fbpx
ปอกเปลือกความคิดเจเน็ต เยลเลน ว่าที่ขุนคลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ จะพาเศรษฐกิจไปทางไหน

ปอกเปลือกความคิดเจเน็ต เยลเลน ว่าที่ขุนคลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ จะพาเศรษฐกิจไปทางไหน

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง
ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ทันทีที่มีการประกาศชื่อของ ‘เจเน็ต เยลเลน’ เป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่กำลังจะเข้าสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคม 2564 ดัชนีดาวโจนส์ก็ดีดตัวขึ้นอย่างร้อนแรงจนขึ้นไปยืนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่กว่า 3 หมื่นจุด เป็นสัญญาณสะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจขานรับยินดีกับการขึ้นกุมบังเหียนของเธอกันอย่างล้นหลาม

ขณะที่นักการเมือง บุคคลในแวดวงเศรษฐศาสตร์ และสื่อหลายสำนักต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเธอคือตัวเลือกที่คู่ควรที่สุดในสถานการณ์นี้ อย่างเช่น พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อดังที่เขียนยกย่องเยลเลนในนิวยอร์กไทมส์ว่า “เรากำลังจะได้คนที่มีความรู้จริงเข้ามาวางนโยบายเศรษฐกิจ” และเยลเลนเป็นคนที่ไม่เคยลืมว่า “เศรษฐศาสตร์ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตผู้คนเป็นหลัก”

คงไม่เกินไปนักหากจะบอกว่าไม่มีใครในวงการเศรษฐศาสตร์หรือคนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจจะไม่รู้จักเจเน็ต เยลเลน

เยลเลนผ่านร้อนผ่านหนาวในแวดวงเศรษฐศาสตร์มาอย่างโชกโชน เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยล ก่อนที่จะไปเป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เป็นต้น เยลเลนเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจากการได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลบิล คลินตัน และโด่งดังที่สุดในตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระหว่างปี 2557-2561 ถือเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ และล่าสุดเธอก็กำลังจะได้เป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งเก้าอี้ขุนคลังของสหรัฐฯ

การขึ้นสู่เก้าอี้รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ของเยลเลนกำลังเป็นที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะเป็นการเข้ามาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังท้าทายทั้งสหรัฐฯ และโลกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงประเด็นอื่นๆ อย่างสงครามการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และการเปลี่ยนโฉมรูปแบบทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ก่อนที่ชาวโลกจะได้ยลฝีไม้ลายมือการบริหารจัดการเศรษฐกิจของเยลเลน บทความนี้จะพาไปกะเทาะเปลือกความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของเธอ เพื่อลองมองไปข้างหน้าว่าเธอกำลังจะพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกไปในทิศทางไหน

ลดการว่างงานคือหัวใจของเยลเลน

 

ภาพจาก Federal Reserve

 

เยลเลนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ด้วยพื้นเพที่เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง และมีโอกาสได้เห็นธุรกิจส่วนตัวของคุณพ่อที่ต้องดูแลทั้งคนงานท่าเรือและพนักงานโรงงาน เยลเลนจึงมีพื้นฐานความเข้าใจและความสนใจเกี่ยวกับชีวิตของชนชั้นแรงงานมากเป็นพิเศษ และรู้ดีว่าการว่างงานคือปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจ

ตลอดช่วงชีวิตการทำงานในแวดวงเศรษฐศาสตร์ของเยลเลน เธอเน้นย้ำแนวคิดของเธอเสมอไม่ว่าจะผ่านผลงานวิชาการ บทสัมภาษณ์ หรือปาฐกถาว่าเธอให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการว่างงานเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งประธานเฟด ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่สหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานสูงอันเป็นผลพวงจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และวิกฤตยูโรโซน เยลเลนเลือกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย พยายามคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สานต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) ที่เธอเคยร่วมออกแบบไว้ตั้งแต่สมัยเบน เบอร์นันเก ประธานเฟดคนก่อนหน้า ด้วยจุดประสงค์หลักที่เธอเผยไว้ชัดเจนว่าเพื่อผลักการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดอัตราการว่างงานให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของเยลเลนในตอนนั้นก็สร้างความกังวลใจในหมู่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งว่าจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในกลุ่ม “เหยี่ยวเงินเฟ้อ” (inflation hawk) ซึ่งหวาดกลัวปัญหาเงินเฟ้อเสียจนให้ความสำคัญแต่การมุ่งกดอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำเป็นหลัก เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่เยลเลนเป็นสายพิราบเงินเฟ้อ (inflation dove) ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายอื่นนอกจากการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาในการดำเนินนโยบายด้วย เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งการรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไม่ได้สร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในระดับที่น่าวิตกแต่อย่างใด

ความมั่นคงในจุดยืนนี้ของเธอมีมาตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นประธานเฟด อย่างในปี 2538 ที่เธอเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้ว่าการเฟดไม่นาน เธอเคยกล่าวว่าในบางครั้ง เฟดควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการว่างงานสูงเป็นอันดับแรกมากกว่าที่จะไปควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เธอยังพูดด้วยว่า “สำหรับฉันแล้ว การดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาดและมีมนุษยธรรมก็คือการยอมปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นบ้าง ถึงแม้ในตอนนั้นเงินเฟ้อจะสูงเกินกรอบเป้าหมายแล้วก็ตาม”

เยลเลนยังมีงานเขียนทางวิชาการมากมายที่สะท้อนถึงแนวคิดของเธอเกี่ยวกับตลาดแรงงาน งานเขียนที่จัดว่าโด่งดังที่สุดและได้รับการอ้างอิงมากที่สุดก็คือ The Fair Wage-Effort Hypothesis and Unemployment (1990) ซึ่งเธอเขียนร่วมกับจอร์จ อาเคอร์ลอฟ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล สามีของเธอ และยังมีงานเขียนก่อนหน้าที่นำเสนอแนวคิดเดียวกันได้แก่ Fairness and Unemployment (1988) ที่เขียนร่วมกับอาเคอร์ลอฟเช่นกัน และ Efficiency Wage Models of Unemployment (1984) ที่เธอเขียนเพียงคนเดียว

ใจความสำคัญของผลงานวิชาการของทั้งคู่คือ นายจ้างโดยส่วนมากมักจ่ายค่าจ้างแรงงานสูงกว่าค่าจ้างปกติในตลาด เพราะเชื่อว่าจะช่วยดึงดูดให้แรงงานมีผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลดีต่อนายจ้าง เนื่องจาก ลูกจ้างขยันทำงานมากขึ้นเพราะไม่อยากสูญเสียงานที่ได้รับค่าจ้างส่วนเกินเช่นนี้ อัตราการเปลี่ยนงานลดลง คุณภาพของผู้สมัครงานสูงขึ้นโดยเฉลี่ย และขวัญกำลังใจของลูกจ้างดีขึ้นเพราะรู้สึกว่าได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม แนวคิดนี้เรียกว่า “ค่าจ้างประสิทธิภาพ” (efficiency wage) เยลเลนและอาเคอร์ลอฟใช้หลักจิตวิทยาและสังคมวิทยามาผสมผสานกับหลักเศรษฐศาสตร์ในการสร้างโมเดลอธิบายตลาดแรงงานของพวกเขาอย่างน่าสนใจ

แต่เมื่อลูกจ้างได้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างตลาดตามแนวคิดค่าจ้างประสิทธิภาพ ตลาดแรงงานก็จะไม่เคลียร์ โดยจะมีแรงงานที่ต้องว่างงานโดยไม่เต็มใจเสมอ เพราะความต้องการจ้างงานของนายจ้างน้อยกว่าจำนวนคนที่อยากเข้าทำงาน ดังนั้น การว่างงานจึงเป็นสภาพธรรมชาติของตลาดแรงงาน ตลาดไม่สามารถลดการจ้างงานได้โดยตัวของมันเอง ต้องมีกลไกภายนอก เช่น นโยบายรัฐ เข้าไปช่วยทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

ภาครัฐต้องช่วยจัดการเศรษฐกิจ

 

เยลเลนคือนักเศรษฐศาสตร์สาย Keynesian ที่เชื่อว่าภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจ เยลเลนได้ทำงานเขียนที่ได้อธิบายและต่อยอดแนวคิดของสำนัก Keynesian หลายชิ้น เช่น Can Small Deviations from Rationality Make Significant Differences to Economic Equilibria? (1985), Rational Model of the Business Cycle (1987) และ On Keynesian Economics and the Economics of the Post-Keynesians (1988) เป็นต้น

เยลเลนยังมีงานเขียนอีกหลายชิ้นที่สะท้อนชัดเจนว่าเธอเชื่อมั่นในแนวคิด Keynesian อย่างเช่น East Germany in from the Cold: The Economic Aftermath of Currency Union (1991) ซึ่งเยลเลนเขียนร่วมกับอาเคอร์ลอฟ ศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ของเยอรมนีตะวันออกที่เจอกับภาวะช็อกทางเศรษฐกิจหลังรวมประเทศกับเยอรมนีตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจค่อนข้างย่ำแย่และการว่างงานสูง เยเลนและอาเคอร์ลอฟเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าภาครัฐจะต้องอีดฉีดงบโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและสร้างงานให้ประชาชน รวมทั้งยังเสนอให้ภาครัฐให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือการออกค่าจ้างเพื่อรักษาตำแหน่งงานให้กับแรงงานในประเทศ

งานเขียนอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ Stabilization Policy: A Reconsideration (2004) ซึ่งเยลเลนและอาเคอร์ลอฟโต้แย้งแนวคิดที่ว่าภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจใดๆ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะในท้ายที่สุดเศรษฐกิจจะดีดตัวกลับขึ้นมาในสัดส่วนที่เท่ากันจนไปหักล้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงตกต่ำได้พอดี แต่เยลเลนและอาเคอร์ลอฟแย้งว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาในสัดส่วนที่เท่ากับมูลค่าความเสียหายในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และยังบอกว่าการตกงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสร้างความเสียหายให้กับแรงงานหนักกว่าการถูกจ้างงานในช่วงเศรษฐกิจดี เพราะฉะนั้นภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจ้างงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

ผลงานวิชาการเหล่านี้พิสูจน์ว่าเยลเลนเชื่อมั่นหนักแน่นขนาดไหนกับแนวคิดที่ว่าภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทจัดการปัญหาเศรษฐกิจ เธอนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างจริงจังขณะที่เป็นประธานเฟด โดยได้ใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอย่างหนักหน่วงเข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและลดการว่างงานอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และเธอก็ทำให้เป็นที่ประจักษ์ได้ว่านโยบายของเธอเห็นผล อัตราการว่างงานยืนสูงอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงไปอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเธอสิ้นสุดวาระในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขณะที่เงินเฟ้อก็ไม่ได้พุ่งสูงอย่างที่หลายคนกังวล โดยแกว่งอยู่รอบๆ กรอบเป้าหมายของเฟดที่อัตราร้อยละ 2 มาตลอด โดยรวมแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้ดีต่อเนื่องในสมัยของเธอ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในห้วงเวลานี้กำลังกลับมาป่วยพิษไข้อีกครั้ง คนอเมริกันเกินกว่า 10 ล้านคนกำลังไม่มีงานทำ แน่นอนว่ารัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกสหรัฐฯ ที่กำลังเข้ามารับช่วงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้จะไม่ยอมอยู่เฉย

 

จากพิราบการเงิน สู่พิราบการคลัง

 

ภาพจาก Federal Reserve

 

การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ คนใหม่อย่างเป็นทางการในต้นปีหน้ามีความเหมือนกับตอนที่เธอเข้าสู่เก้าอี้ประธานเฟดอย่างหนึ่งคือเธอต้องเข้ามาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการว่างงานที่แกว่งอยู่ระดับร้อยละ 3-4 ก่อนหน้านี้พุ่งขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 14.7 ในเดือนเมษายน 2563 แม้อัตราว่างงานจะค่อยๆ ลดลงมาจนอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในเดือนล่าสุด แต่ก็ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่

นี่จึงเป็นอีกครั้งที่เยลเลนถูกคาดหมายว่าจะขี่ม้าขาวมากอบกู้เศรษฐกิจ แก้ปัญหาการว่างงาน แต่ความต่างจากครั้งที่แล้วก็คือว่าครั้งนี้อาวุธของเธอจะไม่ใช่นโยบายการเงิน แต่เป็นนโยบายการคลัง จากเดิมที่เธอต้องระวังเงินเฟ้อเมื่อใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ คราวนี้เธอจะต้องระวังว่ามาตรการอัดฉีดการใช้จ่ายทางการคลังจะก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมหาศาล ตามด้วยการก่อหนี้สาธารณะก้อนโตหรือไม่

หากย้อนมองแนวคิดของเยลเลนเกี่ยวกับเรื่องการขาดดุลงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะของสหรัฐ เยลเลนเคยออกมาแสดงความกังวลหลายครั้งถึงการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นและการก่อหนี้ที่ไม่ยั่งยืน เธอยังเคยเสนอให้รัฐบาลลดภาษีและตัดการใช้จ่ายงบประมาณด้วยในบางช่วงเวลา ขณะที่ปัจจุบันนี้ อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 98 จากปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 79 ด้วยสาเหตุจากการทุ่มงบประมาณช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี และคาดการณ์ว่าจะขึ้นไปถึงร้อยละ 104 ในปี 2021 เท่ากับว่าสหรัฐฯ กำลังจะมีหนี้สาธารณะสูงกว่ารายได้ของประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เยลเลนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อบ่อยครั้ง เรียกร้องให้ภาครัฐอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักจากวิกฤตโควิด-19 ถึงแม้จะมีการออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมาแล้วจำนวนหลายล้านล้านบาทตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่เยลเลนก็มองว่านั่นยังไม่เพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจและแก้ปัญหาการว่างงาน เพราะหลายมาตรการก็กำลังทยอยสิ้นสุดลง และการขยายมาตรการก็ดูติดขัดและเป็นไปอย่างล่าช้า

เยลเลนได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีใจความว่าตราบใดที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดลง การใช้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินก็ยังคงต้องมีต่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากเครื่องมือนโยบายการเงินและการคลัง เยลเลนมองว่าที่ผ่านมาเฟดได้ใช้นโยบายการเงินไปเยอะมากแล้วและนโยบายการเงินเองก็มีข้อจำกัด ดังนั้นภาครัฐจะต้องออกนโยบายการคลังมาช่วยมากกว่านี้ด้วยอีกแรงหนึ่ง นอกจากนี้เธอยังบอกด้วยว่าสหรัฐฯ ยังสามารถแบกหนี้สาธารณะได้มากกว่านี้อยู่ เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของประเทศอาจอยู่ในระดับต่ำไปอีกหลายปี

นี่บ่งบอกว่าเธอยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนมากกว่าอยู่เหมือนเดิม และเธอยังไม่ได้แปลงกายเป็นรัฐมนตรีคลังสายเหยี่ยวที่มุ่งจำกัดควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างเข้มข้นแต่อย่างใด

ทันทีที่ขึ้นสู่ตำแหน่งขุนคลัง เยลเลนมีแนวโน้มที่จะผลักดันการออกมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจขนานใหญ่เพิ่มเติมเป็นภารกิจลำดับแรกๆ หากพิษสงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่หมดไป เราคงได้เห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ออกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกหลายระลอก ขณะที่โจ ไบเดน ก็ได้แง้มออกมาแล้วว่ารัฐบาลของเขาเตรียมที่จะผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณช่วยเหลือคนอเมริกันเพิ่มเติม

น่าจับตานโยบายเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ของอดีตประธานเฟดหญิง ผู้เคยได้ชื่อว่าเป็นสายพิราบทางการเงิน (monetary dove) ที่ไม่เชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำมากเท่ากับปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน เมื่อเธอรับบทขุนคลัง จากพิราบการเงินจะกลายเป็นพิราบการคลังที่จะผลักดันการใช้จ่ายภาครัฐขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนักหรือไม่ แล้วจะจัดการปัญหาเรื่องงบประมาณขาดดุลและหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไร

 

เยลเลนกับประเด็นสวัสดิการสังคม
และความเท่าเทียม

 

การเยียวยาเศรษฐกิจจากพิษการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่เพียงเรื่องเดียวที่เยลเลนจะต้องเข้ามาดูแลในฐานะรัฐมนตรีคลัง ยังมีประเด็นทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอีกหลายเรื่องที่เธอจะต้องเข้ามารับผิดชอบ

แนวความคิดทางเศรษฐกิจของเยลเลนนับว่าสอดคล้องกับไบเดนหลายเรื่อง นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนยกขึ้นมาบอกว่าเยลเลนคือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาผลักดันหลายนโยบายของรัฐบาลไบเดน รวมไปถึงเรื่องของการส่งเสริมสวัสดิการสังคมและความเท่าเทียม

ไบเดนได้ออกแคมเปญ Build Back Better ซึ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสวัสดิการสังคมให้กับคนอเมริกันกลุ่มต่างๆ ทั้งแรงงาน เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงวัย และคนกลุ่มอื่นๆ ที่ขาดโอกาสในสังคม รวมถึงการขจัดปัญหาความเท่าเทียมกันในสังคมในหลายมิติไม่ว่าจะในแง่รายได้ เพศ และสีผิว ไบเดนมองว่าประเด็นเหล่านี้ได้ถูกละเลยไปมากในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ และเป็นหน้าที่ของเขาที่จะกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้อีกครั้ง

ขณะเดียวกันเยลเลนก็มีความรู้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นการสร้างสวัสดิการสังคมและการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมมาเป็นทุนเดิม ซึ่งได้สะท้อนผ่านงานเขียนวิชาการบางชิ้น อย่างเช่น An Analysis of Out-of-Wedlock Childbearing in the United States (1996) ซึ่งเป็นการวิจัยเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่เกิดนอกสมรสที่เยลเลนทำร่วมกับอาเคอร์ลอฟและไมเคิล แคทส์ นักจิตวิทยา โดยให้ข้อสรุปว่าการไปตัดทอนสวัสดิการของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะจะไปซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัวกลุ่มนี้และจะเกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา

เยลเลนยังเชื่อมั่นมาเสมอว่าการทำงานด้านเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญกับชีวิตของประชาชนคนทั่วไปเป็นหลัก เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์เมื่อปี 2557 ก่อนที่เธอจะเป็นประธานเฟดไม่นานว่า “งานของเฟดไม่ควรเป็นแค่การจัดการเงินเฟ้อหรือสอดส่องดูแลระบบเศรษฐกิจโดยรวมเท่านั้น แต่ต้องช่วยให้ประชาชน ครัวเรือนทั่วไปมีความเข้มแข็ง” นี่ตอกย้ำว่าเธอเป็นคนที่เหมาะสมที่จะมาดูแลนโยบายสวัสดิการสังคมให้กับรัฐบาลไบเดนที่กำลังจะเข้มข้นกว่าสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์มาก

 

เยลเลนกับประเด็นโลกร้อน

 

ภาพจาก Federal Reserve

 

ขยับมาดูที่ประเด็นนานาชาติ ท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ต่อปัญหาโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง ไบเดนแสดงวิสัยทัศน์ออกมาชัดเจนว่าการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมาก ซึ่งถือว่าพลิกท่าทีจากสมัยของรัฐบาลทรัมป์แบบหน้ามือเป็นหลังมือ ไบเดนยังแต่งตั้งจอห์น แคร์รี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีโอบามา เป็นทูตพิเศษด้านสภาพอากาศ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะเล่นบทบาทสำคัญต่อสู้ภาวะโลกร้อน รัฐมนตรีคลังก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เยลเลนจะต้องเข้ามาผลักดันนโยบายลดโลกร้อนของไบเดนในเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเศรษฐกิจพลังงานสะอาด (clean energy economy) ที่ไบเดนโปรโมตไว้เยอะมาก

เยลเลนสนับสนุนการจัดการปัญหาโลกร้อนมายาวนาน ตอนที่เธอรับตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลคลินตัน เธอได้สนับสนุนให้สหรัฐฯ เข้าร่วมพิธีสารเกียวโตว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยยกข้อดีในเชิงเศรษฐศาสตร์หลายอย่าง และบอกด้วยว่าการแก้ปัญหานี้ในระดับโลกจะสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วม แต่ท้ายที่สุด สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ร่วมลงสัตยาบัน

ประเด็นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่น่าจับตามองสำหรับรัฐบาลไบเดนก็คือเรื่องข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่รัฐบาลทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวออก ไบเดนได้ประกาศกร้าวออกมาก่อนหน้านี้ว่าเขาจะพาสหรัฐฯ กลับสู่ข้อตกลงปารีสตามเดิม อีกทั้งจะกลับมาแสดงบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการโลกร้อนบนเวทีนานาชาติด้วย ซึ่งก็เดาได้ไม่ยากว่าเยลเลนจะสนับสนุนไบเดนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ในปี 2560 เยลเลนยังได้เข้าเป็นสมาชิกและร่วมก่อตั้งสถาบันคลังปัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Leadership Council) ระหว่างที่เป็นสมาชิก เยลเลนเคยออกมาเสนอให้มีการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ที่พูดถึงมาเป็นพิเศษคือการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีจากผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าเยลเลนจะผลักดันนโยบายการเก็บภาษีคาร์บอน หรืออาจจะรวมถึงมาตรการอื่นๆ เมื่อเธอเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง แต่ไบเดนยังไม่ได้พูดถึงไอเดียนี้มากนัก จึงต้องรอดูท่าทีจากไบเดนว่าจะผลักดันเรื่องนี้เป็นนโยบายหรือไม่

 

เยลเลนกับประเด็นการค้าระหว่างประเทศ
และสงครามการค้า

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจก็คือว่า เยลเลนจะมีนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างไร หลังจากที่รัฐบาลทรัมป์ฉีกขนบของการเป็นผู้นำการค้าเสรีของโลก ด้วยการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้น ให้ความสำคัญกับการค้าพหุภาคีน้อยลง และยังประกาศสงครามการค้าโดยเฉพาะกับจีน จนจัดว่าเป็นยุคที่การค้าโลกปั่นป่วนที่สุดครั้งหนึ่ง

เยลเลนเคยแสดงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสถาบันการเงินเครดิต สวิส (Credit Suisse) ในปี 2561 หลังจากที่เพิ่งสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งประธานเฟด เยลเลนแสดงความกังวลต่อการดำเนินนโยบายการค้าของทรัมป์อย่างหนัก เธอบอกว่ารัฐบาลทรัมป์ได้นำสหรัฐฯ เดินออกจากหลักการของการต่อต้านการกีดกันทางการค้าและการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่สหรัฐฯ ยึดถือมายาวนาน เธอมองว่านโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ทำให้โลกธุรกิจเกิดความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งสงครามการค้ากับจีนก็ส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงชาติเอเชียอีกหลายชาติที่มีห่วงโซ่อุปทานยึดโยงกับจีน และจะเป็นเหตุให้เศรษฐกิจชะงักงันทั่วโลกในที่สุด

นี่สะท้อนชัดเจนว่าเยลเลนสนับสนุนให้สหรัฐฯ กลับไปยึดคุณค่าของการส่งเสริมการค้าเสรีและพหุภาคีนิยม ซึ่งก็นับว่าสอดคล้องกับแนวคิดของไบเดน เยลเลนจะต้องพลิกนโยบายการค้าที่โดนทรัมป์แหกขนบ ให้กลับมาอยู่ในร่องในรอยอีกครั้ง อย่างไรก็ตามนโยบายการค้าระหว่างประเทศในยุคไบเดนก็ยังมีความสับสนคลุมเครืออยู่ระดับหนึ่ง ในการให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทมส์ล่าสุด ไบเดนได้เผยว่าจะยังไม่ยกเลิกกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนและข้อตกลงการค้าต่างๆ กับจีนที่ทำไว้ในสมัยทรัมป์โดยทันที โดยจะต้องมีกระบวนการทบทวนก่อน และยังบอกด้วยว่าจะยังไม่ทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับประเทศใดทั้งนั้น เพราะยังต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในสหรัฐฯ ก่อนเป็นอันดับแรก

 

ภาพจาก Federal Reserve

 

การกลับคืนสู่สังเวียนเศรษฐกิจระดับชาติของเยลเลนครั้งนี้อาจไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยที่เธอเป็นประธานเฟด ตรงที่ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคืองานการเมือง ต่างจากประธานเฟดที่เป็นอิสระจากการเมือง เยลเลนอาจต้องทำใจยอมรับอย่างหนึ่งว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่จำเป็นต้องผ่านรัฐสภา อาจจะไม่ได้เป็นดังใจหวัง นอกจากจะต้องใช้สมองไปกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจแล้ว ครั้งนี้เธอจะต้องเล่นเกมการเมืองไปพร้อมๆ กัน

หลังจากที่สอบผ่านฉลุยกับตำแหน่งประธานเฟด หญิงเหล็กอย่างเยลเลนกำลังจะเจอบททดสอบที่ยากขึ้นไปอีกขั้นในตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของประเทศที่มีอิทธิพลชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจทั่วโลก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save