กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง
คราวหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้นัดพบผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่อถึงเวลานัด ผู้แทนนายนั้นมาเข้าพบด้วยเสื้อผ้าขาดๆ พร้อมกับรอยแผลที่แขนขา แล้วอธิบายว่า ขึ้นเครื่องบินเล็กจากโคราชมาพระนคร แต่เกิดอุบัติเหตุกลางทาง ตกลงไปที่ต้นไม้ใหญ่ ตัวเขาลงไปได้โดยครูดกับต้นไม้นั่น จึงถูกกิ่งไม้เกี่ยวเสื้อผ้าและแขนขา แต่ยังคงมีสติดี จึงมองนาฬิกาข้อมือซึ่งเป็นของเขาเอง เห็นว่าใกล้เวลานัดหมายเต็มที ถ้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนจะไม่ทันกาล จึงเรียกแท็กซี่ตรงมายังที่นัดหมายทันที
เตียง ศิริขันธ์ คือชายคนที่กล่าวถึง
เขาเป็นสามัญชนคนหนึ่งในประเทศนี้ที่ยอมสละความสุขของตนเองเพื่ออุดมคติ และกระทำทุกอย่างเพื่ออุดมคตินั้นโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แม้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ มีการศึกษาที่ดี แต่เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นประโยชน์แก่ราษฎรส่วนใหญ่ ยิ่งกว่าที่จะแสวงหาความร่ำรวยทางทรัพย์ศฤงคาร
เพราะเตียงมีอุดมคตินี้เองทำให้ชีวิตของเตียง ศิริขันธ์ ยังมีความหมายสำหรับปัจจุบันและอนาคต แม้เขาจะตายจากเราไปนานแล้ว แต่เขายังคงทรงพลังอยู่เสมอในการจุดไฟแห่งความหวังให้กับผู้ที่แสวงหาถึงสังคมไทยที่ดีกว่านี้ มีสิทธิเสรีภาพกว่านี้ เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ และเป็นตัวของตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรียิ่งกว่านี้
ก่อนที่ไฟของความหวังในยุคนี้จะดับลง เรื่องราวในชีวิตของเตียงคงช่วยจุดประกายขึ้นได้บ้าง
คนที่มีโอกาสในชีวิต
เตียง ศิริขันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2452 พ่อของเขาคือ ขุนนิเทศพานิช (บุดดี) ซึ่งเป็นนายฮ้อยรับซื้อวัวควายในภาคอีสานไปขายทางพม่า แม้มิได้รับราชการ แต่ก็ได้รับบรรดาศักดิ์ ในฐานะเป็นคหบดีมีฐานะดีมากผู้หนึ่งในจังหวัดสกลนคร
เตียงชอบอ่านหนังสือมาแต่เด็ก หากไม่มีอะไรทำ เขาจะหันเข้าอ่านหนังสือแทบทุกชนิด และการขยันอ่านนี้ทำให้เขามีความรู้แปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ จนสามารถเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี และเขายังเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่งด้วย
สำหรับการศึกษาของเขา ในชั้นแรกเรียนที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกุล จนจบมัธยมต้น จากนั้นไปเรียนจบมัธยมกลางที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล แล้วจึงมาเรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศจนจบประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.-เทียบมัธยมปลาย) หลังจากนั้นเตียงได้ทุนศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม เป็นรุ่นแรกของคณะ เมื่ออายุ 22 ปี (รุ่น พ.ศ. 2473) ซึ่งสมัยนั้นคณะดังกล่าวยังไม่มีการศึกษาระดับปริญญา
ต่อมาเมื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ในปี 2480 เตียงได้สมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นตลาดวิชา แต่เรียนไม่จบ เพราะไม่มีเวลาเรียน และไม่มีเวลาไปสอบ
สามีของภรรยาคนหนึ่ง
เตียงแต่งงานกับ นิวาศน์ พิชิตรณการ ในปี 2482 มีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียวคือ วิฑูรย์
อนึ่ง มีเกร็ดอยู่ว่า ร.อ.นาถ พ่อตาของเตียง เป็นเพื่อนสนิทกับจอมพลผิน ชุณหะวัณ และนางวิง น้องสาวนางเวส แม่ยายของเขา ก็เป็นเมียของพ่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่ความสัมพันธ์นี้ ไม่ได้ช่วยให้เตียงพ้นจากน้ำมือมัจจุราชในปี 2495 แต่อย่างใด
นิวาศน์พูดถึงสามีของเธอว่า “เขาเป็นคนที่มีอุดมคติสูง จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาตลอดชีวิต เขาเป็นคนรักลูกรักเมีย … ฉันรักเขาเพราะเขาเป็นสามีที่ดีที่สุดเท่าที่สิ่งแวดล้อมจะให้โอกาสให้เขาได้”
แล้วย้อนความหลังว่า เธอชอบเตียงแต่แรกรู้จัก เพราะเขาเป็นคนเก่ง เธอยังเล่าอย่างเปิดเผยด้วยว่า “ดิฉันทราบดีว่าพี่เตียงเป็นคนเจ้าชู้ ซึ่งก็คงเป็นธรรมดาของนักการเมืองในบรรยากาศอย่างนั้น แต่พี่เตียงจะให้เกียรติดิฉันในฐานะ “ภรรยา” ของเขา ไม่ว่าเขาจะไปที่ใดหรืออยู่ต่อหน้าใคร”
ครูที่ไม่ธรรมดา
เตียงเริ่มรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ในปี 2472 ต่อมาไปเป็นครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ แล้วย้ายกลับไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ในคราวนั้นเตียงดูแลงานบริหารทั่วไป ธุรการ และปกครอง แทนอาจารย์ใหญ่คือ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ซึ่งนอกจากเป็นอาจารย์ใหญ่ ยังเป็นผู้ตรวจการศึกษาภาคด้วย สำหรับวิชาที่เขาสอนได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์
หลังจากนั้นไม่นาน เตียงพร้อมกับเพื่อนครูอีก 2 คน ถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ และถูกส่งตัวมาดำเนินคดีในกรุงเทพฯ ร่วมปี แม้เตียงไม่เคยเรียนกฎหมายมาก่อน แต่ใช้ความเข้าใจความหมายและความเป็นมาของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ กับทั้งความสามารถในการพูด มาอธิบายต่อศาล จนสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้องเขา
เตียงลาออกจากราชการในปี 2479 เพื่อทำงานหนังสือพิมพ์ในตำแหน่งบรรณาธิการ เสรีราษฎร์ ซึ่งเน้นเสรีภาพ ต้องการเห็นทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงเป็นกระบอกเสียงเสนอข่าวสารการเมืองให้ประชาชนทราบ จนเป็นที่ยอมรับ ดังคราวหนึ่งประกาศว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง”
ในปีถัดมา 2480 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร หลังจากนั้นมีระยะหนึ่งที่ออกหนังสือพิมพ์รายทศ สยามอุโฆษ เป็นสื่อในการเผยแพร่ความคิดของเขาและผู้แทนราษฎรในกลุ่ม
นักเขียน นักแปล
เตียงมีความรู้ภาษาอังกฤษดี คล่องทั้งอ่าน พูด และเขียน เขาเคยเล่าให้นักเรียนฟังว่าสมัยเรียนในคณะอักษรฯ จุฬาฯ เขาอ่านหนังสือชุด Everyman’s classics เฉลี่ยเดือนละ 3 เล่ม ด้วยความเป็นนักอ่านตัวยง ทำหนังสือห้องสมุดที่บ้านมีหนังสือจำนวนมาก โดยเฉพาะวรรณคดีอังกฤษ ประวัติศาสตร์และการเมืองยุโรป วิชาการศึกษาและจิตวิทยา และสารานุกรมอังกฤษอีก 4 ชุด ที่ใช้บ่อยคือ Britannica และ Social sciences
เตียงมีผลงานเขียนหนังสือชุดเพื่อนครู ร่วมกับสหัส กาญจนพังคะ จำนวน 5 เล่ม คือ หลักการศึกษา ประวัติการศึกษา จิตวิทยา การสอนวิชาเฉพาะ และนักการศึกษา
ส่วนเรื่องทางการเมือง เตียงแต่งหนังสือ หัวใจปฏิวัติในฝรั่งเศส ร่วมกับจำรัส สุขุมวัฒนะ โดยกล่าวว่า “เรื่องปฏิวัติในฝรั่งเศสนี้ชาวอารยประเทศถือว่าผู้ที่ได้รับการศึกษารักชาติเอาใจใส่ในชาติควรจะได้รู้ละเอียด เพื่อจะได้ซาบซึ้งในหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยพิจารณาในปรัชญาจากเรื่องนี้จริงๆ”
นอกจากนี้เขายังแปลหนังสือ เอมิล ของฌ็อง ฌาค รุสโซ ด้วย
นักการเมืองตัวอย่าง
เตียงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครทุกสมัย ตั้งแต่ปี 2480 จนถึงปี 2495 อันเป็นที่สุดแห่งชีวิตของเขา
เมื่อหาเสียงเลือกตั้ง เขาก็ยังไม่ละนิสัยความเป็นครู กล่าวคือ ในการลงพื้นที่พบปะประชาชนและผู้นำชาวบ้าน นอกจากการพูดคุยตามปกติแล้ว เขายังสอนวิชาชีพ แนะนำเรื่องการทำมาหากิน พูดคุยเรื่องการบ้านการเมือง ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดอื่นๆ และยังชอบเขียนแผนที่ประกอบการบรรยาย ชาวบ้านจึงมักเรียกเขาว่า “ผู้แทนตากผ้า”
สมัยนั้นยังไม่มีพรรคการเมือง คงมีแต่กลุ่มการเมืองที่รวมตัวกันของ ส.ส. ที่มีอุดมการณ์ในทางเดียวกัน กลุ่มของเตียงเป็น ส.ส. อีสาน ที่สนิทกันมาก คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จากอุบลราชธานี ถวิล อุดล จากร้อยเอ็ด และจำลอง ดาวเรือง จากมหาสารคาม ซึ่งวางแผนเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกันเสมอ โดยทองอินทร์ พี่ใหญ่ เป็นหัวหน้า ถวิล คนเจ้าระเบียบ เป็นเลขาธิการ จำลอง นักเลงซึ่งเข้ากับคนได้ทุกระดับ เป็นปฏิคม ส่วนเตียงเป็นเสนาธิการผู้วางแผนงานของคณะ
เขาและคณะมีผลงานโดดเด่นเป็นดาวสภา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลอย่างแข็งขัน ผ่านการตั้งกระทู้ถามเรื่องต่างๆ รวมถึงการเสนอความคิดผ่านการเสนอร่างพระราชบัญญัติ เช่น การเสนอให้มีพรรคการเมือง เป็นต้น
ต่อมาเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2489 และมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นในประเทศไทยได้แล้ว กลุ่มของเตียงได้ตั้งพรรคสหชีพขึ้น โดยมีนโยบายสนับสนุนอาชีพทางเกษตรกรรมในรูปสหกรณ์ที่มาร่วมมือกันทำงาน และสนับสนุนแนวทางของปรีดี พนมยงค์ บุรุษผู้เขาชื่นชมในความสามารถมาแต่แรก พรรคนี้มี เดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนเตียงเป็นกรรมการบริหารพรรค
เตียงได้เป็นรัฐมนตรี 3 สมัย ในรัฐบาลของทวี บุณยเกตุ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งในสมัยหลังสุดนี้เขาเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเลยทีเดียว
สำหรับจังหวัดสกลนครของเขา เตียงพัฒนาจังหวัดนี้ในหลายทาง จนมีคำเรียกติดปากชาวบ้านยุคนั้นว่า ถนนนายเตียง คลอง(ส่งน้ำ)นายเตียง เหมืองฝายนายเตียง บ่อน้ำนายเตียง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะความเอาใจใส่สารทุกข์สุกดิบของราษฎร ดังเคยปรารภว่า “หัวใจของข้าพเจ้าเป็นของชาวสกลนครร่วมกัน” และเห็นว่า อีสานจะต้องเจริญกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น อีสานควรได้รับการเหลียวแลจากทางการมากกว่านั้น เขาบอกว่าในฐานะผู้แทนราษฎร ก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อราษฎรโดยส่วนรวม นี่คือสิ่งที่เขาพูดอยู่ตลอดเวลา
ปิยมิตรของจำกัด พลางกูร
จำกัด พลางกูร รู้จักกับเตียง ศิริขันธ์ ครั้งแรกเมื่อเขาเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และเตียงไปเรียนแผนกฝึกหัดครูที่นั่น จึงได้รู้จักกันนิดหน่อย จนเมื่อจำกัดสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ที่อังกฤษ แล้วกลับประเทศในปี 2481 จึงได้สนิทสนมกัน เพราะทั้งคู่สนใจการเมือง จำกัดมักไปฟังการประชุมสภาอยู่เสมอ จึงได้คุ้นเคยกับผู้แทนราษฎรอย่างเตียง
สมัยนั้น ถ้าทางรัฐบาลมีเรื่องอะไรแปลก หรือกลุ่ม ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล กลุ่ม ส.ส.อีสานจะไปพบกันโดยไม่ต้องนัดหมายที่โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด ถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นบ้านของถวิล อุดล แน่นอนว่าจำกัดไปกับเขาด้วย แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่จำกัดชอบออกความเห็นต่างๆ ให้เตียงไปพูดในสภาบ่อยๆ
ฉลบชลัยย์ พลางกูร เล่าว่า เตียงเป็นคนใจกว้าง รักหมู่คณะเป็นยอด เพื่อนๆ จึงรักเขามาก เตียงไม่ได้เป็นมิตรจำพวกที่อยู่เคียงข้างเมื่อเพื่อนของเขาสุขสบายเท่านั้น แม้ยามลำบากเตียงก็ไม่เคยลืมช่วยเหลือเพื่อน ฉลบเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อจำกัดและเธอเปิดโรงเรียนดรุโณทยานใหม่ๆ หลังจากจำกัดไม่อาจเข้ารับราชการได้ เป็นระยะที่ไม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียนเธอและสามีเลย มีแต่เตียงคนเดียว ที่คอยช่วยเหลือ เมื่อเปิดโรงเรียนก็ให้วินัย (วรนีย์) น้องภรรยา มาเป็นครูช่วยฉลบสอนหนังสือ
ต่อมาเมื่อจำกัดอาสาเดินทางไปประเทศจีนเพื่อเจรจากับจอมพลเจียงไคเชคให้รับรองสถานะเอกราชของไทยหลังสงคราม คืนก่อนที่จำกัดจะเดินทางไปนครพนมเพื่อข้ามแดนนั้น ได้พักที่บ้านของเตียงที่สกลนคร ที่นั่นเขาให้นิวาศน์ ภรรยาของเขา ถอดเครื่องประดับทั้งหมด มีสายสร้อย ล็อกเกต แหวน รวมทั้งแหวนของตัวเองด้วย มอบให้จำกัดติดตัวไว้ใช้ระหว่างเดินทาง เพราะอนาคตข้างหน้ามืดมนเต็มที ซึ่งก็จริงเช่นนั้น เมื่อไปถึงจีนแล้ว จำกัดต้องใช้เงินมาก เช่น ค่าส่งโทรเลขซึ่งต้องเขียนยืดยาวหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อติดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตที่สหรัฐฯ และเมื่อจำกัดเดินทางไปแล้ว เตียงกับนิวาศน์ก็หมั่นมาเยี่ยมฉลบไม่ได้ขาด
กำลังสำคัญของขบวนการเสรีไทย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 แผ่มาถึงประเทศไทย ในวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม 2484 ที่มีการตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น (ภายหลังได้ชื่อว่า ขบวนการเสรีไทย) ที่บ้านของปรีดี พนมยงค์ นั้น เตียงก็เป็นหนึ่งในบุคคลชุดแรกที่ร่วมก่อตั้งในวันนั้นมาแต่ต้น เพราะต้องการเอกราชและอธิปไตยกลับคืนมา
เขารับภารกิจสำคัญในการจัดตั้งกองทัพเสรีไทยในภาคอีสาน เป็น “แม่ทัพแห่งกองทัพพลเรือน (ท.พ.ร.)” มีบทบาทในการรับส่งอาวุธและสิ่งของกับฝ่ายสัมพันธมิตร การฝึกประชาชนซึ่งเข้าร่วมเป็นกองกำลังของเสรีไทย การสร้างค่ายลับ สนามบินลับในที่ต่างๆ มีหน่วยของเสรีไทยอยู่ทั้งที่สกลนคร นครพนม อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น เลย โคราช ผ่านเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และครูในท้องที่ต่างๆ
การฝึกซ้อมของขบวนการเสรีไทยดำเนินไปจนที่ขีดสุดคือเตรียมรบกับญี่ปุ่นภายในประเทศ แต่รอสัญญาณจากฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ อย่างไรก็ดี เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามเสียก่อน การสู้รบจึงมิได้เกิดขึ้น แต่เสรีไทยสายอีสานก็มีบทบาทในการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในจังหวัดมุกดาหารและอุบลราชธานี เป็นต้น
เพื่องานเสรีไทย เขาได้ใช้เงินส่วนตัวไปมิใช่น้อย ดังที่ดินซึ่งปลูกบ้านของเขานั้น ก็ต้องเอาไปจำนองเพื่อนำเงินมาใช้ในงานของส่วนรวม เมื่อหลังสงครามแล้ว เตียงยังคงเป็นนักการเมืองมือสะอาด กล่าวคือ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนการลักลอบส่งข้าวออกนอกประเทศ มีผู้เสนอสินบนให้เตียงถึง 200,000 บาท แต่เขาปฏิเสธ และนำเรื่องเข้าที่ประชุมทันที จนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งต้องถูกลงโทษ ที่น่าเศร้าก็คือ เงินที่นิวาศน์ใช้ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงที่กล่าวข้างต้นนั้น คือเงินประกันชีวิตของเตียง ซึ่งได้มาหลังจากเขาถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม
ผู้นำในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
เตียงไม่เพียงทำงานรับใช้ชาติเพื่อเอกราชของไทยเท่านั้น แต่ยังเอื้อเฟื้อออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยจึงเป็นศูนย์กลางในการรวมกลุ่มของประเทศที่เรียกร้องเอกราช เขามีส่วนในขบวนการชาตินิยมลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และพม่า จนนำไปสู่การตั้งสมาคมสันนิบาตชาติเอเชียอาคเนย์ขึ้น โดยมีเตียงเป็นประธาน รองประธานคือตันวันเกียว จากขบวนการเวียดมินห์ ส่วนอีกคนจากขบวนการนี้คือลีฮาย เป็นเหรัญญิก และมีเจ้าสุภานุวงศ์ จากลาว เป็นเลขาธิการ
เตียงเคยแสดงความเห็นด้านนี้ไว้ว่า “ถ้าเราสามารถรวมประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้ เราจะเป็นอิสระ เราจะมีกำลังสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ถ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมตัวกันได้แล้ว เราจะสบายขึ้นมาเลย” ซึ่งแนวคิดนี้เกิดก่อนอาเซียนนับทศวรรษได้
เหยื่อของอำนาจรัฐ
หลังการรัฐประหาร 2490 เตียงและคณะของเขาถูกเล่นงานจากทางการ เตียงหนีไปหลบซ่อนที่ภูพาน ถิ่นปฏิบัติงานเสรีไทยของเขา โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในพื้นที่ แม้ทหารและตำรวจจะพยายามล่าตัวเขา แต่ก็ล้มเหลว การตั้งค่าหัวของเขาอย่างสูงก็ไม่เป็นผล เพราะชาวสกลนครรักผู้แทนของเขามาก เงินซื้อพวกเขาไม่ได้ สื่อมวลชนจึงให้สมญานามเตียงว่าเป็น “ขุนพลภูพาน”
ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มเหงรังแกชาวบ้านเพื่อให้เตียงทนไม่ได้ เขาจึงออกมามอบตัว แล้วถูกฟ้องในข้อหาแบ่งแยกดินแดนและกบฏภายในราชอาณาจักร จนในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2494 แม้ระหว่างนั้น เขาก็ยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2492 เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งแก่ผู้ต้องหา ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเองเพื่อนรัฐมนตรี 4 คนของเขา คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ ก็ถูกยิงทิ้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างโหดร้ายด้วย
ต่อมาในปี 2495 เตียงและคณะถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ดังปรากฏในคำพิพากษาศาลอาญา หมายเลขคดีแดงที่ 1542/2502 ตอนหนึ่งว่า “…เมื่อถึงตำรวจก็ขนห่อเสื่อกกทั้ง 5 ห่อวางไว้บนหลุมที่มีฟืนกองที่มาทำไว้แล้ว เอาน้ำมันในปี๊บที่เตรียมเผามาราด จุดไฟเผา” ปิดฉากชีวิต 43 ปีของเขาลงอย่างมีเงื่อนงำ
หลังจากรู้แน่ว่าเตียงตาย จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทย ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเตียง ได้เสนอให้วิฑูรย์ไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยเขาจะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่นิวาศน์ปฏิเสธ เพราะไม่อยากพลัดพรากจากลูกชาย เขาจึงจัดให้วิฑูรย์เป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนคริสเตียนตามที่เห็นว่าเหมาะสม (ที่จิม ทอมป์สัน สนิทสนมกับเตียง เพราะเขาเคยทำงานในหน่วย O.S.S. ของสหรัฐฯ และถูกส่งมาทำงานในประเทศไทย โดยกระโดดร่มมาลงในเขตภาคอีสาน จึงได้รู้จักสัมพันธ์กับเตียงเป็นอย่างดี)
ความตายของเขา ไม่ได้เป็นเพียงความสูญเสียในระดับครอบครัวเท่านั้น ในระดับจังหวัดและภาค สกลนครและอีสานเสียผู้แทนราษฎรชั้นดีไปอย่างไม่มีวันกลับ ในระดับชาติ ไทยสูญโอกาสในการใช้ประโยชน์จากรัฐมนตรีผู้นี้อีก ในระดับนานาชาติ การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศละแวกนี้เพื่ออิสรภาพและสันติ ต้องล้มเหลวไป และในระดับอุดมคติ ความตายของเขา ทำให้คนจำนวนมากหมดหวังกับประเทศนี้ เพราะไม่อยากใช้ชีวิตเพื่อสังคมแล้วมีจุดจบเช่นนั้น
แต่นี่ผ่านมาเกือบ 70 ปีแล้ว
อย่าปล่อยให้คนอย่าง เตียง ศิริขันธ์ ต้องตายเปล่าเลย
บรรณานุกรม
นิยม รักษาขันธ์. 2488 ครูอีสานกู้ชาติ (สกลนคร : สถาบันราชัฏสกลนคร, 2543).
วิสุทธ์ บุษยกุล. เตียง ศิริขันธ์ วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลภูพาน. พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553).
หัด ดาวเรือง. ชีวิตและงานของสี่อดีตรัฐมนตรี (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรศาสน์, 2508).
อภิสิทธิ์ กิจเจริญสิน. “แนวคิดและบทบาททางการเมืองของนายเตียง ศิริขันธ์,” ใน ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1, บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2544).