fbpx
School Town King โลกที่บังคับให้เด็กฝันเป็นคนธรรมดา

School Town King โลกที่บังคับให้เด็กฝันเป็นคนธรรมดา

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

“กูเป็นเด็กสลัมด้วยใจ แล้วกูนั้นเกิดมาบนดินแดนที่เขาว่าสลัม ไม่สนใจว่าจะมองยังไงแค่อยากจะแร็ปให้คุณได้จำ”

ท่อนหนึ่งจากเพลงแร็ปสดของ บุ๊ค – ธนายุทธ ณ อยุธยา ในภาพยนตร์สารคดี School Town King : แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน ผลงานกำกับของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เล่าเรื่องชีวิตของ บุ๊ค และ นนท์ – นนทวัฒน์ โตมา เด็กสลัมคลองเตย ที่เริ่มหัดทำเพลงแร็ปในร้านเกมและฝันจะเป็นแร็ปเปอร์ระดับประเทศ

หนังเปิดตัวอย่างฉูดฉาดด้วยเพลงแร็ปของบุ๊คและนนท์ พาให้เพลินไปกับจังหวะดนตรีแม้ว่าเนื้อร้องจะสอดแทรกด้วยเรื่องเล่าชีวิตที่ต้องทนอยู่กับความเหลื่อมล้ำและคำดูถูกในฐานะเด็กสลัมคลองเตย จนบางช่วงจังหวะแทบทำให้ลืมว่านี่คือสารคดีชีวิตจริงๆ มันคล้ายกับภาพยนตร์จากเรื่องแต่งของชีวิตแร็ปเปอร์ที่ชื่อเสียงกำลังพุ่งทะยานสู่การเป็นศิลปินใหญ่และถาโถมด้วยความสำเร็จมากกว่า

ภาพยนตร์ค่อยๆ ดึงผู้ชมกลับสู่โลกความเป็นจริง จูงมือพาผู้ชมเดินเข้าไปสำรวจทีละมุมของชีวิตที่สลัมคลองเตย คำหยาบคาย ยาเสพติด แก๊งวัยรุ่นป่วนเมือง บ้านอันแออัดไร้ความเป็นส่วนตัว โรงเรียนที่เต็มไปด้วยการกลั่นแกล้ง ครูถือไม้ไล่หวดเด็กพร้อมคำด่า เหล่านี้คือองค์ประกอบอันไม่สมบูรณ์ที่ยากจะทำให้ชีวิตใครสักคนเติบโตขึ้นมาด้วยคุณภาพชีวิตที่พึงมี

ยังไม่ต้องพูดถึงชีวิตของเด็กผู้ชายที่ใฝ่ฝันจะเป็นแร็ปเปอร์ชื่อดัง ฐานะที่ยากจนและสภาพแวดล้อมย่ำแย่อาจยังไม่บั่นทอนความฝันได้มากเท่าการมีครอบครัวที่ไม่เชื่อมั่นในเส้นทางแร็ปเปอร์ซึ่งพวกเขากำลังจะก้าวเดินต่อไป

 

 

วรรจธนภูมิ ผู้กำกับและทีมงาน Eyedropper Fill รู้จักบุ๊คและนนท์ผ่านโครงการ Connext Klongtoey ที่ให้เด็กมาเล่าเรื่องชุมชนของพวกเขาผ่านงานศิลปะ เด็กชายทั้งสองคนเลือกเล่าเรื่องชีวิตของพวกเขาผ่านเพลงแร็ป วรรจธนภูมิเห็นแพสชันและความมุ่งมั่นในการเดินตามความฝันของพวกเขาจึงเริ่มติดตามถ่ายกว่าสามปี จนปรากฏเป็นสารคดีที่ไม่เพียงพูดถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของเด็กสองคน แต่ยังฉายภาพปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยผ่านชีวิตในชุมชนแออัดที่คลองเตย

“แร็ปเริ้บอะไรพวกนี้ มันยังจับต้องอะไรไม่ได้”

คือสิ่งที่พ่อของบุ๊คมองลูกชายตัวเอง แม้ว่าบุ๊คจะเริ่มเป็นที่สนใจจากสังคม ได้ออกโทรทัศน์ มีสื่อต่างประเทศมาสัมภาษณ์ แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิต ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับชีวิตที่เริ่มต้นจากติดลบ การพูดถึงความฝันดูจะเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้

ไม่น่าแปลกใจที่พ่อแม่ของบุ๊คและนนท์จะตั้งข้อสงสัยถึงสิ่งที่ลูกชายกำลังหมกมุ่น จนเกิดคำถามประเภทว่า ร้องเพลงอะไร, จะเอาอะไรกิน, หาเงินได้เท่าไหร่ หรือกระทั่งคำพูดที่บอกว่า “อย่าเพ้อฝัน”

สำหรับบางครอบครัวที่มีพร้อม สิ่งที่พ่อแม่ให้ความสำคัญอาจเป็นการทำให้ลูกค้นพบ ‘พรสวรรค์’ ของตัวเอง รู้ว่าชอบอะไร แล้วเดินไปให้สุดความฝันนั้น หากลูกจำเป็นต้องพักการเรียนไปก่อนเพื่อทำสิ่งที่ชอบก็อาจตัดสินใจได้ไม่ลำบากนัก แต่สำหรับครอบครัวที่พ่อหรือแม่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงคนในบ้าน คงยากจะนอนหลับให้สนิท หากลูกกำลังจะทิ้งการเรียนแล้วเลือกอาชีพที่ดูหาเลี้ยงตัวเองได้ยาก

เป็นชีวิตที่ไม่มีแผนสอง พลาดก็คือจบ

โอกาสไม่ใช่ของหาง่ายในชีวิตที่ต้องกระเบียดกระเสียร

ถ้าพ่อแม่ของพวกเขาร้องขออะไรได้สักอย่าง คงเป็นการขอร้องให้ลูกเป็น ‘คนธรรมดา’ เพราะการเรียนจบรับเงินเดือนหมื่นห้าแบบคนทั่วไปคือปลายทางที่เด็กหลายคนในชุมชนฝันถึง

การมีความฝันแล้วมุ่งมั่นทุ่มเท กลายเป็นสิ่งไม่มีค่าในสังคมแบบนี้ บุ๊ครู้ว่าเขาต้องการอะไร แต่ระบบที่มีอยู่บีบให้เด็กเดินไปตามทางโดยไม่ตั้งคำถาม ไม่ต้องมีความฝัน แค่เรียนอะไรก็ได้ให้จบ เพื่อไม่ต้องรับค่าแรงขั้นต่ำ และมีโอกาสกอดเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งก็ยังไม่ใช่รายได้ที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองใหญ่ …ระบบที่ไม่สนใจว่าเด็กต้องการอะไร

 

 

สารคดีตั้งคำถามใหญ่พุ่งตรงไปยังระบบการศึกษาและความเหลื่อมล้ำในสังคมที่บังคับให้เด็กๆ ฝันที่จะเป็นคนธรรมดา

“ความฝันทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่การเรียนมีโอกาสได้แค่ครั้งเดียว”

คำพูดนี้ออกจากปากเด็กมัธยมต้นที่มุ่งมั่นในการทำเพลงแร็ป เริ่มมีชื่อเสียง และพบว่าโลกไม่อนุญาตให้เขาฝัน

ต่างกับคำพูดในหนังสือฮาวทูของชนชั้นกลางที่ปลุกใจให้คนออกไปทำตามความฝันเมื่อมีโอกาส หรือคำพูดชนิดที่ว่า “จงผิดพลาดให้มากที่สุด” คำพูดเหล่านี้ใช้ได้กับชีวิตที่อนุญาตให้คนล้มเหลว ชีวิตที่ครอบครัวพร้อมสนับสนุนการทำตามความฝัน ยอมโอบกอดเมื่อล้มเหลว ชีวิตที่ไม่ต้องคิดว่าเย็นนี้จะเอาอะไรกิน เพราะมีกับข้าวเต็มโต๊ะรออยู่ที่บ้านเสมอ ชีวิตที่อนุญาตให้เด็กออกไปค้นหาตัวเอง แม้จำเป็นต้องพักการเรียนไปก่อนก็ตาม

เป็นชีวิตที่ไม่ใช่ของบุ๊คหรือนนท์ หากเขาเลือกเดินออกมา นั่นหมายความว่าเขาไม่มีโอกาสจะหวนกลับไปอีกแล้ว

ในสภาพแบบเดียวกัน แม้จะมีเด็กที่เก่งในการทำตามระบบอย่าง ‘วิว’ เพื่อนของบุ๊คและนนท์ ประธานนักเรียนหญิงที่ขยันเรียนเพื่อรักษาตำแหน่งคนเรียนเก่งที่หนึ่งในบ้าน ที่หนึ่งในชุมชน พยายามทำให้ดีที่สุดตามระบบที่ออกแบบมา ชนิดที่ว่าหากเล่นเกมเธอก็คงทำสำเร็จทุกภารกิจที่เกมกำหนด แต่พอมาถึงเส้นชัย ก็อาจพบว่าคนที่จ่ายเงินมากกว่ากลับไม่ต้องทำภารกิจเหล่านั้นก็สามารถมาถึงเส้นชัยได้โดยง่าย

เด็กที่มีความมุ่งมั่นในการเรียนอย่างวิวอาจเข้ามหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังได้ เรียนด้วยเงินกู้ กยศ. จบมารับเงินเดือนหมื่นห้าพร้อมหนี้ก้อนใหญ่ เข้าสู่โลกการทำงานในวันที่คนมีฐานะล้วนส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ได้แต้มต่อเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ ได้เห็นโลกกว้างกว่า มีตราประทับจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เป็นการลงแข่งในเกมที่ไม่แฟร์ตั้งแต่ต้น…ชีวิตที่แค่ฝันจะเป็นคนธรรมดาที่มีเงินเดือนหมื่นห้าก็ยากแล้ว

 

 

ระบบการศึกษาให้เพียงคำตอบที่ตายตัวแก่เด็ก ภาพ ‘คนดี’ ในระบบการศึกษามีเพียงค่านิยม 12 ประการของรัฐบาลเผด็จการและการท่องจำบทสวดมนต์ในพุทธศาสนา ซึ่งไม่ทำให้เด็กๆ จินตนาการได้ว่าความดีและความเก่งมีหลากหลายรูปแบบ ในมาตรวัดเช่นนี้ เด็กอย่างบุ๊คและนนท์อาจไม่ผ่านคุณสมบัติสักข้อของการเป็นเด็กดีในระบบการศึกษา ทั้งการพูดคำหยาบ หลับในชั้น ไม่ตั้งใจเรียน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ จนถึงการออกมาตั้งคำถามกับสังคม

บุ๊คและนนท์มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องการแร็ป โดยเฉพาะการแร็ปเล่าเรื่องชีวิตตัวเองจากสลัมคลองเตยจนมีสื่อทั้งไทยและต่างประเทศมาสัมภาษณ์ เขาโดดเด่นออกมาจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน รู้ตัวดีว่าชอบอะไรและอยากเป็นอะไร พร้อมพุ่งเข้าชนสิ่งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขามีความสามารถในการแร็ป แต่หากมองจากระบบการศึกษาไทยแล้ว พวกเขาเป็นเพียงเด็กไม่เก่งและสุ่มเสี่ยงจะเรียนซ้ำชั้น

ภาวะเช่นนี้สร้างความสับสนไม่น้อย ขณะที่โลกภายนอกให้การยอมรับพวกเขา แต่ชีวิตในโรงเรียน พวกเขาถูกมองว่าไม่เอาไหน นั่งหลับในห้อง วิชาการไม่เข้าหัว เมื่อเขาตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะเอาสูตรคำนวณฟิสิกส์ที่เขียนไว้บนกระดานดำหน้าชั้นเรียนไปทำอะไรในชีวิตจริง

 

 

สารคดี School Town King เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึง ‘ความผิดพลาด’

…เปล่าเลย ชีวิตของเด็กสองคนนี้ไม่ใช่ความผิดพลาด หากแต่เป็นความผิดพลาดที่พวกเราสร้างไว้ในระบบการศึกษา ทั้งวิธีการหล่อหลอมให้เด็กเหมือนออกมาจากตราปั๊มอันเดียวกัน เป็นผู้สยบยอมสังคมอำนาจนิยม ยอมรับความพ่ายแพ้ของตัวเองในเกมที่ไม่มีวันชนะ ยอมรับการถูกตัดสินด้วยมุมมองที่คับแคบ

เป็นความผิดพลาดที่พวกเราทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยไม่สนใจจะแก้ปัญหา ไม่สนใจว่ากำลังมีหลายชีวิตที่ถูกกดหัวไว้ไม่ให้มีโอกาสจะทำอะไร ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่มีโอกาสได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่มีโอกาสพัฒนาความสามารถ ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับ ไม่มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี

สังคมที่ทำให้เด็กไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะฝัน

 

 

[box]

ภาพยนตร์สารคดี School Town King : แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  Eyedropper Fill และ The101.world มีกำหนดเข้าฉายตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม ที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema Central World

[/box]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save