fbpx
การประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

การประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

อุเชนทร์ เชียงเสน เรื่อง

การประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อย่างไรก็ตาม การถกเถียงในเรื่องนี้ ไม่ได้จำกัดไว้ในหมู่นักวิชาการเท่านั้น แต่รวมถึงผู้เข้าร่วมขบวนการเอง ดังที่กำลังเกิดขึ้นในขบวนการต่อต้านรัฐบาลและการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่เป็นทำความเข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านๆ มา แต่ยังมีส่วนช่วยกำหนดหรือปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหวในอนาคตด้วย แต่การประเมินในเรื่องนี้มีความซับซ้อนและต้องพิจารณาจากหลากหลายมิติพอสมควร ในขบวนการเคลื่อนไหวเดียวกัน ประเด็นเดียวกันก็อาจนำไปสู่ผลการประเมินที่แตกต่างกัน และมีข้อถกเถียงจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งแห่งที่ในขบวนการหรือสังคม ประสบการณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจต่อการเคลื่อนไหว รวมไปถึงความคาดหวังของผู้ประเมิน

บทความนี้จึงขอนำเสนอแนวทางว่าเราจะสามารถประเมินขบวนการเคลื่อนไหวได้อย่างไรบ้าง และต้องพิจารณาถึงปัจจัยอะไรบ้าง

ความสำเร็จต่อ ‘เป้าหมาย’ ที่กำหนดไว้

ผู้คนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นการประเมินจากเป้าหมายของที่ขบวนการตั้งไว้ว่า ‘สำเร็จ’ หรือไม่ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในกรณีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา การยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่กรณีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน การแก้ไขกฎหมายตามเสนอกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการรับรองสิทธิต่างๆ  ถ้าใช้ ‘เป้าหมาย’ หรือความสำเร็จอย่างเต็มที่ เป็นตัวตั้งในการประเมินแล้ว เอาเข้าจริงแล้วขบวนการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก และหากการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุดลง เราก็ยังไม่สามารถประเมินได้

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะลักษณะหรือที่มาของขบวนการเคลื่อนไหวเอง ได้แก่

1. ขบวนการเคลื่อนไหวมักเกิดจากกลุ่มคนที่ไร้อำนาจหรืออยู่ชายขอบของอำนาจ ไมได้มีอำนาจตามกฎหมายหรือในรูปแบบอื่นที่จะดำเนินการในเรื่องนั้นได้ตั้งแต่ต้น การรวมตัวจึงเป็นวิธีการเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง

2. การรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวมักเกิดจากการที่ระบบการเมือง สังคม หรือวัฒนธรรม ในขณะนั้น ไม่อาจตอบสนองข้อเรียกร้องหรือความต้องการได้ จึงต้องออกมาท้าทายหรือเป็น ‘ผู้ท้าทาย’

3. ขบวนการเคลื่อนไหวไม่เพียงเผชิญหน้ากับคู่ปรับที่มีอำนาจมากกว่าเท่านั้น แต่รวมถึงสังคมที่ห้อมล้อมค้ำชูระบอบนั้นไว้

ทั้งหมดนี้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวยากที่จะประสบความสำเร็จได้ในเวลาสั้นๆ หรือถึงแม้จะใช้เวลายาวนาน ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้

การใช้ ‘เป้าหมาย’ เพียงอย่างเดียวเป็นตัวตั้งในการประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวอาจเป็นวิธีการที่ง่าย แต่จะทำให้เกิดความท้อแท้หมดกำลังใจได้ง่าย เพราะจะมองไม่เห็นความสำเร็จ ความก้าวหน้าหรือผลในมิติอื่นๆ ที่บางครั้งก็สำคัญไม่แพ้กันและยังเป็นบันไดไปสู่การบรรลุเป้าหมาย

หลากมิติของ ‘ผลสะเทือน’

เพื่อก้าวพ้นข้อจำกัดของการประเมินในแบบแรก ในที่นี้ จึงขอเสนอการประเมินขบวนการเคลื่อนไหวด้วยสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘ผลสะเทือน’ ซึ่งหมายถึงผลการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ อันเกิดจากการกระทำของขบวนการเคลื่อนไหว ที่บางครั้งอาจจะไม่ใช่จุดหมายปลายทางโดยตรงแต่สัมพันธ์กัน โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นภายในขบวนการ และผลสะเทือนที่เกิดขึ้นภายนอกขบวนการทั้งต่อระบอบการเมืองและพื้นที่สาธารณะ

ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นภายในขบวนการ

องค์กรถือว่าเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของขบวนการเคลื่อนไหวในการดำเนินกิจกรรมหรือระดมทรัพยากร ทั้งในแง่ผู้คน เงินทอง ทรัพย์สิน หรือการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ โดยที่ความสามารถในการระดมทรัพยากรถือเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย

ในมิตินี้ เราสามารถประเมินผลสะเทือนภายในขบวนการเคลื่อนไหวได้จากการขยายตัวหรือเพิ่มจำนวนของผู้ที่มีความสามารถในการเป็นผู้นำ ผู้ปฏิบัติงาน สมาชิกขบวนการ หรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น การเปลี่ยนใจหรือการระดมการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จากผู้เฝ้ามองแต่ไม่มีความผูกพันกับขบวนการได้มากขึ้น และการมีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกันเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจากเชิงปริมาณแล้ว เรายังประเมินผลสะเทือนภายในขบวนการเคลื่อนไหวในเชิงคุณภาพได้เช่นกันดูได้จากการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงด้านจิตสำนึก ทักษะ ความสามารถของผู้เข้าร่วม ผู้ปฏิบัติงาน และแกนนำ อย่างเช่นทักษะในการสื่อสารในเวทีสาธารณะ-การปราศรัย การรักษาความปลอดภัย การอำนวยการการชุมนุม การระดมทรัพยากร ความเข้าใจต่อปัญหาอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ความหนักแน่นและยืนหยัดในการต่อสู้เมื่อเผชิญหน้ากับการกดปราบ และความสมานฉันท์ในขบวนการ เป็นต้น

สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวที่เน้นการยอมรับในอัตลักษณ์ของตนเอง เราก็สามารถประเมินว่าขบวนการนั้นๆ ได้สร้างและขยายอัตลักษณ์ของผู้เข้าร่วมขบวนการหรือชุมชนมากน้อยแค่ไหน

ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นภายนอกขบวนการ

ในหนังสือ กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม  (กรุงเทพฯ:  มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2552) ของประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการผู้บุกเบิกขบวนการเคลื่อนไหวศึกษาของไทย ได้แบ่งมิติผลสะเทือนภายนอกที่ค่อนข้างครอบคลุม ไว้ 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

  1. ผลสะเทือนด้านการเข้าถึงระบบการเมืองปกติ ขบวนการเคลื่อนไหวเป็นการกระทำรวมหมู่ภายนอกสถาบันทางการเมืองปกติ ซึ่งมักถูกเรียกว่า ‘การเมืองบนท้องถนน’ ผลสะเทือนในมิตินี้ คือ ระบบการเมืองและสถาบันทางการเมือง เช่น รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานราชการหรือกลไกต่างๆ เปิดโอกาสให้ขบวนการเคลื่อนไหวเข้าสู่กระบวนการนโยบายหรือตัดสินใจทางการเมือง โดยมีหลายรูปแบบและหลายระดับ เช่น การเข้าร่วมประชุมชี้แจงหรือปรึกษาหารือ การเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาซึ่งมีลักษณะชั่วคราว หรือการมีตัวแทนในโครงสร้างที่ถาวร
  2. ผลสะเทือนด้านเนื้อหาหรือนโยบาย เป็นผลจากการตัดสินใจทางนโยบายของผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง มีทั้ง ผลสะเทือนทางนโยบายด้านลบ ซึ่งสามารถช่วยหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และผลสะเทือนเชิงนโยบายด้านบวก ซึ่งทำให้เกิดนโยบายใหม่ๆ ที่ให้ประโยชน์หรือโอกาสกับขบวนการเคลื่อนไหวหรือประชาชนทั่วไป
  3. ผลสะเทือนด้านโครงสร้าง เป็นการเปลี่ยนแปลง ‘โครงสร้างโอกาสทางการเมือง’ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่มีส่วนช่วยให้ขบวนการเคลื่อนไหวมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นหรืออาจเป็นข้อจำกัดให้ล้มเหลวได้ง่ายขึ้น รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโอกาสทางการเมืองหลักๆ ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันทางการเมือง คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถาบันการเมือง กระบวนการการเมืองและการตัดสินใจ กลไก หรือกฎหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนรัฐบาลหรือระบอบการเมือง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธมิตร คือ การเปลี่ยนแปลงกลุ่มก้อนพันธมิตรทางการเมืองเสียใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมที่เป็นพันธมิตร กลายมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเข้าใกล้อำนาจมากขึ้น การถอนการสนับสนุนรัฐบาลของบุคลากรในกองทัพหรือตำรวจที่มีผลต่อความสามารถในการปราบปราบ หรือการปฏิเสธการรับรองการกระทำผิดกฎหมายหรือรัฐประหารของตุลาการหรือประมุขของรัฐ

  1. ผลสะเทือนเชิงพื้นที่สาธารณะ มี 2 ระดับคือ

1) การสร้างประเด็นหรือกำหนดวาระสาธารณะ ทำให้ข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวกลายเป็นประเด็นสาธารณะ เป็นข้อถกเถียงทางการเมือง หรือถูกหยิบยกจากสื่อหรือผู้มีอำนาจนำเสนอต่อสาธารณะ

2) การสร้างทัศนคติสาธารณะ เป็นการขยายการยอมรับจากสาธารณะ เพิ่มระดับความรู้สึกเชิงบวกต่อขบวนการ

ทั้งนี้ การต่อสู้ผลักดันทางวาทกรรมและข้อถกเถียงในเรื่องต่างๆ การล้อเลียนเสียดสี สารพัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการชุมนุมในขณะนี้ โดยส่วนมากจัดอยู่ในผลสะเทือน เชิงพื้นที่สาธารณะ

การกำหนดว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ จะถูกประเมินในมิติใด ขึ้นอยู่กับลักษณะหรือเป้าหมายของขบวนการนั้นด้วย บางขบวนการอาจจะเน้นไปเฉพาะบางด้าน เช่น การสร้างความเข้มแข็งจากภายในกลุ่มหรือการเมืองของการยอมรับเป็นด้านหลัก ไม่ได้เน้นการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบันการเมืองเหมือนขบวนการเคลื่อนไหวอื่น

ข้อควรคำนึงและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหว

หลังจากที่ได้อธิบายมิติต่างๆ แล้ว ในตอนท้ายของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอเสนอสิ่งที่ต้องคำนึงถึงและปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ควรพิจารณาเบื้องต้นในการประเมินขบวนการเคลื่อนไหว ดังต่อไปนี้

  1. แม้ผลสะเทือนมิติต่างๆ เหล่านี้ ในหลายกรณี จะไม่ได้เป็นเป้าหมายของขบวนการเคลื่อนไหวโดยตรง แต่ถือว่าเป็นเส้นทางหรือกระบวนการที่จำเป็นในการเดินไปสู่ความสำเร็จของขบวนการ ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง 2 กรณี

สมาชิก การมีสมาชิกจำนวนมากเป็นฐานสำคัญของขบวนการมวลชน เป็นที่มาของทรัพยากรสำหรับการเคลื่อนไหว ทำให้คิดค้นนวัตกรรมและใช้ยุทธวิธีได้หลากหลาย และสร้างแรงกดดันต่อระบบการเมืองหรือผู้มีอำนาจได้มาก แม้จะไม่เหมือนกับพรรคการเมืองเสียทีเดียว แต่ ‘การเมืองเรื่องจำนวน’ ก็สำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสะท้อนผ่านการสร้างฉันทมติหรือประชามติในเรื่องต่างๆ

พื้นที่สาธารณะ การแย่งชิงพื้นที่สาธารณะก็เป็นหัวใจสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะขบวนการเคลื่อนไหวไม่มีอำนาจในการตัดสินในเรื่องนั้นเสียเอง ท้ายที่สุด ขบวนการเคลื่อนไหวหลายแห่งต้องไปจบกันที่กระบวนการปกติ ไม่ว่าจะโดยรัฐบาล รัฐสภา หรือ ศาล ดังนั้นมีเพียงการทำให้เป็นกระแส หรือทำให้เสียงของตัวเองกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่เท่านั้นจึงจะกดดันหรือเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในกลไกปกติได้

  1. เป้าหมายที่ต่างกันมีโอกาสหรือความยากง่ายในความสำเร็จต่างกัน เพราะขบวนการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นตัวแสดงเดียวในระบบการเมือง มีผู้ที่มีส่วนได้เสียจำนวนมาก หากเป็นการรณรงค์เชิงบวก งดเหล้า เข้าวัดสวดมนต์ เมาไม่ขับ มักจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับแรงต้าน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวที่มีเดิมพันเป็น ‘อำนาจรัฐ’ หรือต้องการปรับเปลี่ยนอำนาจรัฐเสียใหม่ มีผู้คนทั้งสังคมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้น นอกจากต้องเผชิญหน้ากับผู้ครองอำนาจที่มีฐานะเหนือกว่าแล้วยังต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่สนับสนุนระบอบอีกด้วย

นอกจากนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวมักเป็นเพียงกลุ่มหนึ่งในกลุ่มพลังจำนวนมาก ที่มีจุดยืนและความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย จึงต้องใช้ระยะเวลานานเพื่อทำให้สังคมโดยรวมหันมาสนับสนุนข้อเรียกร้อง หรือไม่เป็นปรปักษ์กับขบวนการเคลื่อนไหว

  1. ความสำเร็จเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวกับฝ่ายที่เผชิญหน้า ทั้งนี้ ชัยชนะของขบวนการเคลื่อนไหวเกิดจากการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองแล้วเอาชนะหรือลดความสามารถในการระดมของฝ่ายตรงกันข้ามได้ จนในที่สุดต้องยินยอมต่อข้อเรียกร้องแม้ไม่เต็มใจนัก รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือ ขบวนการเคลื่อนไหวมักเผชิญหน้ากับการกดปราบของรัฐ ครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ข่มขู่จนถึงปราบปรามถึงขั้นเอาชีวิต หากไม่สามารถพัฒนายุทธวิธีหรือการต่อสู้เพื่อเอาชนะในเรื่องนี้ก็จะพ่ายแพ้ในที่สุด ดังนั้น แทนที่จะประเมินเฉพาะการกระทำของขบวนการเคลื่อนไหวแล้ว ยังต้องประเมินการกระทำและศักยภาพของฝ่ายตรงกันข้ามด้วย

เมื่อเห็นความซับซ้อนและหลากมิติของการประเมินขบวนการเคลื่อนไหวแล้ว สุดท้ายนี้ จึงอยากเชิญชวนผู้สนใจทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกขบวนการเคลื่อนไหว ลองใช้กรอบเหล่านี้ทดลองประเมินขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า นอกจากจะทำให้เข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวมากขึ้นและรู้สึกมีปัญหากับ ‘กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์’ และเครื่องมือการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่อาจไม่คุ้นชินน้อยลงแล้ว ผู้เข้าร่วม­­จะสนุกสนานกับการชุมนุมมากขึ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save