fbpx
ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น

ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น

กรกมล ศรีวัฒน์ เรื่องและภาพ

 

ในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์เกมการเมือง พวกเขาใช้สิทธิและเสียงพาพรรคอนาคตใหม่กวาดที่นั่งเป็นพรรคอันดับที่ 3 ไปอย่างเหนือความคาดหมาย ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกสภากำลังเข้มข้น คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เคยถูกแช่แข็งมานานนับตั้งแต่ คสช. เข้ามา อาจเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สะท้อนความต้องการในการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่

ก่อนจะเดินเข้าคูหา กาเบอร์ในใจในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 101 พาไปสำรวจมุมมองของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการถึงความรู้สึกนึกคิด และความคาดหวังต่อการพัฒนาบ้านเกิด ในดินแดนที่หลายคนมองว่ามี “เจ้าถิ่น” อย่างตระกูลอัศวเหม ซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับพรรคพลังประชารัฐ และผลการเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐก็พิสูจน์ความเข้มแข็งด้วยการกวาดที่นั่ง ส.ส. เขตไปอย่างท่วมท้นทั้งหมด 6 เขต จาก 7 เขต

เสียงของคนหนุ่มสาวคิดเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะพัดพาคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และในฐานะคนรุ่นใหม่ พวกเขาคาดหวังอะไรผ่านการใช้สิทธิ์ใช้เสียง 

 

แนน อายุ 19 ปี บางเมือง 

 

 

“ปีแรกเหมือนกัน หนูก็ตื่นเต้น ไม่เคยเลือกเนอะ เลือกตั้ง (อบจ.) ครั้งแรก”

“เพิ่งเห็นจดหมายส่งมาที่บ้านว่าชื่อนี้ๆ จะต้องไปเลือกตั้งที่เขตนี้ ก็รู้แล้วว่าต้องเลือก ถ้าถามว่าอยากไปไหม หนูไม่อยากไป แต่ก็ต้องไปอยู่แล้ว เพราะถ้าเราไม่ไปเราอาจจะเสียสิทธิอะไรหลายๆ อย่าง ก็คงต้องไป”

“มันก็อาจจะดีขึ้นนะคะ ถ้าเราเลือกคนที่คิดจะพัฒนาจริงๆ แต่หนูก็ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยได้ศึกษาเกี่ยวกับคนที่เขาจะเลือกตั้ง ไม่ได้คิดว่าเขาจะช่วยอะไรมาก เพราะทุกปีที่ผ่านมา หนูก็ไม่เห็นจะมีอะไรเปลี่ยนมากมาย สมุทรปราการมันก็เป็นเหมือนๆ เดิม หนูก็เลยเฉยๆ ไม่ค่อยอะไรกับพวกนี้อยู่แล้ว”

“การเมืองท้องถิ่นสำหรับหนู อาจจะไม่ได้เชื่อมโยงกับการเมืองภาพใหญ่นะ คิดว่าอย่างนั้น ความคิดเห็นส่วนตัว”

 

ก็อต อายุ 20 ปี พระสมุทรเจดีย์ (ซ้าย) / เนส อายุ 21 ปี แพรกษา (ขวา)

 

 

“รู้สึกว่าในที่สุดเราก็มีโอกาสได้เลือกอะไรที่มาพัฒนาจังหวัดเราเองด้วยตัวเองสักที เพราะปกติจะไม่ได้เลือก”

“ตอนนี้เราอยู่ในยุคของเรา เราน่าจะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องทำให้สมุทรปราการอยู่แบบเดิมๆ เพราะที่โตมา 20 ปี สมุทรปราการก็ยังอยู่กับครอบครัวเดิมๆ ไง”

“บ้านเราอยู่แพรกษา ถนนสร้างมาตั้งแต่เราเด็กๆ พอสร้างเสร็จก็ทุบทำใหม่ๆ เหมือนใช้ภาษีไปเรื่อยๆ เราก็เลยอยากเห็นอะไรที่พัฒนาไปมากกว่านี้ แล้วถนนก็ควรจะเสร็จสักทีได้แล้ว”

“ถ้าสมุทรปราการอยู่กับคนเดิมๆ ครอบครัวเดิมๆ สมุทรปราการก็ไม่ก้าวไปไหน อำนาจก็อยู่ที่คนกลุ่มเดิม อำนาจในประเทศก็อยู่ที่คนกลุ่มนี้ ในจังหวัดก็อยู่ที่คนกลุ่มนี้อีก มันทำให้เราไม่ก้าวไปไหนเลย ทั้งที่จังหวัดเราอยู่ติดขอบกรุงเทพฯ แต่แทบไม่มีอะไรพัฒนาเลย ดูบีทีเอสสิ ไปถึงแค่เคหะแล้วก็จบแล้ว แทนที่จะไปให้ถึงสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็ไปไม่ถึง”

“เราคิดว่าสมุทรปราการน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ เพราะสมุทรปราการทำอะไรได้อีกเยอะนะ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่มันไม่มีการพัฒนาเลยเป็นสิบปีแล้ว เราคิดว่าการศึกษา สมุทรปราการก็ไม่ได้ด้อยไปกว่ากรุงเทพฯ แต่ไม่มีการส่งเสริม สมุทรปราการยังไม่มีที่เรียนพิเศษดีๆ เลย ถ้าเราจะเรียนพิเศษดีๆ เราต้องไปซีคอนฯ เราต้องไปสยามหรือพญาไทอยู่เลย ส่วนใหญ่คนสมุทรปราการก็เข้าไปทำงานในกรุงเทพกันหมด ไม่ค่อยมีใครทำงานอยู่ในจังหวัด”

 

พลอย 25 ปี บางเมือง

 

 

“ไม่ตื่นเต้นกับเลือกตั้งท้องถิ่นเท่าไหร่ ยังรู้สึกไม่อินด้วยซ้ำ ไม่แน่ใจว่าเพราะไม่ได้อยู่แถวบ้านหรือเปล่า ตอนนี้ทำงานที่กรุงเทพฯ แต่พอได้กลับบ้านก็เริ่มเห็นการหาเสียง ก็เริ่มบอกตัวเองว่าต้องอินแล้ว เริ่มตื่นเต้นได้แล้ว”

“รู้สึกว่าเรามีข้อมูลน้อย ไม่ค่อยรู้เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการเมืองท้องถิ่น ที่โรงเรียนก็ไม่ได้สอนอะไรขนาดนั้น เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมืองก็ไม่ได้ลงลึก”

“จริงๆ เป็นเพราะเราอยู่ที่นี่จนชินด้วยแหละ ใช้ชีวิตที่นี่มากเกินไปจนชินเรื่องการเมืองและไม่ได้คิดว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไร พอมีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาให้คิดก็เลยรู้สึกว่า เออ  มันต้องเปลี่ยนได้แล้ว ที่เป็นอยู่มันไม่ได้ดีขนาดนั้น เราแค่ชินกับมัน ชินกับถนนหนทาง รถติด น้ำท่วม ชินกับปัญหามากกว่า”

“ถ้าเราได้คนที่เหมาะสมแล้วพร้อมจะเปลี่ยน พร้อมจะรับฟังปัญหา พร้อมจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม เห็นปัญหาจริงๆ แก้ปัญหาให้ตรงจุดก็จะดี คงจะเปลี่ยนได้เยอะเลย”

”อย่างแรก ปัญหาพื้นฐานเรื่องน้ำ ที่นี่ชื่อก็บอกแล้วว่าสมุทรปราการ เป็นเมืองที่อยู่กับน้ำ เราใช้ชีวิต ประกอบอาชีพที่่เกี่ยวกับน้ำหมดเลย แต่สมุทรปราการก็ยังมีคลองที่ชื่อว่า ‘คลองน้ำเน่า’  เรารู้สึกว่าเรื่องแค่นี้ยังทำอะไรไม่ได้ คนยังทิ้งขยะลงคลอง โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ทั้งที่น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่าของคนที่นี่ ทำไมเขาไม่เห็นปัญหานี้ เราว่านโยบายในอุดมคติคือทำยังไงให้น้ำสะอาด หรือมีการจัดการขยะที่ดี มีการแยกขยะได้ไหม เรื่องถนนหนทาง ทางเท้า สามารถออกแบบให้เป็น universal design สำหรับทุกคนได้ไหม เราอยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้เมืองเป็นเรื่องของทุกคนได้”

“ถ้าพูดถึงสมุทรปราการก็น่าจะรู้กันอยู่ว่าเป็นพรรคเป็นพวกไหน รู้นามสกุลใหญ่ เรามองว่านี่คือการเมืองรุ่นเก่ามากๆ เรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวก เอาพวกพ้องตัวเอง หรือเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง เป็นการเมืองที่เราอยู่กับคำพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วเราก็คิดว่าควรหลุดพ้นจากคำและการเมืองพวกนี้ได้แล้ว จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าคนที่เขาสนับสนุน เขาสนับสนุนเพราะอะไร เขาได้ผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า แต่เราอยากให้เขามองว่าถ้าเขาได้เลือกคนที่ดีกว่านี้เข้ามา มันดีกับตัวเขาในระยะยาวมากกว่านะ มันคือเรื่องของคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ชั่วคราว

“เรารู้สึกว่าสมุทรปราการไม่ได้มีพื้นที่ให้คนรุ่นเราขนาดนั้น แต่ในอุดมคติอีก ถ้าทำงานแบบมีคนสองเจเนอเรชันร่วมกัน สามารถคุยกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ จะเป็นอะไรที่ดีมากๆ เลย คนรุ่นเก่าก็เปิดรับคนรุ่นใหม่ รับฟังเสียงของเด็กๆ คนรุ่นใหม่เองก็รับฟังคนรุ่นเก่าเหมือนกัน เราต้องเข้าใจด้วยว่าเขาเติบโตมาแบบไหน อยู่ในสังคมแบบไหนมา แล้วก็แลกเปลี่ยนกัน ถ้ามีพื้นที่ตรงกลางก็จะดีมากๆ เลย”

“ที่ทำงานเราจะเชื่อในคำว่า small change – big move มากๆ คือการขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรเล็กๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เราว่ามันเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องนี้ สมมติการเมืองท้องถิ่นดี แต่ละชุมชนสามารถดูแลแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เราว่าภาพรวมก็ต้องดีไปด้วยอยู่แล้ว น่าจะต้องใช้เวลา แต่เราเชื่อว่ามันจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงทีละนิด”

 

เหมี๊ยว อายุ 20 ปี คลองด่าน

 

 

“รู้สึกเฉยๆ รู้สึกว่าเราต้องไปเลือกตั้ง แค่นั้นเลย หนูคิดว่าเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ค่อยมีผล เหมือนกับข้างในก็มีเส้นสาย เราเลือกไปยังไงก็ไม่ได้คนที่เราอยากได้อยู่ดี เลือกตั้งก็จบเหมือนเดิม ไม่มีอะไรพัฒนา ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็เลยเฉยๆ”

“การเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้ามองง่ายๆ อย่างเรื่องถนนหรือตลาด คิดว่าอย่างน้อยเลือกคนที่เข้าใจการจัดการเข้ามาคงจะดีกว่านี้ เอาแค่ที่คลองด่าน หลักๆ ที่หนูเห็นคือมีเงินมาสร้างถนน ก็สร้างแต่ที่เดิม สร้างอยู่นั่นแหละ แต่ตรงไหนที่เป็นหลุมเป็นบ่อที่ควรจะไปทำให้ดีขึ้น ก็ไม่มีใครไปทำอะไรเลย ถ้าเทียบตลาดคลองด่านกับตลาดปากน้ำ หนูคิดว่าตลาดปากน้ำดีมาก ในขณะที่ตลาดบ้านเรา คนอยากจะทิ้งอะไรตรงไหนก็ทิ้ง มันค่อนข้างจะสกปรก การจัดการไม่ค่อยโอเค สำหรับหนูถ้ามีคนมาจัดการอะไรพวกนี้ได้ คงจะดีขึ้นเยอะ”

“หนูว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาก็ส่งผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะอย่างน้อยคนที่เข้ามาลงชื่อสมัคร เขาก็น่าจะคิดว่าถ้าอยากถูกรับเลือก ก็ต้องมองสังคมในตอนนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วออกนโยบายที่จะได้รับความสนใจจากพวกเด็กวัยรุ่น”

“หนูรู้สึกว่าเขาอยู่กันมานาน เขาคงไม่ยอมปล่อยอะไรไปง่ายๆ คงต้องใช้ระยะเวลาสักหน่อย ก็จะใช้สิทธิไปเรื่อยๆ จนกว่าคนที่เราสนใจเขาจะได้”

 

บอม อายุ 26 ปี บางพลี

 

 

“ข่าวสารค่อนข้างเงียบ นอกจากป้ายไวนิล ป้ายที่ติดตามทาง ก็แทบจะไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆ เลย อาจจะมีตามเพจเฟซบุ๊กบ้างหรือข่าวตามโซเชียลบ้างว่าคนนั้นคนนี้ลงสมัคร เบอร์นั้นเบอร์นี้”

“ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ระดับประเทศ แล้วก็เกิดเหตุตามที่ทุกคนรู้ เลยทำให้หมดศรัทธาไปในระดับนึงว่า ถึงเราเลือกตั้ง อยากให้เป็นแบบไหน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นแบบที่เราหวัง”

“จริงๆ ผมอยู่สมุทรปราการมาตั้งแต่ ป.2 ตอนนี้ผมอายุ 26 เรื่องรถติดก็ยังติดเสมอต้นเสมอปลาย น้ำท่วมก็ยังท่วมเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าใครจะเข้ามาดูแล แต่สุดท้ายผมก็ยังมีความหวังเล็กๆ ว่ามันจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเราอยู่ที่นี่มานาน เราก็รักที่นี่ ผมว่าหลายๆ คนรู้สึกเหมือนกันว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

“ผู้เล่นเดิมๆ ผู้สมัครเดิมๆ จากฝ่ายเดิมๆ เราก็เห็นอยู่แล้วว่าเขาทำอะไร ไม่ทำอะไร พัฒนาไหม ก็แล้วแต่มุมมองคน อย่างผมรู้สึกว่าถ้าเราเลือกฝ่ายเดิม ก็คงจะเหมือนเดิม เช่น หอคอยสมุทรปราการที่สร้างมา สุดท้ายสร้างเสร็จก็ไม่ได้บูมหรือเป็นอย่างที่หวัง ถ้าให้ผมเลือก ก็คงเลือกคนเจนเดียวกับผมหรือผู้เล่นหน้าใหม่มากกว่า”

“ณ ตอนนี้ เพื่อนรอบข้างก็เริ่มออกมามีบทบาทในส่วนพัฒนามากขึ้นครับ แต่ก็ยังต้องการเวทีที่ (คนรุ่นใหม่) จะขึ้นมาในอีกระดับนึง และได้ทำอะไรเพื่อสมุทรปราการมากขึ้น”

 

ปัทม์ 30 ปี บางพลี

 

 

“มุมมองของเราต่อการเมืองท้องถิ่น อย่างที่ทุกคนรู้ มันคือการกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่จริงๆ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนรัฐบาลทำนโยบายเป็นภาพรวมเศรษฐกิจ ภาพรวมต่างๆ มันใหญ่ ดูทั้งประเทศ ทีนี้การเอานโยบายต่างๆ ไปใช้กับพื้นที่จริงหรือการเมืองท้องถิ่น มันเลยสำคัญมาก เพราะนี่คือตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ในทางกลับกันถ้าประชาชนในพื้นที่เรียกร้องอะไรบางอย่าง คนกลุ่มนี้ก็ควรเอาข้อเรียกร้องส่งกลับไปให้ตัวเฮด คนที่จะมาเป็นตัวกลางเลยสำคัญที่สุด มองข้ามไม่ได้ และไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าอันนั้นการเมืองใหญ่ฉันสนใจ แต่การเมืองเล็กๆ ฉันไม่สนใจ ไม่ได้”

“ปัญหาสำคัญที่ที่บ้านได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้ๆ กับพื้นที่ถมขยะ ในภาษาของภูมิสถาปนิกมันคือพื้นที่ land fill ทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง จะได้กลิ่นขยะลอยมาถึงบ้าน เจอปัญหาแบบนี้มา 4-5 ปีแล้ว แสดงว่าการฝังกลบขยะมีปัญหา ถึงมีกลิ่นออกมา ทีนี้พอเกิดปัญหา คนที่มีอำนาจแก้ปัญหานี้ได้ก็ไม่เห็นถึงปัญหาหรือเปล่า ไม่แน่ใจ แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่จนทุกวันนี้”

“อีกอย่างนึง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เพิ่งเกิด คือการที่แรงงานต่างด้าวย้ายเข้ามา สมุทรปราการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นแรงงานต่างด้าวก็เลยจะมากองกันอยู่ที่นี่ เราควรเข้าไปดูไหมว่าเขาอยู่กันยังไง เขาอยู่ที่ไหน คุณภาพชีวิตเขาเป็นยังไง ถึงแม้ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวก็ตาม คนเขาเข้ามาอยู่เป็นชุมชนแออัดเลยนะ เป็นเรื่องที่โยงกลับมาว่าทำไมการเมืองท้องถิ่นถึงสำคัญ เพราะเป็นการดูแลปัญหาของแต่ละจุด แต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน”

“การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับข้อมูลน้อยมาก เห็นพวกป้ายหาเสียง ป้ายที่เขามาตั้งๆ กัน มีรถกระจายเสียงเข้ามาหาเสียง เขาอาจจะใช้วิธีเดิมๆ ก็เป็นออฟไลน์ แต่ในออนไลน์เรายังไม่ค่อยเห็นว่ามีการโปรโมท แม้กระทั่งจากตัวรัฐบาลหรือทาง กกต. ไม่เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ที่ทุกคนรู้ ทุกคนตื่นตัว แต่จริงๆ มันสำคัญมากนะ ทุกคนที่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ได้ก็ควรจะไปใช้ เราคิดมาตลอดเลยว่าถึงเราไปเลือกเบอร์นี้แล้วไม่ชนะ แต่อย่างน้อยๆ การที่ทุกคนไปร่วมลงคะแนนเสียง แม้แต่หนึ่งเสียงของคุณก็มีความหมาย ถ้ารวมกันก็จะเห็นอะไรบางอย่าง อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

“ในใจคิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่ออกมามากขึ้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศ แต่ในอีกแง่นึง ต้องยอมรับว่าสมุทรปราการมีเจ้าถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นส่วนใหญ่คนที่เป็นเจ้าถิ่นจะเป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เราเคยเห็นอยู่แล้ว เขาเป็นอำนาจเก่า การเลือกตั้งครั้งนี้เนื่องจากมีกระแสกระเพื่อมจากการเมืองภาพใหญ่ ก็น่าจับตาว่ากระแสของภาพใหญ่จะมาลงที่การเลือกตั้งขนาดเล็กนี้หรือไม่ ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากขั้วอำนาจเก่า ก็น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในจังหวัดสมุทรปราการ และหลายๆ จังหวัดด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องรอลุ้น รอดู”

 

ไข่มุก 18 ปี ปากน้ำ

 

 

“ตื่นเต้น เป็นครั้งแรกเลยที่ได้เลือกตั้งท้องถิ่น พอรู้มาบ้างว่าควรจะต้องทำอะไรยังไง แต่ไม่ได้รู้เรื่องมากขนาดนั้น คนในครอบครัวจะพาไป ก็อยากรู้ว่าบรรยากาศจะเป็นยังไง จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เคยได้ยินเรื่องการซื้อเสียง อยากรู้เหมือนกันว่าเป็นยังไง เราจะได้ไปเห็นอะไรแบบนั้นต่อหน้าไหม ในฐานะเยาวชนคนนึง ยังไงมันเป็นยุคของเราอยู่แล้ว มันส่งผลต่อเราแน่ๆ ก็ควรไปให้เห็น ไปให้รู้”

“สมัยนี้อะไรก็ค่อนข้างไว เด็กหรือเยาวชนเขาก็เริ่มแสดงออกทัศนคติในเรื่องการเมืองมากขึ้น อย่างการเลือกตั้ง อบจ. ถ้าเราเลือกคนที่ดีหรือทีมที่มีศักยภาพมากพอ ก็น่าจะทำให้จังหวัดพัฒนามากกว่านี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทำถนนแพรกษาที่ค่อนข้างช้ามาก ก็สื่อให้เห็นแล้วว่าการทำงาน ณ ตอนนี้มีปัญหาอยู่ คิดว่าการเลือกตั้งน่าจะมีผลมากๆ”

“ไม่ว่าการเมืองท้องถิ่นหรือระดับประเทศมันเป็นเรื่องของทุกคนอยู่แล้ว เป็นเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ ยิ่งเยาวชนตอนนี้เขามีสื่อ มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ ก็ง่ายที่จะทำให้เกิดโซเชียลมูฟเมนต์ หรือเกิดกระแสอะไรบางอย่าง สมมติว่าระบบการทำงานในท้องถิ่นไม่ดี เขาก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเอง”

“อย่างที่บอกว่าเป็นยุคของเจเนอเรชันใหม่ คิดว่าทุกคนมีโอกาสเท่ากันหมด ในสมัยนี้เราต้องการคนที่มีศักยภาพ ถ้าเขาเก่งจริง เจ๋งจริง ก็น่าจะได้อยู่แล้ว”

 

ฟองดู 24 ปี บางปู (ซ้าย) / แหนมเนือง 24 ปี สำโรง (ขวา)

 

 

ฟองดู

“เอาจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าหน้าที่ของอบจ. ทำอะไร เพราะไม่เคยเห็นทำงานสักที ไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงจนคิดว่ามีแค่ตำแหน่งหรือเปล่า”

“ไม่รู้สึกตื่นเต้น เป็นหน้าที่ที่เราไปทำก็แค่นั้น พูดตามตรงว่าไม่ได้คาดหวัง เพราะเป็นครั้งแรกที่หลายๆ อย่างเพิ่งจะมา ทั้งข้อมูล ทั้งคนที่เพิ่งได้รับข้อมูล ก็ยังมีคนเก่าๆ ที่ยังยึดมั่นในความคิดเก่าๆ อยู่ เลยไม่คาดหวัง เพราะยังไงจำนวนก็น้อยกว่าอยู่แล้ว”

“ถ้าในสมุทรปราการ คิดว่าคนรุ่นใหม่ยังขึ้นมาไม่ได้ เพราะจากตัวสังคมเอง ไม่ใช่สังคมที่เจริญพอ การเข้าถึงข้อมูลหรือแรงจูงใจต่างๆ อย่างการซื้อเสียงที่ทุกคนรู้ ยังมีอิทธิพลมากกว่าอยู่ดี แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ก็ตาม เลยคิดว่ายังไม่ใช่สังคมที่ทุกคนจะตระหนักรู้ว่าอะไรคือผลประโยชน์ในอนาคตที่ยืนยาว กับผลประโยชน์ที่แค่คว้าไว้ตรงหน้า ในเขตบ้านเรานะที่เห็น”

แหนมเนือง

“ไม่มีความตื่นเต้น เพราะไม่ค่อยได้รู้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าเทียบกันแล้วรู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (การเลือกตั้งส.ส.) มีส่วนร่วมมากกว่า ตอนนั้นยังอยู่มหาวิทยาลัย มีข้อมูลข่าวสารเยอะ อันนี้ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากป้ายประกาศที่ติดตามข้างทาง”

“ไม่ได้คาดหวังกับตัวบุคคลว่าใครจะได้ แต่ว่าคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเล็กน้อย ทุกวันนี้คนหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น สามารถรับรู้ข่าวสารได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าใครมาทำหน้าที่ คิดว่าต้องถูกจับตามองถึงนโยบายที่เขาเคยพูดไว้ กับการทำงานจริง”

 

หลุยส์ 23 ปี สำโรง

 

 

“ผมตื่นเต้นที่ได้ใช้สิทธิในเชิงเครื่องมือส่งผ่านนโยบายที่มองเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่นในสมุทรปราการ แต่ถามว่าระดับความตื่นเต้นมีมากกว่าการใช้ชีวิตปกติไหม ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ผมมองว่าการเลือกตั้งก็เหมือนหน้าที่ปกติ ไม่ต่างอะไรกับการทำงาน ถือว่าผมทำหน้าที่ที่ควรทำ”

“ตามหลักแล้ว มีบางอย่างที่คนแบบพวกเราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองในฐานะเอกชนหรือคนทั่วไป โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ อย่างถนน การศึกษาขั้นพื้นฐาน การเลือกตั้งจึงเสมือนเป็นการเลือกตัวแทนเพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชนที่มีต่อชุมชนตัวเอง มีผู้บริหารเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย จัดสรรงบประมาณเอาไปสร้างสิ่งที่ประชาชนสร้างไม่ได้ ตรงนี้จะมีผล แต่สถานการณ์การเลือกตั้งของจังหวัดสมุทรปราการ เข้าใจว่าในอดีต การเมืองท้องถิ่นค่อนข้างยึดโยงตัวบุคคล ไม่ได้ยึดโยงกับนโยบายสาธารณะเท่าไหร่ โดยปกตินโยบายสาธารณะที่จะมีผลประโยชน์ต่อชุมชนใดก็ตาม เราต้องส่งผ่านความต้องการไปสู่ผู้บริหารให้ได้ แล้วให้เขาทำตามสิ่งที่ประชาชนแต่ละเขตต้องการ แต่ปรากฏว่าในอดีตการส่งเสียงแบบนี้ไม่ทำงาน”

“ยกตัวอย่างหอชมเมือง ไปลองถามประชาชนแถวนี้ดูสิ ไม่ต้องออกนอกเมืองปากน้ำเลยนะ มีใครอยากได้ไอ้หอนี้มั้ง ผมถามง่ายๆ ถ้าประชาชนโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการ นี่ก็เป็นตัวอย่างของการเลือกตัวแทนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน หรือสะท้อนความต้องการของประชาชนจริง สุดท้ายก็เป็นความต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นปัญหาของระบบประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนตั้งแต่การเมืองท้องถิ่น เห็นภาพชัดเลย”

“ภาพแบบนี้จะเปลี่ยนไปไหมหรือพัฒนาจากจุดนี้ไหม คำตอบคือน่าจะได้ แต่ค่อนข้างยาก ข้อแรก ต้องกลับมาดูที่ภาคประชาชนว่าพวกเราใส่ใจกับคำว่าอำนาจในการเลือกนโยบายสาธารณะมากแค่ไหน แปลว่าเราต้องศึกษาว่าแต่ละคนมีศักยภาพมากพอไหมในการดำเนินนโยบายตามที่เขาให้สัญญา และส่งผ่านโดยเลือกคนที่สามารถพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการในทางที่เราชอบ เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณหรือคนรอบข้างคุณ ข้อสอง ประชาธิปไตยไม่สิ้นสุดตรงนั้น คุณจะต้องสามารถติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารได้ แต่ที่ผมบอกว่าเป็นเรื่องยาก ก็เพราะประชาธิปไตยไทยไม่ค่อยเอื้อ การเมืองท้องถิ่นไม่มีเครื่องมือหรือช่องทางให้ประชาชนหาข้อมูลผู้ลงสมัครได้มากนัก ถ้าเลือกตั้งจบแล้ว ได้ผู้บริหารแล้ว ระบบการติดตามโดยประชาชนก็ไม่ชัดเจน ที่จริงผลงานตามรายงานก็พอมีบ้างในเว็บไซต์จังหวัด แต่แน่นอนว่าการถ่ายทอดยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เขาก็ยังทำงานเชิงราชการกัน”

“ผมไม่ได้มองว่าสมุทรปราการจะพัฒนาแบบพลิกจากดำเป็นขาว ภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ผมมองว่ามีโอกาสในระยะยาว สมมติคนสมุทรปราการไม่ว่าวัยไหนก็ตาม คำนึงว่าเรามีอำนาจในมือ ว่าเราเป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถกำหนดนโยบายสาธารณะได้ผ่านระบบประชาธิปไตย ให้เชื่อมั่นในตรงนี้ก่อน แล้วสักวันจะเกิดขึ้นจริง”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save