fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

Spotlight ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

Digital Joins My Family

Digital Joins ‘My Family’ : ครอบครัวยุคหน้าจอ ดิจิทัลขออยู่ด้วย

 

ตะดึ๊ง! เสียงแจ้งเตือนดังขึ้น กรุ๊ปครอบครัวของคุณได้รับคำขอเข้าร่วมกลุ่มจาก ‘ดิจิทัล’

คุณจะอนุญาตหรือไม่?

ในชีวิตจริงอาจไม่มีสัญญาณเตือนแบบนี้ รู้ตัวอีกที เทคโนโลยีดิจิทัลก็แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนทุกช่วงวัย อยู่ในทุกครัวเรือน และแน่นอน พาความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ทุกครอบครัว

ภาพลูกติดหน้าจอ พ่อแม่ติดโซเชียล เด็กเล็กใช้สมาร์ทโฟนเป็นก่อนอ่านเขียนได้คล่อง ห้องของวัยรุ่นเต็มไปด้วยอุปกรณ์เล่นเกม กล้อง ไมค์สารพัด หรือแม้กระทั่งข้อความแปลกๆ ที่ผู้ใหญ่ส่งต่อกันมาในไลน์ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนกลายเป็นเรื่องราวที่มีแทบทุกบ้าน

ดิจิทัลกำลังเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิด และความสัมพันธ์ในครอบครัวของเราไปตลอดกาล

101 ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอชวนคุณมาสำรวจโลกใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล วิธีใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ก้าวทันเทรนด์ใหม่ๆ ในสังคม ผ่านบทความ บทสัมภาษณ์ และสื่อรูปแบบต่างๆ ตลอดช่วงเดือนนี้ถึงเดือนมีนาคม

พร้อมไหม กับการใช้ชีวิตร่วมกับดิจิทัลในฐานะ ‘สมาชิกใหม่’ ของครอบครัวคุณ

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

20 อันดับ กุมภาพันธ์ The101.world

 

รักชนก ศรีนอก

You Messed With The Wrong Generation. : ตัวแสบแห่ง Clubhouse รักชนก ศรีนอก

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เราขอบคุณคลับเฮาส์มากเลย ปกติเราโพสต์ด่าการเมืองในทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊ก แล้วก็ไปม็อบ แต่เราไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เรามีข้อมูล อ่านหนังสือมา อยากแชร์ แต่ในทวิตเตอร์ก็ต้องอาศัยดวงว่าต้องมีเพื่อนที่เป็นเซเล็บฯ มาช่วยรีทวีต ทวีตนั้นถึงจะดัง เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่มีผู้ติดตามเอง…

แต่ในคลับเฮาส์ ถ้าเป็นประเด็นสังคมตอนนั้นก็มีคนเข้ามาฟังคุณเลยทันที คุณจะรู้เลยว่าเป็นประเด็นที่สังคมสนใจอยู่รึเปล่า”

“เราพูดออกไปว่า ‘เมื่อกี้ที่คุณทักษิณตอบเกี่ยวกับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เราขออนุญาตเป็นตัวแทนของคนเจเนอเรชันนี้แล้วกัน เราเชื่อว่ามีหลายคนที่อยากบอกคุณทักษิณว่าแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่พอสำหรับพวกเราแล้ว พวกเราต้องการที่จะปฏิรูปสถาบันฯ’”

101 คุยกับ ไอซ์-รักชนก ศรีนอก เจ้าของแอ็กเคาต์ Rukchanok Srinok ที่สร้างความฮือฮาในคลับเฮาส์ ตั้งแต่เปิดห้องคุยการเมือง รับบทยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสภาโจ๊ก และยกมือบอกทักษิณว่า “แค่แก้รัฐธรรมนูญไม่พอ แต่พวกเราต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

นอกจากความคิดส่วนตัวทางการเมือง เธอมองวัฒนธรรมโซเชียลฯ ในการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างไร และเราควรทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้อย่างไร

 

‘เมีย’ ไหนที่ ‘ร.5’ คิดถึงมากกว่า ‘พระราชินี’

‘เมีย’ ไหนที่ ‘ร.5’ คิดถึงมากกว่า ‘พระราชินี’

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“เมียเก่าเมียแก่…จะไม่ให้คิดถึง ยิ่งกว่าเมียใหม่อย่างไรได้ นอนใจเต้นนั่งใจเต้นนึกถึงทุกค่ำเช้า”

ปีพ.ศ.2440 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศครั้งแรก นานถึง 253 วัน

ในช่วงเวลาเหล่านั้น พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สารภาพว่า คิดถึง ‘เมีย’ คนหนึ่งยิ่งกว่าพระราชินีเสียอีก

ใครคือ ‘เมีย’ คนนั้น กษิดิศ อนันทนาธร มีคำตอบ 

 

Chalidaporn Songsamphan

ไขประตูหัวใจ สำรวจความ ‘คลั่งรัก’ ในสังคมสมัยใหม่ กับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ดิฉันจะเจอมนุษย์ที่ตำหนิคนคลั่งรักว่าพวกนี้บ้า ไร้สาระ ถ้างั้นคุณก็ลองรักดูสิ แล้วคุณจะเป็นยังไง”

“ความรักคือการที่คุณรู้สึกชื่นชมในบางอย่างของคนคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็อยู่กับอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ไม่งดงาม ที่คุณไม่ชื่นชมของคนคนนั้นได้ อะไรก็ได้ ทนได้หมด ซึ่งมันจะไม่ค่อยนาน”

“สักพักหนึ่งคุณก็จะเริ่มเห็นมากขึ้นว่าเขาเป็นยังไง ไม่ได้ดั่งใจคุณยังไง…สิ่งที่อยู่ได้นานเหมือนชั่วฟ้าดินสลายกลายเป็นอะไรอย่างอื่นที่เข้ามาเสริมความรู้สึกแรกรัก เพราะฉะนั้นใครที่ต้องการหารักแท้ก็ต้องเข้าใจว่า รักแท้ของคุณต้องเติมด้วยอะไรอย่างอื่นอีกมาก”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนคุณไขประตูหัวใจไปกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เจ้าของแฮชแท็กตอบปัญหาความรัก #ทวิตรัก สำรวจความรักและสิ่งแวดล้อมของความรักในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่การปัดขวาหาคู่ อารมณ์คลั่งรัก การแต่งงาน ไปจนถึงการเมืองเรื่องความรัก

“ความรักความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการต่อรอง ฟาดฟัน แต่คนจำนวนมากทำเหมือนกับว่าถ้ารักจริงต้องไม่มีการต่อรอง ต้องไม่มีการใช้อำนาจ เพราะรักคือรักเปล่าๆ แต่คุณจะไม่เจอความรักแบบนั้นในโลกนี้ อีกสักห้าชาติข้างหน้าก็ไม่เจอ เพราะการต่อรองระหว่างกันและกันเป็นองค์ประกอบของความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ พอฟังแล้วมันหายโรแมนติก (หัวเราะ)”

“เวลาคนใช้พื้นที่ออนไลน์นำเสนอตัวตน จะไม่ค่อยนำเสนออย่างที่เป็นจริงๆ หรืออาจจะมีทั้งตัวตนในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แปลว่าเวลาที่คุณใช้บริการ คุณก็ไม่รู้ว่ากำลังเห็นอะไรอยู่ ตัวคุณเองเวลานำเสนอยังไม่ค่อยเสนออย่างที่ตัวคุณเป็นเลย ดังนั้นก็จะมีอะไรที่คุณไม่เห็น ไม่รู้ และอาจนำไปสู่ความผิดหวัง ไม่ได้อย่างใจ”

“มีการศึกษาในบางประเทศระบุว่า ตอนที่คุณอายุ 20-30 ต้นๆ หรืออาจจะถึง 40 ปี คุณไม่แต่งงาน คุณรู้สึกว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องจำเป็น ฉันอยู่ด้วยกันด้วยความรัก รัฐไม่ต้องมายุ่งเกี่ยว สังคมไม่ต้องมาแสลน ปรากฏว่าพออายุสัก 40 ปี จดทะเบียนสมรสว่ะ เพราะการที่รัฐรับรองว่าคุณแต่งงานเป็นคู่กัน จริงๆ มีผลประโยชน์เยอะ”

“ตอนนี้ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างในทางการเมืองกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคุณคิดว่าคุณต้องชนะกัน สิ่งที่ฉันเชื่อเนี่ยถูกและจริงแท้ที่สุด รักลุงประยุทธ์คือถูก รักประชาธิปไตยคือถูก คำถามก็คือชนะแล้วได้อะไร บางครั้งเวลาเถียงเหมือนพวกเรายินดีแลกนะ ฉันจะต้องชนะ คุณแลก คุณทำร้ายทิ่มแทงคนที่คุณเถียงด้วย ถ้าคำเถียงเป็นมีด คนคนนั้นแทบจะหลุดเป็นชิ้นๆ เพราะคุณแทงมันยับ เพื่อ?”

 

ดาบพิฆาตอสูร

‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ การต่อสู้ฟาดฟันภายใต้ทุนนิยม

 

โดย ปฐมพงศ์ กวางทอง

“หากคุณเห็นรถไฟในภาพยนตร์เรื่อง Snowpiercer (2013) แล้วนึกถึงเรื่องทุนนิยม ก็คงไม่แปลกนักถ้าผมจะบอกว่ารถไฟนิรันดร์ ในภาพยนตร์ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ สามารถตีความถึงทุนนิยมได้ไม่ต่างกัน”

ปฐมพงศ์ กวางทอง ชวนมองภาพยนตร์ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ ที่เปรียบการต่อสู้ระหว่างนักล่าอสูรและอสูรเหมือนการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานกับระบอบทุนนิยมในสังคมจริง

*หมายเหตุ : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์*

 

gamestop

GameStop : เมื่อ ‘แมงเม่าปฏิวัติ’ สะท้อนรอยร้าวในสังคม

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย

“การที่พวกเขารวมตัวกันจนชนะยักษ์ใหญ่ทางการเงินได้จึงไม่ใช่แค่ ‘แมงเม่าก็รวยได้’ อีกต่อไป แต่มันคือ ‘การปฏิวัติ’ ระบบที่เขามองว่าไม่แฟร์ ที่มากไปกว่านั้น เหล่าแมงเม่าได้ยังความพอใจและสะใจพร้อมเงินเต็มกระเป๋ากลับไปด้วย”

“นี่คือสัญญาณสำคัญว่าทุนนิยมแบบเก่าที่เอาใจแต่นายทุนผู้มีอำนาจได้มาถึงทางตันแล้ว โลกกำลังต้องการคำตอบใหม่ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น”

สันติธาร เสถียรไทย ชวนอ่านปรากฏการณ์ ‘GameStop’ เมื่อแมงเม่าถล่มนักลงทุนมือโปรแห่งวอลล์สตรีท และพลิก 3 คลื่นลูกใหญ่ที่หนุนปรากฏการณ์นี้อยู่

คลื่นลูกที่ 1 ภาวะดอกเบี้ยต่ำยิงยาว
คลื่นลูกที่ 2 การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล
คลื่นลูกที่ 3 ความเหลื่อมล้ำ

 

ช้างในมหาวิทยาลัย

‘ช้าง’ ในมหาวิทยาลัย

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล 

หลัง #ตั๋วช้าง ได้รับความสนใจจากสังคม สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนมองช้างอีกตัวในห้องที่คนแสร้งมองไม่เห็น นั่นคือ ‘ช้าง’ ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น ช้างอำนาจนิยม, ช้างทุนนิยม, ช้างจารีตนิยม และช้าง Scopus

“การทำงานวิจัยซึ่งจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของมหาวิทยาลัยมักจะเป็นงานชนิดที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ก็คือการวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตของขายได้ เช่น การทำปลาร้ากระป๋อง การแปรรูปทุเรียน เป็นต้น”

“ส่วนการวิจัยที่ไม่สามารถขายให้กับบริษัทธุรกิจเอกชนเพื่อไปสร้างรายได้ก็จะต้องเผชิญกับวิบากกรรมในการแสวงหาแหล่งทุน หรือการได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยในฐานะงานวิชาการประเภทหนึ่ง”

“การวิจัยจำพวกการประกอบสร้างความหมาย, วาทกรรมว่าด้วยความเป็นชาย/หญิง, การเมืองของความรู้, ความรู้เชิงซ้อน, ทฤษฎีแบบหลังสมัยสมัยใหม่/หลังอาณานิคม หรืออะไรต่อมิอะไรที่ไม่สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้ (นอกจากพิมพ์เป็นหนังสือขาย) ก็อาจกลายเป็นเพียงการละเล่นทางปัญญาในสายตาของช้างทุนนิยม รวมทั้งอาจมีการโปรยเศษเงินจำนวนหนึ่งหล่นมาถึงมือบุคลากรเพื่อปิดปากเสียงต่อต้านให้เบาลง”

 

มิลเลนเนียลส์

‘มิลเลนเนียลส์’ เจเนอเรชันอับโชคของโลก

 

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข 

“มีข้อถกเถียงเล็กๆ ในโลกออนไลน์ที่จับใจเราพอสมควร เมื่อคนเกิดก่อนปี 1997 กลายเป็นเป้าโจมตีของ (คาดว่า) ชาวเจนแซดคนหนึ่ง ที่ตั้งข้อสังเกตว่าคนเหล่านี้เกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตและถ้าแค่เก็งกำไรถูกก็รวย จริงๆ มันก็อาจเป็นทวิตหนึ่งที่เกิดจากความอัดอั้นหรือบ่นเบื่อตามประสา เพียงแค่ว่ามันมีชาวมิลเลนเนียลส์หรือเจนวายแย้งอย่างดุเดือดว่าไม่เห็นจะจริง คนที่โชคดีในช่วงเวลานั้นน่าจะมีแค่พวกคนทำงานแล้วอย่างชาวบูมเมอร์เท่านั้นแหละ ที่พอฉวยความโชคดีอะไรเอาไว้ได้”

“ในฐานะที่เราเองเป็นชาวเจนวายตามนิยามส่วนใหญ่ ที่เพิ่งอายุครบสามสิบไปเมื่อไม่กี่เดือน เห็นทวิตนี้แล้วหันกลับมาทบทวนตัวเองทันทีว่า นอกจากโรคปวดหลังและความชิงชังต่อโลกแล้ว นี่เรายังมีอะไรเป็นของตัวเองอีกบ้างไหมนะ”

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข ย้อนให้ฟังถึงความเจ็บปวดที่ชาวมิลเลนเนียลส์ต้องพบเจอ และอธิบายสาเหตุที่ทำให้เจนเนอเรชันนี้กลายเป็นเจนเนอเรชันที่อับโชคที่สุดในโลก

“สำนักข่าว NBC ตั้งข้อสังเกตว่า คนมิลเลนเนียลส์ยังมีแนวโน้มที่จะถูกคนรุ่นก่อนๆ – ที่ประสบความสำเร็จแล้ว – ตราหน้าว่าเป็นคนไม่เอาไหน เพราะไม่อาจไต่ระดับหรือสร้างสถิติได้มากเท่าเมื่อสมัยอายุเท่าๆ กัน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ค่านิยมแบบอเมริกันดรีมเป็นเสาหลักแข็งแรง มันคือการที่คุณฝ่าฟันอุปสรรคในดินแดนแห่งความหวังแห่งนี้แล้วประสบความสำเร็จจนร่ำรวย มีชีวิตที่ดีขึ้น มีบ้าน มีรถ และสร้างครอบครัวอบอุ่น”

“คนรุ่นหลังจำนวนมากจึงรู้สึกราวกับเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าหลายคนอาจรู้อยู่แก่ใจ ว่าโลกที่พวกเขาเผชิญอยู่นั้นการแข่งขันสูงกว่าคนรุ่นก่อนมาก แต่ความอึดอัดใจของการเป็นคน ‘ไม่เอาไหน’ ทั้งในสายตาคนอื่นหรือแม้แต่ในสายตาตัวเองก็กัดกินพวกเขาจนลึกถึงตัวตนอยู่ดี”

 

หมอประเสริฐ

เรียนหนังสือไปก็ตายเปล่า

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนคิดเรื่องการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 เมื่อการทำความเข้าใจปัญหารอบตัวอย่าง โควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ ฝุ่น PM 2.5 และความรุนแรงทางการเมือง สามารถพัฒนาได้ด้วยทักษะเหล่านี้

จากการติดเชื้อโควิดที่เชียงรายซึ่งตรวจพบการติดเชื้อในพื้นที่เพียง 2 คน แต่กลับมีการประโคมข่าวตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักร้อยในสถานกักกันตัว ทำให้กระทบเศรษฐกิจเชียงรายช่วงหยุดยาว มีการออกมาตรการเข้มงวดเกินจำเป็น มีความรังเกียจสตรีไทยที่ไปทำงานในสถานบริการบันเทิงในพม่า

“เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยการให้ลูกเรียนหนังสือ แต่ทำได้ด้วยการสร้างโรงเรียนเพื่อพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเรียนหนังสือไปก็ตายเปล่า”

 

กฎหมายทำแท้ง

มองหลายมุมกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท 

หลังกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ สิ่งสำคัญที่ตามมาคือหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ที่จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ทำให้การทำแท้งที่ถูกกฎหมายปลอดภัยและเป็นทางออกให้ผู้หญิงอย่างแท้จริง

ปกป้อง ศรีสนิท ชวนมองประเด็นที่น่าสนใจในกฎหมายฉบับใหม่ที่รับรอง ‘การทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง’ (on request) ขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย

“กฎหมายทำแท้งใหม่ที่มีผลใช้บังคับแล้วเป็นการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการถึงสิทธิของผู้หญิงในการจัดการกับเนื้อตัวร่างกายของตนเอง แต่ยังมีประเด็นที่จะต้องลงในรายละเอียดในกฎเกณฑ์ของแพทยสภาเพื่อให้การทำแท้งที่ถูกกฎหมายปลอดภัยและเป็นทางออกให้ผู้หญิงอย่างแท้จริง การสร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับผู้หญิง เช่น ไม่เป็นความลับ สร้างขั้นตอนวุ่นวาย ก็จะทำให้ผู้หญิงกลับไปสู่การทำแท้งเถื่อนอยู่นั่นเอง”

 

push and pull

Push/Pull เกือบเห็นดอกบัวเป็นกงจักร

 

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

“Push/Pull ในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ คือภาพปรากฏของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับศิลปะและอุดมการณ์รัฐอันประกอบด้วยชาติ ศาสนา และสถาบันกษัตริย์โดยขับเน้นสององค์ประกอบหลัง”

ธนาวิ โชติประดิษฐ เขียนถึงเบื้องหลังที่แฝงอยู่ใน Push/Pull ผลงานศิลปะของอนิช คาพัวร์ และเทศกาลศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ซึ่งจัดแสดงในวัดโพธิ์

 

เอซี มิลาน

เอซี มิลาน Vs อินเตอร์ มิลาน : เชื้อชาติกับชนชั้นที่แตกต่าง สู่การแบ่งเมืองเป็นสองสี

 

โดย สมศักดิ์ จันทวิชชประภา

คอลัมน์ The Rivalry เดือนนี้ สมศักดิ์ จันทวิชชประภา เล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างชนชั้นและประวัติศาสตร์ของสโมสรฟุตบอลแห่งเมืองมิลาน

“นี่คือเรื่องราวของสองสโมสรที่ขัดแย่งกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอุดมการณ์ ฐานแฟนบอล ไปยันความหมายในชื่อ รวมไปถึงสีและสัญลักษณ์ของทีม แต่ทั้งคู่กลับอยู่ในเมืองเดียวกันและใช้สนามแห่งเดียวกันในเมืองเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 181.8 ตารางกิโลเมตร นี่คือเรื่องราวของ ‘ปีศาจแดงดำ’ เอซี มิลาน และ ‘งูใหญ่’ อินเตอร์ มิลาน”

“เมื่อการแข่งขันระหว่างทั้งสองทีมรุนแรงขึ้น คำเหยียดใส่แฟนบอลของอีกฝ่ายก็เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยฝั่งอินเตอร์จะเรียกแฟนบอลของมิลานว่า ‘คาสเซียวิด’ (Casciavid) ซึ่งแปลว่า ‘ไขควง’ มาจากการที่พวกเขาเป็นชนชั้นแรงงาน ต้องพกอุปกรณ์อย่างไขควงหรือประแจเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเนื้อตัวมักเปรอะเปื้อนคราบน้ำมันจากโรงงานอุตสาหกรรมเสมอๆ”

“ขณะที่ฝั่งมิลานก็มักจะเรียกแฟนอินเตอร์ว่า ‘เบาส์เซีย’ (Bauscia) ซึ่งมีความหมายในเชิงล้อเลียนว่า ‘พวกขี้โม้’ โดยมาจากการที่บรรดาแฟนอินเตอร์ชอบคุยโวและทับถมแฟน ‘ปีศาจแดงดำ’ ในยุคราว 1927-1938 ซึ่งทีม ‘งูใหญ่’ เป็นฝ่ายทำผลงานข่มอยู่ข้างเดียว”

 

human equality

เคารพใน “ความเป็นอื่น” จึงจะเห็น “คนเท่ากัน”

 

โดย นิติ ภวัครพันธุ์

นิติ ภวัครพันธุ์ เขียนถึงวลี ‘คนเท่ากัน’ ผ่านทัศนคติในสังคมตะวันตกต่อชนพื้นเมือง และตัวอย่างการพยายามเข้าใจ ‘ความเป็นอื่น’

“ชาวเมารี ชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ มีธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตที่เลิกทำกันไปแล้วที่เรียกว่า “โทอิโมโคะ” (Toi moko) อันหมายถึงศีรษะของคนตายที่ถูกตัดออกมาเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้เน่าเสียเพื่อการเก็บรักษาไว้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำเช่นนี้อาจมีเหตุผล 2 ประการ ประการแรก การเก็บศีรษะของผู้ตายที่อนุรักษ์ไว้นี้มักเป็นศีรษะของผู้ที่รักใคร่หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องการเก็บไว้เสมือนวัตถุแห่งความรัก แทนความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับผู้ตายและความเศร้าโศกที่สูญเสียคนรักไป ประการที่สอง ศีรษะที่เก็บไว้นี้เป็นเสมือนวัตถุแห่งชัยชนะเหนือศัตรู”

“ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลังจากที่คนอังกฤษสำรวจพบประเทศนิวซีแลนด์ และรู้ว่าโทอิโมโคะคืออะไร ก็เริ่มสนใจและต้องการที่จะเก็บสะสมไว้เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่แปลกประหลาด (แต่มิได้ใส่ใจว่ามันมีความหมายอะไรในความคิดความเชื่อของคนเมารี) ในเวลาต่อมามันก็กลายเป็นที่ต้องการของคนยุโรปชาติอื่นๆ ด้วย”

“ทว่า อย่างน้อยตั้งแต่ปี 1987 สถาบันหลายแห่งนอกประเทศนิวซีแลนด์ได้เริ่มส่งโทอิโมโคะที่ครอบครองไว้คืนสู่คนเมารีด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ตัวแทนของเผ่าเมารีภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลนิวซีแลนด์จะอ้างเหตุผลว่าศีรษะที่ตนต้องการได้คืน — ซึ่งมักเป็นคนเผ่าเดียวกัน — เป็นซากศพมนุษย์ (human remains) มิใช่งานศิลปะ (art works)”

“ในด้านหนึ่ง ชนพื้นเมืองในประเทศต่างๆ มีความกระตือรือร้นในการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันทางสังคม-การเมือง ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนทัศนคติในแง่ลบของคนกลุ่มอื่นต่อชนพื้นเมือง นำไปสู่การผันแปรทางความคิดและทัศนคติในสังคมทั่วไป และตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและทัศนคติต่อชนพื้นเมืองจะเห็นได้จากการส่งคืนโทอิโมโคะที่เก็บสะสมไว้ตามสถาบันต่างๆ”

 

การล่วงละเมิดทางเพศ

การล่วงละเมิดทางเพศ – บาดแผลเดิมที่ถูกฉายซ้ำทุกวัน

 

โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ วัชรสินธุ ชวนคิดต่อจากละคร ‘เมียจำเป็น’ เมื่อฉากการข่มขืนและวัฒนธรรมโทษเหยื่อถูกผลิตซ้ำๆ บนละครโทรทัศน์ และยิ่งส่งเสริมความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม
………….

คงไม่มีใครที่ติด #ข่มขืนผ่านจอพอกันที มองว่าปัญหานี้จะถูกแก้ได้ทันทีหากฉากอย่างในละคร ‘เมียจำเป็น’ หมดไปจากหน้าจอ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นต้องผสมผสานทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้าง และการปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือค่านิยม

ในมุมมองของผม เราจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อมุ่งไปสู่การแก้ปัญหากับ 3 ภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหานี้

1. สังคม: สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง-ปฏิรูปเพศศึกษา-เรียกร้องความรับผิดชอบจากสื่อ

2. เหยื่อ: หยุดโทษเหยื่อ-เพิ่มความมั่นใจให้กล้าพูด-ฟื้นฟูดูแลสภาพจิตใจ

3. ผู้กระทำผิด: ดำเนินคดีอย่างโปร่งใส-ไม่มีข้อยกเว้น-ลงโทษอย่างเหมาะสม

 

marxism ตายแล้ว

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

 

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

เมื่อสิ้นปี 2020 การประกาศ Restart Thailand Movement ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกพร้อมสัญลักษณ์ RT ที่ละม้ายคล้ายค้อนเคียวและข้อเขียนที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบมาร์กซิสต์ได้นำมาสู่สภาวะฝุ่นตลบ แตกขบวนในการเมืองไทย ตามมาด้วยความเคลือบแคลงต่อการเดินหมากครั้งนี้ คำถามมากมายไม่จบสิ้นต่อการโค่นล้มทุนนิยมและการกลับมาของคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 หรือกระทั่งแสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆ สำหรับใครบางคนที่กำลังถูกความเหลื่อมล้ำกัดกิน

101 ชวนถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม จากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” (เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558) เพื่อย้อนหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง?

“ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการนิสิตนักศึกษาสมัย 14 ตุลา มองเห็นโจทย์ทั้ง 2 อย่าง ฝ่ายซ้ายสมัยนั้นเห็นโจทย์เรื่องรัฐเผด็จการช่วง 14 ตุลา จากนั้นภายใน 1-2 ปี ก็หันไปเห็นโจทย์ปัญหาว่าด้วยทุนนิยม ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและการกดขี่ขูดรีดโดยทันควัน

แต่ฝ่ายซ้ายหลังจากนั้นมา หากวิพากษ์ทุน ก็จะวิพากษ์ผ่านกรอบอื่นที่ไม่ใช่มาร์กซ์อย่างชาตินิยมหรือเศรษฐกิจพอเพียงแต่ไม่เห็นปัญหารัฐเผด็จการ หรือหากวิพากษ์รัฐเผด็จการ ก็จะหลงลืมปัญหาของทุนไป”- เกษียร เตชะพีระ

“ในหนังสือทุน ภาพของระบบเศรษฐกิจอังกฤษในปี 1850 คือระบบทุนนิยมที่มาร์กซ์ก่อรูปจากจินตนาการ ระบบทุนนิยมของมาร์กซ์จึงมีความเป็นนามธรรมและบริสุทธิ์มาก ไม่มีแม้แต่รัฐบาลกลางที่แทรกแซงระบบเศรษฐกิจและกำหนดโยบาย ไม่มีแม้แต่ธนาคารกลางที่แทรกแซงระบบการเงินหรือควบคุมอุปทานเงิน กำหนดอัตราดอกเบี้ย แม้แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่มี

“วิกฤตทุนนิยมที่มาร์กซ์เขียนในหนังสือทุนก็ต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในศตวรรษที่ 20-21 เพราะอย่างนี้ นักเศรษฐศาสตร์จึงเลือกใช้เศรษฐกิจเคนส์เซียนกู้วิกฤต ไม่ได้หันกลับไปใช้มาร์กซ์ แม้แต่นักคิดสายนีโอมาร์กซิสต์ก็ไม่ได้ใช้แนวคิดจากหนังสือทุนของมาร์กซ์อธิบายระบบทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับใช้กรอบทฤษฎีเคนส์เซียนแล้วใส่คำอธิบายที่มีกลิ่นอายแบบมาร์กซิสต์ลงไปเสียด้วยซ้ำ” – พิชิต ลิขิตสมบูรณ์

“การเปลี่ยนแปลงโลกที่ว่า ต้องนำไปสู่ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ระบบทุนนิยมประทานมาให้ ซึ่งก็คือทางเลือกที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมแบบอื่นที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไรและการสะสมทุนเป็นแก่นของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

“เดวิด ฮาร์วี นักวิชาการสายมาร์กซิสต์เคยบอกไว้ว่าทุนนิยมเปรียบเสมือน the gravity หรือแรงดึงดูดโลกที่ล่องหน แต่สัมผัสได้ตลอดเวลา คุณจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ต้องอาศัยทฤษฎี ต้องอาศัยหลักสมการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมากถึงจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ หนทางเดียวที่คุณจะเห็นการทำงานของทุนได้ คือต้องอาศัยแนวคิดแบบ ‘ภาพวาด’ ที่เป็นอุดมการณ์นามธรรม เพื่อร่างภาพของทุนในหัว ไม่ใช่การมองทุนนิยมผ่าน ‘ภาพถ่าย’ จริงก่อน

“ถ้ามองว่าสิ่งที่มาร์กซ์คิดผิด มองว่าที่จริงทุนก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่าระบบมีจุดผิดพลาดตรงไหน แล้วหมดหวังกับการเมืองเพื่อการปลดปล่อยเพราะยังจมปลักอยู่กับความล้มเหลวของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในอดีต กลายเป็นซ้ายซึมเศร้า คำถามคือการเมืองเรื่องการปลดปล่อยมันจะนำไปสู่อะไรที่เลวร้ายกว่านี้หรือเปล่า หรือเราต้องรอให้ระบบทุนนิยมสร้างความหายนะมากกว่านี้” – สรวิศ ชัยนาม

 

เอกชนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เอกชนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร 

“ในประเทศอื่น ทุนกำกับรัฐ แต่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน รัฐ (และพรรค) กำกับทุนทั้งสิ้น!”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงการมีบทบาทนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในภาคเอกชน และการมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำบริษัท

“ตามธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ ภายในองค์กรหนึ่งจะต้องมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อย่างน้อย 3 คน ขึ้นไป จึงจะสามารถจัดตั้งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำองค์กรได้ การมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำบริษัทเป็นเรื่องปกติธรรมดาในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของจีน ในบรรดาบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของจีนจำนวน 500 บริษัท ร้อยละ 92.4 มีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำบริษัท”

“หลายคนอาจสงสัยว่า บทบาทของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำบริษัทคืออะไร คำตอบก็คือบทบาทไม่ชัดเจน คณะกรรมการพรรคในบริษัทแต่ละแห่งอาจมีอิทธิพลต่อการบริหารหรือตัดสินใจภายในบริษัทแตกต่างกัน โดยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง”

“ในประเทศจีน แม้องค์กรธุรกิจจะมิใช่รัฐวิสาหกิจ กล่าวคือเป็นเอกชนแท้ๆ แต่ก็ยังมีกลไกที่จะประสานงานทางนโยบายกับภาครัฐ หรือถูกภาครัฐแทรกแซงได้ผ่านคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำบริษัท แถมบทบาทและอิทธิพลของคณะกรรมการพรรคในแต่ละบริษัทยังอาจมากน้อยแตกต่างกัน ไม่อาจสรุปแนวปฏิบัติที่ตายตัวได้”

 

ิีburma chronicles

Burma Chronicles

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

ในวันที่พม่าเกิดการรัฐประหาร นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนย้อนอ่านข้อเขียนถึงหนังสือ Burma Chronicles การ์ตูนสะท้อนสภาพสังคมพม่าในยุคเผด็จการทหารครองอำนาจจากสายตาคนต่างชาติ

….

ข้อเขียนนี้เคยตีพิมพ์ในช่วงสามเดือนก่อนการปฏิวัติ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เราปิดประเทศเพื่อกำจัดผู้หญิงคนหนึ่งให้ได้

วันนี้กองทัพพม่าเลือกปิดประเทศเพื่อกำจัดผู้หญิงคนหนึ่งให้ได้เช่นกัน

 

บิลลี่ พอละจี

แฟ้มคดี ‘บิลลี่’ ชาวกะเหรี่ยง ผู้เรียกร้องสิทธิในการกลับบ้าน ‘ใจแผ่นดิน’

 

โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะ ‘กลับบ้าน’ ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ที่ยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น และยังไม่มีคำตอบว่าการ #saveบางกลอย จะเป็นไปในทิศทางไหน

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เปิดแฟ้มคดีการหายตัวไปอย่างลึกลับของบิลลี่ พอละจี ชาวบ้านบางกลอยที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นเรื่องการกลับสู่แผ่นดินเดิมของตัวเอง และเป็นหลานชายแท้ๆ ของปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งแก่งกระจานผู้ล่วงลับ

เปิดหลักฐานทางนิติเวชและวิเคราะห์กล้องวงจรปิด อะไรเกิดขึ้นบ้างในวันที่ 17 เมษายน 2557 วันสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นบิลลี่

แม้เวลาผ่านมาเกือบ 7 ปี คำถามถึงความยุติธรรมยังดังก้องทั่วผืนป่า

 

รัฐประหารพม่า

เมื่อการเมืองเมียนมาใกล้ถึงทางตัน และไทยอาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการหาทางออก

 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) เป็นอีกวันหนึ่งที่สถานการณ์การเมืองในเมียนมาน่าจับตามอง เมื่อพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ต้องนำตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ขึ้นสู่การพิจารณาคดีโดยศาลในข้อหาการครอบครองวิทยุสื่อสารโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นข้ออ้างในการควบคุม จับกุม คุมขัง ผู้นำที่มีศักยภาพสูงที่สุดในการโค่นล้มระบอบ SAC

ปิติ ศรีแสงนาม เขียนถึงสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุในเมียนมา พร้อมทั้งคาดการณ์ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมถึงเสนอบทบาทของประเทศไทยที่อาจเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาได้

“ไม่ว่าผลการพิจารณาคดีในวันนี้จะออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นผลดีกับฝ่าย SAC ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะถ้าศาลให้ปล่อยตัวนางซูจี เท่ากับว่ามวลชนจะกล้าแกร่งขึ้นและเพิ่มแรงกดดันต่อ SAC แต่ในทางตรงข้าม หากศาลพิจารณาให้คุมขังนางซูจี นั่นยิ่งเท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับกลุ่มผู้ต่อต้าน SAC รวมทั้งเพิ่มแรงกดดันจากต่างชาติให้ยิ่งบีบคั้นรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของกองทัพเพิ่มขึ้นไปอีก”

“คนที่ถืออาวุธอยู่คงไม่ยอมยกเลิกสิ่งที่เขาลงมือทำไปแล้วแน่นอน ดังนั้น Second Best Case Scenario ที่อาจจะเป็นไปได้คือ ‘การทำตามสัญญา’ คือ SAC เข้ามาเป็นรัฐบาลในสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะเวลาเพียง 1 ปี (หรือเร็วกว่านั้น) จากนั้นจะให้มีการเลือกตั้งและยอมรับผลการเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้นำ NLD และผู้นำทางการเมืองทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัว”

“ประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลไฮบริดคล้ายกับพม่าอยู่พอสมควร อีกทั้งผู้นำรัฐบาลก็เคยเป็นอดีตผู้นำกองทัพที่ใกล้ชิดกับทั้งพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย และนางอองซาน ซูจี เราเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด

ผู้เขียนถึงกล่าวว่า ไทยเหมาะสมที่สุดในการเป็นสะพาน ในการเชื่อมโยง และกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็มีประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการหารือระหว่าง 2 ฝ่ายโดยไม่แทรกแซง การเปิดห้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายพบกัน โดยมีอาเซียนเป็นผู้สังเกตการณ์”

 

วราวิทย์ ฉิมมณี

สปิริตคนข่าวในโลกผันผวน ของ วราวิทย์ ฉิมมณี

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“ผมยอมรับว่า ในตอนนี้ สื่อโทรทัศน์ถูกตั้งคำถามมากว่า ไม่นำเสนอเรื่องการเมืองหรือข้อเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมา แต่ผมอยากให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าคนทำงานไม่เคยคุยกันเรื่องนี้ เราพยายามคุยกันตลอดว่าประเด็นไปถึงไหนแล้ว จะปรับเปลี่ยนวิธีทำงานกันได้อย่างไร”

สังคม เศรษฐกิจ การเมือง เกิดเรื่องใหม่ๆ ได้ทุกวัน คนทำงานสื่อควรปรับตัวอย่างไรกับข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันต่อวัน นาทีต่อนาที

101 คุยกับ จอร์จ – วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และพิธีกรรายการตอบโจทย์ ถึงเส้นทางชีวิตและมุมมองการเป็นสื่อที่อยู่แนวหน้าของความเปลี่ยนแปลงในสังคม

“การติดตามข่าวเป็นเคสบังคับของคนทำงานข่าวเลยนะ เพราะถ้าเราไม่ดูข่าว ไม่รู้ว่าสังคมไปถึงไหน มันก็ยากที่จะกำหนดประเด็นดีๆ ได้ เราควรมีข้อมูลพื้นฐานมากพอสมควรก่อนคิดประเด็น”

“เวลามีคนถามว่าหัวใจสำคัญของสื่อยุคนี้คืออะไร ผมไม่มีคำตอบอะไรที่ซับซ้อน นอกจากการทำการบ้านกับข้อมูลต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ – ตรงไปตรงมากว่านั้น คือต้องอ่าน อ่าน อ่าน แล้วก็อ่าน ไม่ได้มีเทคนิคสำคัญอะไรเลย”

 

ซูกริฟฟี ลาเตะ

“ต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถึงจะได้เห็นสันติภาพชายแดนใต้” ซูกริฟฟี ลาเตะ เยาวชนปาตานี

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“มุมมองของรัฐต่อการปกครองคนที่นี่คือการมองว่าทุกคนคือผู้อาศัย ส่วนกูคือผู้ปกครอง ผู้อาศัยต้องทำตามเท่านั้น กูจะสร้างสะพานก็เรื่องของกู ถ้ากูไม่ให้สร้าง ก็เรื่องของกูอีก เมื่อวางตัวเองในลักษณะนั้น เขาก็พร้อมจะลงโทษคนใต้ปกครองของเขา…”

“เราเห็นแกนนำการชุมนุมโดนคุกคามด้วยกฎหมาย ที่นี่ก็โดนมาตลอด การมีสันติบาลไปเยี่ยมบ้าน ที่นี่ก็มีมาตลอด เราเห็นภาพสะท้อนการควบคุมคนที่คิดต่างจากรัฐในภาพกว้างของประเทศมากขึ้น รัฐกำลังเอาวิธีการที่นี่ไปใช้กับเพื่อนที่กรุงเทพฯ และที่อื่นๆ ของประเทศด้วย”

“การพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ รัฐบาลที่ใช้อาวุธเพื่อเข้ามาอยู่ในอำนาจ แล้วก็มาถกเถียงเรื่องสันติภาพ ผมว่าย้อนแย้ง แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไม BRN ถึงเลือกคุยกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หรือ BRN มองว่านี่คือเรื่องภายในประเทศไทย จะเป็นเผด็จการประชาธิปไตยก็เรื่องของประเทศไทยสิ ผู้นำจะเป็นแบบไหนองค์กรก็พร้อมคุยกับตัวแทนของรัฐ”

“PerMAS มองว่าประชาธิปไตยเป็นหนทางไปสู่สันติภาพที่ง่ายกว่า ประชาธิปไตยทำให้คนมีศักดิ์ศรีมากขึ้น และท้าทายความเชื่อหลายๆ อย่างของคนที่นี่ เช่น บทบาทของผู้หญิงและสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร เราไม่อยากให้โครงสร้างวัฒนธรรมกดทับใครไว้ เพราะฉะนั้นเราเลยเชื่อว่า ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น เราถึงจะได้เห็นสันติภาพ”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สนทนากับ ลี – ซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานกลุ่ม The Federation of Patani Students and Youth – PerMAS หรือ ‘สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี’ ถึงชีวิตบนความขัดแย้งในพื้นที่ สันติภาพที่เขาฝันถึง และประชาธิปไตย หนทางเดียวที่เขาเชื่อว่าจะนำไปสู่สันติภาพ

 

Highlight เด่น เจาะลึกรัฐประหารพม่า 2021

 

ลลิตา รัฐประหารเมียนมา

ผ่ารัฐประหารเมียนมา 2021 กับ ลลิตา หาญวงษ์

 

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“หากมองอย่างตรงไปตรงมา การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยไม่เคยเกิดขึ้นจริงในการเมืองเมียนมาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างที่บอกไปว่ารัฐธรรมนูญที่กองทัพร่างขึ้นมานั้นเอื้อประโยชน์ต่อการคงไว้ซึ่งอำนาจของกองทัพแทบจะทั้งหมด รวมทั้งพยายามสกัดกั้นไม่ให้พรรค NLD หรือพรรคการเมืองพลเรือนใดๆ ขึ้นมามีอำนาจเหนือกองทัพได้ หากจะพูดได้เต็มปากว่า 10 ปีที่ผ่านมาคือ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ อย่างแท้จริง กองทัพก็ไม่ควรทำรัฐประหาร”

อนาคตการเมืองเมียนมาจะไปทางไหนต่อหลังจากนี้? 101 ชวน ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาเมียนมา มองปรากฏการณ์การรัฐประหารและทิศทางการเมืองเมียนมาหลังรัฐประหาร

“น่าสนใจว่าม็อบเมียนมาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะมีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ ผู้นำนักศึกษาหรือผู้นำการเมืองฝ่าย NLD ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งม็อบถูกจับไปหมดแล้ว ฉะนั้นถ้ามวลชนจัดการประท้วงได้ น่าจะเป็นม็อบต่อต้านเผด็จการทหารที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมหาศาลไม่ต่างจากปี 1988 ที่นับได้ว่าเป็นการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในปี หรือการปฏิวัติชายจีวรในปี 2006”

“หากสวมหมวกกองทัพเมียนมามองรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 คาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กองทัพหวงแหนระดับหนึ่งในอนาคต เพราะว่ามันลงตัวแล้วสำหรับกองทัพ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมกองทัพจึงไม่ฉีกรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารครั้งนี้ ฉะนั้นคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ก็จะยังเป็นธรรมนูญในการบริหารประเทศต่อไปในยุคทหารครองเมือง แต่หลังจากจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังคาดเดาไม่ออกว่าการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรต่อไป”

“หากกองทัพจัดให้มีการเลือกตั้งใน 1 ปีหลังอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการณ์ตามที่สัญญาไว้จริง คาดว่ากองทัพจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะไม่ให้พรรค NLD กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา กองทัพรู้ดีว่าไม่ว่าจะออกแบบการเลือกตั้งให้เอื้อกับกองทัพอย่างไร พรรค USDP หรือพรรคทหารก็ไม่มีทางชนะพรรค NLD ได้ ต่อจากนี้ เราน่าจะเห็นการเลือกตั้งที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งจากความพยายามคงอำนาจของกองทัพ”

“การเมืองประชาธิปไตยจะเดินต่อไปได้ ต้องไปให้พ้นการเมืองแบบ ‘ไม่เลือกทหาร ก็ต้องเลือก NLD’ หากจะสู้กับกองทัพในสมรภูมิการเมือง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีทางเลือก ต้องสร้างพรรคการเมืองที่มีแนวทางที่ก้าวหน้ากว่า NLD และไม่อิงอยู่กับทั้งฝ่าย NLD และทหาร”

 

Muang Zarni

Maung Zarni : “มีแต่คนโง่ที่เชื่อว่ากองทัพจะคืนประชาธิปไตยให้พม่า”

 

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“กองทัพมักพร่ำบอกเสมอว่ารักชาติ ทำเพื่อชาติ รับใช้ประชาชน โปร่งใส ไม่มีคดโกงแผ่นดิน เพื่อยกมาเป็นข้ออ้างของความชอบธรรมที่จะเข้ามาควบคุมการเมือง และไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ความจริง พวกเขาก็คือมาเฟียที่เอาความรักชาติมาบังหน้า”

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในเมียนมาที่กำลังแหลมคมและเป็นที่น่าจับตามอง 101 ต่อสายตรงถึงอังกฤษ พูดคุยกับ ดร.หม่อง ซาร์นี นักวิจารณ์การเมือง นักเคลื่อนไหวชื่อดังชาวพม่า และผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร FORSEA เพื่ออ่านเกมกองทัพ พร้อมมองอนาคตของพม่า หลังเหตุการณ์รัฐประหารช็อคโลกที่เพิ่งเกิดขึ้น

“ตราบใดที่กองทัพมีอำนาจอยู่ ก็ไม่มีโอกาสเลยที่คนพม่าจะสัมผัสกับสันติภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง กองทัพไม่สามารถและไม่เคยคิดที่จะทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตย เพราะพวกเขาไม่ได้มีอุดมการณ์ใดๆ ที่ยึดโยงกับประชาธิปไตยเลย”

“ไม่ว่าจะกองทัพไทยหรือพม่าก็เหมือนกัน คือทำตัวเหมือนเด็กเหลือขอ ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ พอแพ้ ก็ล้มกระดานไปง่ายๆ เสียอย่างนั้น”

“ผมว่าคนไทยก็ควรจะสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนพม่าเหมือนกัน เพราะกองทัพไทยกับกองทัพพม่ามีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่แน่นแฟ้นมาก อย่างที่คุณเห็นว่ามิน อ่อง หล่ายก็เป็นลูกบุญธรรมของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถ้ากองทัพพม่าถูกประชาชนโค่นลงได้สำเร็จ กองทัพไทยก็จะสูญเสียพันธมิตรที่สำคัญยิ่งไป”

“ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของซูจี คือเธอคิดแต่จะประนีประนอมกับกองทัพ จนละทิ้งหลักการเดิมของเธอที่จะต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน…แต่แล้วทั้งหมดที่เธอพยายามจะเอาใจกองทัพก็สูญเปล่า กองทัพไม่ได้ใจอ่อนให้กับเธอเลย”

 

สุภัตรา ภูมิประภาส

ฟังเสียงกระซิบในร้านน้ำชาพม่า กับ สุภัตรา ภูมิประภาส

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“…ร้านน้ำชาพม่าเป็นแหล่งรวมทุกอย่างเลย วัฒนธรรมคล้ายๆ ทางใต้ของเรา สมัยก่อนจะมีสภากาแฟ รุ่นคุณพ่อเราก็ยังมีนัดคุยการเมืองนั่งจิบกาแฟกัน พม่าก็เป็นอย่างนั้น พม่าไม่กินกาแฟแต่กินชา ร้านน้ำชารวมทุกสิ่งทุกอย่าง และทรงความสำคัญมากโดยเฉพาะในสมัยที่การปกครองอยู่ใต้ทหาร คนจะมาอยู่ตามร้านน้ำชา

ทุกชีวิตอยู่ที่ร้านน้ำชา แม้กระทั่งพวกหน่วยความมั่นคงก็แทรกซึมอยู่ที่ร้านน้ำชา เพื่อมาดูว่าใครน่าสงสัยอย่างไร ร้านน้ำชาเป็นแหล่งรวมทุกอย่าง เป็นวัฒนธรรม หนุ่มสาวก็นัดเจอกันที่นั่น”

“สำหรับประชาชน ประชาธิปไตยของเขาเป็นสากลค่ะ ประชาชนรู้สึกว่าเขามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศและเดินทางกลับได้ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ประชาชนทั่วไปกำลังคุ้นเคยกับเสรีภาพ เพราะโลกเปิดเขา ไม่เหมือนโลกก่อนมีอินเทอร์เน็ต เขาเห็นการประท้วงหลายที่ ถึงเกิดการชูสามนิ้วขึ้นมา เขาคิดว่าเป็นเรื่องปกติ”

“ครั้งนี้จะเห็นว่าคนไปล้อมรถถังทหาร ไปเขียนป้ายด่า ทหารไม่เคยเจอแบบนี้ เขาก็ช็อก ประชาชนรู้สึกว่าเขาทำได้ คุณพรากสิทธิโดยชอบธรรมของฉันในการเลือกตั้งมา”

ในวันที่สายตาของทั้งโลกจับจ้องไปที่พม่า 101 ชวน สุภัตรา ภูมิประภาส นักแปล และอดีตนักข่าวที่ทำงานเกี่ยวกับพม่ามาตั้งแต่ปี 1988 มาพูดคุยเรื่องพม่าในเชิงวัฒนธรรมและผู้คน เพื่อทำความรู้จักพม่าในมุมที่อาจไม่เคยเห็น

เสน่ห์ของพม่าที่ซ่อนอยู่ใต้ความเรืองรองของเจดีย์ชเวดากอง ซุกอยู่ในบทสนทนาของร้านน้ำชา หลบอยู่หลังเทือกเขาสูงใหญ่ และไหลล่องไปกับแม่น้ำอิรวดี ถูกกดทับด้วยอำนาจของรัฐบาลทหารที่พรากเอาเสรีภาพไปจากประชาชน คำถามคือหัวใจคนพม่าเป็นแบบไหนในสภาวการณ์เช่นนี้ และเราจะทำความเข้าใจได้อย่างไร

 

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

‘ปฏิวัติพม่า : ทหาร Vs ประชาชน’ กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

หลังเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทั้งโลกหันไปจับตามองพม่าอย่างพร้อมเพรียงทั้งประเด็นการทำรัฐประหารที่หลายคนคาดไม่ถึงรวมถึงปรากฏการณ์ที่คนพม่าออกมาต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ทหารปฏิวัติประชาชนหรือประชาชนจะปฏิวัติทหารการเมืองพม่าจะเดินอย่างไรต่อประชาธิปไตยที่ว่ากันว่าผลิดอกในพม่าแล้วจะจมหายไปหรือไม่และอะไรคือนัยของพม่าต่อประชาธิปไตยไทยและอาเซียน

101 ชวน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์  The Nation และนักวิจัยอิสระที่ทำงานประเด็นเรื่องอาเซียนมาพูดคุยว่าด้วยพม่าทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรม

 

สุณัย ผาสุข

101 One-On-One EP.214 ‘ต่อต้าน – ปราบปราม’ การลุกสู้อีกครั้งของพม่า กับ สุณัย ผาสุข

 

โดย

:: podcast :: 101 One-on-One EP.214 ‘ต่อต้าน – ปราบปราม’ การลุกสู้อีกครั้งของพม่า กับ สุณัย ผาสุข

การรัฐประหารในประเทศพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองที่ทำลายพัฒนาการประชาธิปไตยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2011

ปรากฏการณ์สำคัญคือการต่อต้านอย่างล้นหลามจากประชาชนพม่า เมื่อผู้คนออกมาเดินบนถนนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อแสดงออกว่าพวกเขาไม่ยอมรับการรัฐประหารของกองทัพ

สิ่งที่ตามมาคือการปราบปรามการประท้วงด้วยความรุนแรง โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากนานาชาติ

101 ชวนพูดคุยกับ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Right Watch ประจำประเทศไทย ถึงการรัฐประหารพม่าในมุมมองสิทธิมนุษยชน สิ่งที่น่าสนใจในการเมืองภาคประชาชน จนถึงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่าและไทย และบทบาทต่อไปของพม่าในเวทีโลก

ดำเนินรายการโดย วจนา วรรลยางกูร บรรณาธิการ The101.world

 

่ผ่ารัฐประหารพม่า

101 In Focus Ep.68 : ผ่ารัฐประหารพม่า 2021

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD ที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายไปในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 สถานการณ์หลังการรัฐประหารก็ยังคงร้อนแรงอย่างไม่มีวี่แววที่จะจบสิ้น

แม้กองทัพพม่าพยายามยกระดับมาตรการปราบปรามจนถึงขั้นที่ใช้ ‘กระสุนจริง’ ปิดปากเสียงของประชาชนชาวพม่าให้เงียบลง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พลังการต้านรัฐประหารทั่วพม่าแผ่วลงเลยแม้แต่น้อย ยิ่งกว่านั้น ขบวนการประท้วงกลับเบ่งบานและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น โลกยังคงกระหนำแรงกดดันไปที่นายพลมิน อ่อง หล่ายอย่างดุดัน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ หรือการประการตัดความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและกองทัพพม่าโดยนิวซีแลนด์

ยากที่จะคาดเดาได้ว่าอนาคตของพม่าจะเดินไปในทิศทางไหนต่อ แต่การรัฐประหารครั้งนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ในการเมืองพม่าอย่างแน่นอน

สัปดาห์นี้ 101 In Focus ชวนเจาะลึกรัฐประหารพม่าผ่านมุมมองนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และสื่อมวลชนไทย-พม่า อย่างครบรสในทุกมิติว่า อะไรสาเหตุคือที่นำมาสู่การทำรัฐประหารครั้งนี้ การเมืองพม่าในเงื้อมมือของกองทัพจะเป็นอย่างไรต่อไป ประชาคมโลกมองรัฐประหารพม่าด้วยสายตาแบบไหน และอะไรคือหนทางแห่งความหวังในการทวงคืนประชาธิปไตยในอนาคตของพม่า

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

ไรเดอร์ส่งอาหาร

ความเหลื่อมล้ำในอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร นิวนอร์มอลของความไม่เท่าเทียมในสังคม

 

โดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การขยายตัวของธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของช่องทางการหารายได้มากขึ้น นอกจากร้านอาหารจะได้ช่องทางการขายที่เปิดกว้างขึ้นแล้ว แรงงานที่ต้องการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม ก็สามารถเข้ามาทำงานเป็นผู้ขับรถส่งอาหาร (ไรเดอร์) ให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ ได้”

“คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารจะสามารถกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับแรงงานที่เข้าเป็นไรเดอร์ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่”

ภวินทร์ เตวียนันท์ และ กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์ พาไปวิเคราะห์ว่า เพราะเหตุใด โอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มส่งอาหารที่บูมขึ้นมาในช่วงโควิด ถึงไม่ได้กระจายสู่แรงงานที่เข้าสู่อาชีพไรเดอร์อย่างเท่าเทียม

“แม้ว่าแพลตฟอร์มอย่าง Grab จะเปิดให้บริการ Grab Walk ซึ่งผู้ให้บริการสามารถซื้อและส่งของให้ลูกค้าได้ด้วยการเดินเท้า ทำให้ผู้ที่ไม่มีจักรยานยนต์สามารถสมัครเข้าไปเป็นผู้บริการได้ แต่บริเวณที่มีความหนาแน่นของร้านค้าและชุมชนโดยส่วนใหญ่จะเป็นโซนในตัวเมืองทั้งสิ้น และไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ในโซนดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย”

“โอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของธุรกิจส่งอาหารจึงซ้อนทับกับปัญหาโครงสร้างที่มีการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองศูนย์กลาง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของแพลตฟอร์มส่งอาหารจึงมิได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง”

 

ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร

อีกทางเลือกปัญหาสุขภาพจิต : CBT การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม กับ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สนทนากับ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) หรือ CBT อีกทางเลือกของปัญหาสุขภาพจิต ตั้งแต่ความหมาย กระบวนการ ไปจนถึงการเข้าถึง CBT ในประเทศไทย

“กระบวนการปรับวิธีคิดจะทำผ่านการตั้งคำถามให้คิด เรียกว่า “Socratic Questioning” มาจากชื่อของ โสเครตีส ที่สอนลูกศิษย์ด้วยการถามให้คิด กระบวนการนี้นักบำบัดจะถามให้คนไข้ได้คิดในมุมอื่นๆ ที่ต่างจากที่เคยคิด เช่น เขาเคยคิดว่าเขาเป็นคนไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ เราก็ถามว่า เอ๊ะ จริงหรือเปล่าที่คุณเป็นคนไม่มีคุณค่า ถ้าไปถามเพื่อนคุณ เขาจะบอกว่ายังไง หรือถ้าเพื่อนเขาคิดอีกแบบ คุณจะเห็นด้วยกับเขาไหม”

“ความคิดที่เกิดเร็วๆ มีเหตุการณ์ปุ๊บ เกิดทันที เขาเรียกว่า ความคิดอัตโนมัติ (Automatic Thoughts) อาจมีที่มาจากความเชื่อเดิม ซึ่งมาจากประสบการณ์ชีวิตอีกที เช่น ตอนเด็กๆ โตมาแบบไม่เคยถูกพ่อแม่ชมเลย ทำอะไรก็โดนว่า สอบได้เกรด 3.8 แม่ก็ถามว่าทำไมไม่ได้ 4 เราก็เกิดความเชื่อกับตัวเองว่า เราไม่ดีพอ เมื่อความเชื่อถูกฝังอยู่ข้างใน เวลามีเรื่องอะไรก็ตามเกิดขึ้น เราจะตีความตามความเชื่อเดิม คิดว่าเป็นเพราะเราไม่ดีพอ”

“ปัจจุบันต่างประเทศมีการนำเทคโนโลยีใหม่คือ Virtual Reality หรือการจำลองภาพและสภาพแวดล้อม มาประยุกต์ใช้กับการปรับพฤติกรรมแบบ การเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว เช่น ถ้าเรากลัวหมา ก็ใส่ VR เป็นภาพหมาให้ดู มันจะน่ากลัวน้อยกว่าของจริง และเราก็รับรู้ว่านี่คือจินตนาการ อาจจะช่วยให้เขาลดความกลัวลง พอผ่านตรงนี้ไปได้ค่อยเริ่มเผชิญหน้ากับหมาจริงๆ”

“ผมว่าทุกวันนี้คนต้องการคนคุยด้วยเยอะมาก ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต คนโทรเข้าไปกระหน่ำ บริการปรึกษาสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน Ooca ก็ดูจะไปได้ดี แม้จะเสียตังค์ในเรทราคาเท่านี้ เพื่อให้ได้คุยในเวลา 30 นาที ก็ยังมีคนใช้บริการ หรือแม้แต่การโค้ชชิ่งที่ได้รับความนิยมมาก โค้ชกันครั้งนึงไม่ใช่ถูกๆ แสดงว่าจริงๆ มีคนต้องการการพูดคุย”

“ถ้าอย่างนั้น ทำยังไงเราจะสร้างเซอร์วิสสำหรับการพูดคุย ที่ไม่ใช่แค่คุยอะไรก็ได้ ไม่รู้ว่าใครมาคุย ไม่รู้ว่าช่วยได้หรือไม่ได้ คุยแล้วดีขึ้นหรือแย่ลง เราจะสร้างการพูดคุยหรือการบำบัดที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ได้อย่างไร”

 

วัสดุอวกาศ

เทรนด์ของวัสดุอวกาศ

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนจับตา ‘อีลอน มัสก์’ ซีอีโอสุดแอ็คทีฟแห่ง SpaceX
คือความทุ่มเทที่เขามีให้กับ ‘วัสดุอวกาศ’ วัสดุที่อาจนำมนุษยชาติไปสู่พรมแดนใหม่ได้

วัสดุต่างๆ ที่ใช้พามนุษย์ไปสู่อวกาศ มักมีคุณสมบัติพิเศษคือทั้งแข็งแกร่ง เบา และยืดหยุ่นไปพร้อมกัน

การผลิตขึ้นมาจึงไม่ง่าย บางชนิดต้องใช้หุ่นยนต์ขนาดมหึมาถักทอ ‘เส้นใย’ ของวัสดุเหล่านี้ และมีกระบวนการผลิตแสนซับซ้อน

โตมร ศุขปรีชา ชวนเราเจาะลึกถึงเรื่องราวของวัสดุแห่งอนาคตเหล่านี้ ใน คอลัมน์ #TrendRider

 

“ถ้าโลกวุ่นวายแบบนี้แล้วจะมีลูกไปทำไม?” : มองครอบครัวรุ่นใหม่ เมื่อ ‘ลูก’ ไม่ใช่คำตอบของคน Gen Y

“ถ้าโลกวุ่นวายแบบนี้แล้วจะมีลูกไปทำไม?” : มองครอบครัวรุ่นใหม่ เมื่อ ‘ลูก’ ไม่ใช่คำตอบของคน Gen Y

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

“ใครจะอยากให้ลูกเกิดขึ้นมาเจอสังคมแบบนี้” เป็นประโยคที่เรามักได้ยินบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงการมีลูกในปัจจุบัน

ในโลกที่เกิดโรคระบาด มีความเหลื่อมล้ำสูงในหลายพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลงทุกวัน และไม่รู้ว่าโลกในวันข้างหน้าจะมีหน้าตาแบบไหน อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก

แต่ท่ามกลางคำตอบเหล่านี้ ยังมีอะไรมากกว่านั้นไหม 101 ชวนย้อนอ่านบทความว่าด้วยเรื่อง เพราะอะไรคน Gen Y จึงไม่อยากมีลูก การไม่อยากมีลูกจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร และเราแก้ไขอะไรได้ไหม

 

ไทยเป็นประเทศโลกที่สาม

ไทยเป็นประเทศ “โลกที่สาม” – แล้วโลกที่หนึ่งกับสองอยู่ตรงไหน

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

เราได้ยินคำว่า “ประเทศโลกที่สาม” กันบ่อยๆ แล้วเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า “ประเทศโลกที่หนึ่ง” และ “ประเทศโลกที่สอง” อยู่ตรงไหน? ประเทศไทยจะข้ามผ่านจากประเทศโลกที่สามเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ต้องผ่านประเทศโลกที่สองก่อนหรือไม่?

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกุมภาพันธ์ 2564

 

101 gaze

101 Gaze Ep.3 “แฮปปี้วาเลนไทน์ คนคลั่งรักในศตวรรษที่ 21”

 

โดย ทีมงาน 101 Gaze

รักทำให้สุข รักทำให้เจ็บ ความโกลาหลแสนชื่นมื่นที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ทำให้คนเราคลั่งได้เสมอ
แต่ในโลกยุคใหม่ที่เสรีภาพและเทคโนโลยีเฟื่องฟูขึ้น สมการความคลั่งรักอาจซับซ้อนกว่าเดิม !

เราอาจต้องปัดซ้ายปัดขวา ใช้แอปพลิเคชันเพื่อหาความรัก
เราอาจต้องตกลงปลงใจในความสัมพันธ์ที่มีหลากรูปแบบ
เราอาจต้องฟาดฟันและหาข้อตกลงกับคนรักที่ต่างกับเราสุดขั้ว
เราอาจคิดไม่ตก ว่าจะยอมให้กฎหมายและรัฐมากำกับความสัมพันธ์ของเราจริงๆ หรือ

ในวันแห่งความรักปีนี้ 101 Gaze ชวนสำรวจความรักในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่เรื่องแอปพลิเคชันการหาคู่ รูปแบบความสัมพันธ์ การแต่งงาน ไปจนถึงการเมืองเรื่องความรัก คุยกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เจ้าของแฮชแท็กตอบปัญหาความรัก #ทวิตรัก และ ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’ และนักเขียนเจ้าของคอลัมน์ SEX-RAY

 

สมชัย จิตสุชน

101 One-On-One Ep.212 ‘เศรษฐกิจการเมืองเรื่องวัคซีน’ กับ สมชัย จิตสุชน

 

โดย

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นดี ต้องฟุบลงไปอีกรอบหนึ่ง เป็นวิกฤตต่อเนื่องและยาวนานที่สร้างเดือดร้อนให้กับผู้คนอย่างมหาศาล

ท่ามกลางความทุกข์ร้อน มาตรการเยียวยาของภาครัฐคือความหวังเฉพาะหน้า ในขณะที่ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ ‘วัคซีน’ ในฐานะแสงสว่างที่รออยู่ปลายอุโมงค์

คำถามใหญ่จากสังคมคือ รัฐเยียวยาได้ดีแค่ไหน เมื่อไหร่เราถึงจะได้วัคซีน และใครควรได้วัคซีนก่อนหรือหลัง

101 ชวน สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ สนทนาทั้งเรื่องการเยียวยาเศรษฐกิจไทยและเศรษฐศาสตร์การเมืองของวัคซีน

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

 

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

101 One-On-One EP.215 “คิด-เพื่อ-ไทย” กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

 

โดย

ท่ามกลางความแหลมคมของการเมืองไทย พรรคเพื่อไทยเดินหน้าปฏิรูปตัวเองอีกครั้ง จนน่าจับตาว่า “เพื่อไทยยุคดิสรัปต์” กำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร ทั้งในเชิงหมากการเมืองและเชิงนโยบาย

ในฐานะพรรคการเมืองอันดับ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรที่ครองตลาดการเมืองมากว่า 2 ทศวรรษ การปรับเปลี่ยนของเพื่อไทยจะกระทบภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยอย่างไร

101 ชวน ‘หมอมิ้ง’ – นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช มันสมองเบื้องหลังปฏิบัติการ “คิด เพื่อ ไทย” สนทนาสำรวจเบื้องลึกเรื่องปฏิรูปพรรคเพื่อไทย ปฏิรูปการเมืองไทย และปฏิรูปประเทศไทย

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิตติเวชกุล

 

ปฏิรูปกองทัพ

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…”จะปฏิรูปกองทัพ”

 

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์

8 ก.พ. ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์กราดยิงโคราช โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ เมื่อ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ก่อเหตุยิงผู้บังคับบัญชาพร้อมแม่ยายของผู้บังคับบัญชาเสียชีวิตคาบ้านพัก ก่อนจะหลบหนีเข้าตัวเมืองโคราชพร้อมอาวุธสงครามจำนวนมากที่ปล้นมาจากคลังอาวุธภายในค่ายทหาร จากนั้นคนร้ายเลือกเข้าไปหลบหนีในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช และได้กราดยิงผู้บริสุทธิ์ไม่เลือกหน้า เสียงปืนดังสนั่นออกมาเป็นระยะๆ พร้อมๆ กับสถานการณ์ที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้นแทบทุกนาที เนื่องจากยังมีประชาชนจำนวนมากติดอยู่ในห้าง

เวลาผ่านไปกว่า 17 ชั่วโมงนับตั้งแต่การลั่นไกสังหารครั้งแรก จนในท้ายที่สุด เมื่อเช้าของวันที่ 9 ก.พ. 63 เจ้าหน้าที่ตัดสินใจวิสามัญฆาตกรรม จ.ส.อ.จักรพันธ์ ณ บริเวณชั้นใต้ดินของห้าง เหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้จึงยุติลง จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 30 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 58 ราย

เมื่อย้อนไปดูว่าอะไรคือชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้นายทหารตัดสินใจทำเช่นนี้ พบว่ามีที่มาจากปมขัดแย้ง ‘ธุรกิจเงินทอน’ โครงการสวัสดิการเงินกู้ข้าราชการทหารบก ระหว่างผู้ก่อเหตุกับผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ นี่เป็นอีกครั้งที่การทุจริตในกองทัพนำมาซึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่ของประชาชน

ถัดไปอีก 3 วัน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 41 แถลงข่าวแสดงความเสียใจทั้งน้ำตา พร้อมให้สัญญาว่าจะมีการปฏิรูปกองทัพเสียใหม่เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยเดิม ท่าทีขึงขังเอาจริง ผสมกับน้ำเสียงที่เจือไปด้วยความรู้สึกผิด ทำให้สังคมไทยเฝ้ารอที่จะเห็นการปฏิรูปครั้งนี้

แต่ดูเหมือนคำสัญญาที่ว่า จะเป็นคำสัญญาที่กินเวลานานกว่าที่คิดในการทำให้มันเป็นจริง

เพราะจากแถลงครั้งล่าสุดของ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา มีเพียง 3 คีย์เวิร์ดหลักที่กองทัพใช้เป็นคำตอบ เมื่อถูกถามถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปกองทัพตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ‘กำลังอยู่ในกระบวนการ-เป็นเรื่องของคณะกรรมการ-ทุกเรื่องมีหน่วยงานดูแล’

101 ชวนฟังเสียง‘หมู่อาร์ม’ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตนายทหารผู้ออกมาเปิดโปงการทุจริตเบี้ยเลี้ยงทหารชั้นผู้น้อย ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องเจอ หลังจากการลุกขึ้นสู้ตามระบบ และตอบคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าเพราะเหตุใดกองทัพไทยถึงปฏิรูปไม่สำเร็จเสียที ในสารคดีข่าวสั้น ‘Side B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า…จะปฏิรูปกองทัพ’

 

save บางกลอย

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “กะเหรี่ยงบางกลอยรุกป่า”

 

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์

“ชาติพันธุ์ก็คือคน”

เป็นประโยคที่เกิดขึ้นระหว่างกระแส #saveบางกลอย จากการเรียกร้องของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่อุทยานฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

นับแต่ปี 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ โยกย้ายชาวปกาเกอะญอหมู่บ้านใจแผ่นดิน 57 ครอบครัวลงมารวมกับหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ แต่บางครอบครัวกลับไม่ได้รับจัดสรร ทำให้มีความเป็นอยู่ยากลำบาก บางครอบครัวจึงกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินและบางกลอยบน

ปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาบ้านและยุ้งฉางที่ใจแผ่นดินเกือบ 100 หลัง ทำให้ชาวปกาเกอะญอต้องออกมาเรียกร้องดำเนินคดี โดยมี ‘บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ’ เป็นตัวแทน และมีปู่ของบิลลี่คือ ‘ปู่คออี้-โคอิ มีมิ’ เป็นผู้นำจิตวิญญาณชุมชน

บิลลี่ถูกอุ้มหายในเวลาต่อมา และพบหลักฐานว่าเขาถูกฆาตกรรม แต่ยังไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด

ปกาเกอะญอที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย มีปัญหาเรื่องปากท้อง ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนเช่นเดิมได้ ต้องออกไปทำงานรับจ้าง ไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ ความอดทนกว่ายี่สิบปีหมดลง ต้นปี 2564 ชาวบ้านตัดสินใจเดินเท้ากลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน โดยทางเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีและมีการสกัดการลำเลียงอาหาร

หลังมาเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนรัฐบาลจึงลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาและถอนกำลังเจ้าหน้าที่จากชุมชน

ปัญหาเรื่องที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะปกาเกอะญอที่มีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งภาครัฐมองว่าเป็นการ ‘บุกรุกป่า’ และปัญหายิ่งทับถมเมื่อพื้นที่นั้นอยู่ในเขตอุทยาน ทั้งที่ปกาเกอะญอในหลายพื้นที่อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนการประกาศเขตอุทยาน

101 ชวนทำความเข้าใจปัญหาชาติพันธุ์ผ่านการพูดคุยกับปกาเกอะญอจากหมู่บ้านใจแผ่นดินและปกาเกอะญอจากภาคเหนือ ผ่านรายการ SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “กะเหรี่ยงบางกลอยรุกป่า”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save