fbpx
เลือกตั้งท้องถิ่นภาคเหนือ: ความหวังของคนเมือง เรื่องที่ อบจ. ต้องเข้าใจ กับ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

เลือกตั้งท้องถิ่นภาคเหนือ: ความหวังของคนเมือง เรื่องที่ อบจ. ต้องเข้าใจ กับ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลังห่างหายไปนานถึง 6 ปีจากผลพวงรัฐประหารโดยคณะคสช. การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ ก็ได้ฤกษ์เวียนกลับมาอีกครั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 พร้อมบรรยากาศความคึกคักของการหาเสียงของบรรดาผู้สมัครฯ ที่ตอกย้ำให้คนรู้สึกถึงวาทะ ‘การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว’ ได้อย่างแจ่มชัด

สำหรับภาคเหนือ นับว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น่าจับตามองมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะนอกจากจะโด่งดังในฐานะกลุ่มฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย – หรืออีกนัยคือคนรักชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอาจเชื่อมโยงถึงทิศทางการเมืองระดับชาติแล้ว คนเมืองเหนือยังมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม รวมถึงโจทย์สำคัญเฉพาะตัวที่ต้องทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการรวมศูนย์ความเจริญในเชียงใหม่ ปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่เจอกันแทบทุกปี ไม่มีแหล่งงานในบ้านเกิดเพียงพอ ฯลฯ

การเลือกตั้งท้องถิ่นคราวนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเขาได้อย่างไร พลวัตด้านการเมืองและเศรษฐกิจในช่วง 6 ปีที่ห่างหายกลายเป็นภาพแบบไหน และอะไรจะช่วยให้อำนาจกระจายสู่กำมือคนเมืองอย่างแท้จริง

101 สนทนากับ รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ จากสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อค้นหาคำตอบที่ว่า ก่อนถึงกำหนดการเข้าคูหาวันที่ 20 ธันวาศกนี้

**หมายเหตุ**  – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 Policy Forum #9 : จับตาการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563 วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00-16.30 น.

 

#อบจอินไซด์ : ปรากฏการณ์ใหม่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น

 

ก่อนจะพูดถึงเรื่องภาคเหนือ ผมอยากเริ่มด้วยการพูดถึงกระแสในช่วงสองสามวันนี้ที่มีคนทวิตเรื่อง อบจ. ในทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็ก #อบจอินไซด์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวด้านการบริหารงานของ อบจ. ทั่วประเทศผ่านเคสต่างๆ ผมคิดว่าจากกระแสนี้มีสองประเด็นที่น่าสนใจ

ประเด็นแรกคือ เหมือนคนรุ่นใหม่ที่อาศัยทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการสื่อสารพูดคุยเริ่มตื่นตัวว่า อบจ. ของเรามีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร มีเมกาโปรเจกต์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เกิดการหันกลับไปตั้งคำถามกับท้องถิ่นตัวเองมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา คนทั่วไปหรือคนรุ่นใหม่แทบไม่สนใจเลยว่าสิ่งที่เรียกว่า อบจ. มีไว้ทำไมหรือเพื่ออะไร

แต่ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าวิธีการแบบนี้เป็นการนำแว่นของชนชั้นกลางมาพิจารณาการเมืองท้องถิ่นในเชิงนโยบาย กลายเป็นการ demonize การเมืองท้องถิ่น มองว่าการดำเนินงานของนักการเมืองท้องถิ่นหรือตัวนักการเมืองท้องถิ่นเองเป็นปีศาจ เช่นเดียวกับการที่การเมืองระดับชาติโดนมาแล้ว ดังนั้นต้องระวังว่าอาจเป็นการทำลายความชอบธรรมของการเมืองท้องถิ่นได้

อย่างไรก็ดี นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ จากเดิมที่การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก ตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่คนสนใจมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะชนชั้นกลาง ทำให้การเมืองท้องถิ่นดูเป็นการเมืองแห่งความหวังมากขึ้น

 

เมื่อคนเหนือรู้สึกไร้ความหวัง? : เจาะการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือ

 

บริบทของภาคเหนือมีองค์ประกอบด้านหนึ่งที่น่าสนใจคืออัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรม สำนึกทางวัฒธรรม ประวัติศาสตร์ และความเป็นคนเมืองของคนท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ไม่นาน คุณทักษิณ ชินวัตร เพิ่งโพสต์เฟซบุ๊กอ้อนคนเชียงใหม่ ทำนองว่าให้นึกถึงสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทำอะไรให้เชียงใหม่ เชียงใหม่เป็นอย่างไรบ้าง ผมไม่แน่ใจว่าคุณทักษิณส่งเมสเสจทำนองนี้ให้จังหวัดอื่นๆ อีกหรือเปล่า แต่การที่คุณทักษิณพูดคำเมืองอ้อนตอนเปิดหัวและปิดท้ายโพสต์ แสดงให้เห็นว่ามีการใช้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย

ในมิติเศรษฐกิจและการเมือง ก่อนการรัฐประหารรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ คนในภาคเหนือโดยเฉพาะนักธุรกิจและชนชั้นกลางมีความหวังกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงมาก มีความหวังขนาดที่เมืองขนาดกลางอย่างลำปางมีคอนโดเกิดขึ้น เพราะประเมินว่ามีสถานีมาถึงที่นี่แน่ มีโอกาสพัฒนาที่ดิน ต่อยอดด้านอื่นๆ หลายจังหวัดที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ก็อยู่ในความรู้สึกแห่งความหวังว่ามีอนาคตรออยู่ข้างหน้า

แต่หลังจากรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ หรือเทียบไกลถึงเศรษฐกิจหลังยุคคุณทักษิณเป็นต้นมา คนภาคเหนือที่หวังว่าจะได้อานิสงส์โดยทั่วกันกลับรู้สึกไม่ค่อยเป็นไปตามที่หวัง เพราะเดิมทีภาคเหนือถูกรวมศูนย์อยู่ที่เชียงใหม่เป็นหลัก เวลาพูดถึงภาคเหนือ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือการศึกษาจะรวมศูนย์อยู่ที่เชียงใหม่แทบทั้งหมด ต่างกับภาคอีสานที่มีหลายศูนย์ ดังนั้น เมื่อทุกอย่างกลับสู่สถานะปกติ ทุกอย่างก็พุ่งเข้าสู่เชียงใหม่เหมือนเดิม ความรู้สึกที่ว่าอนาคตมีความหวังของคนภาคเหนือจึงลดน้อยลง และในเชิงโครงสร้างแล้ว คนส่วนหนึ่งในท้องถิ่นไม่มีกลไกหรือเครื่องมือที่จะผลักดันให้ตนเองก้าวเข้าสู่โอกาสทางการเมืองหรือนโยบายทางเศรษฐกิจระดับชาติได้

อีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่าเมืองต่างๆ ในภาคเหนือค่อยๆ เติบโตตามยถากรรม โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างที่เขาเคยเจอหรือเคยรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของเมืองปาย หรือแม่ฮ่องสอนในฐานะเมืองท่องเที่ยวอย่างถล่มทลาย ไม่ได้มาจากการวางแผนพัฒนาจริงจัง แต่มาจากโอกาสทางธุรกิจ ทัศนะ หรือวิวทิวทัศน์ หรือโอกาสเติบโตที่แตกยอดมาจากเชียงใหม่ ฯลฯ

หรือการที่พะเยาเติบโตเป็นเมืองการศึกษา มีมหาวิทยาลัยพะเยาก็ทำให้ความเจริญของเมืองไปรวมอยู่แค่บริเวณตัวมหาวิทยาลัย การเติบโตอย่างไม่มีทิศทางชัดเจนนี้ทำให้ท้องถิ่นยังตกอยู่ในวังวนของความพยายามแสวงหาโอกาสในการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง เพราะฉะนั้น สำหรับการเมืองท้องถิ่นในภาคเหนือ ผมคิดว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่คลุมเครืออยู่

 

หมอกควัน – ขาดงาน – ขาดข่าวสารในพื้นที่ :

ตีโจทย์ปัญหาคนเหนือ

 

ถ้าพูดในเชิงภาพรวม ผมเห็นว่าภาคเหนือเป็น ‘สองนคราประชาธิปไตยท้องถิ่น’ คือ คนในเขตเมืองให้ความสำคัญกับการเมืองต่างจากคนในเขตชนบทหรือกลุ่มฐานเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะสัมพันธ์กับเรื่องของระบบการช่วยเหลือกัน ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งอยู่ในระดับที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐหรือท้องถิ่นมาก ดังนั้น สิ่งที่เขาจินตนาการเกี่ยวกับการเมืองของเขาจะเป็นความสัมพันธ์ที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือด้านเครื่องมือหรือทรัพยากรหาเลี้ยงชีวิต

สิ่งหนึ่งที่น่าจะเห็นพ้องต้องกันในภาคเหนือ คือปัญหาหมอกควัน ซึ่งไม่ว่าจะมาจากการเผาป่าก็ดี หรือมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดในภูมิภาคเดียวกันก็ดี เป็นปัญหาที่ทุกคนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตเหมือนกันหมด คนเหนือใส่หน้ากากก่อนมีโควิด-19 ก่อนคนทั่วประเทศเสียอีก เมื่อมีโรคระบาดเข้ามา ต้องขอความร่วมมือให้ใส่หน้ากาก เท่าที่เห็นคนเหนือก็ไม่ค่อยอิดออดกันเท่าไร เพราะถนัดรับมือปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว แต่ผมไม่แน่ใจว่าคนเหนือจะเห็นว่าปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาที่ อบจ. ต้องแก้หรือเปล่า เพราะปัญหาที่เขาตระหนักและปัญหาที่คิดว่าท้องถิ่นจะช่วยเหลือเขาได้เป็นสิ่งที่ต้องแยกกัน

นอกจากนี้ คนในเมืองและคนทำการเกษตรอาจมองปัญหาหมอกควันต่างกันอยู่บ้าง ช่วงที่หมอกควันหนาๆ ฝุ่น PM 2.5 เยอะๆ เป็นไปได้สูงว่าคนในเขตเมืองจะโทษเกษตรกร คนเก็บของป่าว่าเป็นคนเผา เพราะในภาคเหนือจะมีของป่า อย่างเห็ดถอบที่ขายได้ราคาดี เขาก็เชื่อว่าต้องเผาเพื่อให้เห็ดออกมาเยอะ กับอีกกรณีหนึ่งคือเกษตรกรอาจเผาทำลายพวกซังข้าวโพด ดังนั้นเวลามีควันเยอะๆ คนจะเพ่งโทษไปที่กลุ่มเหล่านี้ ทำให้แม้ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ร่วมกันก็จริง แต่คนในแต่ละพื้นที่ก็เข้าใจปัญหานี้ต่างรูปแบบกัน คนในเขตชนบทหรือป่าเขาก็เข้าใจปัญหาหรือรับรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ปัญหาหมอกควันมีเรื่องเล่าหลายแบบมาก และเราไม่มีการพูดคุยถกเถียงในระดับนโยบายว่า ตกลงการหาของป่าควรจะหาจุดร่วมกันอย่างไร การจัดการข้าวโพดหรือผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช้แล้วควรจะทำอย่างไร มันไม่ไปถึงจุดนั้น ไม่ไปแตะระดับการจัดการเชิงพื้นที่ในแต่ละ อบจ. ด้วย ผมยังไม่เห็นว่าคนแต่ละท้องถิ่นจะพยายามผนวกเรื่องนี้เป็นพันธกิจของท้องถิ่นร่วมกัน เราอาจจะเห็น อบจ. บางแห่งลงทุนทำไวนิลห้ามคนเผาป่า แต่เราไม่เห็นกระบวนการเชิงนโยบายในระยะยาว ทางเลือกใหม่ๆ ในการทำการเกษตร หรือหารายได้ให้กับประชาชน

อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อเทียบกับภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งงาน ภาคเหนือมีเพียงสองจังหวัดเท่านั้นที่เป็นแหล่งงานใหญ่ คือ เชียงใหม่กับลำพูน ท้องถิ่นไม่มีแหล่งงาน ดังนั้น คนจำนวนมากที่จบปริญญาตรีมีจำนวนน้อยมากที่กลับมาอยู่บ้าน เพียง 10 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีงานในบ้านตัวเอง

การขาดแหล่งงานในความหมายของผม คือขาดแหล่งงานที่มีกำลังจ้างคนในระดับหนึ่ง ยังไม่นับว่าเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ที่แม้จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว แต่ค่าแรงต่ำมากแบบไม่น่าเชื่อว่าเป็นเมืองระดับต้นๆ ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ ต่ำกว่าระยอง ลำพูน หรือพัทยาด้วยซ้ำ มันทำให้คนท้องถิ่นมีแค่ผู้สูงอายุ หรือคนที่ต้องอยู่ดูแลผู้สูงอายุ ลูกหลาน และคนเหล่านี้ก็ต้องทำเกษตรกรรมที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าเรื่องชลประทานหรือเทคโนโลยีการผลิต ผมจึงคิดว่าสิ่งหนึ่งที่คนอยากจะเห็นแน่ๆ คือจะทำอย่างไรให้เกิดแหล่งงาน เกิดการจ้างงานอย่างยั่งยืนในท้องถิ่น ทำให้คนท้องถิ่นอยู่กับบ้านได้ และอยู่แบบคุณภาพดีด้วย

อีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ คือเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ที่ไม่ได้งบประมาณสนับสนุนจัดระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมากพอ ที่ผ่านมาพยายามเดินรถเมล์ก็ไม่เวิร์ก พยายามของบเพื่อทำระบบรถรางก็ไม่ได้เริ่มสักที ซึ่งก็เชื่อมโยงกับปัญหารถติด มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ด้วย

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาการเมืองท้องถิ่นที่ผมเห็น คือไม่มีพื้นที่ไหลเวียนของข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นเลย แม้กระทั่งข่าวท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่การเมืองก็ไม่มีสื่อท้องถิ่นทำ สักสิบกว่าปีที่แล้ว ลำปางเคยเป็นจังหวัดที่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเยอะมากกว่า 10 หัว ซึ่งผมพบว่ามันเติบโตมาพร้อมการเมืองท้องถิ่นหลังปี 2540 หลายที่ลงข่าวสารการเมือง เกี่ยวกับการทำกิจกรรมของนักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองเหล่านี้ก็ซื้อหนังสือพิมพ์กันพรึบเลย

ต่างจากปัจจุบันที่เรื่องท้องถิ่นมักถูกรายงานผ่านสายตาของคนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นข่าวอาชญากรรม ข่าวร้าย หรือของแปลก ไม่มีข่าวเรื่องนโยบายสาธารณะท้องถิ่น เรื่องการจัดการขยะ ไฟฟ้าพลังงานทดแทน หรือกระทั่งปัญหาที่เกิดจากการท่องเที่ยวเมืองปายก็ไม่ถูกนำเสนอ นำเสนอแค่ว่าถ้าคนกรุงเทพฯ จะไปเที่ยวปายต้องทำอย่างไร ปัญหาในท้องถิ่นไม่เคยถูกเอามาคุยเป็นเรื่องเป็นราว ผมคิดว่าข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้ทั้งชนชั้นกลาง หรือรวมถึงคนที่ไม่ใช่ชนชั้นกลางไม่ตระหนักถึงปัญหาในท้องถิ่น เป็นเพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกยกขึ้นมาพูดในพื้นที่กลางต่างหาก

ตัวอย่างอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือในช่วงโควิด-19 เราเห็นโมเดลการสร้างประชาคมท้องถิ่น คนพยายามมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือ เช่น ใน อ.งาว จังหวัดลำปาง ที่ประกาศว่าเป็นเขตมีผู้ติดเชื้อ ปรากฏว่ามีคนในเขตงาวมารวมตัวตั้งเต็นท์ให้ความช่วยเหลือกัน แต่ในขณะที่ประชาคมพยายามสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเอง สิ่งที่ทำลายความเข้มแข็งของท้องถิ่นคือการใช้อำนาจจากส่วนกลาง จังหวัดชี้นิ้วสั่งให้ อบจ.ไปทำงาน นายอำเภอสั่งเทศบาล อบต.ไปทำ แสดงให้เห็นว่าภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หรือหลังรัฐประหาร ท้องถิ่นถูกทำให้เป็นเครื่องมือของส่วนกลางไปมาก

ผมจึงคิดว่าการที่เราไม่เห็นความต้องการอย่างจริงจังจากคนในท้องถิ่น ด้านหนึ่งนอกจากเป็นเพราะไม่มีพื้นที่แล้ว คนในท้องถิ่นก็อาจจะคิดว่าองค์การท้องถิ่นไม่มีน้ำยาทำอะไรขนาดนั้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เห็นภาพชัดเจนมากว่าเป็นปฏิบัติการที่ท้องถิ่นถูกกระทำ มากกว่าเป็นผู้ลงมือกระทำ และท้องถิ่นใดมีความสามารถแค่ไหน

 

นโยบายอาจไม่สำคัญเท่าเป็นคนของใคร? :

ส่องกลยุทธ์ อ่านความคิดผู้สมัครฯ อบจ.

 

อย่างที่เกริ่นว่าคุณทักษิณทิ้งบอมบ์ผ่านเฟซบุ๊กให้ช่วยสนับสนุนผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ถ้าเราดูไลน์อัปจะเห็นว่าเพื่อไทยได้ลงเลือกตั้งถึง 6 จังหวัดในภาคเหนือ คือเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน ลำปาง แพร่ ขาด 2 จังหวัดคือแม่ฮ่องสอน และพะเยา ซึ่งเข้าใจว่าแม่ฮ่องสอนเป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพะเยามีคุณธรรมนัส

ปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สำคัญคือ สื่อมวลชนค่อนข้างจับตามองเชียงใหม่ในฐานะเป็นเมืองฐานเสียงของคุณทักษิณหรือคุณยิ่งลักษณ์ ดังนั้น เมสเสจที่ปรากฏข่าวบางทีก็เกิดความพยายามดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย ทำให้เราเห็นว่าการเมืองท้องถิ่นและการเมืองในระดับชาติก็มีความสัมพันธ์กัน

ส่วนเรื่องหาเสียง ผมขอมองจากในลำปางเป็นหลักและแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการริเริ่มหาเสียงของผู้สมัครเอง เช่น ป้ายหาเสียง แผ่นพับ ซึ่งป้ายหาเสียงส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าไม่ได้บอกนโยบายเลย บอกแค่เป็นใคร เป็นคนของใคร บอกสังกัดชัดเจน อย่างเพื่อไทยหรือคณะก้าวหน้าก็แปะโลโก้ให้เห็นชัดเจน จะรู้นโยบายอีกทีก็ต้องอ่านแผ่นพับ ซึ่งคงไม่แพร่หลายเท่าแน่ๆ ดังนั้น อาจตีความได้ว่าเมสเสจที่พยายามสื่อสาร คือการเน้นให้เลือกจากพรรคหรือตัวคน ไม่ใช่นโยบาย

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องนโยบาย จากงานเสวนาที่ผมจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีตัวแทนลงสมัครมาเข้าร่วม 3-4 คน ทำให้เราเห็นนโยบายแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ นโยบายแพลตฟอร์มส่วนกลางของเพื่อไทย ซึ่งผมเข้าใจว่ามีเกือบทุกจังหวัด ในรายละเอียดอาจจะต่างกันบ้าง แต่กระดูกสันหลังเป็นอย่างเดียวกัน อย่างในลำปาง เขาเล่านโยบายผ่าน #ชีวิตดีๆ ที่ลำปาง พูดถึงการจ้างงาน แก้ปัญหาน้ำแล้ง สมาร์ตฟาร์มมิ่ง การท่องเที่ยวชุมชน การศึกษาแบบฟินแลนด์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสนับสนุนโลจิกติกส์ ที่เขาเข้าใจว่า อบจ. อาจไม่มีงบประมาณมาก ต้องร่วมมือกับส่วนกลาง

อีกกลุ่มหนี่ง ผมเรียกว่าเป็นนโยบายจากประสบการณ์การเป็นนักการเมืองท้องถิ่น การลงพื้นที่หาเสียงแล้วเห็นว่ามีโอกาสจะทำเรื่องอะไร กลุ่มนี้จะเห็นปัญหาว่าเงินงบประมาณไม่ลงไปที่ อบจ. อย่างเท่าเทียมกัน ไปกระจุกตัวแค่บางที่ ดังนั้นผู้สมัครคนนี้เลยพยายามจัดสรรนโยบายระดับพื้นที่ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน 1 ตำบล 3 ล้านบาท โครงการผู้สูงอายุอำเภอละ 5 แสนบาท ทำให้เห็นว่าเขาคิดเชิงพื้นที่อย่างไร ตรงนี้ก็อาจตอบโจทย์ระบบกลไกการจัดการเชิงพื้นที่ การสร้างเครือข่ายในพื้นที่ และน่าสนใจว่าเป็นนโยบายแบบออนดีมานด์จากพื้นที่ ไม่ใช่คิดจากส่วนกลางให้

อีกกลุ่มเป็นนโยบายตามรสนิยมของผู้สมัคร คือเป็นผู้สมัครที่มีความคิดแหวกแนว มีความเฉพาะตัวของตัวเอง เช่น บางท่านมีความคุ้นเคยกับพุทธศาสนา ก็ต้องการสร้างสวัสดิการให้พระสงฆ์ เป็นต้น

เมื่อผนวกกับการวิเคราะห์วิธีการสื่อสารจะเห็นได้ว่า นโยบายอาจยังไม่ถูกยกระดับให้เป็นตัวตัดสิน แต่อย่างน้อย มันก็อาจจะตอบโจทย์ชนชั้นกลางที่พยายามหาทางแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของการเลือกตั้งครั้งนี้คือการประกาศรับสมัครที่กระชั้นชิดมาก ลำปางมีเขตให้ลงสมัคร 30 เขต แต่มีถึง 4 เขตที่มีผู้สมัคร สอบจ. เพียงคนเดียว ผมเข้าใจว่าอาจเป็นความไม่พร้อมของ กกต. จนทำให้มีเวลาตัดสินใจ-ระดมทุนสู่สนามเลือกตั้งน้อย ซึ่งส่งผลมากๆ ต่อตัวผู้สมัครและส่งผลต่อนโยบาย คือนโยบายไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น ถ้าเราคิดว่านโยบายควรมาจากฐานเสียงในพื้นที่ ก็ควรจะมีเวลาในการร่างนโยบาย ให้โอกาสสื่อมวลชน นักวิชาการท้องถิ่นทำงาน แต่ตอนนี้โอกาสตรงนี้น้อยมาก นโยบายส่วนใหญ่ยังเกิดจากทีมงานผู้สมัครมากกว่าจะรับฟังเสียงจากพื้นที่

 

ปรับกลไกทางการเมือง-สร้างประชาคมท้องถิ่น เพื่อการกระจายอำนาจที่แท้จริง

 

ผมเสนออนาคตของการกระจายอำนาจ 2 ส่วน ส่วนแรกในเชิงกลไกทางการเมือง อีกส่วนในเชิงการสร้างประชาคมท้องถิ่น

เชิงกลไกทางการเมืองประเด็นแรก เป็นประเด็นที่ใครๆ ก็เสนอ คือส่วนกลางต้องปล่อยมือจากการควบคุมอย่างเข้มงวด ให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้น ทั้งในด้านการบริหารการปกครอง ลด ละ เลิกการที่มหาดไทยเข้ามามีอำนาจเหนือ ชี้นิ้วสั่งให้ทำเป็นมดงาน และในด้านการคลัง เพราะคนที่อยู่นอกองค์การท้องถิ่นจะไม่รู้เลยว่าการเบิกจ่ายต่างๆ แก่ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และระบบราชการทุกวันนี้ถูกบีบโดยสตง. ซึ่งเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะปี 2561 มีเคสที่ สตง.ไม่อนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณฉีดพิษสุนัขบ้า แล้วปีนั้นก็เกิดการระบาดของพิษสุนัขบ้าอย่างมหาศาล นี่คือการใช้ระเบียบมาจับและตีความแคบมากๆ จนท้องถิ่นทำงานยาก ผมคิดว่าเราต้องมีอิสระทางด้านการคลังมากกว่านี้

ประเด็นที่สอง คือปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการ ยุบไปเลย แล้วให้ผู้ว่าฯ มาเป็นผู้ตรวจการ เป็นที่ปรึกษาให้กับนายกอบจ. ให้นายกอบจ.เป็นศูนย์กลางการบริหาร ยุบระบบภูมิภาคไป เรื่องการยุบผู้ว่านี้ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าตำแหน่งผู้ว่าฯ ยึดอยู่กับกรรมการชุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) คณะกรรมการควบคุมขนส่งประจำจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการชุดหลังเนี่ย เวลาเทศบาลหนึ่งต้องการออกแบบถนนหนทาง ก็ต้องไปเข้าบอร์ดของจังหวัด เทศบาลตัดสินใจเองไม่ได้ อบจ. ตัดสินใจไม่ได้ ดังนั้น การทำลายอำนาจผู้ว่าฯ ไม่ใช่การทำลายตัวคน แต่เป็นการทำลายการรวมศูนย์อำนาจ

ประเด็นที่สาม คือการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่น อย่างน้อยต้องเท่ากับที่รัฐธรรมนูญตั้งไว้ว่าคิดเป็นร้อยละ 35 ต่อรายได้สุทธิรัฐบาล แต่ทุกวันนี้ หลังจากปี 2549 ที่มีรัฐบาลขิงแก่เข้ามาแก้ว่าไม่ต้องเป็นไปตามนั้นก็ได้ ท้องถิ่นก็ไม่เคยได้รับเงินเท่าที่ควรจะได้เลย ปัญหาที่เราบอกว่าท้องถิ่นมีงบน้อยก็มาจากตรงนี้ด้วย

ประเด็นที่สี่ การกระจายอำนาจต้องหมายถึงจินตนาการด้วย จินตนาการที่คนหลายคนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ทำอย่างไรให้การเรียนรู้การทำงานของท้องถิ่น touch กับนักเรียนนักศึกษา ทุกวันนี้เรามีประชุมสภาเทศบาล มีประชุมสภาอบจ. ผมคิดว่าเป็นไปได้นะที่จะพานักเรียนนักศึกษาเข้าไปดูว่าเขาพูดอะไรกัน มันเป็นประชาธิไตยที่ใกล้มากๆ และทำอย่างไรให้สื่อมวลชนท้องถิ่นตรวจสอบการทำงานของเทศบาลแบบที่สำนักข่าวระดับประเทศตรวจสอบการทำงานของรัฐ

ประเด็นที่ห้า อำนาจการจัดการพื้นที่ เป็นไปได้ไหมที่จากเดิมกรมธนารักษ์จะเก็บเงินค่าเช่าพื้นที่ต่างๆ เข้าส่วนกลางจะแบ่งอำนาจส่วนหนึ่งมาอยู่ที่อบจ. ให้เงินเข้าอบจ. หรือเขตเทศบาลเพื่อนำไปใช้ด้วย

ประเด็นสุดท้าย คือการเลือกตั้งท้องถิ่นควรจะเป็นแหล่งผลิตบุคลากร ผลิตนโยบายจากท้องถิ่นขึ้นไปสู่ระดับชาติ แบบที่เราเห็นในอเมริกา เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ที่นายกอบจ.ต่างๆ ขึ้นไปเป็นนักการเมืองระดับประเทศ คนเหล่านี้จะมีศักยภาพในการบริหารทรัพยากรระดับหนึ่ง มีประสบการณ์ ถ้าทำได้ ประเทศไทยจะมีตัวเลือกนักการเมืองที่ทำงานเป็นมากขึ้น

ส่วนเรื่องการสร้างประชาคมท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาคม ข้อแรก ผมคิดว่าสถาบันการศึกษาระดับท้องถิ่นควรได้ทำงานมากกว่านี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ของเรามีทั้งรัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์การเมือง แทบทุกที่ แต่ทุกวันนี้กลับไม่ได้ทำงานมากเท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด

เราสามารถทำโพลระดับท้องถิ่น สามารถสำรวจความนิยมของตัวนักการเมือง ความนิยมของนโยบาย ความต้องการของคน ผมว่าสิ่งเหล่านี้ยังขาดมากๆ ในระดับท้องถิ่น อีกทั้งเราไม่มี agenda ที่เกิดจากนักวิชาการท้องถิ่น ไม่มีโจทย์ที่นักวิชาการท้องถิ่นคิดขึ้น ทั้งที่ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่นักวิชาการท้องถิ่นจะทำผ่านการเมืองได้โดยที่ไม่ต้องเป็นนักการเมืองเอง เรามีภารกิจอีกมากที่สามารถทำได้เพื่อท้องที่ เช่น ทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยเชิงปริมาณ ที่หลากหลาย

ข้อสอง คือกระตุ้นให้สื่อมวลชนท้องถิ่นติดตามงานท้องถิ่น ติดตามนโยบาย รายงานการประชุมสภาท้องถิ่น หรือนำรายงานการประชุมจังหวัดทุกเดือนมาวิพากษ์ ซึ่งตรงนี้นักวิชาการก็มีบทบาทได้โดยตรงเช่นกัน

ข้อสุดท้าย คือเรื่องแรงงาน ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรามักพูดถึงนายทุนอย่างเดียว ไม่นับแรงงานเป็นตัวแปรเลย ดังนั้น ผมคิดว่าเราต้องตั้งสิ่งที่เรียกว่า สภาแรงงานและสวัสดิการ เพื่อสร้างสมดุลภายในจังหวัด จะขึ้นตรงกับ อบจ. หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่คนเหล่านี้จะช่วยพิจารณาเรื่องการขึ้นค่าจ้าง สวัสดิการ รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแรงงานต่างๆ เป็นองค์กรกลางที่ไม่ใช่กรมแรงงาน ซึ่งดีไม่ดีคนเหล่านี้อาจให้ความรู้จนพัฒนากันเป็นสหภาพแรงงานหรือคุ้มครองแรงงานในท้องถิ่นได้ด้วย

ไม่อย่างนั้นถ้าพูดเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่มองแรงงาน สุดท้าย พวกเขาจะตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีนายทุนอยู่เหนือเสมอ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save