fbpx
จำคุกตลอดชีวิต ติดคุกจริงกี่ปี?

จำคุกตลอดชีวิต ติดคุกจริงกี่ปี?

ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต สังคมคงเข้าใจว่าผู้กระทำความผิดคนนั้นคงจะต้องถูกขังในเรือนจำตลอดชีวิตของเขา หรือ “แก่ตายในคุก” แต่ความจริงแล้ว ณ วันที่ผู้กระทำความผิดเดินเข้าเรือนจำและทำตัวดีอยู่ในเรือนจำ ไม่เกิน 14 ปี ก็ได้รับการปล่อยตัว ดังที่ปรากฏในข่าวล่าสุดว่านักโทษคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง 5 ศพ ซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ติดคุกจริง 14 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมา และกลับมาฆ่าคนอีกเป็นศพที่ 6

อันที่จริง ผู้กระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตายที่ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตในประเทศไทย ไม่ได้แก่ตายในคุกมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น คดีเพชรซาอุ ศาลพิพากษาประหารชีวิต แต่ติดคุกจริง 19 ปี คดีหมอฆ่าหมอ ศาลพิพากษาประหารชีวิต ติดคุกจริง 10 ปี 7 เดือน คดีนักศึกษาแพทย์ฆ่านักศึกษาแพทย์ ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ติดคุกจริง 13 ปี 9 เดือน และคดีผู้พันฆ่าผู้ว่า ศาลพิพากษาประหารชีวิต ติดคุกจริง 14 ปี[1]

เหตุที่เราไม่ขังนักโทษจำคุกตลอดชีวิตให้แก่ตายในเรือนจำด้วยสาเหตุสองประการ คือ

หนึ่ง แนวคิดในการลงโทษผู้กระทำความผิดสมัยใหม่เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้การแก้แค้น หรือ ตัดออกจากสังคม แนวคิดใหม่ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน คือ การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อให้เขากลับเข้าสู่สังคมอย่างปกติ ดังที่บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 10.3 ที่บัญญัติว่า “ระบบเรือนจำประกอบด้วยการปฏิบัติกับนักโทษเพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขผู้กระทำความผิดและฟื้นฟูสังคม”[2]

ดังนั้น การจำคุกตลอดชีวิตจริงนั้นหายากขึ้นไปทุกที เมื่อจำคุกผู้กระทำความผิดไประยะหนึ่งแล้วนักโทษคนนั้นได้รับการแก้ไขฟื้นฟูในเรือนจำจนไม่เป็นอันตรายของสังคมแล้ว ระบบราชทัณฑ์ก็จะปล่อยนักโทษนั้นคืนสู่สังคมภายใต้เงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ขึ้นอยู่กับปัจจัยของนักโทษแต่ละคน แต่หากนักโทษคนใดยังเป็นอันตรายอยู่ ระบบราชทัณฑ์ก็จะต้องขังนักโทษนั้นไว้ต่อไปจนครบตามคำพิพากษา

สอง ความแออัดในเรือนจำ สภาพความแออัดของเรือนจำไทยทำให้กรมราชทัณฑ์เร่งระบายนักโทษออกก่อนกำหนด ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 365,384 คน ในขณะที่มีเรือนจำทั่วประเทศ 144 แห่ง ที่ออกแบบให้รองรับผู้ต้องขังได้เพียง 217,000 คน ผู้ต้องขังจึงล้นคุกไป 168.37% ทำให้ประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของโลกเมื่อเทียบจำนวนผู้ต้องขังต่อประชากร 100,000 คน[3]

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยนักโทษก่อนกำหนดมีสองส่วน คือ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ทวิ[4]

ในส่วนของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 52 (5) และ (7) ได้กำหนดว่า นักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต เมื่อติดคุกจริงไปแล้ว 10 ปี และมีความประพฤติดีในเรือนจำ อาจได้รับประโยชน์จากการลดวันต้องโทษ เดือนละไม่เกิน 5 วัน หรือนักโทษคนนั้นอาจได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ (parole) ได้ ซึ่งถ้าหากนักโทษได้รับการพักการลงโทษ เรือนจำจะปล่อยตัวนักโทษคนนั้นก่อนกำหนดในคำพิพากษา โดยกำหนดเงื่อนไขให้นักโทษปฏิบัตินอกเรือนจำ เช่น ต้องมารายงานตัว ห้ามทำผิดอีก ซึ่งหมายถึงนักโทษจำคุกตลอดชีวิตมีโอกาสได้รับอิสรภาพและออกมาใช้ชีวิตกับคนอื่นในสังคมได้ เมื่อติดคุกจริงมาแล้ว 10 ปีขึ้นไปนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลดวันต้องโทษให้กับนักโทษหรือปล่อยตัวนักโทษก่อนกำหนดอีกส่วนหนึ่งด้วย

นักโทษล้นเรือนจำอาจถูกนำมาเป็นสาเหตุที่ต้องปล่อยนักโทษก่อนกำหนด แต่ปัญหาดังกล่าวอาจถูกแก้ไขได้หลายวิธี เช่น การยกเลิกกฎหมายอาญาที่ไม่จำเป็น การแปรรูปอาญาไปเป็นความรับผิดทางปกครอง การใช้โทษอื่นแทนจำคุก การแก้ปัญหายาเสพติด[5] การชะลอการฟ้อง การปรับปรุงระบบการปล่อยชั่วคราว ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีปัญหานักโทษล้นเรือนจำแล้ว ระบบการพิจารณาปล่อยนักโทษก่อนกำหนดของไทย ถ้ายังคงเป็นอยู่แบบในปัจจุบัน ก็ยังมีประเด็นที่ควรพิจารณาปรับปรุงอีก 3 เรื่อง คือ

  1. การกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมให้นานขึ้น

ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม (période de sûreté หรือ period of safeness) หมายถึงระยะเวลาขั้นต่ำที่นักโทษจะต้องติดคุกจริงในเรือนจำโดยไม่ได้รับประโยชน์การลดวันต้องโทษ หรือการพักการลงโทษ หรือการปล่อยตัวก่อนกำหนด โดยประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสมาตรา 132-23[6] กำหนดว่าในคดีที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ศาลจะต้องกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัย คือ 18 ปี และหากศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดมีความร้ายแรง ศาลสามารถขยายระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยได้เป็น 22 ปี ดังนั้น นักโทษที่ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตในฝรั่งเศสจะต้องติดคุกอย่างแน่นอนเป็นเวลา 18-22 ปี โดยไม่ได้รับการลดโทษหรือปล่อยตัวก่อนกำหนด และเมื่อพ้น 18-22 ปีไปแล้ว ศาลจะประเมินนักโทษเป็นรายๆ ว่าพร้อมจะปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไขหรือให้ขังต่อในเรือนจำ ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคมว่าจะปลอดภัยจากอาชญากรร้ายแรงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และถูกนำมาใช้เป็นสิ่งแทนที่โทษประหารชีวิตได้อย่างดี เมื่อครั้งฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารชีวิต

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยไม่ได้ถูกกำหนดในประมวลกฎหมายอาญา แต่แฝงอยู่ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 โดยกำหนดไว้เพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งน่าจะเร็วเกินไปที่จะทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัยได้

  1. การให้ศาลเป็นผู้พิจารณาปล่อยนักโทษก่อนกำหนด

การลดวันต้องโทษกับการปล่อยนักโทษก่อนกำหนดในประเทศไทย เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ดำเนินการโดยกรมราชทัณฑ์ เป็นธรรมดาที่กรมราชทัณฑ์ที่ประสบปัญหานักโทษล้นเรือนจำย่อมมี “ความน่าจะปล่อย” เพื่อระบายนักโทษที่อยู่มานาน

ในประเทศฝรั่งเศส การปล่อยนักโทษก่อนกำหนดใช้กระบวนการศาล (juridictionalisation)[7] เมื่อนักโทษคนใดติดคุกมาจนพ้นระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยแล้ว ศาลจะเปิดการพิจารณาสำหรับนักโทษแต่ละคนว่าสมควรสั่งให้ปล่อยก่อนกำหนดหรือให้ขังต่อไปตามคำพิพากษา โดยศาลจะรับฟังความทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายนักโทษ เจ้าหน้าที่เรือนจำ และพนักงานอัยการ และศาลจะต้องให้เหตุผลในคำวินิจฉัย ซึ่งสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ กระบวนการศาลมีข้อดีคือเป็นกระบวนการที่เป็นกลาง เปิดเผย และเปิดโอกาสให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็น

เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการของไทยในปัจจุบัน กระบวนการพิจารณาปล่อยนักโทษก่อนกำหนดเป็นกระบวนการปิด ดำเนินการภายในฝ่ายบริหารและคณะกรรมการของระบบราชทัณฑ์ โดยศาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งน่าแปลกใจที่เวลาพิจารณานำคนเข้าคุกเพื่อความปลอดภัยของสังคม อัยการกับจำเลยต่อสู้กันอย่างหนักต่อศาลที่เป็นกลาง บางคดีสู้กันถึงศาลฎีกา แต่พอเวลาจะปล่อยคนออกจากคุกก่อนกำหนด ซึ่งก็เป็นเรื่องความปลอดภัยของสังคมเหมือนกัน กลับไม่มีการพิจารณาแบบเดียวกัน

การให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพักการลงโทษหรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนดเป็นรายๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดี และเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ศาลจนเกินไป ซึ่งอาจสร้างปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมขึ้นอีก อาจจะเริ่มจากการให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวก่อนกำหนดเฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ที่นักโทษต้องโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปีเป็นต้นไปก่อน

  1. การประเมินนักโทษก่อนปล่อยตัวอย่างจริงจัง

เกณฑ์การลดวันต้องโทษกับเกณฑ์การปล่อยนักโทษก่อนกำหนดในประเทศไทย จะดูจากความประพฤติที่ดีในเรือนจำ[8] ประกอบกับระยะเวลาจำคุกที่เหลืออยู่ไม่มากของนักโทษ ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอที่จะสะท้อนถึงความพร้อมของนักโทษในการกลับเข้าสู่สังคม นักโทษที่เป็นภัยสังคมและยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาในเรือนจำ ปล่อยออกมาก็ยังคงเป็นภัยสังคม แต่หากประเมินความพร้อมของแต่ละคนอย่างจริงจัง โดยใช้การประเมินรอบด้าน ทั้งทางจิต และสังคมสงเคราะห์ ประกอบกับให้ศาลเป็นผู้พิจารณา น่าจะพอแยกคนที่พร้อมจะกลับสู่สังคมกับคนที่ไม่พร้อมออกจากกันได้

 

ข้อเสนอ

1. เพิ่มระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมในกรณีโทษจำคุกตลอดชีวิต จาก 10 ปี เป็น 20 ปี เพื่อให้สังคมแน่ใจว่าตลอด 20 ปี ผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยสังคมจะต้องอยู่ในเรือนจำ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 52

2. ให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาและสั่งให้มีการพักการลงโทษหรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนด โดยระยะแรกอาจจะเริ่มให้ศาลเป็นผู้พิจารณาปล่อยนักโทษที่ต้องโทษประหารชีวิต โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือที่ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปก่อน ส่วนความผิดอื่นให้เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ดำเนินการแบบเดิม

3. นักโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือนักโทษที่เป็นภัยสังคมอื่นๆ เช่น ฆาตกร ข่มขืน หรือพวกใช้ความรุนแรง ควรจะมีกระบวนการประเมินความพร้อมก่อนปล่อยตัวอย่างจริงจังและดำเนินการเฉพาะราย

การฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิดและให้โอกาสกลับคืนสู่สังคมเป็นสิ่งดีที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน แต่การสร้างระบบที่ดีจะช่วยคัดกรองให้คนที่พร้อมกลับสู่สังคมได้รับการปล่อยตัว และขังคนที่ไม่พร้อมไว้ในเรือนจำต่อไปเพื่อความปลอดภัยของสังคม

 


[1] https://www.dailynews.co.th/article/352080 สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2562

[2] ICCPR Article 10.3 “The penitentiary system shall comprise treatment of prisoners the essential aim of which shall be their reformation and social rehabilitation….”

[3] www.prisonstudies.org retrieved 23/12/2019

[4] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 261 ทวิ บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้

การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

[5] เพราะนักโทษส่วนมากในปัจจุบันเป็นนักโทษคดียาเสพติด

[6] นอกจากนี้ ในคดีที่ศาลลงโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ในฐานความผิดที่กฎหมายกำหนด เช่น ฆ่าผู้อื่น หรือ ข่มขืนกระทำชำเรา  ศาลจะต้องกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัย คือ ครึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตามคำพิพากษา นอกจากนี้ ศาลสามารถขยายระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยไปได้ 2 ใน 3 ของโทษจำคุกตามคำพิพากษา หรือลดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยได้เช่นกันขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดแต่ละคน  ส่วนในคดีอื่นที่ศาลจำคุกจำเลยตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป ศาลจะกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของจำเลย

[7] ปกป้อง ศรีสนิท, “การปรับใช้โทษให้เหมาะสมกับนักโทษแต่ละคน”, วารสารบทบัณฑิตย์, เนติบัณฑิตยสภา, เล่มที่ 63, 2550

[8] พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52 “นักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี  มีความอุตสาหะ  ความก้าวหน้าในการศึกษา  และทําการงานเกิดผลดี  หรือทําความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ   อาจได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด  ดังต่อไปนี้…”

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save