fbpx
จากเสรีนิยมเก่าสู่เสรีนิยมใหม่ – รัฐไทยอยู่ตรงไหน

จากเสรีนิยมเก่าสู่เสรีนิยมใหม่ – รัฐไทยอยู่ตรงไหน

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

“เสรีนิยม” เป็นหนึ่งในคำศัพท์ชวนสับสนที่สุดในโลก เพราะมีทั้งลัทธิเสรีนิยมแบบ “เก่า” และแบบ “ใหม่” ถ้ามองจากมุมเศรษฐศาสตร์การเมือง มีอีกหลายคำถามที่เราต้องตอบก่อนจะสรุปได้ว่า รัฐไทยเป็นเสรีนิยมแค่ไหนและแบบใด

ลัทธิเสรีนิยม (liberalism) เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง (Enlightenment) ของโลกตะวันตกช่วงปลายศตวรรษที่ 17 งานเขียนของนักคิดแห่งยุคสมัยอย่าง จอห์น ล็อก มองว่าอิสรภาพของปัจเจกบุคคลเป็นภาวะธรรมชาติของมนุษย์ที่ผู้ปกครองไม่อาจพรากไปได้ รัฐบาลในอุดมคติจึงควรมีบทบาทจำกัดอยู่ที่การปกป้องอิสรภาพและทรัพย์สินของเอกชน

อย่างไรก็ดี ผู้สมาทานแนวคิดเสรีนิยมแบบดั้งเดิมมักยืนกรานในหลักสิทธิของปัจเจก โดยไม่ได้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เพราะพวกเขายังคงให้ความสำคัญกับสถานภาพที่แตกต่างกันของคนในสังคม จึงไม่ได้เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน เสรีนิยมดั้งเดิมจำนวนมากเชื่อว่าเพศหญิงไม่มีความคิดสมบูรณ์เท่าเพศชาย และคนยากจนไม่มีวิจารณญาณในการเลือกผู้นำ ดังนั้น หลักการเสรีนิยมที่พวกเขาสนับสนุนจึงควรนำมาใช้เฉพาะกับคนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น

วิวัฒนาการประชาธิปไตยในโลกตะวันตกจึงมีอยู่สองขยักใหญ่ ขยักแรกเป็นช่วงที่สิทธิการเลือกตั้งจำกัดอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น โดยมักเป็นเพศชายที่มีสินทรัพย์หรือระดับการศึกษาตามกำหนด

ในฝรั่งเศสระหว่างปี 1815 ถึง 1830 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือ เพศชายอายุเกิน 30 ปีที่จ่ายภาษีทางตรงไม่น้อยกว่า 300 ฟรังก์ ทำให้จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงในตอนนั้นจำกัดในวงแคบๆ ไม่เกิน 100,000 คน จากประชากรทั้งหมด 32 ล้านคน (หรือเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น) กว่าที่สตรีจะได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและลงรับสมัครเป็นผู้แทนได้ก็ต้องรอจนถึงศตวรรษต่อมาในปี 1902 โดยออสเตรเลียเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิดังกล่าว แต่ถึงกระนั้น ก็ยังจำกัดสิทธิอยู่ที่คนขาวเท่านั้น กว่าจะถึงขยักที่สองซึ่งพลเมืองทุกเพศทุกชาติพันธุ์จะมีสิทธิเท่าเทียมกัน (universal suffrage) ในออสเตรเลียต้องรอจนถึงปี 1962

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนถึงวิธีคิดของลัทธิเสรีนิยมแบบเก่า ซึ่งแม้จะเชื่อในสิทธิของปัจเจกชน แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมดั้งเดิมและระดับชนชั้นทางสังคมไปพร้อมๆ กัน

เสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) เป็นคำเรียกขานแนวคิดการพัฒนาที่ผงาดขึ้นในทศวรรษ 1980 อันเป็นช่วงเวลาที่ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีเวลาพูดถึงเสรีนิยมใหม่ก็คือ แนวคิดทางเศรษฐกิจที่เน้นบทบาทของตลาดเสรีและการจำกัดบทบาทของรัฐให้น้อยที่สุดเพื่อให้กลไกราคาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รูปธรรมทางนโยบายก็คือ การผ่อนปรนกฎระเบียบ ลดงบประมาณรัฐ เปิดเสรีการค้าการลงทุน และแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน

งานศึกษาเรื่องผลดีผลเสียของ เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและแทบทุกคนล้วนเคยได้รับผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะการเข้ามาขององค์กรโลกบาลในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือการที่ธุรกิจท้องถิ่นหลายประเภทต้องล่มสลายไป เพราะแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกไม่ได้ ขบวนการทางสังคมในระดับโลกก็มักหยิบคำนี้มารณรงค์ต่อต้านแนวทางตลาดเสรีสุดขั้วในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา

เรียกได้ว่า เราพอจะรู้ทันกันอยู่ ว่าเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจคืออะไร และจะนำประเทศไปในทิศทางไหน แต่จะถกเถียง/ต้านทาน/ต่อรองได้แค่ไหนนั่นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่ได้มีเพียงมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น

เสรีนิยมใหม่ยังมีมิติทางการเมืองซ่อนอยู่ด้วย แม้จะไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตยแบบเปิดเผย แต่ก็มักจะยอมแลกหรือลดหลักการประชาธิปไตยหากจำเป็น ด้วยอิทธิพลจากทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ (Public Choice) ที่มองการเมืองเป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ระดับบุคคล เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะให้ไกลจากนักเลือกตั้ง เสรีนิยมใหม่ทางการเมือง จึงเสนอให้ปรับกระบวนการออกแบบนโยบายให้ “ปราศจากการเมือง” (de-politicisation) มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

รูปธรรมของแนวคิดนี้ก็คือการลดอำนาจตัดสินใจของรัฐสภา และถ่ายโอนกระบวนการจัดการนโยบายสาธารณะให้มาอยู่ในมือของ “ผู้เชี่ยวชาญ” แทน ผ่านองค์กร หน่วยงาน และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ในประเทศตะวันตกที่กลไกประชาธิปไตยเข้มแข็ง กระบวนการกำจัดการเมืองนี้นับเป็น “นวัตกรรมทางสถาบัน” ที่ออกแบบมาเพื่อคานอำนาจระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่ยึดหลักวิชากับนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงได้รับการโปรโมตอย่างแพร่หลายจนกลายมาเป็นแนวทางปฏิรูประบบราชการและกลไกรัฐในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น ในเวทีโลก ต่อให้เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจอาจอ่อนกำลังลงเพราะเผชิญกับแรงต้านทานทางสังคมมาตลอดสองสามทศวรรษ เสรีนิยมใหม่ทางการเมืองกลับกำลังสยายปีกในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก เพราะมีรูปแบบที่แนบเนียนกว่า ทั้งยังไม่ถูกถกเถียงและศึกษาเท่ากับมิติทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เริ่มมีงานระยะหลังที่ชี้ให้เห็นว่า หากนำแนวทางปลอดการเมืองมาใช้ในประเทศที่เป็นระบอบเผด็จการหรือกึ่งประชาธิปไตย อาจเป็นอีกครั้งที่แนวคิดซึ่งฟังดูดีมีหลักการถูกหยิบยืมมาใช้เติมพลังให้กับอำนาจนอกรัฐสภาและลดทอนอำนาจประชาชน

นอกจากนี้ การออกแบบนโยบายตามแนวทางนี้ยังตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เราสามารถขีด “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนระหว่าง “เศรษฐกิจ” กับ “การเมือง” ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง การออกแบบนโยบายเศรษฐกิจแทบทุกอย่างหนีไม่พ้นการให้คุณค่าทางจริยธรรมและการเมืองชุดหนึ่งๆ เป็นพิเศษ โดยไม่ได้มีทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์มารองรับ มิพักต้องพูดถึงความหลากหลายของตัวทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เอง

นี่คือวิวัฒนาการอันซับซ้อนของแนวคิด “เสรีนิยม” ในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก

แล้วรัฐไทยมีความเป็นเสรีนิยมแค่ไหน เก่าหรือใหม่มากกว่ากัน?

ถ้าวัดจากความพยายามในการปฏิรูประยะหลังแล้ว ดูเหมือนว่ารัฐไทยอาจถูกผลักไปทาง “เสรีนิยมแบบเก่า” มากกว่าแบบใหม่ด้วยซ้ำ เพราะในขณะที่การปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนำหลักสิทธิปัจเจกชนมาอ้างอิง ก็มีดอกจันกำกับไว้คู่กับขนบธรรมเนียมโบราณและสถานะทางสังคมเสมอ – สิทธิของปัจเจกไม่ได้มีที่ยืนโดยตัวของมันเองแต่อย่างใด อันเป็นลักษณะของเสรีนิยมโบราณที่ไม่ค่อยจะเสรีสักเท่าไรนัก

อย่างไรก็ดี ถ้าจะตอบคำถามนี้ให้เป็นระบบจริงๆ ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ยังมีอีกสองเรื่องที่ต้องนำเข้ามาขบคิด

อย่างแรกคือความเข้มแข็งของรัฐไทย ต่อให้รัฐไทยสมาทานแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งอย่างจริงจัง การบังคับใช้ก็อาจลักลั่นไปตามพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ อยู่ดี เพราะรัฐไทยไม่ใช่รัฐเข้มแข็งที่มีความสามารถเท่ากับรัฐตะวันตกหรือแม้แต่รัฐในเอเชียอีกหลายรัฐ “แรงจูงใจ” ที่รัฐอยากทำ จึงเป็นคนละสิ่งกับ “ความสามารถ” ของรัฐที่จะทำให้เป็นจริงเสมอ

ความเข้มข้นของการเป็นเสรีนิยมในรัฐไทยก็คงกระจัดกระจายลดหลั่นตามความสามารถนี้

อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ ระบอบการปกครองในรัฐไทยก็เปลี่ยนแปลงไปมาบ่อย ระบอบทหารกับระบอบเลือกตั้งย่อมมีวาระและผลประโยชน์ที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ระบอบทั้งสองเองก็ยังมีความแตกต่างภายใน เช่น ระบอบทหารก็มีทั้งที่ทหารนำ (เช่นรัฐบาลประยุทธ์) และที่แบ่งอำนาจกับเทคโนแครต (เช่นรัฐบาลเปรม) หรือระบอบเลือกตั้งที่มีทั้งแบบพรรคเดียวนำ (เช่นรัฐบาลไทยรักไทย) และรัฐบาลผสม (เช่นรัฐบาลชวนและอภิสิทธิ์)

ความต่างของระบอบและกลุ่มผลประโยชน์ที่ค้ำอำนาจนั้นไว้ น่าจะมีผลไม่น้อยว่ารัฐบาลยุคนั้นจะเลือกรับเอาส่วนไหนของเสรีนิยมมาใช้ และตัดทิ้งส่วนไหนที่ไม่สอดคล้องกับประโยชน์ตัวเองไป

ความอ่อนแอของกลไกรัฐกับรูปแบบรัฐบาลที่หลากหลายจึงกลายเป็น “ตัวคัดกรอง” เสรีนิยมใหม่ให้รัฐไทยไปโดยปริยาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ที่เรารู้แน่ๆ ก็คือ เสรีนิยมนั้นไม่ได้เสรีอย่างชื่อของมัน ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ก็ตาม และเป็นอุดมการณ์ที่ให้ประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่งมากกว่าคนกลุ่มอื่นเสมอ

 

อ้างอิง/ อ่านเพิ่มเติม

วิวัฒนาการเสรีนิยมใหม่ระดับโลก เช่น David Harvey “ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่” (2555) แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ สุรัตน์ โหราชัยกุล และ Manfred Steger and Ravi Roy “เสรีนิยมใหม่: ความรู้ฉบับพกพา” แปลโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง (2559).

พัฒนาการประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงทางสถาบันในโลกตะวันตก เช่น Charles Tilly “Democracy” (2007) และ Ha-Joon Chang “Kicking Away the Ladder: Development Strategy in Historical Perspective” (2003).

งานศึกษาผลกระทบของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เช่น Gerald Epstein, ed. “Financialization and the World Economy” (2005) และ Graham Harrison “Neoliberal Africa: The Impact of Global Social Engineering” (2010).

เสรีนิยมใหม่ทางการเมือง เช่น John Harriss “Depoliticizing Development: The World Bank and Social Capital” (2002) และ Frank Vibert “The Rise of the Unelected: Democracy and the New Separation of Powers” (2007).

ประเมินความเข้มแข็งของรัฐไทยเชิงเปรียบเทียบ เช่น Peter Evans and James Rauch “Bureaucracy and Growth: A Cross-National Analysis of the Effects of Weberian State Structures on Economic Growth” (1999).

เศรษฐกิจการเมืองของนโยบายรัฐไทย ผมเสนอไว้ใน “Coalition Politics and Reform Dynamics in Thailand” (2014) และ “Reign-seeking and the Rise of the Unelected in Thailand” (2016).

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018