ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
20 ธันวาคม 2563 นี้ คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งกำลังจะได้ตบเท้าเข้าคูหาเพื่อเลือกตั้งอบจ. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบหลายปีนับตั้งแต่การรัฐประหารของคณะคสช. การเลือกตั้งอบจ. ครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประชาชนจะได้วาดภาพท้องถิ่นแบบที่ตัวเองอยากเห็นผ่านระบบเลือกตั้งและนโยบายของผู้สมัคร และเป็นช่วงเวลาที่ตอกย้ำว่าการเมืองเป็นอำนาจที่ถูกกระจายสู่คนทุกคน ไม่ใช่แค่ในสภา และไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร
ในภาคใต้ ดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แวดล้อมด้วยเมืองท่องเที่ยว พร้อมด้วยพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ดินแดนแห่งนี้เป็นอีกพื้นที่ที่น่าจับตาว่าภาพของการเมืองท้องถิ่นจะออกมาเป็นอย่างไร นโยบายสาธารณะแบบไหนที่จะตอบโจทย์คนใต้อย่างแท้จริง
101 สนทนากับ ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยพลวัตเศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่นของภาคใต้หลังจากการเลือกตั้งท้องถิ่นถูกจำกัดมาหลายปี ความต้องการของคนพื้นที่ แนวทางของผู้สมัครและนโยบายสาธารณะ ไปจนถึงอนาคตของนโยบายกระจายอำนาจ
**หมายเหตุ** – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 Policy Forum #9 : จับตาการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563 วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00-16.30 น.
ภาพก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น: นโยบายแบบรวมศูนย์ และ การกระจายอำนาจที่ไร้ทิศทาง
ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือในยุคที่คสช.ยึดอำนาจเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ภาคใต้น่าจะเป็นหนึ่งในภาคที่แสดงให้เห็นนโยบายแบบท็อปดาวน์หรือแบบรวมศูนย์ได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรื่องท่าเรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือเรื่องร้อนๆ ล่าสุดอย่างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในด้านหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการกระจายอำนาจของเรายังไม่ไปไหน และเมื่อช่องทางถูกบล็อกไม่ว่าจะเป็นระดับ อบจ. หรือระดับอื่นๆ จึงทำให้ประชาชนไม่มีที่พึ่งในการสื่อสาร หรือไม่มีช่องทางส่งเสียงว่านโยบายต่างๆ ควรจะทำหรือไม่ทำอย่างไร
ในอีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นข้อดีว่า ภาคที่มีพลวัตในช่วงก่อนเลือกตั้งท้องถิ่นกลายเป็นภาคประชาสังคมแทน เช่น การที่คนรุ่นใหม่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายส่วนกลางซึ่งใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงไปกับสิ่งก่อสร้าง ทำให้พวกเขาจับกลุ่มกันและใช้วิธีในเชิงการวิจัยไปตรวจสอบ และนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปถกเถียงหรือคัดค้านนโยบายจากส่วนกลาง คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคมและพรรคการเมืองใหม่ๆ กลายเป็นกลุ่มคนที่พูดปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น การศึกษา การกระจายอำนาจ ขณะที่คนที่เห็นโลกมานาน เห็นความชั่วร้ายของการรวมศูนย์อำนาจ กลับพูดถึงน้อยมาก
ถ้าเกิดการเลือกตั้ง อบจ. ขึ้น อย่างน้อยๆ จะเป็นช่องทางในการส่งเสียงให้กับประชาชน แต่อาจคาดหวังได้ยากหน่อย เพราะการกระจายอำนาจในประเทศเรายังไม่มีทิศทางและคลุมเครือ อีกทั้งยังมีนโยบายแบบท็อปดาวน์ออกมาจำนวนมากโดยไม่สนใจว่าภาคประชาชนและท้องถิ่นจะคิดอย่างไร จนกลายเป็นเหตุผลให้ภาคประชาชนไม่รู้สึกว่า อบจ. ตอบโจทย์ในปัญหาใหญ่ๆ คนรู้สึกโหยหาการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยนอกเหนือไปจากเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น และคิดถึงเรื่องการกระจายอำนาจมากขึ้น
ผมรู้สึกว่ายังไม่มีใครพูดเรื่องการกระจายอำนาจอย่างจริงจังรวมถึง อบจ. ด้วย ยิ่งในช่วงโควิดระบาด เราจะเห็นว่า อบจ. กับภาคประชาชนหลายแห่งในภาคใต้ต้องการนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่น โดยพยายามดึงนักวิชาการต่างๆ มาเพื่อเสนอนโยบาย คล้ายๆ ว่าอยากจะจัดการตัวเองมากขึ้น เพราะเห็นความชั่วร้ายของการรวมศูนย์มาเยอะ เท่าที่ผมได้ลงพื้นที่หลายแห่งเพื่อทำวิจัย ทั้งกระบี่ ภูเก็ต หรือ 3 จังหวัด คนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ล้วนมีความต้องการเชิงนโยบาย เพียงแต่นโยบายแบบรวมศูนย์ทำให้เงินถูกนำไปใช้กับส่วนกลางเยอะ การตอบสนองในเชิงนโยบายให้กับท้องถิ่นจึงเป็นไปได้ยาก
สิ่งที่เราต้องคุยกันต่อไปคือ มี อบจ. แล้วยังไงต่อ ขอบเขตอำนาจหน้าที่และขอบเขตอำนาจทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรูปแบบอย่างไร
คนใต้ต้องการคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดี แต่ อบจ. ตอบโจทย์หรือไม่ ?
ถ้าแบ่งโซนภาคใต้ออกเป็น โซน 3 จังหวัด โซนจังหวัดที่เลยขึ้นมาหน่อยอย่าง สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และโซนเมืองท่องเที่ยว ความต้องการก็จะแตกต่างกันในภาพรวม
นอกเหนือจากความแตกต่างระหว่างคนที่อยู่ในเมืองและนอกเขตเมือง และความต้องการของคนแต่ละเจเนอเรชันที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีความแตกต่างระหว่างคนกลุ่มที่ยึดโยงกับอำนาจนโยบายส่วนกลาง และกลุ่มภาคประชาสังคมที่พยายามจะแก้ปัญหาที่เกิดจากนโยบายส่วนกลางต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเกือบทุกคนมองว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะช่วงโควิด สินค้าส่งออกของภาคใต้ตั้งแต่ยาง-ปาล์ม ไปจนถึงบริการการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาเยอะ ประเด็นเรื่องยาง-ปาล์มก็ยังไม่มีไอเดียที่จะมาแก้ปัญหา แม้แต่มหาวิทยาลัยก็ยังตีบตันในการนำเสนอนวัตกรรมและแนวทางว่าจะให้เกษตรกรไปทำอะไร
ปัญหาเชิงโครงสร้างอีกอย่างคือ ประเทศไทยไม่มีทิศทางในการลงทุนทางด้านความรู้ หรือ การวิจัยนวัตกรรม ในขั้นที่สามารถต่อยอดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้สูงขึ้น เราใช้จ่ายอย่างไม่เห็นค่าเสียโอกาส นึกจะซื้ออาวุธก็ซื้อ ลักษณะแบบนี้ทำให้ประชาชนภาคใต้เริ่มตั้งคำถามว่าปัญหาเชิงเศรษฐกิจของตัวเองจะแก้ได้ในระดับไหน สังเกตได้ว่าคนจะพุ่งหาส่วนกลางกันหมด เพราะรู้สึกว่า อบจ. แก้ปัญหาราคายางไม่ได้ จะขอประกันราคาก็ต้องพุ่งไปที่กระทรวง จะแก้ปัญหาเรื่องท่องเที่ยวก็ต้องเจรจากับส่วนกลาง
ผมอยากยกตัวอย่างจังหวัดที่มีนโยบายโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราจะพบว่า อบจ. และภาคประชาสังคมที่คัดค้านนโยบายส่วนกลาง มีลักษณะที่เป็นเนื้อเดียวกันระดับหนึ่ง เพราะเขาทำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเข้ามา แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง และยึดโยงกับอำนาจส่วนกลาง ก็ยังสนับสนุนนโยบายโรงไฟฟ้า
บ้านเราไม่มีกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีกลไกตรงกลางที่ช่วยถอดรหัสให้คนทั้งสองกลุ่มว่า คุณสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะอะไร ความชั่วร้ายในการรวมศูนย์อำนาจจึงเป็นการที่ยิงนโยบายเดียวมา แล้วบอกได้แค่ว่าเอาหรือไม่เอา แต่ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ ถ้าคุณสนับสนุนนโยบายนี้เพราะอยากได้การจ้างงานหรือความมั่นคงด้านพลังงาน จะต้องมีการเสนอทางเลือกว่ามีอะไรบ้าง ถ้ามีหน่วยงานที่ศึกษาปัญหาต่างๆ ทางเลือกก็จะหลั่งไหลเข้ามา และมีการวิเคราะห์ต่างๆ ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม
การมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นช่องทางขั้นพื้นฐานในการสื่อสารเพื่อต่อยอดความต้องการของประชาชน คนที่มาทำหน้าที่นี้อาจเป็นชาวบ้านที่อาสามาสมัครเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น คนเหล่านี้มีคอนเนกชัน การศึกษาใช้ได้ มีเครือข่ายเพื่อนฝูงเยอะ เพราะฉะนั้นบทบาทในการเป็นปากเสียงคัดง้างกับนโยบายรวมศูนย์ก็มีพลังระดับหนึ่ง
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ความต้องการในเรื่องทั่วไปของท้องถิ่น คนจะแคร์เรื่องคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของเขา เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำ เรื่องเหล่านี้เป็นคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ควรจะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว แต่กลายเป็นเรื่องที่ราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางเป็นคนจัดการ ท้องถิ่นไม่มีความเป็นเจ้าของ ทำให้ประชาชนต้องคิดว่าความต้องการของพวกเขาต่อเรื่องการศึกษา พื้นที่สาธารณะ สิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตอบสนองได้ไหม เขาไม่ได้ไร้เดียงสาในทางการเมือง เขารู้ว่า อบจ. ทำได้เท่านี้แหละ งบก็มีเท่านี้แหละ นโยบายที่นักการเมืองท้องถิ่นอยากจะเสนอเองก็ถูกจำกัดไว้ด้วยขอบเขตอำนาจของเขา แม้เขาอยากจะทำมากกว่านี้ เขาก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าจะทำได้จริง
ผมคิดว่าถ้าเราอยากจะให้การเมืองท้องถิ่นพัฒนาจริงๆ การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ ตอนผมลงพื้นที่ไปทำวิจัยที่ภูเก็ตและกระบี่ หลายนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มมาจาก อบจ. ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะปกติ อบจ. ก็จะเน้นใช้งบประมาณไปกับเรื่องก่อสร้าง แต่เมื่อ อบจ. ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งยึดโยงกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยว คนก็เลยเห็นภาพว่าประเด็นใหญ่ๆ แบบนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ทำได้
ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ถ้าเป็นชาวบ้านที่เขาไม่มีประเด็นเซนซิทีฟเรื่องความมั่นคง เขาก็อยู่เหมือนพวกเราปกติ จริงๆ แล้วเขาต้องการสิ่งที่ไม่ต่างจากเรา เขาต้องการเศรษฐกิจที่ดี ต้องการการพัฒนาพื้นที่โดยสอดคล้องกับทรัพยากรของเขา หลายนโยบายที่ลงไปอาจจะยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยเขายังไง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงโควิด แรงงานที่ไปทำงานที่มาเลเซียต้องกลับบ้าน นโยบายรัฐอันหนึ่งที่ลงไปคือการพัฒนาทั้งโซนให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ถ้าเราไปดูจะพบว่าแรงงานที่ไปทำงานที่มาเลเซีย จริงๆ พวกเขาทำงานในภาคบริการหรือภาคเกษตรกรรม พอกลับบ้านมาภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้รองรับพวกเขา แต่เป็นภาคประมงและการค้าขายในท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าคนยังมองข้ามสิ่งที่ต่อยอดจากท้องถิ่นได้
3 กลุ่มผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ. ในภาคใต้
ผมพบว่าผู้สมัครเลือกตั้งจะเสนอนโยบายแบบกลางๆ ซึ่งทำให้ได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนที่หลากหลายกว่าการเสนอนโยบายที่ถูกใจฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ขนส่งมวลชน การศึกษา การท่องเที่ยว อาจจะมีเรื่องภัยพิบัติเพิ่มเข้ามา เพราะภาคใต้มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม แต่ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องยากๆ อย่างเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ปัญหายาง-ปาล์มแก้ยังไง เพราะเขารู้ว่าขอบเขตอำนาจของท้องถิ่นไปไม่ถึง เขาก็เลยเลือกไม่พูด ด้วยเหตุนี้ประชาชนหลายคนจึงเลือก อบจ. จากความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือการต่อติดเชิงนโยบาย การเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายพื้นที่จึงยังไม่ได้ตัดสินใจจากนโยบายสาธารณะ
แต่หนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือมีผู้สมัครใหม่ๆ ที่เริ่มพูดเรื่องโครงสร้างบ้างแล้ว เห็นได้ชัดตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหลายคนก็ได้คะแนนเยอะ แม้ว่าสุดท้ายจะแพ้ไป แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีคนส่วนหนึ่งไม่ได้เลือกตั้งโดยใช้เหตุผลด้านสายสัมพันธ์ หัวคะแนน หรือฐานเสียงเดิม มีกลุ่มคนที่เลือกด้วยเหตุผลใหม่ๆ อาจจะเป็นกลุ่มคนที่เสพข่าวสารหลายด้าน หรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้ความเป็นไปของส่วนกลาง
ในการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้มีกลุ่มผู้สมัคร อบจ. 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่ 1 คือผู้ที่ไม่ได้เสนอตัวว่าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง อาจเป็นคนที่อยู่มานาน เป็นคนที่ประชาชนรู้จักดีและเห็นผลงานแล้วอยู่แล้ว มักจะใช้ชื่อกลางๆ โดยไม่มีพรรคการเมืองแปะป้ายไว้
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผู้สมัครซึ่งยึดโยงกับพรรคการเมือง เช่น ผู้สมัครที่ติดแบรนด์พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตีตลาดช่วงเลือกตั้ง ส.ส. ได้หลายที่นั่ง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์หน้าแตกไปหลายพื้นที่ ส่วนทีมของประชาธิปัตย์ก็มีผู้สมัครหลายจังหวัดทีเดียว
พอการเลือกตั้งครั้งนี้ประกาศค่อนข้างกระชั้นชิด ผู้สมัครจึงมีเวลาน้อยในการหาเสียง แต่เป็นที่สังเกตว่าหลายพื้นที่มีป้ายหาเสียงบางป้ายที่อยู่มานานแล้ว เขียนชื่อระบุว่าเป็น ‘ว่าที่ผู้สมัคร’ พูดง่ายๆ ว่าเขาเปิดตัวมานานแล้ว บางคนได้หาเสียงและไปพบปะประชาชนล่วงหน้า ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียมกันในเชิงข้อมูลข่าวสารภายใน ผู้สมัครบางพรรค เช่น พรรคก้าวหน้า จะมีเวลาน้อยในการเจาะกลุ่มคน เป็นความเสียเปรียบของผู้สมัครหน้าใหม่พอสมควร ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เฉพาะครั้งนี้ แต่เป็นมานานแล้ว
กลุ่มที่ 3 คือ ผู้สมัครอิสระ สิ่งที่ผมสังเกตคือถ้าเราไปดูวุฒิการศึกษา จะเห็นว่าเขาเรียนจบกันดีมาก อาชีพก็ค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่น่าสนใจก็คือบางคนมาสมัครโดยรู้อยู่แล้วว่าแพ้ แต่แค่อยากออกมาส่งเสียง อยากแสดงออกในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะผู้สมัครที่พยายามยึดโยงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือบางคนก็ไม่ได้มองแค่การเลือกตั้งครั้งนี้ครั้งเดียว กระทั่งผู้สมัครที่ติดแบรนด์พรรคการเมืองก็จะหาเสียงโดยมีคำพูดบางอย่างที่สื่อถึงนโยบายของพรรคใหญ่ คล้ายๆ เป็นการหาเสียงล่วงหน้าให้การเลือกตั้งที่ใหญ่กว่า
ถ้าถามว่าใครจะมาแรงในรอบนี้ ในภาพรวมจะเห็นว่าสายพลังประชารัฐค่อนข้างมีสายสัมพันธ์ทางอำนาจ ผมจึงคิดว่าสายพลังประชารัฐน่าจะตีสายประชาธิปัตย์ได้มากขึ้น แต่ในบางจังหวัดผมเชื่อว่ามีโอกาสได้คนเดิม เช่น ในฝั่งอันดามัน หรือ 3 จังหวัด
ถึงเวลาถกเถียงและสร้างกลไก: การกระจายอำนาจที่ทำได้จริงในมุมมองเศรษฐศาสตร์
ในมิติเศรษฐศาสตร์ นิยามการกระจายอำนาจคือการจัดบริการสาธารณะไปที่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอิสระ เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีโรดแมป (roadmap) อย่างชัดเจนว่าจะกระจายอำนาจอย่างเป็นขั้นตอนอย่างไรบ้าง ตัวอย่างจากต่างประเทศที่เห็นได้ชัดคือวิธีการพูดคุยว่า บริการสาธารณะอะไรบ้างที่อำนาจควรไปอยู่ที่ท้องถิ่นได้แล้ว
ช่วงที่ประเทศไทยพูดเรื่องการกระจายอำนาจแรกๆ ในปี พ.ศ.2540 จะพูดถึงการศึกษาเยอะ แต่สุดท้ายการศึกษาก็ยังรวมศูนย์เหมือนเดิม กลับกันในต่างประเทศ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่กระจายสู่ท้องถิ่น ท้องถิ่นมีโอกาสจัดการทั้งเรื่องหลักสูตร การรับครู คุณภาพครู ยกตัวอย่างเช่น ถ้า 3 จังหวัดสามารถกระจายอำนาจด้านการศึกษาได้จริงๆ ครู 3 จังหวัดอาจเป็นผลผลิตจากท้องถิ่น และมีลักษณะบางอย่างที่ตอบโจทย์ เช่น รู้ภาษามลายู แต่ถ้าเราไม่ได้กระจายอำนาจเราก็จะพบว่าครูใน 3 จังหวัดเป็นคนที่เรียนในกรุงเทพฯ และมาอยู่ท้องถิ่นโดยไม่เข้าใจวัฒนธรรม
สิ่งเหล่านี้เราต้องถกเถียงกัน ต้องเอาขึ้นมาคุยบนโต๊ะ เช่น ถ้ามีคนบอกว่าการศึกษาไม่ควรกระจายอำนาจ เราก็ต้องดูทีละประเด็นและลงลึกในรายละเอียดไปเลยว่าเหตุผลคืออะไร สังคมไทยยังไม่เคยไปให้สุด เราพูดถึงปัญหากันไปมาแล้วก็อยู่เฉยๆ กลายเป็นว่าปัญหาขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ เราต้องหารือกันได้แล้วว่าอะไรเป็นปลายทางที่ต้องกระจายอำนาจแน่ๆ แต่ในระหว่างทางอาจจะตั้งเงื่อนไขไว้ เช่น จังหวัดที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยผลิตครูได้ดี อาจจะยังไม่กระจายอำนาจมา ให้กระจายไปตามจังหวัดที่พร้อมก่อน โดยลิสต์ว่าเงื่อนไขความพร้อมคืออะไรบ้าง ผมคิดว่าเมื่อสร้างโรดแมปและกำหนดขึ้นเป็น พ.ร.บ. กระบวนการต่างๆ จะมีอายุและแผนงานที่ชัดเจน
นอกจากเรื่องการศึกษา เรื่องที่ร้อนมากๆ ในภาคใต้คือการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพยากรท้องถิ่น เช่น ทรัพยากรชายฝั่ง ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของภาคใต้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเยอะ ขณะที่รายได้จากภาคอุตสาหกรรมมีไม่ถึง 15 % เพราะฉะนั้น การพยายามดึงดันให้เกิดรายได้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีข้อกังขาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมจะเป็นการทำร้ายฐานของรายได้ไปในตัว ภาคประชาสังคมในหลายพื้นที่ของภาคใต้พยายามผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อมีการกระจายอำนาจจริงๆ คนเหล่านี้จะสามารถมีส่วนออกแบบนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นได้
ประเด็นต่อมาคือ เมื่อกระจายอำนาจทางด้านบทบาทหน้าที่แล้ว การคลังต้องตามมาและคำนวณไปด้วยกัน เช่น ถ้ากระจายอำนาจเรื่องการศึกษา ต้องกระจายงบประมาณไปเท่าไหร่
ประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและคนไม่ค่อยพูดถึงคือ เวลาเรากระจายอำนาจและลดบทบาทส่วนกลาง เราต้องสร้างระบบเพื่อทำให้เกิด ‘ภาวะการได้อย่างเสียอย่างของการใช้นโยบายสาธารณะ’ เช่น เวลากรมเจ้าท่าไปสร้างเขื่อนกันคลื่นแถวชายหาด ใช้งบประมาณร้อยล้าน ในภาวะแบบนี้ท้องถิ่นควรสามารถเสนอได้ว่าจำนวนเงินเหล่านี้เป็นค่าเสียโอกาสในการผลิตบริการสาธารณะอื่นๆ ของท้องถิ่นอย่างไร เช่น ถ้าเอางบประมาณไปถมทะเลอย่างไม่มีเหตุมีผล เมื่อทำวิจัยแล้วพบว่าเป็นการลุกล้ำพื้นที่ชายหาดในระยะยาว ดังนั้นถ้าเราไปทำอีก แปลว่าไปลดการพัฒนาส่วนอื่นๆ วิธีแบบนี้จะทำให้ท้องถิ่นเปลี่ยนใจผู้บริหารได้ง่าย ทำให้นโยบายถูกตรวจสอบได้เยอะ และเป็นการตัดวงจรของการนำเสนอนโยบายที่ไม่คิดถึงค่าเสียโอกาสของท้องถิ่น
ประเด็นสุดท้ายคือ ถ้าในอนาคตมีการกระจายอำนาจจริง เราจะพบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้เยอะ กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รายได้น้อย จะเกิดความเหลือมล้ำตามมา เราจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้ยังไง
บทหนึ่งในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมระบุในเชิงคอนเซ็ปต์ว่า บริการสาธารณะที่จัดโดยองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเศรษฐกิจในแต่ละที่ดีไม่เท่ากัน แต่องค์กรปกครองส่วนกลางสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่การช่วยโดยดึงอำนาจกลับ แต่เป็นการทำให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยบาลานซ์ เช่น ปกติแล้วถ้าจังหวัดไหนอยู่ดีกินดี ราคาอสังหาริมทรัพย์จะสูง เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้กลไกการเก็บภาษีในพื้นที่ที่รวย และเอาไป subsidize บริการสาธารณะเพื่อดึงดูดให้คนมาอยู่ในจังหวัดที่ยากจน เราสามารถออกแบบระบบที่ win-win เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้
ผมอยากจะย้ำว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่เหตุผลที่จะบล็อกการกระจายอำนาจ เรามีกลไกส่วนกลางที่แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้