fbpx
อารมณ์ขัน: อาวุธทรงอานุภาพ

อารมณ์ขัน: อาวุธทรงอานุภาพ

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลังจากที่ยึดอำนาจปกครองประเทศได้อย่างสมบูรณ์แล้ว โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตผู้แข็งแกร่งและโหดเหี้ยม ก็ยังรู้สึกไม่พอใจ จึงเรียกผู้อํานวยการไปรษณีย์ของประเทศเข้าพบ และมีคำสั่งให้ไปรษณีย์ทำการผลิตแสตมป์ที่มีภาพใบหน้าของตนออกจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในการส่งจดหมาย

ด้วยความเกรงกลัวสตาลิน ผอ. สั่งให้ทำการผลิตแสตมป์แบบหามรุ่งหามค่ำ ไม่นานนักแสตมป์ดังกล่าวก็ออกวางตลาดและปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สร้างความประหลาดใจแก่ ผอ. เป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ประหลาดยิ่งกว่าคือพนักงานไปรษณีย์ไม่พบจดหมายที่ใช้แสตมป์รูปสตาลินเลย ทั้งๆ ที่ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ส่วนสตาลิน หลังจากที่เฝ้ารอคอยเพื่อชื่นชมกับแสตมป์ที่มีรูปใบหน้าของตนนานนับเดือน แต่ก็ไม่เห็นมี เลยรู้สึกขุ่นเคืองใจ สั่งให้ ผอ. เข้าพบทันที

สตาลิน: “ผอ. เรื่องแสตมป์ที่สั่งให้ทำ ไปถึงไหนแล้ว?” น้ำเสียงแข็งกร้าว ใบหน้าถมึงทึง

ผอ.: “เสร็จเรียบร้อย ออกวางตลาดและขายดีมากครับ ฯพณฯ” ลนลานด้วยความกลัว รีบหยิบแสตมป์หนึ่งแผงที่เตรียมมาให้สตาลินดู

สตาลิน: หลังจากที่พิจารณาแสตมป์อยู่ครู่หนึ่งก็เอ่ยว่า “ดีๆ ดูดี แต่ทำไมไม่เห็นชาวบ้านใช้กันเลยล่ะ?”

ผอ.: “ใช้ครับๆ แต่เราค้นพบว่ามีปัญหาเรื่องวิธีติดแสตมป์ ซึ่งคนทั่วไปทำไม่ถูกต้องครับ ฯพณฯ”

สตาลิน: “วิธีติดแสตมป์ไม่ถูกต้อง?! อะไรกัน ง่ายจะตาย” ว่าแล้วก็ฉีกแสตมป์ออกหนึ่งดวง แล้วถ่มน้ำลายลงบนแสตมป์ด้านที่มีกาว แปะแสตมป์ลงบนกระดาษเพื่อแสดงวิธีการติดแสตมป์ให้ ผอ. ดู

ผอ.: “คือชาวบ้านเขาถ่มน้ำลายอีกด้านครับ ฯพณฯ”

 

ตลกการเมือง

 

เรื่องเล่าข้างบนเป็นหนึ่งในตลกการเมืองที่มีอยู่มากมาย จะแตกต่างกันที่โครงเรื่องหรือพล็อต แต่ตัวละครที่ถูกพาดพิงถึง ถูกล้อเลียน มักเป็นผู้มีอำนาจ ผู้นำประเทศ นักการเมือง ดังนั้น ชื่อของตัวละครจึงเปลี่ยนแปลงได้ตามใจผู้เล่า จะเป็นใครก็ได้แต่มักเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งรวมถึงผู้นำทางศาสนาด้วย

เท่าที่ทราบ พล็อตเรื่องเกี่ยวกับแสตมป์ได้รับความนิยมมาก แม้แต่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาบางคนก็ถูกนำมาล้อเลียน ในการเล่าเรื่องนี้ บางคนเล่าสั้นๆ มีเพียงชื่อของผู้ที่จะล้อเลียนและวิธีติดแสตมป์ บางคนอาจเล่ายาว (เช่นเรื่องข้างบน) เพิ่มสีสันในการเล่าเรื่อง และที่ขาดไม่ได้คือการออกเสียงถ่มน้ำลาย “ถุย” ดังๆ เพื่อเน้นการกระทำต่อเป้าหมาย

 

อำนาจไร้อารมณ์ขัน

 

อันที่จริง ตลกการเมืองเป็นเพียงหนึ่งในเรื่องขบขัน/ล้อเลียนหลากหลายประเภทที่เล่าสู่กันฟัง ในความคิดของผม ตลกการเมืองดูเป็นที่นิยมมาก อาจเป็นเพราะว่าเราชอบหัวเราะเยาะผู้มีอำนาจ ทำให้คนกลุ่มนี้ดูเป็นตัวตลก โง่เขลา ไร้สาระก็ได้

แต่ทำไมเราจึงหัวเราะเยาะ ล้อเลียน ผู้มีอำนาจ?

ใครที่เคยอ่าน “The Name of the Rose” นวนิยายโด่งดังขายดีของ Umberto Eco ที่ได้รับรางวัลหลายสำนัก คงรู้สึกสนุกกับการเล่าเรื่อง การตายลึกลับและแปลก ซึ่งบางกรณีก็ดูสยองขวัญ พฤติกรรมประหลาดของบาทหลวงบางรูป ความพยายามในการตีความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ ของตัวละครเอก บาทหลวง William of Baskerville และอื่นๆ

ตอนที่ผมสนใจมากที่สุดคือบทสนทนาในฉากท้ายๆ ของหนังสือระหว่างวิลเลียมกับบาทหลวงเฒ่าตาบอดจิตใจอำมหิตนาม Jorge of Burgos เมื่อเฒ่าโฮเฮยอมให้วิลเลียมอ่านหนังสือเล่มที่สองของเรื่อง “Poetics” ที่ประพันธ์โดย Aristotle ซึ่งสำหรับวิลเลียมเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง แต่สำหรับโฮเฮ ผู้เกลียดชัง “การหัวเราะ” จึงเป็นหนังสือที่ต้องเก็บซ่อนไว้ หรือแม้แต่ทำลายทิ้ง เพราะการหัวเราะคือความอ่อนแอ ความฉ้อฉล ความโง่เขลาเบาปัญญา และทำให้จิตใจของไพร่สามัญชนไร้ความหวาดกลัว สำหรับคนคลั่งศาสนาอย่างตาเฒ่าใจร้าย ความกลัวที่ว่านี้คือความกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น การหัวเราะจึงเป็นบาป เพราะทำให้เราไม่เกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า[1]

หากเราคล้อยตามความคิดของเอโค ผู้ประพันธ์นิยายเรื่องนี้ การหัวเราะเป็นการปลดปล่อยผู้คนจากความกลัว ในกรณีนี้คือความกลัวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจตีความได้อีกว่าการหัวเราะปลดปล่อยผู้คนจาก “อำนาจ” เพราะพระผู้เป็นเจ้าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ที่มีบาทหลวงเป็นเอเยนต์ตัวแทนในการใช้อำนาจ และหากเราต้องการท้าทายอำนาจ หนึ่งในวิธีการท้าทายที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งคือการล้อเลียน หัวเราะเยาะ ทำให้อำนาจดูเป็นเรื่องตลกขบขัน ไร้สาระ

หากเราล้อเลียนศาสนาได้ ทำไมเราจะหัวเราะเยาะเย้ยนักการเมืองหรือผู้ปกครองที่มีอำนาจไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลกการเมืองเป็นที่นิยมชมชอบในทุกสังคม

 

อารมณ์ขันสำคัญไฉน?

 

นักมานุษยวิทยาอังกฤษนาม Chris Knight แสดงความเห็นว่า การหัวเราะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง (a paradox) ในด้านหนึ่ง มันช่วยให้เรามีประสบการณ์ชีวิตที่เพลิดเพลิน ช่วยลดความตึงเครียด แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องตัดตัวเองจากความรู้สึกบางอย่าง เช่น รัก เกลียด กลัว หรืออารมณ์อื่นๆ เราจึงขบขันกับคนเซ่อซ่าที่ลื่นหกล้มเพราะเหยียบเปลือกกล้วย เราหัวเราะกับความโชคร้ายของผู้นั้นโดยไม่สนใจไยดีในตัวเขาเลย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการหัวเราะเหมือนโรคติดต่อและกลายเป็นกิจกรรมส่วนรวมก็ได้ หากใครคนหนึ่งเริ่มหัวเราะเพราะขบขันอะไรบางอย่าง คนอื่นๆ ก็อาจหัวเราะตาม และการหัวเราะจะส่งผลกับส่วนอื่นๆ ในร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นเสียง ดวงตา ผิวหนัง หัวใจ การหายใจ การย่อยอาหาร ดังนั้น เราอาจหัวเราะจนน้ำตาเล็ดก็ได้[2] หรือถ้าพูดกันตามประสาคนไทย คงพูดว่า “หัวเราะจนท้องคัดท้องแข็ง”

ไนท์พาดพิงถึง Jane Goodall นักวานรวิทยา (primatologist) ผู้มีชื่อเสียงจากการศึกษาชิมแปนซี ซึ่งระบุว่าวานรเยาว์วัยมักหยอกล้อกันด้วยการจั๊กจี้ (tickling) วานรตัวอื่น แล้วร้องเสียงดัง เป็นเสียงหอบและเสียงข่มขู่ที่ไม่จริงจัง (huffing and puffing noises) ใส่กัน ไนท์สันนิษฐานว่าหากพิจารณาตามทฤษฎีวิวัฒนาการนิยม อาจเป็นไปได้ว่าการหัวเราะของมนุษย์วิวัฒนาการมาจากการเล่นหัว/หยอกเย้ากันในหมู่วานรนี่เอง[3]

Alfred Reginald Radcliffe-Brown หนึ่งในปรมาจารย์ผู้โด่งดังของมานุษยวิทยาสกุลอังกฤษ เคยให้ข้อเสนอเรื่อง “ความสัมพันธ์เชิงหยอกล้อ” (joking relationships) ไว้ว่าหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคน ที่ฝ่ายหนึ่งสามารถหยอกเย้าหรือเล่นตลกกับอีกฝ่ายได้ โดยที่ฝ่ายหลังจะต้องไม่รู้สึกว่าถูกละเมิดหรือถือสาหาความ การหยอกล้อกันเป็นประเพณี เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ปรากฏทั่วไป

ความสัมพันธ์เชิงหยอกล้อเป็นการผสมผสานที่พิสดารระหว่างความเป็นมิตรและการเป็นปฏิปักษ์ (friendliness and antagonism) เพราะไม่ว่าจะเป็นสังคมใดก็ตาม พฤติกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นศัตรูก็ได้ แต่ก็ไม่ถูกคิดว่าเป็นเรื่องจริงจัง และต้องไม่ถือสากัน เพราะมันคือการแกล้งทำเป็นปรปักษ์ต่อกันแต่มีความเป็นมิตรที่แท้จริงแฝงอยู่ เขายกตัวอย่างชาว Dagon ในแอฟริกาที่ผู้ชายมักมีความสัมพันธ์เชิงหยอกล้อกับน้องชายและน้องสาวของภรรยา แต่ในบางกรณีก็จะไม่ค่อยทำเช่นนี้กับพวกพี่ๆ ของภรรยา ถึงแม้จะเล่นหัวกับพวกน้องๆ แต่ก็เล่นกันด้วยความเคารพนับถือ โดยหลีกเลี่ยงที่จะหยอกล้อกันในหมู่ผู้ที่เป็นเขย และ (ไม่น่าแปลกใจที่) จะไม่เล่นกับพ่อตาแม่ยาย[4]

เนื่องจากสังคมในแอฟริกาเต็มไปด้วยชนเผ่าต่างกลุ่มมากมาย แรดคลิฟ-บราวน์ จึงตั้งสมมติฐานว่าการมีความสัมพันธ์เชิงหยอกล้อเพื่อสร้างการเป็นพันธมิตรระหว่างคนต่าง “clans” และต่างเผ่า ระหว่างเครือญาติโดยการแต่งงาน และเป็นส่วนหนึ่งในการจัดระบบพฤติกรรมทางสังคมที่ชัดเจนและมั่นคง[5] หรืออาจสรุปได้ว่าความสัมพันธ์เชิงหยอกล้อในแอฟริกามีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความใกล้ชิด สนิทสนม เป็นกันเองในเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกที่จะต้องมี เพื่อสร้างความแน่นแฟ้นในหมู่ญาติพี่น้อง

ทว่า ดูเหมือนว่าอารมณ์ขันในสังคมแอฟริกาจะซับซ้อน/ลึกซึ้งกว่าที่ปรมาจารย์ แรดคลิฟ-บราวน์ ได้ตีความไว้ Johannes Fabian นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาสังคมในแอฟริกากลางเขียนไว้ว่า มีหลักฐานว่าการหัวเราะและอารมณ์ที่พบในรายงานต่างๆ อาจแบ่งออกได้เป็น ก. รายงานที่บอกว่านักเดินทาง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก – นิติ) หัวเราะคนแอฟริกันในเรื่องใดบ้าง ข. ผลสะท้อนที่เกี่ยวกับอารมณ์ขันในฐานะเครื่องวัดสุขอนามัย (hygiene) ค. ผลสะท้อนที่เกี่ยวกับอารมณ์ขันและการหัวเราะในการสื่อสารกับคนแอฟริกัน ง. อารมณ์ขันที่ถูกใช้เพื่อการล้อเลียน ทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นตัวตลก[6]

ในอีกด้านหนึ่งของโลก จากการศึกษาในประเทศนิการากัวพบว่า ในหมู่ผู้หญิงชนชั้นแรงงาน อารมณ์ขันสะท้อนถึงการต่อต้านในชีวิตประจำวัน กล่าวคือเรื่องตลกหยอกล้อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ความภาคภูมิใจและการเป็นอิสระของผู้หญิงเหล่านี้ โดยใช้อารมณ์ขันเป็นเสมือนการตอกย้ำลักษณะที่แยกผู้หญิงออกจากผู้ชาย นั่นคือผู้หญิงมีความรับผิดชอบ มีเหตุผล และไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว ตรงกันข้าม ผู้ชายไม่มีความรับผิดชอบ ไร้เหตุผลและทะนง เห็นแต่ตัวเอง (egoistic) อารมณ์ขันของผู้หญิงจึงมีนัยของการลดทอนสถานะของผู้ชาย และสถานะที่สูงกว่าของความเป็นผู้ชาย (superior position of masculinity)[7]

 

เฮฮาในงานศพ

 

เมื่อคิดทบทวนเกี่ยวกับสมมติฐานของแรดคลิฟ-บราวน์ ที่ว่าความสัมพันธ์เชิงหยอกล้อมีนัยของการสร้างมิตรภาพ สร้างการเป็นพันธมิตรในหมู่เครือญาติ ผมก็นึกถึงเหตุการณ์ที่ตนเองประสบใน “สนาม” ที่ๆ นักเรียนมานุษยวิทยาอย่างผมต้องไปใช้ชีวิตอยู่ เรียนรู้การดำเนินชีวิตและทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่น ปรับตัวให้เข้ากับขนบ ธรรมเนียมปฏิบัติและคุณค่าของชุมชนแห่งนั้น เก็บรายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเมื่อเกือบสามทศวรรษที่แล้ว

ผมเรียก “สนาม” แห่งนั้นด้วยนามแฝงว่า “เมืองไต” ซึ่งเป็นเมืองการค้าเล็กๆ ไม่ไกลนักจากชายแดนไทย-พม่า ชาวเมืองส่วนใหญ่คือคนไต (ที่คนไทยเรียกว่า “ไทยใหญ่”) ช่วงที่ผมอาศัยอยู่ที่นั่นมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคืองานศพ ที่ผมเข้าไปรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเป็นงานศพของสามัญชน 3 งาน และของพระสงฆ์ 2 งาน

ผมขอกล่าวถึงงานศพที่เจ้าภาพรู้จักมักคุ้นกับผมจนในที่สุดกลายเป็นเพื่อนกัน เป็นงานศพแม่ของเจ้าหน้าที่หญิงที่ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลของเมือง แม่เป็นคนไตที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนอกเมือง ผมจึงขอติดตามเธอและสามีเธอไปร่วมงานศพที่จัดติดต่อกันนาน 3 วัน ตามธรรมเนียมของคนไตที่โน้น จะตั้งศพไว้ที่บ้านของผู้ตาย มีการสวดศพทุกคืนโดยผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว ในวันเผา เขาจะย้ายศพจากบ้านไปที่ป่าช้า ซึ่งใช้เป็นที่เผาศพ (วัดของคนไตจึงมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานศพอย่างที่ปฏิบัติกันในภาคกลาง พระสงฆ์ก็มีบทบาทน้อยมากในงานศพ) ผู้ตายมีญาติพี่น้องทั้งที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันและที่อื่นๆ ลูกหลานและลูกเขยก็ไม่น้อย จึงมีผู้ชายผลัดกันเป็นแรงงานแบกหามโลงศพมากมายทีเดียว และแล้วความเฮฮาเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น

ระยะทางจากบ้านไปป่าช้านั้นค่อนข้างไกล ต้องเดินผ่านถนนลูกรังที่บางช่วงบางตอนเป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำขังอยู่ คนแบกหามโลงศพก็เริ่มแกล้งกัน โดยญาติที่สนิทสนมกันมากจะไปรวมกันอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของโลง พอออกเดินทาง หากผ่านบริเวณที่มีหลุมมีน้ำขังก็จะออกแรงดันโลงให้ญาติอีกฝ่ายต้องเซ เดินเหยียบลงในหลุมที่มีน้ำเพื่อทำให้ฝ่ายนั้นเปียกปอน ตามด้วยเสียงหัวเราะชอบใจ ฝ่ายที่โดนแกล้งก็จะเอาคืน การเดินแบกโลงศพจึงไม่ใช่การเดินทางตรงไปเรื่อยๆ แต่ส่ายไปส่ายมาเมื่อมีหลุมที่มีน้ำขัง ในขณะที่พวกผู้ชายผลัดเปลี่ยนกันเป็นคนแบกโลงและสนุกสนานกับการกลั่นแกล้งกัน ลูกสาวต้องคอยร้องเตือนให้ทุกคนระวังเพราะเกรงว่าจะเกิดความผิดพลาด ทำให้โลงศพตกลงบนถนน เธอร้องด้วยความตกใจสลับกับร้องไห้เสียใจ (ที่แม่ได้จากไปแล้ว) แต่พวกผู้ชายดูเหมือนจะรู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ ด้วยทักษะที่ช่ำชอง จึงไม่มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น โลงศพไปถึงป่าช้าอย่างปลอดภัย และการส่งวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุคติก็จบลงด้วยดี

 

หัวเราะเถิด ชื่นใจ

 

แน่นอน แนวคิดในการวิเคราะห์ตีความอารมณ์ขันและเรื่องตลกมีมากกว่าที่ผมได้กล่าวไว้อย่างสั้นๆ ในที่นี้ และไม่ต้องปฏิเสธเลยว่าสำหรับนักเรียนมานุษยวิทยาอย่างผม ซึ่งมักตั้งคำถามโง่ๆ กับชาวบ้านเพราะความอยากรู้ หรือด้วยความไม่รู้ พยายามเรียนรู้และทำกิจกรรมที่คนท้องถิ่นทำกัน (แต่ผมล้มเหลว) หัดพูดภาษาของพวกเขา (ด้วยสำเนียงที่แปลกประหลาด) และอีกสารพันประสบการณ์ที่มักถูกหัวเราะ หยอกเย้า เล่นหัวด้วย (อาจารย์ชาวอังกฤษที่สอนผมสมัยเรียนที่นิวซีแลนด์เคยพูดกับผมว่าการใช้ชีวิตใน “สนาม” คือการถูกหัวเราะเยาะ) สิ่งหนึ่งที่ผมอาจพูดได้ว่าเป็นความสำเร็จคือความรู้สึกเป็นกันเอง ความสนิทสนม ความเป็นเพื่อนและมิตรภาพ ที่ชาวบ้านคนท้องถิ่นหยิบยื่นให้ผม เพราะพวกเขารู้ว่าผมไม่ใช่ปรปักษ์ แต่เป็นมิตรที่ถูกล้อเลียนได้โดยไม่ถือสาหาความ มีเพียงเสียงหัวเราะที่ตามมาเท่านั้น

จะกล่าวอย่างเป็นวิชาการว่า การหัวเราะ/ล้อเล่นกันเป็นการลดระยะห่างทางสังคมระหว่างคนท้องถิ่นกับผมก็คงได้ ทั้งๆ ที่ประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาและผมอาจแตกต่างกันทีเดียว

เมื่อพิจารณาในภาพกว้าง แม้ว่าอารมณ์ขัน การหยอกล้อ และการหัวเราะ จะมีนัยทางสังคมที่เกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองอย่างซับซ้อน ลึกซึ้ง แตกต่างกันไปตามแต่ละสังคมก็ตาม แต่อาจแยกไม่ออกจากประเด็นสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือเรื่องอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นตลกการเมืองที่ล้อเลียนผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้หญิงนิคารากัวที่ท้าทายอำนาจของผู้ชาย หรือคนท้องถิ่นที่ทำให้เจ้าอาณานิคมตะวันตกกลายเป็นตัวตลกในแอฟริกากลาง รวมไปถึงตลกล้อเลียนพระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่คนไทยคุ้นเคย หรือต่อบาทหลวงในศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นการล้อเลียนอำนาจทางศาสนา เหล่านี้ล้วนเป็นการทำให้อำนาจกลายเป็นสิ่งที่ถูกหัวเราเยาะได้ทั้งสิ้น

แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ก็ถูกล้อเลียน-ท้าทาย ดังนั้น คงไม่มีอะไรในโลกนี้ที่อารมณ์ขันไม่สามารถปั่นป่วนได้?!

 

ผู้นำไร้สมอง

 

ผมเริ่มต้นด้วยตลกการเมือง จึงขอจบด้วยเรื่องเล่าประเภทเดียวกัน และอย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าตัวละครในเรื่องที่เล่าจะเป็นใครก็ได้ ผู้เล่าสามารถเปลี่ยนแปลงชื่อตัวละครได้ตามใจเพื่อความสนุกสนาน

ในงานแสดงสินค้าระดับโลกที่จัดขึ้นที่มหานครนิวยอร์ก มีสารพันสินค้าจากทั่วโลกมาวางจำหน่าย หนึ่งในสินค้าที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นพิเศษคือสมองมนุษย์ระดับบุคคลสำคัญ ที่มีจำนวนไม่น้อย ใส่อยู่ในโหลแก้วที่มีน้ำยาดองสมองเพื่อไม่ให้บูดเน่า เป็นสินค้าที่มีผู้เข้าชมอยู่ตลอดเวลา จึงมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการประกอบคำอธิบายประจำอยู่

แล้วผู้เข้าชมคนหนึ่งก็เริ่มสังเกตว่าสมองที่วางแสดงอยู่นั้นถูกจัดประเภทตามอาชีพของเจ้าของสมอง เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักการเมือง ทหาร ฯลฯ และราคาของสมองก็ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ในประเภทนักวิทยาศาสตร์ สมองของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในโหลแก้วสีน้ำเงิน ราคาหนึ่งพันดอลล่าร์ ใกล้ๆ กันนั้นมีสมองของสตีเฟน ฮอว์กิง ราคาสองพันดอลล่าร์ สำหรับกลุ่มนักเขียน สมองของกาบริเอล การ์ซิเอ มาร์เกซ อยู่ในโหลแก้วสีเหลือง ราคาห้าร้อยดอลลาร์ เป็นต้น เมื่อมาถึงกลุ่มทหาร ก็พบว่าสมองของซูฮาร์โต ที่อยู่ในโหลแก้วสีเขียว ราคาหนึ่งหมื่นดอลล่าร์

ผู้เข้าชมจึงถามด้วยความสงสัยว่า: “ใครก็ไม่รู้ ไม่รู้จักเลย?”

เจ้าหน้าที่: “เป็นอดีตประธานาธิบดีของประเทศอินโดนิเชียครับ”

ผู้เข้าชม: “ทำไมแพงจัง? แพงกว่าคนอื่นอีก”

เจ้าหน้าที่: “Because it has never been used”. (เพราะสมองไม่เคยถูกใช้เลย)

 

อ้างอิง

[1] Umberto Eco, The Name of the Rose (translated from the Italian by William Weaver) (San Diego: Harvest Book, 1994), pp. 474-475.

[2] Chris Knight, “Did laughter make the mind? A psychological relief valve and a guard against despotism, laughter is a uniquely human – and collective – activity”, aeon.

[3] Ibid.

[4] “On joking relationships”, in The Social Anthropology of Radcliffe-Brown, edited by Adam Kuper (London: Routledge & Kegan Paul, 1977), pp. 174-175.

[5] Ibid., p. 178.

[6] Johannes Fabian, Out of Our Minds: Reason and Madness in the Exploration of Central Africa (Berkeley, Los Angeles, London: University of California Press, 2000), p. 101.

[7] Stellan Vinthagen and Anna Johansson, “Everyday Resistance”: Exploration of a Concept & its Theories”, Resistance Studies Magazine, 2013, No. 1, p. 19 and p. 35

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save