fbpx
ครั้งแรกในรอบ 7 ปี – จับตาการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563

ครั้งแรกในรอบ 7 ปี – จับตาการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563

ณัฐกร วิทิตานนท์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ทบทวน อบจ. ในรอบ 2 ทศวรรษ

 

กว่า 2 ทศวรรษของการกระจายอำนาจได้ช่วยให้การเมืองท้องถิ่นเปิดกว้างขึ้น การเมืองท้องถิ่นในจังหวัดส่วนใหญ่มักมีลักษณะหลายขั้ว และแบ่งปันอำนาจหลายระดับ แต่ละฝ่ายไม่สามารถผูกขาดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จไว้ในกลุ่มวงศาคณาญาติของตนเท่านั้น บางตระกูลการเมืองประสบความสำเร็จในสนามการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็พ่ายแพ้ในเวทีท้องถิ่น บางกลุ่มยึดครองอำนาจใน อบจ. ได้ แต่ก็พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเทศบาล ยกเว้นบางจังหวัดที่ถือเป็นกรณียกเว้นจริงๆ เช่น สระแก้ว สรุปได้ว่าตระกูลการเมืองที่โดดเด่นไม่น้อยถูกลดทอนบทบาทนำลงตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา[1]

การเมืองใน อบจ. เองก็มีพลวัตสูง ความเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทั้งระดับนายก อบจ .และ ส.อบจ. เท่าที่มีข้อมูล มี อบจ. ไม่ถึงสิบแห่งเท่านั้นที่มีนายกฯ คนเดิมไม่เปลี่ยนเลยตลอด 20 กว่าปีมานี้ (นับแต่กฎหมายให้นายกฯ มีที่มาจากการเลือกตั้ง) ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวพันกับหลายปัจจัยดังกล่าวมาแล้ว

ในด้านการทำงาน การปกครองท้องถิ่นตอบสนองประชาชนเป็นอย่างดี (เรียกว่าอาจดีเสียยิ่งกว่าราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนกลางในบางเรื่อง) หลายๆ อบจ. คิดทำโครงการริเริ่มที่ไม่เหมือนใคร อาทิ โรงพยาบาลของ อบจ.ภูเก็ต รถโดยสารประจำทาง 2 สายของ อบจ.ตรัง แพขนานยนต์ข้ามทะเลสาบของ อบจ.สงขลา อุทยานการเรียนรู้หอชมเมืองของ อบจ.สมุทรปราการ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงฉวากฯ ของ อบจ.สุพรรณบรี สนามฟุตบอลทุ่งทะเลหลวงของ อบจ.สุโขทัย ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และหอดูดาวฯ ของ อบจ.น่าน โรงเรียนซึ่งเน้นทางการกีฬาของ อบจ.เชียงราย สวนสาธารณะหนองกระทิงของ อบจ.ลำปาง ฯลฯ แม้ในภาพรวมยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคนานัปการก็ตาม ทั้งจากการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และการควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ อย่าง สตง. และ ปปช. ขณะที่หลาย อบจ. ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคม เพราะเต็มไปด้วยโครงการและกิจกรรมน่ากังขาต่างๆ

 

ความน่าสนใจของการเลือกตั้ง อบจ. 20 ธันวาคม 2563

 

สำหรับผม การเลือกตั้งครั้งนี้น่าติดตามหลายแง่มุม เพราะทิ้งห่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ถึงราว 7-8 ปี จึงมีคำถามที่สงสัยใคร่รู้มากมาย คำอธิบายเดิมๆ จะนำมาใช้อธิบายได้อยู่อีกหรือไม่ ขอชวนผู้อ่านติดตามประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจดังนี้

หนึ่ง ยอดของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศครั้งนี้ยากที่เป็นไปดัง กกต. กลางคาดหวังไว้สูงว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 75% แตกต่างกับ กกต. จังหวัดหลายแห่งที่ตั้งเป้าไว้เพียง 70% ส่วนตัวขอแค่มากกว่าเมื่อปี 2547 ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 62% ก็ถือว่าน่าพึงพอใจแล้ว เนื่องจากไม่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนอกเขต สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในภูมิลำเนา ต้องกลับไปใช้ลงคะแนนเสียงยังที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น ประกอบกับวันเลือกตั้งถูกห้อมล้อมด้วยช่วงหยุดยาวทั้งก่อนและหลัง และปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนลังเลใจที่จะกลับไปเลือกตั้งในสุดสัปดาห์ดังกล่าว

สอง ระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจพิเศษตาม ม.44 สั่งให้นายก อบจ. 15 คนระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว (คิดแล้วเกือบ 20%) กรณีเป็นข่าวดังคือ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ระหว่างนั้นมีบางคนเสียชีวิตคือ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต บางคนตัดสินใจลาออก เช่น สุนี สมมี นายก อบจ.ลำปาง กว่าจะได้รับตำแหน่งกลับคืนมาก็ใช้เวลาหลายปี และไม่ใช่ทุกคนที่ได้คืนตำแหน่ง มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ได้รับคืนตำแหน่ง ส่วนใหญ่เพราะหันมาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอย่างเปิดเผย เช่น อนุสรณ์ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยนาท อัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์ สุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร หรือแสดงท่าทีเปลี่ยนขั้วรัฐบาลนั่นเอง เช่น ชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ.ปทุมธานี ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายก อบจ.เลย แต่ผู้ที่ไม่ได้ตำแหน่งคืนเลยก็มีอยู่บ้าง เช่น ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายก อบจ.สมุทรปราการ พรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลราชธานี[2]

สถานการณ์ที่รุมเร้ารัฐบาลจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของผู้สมัครกลุ่มนี้ด้วยหรือเปล่า หรือยิ่งจะกลายเป็นข้อได้เปรียบเหนือผู้สมัครรายอื่น และยิ่งน่าติดตามมากถ้าจังหวัดนั้น นายก อบจ. กับ ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่น ปทุมธานี อุบลราชธานี ซึ่งที่ผ่านมา การเมืองใหญ่เป็นอย่างไร การเมืองท้องถิ่นก็เป็นอย่างนั้น

สาม จังหวัดที่มีนายก อบจ. คนเดิมผูกขาดตำแหน่งมาอย่างยาวนานเกิน 20 ปีขึ้นไป เช่น กระบี่ สมศักดิ์ กิตติธรกุล (6 สมัย) ศรีสะเกษ วิชิต ไตรสรณกุล (5 สมัย) พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ (4 สมัย) วิเชียร ทรัพย์เจริญ นายก อบจ.ตราด (4 สมัย) จะสามารถเอาชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ ซึ่งกรณีของกระบี่ค่อนข้างแน่นอนว่าสมศักดิ์จะได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 7 เพราะไร้คนสมัครแข่ง ขอเพียงได้คะแนนไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมากกว่าช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนแค่นั้น ท่ามกลางอดีตนายก อบจ. ที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานไม่แพ้กันตัดสินใจวางมือ เช่น ทรงยศ เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว (5 สมัย) กิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง (4 สมัย) นรินทร์ เหล่าอารยะ นายก อบจ.น่าน (4 สมัย)

สี่ ผู้สมัครหน้าใหม่ (ในเวทีท้องถิ่น แต่ผ่านประสบการณ์ระดับชาติมาแล้ว) หลายคนที่มีส่วนในการทำทีมฟุตบอลของจังหวัดมาก่อน ฟุตบอลจะช่วยปูทางให้นักการเมืองกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ เช่น พิชัย เลิศพงศ์อดิศร (เชียงใหม่ ยูไนเต็ด) วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ (เชียงราย ยูไนเต็ด) อนุสรณ์ วงศ์วรรณ (ลําพูน วอริเออร์) สุภวัฒน์ ศุภศิริ (แพร่ ยูไนเต็ด) สราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ (ประจวบ เอฟซี) จันทร์เพ็ญ ประเสริฐศรี (อำนาจ ยูไนเต็ด)

น่าสนใจว่าฟุตบอลเป็นเครื่องมือสร้างความนิยมเชิงตัวบุคคลได้จริงหรือ และถึงแม้หลายคนที่ลงเลือกตั้งนายก อบจ. หนนี้ไม่ได้ทำสโมสรฟุตบอล แต่ในอีกบทบาทหนึ่งก็รับเป็นนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอยู่ด้วย เช่น พ.ต.อ.สรวิศ มาอินทร์ (ชัยภูมิ) นพพร อุสิทธิ์ (ชุมพร) หากคนเหล่านี้ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. จะมีนโยบายต่อการพัฒนากีฬาในจังหวัดตัวเองอย่างไรต่อไป ยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 ท้องถิ่นได้ถูกตีกรอบการใช้เงินอย่างเคร่งครัดจนแทบขยับตัวไม่ได้

ห้า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยจัดระเบียบการลงสมัครนายกและสมาชิก อบจ. ของพรรค โดยประกาศรับรองผู้สมัครที่ลงในนามพรรคอย่างเป็นทางการ จำนวน 25 คน นั่นคือให้มีจังหวัดละ 1 คนเท่านั้น ถ้าทางพรรคไม่รับรอง แต่ประสงค์จะลงสมัคร แม้ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ก็ต้องหาเสียงในนามผู้สมัครอิสระ ทั้งๆ ที่ในการเลือกตั้ง อบจ. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา พรรคพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด เพราะเกรงว่าจะนำมาซึ่งความแตกแยกภายในพรรค ถ้าเกิดมีสมาชิกพรรคลงสมัครแข่งกันเองแล้วพรรคต้องตัดสินใจเลือกเพียงคนเดียว

ความลำบากใจนี้อาจเกิดขึ้นกับอดีตพรรคอนาคตใหม่หรือคณะก้าวหน้าที่ประกาศส่งผู้สมัครนายก อบจ. มากถึง 41 คนเช่นกัน หลายจังหวัดที่พรรคก้าวไกลในปัจจุบันมี ส.ส. หลายที่นั่ง กลับไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. เช่น เชียงราย ก็คงจะด้วยเหตุผลข้อนี้

จากที่ไล่ดูมีทั้งสิ้น 12 จังหวัดที่สองพรรคแกนนำฝ่ายค้านต้องลง ‘ชนกัน’ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางจังหวัดดูราวกับว่ามีการหลีกให้เพื่อมิให้ตัดคะแนนกันเอง เช่น พะเยา ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐมีมติไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศในนามพรรค ส่วนพรรคอื่นแม้ไม่มีนโยบายส่งผู้สมัครแบบเป็นทางการ แต่ก็มีผู้สมัครที่เป็นคนของพรรคลงเลือกตั้งโดยถ้วนหน้า

บางพรรคก็ให้ผู้สมัครใช้โลโก้พรรคในการหาเสียงได้ เช่น ประชาธิปัตย์ บางพรรคก็ห้าม เช่น ภูมิใจไทย เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นระบุในทำนองว่าห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นช่วยผู้สมัครหาเสียง (พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 34) แต่เป็นอันรู้กันในแต่ละพื้นที่ว่าผู้สมัครคนสำคัญรายใดยึดโยงกับพรรคไหนบ้าง

หก เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจมากมาย และใช้ดุลพินิจได้กว้างขวาง ทั้งในการสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาดสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) นับคะแนนใหม่ รวมไปถึงสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจเต็มหากมีคำวินิจฉัยออกมา ‘ก่อน’ ประกาศผลเลือกตั้ง (ใบส้ม) นั่นหมายถึงว่าคำวินิจฉัยของ กกต. เป็นที่สุด ดังกรณีของสุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แต่ถ้าเป็นหลังจากนั้นแล้วต้องไปจบที่ศาลอุทธรณ์ (ใบแดง)

การกระทำบางอย่างที่คนทั่วไปดูผิวเผินแล้วไม่น่าถือเป็นการทุจริตเลือกตั้ง อาทิ แจกปฏิทินแนะนำตัวแบบพกพา มอบพวงหรีดในนามกลุ่ม ในสายตา กกต. ก็เคยมองว่าเข้าข่ายมาแล้ว และนี่ก็อาจเป็นอีกปัจจัยชี้ขาดความเป็นไปทางการเมืองของ อบจ. แต่ละแห่งที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย การที่นายก อบจ. หลายคนมีอันต้อง ‘หลุด’ จากตำแหน่งก่อนครบกำหนดวาระ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอมา

 

ทำไมต้องไปเลือกตั้ง อบจ.

 

สำหรับคนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ที่กรุงเทพฯ อยากให้ลองนึกถึงทุกครั้งที่เติมน้ำมัน นั่นแหละเงินที่คุณเสียให้ อบจ. ไป โดยเฉพาะยิ่งคนสูบบุหรี่ด้วยแล้ว นั่นคือแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดของ อบจ. ทุกแห่งเลยก็ว่าได้ หรือต่อให้เป็นคนกรุงเทพฯ ถ้าคุณออกไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วเข้าพักโรงแรม นั่นก็เป็นเงินที่คุณต้องจ่ายสำหรับ อบจ. เหมือนกัน ส่วนนี้เรียกว่าเป็นรายได้ที่ อบจ. จัดเก็บเอง ยิ่งกว่านั้น อบจ. ยังมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (เฉพาะส่วนนี้ในปีล่าสุด ปีงบประมาณ 2564 มากถึง 28,797.8 ล้านบาท[3]) ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งสรรให้ รวมถึงรายได้อื่นๆ รวมแล้ว อบจ. แต่ละแห่งมีงบประมาณปีละหลายร้อยล้านขึ้นไปทั้งสิ้น

จากข้อมูลปีงบประมาณ 2563 งบระดับเกินพันล้านบาทมีนับ 20 กว่าแห่ง อบจ. ที่มีงบประมาณมากที่สุดคือ ชลบุรี (4,143,479,700 บาท) น้อยที่สุดคือ ระนอง (258,110,700 บาท)[4]

 

อันดับ อบจ. งบประมาณ
1 ชลบุรี 4,143,479,700 บาท
2 นครราชสีมา 3,855,275,300 บาท
3 ระยอง 2,745,504,200 บาท
4 สมุทรปราการ 2,495,794,100 บาท
5 นนทบุรี 2,455,051,600 บาท
6 เชียงใหม่ 2,232,615,800 บาท
7 ขอนแก่น 2,200,920,300 บาท
8 อุบลราชธานี 1,797,837,900 บาท
9 สงขลา 1,768,267,460 บาท
10 ศรีสะเกษ 1,742,303,200 บาท

 

ลองถามตัวท่านเองว่างบประมาณขนาดนี้เทียบกับสิ่งที่ได้จาก อบจ. ของเรานั้นคุ้มค่าไหม พยายามใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นคำตอบให้มากที่สุด โอกาสกำหนดอนาคตตัวเองของคนต่างจังหวัด (แม้เพียงน้อยนิด) ได้กลับมาอยู่ในมือเราท่านแล้ว.

 

เชิงอรรถ

[1] ประจักษ์ ก้องกีรติ, ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่น: สภาพปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูป, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2559), หน้า 48.

[2] “เลือกตั้ง 62: เปิดรายชื่อ 13 นักการเมืองท้องถิ่นพ้นตรวจสอบทุจริตหันหนุนพลังประชารัฐ,” iLaw, (28 มกราคม 2562), จาก https://ilaw.or.th/node/5116

[3] ที่มา รายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

[4] ที่มา สรุปงบจังหวัดและ อบจ.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save