fbpx
“ประเทศไทยจะมีเกียรติภูมิ ถ้าเราเป็นประชาธิปไตย” – ‘ทูตนอกแถว’ รัศม์ ชาลีจันทร์

“ประเทศไทยจะมีเกียรติภูมิ ถ้าเราเป็นประชาธิปไตย” – ‘ทูตนอกแถว’ รัศม์ ชาลีจันทร์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่องและภาพ

 

ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองอันร้อนระอุอย่างไม่มีวี่แววจะเย็นลง ย่างก้าวเข้าเดือนพฤศจิกายน เดือนที่ 4 ของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย การปรากฏขึ้นของเพจ ‘ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador’ พร้อมข้อเขียนว่าด้วยการเมือง การต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ ฉบับที่เรียกได้ว่า ‘นอกแถว’ สมชื่อ สั่นสะเทือนสังคมไทยอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์สถานการณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมา การเล่าประวัติศาสตร์การเมืองและการต่างประเทศที่พาสังคมไปไกลกว่าตำรา หรือการกลั่นกรองประสบการณ์ชีวิตนักการทูตฉบับที่เรียกได้ว่ายากที่จะหาอ่านได้ ไม่มีช่วงเวลาใดแล้วจะเหมาะสมมากไปกว่านี้ที่จะคุยกับ รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เรียกตนเองว่า ‘ทูตนอกแถว’

และแน่นอนว่า ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็น ‘อดีตทูต’ เปิดหน้าสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่ทุกย่างก้าวกำลังเดิมพันกับอนาคตของประเทศ คำปราศรัยของรัศม์จากการประท้วง ‘#ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป’ เปลือยให้เราอ่านความคิดและความหวังของเขาต่อประเทศชาติ

“หากไปดูประวัติศาสตร์ในโลกแล้ว จะเห็นว่าไม่มีเผด็จการขวาจัดที่ไหนที่ทำให้ประเทศเจริญได้จริง มีแต่ทำให้ตกต่ำทั้งสิ้น เรามาอยู่ที่นี่จึงเป็นไปเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือต้องการให้ประเทศก้าวหน้าและเจริญขึ้น ซึ่งมีอยู่สิ่งเดียวคือต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของเรา นี่คือเกณฑ์มาตรฐานของโลก ไม่ใช่ความเห็นของผมคนเดียว เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การต่อสู้นี้อาจกินเวลานาน แต่คนเราเกิดมาต้องมีความหวัง ต้องการเห็นสิ่งที่ดีขึ้น แม้จะยากลำบาก แต่เรามีฝัน เชื่อว่าเราจะก้าวไปและทำฝันนั้นให้สำเร็จ”

ในวันที่ประชาธิปไตยยังไม่กลับคืนสู่มือของประชาชนได้อย่างแท้จริง 101 สนทนากับ ‘ทูตนอกแถว’ รัศม์ ชาลีจันทร์ ว่าด้วยการนักการทูต-การทูตไทยใต้เงาเผด็จการ และเหตุที่ว่าทำไมประชาธิปไตยคือ ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ ที่แท้จริง

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นของเพจ ‘ทูตนอกแถว’ ทำไมจึงตัดสินใจออกมาเปิดเพจเขียนเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเปิดหน้าแสดงจุดยืนในห้วงเวลาที่การเมืองแหลมคมเช่นนี้

พอเกษียณแล้ว ผมรู้สึกว่าต้องหาอะไรทำ จริงๆ ผมแสดงความเห็นเรื่องการเมืองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ได้เพิ่งพูด เพียงแต่ว่าเราเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว วงที่รับรู้เลยจำกัด ไม่ได้กว้างมาก พอเริ่มมีคนสนใจข้อเขียนเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนมาขอแอดเป็นเพื่อน เลยตัดสินใจเปิดเพจสาธารณะ รับผู้อ่านวงกว้างไปเลย เพราะคนที่เขามาไลก์โพสต์ก่อนหน้านี้อาจจะชอบประเด็นหรือความคิดเห็นเรื่องการเมืองการต่างประเทศ จะได้ไม่ไปปนกับเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องทั่วๆ ไปที่อยากโพสต์ในแอคเคาต์ส่วนตัวอย่างเดียว คิดว่าการเอาประสบการณ์ หรือความคิดเห็นมาแชร์ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้างไม่มากก็น้อย

ที่กล้าออกมาแสดงความเห็นเรื่องการเมือง อาจจะเพราะผมเป็นคนกล้าแสดงออกอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียว เรื่องงานก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นว่ามีอะไรไม่ถูกต้อง หรือมีอะไรที่ผมรู้สึกว่า ‘มันควรจะเป็นอย่างนี้ดีกว่าไหม’ ผมจะพูดความเห็นออกมาเสมอ ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่สั่งอะไรแล้วนิ่งเงียบ รับฟังอย่างเดียว

ผมเป็นคนที่กล้าตั้งคำถามกับทุกเรื่องมาตั้งแต่เด็กแล้ว เวลามีชุดข้อมูลชุดหนึ่งเข้ามา ผมจะตั้งคำถามโดยอัตโนมัติทันที ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่มันทำให้เราคิดตามอยู่ตลอดเวลา อาจจะเป็นกรรมเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

 

เห็นได้ชัดว่าคุณสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อาจพูดได้ว่าสวนทางกับคนในรุ่นเดียวกันหลายคนที่ ‘ไม่สนใจการเมือง’ หรือมีความคิดแบบอนุรักษนิยม อยากทราบว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสนใจการเมือง อะไรบ้างที่มีส่วนหล่อหลอมความคิดทางการเมืองของคุณ

ผมสนใจการเมืองตั้งแต่ยังเด็กเพราะทางบ้าน คุณพ่อคุณแม่ผมเรียนที่ฝรั่งเศส เป็น intellectual bohemian ทั้งคู่เป็นคอการเมือง คุยเรื่องการเมืองกันในบ้านเป็นปกติ มาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ ผมก็ได้ยินตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ ซึมซับเรื่องการเมืองมาตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ได้เพิ่งมาตื่นตัวทางการเมืองแบบพวก political naïve ที่ตื่นตัวแค่วันสองวันแล้วคิดว่ารู้ คิดว่าเข้าใจการเมืองการปกครองแล้วออกมาเป่านกหวีด แต่ตอนนี้ไม่ตื่นตัวแล้ว เลิกสนใจแล้ว ผมอยากถาม คุณเลิกสนใจการเมืองได้เหรอ

สิ่งที่อยากบอกคือ ปัญหาบ้านเมืองที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้มีส่วนมาจากเจเนอเรชัน เพราะเจเนอเรชันรุ่นพ่อแม่ของผม หรือรุ่นราวคราวเดียวกับผม ถูกสอนมาในระบบการศึกษาไทยที่ไม่สอนให้คิด ไม่ได้สอนให้ตั้งคำถาม ถูกสอนให้เชื่อ ยิ่งสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก การเข้าถึงข้อมูลจำกัดกว่าสมัยนี้มาก ยิ่งถ้าไม่สนใจ คุณก็รับข้อมูลอยู่ชุดเดียวโดยที่ไม่ตั้งคำถาม แต่บางทีจะโทษแต่คนที่ถูกสอนให้เชื่ออย่างนั้นก็โทษลำบาก

ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองแล้วออกมาประท้วงตอนนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่เขาเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้นด้วย แต่ในมุมของผม คนเจเนอเรชันนี้น่าสงสารมาก สภาวะการเมืองเศรษฐกิจประเทศไทยในตอนนี้กดทับพวกเขามาก อย่างผมอายุ 60 ปี หรือมองไปยุคก่อนหน้านั้น ผมไม่เคยเห็นยุคไหนที่กดทับประชาชนหนักเท่านี้มาก่อน

แต่ผมเห็นความหวัง คนรุ่นใหม่เก่งมาก กล้ามาก เขามีความกระตือรือร้นที่จะรับรู้ข้อมูลต่างๆ มากมาย แล้วพอออกมาประท้วง ก็ไม่มีที่ไหนในโลกที่เยาวชนจะออกมาจัดการ บริหารการประท้วงได้เก่งขนาดนี้

 

คุณมองว่าสมัยก่อนเสรีกว่าตอนนี้?

ก่อนหน้านี้อย่างในยุคจอมพลถนอม แม้จะไม่ได้มีเสรีภาพทางการเมืองก็จริง หรือแม้กระทั่งในยุคที่ผมเกิดไม่ทันอย่างยุคจอมพลสฤษดิ์ ก็มีเหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายเหตุการณ์มาก จับคนไปยิงทิ้งโดยที่ไม่ผ่านการพิจารณาคดี ฆ่าทิ้งก็เยอะ หรืออย่างช่วง 6 ตุลาก็มีความรุนแรง แต่สภาพสังคมเศรษฐกิจไม่ได้กดทับมากขนาดนี้ ไหนจะเรื่องหางาน ตกงาน ลงทุน จบปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 15,000 บาท จะอยู่กันได้ยังไง ตอนนี้ปัญหาบ้านเมืองเราไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว ทุกด้านมันล็อกหมด กดทับจนเด็กรุ่นนี้ไม่เห็นทางออกว่าอนาคตเขาจะไปทางไหนต่อ เด็กสมัยนี้โดนหนักกว่าคนรุ่นก่อนๆ มาก สภาวะเช่นนี้เลยบีบให้เขาต้องออกมา ผมเห็นใจพวกเขามาก

 

แน่นอนว่า ‘สนใจ’ การเมือง กับการ ‘แสดงจุดยืนทางการเมือง’ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน สังคมไทยเราก็มักจะมีคำกล่าวอยู่เสมอว่า “ข้าราชการต้องเป็นกลาง” ข้าราชการเกษียณอย่างคุณมองความเป็นกลางอย่างไร

ตามหลักการก็ควรจะเป็นกลาง แต่ขอถามว่าใครที่ไม่เป็นกลางทางการเมืองที่สุด ข้าราชการนี่แหละ รัฐประหารก็ฝีมือข้าราชการ

ต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า ‘เป็นกลาง’ หมายความว่า ‘ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ (partial) หน้าที่ทางราชการต้องตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะมีความคิดทางการเมืองแบบไหนก็ตาม ก็ต้องทำงานให้ได้หมด ไม่ใช่ว่าขึ้นอยู่พรรคการเมือง หรือฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในฐานะข้าราชการ คุณต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่ในฐานะประชาชนพลเมือง เรามีสิทธิที่จะแสดงออก แต่ไม่ว่าจะเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง มันไม่สำคัญเท่ากับที่ต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือไม่ และคุณต้องรู้ได้แล้วว่าชาติคือประชาชน

 

การเมืองตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เอาเข้าจริงแล้ว นักการทูตแสดงออกทางการเมืองได้ไหม

ผมไม่คิดว่าการแสดงออกจะมีผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานมากนัก ต้องถามตัวเองว่า เรากลัวเกินไปหรือไม่

ผมเชื่อในการเคารพตัวเอง คนเราต้องมีจุดยืน คุณอาจต้องเลือกว่าจะเงียบหรือจะกล้าพูดออกมา ถ้าพูดก็อาจจะมีผลกระทบตามมาบ้าง แต่ถ้าคุณเลือกไม่พูด มันก็แลกมากับการเคารพตัวเอง

ถ้าถามผม ผมคิดว่าน่าจะช่วยกันออกมาพูดได้มากกว่านี้ ผมมองว่าผู้บังคับบัญชาไม่มีสิทธิมาเพ่งเล็งความเห็นทางการเมือง ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหนก็ตาม หรือเพ่งเล็งว่าใครไปประท้วงตราบเท่าที่ไปนอกเวลาราชการ คนที่เพ่งเล็งคือคนที่ผิดด้วยซ้ำ เพราะคุณละเมิดสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ การกดเขาไม่ให้มีความคิดเป็นเรื่องร้ายแรงนะ ที่จริงร้องเรียนได้ด้วยซ้ำ เพราะมันพิสูจน์ได้ว่าคุณมีอคติ เลือกปฏิบัติเพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมือง

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไทยผ่านความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายระลอก ตั้งแต่พฤษภา 35 การเมืองสีเสื้อเหลืองแดง จนถึง กปปส. เมื่อเทียบกับปัจจุบัน นักการทูตแสดงออกทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

สมัยพฤษภา 35 เพื่อนๆ นักการทูตก็ไปร่วมประท้วงหลายคน หลังวันที่มีการปราบปรามประชาชน คนในกระทรวงก็ใส่ชุดดำ ไม่ได้มีความขัดแย้งตึงเครียดอะไร ส่วนช่วงพันธมิตร นปช. จนมาถึงสมัย กปปส. เป่านกหวีด ก็มีข้าราชการไปร่วมประท้วงเยอะ ถามว่าสิ่งเหล่านี้ต่างกับสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ไหม ก็ไม่ แต่ทำไมพอผมแสดงจุดยืนทางการเมืองแล้วถึงมีคนออกมาเตือน เหมือนกับว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

 

เคยได้ยินมาว่า ไม่ใช่นักการทูตทุกคนที่จะสนใจการเมือง  

ก็คงเหมือนทุกอาชีพที่มีทั้งคนที่สนใจและไม่สนใจ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่รับรู้ สนใจ แต่ ‘อิน’ หรือไม่อิน จุดยืนอยู่ตรงไหน แสดงออกหรือไม่แสดงออกก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่กล้าพูดก็มี แต่ไม่ว่าจุดยืนคุณจะเป็นอย่างไร คุณต้องสนใจเรื่องบ้านเมือง ผมไม่เข้าใจคนที่ไม่สนใจการเมือง ยิ่งเป็นนักการทูต ต้องรู้ว่าสถานการณ์ประเทศเราเป็นอย่างไร มันเป็นหน้าที่ของนักการทูตที่ต้องคุย ต้องอธิบายให้โลกเข้าใจ

 

บรรยากาศทางการเมืองภายในที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการส่งผลต่อการดำเนินการทูตบ้างไหม

แน่นอน รัฐประหารไม่ได้มีผลแค่การต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มันส่งผลทั้งต่อประเทศอยู่แล้ว แต่ถ้ามองแค่การต่างประเทศ ในบริบทโลกปัจจุบัน การเป็นเผด็จการไม่เป็นผลดีเลย เพราะในการดำเนินการทูต เราต้องพยายามสร้างตัวเลือกที่หลากหลายให้ประเทศมีทางเลือกในการดำเนินนโยบาย ไม่ใช่จำกัดให้ตัวเลือกของประเทศเหลือน้อยลงจนแทบไม่มีตัวเลือก

ถ้าจะให้มีตัวเลือกมากขึ้น เราต้องเป็นมิตรกับประเทศตะวันตกที่เขามีค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย ถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตย ก็บีบให้เรามีทางเลือกน้อยลง มีประเทศอื่นที่จะคบค้าได้ด้วยน้อยลง และไม่สามารถคบค้ากับประเทศตะวันตกได้

สมมติว่าเหลือมิตรประเทศอยู่ประเทศเดียว ถ้าคุณจะขายข้าว คุณก็ขายให้ได้แค่ประเทศเดียว เขาก็รู้ว่ายังไงเราก็ต้องไปขายประเทศเขาประเทศเดียวอยู่แล้ว ไม่ว่าเขาจะให้ราคาเราเท่าไหร่ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็ลดทอนอำนาจต่อรองของเราในเวทีโลก

การเมืองมีผลต่อความรุ่งเรืองของการต่างประเทศแน่ๆ แต่ก็ไม่ใช่อย่างเดียว ความสามารถของข้าราชการกับบริบทโลกก็มีผล

 

การต่างประเทศไทยมียุคไหนที่รุ่งเรืองบ้าง

ที่จริง shining moment ของการทูตไทยมีหลายช่วงมาก ถ้านับตั้งแต่ช่วงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย สมัยรัชกาลที่ 5 การทูตก็เป็นเครื่องมือปกป้องเอกราชและอำนาจอธิปไตยของประเทศจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส สิ่งที่ทำให้ประเทศเรารอดมาได้คือการทูต ไม่ใช่การทหาร อังกฤษใช้กองทัพไม่เต็มกำลังยังบุกยึดพม่าได้ภายในไม่กี่วัน ศักยภาพทางการทหารของเราไม่มีทางเทียบเท่าทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษแน่นอน ถ้าใช้การทหาร คิดว่าประเทศเราจะรอดไหม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การต่างประเทศก็นำหน้าการทหาร เราส่งทหารไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งท้ายที่สุด เราเป็นผู้ชนะสงครามก็จริง แต่เราส่งไปตอนที่สงครามใกล้จะจบ ฝ่ายสัมพันธมิตรใกล้จะชนะ นี่คือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศด้วยการส่งกองทัพเป็นเชิงสัญลักษณ์

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พอเข้าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรายอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะแทนที่จะยอมตกเป็นเมืองขึ้น ก็ทำให้เอกราชของประเทศชาติอยู่รอดมาได้ เพราะใช้นโยบายแบบไผ่ลู่ลม ทุกวันนี้ก็ยังลู่กันอยู่ หลายคนอาจจะบอกว่ายอมเป็นเมืองขึ้นดีกว่า แต่หลายประเทศยุโรปที่ถูกยึดครองก็ไม่ยอม

ช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป. โลกเข้าสู่สงครามเย็น บริบทเช่นนี้ทำให้เรามีทางเลือกในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศน้อย ต้องเลือกว่าจะเข้ากับใคร ถ้าไม่เข้ากับทางสหรัฐฯ ก็ต้องเข้ากับโซเวียต สิ่งที่จอมพล ป. ทำ ณ ตอนนั้น แต่คนส่วนมากไม่ค่อยรู้กันคือ ท่านมีบทบาทในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน แต่มาประสบความสำเร็จในการก่อตั้งสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทศวรรษที่ 2530 ที่เวียดนามบุกกัมพูชาเข้ามาประชิดชายแดนไทย เราหลุดพ้นจากภัยคุกคาม เวียดนามไม่กล้าบุกเข้ามา ส่วนหนึ่งก็เพราะเราดำเนินนโยบายกดดันเวียดนามผ่านอาเซียน โดยการพยายามหาพันธมิตรมากดดันเวียดนาม

อีกยุคหนึ่งที่การต่างประเทศไทยโดดเด่นมากคือช่วงรัฐบาลทักษิณ การทูตไทยโดดเด่นในทุกด้าน เศรษฐกิจเติบโตมาก เพราะเราได้ท่านสุรเกียรติ์ เสถียรไทย มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ท่านเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มีผลงานมากมาย ก่อตั้งยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดีเจ้าพระยาแม่โขง (ACMECS) ก่อตั้ง ACD (Asia Cooperation Dialogue) เรียกได้ว่าตอนนั้นเรากลายเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาค แน่นอนว่าส่วนหนึ่งที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะประเทศเราเป็นประชาธิปไตยด้วย

ผมไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลทักษิณทำถูกหมดทุกอย่าง เรื่องที่ผมไม่เห็นด้วยก็มีเยอะ แต่นี่คือข้อเท็จจริงว่า ในยุคนั้น ประเทศเรามีสถานะ มีเกียรติภูมิในเวทีโลกมาก

 

หลังจากนั้น การต่างประเทศไทยมี shining moment บ้างอีกไหม

ตั้งแต่ช่วง 2550 เป็นต้นมา การต่างประเทศไทยก็เริ่มแย่แล้ว รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ข้าราชการก็เริ่มอ่อนแอ พอเราไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ก็ริเริ่มอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ ประเทศอื่นก็มองว่ารัฐบาลของเราทำอะไรไม่ได้

 

 

นักการทูตรับหน้าที่หลายบทบาท แต่ในยุครัฐบาล คสช. อีกหนึ่งบทบาทที่เห็นคือ นักการทูตต้องเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล 

ช่วงรัฐประหารปี 2557 ผมรับตำแหน่งรองอธิบดีกรมสารนิเทศ ซึ่งก็คือรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ผมชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะข้าราชการต้องยึดถือวินัยของข้าราชการ ข้อแรกๆ ของวินัยเขียนไว้เลยว่า ข้าราชการต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ มันคือการล่วงละเมิดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เป็นปริปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย และขัดกับระเบียบวินัยของข้าราชการ

ตอนนั้นผมทำหนังสือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเขียนเรียนถึงท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศเลยว่า “ว่าด้วยการรัฐประหารที่เกิดขึ้น เนื่องจากเรามีวินัยที่ว่าด้วยข้าราชการต้องเป็นผู้ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข เพราะฉะนั้น นับจากนี้ผมขอไม่รับหน้าที่ด้านการเมือง” ที่ต้องอธิบาย ชี้แจงเรื่องรัฐประหารให้กับต่างประเทศ และขอเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่นๆ แทน เพราะงานของนักการทูตไม่ได้มีแค่ด้านการเมืองอย่างเดียว มันมีงานด้านวัฒนธรรมด้วย แต่พอเสนอเรื่องขึ้นไป ก็เงียบ ไม่ตอบ ที่จริงแล้วตามระเบียบเขาต้องตอบ เพราะทำเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ไม่ตอบไม่ได้

 

ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนคือหนึ่งในบทสนทนาหลักในประชาคมโลก การทูตไทยจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอย่างไรในสภาวะเช่นนี้

ต้อง ‘make the best out of it’ (ทำให้ดีที่สุด) แต่สภาวะเช่นนี้ก็ทำให้นักการทูตทำงานลำบาก

อย่างล่าสุด UN ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์การสลายชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ออกมาชี้แจ้งว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการที่เกินกว่าเหตุ

ในมุมหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธอำนาจรัฐบาล แต่คำถามคือ เมื่อคุณทำไปแล้ว คุณตอบตัวเองได้หรือเปล่าว่าสิ่งที่พูดออกไปเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องสำหรับประชาชน สมมติถ้าผมเป็นโฆษก ผมจะตัดสินใจไม่พูด ถ้าเป็นหน้าที่ที่หนีไม่พ้น ก็ต้องย้ายตัวเองไปทำงานหน้าที่อื่น หรือถ้าไม่ทำแบบนั้น ขั้นต่ำสุด ก็เชิญตำรวจมาแถลงต่อคณะทูตที่เชิญมา แล้วเราก็แปลให้ เพราะเราก็ต้องรักษาเกียรติบ้าง

เอาเข้าจริงแล้วมันน่าอายนะ ที่เราพูดเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก แต่พอประชาชนในประเทศโดนละเมิดสิทธิ กลับบอกว่าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น

 

หมายความว่า เป็นเรื่องยากมากที่กระทรวงจะค้านจุดยืนของรัฐบาล

ผมเชื่อว่าทุกคนมีเงื่อนไขส่วนตัว บางคนไม่อยากเสี่ยงกับความก้าวหน้า บางคนมีครอบครัว เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่บางทีก็ต้องมีจุดยืน ตระหนักได้ว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ เราควรจะต้องค้านบ้าง ถ้ามีเรื่องที่เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ควรจะพูด จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ความเห็นจะถูกตีกลับหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอย่างไรก็ตาม เราไม่ใช่คนที่ตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่คุณได้พูดแล้วหรือยัง คุณสู้แล้วหรือยัง

นี่คือการซื่อสัตย์ต่อความคิดของตัวเอง ว่ากันว่าการเป็นข้าราชการที่ดีต้องซื่อสัตย์ แต่ที่มักจะพูดกันบ่อยๆ ว่าข้าราชการที่ซื่อสัตย์ต้องไม่โกงกิน ผมว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดด้วยซ้ำ เพราะเป็นสามัญสำนึกอยู่แล้ว เพราะการโกงกินไม่ต่างอะไรจากการขโมยของหลวง ที่เหนือกว่านั้น คุณต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ซื่อสัตย์ต่อความรู้ของคุณ ถ้าคุณเห็นว่ามีอะไรไม่ถูกต้องแล้วพูด นั่นคือคุณซื่อสัตย์ต่อความเชื่อตัวเองและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของคุณแล้ว

 

มีคำกล่าวว่า นักการทูตคือคนดีที่ถูกส่งไปโกหกเพื่อประเทศ?

จริง ในอีกมุมหนึ่ง หากมองในโลกความจริง การโกหกก็มีหลายแบบ white lie ก็มี

การโกหก ‘ที่ดี’ ต้องมีข้อเท็จจริง 70-80% ที่ก็เหลือใส่สีบ้าง แต่ถ้าโกหกดื้อๆ 90-100% ความน่าเชื่อถือของประเทศก็หมด ยิ่งสมัยนี้จะไปหลอกใคร ต่างประเทศเขาก็รู้หมด เพราะประเทศอื่นๆ เขาก็มีนักการทูตคอยรายงานสถานการณ์ส่งกลับไปที่ประเทศของเขาอยู่ดี ผมไม่เชื่อว่าการโกหกช่วยให้รักษาผลประโยชน์ หรือก่อให้เกิดผลประโยชน์อะไรได้

นี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น แม้นักการทูตต้องโกหกเพราะจำเป็น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการพูดความจริง เพราะฉะนั้น การที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยคือการโฆษณาประเทศที่ดีที่สุด ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ก็ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีความชอบธรรม พูดอะไรไปก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะความจริงกับสิ่งที่พูดมันต่างกัน

 

คุณเคยเขียนในเพจว่า “นักการทูตส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะระดับบนๆ พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนกันปาวๆ แต่ไม่เคยเข้าใจว่าสิทธิของประชาชนคนไทยคืออะไร ว่าถูกละเมิดมากมายแค่ไหน” เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้

ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์สลิ่มที่ทำให้คนไม่สามารถใช้ตรรกะตามปกติได้ ปรากฏการณ์แบบนี้น่าสนใจมาก ต้องหาคำอธิบายเชิงจิตวิทยา แปลกมากว่าทำไมพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับโลกได้ แต่กลับไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรมในสังคมตัวเอง

ส่วนตัวคิดว่าเกิดจากอคติ และเมื่อมีอคติ ก็ทำให้การมองผิดเพี้ยนไป ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

 

มักมีคนกล่าวอยู่เรื่อยๆ ว่า “การต่างประเทศเป็นเรื่องของชนชั้นนำที่อยู่บนหอคอยงาช้าง” แต่ในขณะเดียวกัน คุณมักเน้นย้ำในข้อเขียนเสมอว่า “การต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด” ทำไมจึงมองเช่นนี้ 

เพราะผมเป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการต่างประเทศ เลยมองเห็นได้ง่ายว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว อย่างตอนที่มีคดีระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณที่ผู้ต้องหาเป็นชาวอุยกูร์ คนไทยก็บาดเจ็บ เสียชีวิตประมาณ 3-4 คน นี่คือผลจากการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ หรือแม้แต่ที่โดนสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ถ้าคุณค้าขายส่งออกสินค้า ก็ย่อมมีผลกระทบทั้งนั้น ใกล้ตัวไหมล่ะ

จริงๆ ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น คนทั่วโลกก็มองว่าการต่างประเทศเป็นเรื่องหอคอยงาช้าง ไม่แปลกที่จะมองแบบนี้ แต่ในโลกทุกวันนี้ ทุกอย่างเกี่ยวพันกับต่างประเทศทั้งนั้น การต่างประเทศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป ความคิดแบบนี้ต้องเปลี่ยน

ในขณะเดียวกับที่เราจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกมากขึ้น แต่เรากลับดึงประเทศย้อนเวลาถอยหลังกลับไป แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศจะเจริญ คุณต้องยอมรับความจริงว่าเผด็จการไม่มีทางทำให้ประเทศเจริญได้ มีแต่ตกต่ำทั้งสิ้น เราก็เห็นประวัติศาสตร์โลกกันมาแล้ว

 

ถ้าการเมืองดี การต่างประเทศและการทูตไทยจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การต่างประเทศที่เป็นไปเพื่อสร้างและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และถ้าจะทำเช่นนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประเทศของเราต้องเป็นประชาธิปไตย เพราะการเป็นประชาธิปไตยจะช่วยให้การต่างประเทศของเราเป็นที่ยอมรับ ส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ ตราบเท่าที่เรายังไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจต่างๆ พังหมด ช่องทางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศก็ถูกจำกัด ไม่สามารถส่งเสริมเกื้อหนุนทิศทางของประเทศได้

ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย เราจะมีทางเลือกมากขึ้น มีมิตรประเทศที่เขาอยากคบค้าสมาคมกับเรามากขึ้น มีโอกาสในเวทีต่างประเทศมากขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ประเทศชาติของเราจะพัฒนา มีสถานะ มีเกียรติภูมิ เพราะประชาธิปไตยคือมาตรฐานความดีงามของโลกสากล ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรามีประชาธิปไตย

 

คุณอยากให้สังคมเข้าใจอาชีพนักการทูตอย่างไร

อยากให้เข้าใจว่านักการทูตมีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตย ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา การรักษาอธิปไตยของประเทศเป็นผลจากการทูตและการต่างประเทศ หลักๆ อยากให้สังคมเข้าใจมากขึ้นว่าหน้าที่หลักที่สำคัญที่สุดของเราคือ ปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ เพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่แค่เดินฉุยฉายในงานเลี้ยง

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save