fbpx
มานุษยวิทยาผัสสะ

มานุษยวิทยาผัสสะ

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

จบภาคการศึกษาแรกประจำปี 2563 ไปอย่างสะบักสะบอม ที่สะบักสะบอมก็เพราะเทอมนี้ผมสอนนับรวมๆ แล้วร่วม 5 วิชา เปล่า ทางคณะไม่ได้บังคับให้สอนมากขนาดนี้หรอก ผมยินดีสอนเองนั่นแหละ เพราะทั้งนักศึกษาขอให้เปิด และเพื่อนอาจารย์ขอให้ช่วย ก็ช่วยๆ กันไปเท่าที่จะมีแรง นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมาผมจำเป็นต้องห่างหายไปจากการเขียนงานสู่สื่อสาธารณะ

ทั้งเกือบ 5 วิชาที่สอนนั้น มีวิชาการวิจัยทางมานุษยวิทยาและชาติพันธ์ุนิพนธ์, วิชา Ethnic and Religious Pluralism in Thai Society (พหุลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศานาในสังคมไทย สอนเป็นภาษาอังกฤษ), วิชามานุษยวิทยาดิจิทัล, วิชามานุษยวิทยาผัสสะ, และวิชาอื่นๆ ที่ไปช่วยสอนอีก 1-3 ครั้งซึ่งรวมๆ ชั่วโมงบรรยายทั้งหมดแล้วก็อีกเกือบ 1 วิชา เช่น วิชามานุษยวิทยาเบื้องต้น (หัวข้อมานุษยวิทยาภาษา), วิชาประเด็นวิจัยทางมานุษยวิทยา, วิชาการวิจัยเขตวัฒนธรรม

ในทั้งหมดนั้น วิชามานุษยวิทยาผัสสะเป็นวิชาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ผมเปิดขึ้นมาใหม่และคิดว่าจะพัฒนาเป็นวิชาใหม่ในหลักสูตรต่อไป จึงอยากเล่าเนื้อหาคร่าวๆ ให้อ่านกัน เผื่อจะมีการศึกษาเรื่องเหล่านี้กันให้มากขึ้นในสังคมไทย

ชื่อภาษาอังกฤษของวิชานี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเรียก the anthropology of the senses หรือ sensory ethnography/anthropology ดี (เดี๋ยวจะเล่าว่ามันมีข้อถกเถียงหลักอะไรระหว่าง 2 ชื่อนี้) เอกสารของวิชานี้เกือบทุกชิ้นเป็นเอกสารที่ผมไม่เคยอ่านมาก่อน ส่วนหนึ่งได้มาจากคำแนะนำของเพื่อนๆ อาจารย์ที่บอกเล่าให้รู้กันในวงเหล้า และอีกส่วนมาจากการสืบค้นเอกสารใหม่ๆ ในโลกออนไลน์

สำหรับลำดับการเรียนวิชานี้ 1) ผมเริ่มเนื้อหาจากผลงานและแนวทางการศึกษาจากนอกมานุษยวิทยา 2) มานุษยวิทยากับการศึกษาผัสสะ 3) การศึกษาผัสสะแต่ละประเภท ได้แก่ การมอง การฟัง การสัมผัส การดม และการรับรส

ในส่วนแรก ผมให้ชั้นเรียนอ่านงานที่ไม่ได้เป็นงานมานุษยวิทยาโดยตรง แต่เป็นพื้นฐานสำคัญของมานุษยวิทยาผัสสะ ได้แก่ บทความของ เกออร์ก ซิมเมล (Georg Simmel) เรื่อง Sociology of the Senses (สังคมวิทยาผัสสะต่างๆ) (พิมพ์ปี 1907) บางส่วนของหนังสือ Phenomenology of Perception (ปรากฏการณ์วิทยาของการรับรู้) (1945) ของ มอรีส แมร์โล-พองตี (Maurice Merleau-Ponty) และหนังสือ History of Bourgeois Perception (ประวัติศาสตร์การรับรู้ของกระฎุมพี) (1982) ของ โดนัลด์ โลว์ (Donald Lowe)

สำหรับงานทั้งสามนี้ งานของซิมเมล (อาจารย์สรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แนะนำ) ใช้อ่านเพื่อเปิดโลกการคิดถึงผัสสะต่างๆ ได้ดีมาก ช่วยให้เข้าใจสถานะทางสังคมของผัสสะต่างๆ อย่างคร่าวๆ ได้ดี งานของ แมร์โล-พองตี แม้จะอ่านยากสักหน่อย แต่ก็ช่วยเปิดหูเปิดตาและวางรากฐานให้กับการศึกษาเรื่องผัสสะต่อไปได้อย่างดี ที่สำคัญคือแสดงให้เห็นว่าจุดเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับโลกคือเรือนร่างโดยต้องอาศัยผัสสะเป็นส่วนสำคัญ ส่วนหนังสือ “ประวัติศาสตร์การรับรู้ของกระฎุมพี” (แนะนำโดยอาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) นำเอาวิธีการทางประวัติศาสตร์แบบวัตถุนิยมของมาร์กซ์ มาผสานกับแนวคิดของแมร์โล-พองตี ช่วยให้เชื่อมโยงผัสสะส่วนบุคคลเข้ากับสังคม ประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ไล่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 มาจนถึงศตวรรษที่ 20 ได้เป็นอย่างดี

อันที่จริงแล้ว เพียงแค่ 3 ชิ้นนั้นก็สามารถเรียนกันได้ทั้งเทอมแล้ว แต่เพื่อให้สามารถพัฒนาประเด็นถกเถียงที่ลึกซึ้งไปเป็นการวิจัยในทางมานุษยวิทยาได้ ก็จำเป็นต้องอ่านหนังสืออีก 2 ส่วน

ส่วนต่อมา ผมจึงเลือกผลงานในกลุ่มที่พัฒนาแนวคิดและวิธีวิทยาให้เป็นมานุษยวิทยามากขึ้น งานกลุ่มนี้มีกลุ่มแนวคิด 2 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า the anthropology of the senses กับกลุ่มที่บางคนเรียกว่า sensory ethnography/anthropology งานกลุ่มแรก “มานุษยวิทยาว่าด้วยผัสสะต่างๆ” พัฒนามาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ผมเองรู้จักการศึกษาเรื่องผัสสะก็จากงานกลุ่มนี้ ประกอบด้วยคนสำคัญๆ ได้แก่ เดวิด ฮาวส์ (David Howes) คอนแสตนซ์ คลาสเซน (Constance Classen) และ พอล สโตลเลอร์ (Paul Stoller) งานกลุ่มนี้เสนอให้เข้าใจการรับรู้เชิงผัสสะของสังคมต่างๆ ทั่วโลก ว่าแตกต่างกันเนื่องจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น ตะวันตกมันเน้นการมองและฟังเหนือผัสสะอื่นๆ แต่ในหลายสังคมกลิ่นและสัมผัสสำคัญกว่า นอกจากนั้นกลุ่มนี้ยังเสนอให้นักมานุษยวิทยาค้นหาวิธีวิทยาเฉพาะสำหรับการศึกษาผัสสะ ที่จะต้องร่วมรู้สึกกับเจ้าของวัฒนธรรมผัสสะที่แตกต่างออกไปด้วย

อีกกลุ่มคือ “ชาติพันธ์ุนิพนธ์/มานุษยวิทยาเชิงผัสสะ” นำโดย ทิม อิงโกลด์ (Tim Inglold) โดยเฉพาะบทความต่างๆ ในหนังสือ The Perception of the Environment (การรับรู้สิ่งแวดล้อม) (2000) และหนังสือ Doing Sensory Ethnography (กระทำการชาติพันธ์ุนิพนธ์เชิงผัสสะ) (2009) ของ ซาราห์ ฟิงก์ (Sarah Pink) งานของกลุ่มนี้พัฒนาขึ้นมาในปลายทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน งานกลุ่มนี้มีท่าทีต่อผัสสะในเชิงวัฒนธรรมไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มแรกนัก และเรียกได้ว่าสานต่อการทำงานของ พอล สโตลเลอร์ เรื่องวิธีวิทยาผัสสะมา หากแต่มีแนวคิดที่ก้าวกระโดดไปอีกขั้นอย่างค่อนข้างไกล สิ่งที่แตกต่างกันมากคือการพัฒนางานของปรัชญาแบบ “ปรากฏการณ์วิทยา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ แมร์โล-พองตี ในประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างผัสสะต่างๆ การที่ผัสสะเป็นตัวเชื่อมให้เห็นภาวะของการมีอยู่-ใน-โลกนี้ (being-in-the-world) ที่ไม่สามารถแยกร่างกายออกจากความนึกคิดและตัวตนมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมได้ และที่สำคัญคือ งานกลุ่มนี้ทำให้สามารถนำแนวคิดทางปรัชญาแบบปรากฏการณ์วิทยามาสู่การทำงานทางมานุษยวิทยาได้

ขณะเดียวกันด้วยอิทธิพลของการวิพากษ์ “มนุษยนิยม” ของมานุษยวิทยาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 (รวมทั้งงานของกลุ่ม เดวิด ฮาวส์ ที่ศึกษาผัสสะในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา) ยังคงวางอยู่บนการแยกมนุษย์และวัฒนธรรมออกจากสิ่งพ้นมนุษย์และธรรมชาติ ในปลายศตวรรษที่ 20 ทำให้งานศึกษาผัสสะในกลุ่มหลังนี้ดึงเอามิติเชิงเรือนร่างของผัสสะ ความเป็นปัจเจกบุคคลของมนุษย์ที่ไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ใต้บงการของอำนาจสังคมเสมอไป นิเวศวิทยา/สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัตถุ ตลอดจนดึงเอาสถานะความเป็นสัตว์ของมนุษย์เข้ามาในการศึกษาผัสสะมากขึ้น การมีทั้งมิติเชิงปรัชญา จิตวิทยา และชีววิทยา ที่ผสมรวมกับการศึกษาสังคม-วัฒนธรรมแบบข้ามพื้นที่ของมานุษยวิทยา ทำให้งานกลุ่มนี้ทั้งกว้างขวาง ข้ามสาขาวิชา และลุ่มลึกในหลายมิติมากยิ่งขึ้น

ส่วนที่สาม ผมหางานที่ร่วมสมัย ที่โดดเด่น และมีความเป็นสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยผัสสะต่างๆ มาอ่านกันในชั้นเรียน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงมโนทัศน์สำคัญๆ ทางปรัชญาและสาขาวิชาต่างๆ ไปสู่การวิจัยทางมานุษยวิทยาได้ โดยไล่เรียงสำรวจการศึกษาผัสสะต่างๆ ไปตั้งแต่การมอง การฟัง การสัมผัส การดม และการลิ้มรส เช่น เรื่องการมอง อ่านงานคลาสสิกเรื่อง Ways of Seeing (วิถีต่างๆ ของการมอง) (1972) ที่พัฒนาจากชุดสารคดีในบีบีซี (BBC) โดย จอนห์ เบอร์เกอร์ (John Berger) งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า การมองในวิถีของทัศนศิลป์ตะวันตกนั้น ถูกสร้างขึ้นมาแบบหนึ่งและพัฒนาไปเรื่อยๆ ในแต่ละยุคสมัยทางสังคมและเทคโนโลยี การมองจึงไม่ใช่สิ่งที่ “เป็นไปตามธรรมชาติ”

ส่วนงานศึกษาเรื่องการฟัง ผมเลือกงานเกี่ยวกับคนหูหนวก เช่น บทความ Deft Anthropology (มานุษยวิทยาคนหูหนวก) (2020) ของมิเชล ฟรีดเนอร์ (Michele Friedner) และ แอนเนลลีส์ คัสเตอร์ (Annelies Kusters) ที่จริงงานกลุ่มนี้ยังมีการศึกษาที่คร่อมระหว่างเสียงศึกษา (sound studies) กับมานุษยวิทยาดนตรี (anthropology of music) แต่เนื่องจากได้อ่านเรื่องเหล่านี้มามากแล้วในวิชามานุษยวิทยาดนตรี จึงไม่ได้นำมาอ่านในวิชานี้

ส่วนผัสสะของสัมผัส มีหนังสือของ มาร์ก เพ็ตเทอร์สัน (Mark Peterson) ชื่อ The Senses of Touch: Haptics, Affects and Technologies (ผัสสะต่างๆ ของสัมผัส : การสัมผัส การเร้าความรู้สึก และเทคโนโลยี) (2007) หนังสือเล่มนี้เปิดมาอย่างน่าตื่นเต้นด้วยการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสัมผัสที่มีต่อการถกเถียงในปรัชญาตะวันตกตั้งแต่ยุคตื่นรู้ (the Enlightenment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถกเถียงระหว่างหลักปรัชญาประจักษ์นิยมกับเหตุผลนิยม ยุคนั้นเขาถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ของผัสสะการมองกับการสัมผัส และการรับรู้โลกอย่างผสมผสานกันของผัสสะต่างๆ เช่น ตกลงตากับผิวหนังอะไรน่าเชื่อถือมากกว่ากัน จากนั้นหนังสือพาเราไปศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมของการสัมผัสในปัจจุบันในมิติต่างๆ ตั้งแต่ศิลปะ เทคโนโลยี ไปจนถึงการบริโภคสัมผัส เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลกับการสัมผัส ซึ่งการสัมผัสกลับมาเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเครื่องมือสื่อสารโดยเฉพาะแทปเล็ตและสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นยังศึกษาการทำสัมผัสให้กลายเป็นสินค้าในสังคมทุนนิยมยุคปลาย อย่างการนวด การจับเส้นต่างๆ

ส่วนงานศึกษาเรื่องกลิ่นและรส งานที่ผมประทับใจคือการอาศัยสัญวิทยาของ ชาลส์ เพียส (Charles Peirce) มาศึกษาการดมในบทความของ เดนนิส วาสกัล (Dennis Waskul) และ ฟิลิป วานีนี (Phillip Vannini) เรื่อง Smell, Odor, and Somatic Work: Sense-Making and Sensory Management (ดม กลิ่น และ งานทางเรือนร่าง : การสร้างการรับรู้ทางผัสสะและการบริหารผัสสะ) (2008) บทความนี้เสนอให้เข้าใจการดมและกลิ่นในฐานะที่เป็นการกระทำทางสังคม ไม่ใช่แค่การรับรู้อย่างเฉื่อยชา กลิ่นกับการแบ่งแยกทางสังคม รวมทั้งการที่ผู้คนบริหารจัดการกลิ่นทั้งในระดับสังคมและบุคคล

ส่วนงานศึกษาเรื่องรส มีงานมากมายที่ศึกษาผ่านมานุษยวิทยาอาหาร แต่หากเน้นเฉพาะเรื่องรสจริงๆ เดวิด ซัตทัน (David Sutton) ได้รวบรวมแนวทางการศึกษาต่างๆ ไว้ในบทความ “Food and the Senses” (อาหารและผัสสะ) (2010) ซึ่งไล่เรียงให้เห็นพัฒนาการการศึกษารสชาติในมานุษยวิทยา จากงานเชิงโครงสร้างสัญลักษณ์ไปสู่งานเชิงชนชั้นสังคมของรสชาติ และเสนอมโนทัศน์ “gustemologies” ได้แก่การศึกษาโครงสร้าง ปฏิบัติการ และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมรสชาติและมิติทางผัสสะอื่นๆ ของอาหาร

ปิดท้ายวิชา เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการของมานุษยวิทยาในปัจจุบัน ที่ข้ามจากการศึกษาเพียงมนุษย์ไปสู่ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ผมจึงปิดวิชาด้วยการอ่านงานที่พยายามเข้าใจผัสสะและการรับรู้โลกข้ามไปยังโลกของสัตว์ งานที่ได้อ่านคือบทความของ ทิม อิงโกลด์ เป็นบทความชื่อ Building, Dwelling, Living: How Animals and People Make Themselves at Home in the World (2000) ที่ทำลายพรมแดนการแยกที่อยู่อาศัยของมนุษย์ออกจากสัตว์ด้วยแนวคิดเรื่อง “การพักอาศัย” ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้น แต่เป็นการจัดการให้แห่งที่ต่างๆ กลายเป็นบ้าน ที่จริงเตรียมไว้ว่าจะอ่านงานศึกษาการดมและการมองของผึ้ง แต่ไม่มีเวลาพอ

ผลการสอนแต่ละวิชาในภาคที่เพิ่งผ่านพ้นไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ได้ ขึ้นกับผลการเรียนของนักศึกษาที่ยังส่งงานไม่ครบ และขึ้นกับการประเมินผลของนักศึกษาที่ต้องรอจนกว่าเกรดจะออกแล้วถึงจะได้อ่าน เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ผู้สอนไปอคติกับผู้เรียนที่อาจประเมินผลการสอนอาจารย์ไม่ดี แม้ในแบบประเมินจะไม่ได้ให้นักศึกษาลงชื่อก็ตาม

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าแต่ละภาคการศึกษาจะทำให้ผมเหน็ดเหนื่อยกับการสอนอย่างไร หรือบางครั้งก็เบื่อหน่ายกับความเบื่อหน่ายของนักศึกษาไปบ้าง แต่ก็เป็นความเหนื่อยและหน่ายที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักศึกษาหลายต่อหลายอย่างด้วยกัน นั่นเพราะแม้ว่าผมจะสอนวิชาเดิมๆ แทบทุกวิชา แต่ผมก็จะปรับเนื้อหา ปรับเอกสารการสอน อยู่เสมอ และในบางปี ผมก็มักจะกระตุ้นการเรียนรู้ของตนเองด้วยการหาความรู้ใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับนักศึกษาเสมอ

ก็หวังว่าสังคมไทยและสังคมวิชาการจะขยับการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เช่นกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save