fbpx
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : เมื่อคดีข่มขืนยอมความไม่ได้อีกต่อไป

การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : เมื่อคดีข่มขืนยอมความไม่ได้อีกต่อไป

     ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

การแก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญาโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ในครั้งที่แล้วผมได้กล่าวไปแล้ว 3 เรื่อง คือ 1. ความหมายใหม่ของการข่มขืนกระทำชำเรา  2. การกำหนดเหตุเพิ่มโทษใหม่  3. การยกเว้นโทษในกรณีการกระทำชำเราโดยสมัครใจระหว่างเด็กด้วยกัน ซึ่งอ่านได้ในบทความ ‘การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : ความหมายใหม่และโทษใหม่ของการข่มขืนกระทำชำเรา’

ในครั้งนี้จะกล่าวอีก 3 เรื่อง คือ 1. ข่มขืนไม่ใช่คดียอมความได้อีกต่อไป  2. การขยายกฎหมายให้มีการคุ้มครองเด็กในความปกครองมากขึ้น  และ 3. การขยายบทลงโทษคนที่แสวงหาประโยชน์จากโสเภณี ซึ่งตัวบทกฎหมายฉบับที่แก้ไขใหม่อ่านได้จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

 

ข่มขืนไม่ใช่คดียอมความได้อีกต่อไป

 

คดีอาญามี 2 ประเภท ถ้าเรียกตามภาษาทั่วไป คือ ความผิดที่ยอมความได้[1] กับ คดีความผิดที่ยอมความไม่ได้ (หรือความผิดอาญาแผ่นดิน)[2]

ความผิดที่ยอมความได้ เช่น ยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท โกงเจ้าหนี้ ทำให้เสียทรัพย์ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ไม่มีพฤติการณ์เป็นภัยสังคม ดังนั้นกฎหมายจึงให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีอาญาจึงเริ่มสอบสวนได้ หากผู้เสียหายเอาเรื่อง แต่ตัดสินใจช้าไปหน่อย มาแจ้งความร้องทุกข์เมื่อพ้น 3 เดือนไปแล้ว คดีก็ขาดอายุความ[3] ลงโทษคนผู้กระทำความผิดไม่ได้ นอกจากนี้ เมื่อคดีเริ่มไปแล้ว ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายสามารถเจรจายอมความกันเพื่อยุติคดีอาญาได้ทุกเมื่อ เมื่อยอมความกันสำเร็จ คดีอาญาจะยุติลงทันที ผู้กระทำผิดก็ไม่ต้องถูกลงโทษ[4]     

ความผิดที่ยอมความไม่ได้ หรือ ความผิดอาญาแผ่นดิน เช่น ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนตาย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และส่วนใหญ่ในความผิดอาญาทั้งปวงในประมวลกฎหมายอาญา ผู้กระทำความผิดเหล่านี้มักจะมีพฤติกรรมเป็นภัยสังคมหรือกระทำการกระทบความสงบเรียบร้อยของรัฐ กฎหมายจึงไม่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายในการเริ่มและยุติคดี แม้ผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ไม่เอาเรื่อง หรือร้องทุกข์เกิน 3 เดือน พนักงานสอบสวนก็สอบสวนคดีเหล่านี้ได้เสมอ นอกจากนี้ แม้ผู้กระทำความผิดจะเจรจายอมความกับผู้เสียหายสำเร็จ คดีอาญาก็ไม่ยุติ เพราะแผ่นดินยังเสียหายและถูกกระทบกระเทือนมากกว่าผู้เสียหาย จึงเรียกชื่อความผิดเหล่านี้ว่า “ความผิดอาญาแผ่นดิน”

ตั้งแต่เริ่มใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ 60 ปีก่อน คือ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคแรก[5] ถูกกำหนด[6] ให้เป็นความผิดที่ยอมความได้เหมือนพวกความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกง ดังนั้น ในอดีต หากผู้เสียหายคดีข่มขืนไม่แจ้งความร้องทุกข์ แม้ตำรวจมีหลักฐานใดๆก็ไม่อาจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ หรือแม้ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่เกิน 3 เดือน กฎหมายก็ไม่อาจลงโทษผู้กระทำความผิดข่มขืนได้เช่นกัน นอกจากนี้แม้ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์แล้ว ต่อมาผู้กระทำความผิดเจรจายอมความกับผู้เสียหายสำเร็จ คดีอาญาจะยุติลงทันที ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษทางอาญาโดยอาศัยการต่อสู้ทางเทคนิคได้หลายช่องทาง ดังเช่นที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7541/2554[7] ที่มีข้อเท็จจริงคือพ่อเลี้ยงข่มขืนกระทำชำเราลูกเลี้ยงอายุ 15 ปีเศษ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกพ่อเลี้ยง 16 ปีและศาลอุทธรณ์ลดโทษให้เหลือ 12 ปี แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ไม่ลงโทษพ่อเลี้ยง เพราะเห็นว่าคดีขาดอายุความเพราะลูกเลี้ยงแจ้งความเกิน 3 เดือนนับแต่เกิดเหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2543[8] โจทก์ฟ้องว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีหรือใช้อาวุธตามมาตรา 276 วรรค 2 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดเพียงข่มขืนกระทำชำเราโดยไม่มีอาวุธตามมาตรา 276 วรรคแรกซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้ ในคดีนี้ผู้เสียหายได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าเมื่อความผิดนี้เป็นคดีความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายแจ้งความไว้แค่เป็นหลักฐานไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ที่มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนคดีนี้จึงมิชอบ อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงยกฟ้อง

คดีที่กล่าวมาเหล่านี้หากเปลี่ยนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้กระทำความผิดคงถูกลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราตามกรรมที่เขาได้ก่อขึ้นอย่างแน่นอน

น่าแปลกใจมาก ความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ยังเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ความผิดข่มขืนกระทำชำเรามีความรุนแรงกว่าทำร้ายร่างกายมาก เพราะโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี และเป็นการกระทำที่กระทบทั้งร่างกายและจิตใจ ความรู้สึกของผู้เสียหาย กลับถูกกำหนดให้เป็นความผิดที่ยอมความได้

หากวันนี้เราทราบว่ามีผู้ย้ายมาเป็นเพื่อนบ้านใหม่เคยทำผิดฐานฉ้อโกงมาหลายคดี แต่เพื่อนบ้านใหม่นั้นไม่เคยถูกลงโทษเลยเพราะคดีอาญายุติหมด เพราะผู้เสียหายไม่เอาเรื่องบ้าง มีการยอมความบ้าง เราคงยังรู้สึกปลอดภัยอยู่ เพราะเขาไม่ใช่ภัยสังคม เพียงแต่หากเขาขอยืมเงิน เราอย่าให้ยืมเขาก็พอ ตรงกันข้าม หากวันนี้เราทราบว่ามีเพื่อนบ้านย้ายมาอยู่ใหม่ที่เคยทำผิดข่มขืนกระทำชำเราหลายคดี และไม่เคยถูกลงโทษเลยเพราะคดียุติลง เพราะยอมความบ้างหรือเหตุผลทางเทคนิคบ้าง เราคงรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเราและครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ข่มขืนกระทำชำเราจึงควรเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้

สำหรับข้ออ้างที่ว่าผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ ก็อย่าไปบังคับเขา เพราะจะเป็นการกระทบจิตใจเขาซ้ำสอง ในเรื่องนี้กระบวนการยุติธรรมได้แก้ไขมานานแล้ว กล่าวคือ การสอบสวนความผิดเกี่ยวกับเพศที่ผู้เสียหายเป็นผู้หญิง ต้องใช้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้ถามปากคำ[9] นอกจากนี้ศาลสามารถคุ้มครองผู้เสียหายไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิดในการพิจารณาคดีเหล่านี้ได้[10]

การทำให้คดีข่มขืนกระทำชำเราเป็นอาญาแผ่นดิน อาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงนักในการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ไม่แจ้งความ เพราะหากผู้เสียหายไม่แจ้งความ พนักงานสอบสวนคงทราบเหตุได้ยาก และคงหาพยานหลักฐานได้อย่างลำบากเหมือนที่เกิดขึ้นในคดีทั่วไป แต่การทำให้คดีข่มขืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดินจะช่วยผู้เสียหายที่แจ้งความได้อย่างมาก เพราะผู้กระทำความผิดจะไม่หลุดพ้นจากการถูกลงโทษเพราะเหตุผลทางเทคนิค ดังเช่นที่ปรากฏในคดีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7541/2554 และที่ 4906/2543 ที่ได้กล่าวมา นอกจากนี้ ยังคุ้มครองผู้เสียหายไม่ให้ถูกชักจูงเกลี้ยกล่อมให้ยอมความในชั้นสอบสวนอีกด้วย

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราได้เปลี่ยนเป็นความผิดอาญาแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยผลของประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่มาตรา 281[11] คงเหลือให้เป็นความผิดยอมความได้เฉพาะการข่มขืนระหว่างคู่สมรสในบางพฤติการณ์ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างการดำเนินคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยสร้างความรับรู้ให้กับคนในสังคมโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ให้เคารพและให้เกียรติทางเพศกับผู้อื่น ไม่ใช่ซึมซับการใช้อำนาจเหนือเหมือนในฉากหนังเดิมๆ ว่าข่มขืนไปก่อนแล้วเขาก็จะมารักเราเอง

 

การขยายกฎหมายให้มีการคุ้มครองเด็กในความปกครองมากขึ้น

 

ในอดีต หากผู้ปกครองตามกฎหมายที่ศาลแต่งตั้งข่มขืนเด็กในความปกครอง จะถูกลงโทษหนักขึ้นอีกหนึ่งในสามตามมาตรา 285 เช่นเดียวกันกับครูข่มขืนศิษย์ที่อยู่ในความดูแล ก็จะถูกเพิ่มโทษตามมาตราเดียวกัน อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาตีความว่าความปกครองต้องเป็นความปกครองตามกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น บิดาเลี้ยงข่มขืนบุตรเลี้ยงจึงไม่ต้องเพิ่มโทษบิดาเลี้ยงตามมาตรา 285 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2502[12] และที่ 6811/2538[13]) ผู้ปกครองตามความเป็นจริงเช่น พ่อเลี้ยง ลุงที่หลานมาอยู่ด้วย มีความใกล้ชิดอิทธิพลยิ่งเสียกว่าครูอาจารย์ที่โรงเรียนเสียอีก เพราะต้องพึ่งเขาในการกินอยู่หลับนอนไม่มีทางหนีไปไหนได้[14]

มาตรา 285 ใหม่จึงได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้มีการเพิ่มโทษผู้ปกครองตามความเป็นจริงที่ข่มขืนกระทำชำเราผู้อยู่ใต้ปกครองด้วย โดยการเพิ่มคำว่า “ผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใด” ในมาตรา 285 ใหม่[15] ดังนั้น พ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง ตามกฎหมายใหม่พ่อเลี้ยงจะถูกเพิ่มโทษหนึ่งในสามตามมาตรา 285 ด้วย

 

การขยายบทลงโทษคนที่แสวงหาประโยชน์จากโสเภณี

 

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286 เดิมได้กำหนดบทลงโทษของผู้ดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เช่น หากไม่มีงานทำ และเลี้ยงชีพตนเองอยู่ได้โดยเงินที่โสเภณีให้จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้ตีความว่า หากมีงานทำเป็นลูกจ้างมีเงินเดือนประจำ และเป็นผู้จัดหาโสเภณีให้ผู้อื่นและรับผลประโยชน์จากโสเภณีก็จะไม่ผิดมาตรา 286 นี้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2535[16] แนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวทำให้เกิดผลที่ว่า หากรับเงินจากโสเภณี ต้องมีงานทำ จึงจะไม่ผิด หากตกงานจะผิด ซึ่งไม่น่าจะตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการลงโทษผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากโสเภณีไม่ว่ากรณีใดๆ

มาตรา 286 ใหม่[17] จึงได้แก้ไขปัญหาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โดยนำแนวคิดการลงโทษผู้แสวงหาประโยชน์จากโสเภณี (proxénétisme) แบบที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสมาตรา 225-5 และมาตรา 225-6 ซึ่งมีแนวคิดคือ โสเภณีไม่มีความผิด แต่คนที่หาประโยชน์รายรอบโสเภณี เช่น รับส่วนแบ่ง เงินหรือผลประโยชน์ คุ้มครอง จัดหาโสเภณีเป็นลักษณะของ proxénétisme ที่ต้องถูกลงโทษ เป็นการกระทำที่ขัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การแก้ไขมาตรา 286 นี้จึงเป็นการขยายบทลงโทษจากเดิมลงโทษเฉพาะผู้ที่ดำรงชีพจากรายได้โสเภณีเป็นการลงโทษผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากโสเภณีในทุกรูปแบบที่กว้างขวางขึ้น แม้บางลักษณะการกระทำจะซ้อนกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แต่การกำหนดฐานความผิดหลักให้ครบถ้วนในประมวลกฎหมายอาญาก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำตามระบบประมวลกฎหมาย ส่วนการซ้ำซ้อนบางกรณีก็ควรตีความว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

จากแนวคิดดังกล่าว มาตรา 286(2) ใหม่ที่บัญญัติห้ามรับประโยชน์ไม่ว่ารูปแบบใดจากการค้าประเวณีของผู้อื่นหรือจากผู้ซึ่งค้าประเวณี จึงไม่ได้หมายความถึง แม่ค้าที่รับเงินจากโสเภณีที่ไปซื้อข้าวกินตามสัญญาทางแพ่งทั่วไป หรือพระที่รับเงินบริจาคที่โสเภณีมาทำบุญตามปกติวิสัย เพราะผู้รับเงินจากโสเภณีดังกล่าวไม่ใช่ผู้หาประโยชน์รายรอบโสเภณี

 


[1] ความผิดที่ยอมความได้ ถ้อยคำในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ “ความผิดต่อส่วนตัว” ส่วนถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาคือ “ความผิดอันยอมความได้”

[2] ความผิดที่ยอมความไม่ได้ ถ้อยคำในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ “ความผิดที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว” ส่วนถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญา คือ “ความผิดอาญา” ส่วนคำว่า “ความผิดอาญาแผ่นดิน” เป็นคำที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

[3] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6)

[4] สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2)

[5] ที่ไม่ใช่ข่มขืนกระทำชำเราเด็ก ที่ไม่ใช่โทรมหญิงหรือมีอาวุธ ที่ไม่ใช่ทำให้ผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บสาหัส หรือที่ไม่ใช่ข่มขืนต่อหน้าธารกำนัล

[6] โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 281

[7] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7541/2554, http://deka.supremecourt.or.th, ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 281 ปรากฏตามฟ้องของโจทก์ระบุว่า เหตุเกิดเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2539 และเดือนมิถุนายน 2539 ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราครั้งแรกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2539 ครั้งที่สอง ห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 ถึง 3 วัน โดยให้การเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ดังนี้จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจนถึงวันที่ผู้เสียหายมาให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นเวลาเกิน 3 เดือนแล้ว และระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ผู้เสียหายรวมทั้งผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเลย คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ปัญหาคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

[8] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2543, http://deka.supremecourt.or.th, ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรกเป็นความผิดอันยอมความได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 281 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 วรรคสอง แต่ปรากฏจากรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่าผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มอบคดีแต่อย่างใดการรับแจ้งความแม้จะมีคำว่าร้องทุกข์อยู่ด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เพราะยังมิได้กระทำโดยเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

[9] ประมวลกฎหมายวิธ๊พิจารณาความอาญา มาตรา 133 วรรค 4 “ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยก็ได้”

[10] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรค 3 “ในการสืบพยาน เมื่อได้พิเคราะห์ถึงเพศ อายุ ฐานะ สุขภาพอนามัย ภาวะแห่งจิตของพยานหรือความเกรงกลัวที่พยานมีต่อจำเลยแล้ว จะดำเนินการโดยไม่ให้พยานเผชิญหน้าโดยตรงกับจำเลยก็ได้ ซึ่งอาจกระทำโดยการใช้โทรทัศน์วงจรปิด สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา และจะให้สอบถามผ่านนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลอื่นที่พยานไว้วางใจด้วยก็ได้”

[11] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 “ความผิดตามมาตราดังต่อไปนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

(1) มาตรา 276 วรรคหนึ่ง และมาตรา 278 วรรคสอง ซึ่งเป็นการกระทำระหว่างคู่สมรส ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย…”

[12] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2502, http://deka.supremecourt.or.th, เด็กหญิงเชื่อมอายุ 12 ปี เป็นบุตรติดนางมามารดาแล้วนางมาสมรสกับจำเลย จำเลยข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงเชื่อม จำเลยย่อมมีความผิดเพียงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 เท่านั้น กรณียังไม่ต้องด้วย มาตรา 285 อันเป็นบทบัญญัติที่ให้วางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ หนึ่งในสาม เพราะอำนาจปกครองเด็กหญิงเชื่อมตกอยู่แก่นางมามารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1540 เด็กหญิงเชื่อมมิได้อยู่ในความปกครองของจำเลย

[13] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2538, http://deka.supremecourt.or.th, การข่มขืนกระทำชำเราลูกเลี้ยงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำแก่ผู้อยู่ในความปกครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 เพราะผู้อยู่ในความปกครองตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงผู้อยู่ในความปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย

[14] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับอ้างอิง, พิมพ์ครั้งที่ 41, (กรุงเทพฯ:วิญญูชน, 2562), คำอธิบายมาตรา 285, หน้า 487.

[15] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285 “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 278 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 282 หรือมาตรา 283 เป็นการกระทำแก่บุพการี ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ญาติสืบสายโลหิต ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ผู้อยู่ในความควบคุมตามหน้าที่ราชการ ผู้อยู่ในความปกครอง ในความพิทักษ์หรือในความอนุบาล หรือผู้อยู่ภายใต้อำนาจด้วยประการอื่นใด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ หนึ่งในสาม”

[16] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2535, http://deka.supremecourt.or.th, ความผิดฐานดำรงชีพจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีนั้นโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปี ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการอาศัยปัจจัยทั้งหมดหรือแม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี หากขาดปัจจัยดังกล่าวแม้เพียงบางส่วนจะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ หรือไม่มีปัจจัยอย่างอื่นอันพอเพียงสำหรับดำรงชีพ และปรากฏว่าจำเลยอยู่ร่วมกับหญิงซึ่งค้าประเวณี หรือสมาคมกับหญิงซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณตามคำฟ้องของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์นำสืบได้เพียงว่า จำเลยอายุกว่าสิบหกปีเป็นผู้จัดหาหญิงผู้ทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระ และได้รับเงินส่วนแบ่งจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีเท่านั้นจึงลงโทษจำเลยในความผิดนี้ตามฟ้องไม่ได้

[17] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินยี่สิบปี และปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

(1) ช่วยเหลือ ให้ความสะดวก หรือคุ้มครองการค้าประเวณีของผู้อื่น

(2) รับประโยชน์ไม่ว่ารูปแบบใดจากการค้าประเวณีของผู้อื่นหรือจากผู้ซึ่งค้าประเวณี

(3) บังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือใช้อำนาจครอบงำผู้อื่น หรือรับผู้อื่นเข้าทำงานเพื่อการค้าประเวณี

(4) จัดให้มีการค้าประเวณีระหว่างผู้ซึ่งค้าประเวณีกับผู้ใช้บริการ

(5) ปกปิดหรืออำพรางแหล่งที่มาของรายได้หรือทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการค้าประเวณี

(6) อยู่ร่วมกับผู้ซึ่งค้าประเวณีหรือสมาคมกับผู้ซึ่งค้าประเวณีคนเดียวหรือหลายคนเป็นอาจิณ และไม่สามารถแสดงที่มาของรายได้ในการดำรงชีพของตน

(7) ขัดขวางการดำเนินการของหน่วยงานที่ดูแลในการป้องกัน ควบคุม ช่วยเหลือ หรือให้การศึกษาแก่ผู้ซึ่งค้าประเวณี ผู้ซึ่งจะเข้าร่วมในการค้าประเวณี หรือผู้ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการค้าประเวณี

ความในวรรคหนึ่ง (2) และ (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับประโยชน์ไม่ว่ารูปแบบใดซึ่งพึงได้รับตามกฎหมายหรือตามธรรมจรรยา”

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save