fbpx
จินตนาการต่อชีวิตที่ดี และ การเลือกตั้งท้องถิ่นของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับ เอกรินทร์ ต่วนศิริ

จินตนาการต่อชีวิตที่ดี และ การเลือกตั้งท้องถิ่นของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับ เอกรินทร์ ต่วนศิริ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

 

ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกโอบล้อมด้วยกฎหมายพิเศษจากสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นพื้นที่ที่นโยบายความมั่นคงแทรกผ่านวิถีชีวิตของผู้คนมายาวนาน การพัฒนาท้องถิ่นและพื้นที่ต่างๆ ถูกสร้างอยู่บนฐาน ‘ความปลอดภัย’ จนบางครั้งหลายคนอาจมองข้ามชีวิตที่แสนปกติ และความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ไป

คงใกล้เคียงไม่น้อย หากจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดคือนิยามตรงกันข้ามของคำว่า ‘กระจายอำนาจ’

แต่ในที่สุด ‘การเลือกตั้งท้องถิ่น’ ก็เกิดขึ้น (เสียที) ช่วงเวลาที่คนท้องถิ่นจะได้ใช้อำนาจของตัวเองผ่านปลายปากกากลับมาอีกครั้ง และเป็นเวลาที่สังคมจะได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนท้องถิ่นต้องการอย่างแท้จริงด้วย — แน่นอน คนชายแดนใต้ยังต้องการความปลอดภัย แต่อาจเป็นความปลอดภัยที่ผู้คนสามารถจินตนาการถึงคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดี ไม่ต่างจากทุกคนในประเทศ

เช่นนั้นแล้ว คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า คนสามจังหวัดอยากเห็นอะไรในท้องถิ่นของตัวเอง และการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึงนี้จะตอบโจทย์เหล่านั้นอย่างไร

101 ชวน ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้อำนวยการปาตานีฟอรั่ม มาตอบคำถามว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นของคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาพการพัฒนาท้องถิ่นชายแดนใต้ที่สอดรับกับชีวิตของผู้คนเป็นอย่างไร นักการเมืองท้องถิ่นอยู่ตรงไหนท่ามกลางบริบทความรุนแรงที่ไม่อาจมองข้าม และการกระจายอำนาจแบบใดที่จะทำให้การพัฒนาอยู่ในมือคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

เมื่อพื้นที่ถูกเปิด และกำลังรอให้ทุกคนไปใช้สิทธิในวันที่ 20 ธันวาคม นี้ เสียงของ ‘ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส’ เป็นอีกเสียงที่อยากให้คุณตั้งใจฟัง

 

บรรยากาศก่อนวันเลือกตั้งท้องถิ่นที่สามจังหวัดเป็นอย่างไร มีพลวัตทางการเมืองใดที่น่าจับตาหรือมีผลต่อการลงคะแนนเสียงบ้าง

กระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เป็นกระแสที่สูงมากนัก เนื่องจากปัจจัยที่หนึ่งคือ การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นเร็วมาก ผู้สมัครมีระยะเวลาเตรียมตัวน้อย ส่งผลต่อนโยบายและการเตรียมความพร้อมของผู้สมัคร ก่อนหน้านี้มีกระแสผลักดันจากคนที่ศึกษาเรื่องการเมืองท้องถิ่นให้เกิดการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับหรือชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น แต่พอจะจัดเลือกตั้งขึ้นมา ก็เกิดขึ้นเร็วมาก

ปัจจัยที่สองคือ การจัดการเลือกตั้งแค่ อบจ. โดยไม่ลงไปถึงหน่วยการเลือกตั้งเทศบาลและหน่วยอื่นๆ ย่อมส่งผลต่อความคึกคัก เพราะเป็นการเลือกตั้งแค่หน่วยเดียว ถ้ามีเทศบาลเมือง หรือ อบต. ด้วย ย่อมจะทำให้บรรยากาศคึกคักกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจ กระแสความเปลี่ยนแปลงและจินตนาการทางสังคมการเมืองก็เปลี่ยนไปมากพอสมควร เช่น การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ความสนใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงกระแสเกี่ยวกับวิธีคิดในการพัฒนาประเทศ เริ่มมีการตั้งคำถามว่า ทำไมแนวทางพัฒนาประเทศจำกัดอยู่แค่เฉพาะส่วนกลาง คนเริ่มคิดถึงเศรษฐกิจที่กระจัดกระจายไปตามท้องถิ่น เพราะเรามีแหล่งท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีศักยภาพจะพัฒนาตัวเองมากขึ้น แต่ผู้คนในท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจบริหารจัดการการพัฒนาเมือง เพราะที่ผ่านมาเรื่องของท้องถิ่นจำกัดวงอยู่เฉพาะส่วนกลางและคนที่อยากจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเท่านั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นความคาดหวังของผู้คนในพื้นที่ว่า จะได้ใช้อำนาจในการบริหารจัดการหรือพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง

 

บริบทความรุนแรงที่ดำเนินมาหลายปีทำให้ความคาดหวังต่อการพัฒนาท้องถิ่นของคนสามจังหวัดเปลี่ยนไปอย่างไร

สามจังหวัดมีเหตุการณ์ความรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงหลัง คนท้องถิ่นมีเงื่อนไขว่าต้องการสร้างศักยภาพท้องถิ่น ต้องการพึ่งตัวเอง โดยก้าวข้ามเรื่องความรุนแรงไปเลย คนที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วกลับมา เช่น คนที่กลับจากมาเลเซียเพราะวิกฤตการเงิน หรือคนที่กลับจากตะวันออกกลางเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นู่น เมื่อกลับมาแล้วท้องถิ่นก็ไม่มีงานรองรับ หลายคนที่เก็บเงินได้ก็พยายามจะประกอบกิจการส่วนตัว เช่น คนรุ่นใหม่พยายามทำสตาร์ตอัปหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า มีคนจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ที่อยากจะพัฒนาพื้นที่ให้หลุดพ้นจากความรุนแรง เพราะในสมการความรุนแรง คนท้องถิ่นจำนวนมากก็ไม่ได้มีส่วนร่วมมากนักในการเจรจาเพื่อสันติภาพ

 

โจทย์การพัฒนาท้องถิ่นที่คนสามจังหวัดต้องการคืออะไร นโยบายสาธารณะในการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบไหนที่คนมองหา

ผมคิดว่าโจทย์ที่สำคัญมากๆ คือมิติเศรษฐกิจ ปัจจุบันเนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สามจังหวัดที่พึ่งพาภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบ ราคาสินค้าเกษตรกรรมตกต่ำ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน มิติเศรษฐกิจยังคาบเกี่ยวกับการมีงานทำในท้องถิ่น ถ้าในพื้นที่มีงานทำ เยาวชนก็ไม่ต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือมาเลเซีย ฉะนั้น นโยบายด้านเศรษฐกิจจึงเป็นหัวใจหลักในพื้นที่สามจังหวัด

ส่วนนโยบายที่รองลงมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องระบบคมนาคม การเดินทางในพื้นที่ ปัจจุบันมีการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่ปัญหาที่ทุกคนจะเจอเมื่อมาเที่ยวสามจังหวัดคือไม่มีรถสาธารณะ จะให้เช่ารถตลอดก็ไม่ได้ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าจะมีรถโดยสารวิ่งข้ามจังหวัดหรือรถแท็กซี่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเมื่อขาดสิ่งนี้ พื้นที่ต่างๆ ก็ไม่เชื่อมต่อกัน ไม่เอื้ออำนวยกับสาธารณะ การมีรถสาธารณะไปจนพื้นที่สาธารณะจะทำให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้พึ่งพาพึ่งอาศัยกัน และเปิดโอกาสให้คนได้เข้าใจกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังสืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ถนนหนทางในภาคใต้จริงๆ คุณภาพดีมาก พูดต่อแบบแซวๆ ก็คือ ถ้าไม่มีด่านมาทำพัง (หัวเราะ)

โดยทั่วไปชาวบ้านก็หวังอยากจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้แก่คน เรื่องที่ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่สำหรับสามจังหวัด เช่น การเข้าถึงน้ำและไฟฟ้า ชาวบ้านต้องการเสถียรภาพในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ แต่สังเกตว่าที่นี่จะไม่มีปัญหาเรื่องถนน เพราะเขามองว่าการมีถนนจะปลอดภัยกว่าการปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่าซึ่งอาจเกิดความไม่สงบ นี่เป็นมุมมองการยับยั้งความรุนแรงมากกว่า

เท่าที่ผมได้สอบถาม ปัจจุบันคนยังต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือ Wi-fi ฟรี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และชาวบ้านบางส่วน ทั้งเพื่อการติดต่อสื่อสาร การประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ แต่จะให้ชาวบ้านติด Wi-fi เดือนละห้าหกร้อยก็แพงเกินไปสำหรับพวกเขา ช่วงโควิดที่ผ่านมายิ่งสะท้อนความจำเป็นมาก นักศึกษาของผมต้องเดินทางจากเขตชนบทเข้าเขตเมืองหลายสิบกิโล เพราะที่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต เขาต้องมาร้านกาแฟเพื่อหาอินเทอร์เน็ตใช้เรียนหนังสือออนไลน์ อีกทั้งการอยู่บ้านในเขตลึกก็ทำให้เขาไม่เชื่อมโยงกับคนอื่น ฉะนั้น ในแง่ของการพัฒนายุคใหม่ คนต้องการเทคโนโลยีแบบนี้ไม่ต่างจากคนกรุงเทพฯ เลย เพื่อให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

 

อบจ. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตอบรับความต้องการของคนพื้นที่ได้ไหม ในหลายๆ จังหวัด ชาวบ้านดูจะไม่ค่อยคาดหวังกับ อบจ. มีปัญหาอะไรก็พุ่งไปที่ส่วนกลางมากกว่า อาจารย์เห็นภาพแบบนี้ในสามจังหวัดไหม

ในสามจังหวัด ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่คาดหวังกับ อบจ. เลย เขาหวัง แต่ระดับความคาดหวังต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เขาไม่หวังในแง่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบ อันนี้ยกออกไปเลย เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ อบจ.

อบจ. และ อปท. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการพัฒนาจังหวัดภายใต้งบประมาณ ซึ่งงบประมาณต่อปีของ อบจ. มีหลายล้านบาท แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้กับคุณภาพชีวิตของผู้คนมากนัก จะถูกนำไปใช้ในมิติความมั่นคงมากกว่า คำถามจึงมีอยู่ว่า คุณภาพชีวิตที่เราว่าคืออะไร เช่น การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การเข้าถึงการศึกษา เรื่องเหล่านี้ต้องพูดกันอย่างซีเรียส

ต้องบอกว่า ภารกิจของ อบจ. มีเยอะมาก แต่งบประมาณไม่บาลานซ์กัน ขณะที่งบประมาณความมั่นคงมีเยอะ แต่ภารกิจที่ทำเต็มหมดแล้วจนต้องไปขยายภารกิจเรื่องการพัฒนา และเมื่องานพัฒนาไปอยู่ในมือของฝ่ายความมั่นคง ก็พัฒนาแบบฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชน

 

 

ภารกิจของ อบจ. ในสามจังหวัดมีอะไรบ้าง มีแง่มุมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างไร

ผมคิดว่านักการเมืองท้องถิ่นที่นี่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากมีอำนาจพิเศษอยู่ในพื้นที่ กล่าวคือมีกองกำลังทหารอยู่ และยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลเรื่องการพัฒนา เมื่อมีองค์กรใหญ่สององค์กรก็หมายความว่ามีงบประมาณ แต่ถ้าเราดูจากงบประมาณแผ่นดิน จะเห็นว่ามันไปกระจุกตัวอยู่กับงานด้านความมั่นคง

นอกจากนี้ การที่นักการเมืองท้องถิ่นต้องทำงานท่ามกลางหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายต่อต้านรัฐ ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องต่อรองและปรับตัว เพราะงานบางอย่างทับซ้อนกันในเชิงพื้นที่ เช่น อปท. ในเขตพื้นที่สีแดงต้องปรับตัวเพื่อทำงานร่วมมือกับฝ่ายทหารมากขึ้น โดยมุมมองของคนที่เป็นฝ่ายทหารก็มองว่าพื้นที่สีแดงจะต้องไม่เกิดความรุนแรง พวกเขาจึงต้องตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ ในส่วนของคนที่ต่อสู้กับรัฐ เขาก็เป็นศัตรูกับทหารอยู่แล้ว อปท. จึงเป็นคนที่อยู่ระหว่างกลาง หากเขาจะพัฒนาโครงการสักโครงการ ก็ต้องต่อรองว่าขออย่าให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่นี้ได้ไหม เพราะเขาต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

เท่าที่ผมลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์นักการเมืองท้องถิ่นในสองปีที่ผ่านมา ผมเห็น อปท. เผชิญกับความยากลำบากมาก ถ้าใกล้ชิดกับกลุ่มต่อต้านรัฐ กลุ่ม BRN หรือนักรบในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคงก็จะมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับกลุ่มติดอาวุธ แต่เมื่อเขาทำงานร่วมกับรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง พวกเขาก็ถูกกลุ่มติดอาวุธมองว่าทำงานให้รัฐ เขาจึงต้องคิดคำนวณตลอดเวลาและต้องบาลานซ์ความสัมพันธ์ให้ได้ โดยเฉพาะ อปท. ระดับท้องถิ่นที่เล็กกว่า อบจ. ชีวิตของพวกเขาอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา อปท. บางพื้นที่ต้องพกอาวุธ เพราะกลัวว่าจะเจอเหตุการณ์ปะทะ และยังไม่รู้ว่าทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายติดอาวุธจะมองเขาอย่างไร เขาจึงบอกผมว่า วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องพกอาวุธไว้ป้องกันตัว แต่ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ไม่มีงานศึกษาบทบาทของพวกเขามากนัก มีแต่การศึกษาโครงสร้างใหญ่ ส่วนนักการเมืองท้องถิ่นก็ไม่ถูกพูดถึงในสมการการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และถูกลืมว่าพวกเขามีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก

จริงๆ ภารกิจหลักก็ว่าไปตามตัวกฎหมาย ทั้งประเทศมีกรอบเหมือนกัน งบประมาณถูกใช้และตรวจสอบในหลักการเดียวกัน เพียงแต่เมื่อเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคิดคำนวณไปถึงมิติความปลอดภัยของผู้คนในพื้นที่ โดยที่ชีวิตของพวกเขายังพัฒนาได้ด้วย ไม่ใช่ปลอดภัยแต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ปากท้องเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมคิดว่านี่เป็นงานยากที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น

ประการที่สอง ผมคิดว่ามี 17-18 อบต. ที่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดน คนในพื้นที่ไปมาเลเซียกันบ่อย บางคนไปประกอบอาชีพ ซึ่งเขามีโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่อยู่ในมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การท่องเที่ยว คือต้องมีภารกิจงานและวิธีคิดที่จะทำให้คนทั้งสองประเทศใกล้ชิดกัน เพราะต้องเดินทางติดต่อกันไปมาตลอด นอกจากทางฝั่งไทยแล้ว ก่อนที่โควิดจะระบาด คนจากมาเลเซียก็มาเที่ยวภาคใต้เยอะมาก เพราะที่นี่ของถูกและมีวัฒนธรรมคล้ายกับมาเลเซีย อย่างไรก็ดี บางหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง จะมองในมุมความปลอดภัยและความมั่นคงของรัฐ ทำให้เขาตรวจเข้มและใช้งบประมาณเพื่อความมั่นคงในมิติที่คับแคบ ฉะนั้นแม้ อปท. ในพื้นที่จะมีศักยภาพและมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการพัฒนา แต่การที่รัฐหวาดระแวงเกินไปก็ทำให้เขาไม่กล้าขยับมาก

 

นอกจากทำให้การพัฒนาไม่สอดรับกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ นโยบายความมั่นคงยังมีผลต่อการกระจายอำนาจอย่างไร

เนื่องจากพื้นที่นี้ถูกจัดเป็นพื้นที่พิเศษ มีกฎหมายและหน่วยงานความมั่นคง คำถามใหญ่จึงมีอยู่ว่า วิธีคิดและวิธีทำงานของหน่วยงานความมั่นคงได้ปรับตัวหรือเปล่าภายในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา

มีหลายอย่างที่หน่วยงานความมั่นคงทำงานทับซ้อนกับหน่วยงานพัฒนา โดยเฉพาะ อปท. ปัญหามีอยู่ว่าหากคนไม่พอใจหน่วยงานความมั่นคงเวลาลงไปทำกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน พวกเขาก็ไม่กล้าพูด ช่องทางที่เปิดโอกาสให้เขาพูดก็มีน้อยมาก เสียงของคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องการบอกว่ากิจกรรมนี้ทำไม่ได้ ไม่โอเค ทำแล้วเกิดปัญหาแน่นอน จึงเป็นเสียงที่เบา เมื่อพื้นที่ตรงนี้หายไป อปท. ก็ต้องคอยตามแก้ แต่ไม่ใช่ว่า อปท. ในพื้นที่จะอยู่ตรงข้ามกับหน่วยงานความมั่นคงตลอดนะครับ อย่างที่พูดไปว่าพวกเขาก็ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วย ไม่งั้นจะอยู่ลำบาก

 

ผู้สมัครในปีนี้มีใครที่น่าจับตามองบ้าง และภาพรวมของนโยบายที่นำเสนอเป็นอย่างไร

ผู้สมัครของสามจังหวัดเป็นมุสลิมทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นหน้าเก่าเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นจังหวัดนราธิวาสที่คณะก้าวหน้าส่งมา

ที่ปัตตานีมีผู้สมัคร 2 คน คือ เศรษฐ์ อัลยุฟรี เป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปีแล้ว ในยุค คสช. ที่ผ่านมา เขาก็ดำรงตำแหน่งรักษาการ เศรษฐ์มีฐานคะแนนเสียงที่แน่นหนามาก หลายคนคิดว่าแกน่าจะชนะอีก แต่อย่างไรก็มีคนท้าชิงคือ รุสดี สารอเอง พูดกันในภาษาผมคือ เขาเป็นคนที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และจริงๆ ต้องบอกว่า ปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีนักศึกษาคนรุ่นใหม่เยอะ ถ้าคณะก้าวหน้ามีผู้สมัครในปัตตานี ซึ่งจะแพ้ชนะผมไม่รู้นะ แต่น่าจะทำให้บรรยากาศของการเลือกตั้ง อบจ. คึกคักขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาว

ถ้าเรามาดูนโยบาย ผมคิดว่ายังไม่มีนโยบายที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือทั้งสองคนนำเสนอว่าต้องการจะพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาเศรษฐกิจโดยภาพรวม แต่ไม่ได้มีนโยบายใหม่ที่มีนัยสำคัญ พูดภาษาง่ายๆ คือพื้นที่นี้ยังยึดโยงกับตัวบุคคลเป็นส่วนใหญ่

ส่วนจังหวัดยะลา ผู้สมัครจากตระกูลใหญ่คือ มุขตาร์ มะทา เป็นน้องชายของ อาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ นอร์มะทา) ก็เป็นตัวยืนหลัก ส่วนคนที่ท้าชิงคือ อับดุลลาเตะ ยากัด ก็พยายามเข้ามาท้าทายหรือเปลี่ยนแปลง แต่ผมคิดว่าด้วยกำลังต่างๆ ก็คงยาก นโยบายหลักก็ไม่ต่างจากปัตตานี เนื่องจากเขต อบจ. ปัตตานี และยะลายังเป็นฐานอำนาจเก่า นายก อบจ. คนเก่าก็ยังดูแลทั้งระบบอยู่

พื้นที่สุดท้ายคือนราธิวาส ผู้สมัครก็มี กูเซ็ง ยาวอหะซัน ซึ่งมีลูกสองคนเป็น ส.ส. อยู่ที่พรรคประชาชาติและพลังประชารัฐ กำลังของเขาก็สูงมาก และเป็นคนเก่าคนแก่ ส่วนผู้ท้าชิงคือก็มี รำรี มามะ รวมไปถึง คอยรูซามัน มะ ผู้สมัครของคณะก้าวหน้า ซึ่งก็ต้องถือว่า คณะก้าวหน้ามาสร้างสีสันในนราธิวาส มาพูดถึงนโยบายเรื่องโครงสร้าง ระบบคมนาคม เศรษฐกิจ สตาร์ตอัป หรือเรื่องที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ นโยบายที่เขาเสนอแทบจะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกันทั้งประเทศ ถือเป็นการเขย่าในพื้นที่ อบจ. นราธิวาสในการเลือกตั้งครั้งนี้เลย แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ส่งในจังหวัดปัตตานี ยะลา (หัวเราะ)

 

 

การหาเสียงในสามจังหวัดคึกคักขนาดไหน มีลักษณะเฉพาะตัวที่สะท้อนผ่านการหาเสียงไหม เช่น บริบททางวัฒนธรรมและศาสนา

สิ่งที่พิเศษในครั้งนี้ คือการหาเสียงในโลกดิจิทัล น่าสนใจว่าผู้สมัครสามจังหวัดทุกคนมีเพจของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกใหม่ หลายคนก็ใช้เพจแนะนำตัวเองและพูดถึงนโยบาย ผมว่านี่เป็นมิติใหม่ที่มากับโลกดิจิทัล

นอกจากนี้ ถ้ามองเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองที่สามจังหวัด นอกจากจะอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือมัสยิดแล้ว ผู้สมัครยังไปลงพื้นที่ที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านมากขึ้น ร้านน้ำชาเป็นพื้นที่ทางการเมืองของสามจังหวัดอย่างชัดเจน เป็นพื้นที่รวมผู้คนที่หลากหลายไว้ และน่าสนใจว่าบทบาทของผู้หญิงก็มีมากขึ้น แม้จะไม่ใช่ในแง่ของผู้สมัคร แต่มีนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง มีการพูดคุยเรื่องการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้หญิงมาก ผมคิดว่าถ้ารออีกสักสมัย เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นบทบาททางการเมืองของผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดมากขึ้น

ส่วนระบบอุปถัมภ์และสายสัมพันธ์ทางเครือญาติก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญมากๆ ในการเลือกตั้งที่นี่ เพราะมีคอนเซ็ปต์ทางด้านศาสนาที่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างญาติ ห้ามตัดญาติขาดมิตรกัน คนในพื้นที่หลายคนจึงเลือกตั้งตามเครือญาติหรือสายสัมพันธ์ ซึ่งในพื้นที่เครือญาติจะเยอะมากนะครับ เชื่อมโยงกันหมด

เครื่องมืออื่นๆ ที่สำคัญของนักการเมืองท้องถิ่น เช่น ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นเส้นสายทางการงาน และเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เครือข่ายที่เชื่อมโยงกันผ่านโครงการต่างๆ การได้มาซึ่งคะแนนเสียงในปัจจุบันก็จะใช้วิธีการอย่างแยบยลมากขึ้น พูดให้ถึงที่สุด ผู้รู้ศาสนาก็มีอิทธิพลทางความคิดกับคนในพื้นที่ มีโอกาสบรรยายและได้พบปะกับผู้คน ซึ่งบริบทนี้จะไม่ค่อยมีในพื้นที่อื่น เพราะศาสนาอิสลามไม่ได้แยกศาสนาออกจากการเมือง

อีกประเด็นที่คงไม่ต่างจากที่อื่นคือ ที่นี่มีนักธุรกิจท้องถิ่น เจ้าพ่อ หรือผู้มีอิทธิพล และมีสมการที่สำคัญอีกประการคือ ความสัมพันธ์กับกองทัพหรือทหารหน่วยที่อยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน อิทธิพลมากน้อยแค่ไหนผมไม่ทราบ แต่เท่าที่ผมพูดคุยกับนักการเมืองท้องถิ่น เขาก็เล่าว่าต้องคุยกัน ต้องไปแนะนำตัวให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยนั้นๆ รู้จัก บางพื้นที่ทหารก็ไม่มายุ่งเลย ขณะที่บางพื้นที่เขาก็มีส่วนร่วมด้วยเพราะต้องมีโครงการร่วมกัน

 

โดยภาพรวมแล้ว คนในพื้นที่เลือกนักการเมืองด้วยเหตุผลอะไร

ถ้าพูดกันในภาพรวม คนในพื้นที่ยังเลือกโดยยึดโยงกับตัวบุคคลและอิทธิพลของตัวบุคคล ผ่านเครือข่าย ผ่านระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติ เป็นแบบนี้มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่ผมก็พบว่า กระแสของคนรุ่นใหม่จะเลือกตามนโยบายมากขึ้น ผมลองทำเทสกับนักศึกษาในชั้นเรียน ผลที่ได้ยืนยันกับผมว่าคนรุ่นใหม่เขาดูนโยบาย เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา เด็กรุ่นใหม่เลือกอนาคตใหม่โดยที่ไม่รู้จักผู้สมัครเลย ไม่เคยเห็นหน้า แต่เขาเลือกนโยบายของพรรคเป็นหลัก เขากาเพราะอยากจะกาพรรคนี้ นั่นหมายความว่า ถ้าเขาเลือกพรรคการเมืองก็ต้องเป็นพรรคที่มีนโยบายบางอย่างตรงกับความต้องการของเขา

มันเป็นสิ่งที่ค่อยๆ ขยับ ไม่ได้พลิกโฉมในทีเดียว แต่เป็นแนวโน้มที่มีให้เห็นในช่วงหลัง และมีการพูดว่านักการเมืองท้องถิ่นต้องมีคุณภาพ จะเป็นคนแก่ เป็นวัยรุ่น อะไรก็ได้ แต่ขอให้มีนโยบายที่ดี ตอบสนองกับคนพื้นที่ ผมว่าแนวโน้มในอนาคต การแข่งขันทางการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติจะเน้นนโยบายมากขึ้น ถ้าพูดในภาษาแบบคนรุ่นใหม่หน่อยคือ เขาต้องการเปลี่ยนเกมจริงๆ เขาไม่อยากจะเล่นหรือเลือกภายใต้กรอบเกมเก่าๆ เดิมๆ

นอกจากนี้ เขายังเริ่มรู้สึกว่าการเมืองท้องถิ่นรอบนี้ใกล้ตัวมากขึ้น จากเมื่อก่อนไม่สนใจเลย ตอนนี้ก็สนใจและคิดว่าการเมืองมีผลต่อคุณภาพชีวิตของเขาอย่างมีนัยสำคัญ จึงเริ่มมีการตั้งคำถามกับเรื่องที่แล้วๆ มา หรือคำถามง่ายๆ เช่น อบจ. มีไว้ทำไม เกี่ยวอะไรกับชีวิตเขา ผมคิดว่าแค่มีคำถามก็น่าสนใจแล้ว

 

 

เหตุผลในการเลือก อบจ. ของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่เอกรินทร์รวบรวมในคลาส

 

การเลือกตั้งท้องถิ่นเชื่อมโยงหรือสะท้อนการเมืองระดับชาติอย่างไรบ้าง

ในมุมของผม การเมืองระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติอย่างแน่นอน เช่น เราจะเห็นพรรคการเมืองบางพรรคที่ให้การสนับสนุนผู้สมัครเป็นพรรคระดับชาติ ตรงนี้ก็มีนัยสำคัญ ทั้งการทำโครงการ การเกาะกลุ่มในพื้นที่ การควบคุมพื้นที่เพื่อดูว่าเสียงในระดับชาติเป็นยังไง ถ้าเราได้นายก อบจ. ที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมือง โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งในการระดับชาติก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้น ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงและใกล้ชิดกัน พรรคการเมืองหลายพรรคพยายามเข้ามาสู่ อปท. มากขึ้น แต่พูดกันให้ถึงที่สุด ความเชื่อมโยงมีลักษณะสองแบบ คือ การสนับสนุนงบประมาณหรือทรัพยากรการเงิน และการสนับสนุนทางด้านนโยบายหรือทรัพยากรความคิด ต้องดูว่าพรรคการเมืองให้คุณค่าหรือทุ่มกำลังไปกับการสนับสนุนรูปแบบไหนมากกว่ากัน

สุดท้าย ผมคิดว่า สิ่งสำคัญคือการที่นักการเมืองท้องถิ่นไม่ประกาศชัดว่าใช้แบรนด์ของพรรคการเมือง ซึ่งเขาคงประเมินแล้วว่าจะสร้างผลในแง่ลบมากกว่าในแง่บวก เพราะการที่คุณมีแบรนด์พรรคการเมือง คุณต้องมั่นใจจริงๆ ว่าจะสามารถคุมได้ทั้งจังหวัด ซึ่งทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องพูดว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้ง 11 เขตการเลือกตั้งใหญ่ ไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้ยกจังหวัด ประชาธิปัตย์ก็ได้แค่เขตเดียว คือเขต 1 ปัตตานี การจะส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในนามประชาธิปัตย์จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะช่วย หรือในนามพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ เพราะมีประชาชาติที่ครองอยู่ 3 เขต และมีภูมิใจไทยครองอยู่ ดังนั้น การมาในนามของพรรคการเมืองน่าจะให้ข้อเสียมากกว่าข้อดี

 

เราจะสร้างนโยบายสาธารณะที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างไร

เรื่องการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่เราพูดกันมานาน เป็นการกระจายอำนาจในจินตนาการมากกว่าในรูปแบบของภารกิจ อปท. ถ้าพูดในภาพรวม การกระจายอำนาจของไทยหดตัวลงมาก ระบบราชการยังเป็นใหญ่ การของบประมาณประจำปีก็ต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนกำกับดูแล ดึงอำนาจการควบคุมไปอยู่ที่ผู้ว่าหมดเลย และยังมี สตง. เข้ามาตรวจสอบการจัดการเรื่องงบประมาณอีก ทำให้ท้องถิ่นดิ้นยาก

ในสามจังหวัดเป็นพื้นที่แรกๆ ที่พยายามจะเสนอเขตการปกครองพิเศษ ยกเว้นเชียงใหม่ที่พยายามเสนอการเลือกตั้งผู้ว่าและถูกปัดตกไป สามจังหวัดเสนอโมเดลเพื่อเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ต่างจากคนทั้งประเทศร่วมออกแบบการอยู่ร่วมกัน โดยที่เขาสามารถกำหนดชะตากรรมชีวิตของพวกเขาได้เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี เมื่อโครงสร้างระบบการกระจายอำนาจไม่เอื้ออำนาย ยิ่งในระบบราชการ การแก้ไขปัญหาก็ยากมากขึ้น เพราะเขตพื้นที่แบบนี้ต้องการรูปแบบการกระจายอำนาจแบบพิเศษ ข้อเสนอของผมก็คือ อาจจะต้องพูดคุยถึงรูปแบบการปกครองพิเศษอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อจะหยิบยื่นข้อเสนอให้เป็นบทสนทนาร่วมกันระหว่างคนที่ติดอาวุธซึ่งต้องการการแบ่งแยกดินแดน แต่ในแง่ความเป็นจริง เราสามารถหยิบยื่นเรื่องเขตการปกครองพิเศษให้มาร่วมกันพัฒนาได้ ผมคิดว่าเรื่องเขตการปกครองพิเศษจะเป็นบทสนทนาที่แข็งแรงและนำไปสู่ทางออกของปัญหาสามจังหวัด โดยที่ต้องมีรายละเอียดว่าจะอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบไหน

เมื่อหันกลับมามองโครงสร้างทางอำนาจของไทย ผมแทบจะไม่มีความหวังถึงเขตการปกครองพิเศษเลย ยกเว้นว่าประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตย ยกเว้นว่าประเทศนี้จะเชื่อมั่นว่าประชาชนมีสิทธิมีเสียง เชื่อมั่นว่าประชาชนที่อยู่ในดินแดนนี้ไม่ได้เป็นผู้ร้าย ถ้ามองประชาชนที่นี่เป็นอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มองในความหมายคนเท่ากันที่มีความคิด ความฝัน มีจินตนาการต่อชีวิตที่ดีไม่ต่างจากคนกรุงเทพฯ หรือคนหัวเมืองใหญ่ ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้สำเร็จ

 

 

[box]

การเมืองท้องถิ่นที่คนปัตตานีอยากเห็น

 

 

 

ซูกริฟฟี ลาเตะ

ประธานกลุ่มเปอร์มาส (สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือPerMAS: Persekutuan Mahasiswa Anak Muda dan Siswa Patani)

 

“เมื่อเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น เราต้องนิยามว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของท้องถิ่น การเลือกใครสักคนมาบริหาร ก็ต้องดูว่าใครสามารถรักษาผลประโยชน์ของพื้นที่ได้มากที่สุด แม้เขาจะบอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่เขาทำคืออะไร ดูดส้วม ตัดหญ้า ซ่อมถนน นั่นคือสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ แค่นั้น แต่เผอิญว่าเมื่อมีแค่นั้น การคอร์รัปชันก็ง่าย นึกถึงการทำถนนสิ เดี๋ยวทำๆ อีกละ

“เราต้องเลือกคนที่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าพอจะอยากเห็นปัตตานีเปลี่ยน นายกคนก่อนเขาก็ทำหลายอย่างนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาดีทุกอย่าง ก็มีมุมที่ผมรู้สึกไม่โอเคกับเขาเยอะเลย แต่คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเนี่ย เขาก็ใกล้ชิดกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ท้องถิ่นจะมองเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบพรรคใหญ่ไม่ได้ เราต้องดูว่าใครสามารถรักษาผลประโยชน์หรือทำให้ที่นี่พัฒนาได้มากขึ้น คนท้องถิ่นเขาจะเรียกผู้สมัครกลุ่มเดิมๆ ว่า ‘บ้านใหญ่’ ประเด็นคือโครงสร้างของรัฐไม่เปิดโอกาสให้คนแข่งกัน ‘บ้านใหญ่’ ก็เลยมีโอกาสมากกว่า”

“ผมอยากจะเลือกโดยดูว่านโยบายของเขาเป็นยังไง ผมเป็น new voter ไม่เคยโหวตเลือกตั้งท้องถิ่นมาก่อน ก็อยากเห็นคนที่มีวิสัยทัศน์การพัฒนาจริงๆ ผมไม่ชอบวัฒนธรรมที่นักการเมืองมีหน้าที่แค่ต้องไปงานเลี้ยง งานแต่ง  ถ้าไม่ไปคนจะโกรธ ผมเกลียดมากเลย สิ่งที่ผมอยากเห็นคือการเติบโตของปัตตานี อยากเห็นการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวให้ popular ไปเลย อยากเห็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนพื้นที่ อยากทำระบบขนส่งมวลชนที่ดี แบบที่ไม่จำเป็นต้องรอรถเป็นสองสามชั่วโมงเวลากลับบ้าน และอยากให้โครงสร้างการเมืองท้องถิ่นทำอะไรได้มากกว่านี้”

 

รอซิดะห์ ปูซู

ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้

 

 

“เราอยากเห็นกระบวนการทำงานที่ประชาชนมีส่วนร่วม ได้ยินเสียงของเด็ก เยาวชน ผู้หญิง เราอยากให้คนรุ่นใหม่ๆ ไปใช้สิทธิ ไปแสดงเจตจำนงในทางการเมือง และถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นคนรุ่นใหม่อาสาเข้ามาทำงานในทางการเมือง เราเชื่อว่า ถ้าการเมืองใหม่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม แม้แต่คนตัวเล็กๆ ในชุมชน ก็จะเกิดสิ่งใหม่ๆ ในชุมชนนั้น”

“การเมืองที่ผ่านมาเป็นการเมืองที่ผูกขาดในกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นตระกูลหรือแก๊ง แล้วก็ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ส่งเสียง โดยเฉพาะผู้หญิง หลายพื้นที่ในสามจังหวัดผู้หญิงมาเล่นการเมืองไม่ได้ วันนี้มันต้องเปลี่ยนแล้ว”

“ถ้าเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมเมื่อไหร่ ก็จะเกิดการเรียนรู้ เกิดการตรวจสอบ และเกิดการขับเคลื่อนตามมา ส่วนรูปแบบการพัฒนาจะเป็นยังไง ไปทางไหน เราไม่ว่า เพราะหากเปิดพื้นที่ให้คนได้ส่งเสียงและมีส่วนร่วมเมื่อไหร่จะเกิดรูปแบบที่เป็นของผู้คนจริงๆ ถูกไหม”

 

[/box]

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save