fbpx
เลือกตั้งท้องถิ่นภาคตะวันออก: เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อน และกลุ่ม-ตระกูลการเมืองเดิมที่ยังทรงอิทธิพล กับ โอฬาร ถิ่นบางเตียว

เลือกตั้งท้องถิ่นภาคตะวันออก: เศรษฐกิจการเมืองที่ซับซ้อน และกลุ่ม-ตระกูลการเมืองเดิมที่ยังทรงอิทธิพล กับ โอฬาร ถิ่นบางเตียว

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

20 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปีตั้งแต่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประชาชนคนไทยจะได้กลับมามีอำนาจตัดสินใจเลือกอนาคตของท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัยอยู่อีกครั้ง

ในบรรดาท้องที่ที่กำลังจะมีการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ ภูมิภาคหนึ่งที่มีความน่าสนใจก็คือ ‘ภาคตะวันออก’

ถึงแม้ภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคเล็กๆ ที่กินพื้นที่เพียง 7 จังหวัด แต่ก็มีความซับซ้อนและความสำคัญมากไม่แพ้ภาคอื่นๆ เพราะเป็นภาคที่สร้างเม็ดเงินให้ประเทศจำนวนมหาศาล ทั้งจากแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมไปถึงภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมอย่างการประมงและการเกษตร อีกทั้งยังถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ด้วยโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม การมีหลายภาคเศรษฐกิจอยู่รวมกันในพื้นที่ ก็ทำให้ประชาชนในภาคตะวันออกมีความคิดความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย จนเป็นโจทย์ยากที่เหล่าผู้ลงสมัครเลือกตั้ง อบจ. จะต้องตีให้แตก

นอกจากนี้ ภาคตะวันออกยังเป็นแหล่งรวมของตระกูลการเมืองและกลุ่มการเมืองผู้ทรงอิทธิพลหลายกลุ่ม ที่ขับเคี่ยวในสนามการเมืองท้องถิ่นกันอย่างดุเดือดมายาวนาน การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ยังทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีก เมื่อปรากฏผู้สมัครหน้าใหม่มาแรงจำนวนไม่น้อยมายื้อแย้งกับขั้วอำนาจเก่าในพื้นที่ด้วย สนามเลือกตั้ง อบจ. ภาคตะวันออกครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าการเมืองในท้องที่จะเปลี่ยนโฉมหรือจะยังหลุดไม่พ้นจากการเมืองเก่า

101 พูดคุยกับ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชวนวิเคราะห์ความซับซ้อนของพลวัตและสนามการเมืองท้องถิ่นภาคตะวันออก รวมไปถึงเสนอแนะการออกแบบนโยบายการกระจายอำนาจในอนาคต

**หมายเหตุ**  – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 Policy Forum #9 : จับตาการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563 วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00-16.30 น.

 

ความซับซ้อนของภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมือง
ภาคตะวันออก
โลกคนละใบของต่างชนชั้น

 

พลวัตเศรษฐกิจการเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกมีความยุ่งยากซับซ้อนมาก เนื่องจากมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็มีภาคการท่องเที่ยว และยังมีความเชื่อมโยงกับระบบโลกสูง เพราะอยู่ในเขตพื้นที่ EEC ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและพื้นที่ชนบทก็ยังมีอยู่ ภาคตะวันออกจึงเป็นลักษณะของโลกาภิวัตน์-ท้องถิ่น สังคมเมือง-ชนบทอยู่คู่กัน แต่สองโลกนี้ก็มีความแตกต่างกันชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกได้ก่อให้เกิดคนสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มชนชั้นนำซึ่งเป็นคนส่วนน้อยบนยอดปิรามิดที่คุมทรัพยากรและอำนาจทางการเมือง ตระกูลการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ผูกขาดอำนาจการเมืองท้องถิ่นอยู่ในมือ

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ในพื้นที่

และกลุ่มที่สาม คือชาวบ้านทั่วๆ ไป

กลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มชาวบ้านมีแนวคิด ค่านิยม โลกทัศน์ และความคาดหวังต่อการเมืองที่แตกต่างกัน กลุ่มชนชั้นกลางไม่ได้อิงกับการเมืองแบบเดิม มีความยึดโยงกับการเมืองระดับชาติสูงกว่า มีปัญหาทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่นักการเมืองท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาให้ได้ และมีสายสัมพันธ์พิเศษของตัวเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพานักการเมืองท้องถิ่น คนกลุ่มนี้มักจะสร้างความคาดหวังถึงอนาคตของเมือง คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมของท้องที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ จึงเลือกผู้แทนจากนโยบายเป็นหลัก

ขณะที่กลุ่มชาวบ้านทั่วๆ ไป อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าไม่ค่อยถึงการจัดสรรทรัพยากรและบริการจากราชการ จึงต้องพึ่งพาเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นอยู่มาก คนที่เข้าถึงเครือข่ายผู้มีอำนาจในท้องถิ่นได้มากกว่าย่อมได้เปรียบคนอื่น คนทั่วไปมักจะสรุปว่าคนกลุ่มนี้เลือกตั้งไม่เป็น เลือกเพราะเงิน แต่จริงๆ พวกเขาเลือกเพื่อชีวิตของตัวเอง เลือกเพื่อการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่พวกเขาต้องเผชิญ

 

หาเสียงเลือกตั้งด้วยเมนูสองแบบ

 

ความแตกต่างกันระหว่างชนชั้นกลางกับชาวบ้านทั่วไป ทำให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในภาคตะวันออกจะต้องผลิตเมนูขึ้นมาสองแบบ คนหาเสียงจะรู้ดีว่าเมนูแต่ละแบบมีคนกลุ่มไหนเป็นคนอ่าน

ทุกวันนี้ ความคิดของนักการเมืองเปลี่ยนไปจากเดิม จากเมื่อก่อนที่องค์กรท้องถิ่นถูกเรียกว่าเป็นสภาผู้รับเหมา นักการเมืองท้องถิ่นพาองค์กรเข้าไปรับเหมาโครงการต่างๆ และอาจกินส่วนแบ่ง รวมถึงใช้วิธีหาเสียงด้วยรูปแบบดั้งเดิม คือการอาศัยสายสัมพันธ์กับนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลในท้องที่ และกลุ่มทุนท้องถิ่น แต่ทุกวันนี้นักการเมืองมีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ โดยหันไปให้ความสำคัญกับนโยบายมากขึ้น ซึ่งนโยบายก็เน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นสำคัญ การหาเสียงรูปแบบใหม่ๆ จึงเน้นการโฆษณานโยบาย เพื่อเอาใจกลุ่มชนชั้นกลางเป็นหลัก อย่างไรก็ตามนักการเมืองท้องถิ่นก็ยังทิ้งการหาเสียงรูปแบบดั้งเดิมไปไม่ได้ เพราะยังมีกลุ่มชาวบ้านทั่วไปที่พวกเขาก็จำเป็นต้องดึงคะแนนเสียงมาให้ได้อยู่ เพราะฉะนั้นนักการเมืองท้องถิ่นจะต้องหาเสียงสองรูปแบบคู่ขนานกัน เหมือนการยื่นเมนูคนละชุดให้ลูกค้าคนละกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงสมัครหาเสียงบางกลุ่มก็เลือกที่จะไม่หาเสียงด้วยนโยบายแบบหวือหวาเต็มรูปแบบมากนัก โดยให้เหตุผลว่า อบจ. มีข้อจำกัดเยอะ มีระบบราชการที่คอยควบคุมอยู่ จนทำให้การขับเคลื่อนนโยบายหลายอย่างเป็นไปได้ยาก และทีมที่หาเสียงด้วยนโยบายแบบหวือหวา เมื่อถึงเวลาเข้าทำงานจริง ก็อาจเจอข้อจำกัดพวกนี้ได้

ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งที่จะถึงนี้ เราต้องรอดูว่าผลจะเทไปทางไหน เช่น ถ้าผลออกมาเป็นคณะก้าวหน้าชนะการเลือกตั้ง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าการเมืองกำลังเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับนโยบาย แต่ถ้าเป็นกลุ่มอำนาจเดิมชนะก็อาจบอกได้ว่าการเมืองแค่กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน

นอกจากนี้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตามองคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งท้องถิ่นห่างหายไปนาน คนรุ่นใหม่ได้เติบโตขึ้นมาจำนวนมหาศาล คนกลุ่มนี้ตั้งคำถามกับการเมืองแบบเดิมๆ ต้องการสิ่งใหม่ๆ การเมืองใหม่ๆ และมีผลมากระดับหนึ่งต่อการกำหนดผู้ชนะ นี่ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นเริ่มปรับตัว โดยมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ผู้สมัครทุกคนต้องใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้

 

บนสังเวียนเลือกตั้ง ’63
กลุ่ม-ตระกูลการเมืองเดิมยังได้เปรียบ

 

ในภาพรวมของศึกเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งที่จะถึงนี้ กลุ่มคนที่ได้เปรียบยังคงเป็นคนที่มาจากกลุ่มหรือตระกูลการเมืองทรงอิทธิพลดั้งเดิมในพื้นที่

ถึงแม้จะมีคู่ต่อสู้ที่มาจากกลุ่มการเมืองใหม่ แต่ในบางจังหวัด คนที่ลงสมัครในนามของกลุ่มการเมืองใหม่ ที่จริงแล้ว อาจเป็นนอมินีของกลุ่มหรือตระกูลการเมืองเดิม นั่นแปลว่าสมรภูมิเลือกตั้ง อบจ. ในบางพื้นที่ก็ยังไม่หลุดพ้นจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองดั้งเดิม เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรามี ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ลงในนามของคณะก้าวหน้า แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลฉายแสง สู้กับ กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ที่เป็นพันธมิตรกับตระกูลตันเจริญ เช่นเดียวกับที่จังหวัดชลบุรี พลอยลภัสร์ สิงห์โตทอง ก็ลงในนามคณะก้าวหน้า ต่อสู้กับตระกูลคุณปลื้ม แต่พลอยลภัสร์ก็มีพื้นเพมาจากตระกูลการเมืองทรงอิทธิพลในพื้นที่ โอฬารตั้งข้อสังเกตว่าการที่คนจากกลุ่มการเมืองเดิมเปลี่ยนเสื้อคลุมไปเป็นของกลุ่มการเมืองใหม่ อาจเป็นเพียงการเอาใจกลุ่มชนชั้นกลางรวมไปถึงคนกรุงเทพฯ ที่อยากเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลง แต่ไส้ในยังคงเป็นการต่อสู้รูปแบบดั้งเดิมอยู่

นอกจากนี้ บางจังหวัดก็ไม่ได้มีกลุ่มการเมืองใหม่ขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มเดิม หรือบางที่ก็มีแต่ไม่ได้มีความโดดเด่นมาก เช่น ตราดที่มี วิเชียร ทรัพย์เจริญ ที่ผูกขาดอำนาจมานานลงสู้ศึกอีกครั้ง และสระแก้วที่มีคนของตระกูลเทียนทองลงสมัคร ขณะที่นครนายกก็น่าจับตามองตรงที่เป็นการต่อสู้ระหว่างคนในตระกูลเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกที่เรียกได้ว่าเข้าคอนเซ็ปต์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองเก่า-ใหม่มากที่สุด ก็คือระยอง ที่มีสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ ลงสมัครในนามคณะก้าวหน้า สู้กับตระกูลปิตุเตชะ โดยสว่างจิตต์ไม่ได้เป็นนอมินีหรือใกล้ชิดกลุ่มการเมืองเก่าใดๆ แต่เน้นหาเสียงด้วยนโยบายอย่างแท้จริง

 

ทบทวนรูปแบบการกระจายอำนาจใหม่
รู้จักบูรณาการ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม
และตัดสินใจเองมากขึ้น

 

การกระจายอำนาจในไทยทุกวันนี้มีพัฒนาการมาจากในอดีตอยู่ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะเป็นการกระจายอำนาจที่อยู่ภายใต้โครงสร้างสถาบันและระเบียบราชการอย่างเข้มข้น จนขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ยาก นอกจากนี้การกระจายอำนาจของไทยยังถูกครอบงำอยู่ใต้อิทธิพลของชนชั้นนำท้องถิ่นที่ผูกขาดทรัพยากรทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจมายาวนาน ใช้ความได้เปรียบทางการเมืองเข้าไปสัมปทานอำนาจ ใช้อำนาจและงบประมาณกระจายผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ส่งผลให้องค์กรปกครองท้องถิ่นในไทยมักจะมีความแปลกแยกกับชุมชนมาก

โอฬารให้ข้อเสนอถึงการออกแบบการกระจายอำนาจใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ประชาชนแต่ละท้องที่มากขึ้น ประการแรกคือต้องแก้ปัญหาการขาดการบูรณาการ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำกันคนละเรื่อง ไปกันคนละทิศทาง องค์กรท้องถิ่นทำเรื่องหนึ่ง ชาวบ้านทำเรื่องหนึ่ง ราชการทำอีกเรื่องหนึ่ง การดำเนินงานในการปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน ทั้งที่แต่ละส่วนก็มีต้นทุนความรู้ความสามารถของตัวเอง แต่กลับถูกวิธีคิดแบบราชการแยกเอาไว้ หากไม่มีการแก้ไขจุดนี้ การกระจายอำนาจก็จะยังคงกระจัดกระจายอยู่อย่างนี้

นอกจากในแง่ของการดำเนินงานแล้ว องค์ความรู้ของท้องถิ่นก็ยังขาดการบูรณาการอยู่เช่นกัน องค์ความรู้ส่วนแรกคือ ‘องค์ความรู้ราชการ’ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีอำนาจแต่ก็มีความซับซ้อนยุ่งยาก ส่วนที่สองคือ ‘องค์ความรู้ทางวิชาการ’ ซึ่งมีปัญหาใหญ่ก็คือไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นในทางปฏิบัติจริง เพราะบางครั้งเป็นการถอดแบบความรู้จากโลกตะวันตกมายัดเยียดให้ชาวบ้าน และองค์ความรู้ส่วนที่สามคือ ‘องค์ความรู้ของชาวบ้าน’ โอฬารมองว่าองค์ความรู้สามส่วนนี้ควรจะได้รับการบูรณาการเข้าด้วยกัน อย่างเช่นองค์ความรู้ทางวิชาการต้องสามารถนำปรับใช้กับท้องถิ่นนั้นๆ เฉพาะตัวได้ และองค์ความรู้ราชการที่ต้องเข้าใจความคิดและความต้องการของชาวบ้าน

ประเด็นสำคัญต่อมาที่ต้องขบคิดคือเรื่องรูปแบบของการกระจายอำนาจ สังคมไทยจะต้องลองทบทวนวิธีคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจดูใหม่ อย่างแรกคือต้องทบทวนคำว่าประชาธิปไตยท้องถิ่น ซึ่งทุกวันนี้เราใช้ระบบประชาธิปไตยตัวแทนเป็นหลัก โอฬารมองว่าเราอาจต้องสร้างประชาธิปไตยท้องถิ่นในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น แน่นอนว่าเราปฏิเสธประชาธิปไตยตัวแทนจากระบบการเลือกตั้งไม่ได้ แต่เราอาจลองคำนึงถึงการนำเอาประชาธิปไตยทางตรงมาใช้ด้วย โดยเฉพาะในองค์กรท้องถิ่นระดับเล็ก เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม ปรึกษาหารือให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

สุดท้าย เราต้องกล้าคิดไปถึงคอนเซ็ปต์ที่ไปไกลกว่าการกระจายอำนาจ ซึ่งคือ ‘การคืนอำนาจ’ (Empowerment) ให้ท้องถิ่น การบริหารท้องถิ่นจะต้องเปลี่ยนแนวคิด ปรับความสัมพันธ์จากแนวดิ่งเป็นแนวราบ ยกระดับไปสู่การเป็นท้องถิ่นจัดการตัวเอง เพราะที่ผ่านมาการตัดสินใจหลายอย่างมาจากรัฐส่วนกลาง จนก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการช่วงชิงทรัพยากร อย่างเช่น ปัญหาที่ดิน และสิทธิชุมชน ในความเป็นจริง บางเรื่องควรปล่อยให้ชุมชนจัดการและตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรของท้องถิ่น เช่น การพัฒนาชายฝั่งทะเล การดูแลผืนป่า คนที่อยู่อาศัยกับทรัพยากรจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ที่ตัดสินใจแทน เรียกว่าเป็น ‘การกระจายอำนาจบนฐานทรัพยากร’

นอกจากนี้แต่ละท้องถิ่นยังมีอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้นวิธีการกระจายอำนาจจะต้องได้รับการออกแบบให้ลงตัวกับชีวิตชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น คนท้องถิ่นจะต้องดีไซน์เสื้อใส่เอง ไม่ใช่เอาเสื้อที่คนกรุงเทพฯ ดีไซน์มาใส่ ส่วนกลางจะต้องจัดการความสัมพันธ์กับท้องถิ่นใหม่ นี่จะเป็นทางออกที่ดีของการแก้ปัญหาการกระจายอำนาจในไทย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save