fbpx
วิกฤตการเมืองในสองนคราประชาธิปไตย : สหรัฐฯ กับไทย

วิกฤตการเมืองในสองนคราประชาธิปไตย : สหรัฐฯ กับไทย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

ต้องใช้เวลากว่ายี่สิบวัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จึงยอมเอ่ยปากกับนักข่าวว่า เขาจะยอมออกจากทำเนียบขาว

ผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาชี้ว่า คะแนนเสียงประชาชนของโจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครตมากกว่าทรัมป์ประมาณ 6 ล้านเสียง แต่ทรัมป์ก็ยืนกรานกระต่ายขาเดียวมาตลอดว่าคะแนนของเขานำหน้าในวันแรก แล้วมาถูกโกงถูกขโมยไปเมื่อเริ่มนับคะแนนจากไปรษณีย์และการเลือกตั้งล่วงหน้า นี่เป็นบทหนังที่ทรัมป์เขียนไว้ตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป

ทรัมป์ไม่ลืมที่จะบอกนักข่าวไปด้วยว่า ถ้าจะให้เขายอมรับว่าไบเดนเป็นประธานาธิบดี และยอมออกจากทำเนียบขาว ต้องรอให้มีการประกาศผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งเสียก่อนด้วย นั่นคือวันที่ 14 ธันวาคม (จากนั้นสภาคองเกรสจะนับคะแนนแล้วประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มกราคม 2021)

กระนั้น ถึงตอนนี้ทรัมป์ก็ยังไม่ยอมรับตรงๆ ว่าเขาแพ้ และไบเดนชนะ อันเป็นมารยาทและธรรมเนียมทางการเมืองอันดีงามของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผู้แพ้มักออกมากล่าวยอมรับความพ่ายแพ้แล้วแสดงความยินดีต่อผู้ชนะตั้งแต่วันแรกที่ผลคะแนนออกมาชัดเจน เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์ทำลายประเพณีและธรรมเนียมของการเล่นการเมืองอเมริกาอย่างสุภาพชนลงไปอย่างไม่ไยดี

การเมืองและการปกครองแบบลัทธิทรัมป์ (Trumpism) ทำให้อดเปรียบเทียบกับการเมืองของไทยไม่ได้ เพราะเป็นครั้งแรกและอาจเป็นครั้งสุดท้าย ที่ผู้นำรัฐบาลของสองนครามีความละม้ายคล้ายคลึงกันมากที่สุดในรอบศตวรรษ

นานมาแล้วที่การศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกามักอ้างและเชื่อกันมาอย่างไม่สงสัยเลยว่า อเมริกานั้นเป็นประเทศที่พิเศษและไม่เหมือนใคร ประวัติศาสตร์อเมริกาจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่พิเศษและยกเว้น จะเอาไปเปรียบเทียบกับของประเทศอื่นๆ ในโลกไม่ได้ แน่นอนเขามองไปที่ประเทศยุโรปตะวันตกเป็นสำคัญอยู่แล้ว การเปรียบเทียบกับประเทศโลกที่สามที่ด้อยพัฒนาและล้าหลังในแทบทุกด้านนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงใหญ่ ไม่มีทางทำได้พันเปอร์เซ็นต์

วันนี้ผมจะเปรียบเทียบ โดยดูทั้งความเหมือนและความต่างของประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ประเด็นแรกคือการเข้าสู่อำนาจรัฐ อเมริกามีระบบการเข้าสู่อำนาจรัฐ คือการเป็นผู้ถือครองอำนาจสูงสุดของรัฐและจัดตั้งรัฐบาลเข้าทำการปกครองบริหารประเทศอย่างสันติตามตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกติกาต่างๆ ที่ผันแปรไปตามยุคสมัย แต่หลักการใหญ่คือผ่านการเลือกตั้งทั่วไป คนที่ได้เสียงประชาชนมากที่สุดก็จะได้รับชัยชนะ นี่เป็นความรับรู้ทั่วไปแบบพื้นๆ ของชาวบ้าน

ชัยชนะในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ดำเนินไปตามความเข้าใจพื้นฐานดังกล่าวนี้ เพราะว่าคะแนนเสียงประชาชนของเขาแพ้ฮิลลารี คลินตันถึง 3 ล้านเสียง แต่กลับชนะคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ซึ่งเป็นตัวแทนที่แต่ละรัฐแต่งตั้งเพื่อไปประชุมออกเสียงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านไปแล้ว จำนวนของคณะผู้เลือกตั้งนับจากจำนวนประชากร รัฐใหญ่มีประชากรมาก คณะผู้เลือกตั้งก็มีจำนวนมากตามไปด้วย มลรัฐเล็กๆ ก็มีจำนวนลดหลั่นกันลงมา น้อยสุดคือ 3 คน การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ทรัมป์คว้าชัยชนะไปเพราะได้คะแนนรวมของคณะผู้เลือกตั้งครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ (270 เสียง)

ยุทธศาสตร์ของทรัมป์คือการเอาชนะในมลรัฐทางตะวันตกตอนกลาง (มิดเวสต์) ที่เป็นรัฐขนาดเล็กและกลาง สะสมคะแนนจากน้อยไปหามาก กระทั่งได้ชัยในรัฐใหญ่ที่เป็นรัฐเหวี่ยง (swing state) ที่คะแนนสูสีคู่คี่กันมาก เช่น เพนซิลเวเนีย ฟลอริดา มิชิแกน และวิสคอนซิน แม้ว่าเมื่อนับผลรวมของคะแนนทั้งหมด คลินตันจะได้คะแนนประชาชนมากกว่าทรัมป์ถึง 3 ล้านเสียงก็ตาม แต่ก็ต้องแพ้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง

ตอนนั้นทรัมป์ออกมาโจมตีและกล่าวหาว่าคะแนนเสียงที่ชนะเขา 3 ล้านเสียงนั้นเป็นคะแนนปลอมที่เดโมแครตทำขึ้นมา เขายังยืนยันมาถึงทุกวันนี้ แม้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ยังแต่งตั้งคณะกรรมการไปสอบสวนเรื่องนี้ แต่คณะกรรมการก็หาหลักฐานการทุจริตเลือกตั้งไม่ได้ นั่นคือชัยชนะแบบกลวงๆ ของทรัมป์ในวาระแรกเริ่ม

สิ่งที่ทรัมป์ได้กระทำต่อผลการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นการฉีกประวัติศาสตร์และธรรมเนียมการเมืองสหรัฐฯ อย่างย่อยยับไม่มีชิ้นดี คือการออกมาปฏิเสธและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง (ซึ่งยังไม่เป็นทางการ จนกว่ารัฐสภาจะประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า) แต่ธรรมเนียมของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในหลายปีที่ผ่านมาจนผู้คนคิดว่าเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวไปแล้ว คือในวันเลือกตั้ง สำนักข่าวทั้งหลายเป็นผู้ประกาศคะแนนอย่างไม่เป็นทางการก่อนทางการ จากนั้นผู้สมัครที่พ่ายแพ้ก็ยกธงขาวโดยดุษณี แล้วยกโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับคู่แข่งที่ได้รับชัยชนะ

ปัญหาข้อโต้แย้งในการเลือกตั้งและคะแนนที่ออกมาจึงไม่เป็นปัญหาให้มาทะเลาะกัน ยกเว้นในปี 2000 ที่อัล กอร์ แย้งว่าคะแนนในฟลอริดานั้นไม่ถูกต้อง ขอให้มีการนับใหม่ เรื่องขึ้นไปถึงศาลสูงสุด และเสียงข้างมากของผู้พิพากษาศาลสูงสุดตัดสินว่าให้ยุติการนับคะแนนใหม่ เพราะจะทำให้คะแนนที่มีปัญหาแบบนี้ต้องถูกนำมานับใหม่กันทั้งประเทศ มันทำไม่ได้ จะวุ่นวายไปกันใหญ่ เรื่องจึงจบลงด้วยชัยชนะของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และอัล กอร์ก็ประกาศยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น (ด้วยความช้ำใจ) แต่ก็เป็นการรักษาระบบและธรรมเนียมอันดีงามของการเลือกตั้งไว้ต่อไป

บทเรียนแรกคือ นักการเมืองจะรักษาระบบหรือรักษาตัวเอง ต่อปัญหาการเข้าสู่อำนาจรัฐและเป็นรัฐบาล ผู้นำการเมืองไทยแสดงให้ประจักษ์ในการปฏิบัติ ว่าพวกเขายินดีที่จะรักษาตัวเองและพวกพ้องก่อน มากกว่าการรักษาระบบ

คราวนี้โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งใจและตั้งป้อมค่ายอย่างเต็มที่ในการลุยและรุกฝ่ายโจ ไบเดน เรื่องการนับคะแนน รวมถึงการยื่นฟ้องต่อศาลมลรัฐให้ประกาศว่าคะแนนที่ทรัมป์สงสัยว่าไม่บริสุทธิ์และมีการโกงนั้นเป็นโมฆะเลย ในที่สุดศาลในหลายรัฐจากวิสคอนซิน มิชิแกน ถึงเพนซิลเวเนีย ก็พร้อมใจกันตัดสินว่าคำฟ้องของทีมทนายทรัมป์นั้นฟังไม่ขึ้น ไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือ จึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ ให้ยกเสีย

ที่น่าแสบทรวงคือคำตัดสินของศาลอุทธรณ์สหพันธ์ในเพนซิลเวเนีย ไม่เพียงแค่ปฏิเสธคำฟ้องของทรัมป์ที่ให้ศาลตัดสินว่าผลการนับคะแนนในเพนซิลเวเนียเป็นโมฆะ หากยังสอดใส่คำพูดเหน็บแนมที่สะเทือนจิตใจไปด้วยว่า “ผู้ลงคะแนนเสียงเป็นคนเลือกประธานาธิบดี ไม่ใช่ทนายความ” (Voters, not lawyers, choose the president.) และ “บัตรลงคะแนนคือตัวตัดสินผลการเลือกตั้ง ไม่ใช่ใบฟ้องร้อง” (Ballots, not briefs, decide elections.) ที่แสบกว่านี้คือผู้พิพากษา Stephanos Bibas ผู้เขียนคำตัดสินที่แทงใจดำทรัมป์นี้ ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เอง ในคำตัดสินไม่รับคำร้องของทนายทรัมป์นั้น ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์แห่งรัฐเห็นพ้องหมดทั้ง 3 คนว่าคำร้องไม่มีหลักฐาน โดยกล่าวว่า “การเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรมเป็นเส้นเลือดของประชาธิปไตยของเรา” และ “การฟ้องร้องต้องการข้อกล่าวหาที่แน่นอน และจากนั้นคือข้อพิสูจน์ แต่ในที่นี้เราไม่มีทั้งสองอย่าง”

เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของคณะกรรมการเลือกตั้งและศาลสูงของไทยแล้ว พบว่าข้อที่ต่างกันอย่างฟ้ากับดินคือ ฝ่ายจัดการและพิจารณาข้อกล่าวหาในการเลือกตั้งของอเมริกานั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งใหญ่และน้อย จากเสมียนไปถึงรัฐมนตรีแห่งรัฐและผู้ว่าการมลรัฐ ไม่ว่าสังกัดพรรคอะไรก็ตาม ต่างทำงานในการจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นกลางเที่ยงธรรมที่สุดโดยไม่เอาพรรคของตัวเข้ามาเกี่ยวข้องเลย

รัฐจอร์เจียเป็นฐานเสียงอยู่ในกำมือของรีพับลิกันมาหลายสิบปี ด้วยความเป็นรัฐภาคใต้ที่มักเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ชอบเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายก้าวหน้าทั้งหลาย แต่เมื่อผลรวมคะแนนออกมาว่าโจ ไบเดนชนะ บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐก็ออกมาประกาศผลดังกล่าว ไม่ไยดีว่าทรัมป์จะยกหูโทรศัพท์และทวิตไปกดดันให้หาทางระงับการประกาศผลคะแนนรวมออกไป หรือไม่ก็ทำให้คะแนนที่มาทางไปรษณีย์หรือการลงคะแนนล่วงหน้าไม่ชอบด้วยกฎหมายการเลือกตั้ง ให้เป็นโมฆะไปเสีย ไม่น่าเชื่อว่าทรัมป์ได้ทำตัวเหมือนกับผู้นำการเมืองและรัฐบาลในประเทศอย่างไทยไปได้อย่างไม่ละอายเลยแม้แต่นิด

ทรัมป์ยังหาทางสั่งให้สมาชิกพรรครีพับลิกันที่อยู่ในรัฐสภามลรัฐเช่นมิชิแกน หาทางไปออกกฎหมายเพื่อระงับการประกาศคะแนน หรือไม่ก็ทำให้คะแนนที่ไบเดนได้มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปหาข้อกฎหมายอะไรก็ได้ แต่พวกสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้นต่างก็รู้ว่านั่นเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย ไม่มีทางที่พวกเขาจะรอดจากการสร้างเรื่องปลอมขึ้นมาแล้วลอยนวลไปได้ ต่างจากธรรมเนียมไทยที่ลูกน้องต้องหาทางช่วยลูกพี่ ไม่ว่าจะด้วยเวทมนตร์คาถาหรือกลโกงอะไรก็ตาม ต้องไปทำมาให้ได้ ส่วนผลที่จะถูกลงโทษจากระบบกฎหมายนั้น ไม่ต้องห่วง ระบบลอยนวล (impunity) คือเกราะกำบังรักษาป้องกันข้าราชการของรัฐไว้เป็นอย่างดี ถึงเรื่องขึ้นไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) หรือศาลรัฐธรรมนูญ ก็หลุดทุกครั้งไป หากเป็นผลประโยชน์ของผู้นำรัฐบาล

ระหว่างที่มีการถกเถียงว่าผลรวมคะแนนที่ไบเดนได้มานั้นชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการสัมภาษณ์คริสโตเฟอร์ เครบส์ ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐาน (director of the Cybersecurity and Infrastructure Security Agency) สำนักงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นสมัยประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะจากการแทรกแซงของรัสเซียที่กระทำในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และเป็นข้อหาที่ทางเดโมแครตใช้เล่นงานทรัมป์กับพรรคพวกมาโดยตลอด เครบส์เคยทำงานเป็นผู้บริหารระดับซีอีโอของไมโครซอฟต์มาก่อน มีความสามารถสูงในเรื่องดิจิทัลทั้งหลาย เมื่อเขามารับตำแหน่งนี้ซึ่งอยู่ในกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security) ได้สร้างเครือข่ายและเครื่องมือตรวจจับการแทรกแซงจากฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

เมื่อถูกถามหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาพูดเรื่องมีการใช้เครื่องมือทำลายระบบการเลือกตั้งของอเมริกา เครบส์ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีการบ่อนทำลายระบบการเลือกตั้งของอเมริกาอย่างแน่นอน รับรองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ปลอดภัยและมั่นคงที่สุด คำแถลงและยืนยันในทุกเวทีที่เขาไปออกรายการเป็นการตอบโต้คำกล่าวหาและ “เฟกนิวส์” ที่ทรัมป์พยายามปล่อยออกมาทุกวันผ่านทวิต และสำนักข่าวไบรต์บาร์ตของสตีฟ แบนนอน อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวที่ถูกไล่ออกไม่กี่เดือนโดยลูกเขย จาเร็ด คุชเนอร์

แม้ว่าเครบส์ออกมาพูดตามหลักการ ยึดหลักฐานเป็นที่ตั้ง แต่เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของทรัมป์ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ทรัมป์รับไม่ได้อย่างยิ่ง วิธีการจัดการของเขาก็ตามสไตล์เดิม คือการไล่ออกผ่านทางทวิตเตอร์!

จะเห็นว่าระบบราชการและการเมืองของสหรัฐฯ ต่างจากของไทยอย่างหน้ามือกับหลังตีน ด้วยการมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่มีประสิทธิภาพ บุคคลที่มีความสามารถและสติปัญญาย่อมหางานที่เงินเดือนดีและสวัสดิการดี โดยมีฐานะทางสังคมไม่ด้อยกว่าตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาล อาจจะสูงและมีศักดิ์ศรีกว่าในภาครัฐเสียอีก พนักงานของรัฐและเจ้าหน้าที่การเมืองในทำเนียบขาวจึงไม่ค่อยกลัวถูกทรัมป์ไล่ออกเท่าใด กรณีเครบส์ก็เหมือนกัน เขากล่าวล่วงหน้าก่อนแล้วเมื่อเข้ารับตำแหน่งว่าคงถูกไล่ออกก่อนหมดวาระแน่ เพราะคงเห็นทะลุแล้วว่าทรัมป์ไม่ได้สนใจในจุดหมายและการทำงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์เหมือนกับที่เขาคิด

ผมยังคิดเล่นๆ เลยว่า ทำไมคนที่มีฝีมือและสติปัญญาถึงยอมไปร่วมทำงานกับทรัมป์ได้ หากเป็นการเมืองไทยก็พอเข้าใจได้ว่าอำนาจมันหอมหวาน แต่ในอเมริกาที่ผู้คนไม่ได้นับถือคนด้วยตำแหน่งและหน้าตาในเครื่องแบบราชการอะไรเลย คนเหล่านั้นคิดว่าจะได้อะไรจากทรัมป์? และเชื่อในระบบว่าจะสามารถเอาตัวรอดจากเงื้อมมืออำมหิตของทรัมป์ได้หรือ?

 

อีกประเด็นที่คาใจคนมากขึ้นเรื่อยๆ คือทำไมยังต้องให้มีคณะผู้เลือกตั้งมาทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับการตัดสินของประชาชนเมื่อพวกเขาหย่อนบัตรลงคะแนน คะแนนที่ชนะก็คือชนะ ทำไมต้องให้คณะผู้เลือกตั้งมาหย่อนบัตรอีกครั้งทั้งที่มวลมหาประชาชนได้ลงคะแนนไปเรียบร้อยแล้ว มิหนำซ้ำยังก่อให้เกิดปัญหาลักลั่นกันอีก เพราะหลายมลรัฐไม่มีกฎกติกาและกฎหมายควบคุมการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งแต่ละคน มันแทบเป็นเอกสิทธิของคณะผู้เลือกตั้งเลยว่าจะลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครคนใดก็ได้หากเขาต้องการ

นี่คือความหวังและเครื่องมืออันสุดท้ายที่ทรัมป์พยายามหาทางทำให้สำเร็จ นั่นคือการบีบและบงการให้คณะผู้เลือกตั้งในบางมลรัฐหันมาลงคะแนนให้แก่เขา โดยอ้างว่าผลการนับคะแนนที่ไบเดนชนะนั้นเป็นคะแนนโกง ตัวทรัมป์เองต่างหากที่เป็นผู้ชนะ ดังนั้นคณะผู้เลือกตั้งไม่ต้องเคารพคะแนนเสียง ให้ลงคะแนนในรัฐนั้นแก่เขาเลย เท่าที่ติดตามดู ยังไม่มีคณะผู้เลือกตั้งในรัฐไหนแสดงเจตจำนงที่จะเลือกทรัมป์ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะมันจะเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ปะทุกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อย่างแน่นอน

ในความเห็นของผมก็หนักไปทางสมควรยกเลิกการมีคณะผู้เลือกตั้งมาทำหน้าที่ลงคะแนนให้ผู้สมัครประธานาธิบดีอีก และยังมีน้ำหนักมากกว่าคะแนนของประชาชนด้วย เพราะกติกานี้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ การจะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการจึงต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และใช้เสียงเห็นด้วยสองในสามของทุกมลรัฐอีก คือต้องมีข้อโต้แย้งที่หนักแน่นและมีหลักฐานในความไร้ประสิทธิภาพ ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นประชาธิปไตยของคณะผู้เลือกตั้งอย่างเถียงไม่ขึ้น นั่นแหละถึงจะทำให้สภานิติบัญญัติในทุกมลรัฐพากันยอมลงคะแนนเสียงเพื่อแก้ไขบทบัญญัติข้อนี้ลงไปได้

ผมสงสัยว่าทำไมบรรดาบิดาแห่งการสถาปนาประเทศ (Founding Fathers) และแกนนำในการปฏิวัติเอกราชอเมริการุ่นนั้น ถึงคิดอะไรที่ประหลาดพิสดารแบบนี้ มันเท่ากับบอกว่าพวกผู้นำที่มีสติปัญญารุ่งโรจน์เหล่านั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มีความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งของประชาชนกระนั้นหรือ ผมกลับไปอ่านเอกสารและบันทึกการอภิปรายของบรรดาผู้นำเหล่านั้น คนสำคัญที่มีบันทึกมากหน่อยคือเจมส์ แมดิสัน เขาอธิบายว่าที่ต้องให้มีคณะบุคคลพิเศษมากำกับการลงคะแนนเสียงของประชาชน เพราะกลัวว่าจะมีผู้นำประเภทนักปลุกระดมมวลชนแล้วสามารถกล่อมเกลาความคิดชาวบ้าน อันจะทำให้การลงคะแนนเสียงนั้นไม่สะท้อนถึงเจตนารมณ์และผลประโยชน์ของคนส่วนมากได้ แมดิสันไม่ได้อ้างว่าเพราะชาวบ้านอเมริกันสมัยโน้นยังโง่เขลาเบาปัญญา เพราะระบบการศึกษาก็ยังไม่มี โรงเรียนก็แทบไม่เห็นนอกจากในเมืองใหญ่ มีแต่ไปโบสถ์กันเท่านั้น ดังนั้นการให้มีคณะผู้เลือกตั้งจึงคล้ายกับเป็นพี่เลี้ยงคอยตรวจดูผลการลงคะแนนของประชาชนว่าเป็นไปตามความชอบธรรมไหม ข้อนี้ก็น่ารับฟัง

แต่ยังมีอีกเหตุผลที่แมดิสันไม่ได้กล่าวถึงคือความขัดกันระหว่างภาคใต้ที่เป็นรัฐทาส กับภาคเหนือที่เป็นรัฐชาวไร่อิสระ คำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยการเลือกตั้ง คือจะนับฐานประชากรจำนวนเท่าไรต่อผู้แทนหนึ่งคน และข้อสองจะนับทาสไว้ในจำนวนประชากรด้วยไหม แน่นอนว่าตัวแทนภาคเหนือบอกว่าไม่นับ ภาคใต้ไม่ยอม เพราะถ้าไม่นับจำนวนประชากรของภาคใต้ก็จะน้อยกว่าภาคเหนือ ยิ่งทาสผิวดำในรัฐทางใต้บางแห่งมีจำนวนเกือบเท่าหรือมากกว่าประชากรผิวขาวเสียอีก ทำให้ตัวแทนภาคใต้ไม่ยอม นำไปสู่การประนีประนอมกัน ด้วยการให้นับทาสผิวดำด้วยก็ได้ แต่ให้เพียง 3 ใน 5 คือคนดำ 5 คนนับเป็นคะแนนได้แค่ 3 ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย

เสร็จจากการนับจำนวนประชากร ก็มาถึงการยอมรับผลเลือกตั้งจากคะแนนประชาชนเลยไหม ก็มาลงกันได้ที่ให้มีอีกองค์กรที่มีวุฒิภาวะอันพวกผู้นำการเมืองยอมรับได้ นั่นคือคณะผู้เลือกตั้งที่รัฐสภาแต่ละรัฐเป็นคนแต่งตั้ง ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยใครที่ไหนก็ไม่รู้ ผมจึงสรุปว่าคณะผู้เลือกตั้งเป็นผลรวมของคติประชาธิปไตยทางตรงโดยประชาชน ผสมกำกับด้วยระบบประชาธิปไตยของชนชั้นนำ ซึ่งในระยะแรกของการก่อตั้งระบบประชาธิปไตยในทุกที่ก็ประสบปัญหาทำนองคล้ายๆ กันอย่างนี้ทั้งนั้น ระบบของใครจะสถาพรและพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ก็อยู่ที่จะมีหนทางและวิธีการอย่างไรในการจัดการกับปัญหาและความขัดแย้งระหว่างสองคติและรูปแบบนี้ลงไปได้

ประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยในอเมริกา แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการ คลี่คลาย และค่อยๆ ก้าวไปสู่การทำให้การลงคะแนนเสียงของประชาชนทางตรงมีน้ำหนักและความหมายมากกว่าของคณะผู้เลือกตั้งไป ดังเห็นได้จากหลายทศวรรษที่ผ่านมา การดำรงอยู่ของคณะผู้เลือกตั้งเกือบเท่ากับเป็นสัญลักษณ์หรือพิธีกรรมอันหนึ่งเท่านั้น ไม่มีใครให้ความสนใจหรือไปติดตามดูว่าพวกนั้นทำอะไรกัน

การเกิดปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้คำถามต่อคณะผู้เลือกตั้งทำท่าจะมีความหมายในทางลบมากขึ้น ว่าไปแล้ว สิ่งที่เจมส์ แมดิสัน หวาดกลัวว่าจะเกิดมีผู้นำแบบประชานิยมและชาตินิยมอย่างสุดขั้วนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อเมริกา จนกระทั่งทรัมป์มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์และนักจัดรายการเรียลลิตี้โชว์ทางโทรทัศน์ ได้สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนไปทั่วประเทศ ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรที่ไม่จริง ก็มีคนถึง 70 ล้านพร้อมจะเชื่อและทำตามทุกอย่างที่เขาบอก นี่คือผู้นำที่แมดิสันหวาดสยองยิ่งว่าจะเกิดในระบบประชาธิปไตย แต่ในอดีตก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยหลายสาเหตุ กระทั่งมาถึงยุคดิจิทัลทวิตเตอร์ที่ทรัมป์ใช้ปั่นข่าวทุกชั่วโมงด้วยตนเอง ปีศาจตนนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาได้

แต่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในการแก้ไขคลี่คลายปมความขัดแย้งระหว่างรูปแบบและเนื้อหาของระบบประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ให้ค่อยเพิ่มความสมบูรณ์มากขึ้น นั่นคือทำให้การเข้าร่วม การมีสิทธิมีเสียง และการตรวจสอบควบคุมรัฐบาลและอำนาจรัฐเกิดขึ้นได้จริง ประชาธิปไตยในอเมริกาจึงมีทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่สอดคล้องไปกันได้ในระยะยาว แม้เกิดวิกฤตเช่นการพยายามเล่นนอกอำนาจของทรัมป์ก็ตาม ในที่สุดการแก้ไขและจัดการก็จะต้องมาจากปัจจัยและกลไกภายในระบบประชาธิปไตยเอง ไม่ใช่มาจากปัจจัยและกลไกภายนอกระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

กรณีของการเมืองไทยจึงเป็นด้านลบของการไม่สามารถแก้ไขจัดการความขัดแย้งระหว่างรูปแบบและเนื้อหาของระบบประชาธิปไตยลงไปได้ หากแต่หันกลับไปหาวิธีการเดิมๆ คือการใช้กำลังนอกระบบและกลไกนอกระบบอยู่เรื่อยมา แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญเองก็ถูกทำให้เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือและนอกระบบประชาธิปไตยไปด้วยเช่นกัน.

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save