fbpx
สามพี่น้องผู้ปฏิวัติโลกการเงิน

สามพี่น้องผู้ปฏิวัติโลกการเงิน

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

โลกการเงินกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ระบบธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ หรือแม้แต่เงินตราที่เราใช้ซื้อของ ก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้

หากเปรียบ ‘ภาคการเงิน’ เป็นเสมือนธุรกิจครอบครัวในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่พ่อแม่กำลังส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่นลูกบริหารต่อไป หน้าตาของ ‘ธุรกิจ’ นั้นจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกๆ ที่มารับช่วงต่อเป็นคนอย่างไร

วันนี้ผมอยากชวนมาทำความรู้จักกับ ‘สามพี่น้อง’ ที่จะมาสานต่อ ปฏิรูป หรือแม้แต่ปฏิวัติวงการนี้

 

พี่ใหญ่ = การเงิน

 

พี่ใหญ่ ชื่อ Finance หรือ การเงิน มีอายุห่างจากน้องรองและน้องเล็กหลายปี ทำงานกับพ่อแม่มานานที่สุด เป็นคนเก่งและมีประสบการณ์มากมายในการรับมือกับความเสี่ยงสารพัดรูปแบบ

งานสำคัญของพี่ใหญ่คือ เอาเงินออมของคนมาใช้ปล่อยกู้หรือลงทุนกับคนที่ไม่รู้จัก ซึ่งอาจจะเป็นคน ธุรกิจหรือแม้แต่รัฐบาล จึงต้องมีกระบวนการที่รัดกุมเพื่อไม่ให้เงินตกไปอยู่กับคนที่จ่ายคืนไม่ได้ คนที่ชอบชักดาบ หรือคนที่ใช้เงินในทางผิดกฎหมาย (Credit and Counterparty risks)

ต้องไม่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มราคาร่วง (Market risk) ต้องให้สภาพคล่องเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไม่มีเงินสดจะให้เมื่อคนมาถอนเงินฝาก (Liquidity risk) และต้องไม่ปฏิบัติการผิดพลาดทำเงินสูญหาย (Operational risk) ฯลฯ

ด้วยความที่ตนเองก็เคยผิดพลาดผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง พี่ใหญ่จึงเป็นคนมีระเบียบเข้มงวด ช่างระมัดระวัง ไม่ชอบความเสี่ยง และยึดหลักทำงานที่สืบทอดกันมา จนทำให้บางครั้งอาจขาดความยืดหยุ่นและจำกัดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

แม้จะพี่ใหญ่เป็นคนเก่ง แต่เขายังเป็นคนขรึมๆ และไม่ค่อยอธิบายในสิ่งที่ตัวเองทำ จนบางครั้งคนทั่วไปมองว่าเขาเป็นคนเข้าใจยาก

 

พี่รอง = ดิจิทัล

 

พี่รองชื่อว่าดิจิทัล มีนิสัยแตกต่างกับพี่ใหญ่อย่างสิ้นเชิง เขาเป็นคนชอบคิดพลิกแพลงหาวิธีใหม่ๆ ในการทำธุรกิจเสมอ

หากพี่ใหญ่ยึดกรอบธรรมเนียมประเพณีที่เคยทำกันมา พี่รองก็เห็นว่ากรอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก้าวข้ามได้เพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่าของลูกค้า (Customer centric mindset) 

ในขณะที่พี่ใหญ่เป็นคนขรึมๆ ไม่พูดมาก แต่พี่รองเป็นคนเข้าถึงง่ายมาก ชอบคุณกับลูกค้า ทำให้มีจุดสัมผัสกับลูกค้ามาก และใช้ข้อมูลความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาธุรกิจของตัวเอง (Data driven business) 

เวลาจะลองทำอะไรใหม่ พี่ใหญ่จะบอกว่าต้องคิดแล้วคิดอีก ปรับแผนหลายรอบ แต่พี่รองจะบอกว่าควรลองทำไปก่อนเลยในวงเล็กๆ คุยกับลูกค้าแล้วเอาผลที่ประเมินที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ (Agile) เสมือนว่าลูกค้าเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยคิดด้วย (Co-creation)

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะพี่รองเรียนจบ เข้ามาทำงานในธุรกิจที่บ้านเต็มตัว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ยกตัวอย่างเช่น ในด้านการชำระเงิน การจ่ายหรือโอนเงินแบบทันที ที่ไหนก็ได้เวลาไหนก็ได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมกลายเป็นเรื่องปกติ

การปล่อยสินเชื่อ จากที่เคยต้องใช้หลักประกัน สลิปเงินเดือน พิจารณาสินเชื่อหลายวัน เทคโนโลยี Digital lending ในปัจจุบันสามารถใช้ข้อมูลของผู้ขอกู้พิจารณาจากโลกดิจิทัลอนุมัติสินเชื่อได้ภายในไม่กี่นาที 

ในการลงทุน จากที่เคยต้องใช้ที่ปรึกษาการเงินค่าตัวแพงช่วยแนะนำ ปัจจุบัน Robo-advisor สามารถใช้ AI คิดให้ได้ว่าควรออมเงินเดือนละเท่าไหร่ แล้วไปลงทุนบริหารเงินให้เราอัตโนมัติตามเป้าหมายทางการเงินและระดับความเสี่ยงที่เราเลือก 

แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หลายครั้งก็ทำให้พี่ใหญ่กับพี่รองขัดแย้งกัน ด้วยความคิดและนิสัยที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว พี่รองก็มองว่าพี่ใหญ่ไม่ยอมปรับตัว ส่วนพี่ใหญ่ก็มักจะคิดว่าน้องรองทำอะไรเร็วเกินไป

 

น้องเล็ก = DLT

 

แต่คนที่จะมีโอกาสปฏิวัติวงการได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ปฏิรูป คือน้องเล็กของบ้านที่มีชื่อเต็มคือ Distributed ledger technology หรือชื่อเล่นก็คือ DLT แต่คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักกันในนามแฝงว่า ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) รากฐานของเงินคริปโตอย่างบิตคอยน์

น้องเล็กเป็นคนมีความสามารถพิเศษสูงมากและเข้ากับคนง่าย หลายฝ่ายเลยมักพยายามแย่งตัวไปทำงานด้วย

ฝ่ายแรกที่ได้น้องเล็กไปร่วมงานด้วยคือ ฝั่งที่ต้องการลดความสำคัญของ ‘ตัวกลาง’ (Intermediaries) ที่เป็นหัวใจสำคัญของภาคการเงินมาแต่ไหนแต่ไร

จากเดิม ธนาคารเป็นตัวกลางเชื่อมผู้จ่ายเงินและรับเงิน เชื่อมคนออมและคนกู้เงินที่ไม่รู้จักกัน โบรกเกอร์เชื่อมผู้ขายสินทรัพย์กับผู้ซื้อ บริษัทประกันเชื่อมผู้รับความเสี่ยงไม่ได้กับผู้ที่พอรับได้ ฯลฯ คนกลุ่มนี้พยายามใช้ DLT มาพัฒนา Decentralised finance (Defi) ที่สามารถทำให้ธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง หรือมีน้อยลง) 

คนกลางเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยซอฟต์แวร์ด้านการเงินประเภทหนึ่งที่สามารถทำให้ธุรกรรมทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติทันทีที่ฝ่ายหนึ่งทำตามเงื่อนไขต่างๆ ครบ (Smart contract) โดยไม่ต้องมีมนุษย์หรือองค์กรอยู่ตรงกลาง เช่น ทันทีที่มีรายได้เข้าบัญชีผู้กู้จะถูกโปรแกรมให้หักเงินส่วนหนึ่งคืนผู้ปล่อยกู้ทันทีโดยไม่ต้องใช้คนกลางดำเนินการ ทั้งนี้โปรแกรมเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นบนบล็อกเชนที่มีความโปร่งใสและปลอดภัยสูง

 

ปฏิวัติ ‘เงินตรา’ (Money) ไม่ใช่แค่ ‘การเงิน’ (Finance)

 

แต่คนเหล่านี้ไม่ได้หยุดแค่นั้น เขาตั้งคำถามต่อไปอีกว่าน้องเล็ก DLT สามารถสร้าง ‘สกุลเงิน’ ใหม่เลยได้ไหม ท้าทายหลักการพื้นฐานเดิมที่ว่า ธนาคารกลางแต่ละประเทศเท่านั้นที่สามารถ ‘พิมพ์เงิน’ ให้ทุกคนใช้

การเกิดขึ้นของเงินคริปโตแบบบิตคอยน์ และเงินดิจิทัลสกุลใหม่ที่สร้างโดยเอกชนเช่นลิบร้า (เวอร์ชั่นแรก) เป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘เงินตรา’ (Money) ที่ ‘สร้าง’ ขึ้นมาโดยเครือข่ายของคนที่ไม่รู้จักกันด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็อาจมีค่าเหมือนเงินตราที่แบงค์ชาติแต่ละประเทศพิมพ์ได้ หากผู้บริโภคและธุรกิจเชื่อและยอมรับมัน

การปฏิวัติวงการเงินให้ใช้ตัวกลางน้อยลงก็ถือว่าหัวก้าวหน้ากว่าทั้งพี่ใหญ่และพี่รองแล้ว แต่การสร้างสกุลเงินใหม่นั้น ถือเป็นเพดานใหม่โดยสิ้นเชิง เพราะมันสามารถลดความสามารถของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ในการคุมเงินไหลเข้า-ออกและนโยบายการเงินได้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มสุดซอยนี้ จึงโดนฝั่งรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเบรกกันเต็มที่

 

กระจายอำนาจหรือรวมศูนย์?

 

แต่เมื่อรัฐบาลต่างๆ ถูกท้าทายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็เริ่มคิดได้ว่า “ทำไมเราไม่ชวนน้องเล็กมาทำงานกับเราด้วย” เพราะหากนำ DLT มาประยุกต์ใช้ ก็อาจ ‘อัพเกรด’ ทำให้เงินสกุลที่เรา ‘พิมพ์’ อยู่ได้ 

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยตื่นตัว ‘ติวเข้ม’ พัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า Central bank digital currency (CBDC) โดยพยายามพัฒนา ‘เงิน’ ให้มีฟีเจอร์หลายอย่างที่ไม่แพ้เงินคริปโต เช่น สามารถใช้ได้ 24 ชั่วโมง จ่ายเงินเรียลไทม์ โอนเงินข้ามประเทศได้ง่ายขึ้นและถูกลง ฯลฯ และที่กำลังฮือฮาที่สุดคงหลีกไม่พ้น DCEP ของจีนที่สามารถใช้ได้แม้ยามไม่ได้ต่ออินเทอร์เน็ต ใกล้เคียงกับการเป็น ‘เงินสดดิจิทัล’ มาก

เสมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะน้องเล็กคนนี้จากที่เคยทำงานกับกลุ่มที่พยายามกระจายอำนาจลดตัวกลาง (Decentralisation) กลายมาทำงานอยู่กับฝั่งธนาคารกลาง ซึ่งในบางกรณีอาจนำไปสู่การเพิ่มการรวมศูนย์อำนาจทางการเงิน (Centralisation) ยิ่งกว่าเดิม 

 

 สามพี่น้องในสถาบันการเงินแห่งอนาคต?

 

เทรนด์ปัจจุบันที่เริ่มมาให้เห็นแล้วคือ ทุกสถาบันการเงินแม้อาจมีจุดเริ่มต้นต่างกัน แต่ก็หันมามีทั้ง ‘พี่ใหญ่’ และ ‘พี่รอง’ อยู่ด้วยกัน โดยมีสามรูปแบบใหญ่ๆ

หนึ่ง กลุ่มสถาบันการเงินอาจเริ่มต้นจากการมีแค่ ‘พี่ใหญ่’ แต่ภายหลังก็ได้เปิดโอกาสให้พี่รองเข้ามามีบทบาทมากขึ้นคือ ต่างทำ Digital transformation ไม่มากก็น้อย 

บ้างก็แค่มีแอพฯ ของตนเอง บางแห่งปรับระบบไอทีหลังบ้านตัวเองจนคล้ายบริษัทเทคโนโลยี บางแห่งแยกตัวเปิดดิจิทัลแบงค์เป็นแบรนด์ต่างหาก และบางที่ถึงขนาดแยกออกมาทำบริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่การเงินด้วยซ้ำ

สอง ฝั่งฟินเทคเองก็รู้แล้วว่าถ้าเก่งเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ไม่แกร่งด้านการควบคุมความเสี่ยงด้าน compliance (การปฏิบัติตามกฎกติกาที่ซับซ้อน) ก็ไปได้สวยยากในภาคการเงิน จึงมีหลายเจ้าหันมาจับมือกับสถาบันการเงินดั้งเดิมมากขึ้น 

สาม อีกประเภทคือ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่หันเข้ามาทำการเงิน หากธนาคารทำ Digital transformation ฝั่งนี้ก็คือบริษัทเทคฯ ที่ทำ Financial transformation จ้างทีมที่มีประสบการณ์ด้านการเงินเข้ามาเสริมจุดอ่อน ปรับกระบวนการทำงานจนมีความสามารถบริหารความเสี่ยงได้ไม่แพ้ธนาคาร 

ส่วน DLT น้องเล็กก็เริ่มถูกปรับมาใช้แบบ ‘เฉพาะจุด’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันและตลาดการเงิน โดยเฉพาะในส่วนที่ระบบแบบดั้งเดิมยุ่งยากและมีความซับซ้อนสูง เช่น ในประเทศไทยมีบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน เพื่อลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและลดขั้นตอนในการทำงาน หรือการโอนเงินต่างประเทศที่ทั้งยุ่งยากและต้นทุนสูง เป็นต้น

 

สามพี่น้องจะพาภาคการเงินไปทางไหน?

 

คลื่นการเปลี่ยนแปลงภาคการเงินที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สุดท้าย สามพี่น้องจะปฏิรูปหรือปฏิวัติการเงินในแต่ละประเทศเพียงใด คงขึ้นอยู่กับบทบาทของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในประเทศนั้นๆ ด้วย

เพราะฉะนั้น นอกจากจะต้องรู้จักสามพี่น้องแล้ว ต้องรู้จักกับ ‘พ่อแม่’ ซึ่งเป็นผู้วางกฎกติกาและนโยบายอีกด้วย

พวกเขาปล่อยลูกๆ ทำธุรกิจกันเองเสมือนรัฐเปิดพื้นที่ให้เอกชนทำเองเพียงใด สร้างบรรยากาศให้มีการแข่งขันมากแค่ไหน?

พวกเขากำกับดูแลโดยรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันความเสี่ยง (พี่ใหญ่) และการสร้างนวัตกรรม (พี่รองและน้องเล็ก) ได้ดีแค่ไหน? 

พวกเขาสามารถสร้างและรักษาความน่าเชื่อถือ (trust) ในระบบการเงินได้เพียงใด?

ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการคาดการณ์อนาคตภาคการเงินของประเทศ

เรามาคอยดูกันครับว่าสามพี่น้องและพ่อแม่จะนำพา ธุรกิจครอบครัวที่ชื่อ ‘ภาคการเงิน’ ของประเทศไทยไปทางไหน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save