้ง ให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่ต้องซ้ำซ้อนกันระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่น
เราต้องอาศัยกำลังที่ใหญ่กว่านี้ในการเปลี่ยนประเทศ เราต้องใช้เวลา จึงกลับไปประเด็นที่ผมบอกว่า 1.อย่าเลือกตั้งเป็นทีม 2.ต้องหยุดรัฐประหารให้ได้ ให้การเลือกตั้งต่อเนื่องทุก 4 ปี 3.จัดระบบการศึกษาเรื่องนี้ นี่เป็นกระบวนการแก้ไขระดับประเทศทั้งหมดเลย