fbpx
ไทยในสมัยสงครามเย็น

ไทยในสมัยสงครามเย็น

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

SOAS Bar, ค่ำคืนหนึ่งกลางฤดูหนาวของปี 2013

 

เย็นวันนั้นน่าจะมีเสวนาอะไรสักอย่างที่ทำให้นักเรียนไทยในลอนดอนผู้สนใจการเมืองได้มารวมตัวกัน บทสนทนาเริ่มต้นจากการวิเคราะห์การเมืองไปจนถึงเรื่องที่แต่ละคนกำลังเล่าเรียน ในระหว่างการพูดคุย ใครคนหนึ่งได้พูดขึ้นมาว่าหลังเสร็จจากธีสิสแล้ว เรื่องที่จะทำต่อไปอยู่ในยุคของสงครามเย็น ผมค่อนข้างแปลกใจเพราะตอนนั้นคนส่วนใหญ่กำลังพูดถึงการฟื้นฟูความทรงจำของคณะราษฎร จึงถามออกไปว่าทำไมถึงสนใจในช่วงนี้

“ช่วงสงครามเย็นน่าสนใจมากนะ ในหลายๆ เรื่องเลยที่ไม่ใช่แค่การเมือง ตอบยาวๆ มันต้องใช้เวลา ตอนนี้กำลังคุยกันสนุก เดี๋ยวคนอื่นจะเบื่อ เอาง่ายๆ แค่ว่าที่นั่งอยู่ด้วยกันทั้งหมดเนี่ยเป็นผลผลิตในช่วงสงครามเย็นทั้งหมดเลย”

สำหรับผมแล้วเป็นการตอบสั้นๆ ที่กระตุกให้คิด คำตอบที่อยู่ในใจเสมอมา

ในช่วงเดียวกันนั้น ผมเริ่มได้ยิน ได้อ่าน ได้เห็นประโยค “ลดความเป็นไทยให้น้อยลง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น” ตามที่ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมความเป็นไทยถึงเป็นปฏิภาคกับความเป็นคนในเชิงลบ? แน่นอนว่าความเป็นไทยมีความหมายในหลายมิติ แต่การปกป้องความเป็นไทยนั้นเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่เสมอ และตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ผมคิดว่าความเป็นไทยจากภายใน (หมายถึงในสายตาคนไทยเอง) เริ่มถูกตั้งคำถามอย่างแหลมคมมากขึ้น โดยเฉพาะ ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’

เชื่อว่าคุณเองก็คงเคยเจอประโยคนี้เช่นกัน หรือดีไม่ดี ประโยคนี้ที่ผ่านความคิดผมไปหลายครั้งอาจเป็นของคุณก็ได้

 

กรุงเทพฯ, 2020

 

ผมตั้งคำถามกับตัวเองจากพัฒนาการทางการเมืองอย่างแหลมคมของประชาชนว่า “ทำไมคนส่วนหนึ่ง (ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะเป็นคนส่วนมาก) จึงปฏิเสธแนวคิดเรื่องคนเท่ากัน ทั้งที่แนวคิดนี้ยกระดับความเป็นคนของพวกเขาให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับแนวคิดเรื่องสูงต่ำลำดับของคน?”

ขณะที่ผมยังไม่ได้คำตอบที่ตัวเองพอใจ คนที่เคยตอบผมเรื่องสงครามเย็นในคืนวันนั้นก็ยื่นหนังสือ Thailand in the Cold War (2016) ของ Matthew Phillips ให้ในบ่ายวันหนึ่ง “จำได้ว่าเคยถามเราเรื่องสงครามเย็น ลองเอาไปอ่านดูสิ สนุกนะ”

 

 

Thailand in the Cold War เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้รู้จักกับแนวคิดด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต่อมามีอิทธิพลอย่างสูงต่อระเบียบโลก ก่อนจะแสดงให้เห็นภาพของประเทศไทยในสายตาอเมริกันผ่านสื่อต่างๆ โดยการเปรียบเทียบลักษณะเฉพาะของประเทศไทยที่สอดคล้องไปกับอุดมการณ์หลักของสหรัฐอเมริกา ตัวละครหลักที่ใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการให้ความหมายหลายมิติคือ Jim Thompson ราชาผ้าไหมผู้ที่การสูญหายไปของเขายังเป็นปริศนาอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

ไหมไทยถูกนำไปเผยแพร่ในนิวยอร์กและกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นภาพจำสำคัญเริ่มแรกของสินค้าไทยและความเป็นไทย

จากความนิยมของไหมไทยและละครเรื่อง The King and I แฟชั่นและเสื้อผ้าได้ถูกนำมาแสดงให้เห็นถึงการก่อร่างสร้างรูปของรัฐไทยผ่านวัฒนธรรม ตั้งแต่ยุครัฐนิยมไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การแต่งกายและรูปลักษณ์อย่างตะวันตกถูกนำมาใช้ในการปลูกฝังค่านิยมเพื่อเป็นการยืนยันความทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ อิทธิพลของการมองและการถูกมองด้วยสายตาอย่างตะวันตกเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นจากปกนิตยสารที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่อุดมการณ์ในยุคนั้น

เมื่อเวลาผ่านไป ผ้าไหมไทยก็ได้รับความนิยมภายในประเทศเองมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความต้องการภายในประเทศนั้นได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากสื่อของสหรัฐอเมริกา  อย่างไรก็ดี ในตอนนั้น ความเป็นไทยยังไม่ได้ถูกบรรจุลงไปในความหมายของสินค้าในประเทศ ผ้าไหมยังเป็นเพียงสินค้ามีระดับที่ต่างชาติสนใจ

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าการผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับความเป็นสากล (อย่างตะวันตก) ผ่านการแต่งกายเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ความเป็นไทย (Thainess) ก็เริ่มมีความหมายที่หลากหลายมิติขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วงชิงอุดมการณ์ของความเป็นชาติของสยามเก่าและไทยใหม่ในเวลาต่อมา

ผลจากการเลือกข้างผิดของ ป.พิบูลสงคราม ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะยากลำบาก แต่ด้วยการสนับสนุนเสรีไทยของสหรัฐอเมริกาก็ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศยังคงความแน่นแฟ้น ในระหว่างนี้เองที่การแลกเปลี่ยนเพื่อทำความเข้าใจกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเริ่มมีมากขึ้น และสะท้อนออกมาสู่สาธารณะผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มมีการโหยหาความเป็นไทยในอดีตที่เคยถูกลดทอนความสำคัญลงจากการเกิดขึ้นของอุดมการณ์คณะราษฎร นัยหนึ่งนั้นก็เพื่อตอบสนองความต้องการของมหามิตรต่างชาติ อีกนัยหนึ่งคือความพยายามในการคืนสู่สถานะของสถาบันกษัตริย์ ตัวละครสำคัญในช่วงนี้คือยง เสฐียรโกเศศ อธิบดีกรมศิลปากร และคึกฤทธิ์ ปราโมช ในบทบาทของผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ยงมีส่วนอย่างมากในการรื้อฟื้นและให้ความหมายศิลปวัฒนธรรมไทยจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ส่วนคึกฤทธิ์มีบทบาทผ่านการตอบปัญหาในคอลัมน์ปัญหาประจำวัน การตอบปัญหาของคึกฤทธิ์ที่ได้รับความเชื่อถือว่าเป็นปัญญาชนคนสำคัญของประเทศตอกย้ำการอนุรักษ์ความเป็นไทยในการคบหาสมาคมกับชาวต่างชาติ ด้วยทั้งแรงจากภายในและภายนอก ความเป็นไทยในแบบดั้งเดิมที่แตกต่างจึงกลับมาอยู่ในสถานะสำคัญอีกครั้ง

การอิงแอบกับระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกาได้สร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองสำคัญให้กับประเทศไทย เมื่อ ป.พิบูลสงครามตกจากเวที สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นมามีบทบาทแทนซึ่งนำไปสู่การฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรมที่เป็นจุดชี้วัดสำคัญความนิยมทางการเมืองในช่วงนี้ คืองานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่มีความเชื่อเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาของไทยเป็นฉากหลัง ความนิยมในตัวกษัตริย์ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมาถือไพ่เหนือกว่าและส่งผลต่อการเลือกข้างในการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสฤษดิ์กับสหรัฐอเมริกาแนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีกจากการขยายตัวของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในสงครามเวียดนามซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในสงครามเย็น ความเป็นไทยที่แปลกแยกจากโลกสมัยใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้นให้ขายได้ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญในตอนนั้นคือ อนุสาร อ.ส.ท. ที่เกิดขึ้นพร้อมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การมีปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวทำให้ความเป็นไทยเกิดคำอธิบายใหม่

การเยือนสหรัฐอเมริกาของกษัตริย์และราชินีเมื่อ พ.ศ.2503 ยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ความเป็นไทยในบริบทความเป็นสมัยใหม่จากสถาบันกษัตริย์ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความโดดเด่นของราชินี ผ้า(ไหม)ไทยประยุกต์ได้สร้างบทบาทใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมบนเวทีโลก

หลังจากนั้นอีกห้าปี อาภัสรา หงสกุล ได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลที่ไมอามี และความเป็นไทยที่สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกาในสมัยสงครามเย็นก็ขับเน้นตำแหน่งของประเทศไทยในระเบียบโลกเสรีอีกครั้ง

 

A theatre with two stages

 

นิยามเฉลียงบ้านเรือนไทยอันเป็นที่อยู่อาศัยของ Jim Thompson  (ที่เป็นชื่อบทแรกของหนังสือด้วย) ทำหน้าที่เป็นอุปมาของประเทศไทยและความเป็นไทยในยุคสงครามเย็นได้เป็นอย่างดี Phillips เปิดเรื่องและกลับมาปิดเรื่องด้วย Thompson อย่างชาญฉลาด และทำให้ปริศนาในการหายตัวไปกลับมาเร้าใจอีกครั้ง ผมอยากเล่าให้คุณฟังตอนนี้เลย แต่คิดว่าเสน่ห์ตรงนี้ควรสงวนไว้ให้ผู้ที่สนใจจะไปหาหนังสือมาอ่านต่อกันเองดีกว่า

การใช้มุมมองทางวัฒนธรรมของ Phillips ทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดในการให้ความหมายต่อสิ่งใหม่ และการใช้ประโยชน์ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและไทย สหรัฐอเมริกาใช้ความผิดแผกแตกต่างในการไม่เคยตกเป็นอาณานิคมชาติตะวันตกของไทยสร้างจุดขายในประเทศ ไทยเองก็ใช้ความต้องการในด้านต่างๆ จากมุมมองสหรัฐอเมริกาสร้างชาติให้ดำเนินไปในแนวทางที่ชนชั้นนำต้องการ ทั้งเพื่อควบคุมภายใน และการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเป็นสมัยใหม่ของโลกภายนอก

ความสนุก (ไม่ใช่ความน่าสนใจ) ของ Thailand in the Cold War สำหรับผม คือการมองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยผ่านมุมมองด้านวัฒนธรรมโดยใช้หลักฐานจากสื่ออย่างภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ แฟชั่น และการท่องเที่ยวมาเป็นข้อมูลเพื่อสร้างมุมมองเชิงวิเคราะห์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังสือที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในช่วงนี้มักจะอยู่ในแง่ของการเมืองภาพใหญ่ (ตัวอย่างเช่น การต่างประเทศไทยในยุคของสงครามเย็น ของพวงทอง ภวัครพันธุ์ หรือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของณัฐพล ใจจริง) ซึ่งเป็นการนำเสนอมุมมองด้านนโยบายและการชิงไหวชิงพริบของกลุ่มอำนาจเป็นหลัก การได้สัมผัสกับวิธีอื่นที่มีความใกล้ตัวกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไปจึงเป็นความสนุก

เมื่อภาพสองฝั่งคลอง ชีวิตชนบท หรือการคล้องช้างในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาจนแทบจะไร้ค่าหรือไม่เป็นที่สนใจรู้จักกลับเปลี่ยนสถานะมาเป็นสินค้าขายได้ ความตื่นตาจากมุมมองของคนนอกจึงนำไปสู่คุณค่าที่ควรหวงแหนของคนใน การสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายจึงเป็นรากฐานชั้นดีในการรองรับนิยามของความเป็นไทย

ความประทับใจเป็นพิเศษโดยส่วนตัวของผมใน Thailand in the Cold War มีสองประการ ประการแรกคือการให้ภาพพัฒนาการของทิศทางความเป็นไทยที่ทำให้มองเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เป็นจุดยึดเหนี่ยวหลักในการสร้างชาติคืออดีตที่ล่วงเลย หรือในแง่หนึ่งคือความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมภายใต้การปกครองสถาบันกษัตริย์ก่อนการมาถึงของคณะราษฎร เพราะนั่นคือสิ่งที่โลกตะวันตกและความเป็นสมัยใหม่แบบสากลไม่มี เหมาะเจาะพอดีกับความต้องการเห็นสิ่งแปลกตาในสหรัฐอเมริกา

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า หรือจะเป็นการติดอยู่กับอดีตที่ล่วงเลยโดยไม่รู้ตัวที่ทำให้ความเป็นคนไม่เพิ่มขึ้น (นี่ไม่ใช่คำตอบแต่เป็นความสงสัยที่ถูกกระตุ้นขึ้นจากการอ่าน)

ประการต่อมาคือการอธิบายปรากฏการณ์โดยใช้ภาพลักษณ์ของบุคคลที่วางอยู่บนภาพของมหรสพเชิงวัฒนธรรมทำให้เห็นจุดตัดและจุดเปลี่ยนเชิงอุดมการณ์ ภาพเหตุการณ์งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่จัดโดย ป.พิบูลสงคราม (ผู้ซึ่งเป็นภาพแทนสุดท้ายของอุดมการณ์เรื่องคนเท่ากันและการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญที่กำลังเสื่อมความนิยมลง) ได้ขับเน้นภาพของกษัตริย์ให้สูงส่งขึ้นสู่สถานะเดิมหรือยิ่งไปกว่าเดิม กษัตริย์ที่ไม่แปดเปื้อนกับการเมืองอันเป็นเรื่องสกปรก กษัตริย์ที่ตรากตรำเพื่อผู้ยากไร้ในดินแดนไกลปืนเที่ยง กษัตริย์ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมในอดีตที่เรืองรองและควรหวงแหนจึงคืนกลับสู่ความสำคัญในเชิงจิตวิทยาการปกครองอีกครั้ง

เมื่อภาพตระการตาของมหรสพแสดงได้ตอกย้ำถึงสิ่งสามานย์และความศักดิ์สิทธิ์ ความนิยมในความดีความงามจึงกดความศรัทธาในความเท่าเทียมลงต่ำ ภาพของนักการเมืองถูกใช้เปรียบเปรยถึงความสกปรก ความเป็นคนจึงต้องอยู่ต่ำกว่าความเป็นเทพที่เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 63 ปีผ่านมาแล้ว…

 

หมายเหตุ

Thailand in the Cold War พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Matthew Phillips ชื่อ Oasis on a Troubled Continent: Culture and Ideology in Cold War Thailand (School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London, 2012)

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save