fbpx
การล่วงละเมิดทางเพศ – บาดแผลเดิมที่ถูกฉายซ้ำทุกวัน

การล่วงละเมิดทางเพศ – บาดแผลเดิมที่ถูกฉายซ้ำทุกวัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ เรื่อง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคม หลังมีฉากเกี่ยวกับการข่มขืนในละครเรื่อง ‘เมียจำเป็น’ ที่ประชาชนจำนวนมากมองว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะบทที่ตัวละครนำชายแสดงท่าทีรังเกียจต่อแฟนสาวที่ตนเข้าใจว่าถูกข่มขืน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมโทษเหยื่อ (victim blaming) ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคม

สิ่งที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คงไม่ใช่ว่า “ทำไมประเด็นนี้ถึงสร้างความไม่พอใจแก่คนจำนวนมาก” แต่คือ “ทำไมฉากแบบนี้จึงยังสามารถถูกผลิตซ้ำอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์จนมาถึงวันนี้ได้”

ปัญหาเรื่องการข่มขืนหรือการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงและเรื้อรังมากในประเทศไทย

สถิติหนึ่งที่น่าสะเทือนใจสุดๆ คือ ทุกๆ 17 นาทีจะมี 1 คนที่ถูกข่มขืน โดยเกือบ 90% เป็นกรณีที่ไม่ได้มีการแจ้งความ

ผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลและความเสียหายทางสภาพจิตใจต่อเหยื่อ แต่เป็นการตอกย้ำอีกมิติของ ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ ในสังคม ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของบางเพศมีความปลอดภัยน้อยกว่าเพศอื่น

คงไม่มีใครที่ติด #ข่มขืนผ่านจอพอกันที มองว่าปัญหานี้จะถูกแก้ได้ทันทีหากฉากอย่างในละคร ‘เมียจำเป็น’ หมดไปจากหน้าจอ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นต้องผสมผสานทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้าง และการปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือค่านิยม

ในมุมมองของผม เราจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อมุ่งไปสู่การแก้ปัญหากับ 3 ภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหานี้

1. สังคม: สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง-ปฏิรูปเพศศึกษา-เรียกร้องความรับผิดชอบจากสื่อ

2. เหยื่อ: หยุดโทษเหยื่อ-เพิ่มความมั่นใจให้กล้าพูด-ฟื้นฟูดูแลสภาพจิตใจ

3. ผู้กระทำผิด: ดำเนินคดีอย่างโปร่งใส-ไม่มีข้อยกเว้น-ลงโทษอย่างเหมาะสม

 

1

สังคม: สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง-ปฏิรูปเพศศึกษา-เรียกร้องความรับผิดชอบจากสื่อ

 

ในสังคมภาพกว้าง ยังมีหลายอย่างที่คนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ

อย่างแรก หลายคนมีความเชื่อว่าการคุกคามทางเพศนั้น หมายถึง การกระทำทางร่างกายเพียงอย่างเดียว เช่น การแตะเนื้อต้องตัว ลูบไล้ หรือการพยายามข่มขืนผู้อื่น แต่ไม่ได้เข้าใจว่าการกระทำทางสายตา (เช่น การจ้องมอง) หรือทางวาจา (เช่น ชวนคุยเรื่องเพศ ซักไซ้เรื่องส่วนตัว หรือพูดตลกลามก) นับเป็นการคุกคามทางเพศอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน – ถึงแม้อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ทุกคนน่าจะเข้าใจอยู่แล้ว แต่หลายคนยังต้องเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบเหล่านี้อยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะจากการแซวเล่นระหว่างเพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งละครตลกในไทยหลายเรื่อง ก็ยังเน้นหากินจากเนื้อหาแบบนี้อยู่

ตอนที่ผมจัดเวิร์กช็อปอบรมเรื่องการคุกคามทางเพศให้กับพนักงานที่บริษัทกว่า 100 คน ก็ค้นพบถึงความเข้าใจไม่ตรงกันของหลายคนว่าอะไรคือพฤติกรรมที่เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศ

อย่างที่สอง หลายคนอาจเข้าใจว่าการล่วงละเมิดทางเพศมักเกิดขึ้นในสถานที่ที่อันตรายและกระทำโดยคนแปลกหน้า ทั้งที่จริงแล้ว หลายรายงานกลับพบว่าการล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสถานที่ที่ดูเหมือนจะปลอดภัย และกระทำโดยคนใกล้ตัวที่รู้จักกับผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างเพื่อนบ้าน ระหว่างครู-นักเรียน ระหว่างเพื่อนร่วมงาน หรือ ระหว่างคู่รัก การสวนทางกันระหว่างสัญชาตญาณและสถิติ เลยทำให้เราเห็นได้ว่า ในขณะที่พ่อ-แม่ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกปลอดภัยกว่าหากลูกสาวใช้เวลากับคนที่ตนเองคุ้นเคย (เช่น คุณลุงข้างบ้าน ครูสอนพิเศษ) แต่หลายครั้งที่ผู้กระทำผิดกลับฉวยโอกาสจากความคุ้นเคยและความไว้วางใจที่ได้รับนั้นมากระทำการคุกคามเหยื่อเสียเอง

นอกจากความคุ้นเคยแล้ว ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศจากคนที่รู้จัก โดยการที่ผู้กระทำผิดนำเงื่อนไขหรือผลประโยชน์ต่างๆ มาเป็นเครื่องมือต่อรองหรือข้ออ้างในการคุกคามเหยื่อจนทำให้เหยื่อถูกบีบอยู่ในสภาพที่ต้องยอมแลกหรือยอมทน (บางครั้งโดยไม่รู้ตัว) ไม่ว่าจะเป็นภรรยาที่อาจไม่กล้าเดินหนีจากสามีที่ทำร้ายตนเพราะสามีเป็นที่มาของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว หรือพนักงานที่ถูกหัวหน้าใช้ตำแหน่งและอำนาจประเมินผลงานพนักงาน ในการชักชวนให้ไปใช้เวลาร่วมกัน ถึงแม้บางครั้งเหยื่ออาจรู้สึกว่าตนเองให้การยินยอมจนอาจตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่ผู้กระทำจงใจใช้ตำแหน่งเชิงอำนาจของตน เพื่อประโยชน์ทางเพศของตัวเอง

เมื่อความเข้าใจผิดต่อเรื่องเหล่านี้ยังมีอยู่สูงมากในสังคมไทย บทบาทของการศึกษาและสื่อจึงมีความสำคัญมากในการช่วยปรับความเข้าใจของสังคม แทนที่จะผลิตซ้ำหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้กับประชาชนตั้งแต่ยังเด็ก แต่หลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนไทยกลับมีข้อบกพร่องหลายด้านที่ต้องปรับปรุง ปัญหาอย่างหนึ่งในภาพรวมคือ การไม่พร้อมจะนำเอาปัญหาเรื่องเพศในชีวิตจริงมาพูดคุยกับนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับมีความเชื่อว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสำหรับผู้ใหญ่ที่เด็กไม่ควรรับรู้ จนทำให้เด็กหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง นำไปสู่ปัญหาต่างๆที่ตามมา เช่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

รายงานของ UNICEF ให้ความเห็นว่าการสอนเพศศึกษาในไทย มุ่งเน้นไปที่ด้านกายภาพเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญเพียงพอต่อการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องทัศนคติทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นหลักการเรื่องการยินยอม ความรุนแรงทางเพศ หรือความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น การทำแบบสำรวจของ UNICEF ในปี 2017 ได้ผลลัพธ์ว่า 41% ของนักเรียนชายในระดับอาชีวศึกษาเชื่อว่า สามีสมควรทำร้ายภรรยาได้หากภรรยานอกใจ ในขณะที่เกือบ 50% ของนักเรียน ม.ต้น มีความเชื่อว่าคู่รักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิด

อย่างไรก็ตาม จากการได้เห็นกระแสความคิดของคนรุ่นใหม่ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าตัวเลขเหล่านี้น่าจะดีขึ้นกว่าสมัยก่อน ไม่ใช่เพราะว่าหลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนถูกปฏิรูปแล้ว แต่เพราะการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายขึ้นในสื่อออนไลน์ (ป.ล. เนื้อหาเกี่ยวกับเพศศึกษาในแอปพลิเคชันเรียนออนไลน์ที่ผมทำอยู่ ก็เป็นเนื้อหานอกห้องเรียนที่มียอดวิวอย่างต่อเนื่อง) จากผลรายงานของ PISA ในปี 2018 นักเรียนไทยเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีการเข้าร่วมกิจกรรมและเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคทางเพศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

แต่นอกจากการศึกษาแล้ว อีกกลไกหนึ่งที่มีอิทธิพลมากในการกำหนดค่านิยมของสังคมคือละครไทย ถึงแม้ผมเองเป็นคนที่ไม่ค่อยดูละครไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครไทยเป็นสิ่งที่เข้าถึงประชาชนจำนวนมากในสังคม รวมถึงเป็นรายการที่เด็กหลายคนดูและซึมซับโดยไม่รู้ตัวเวลาที่พ่อแม่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้

ผมมองว่าปัญหาหลักเรื่องฉากข่มขืนในละครไทย อาจไม่ใช่การที่ละครมีฉากเกี่ยวกับการข่มขืน เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคม ที่สามารถถูกเลือกมาสะท้อนได้ผ่านละคร (ถึงแม้เราจำเป็นต้องคิดหาวิธีการเตือนผู้ชมก่อน เวลาจะมีเนื้อหาที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจของเหยื่อจากการคุกคามทางเพศ)

แต่ปัญหาหลักของการผลิตฉากข่มขืนในละครไทย มีดังนี้

(1) normalize หรือ ทำให้การข่มขืนดูเป็นเรื่องที่ปกติ (เช่น การล้อเล่นถึงการข่มขืน การมองว่าเป็นวิธีแก้แค้นคนอื่นที่เหมาะสม)

(2) romanticize หรือ ทำให้การข่มขืนดูเป็นเรื่องโรแมนติก (เช่น การ ‘ตบจูบ’ หรือ ‘ขืนใจ’ ระหว่างพระเอก-นางเอก)

(3) glorify หรือ ทำให้การข่มขืนดูเป็นเรื่องที่ไม่ต้องได้รับการลงโทษ แต่กลับได้รับการเชิดชู หรือกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแสดงความรักหรือพัฒนาความสัมพันธ์ (เช่น การที่พระเอกข่มขืนนางเอก และในที่สุดก็ตกหลุมรักกัน หรือไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย)

เมื่อเราเปรียบเทียบรูปแบบการนำเสนอเรื่องการข่มขืนของละครไทยลักษณะนี้ กับ รูปแบบการนำเสนอเรื่องการข่มขืนในละครหรือซีรีส์ต่างๆ จากทั่วโลกที่มักปลูกฝังค่านิยมอีกลักษณะ (เช่น ในซีรีส์ Sex Education ของ Netflix มีการนำเสนอผลกระทบทางสุขภาพจิตของตัวละครที่ถูกคุกคามทางเพศบนรถเมล์ระหว่างไปโรงเรียน และความสำคัญของการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเหยื่อ)

ทางออกของเรื่องนี้ คงไม่ใช่การให้รัฐเข้าไปสั่งระงับหรือแบนฉากในละครไทยที่เป็นปัญหาดังกล่าว เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่อันตราย คือการให้อำนาจรัฐไปกำหนดและผูกขาดมาตรฐานทางจริยธรรมไว้แต่เพียงผู้เดียว (ซึ่งก็อาจคล้ายกับแนวคิดของนโยบายที่รัฐจัดสรรงบประมาณให้คนไปทำ ‘หนังรักชาติ’)

ทางออกของเรื่องนี้ จึงต้องอาศัยอำนาจของผู้บริโภคและผู้สนับสนุน (sponsor) ที่พร้อมจะยืนหยัดต่อต้าน แบนหรือคว่ำบาตรละครดังกล่าว และอาศัยความรับผิดชอบของผู้ผลิต ที่พร้อมจะยืนหยัดในการไม่ผลิตเนื้อหาที่ปลูกฝังค่านิยมผิดๆ หรือสร้างปัญหาต่อสังคมและเหยื่อของการคุกคามทางเพศ เพียงเพราะ ‘เรตติ้งดี’

อีกกลุ่มหนึ่งที่หลายคนมองว่ามีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหานี้คือนักแสดงที่ต้องเล่นบทเหล่านี้เอง – ถึงแม้ผมเข้าใจว่านักแสดงส่วนใหญ่อาจไม่ได้มีส่วนร่วมมากนักในการเขียนบทละคร แต่พอเรามองไปเห็นถึงความกล้าหาญของนักแสดงหลายคนในเมียนมาที่ออกมาร่วมหรือนำการต่อสู้กับรัฐประหาร ผมก็แอบหวังว่าการเรียกร้องให้นักแสดงไทยทุกคนร่วมกันต่อต้านหรือปฏิเสธบทละครที่เป็นปัญหาเหล่านี้ คงจะไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่อาศัยความกล้าหาญมากจนเกินไป

 

2

เหยื่อ: หยุดกล่าวโทษ-เพิ่มความมั่นใจ-ฟื้นฟูดูแล

 

ไม่ว่าเราจะพยายามปรับค่านิยมเพื่อทำให้คนมีความเข้าใจเรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเท่าไร แต่คงยากที่เหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้จะหมดไปจนกลายเป็นศูนย์ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นหลังมีเหตการณ์คุกคามทางเพศ คือมาตรการที่ช่วยคุ้มครองเหยื่อ และทัศนคติที่เรามีในการปฏิบัติกับเหยื่อ

ในขั้นพื้นฐานที่สุด สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย คือการโทษเหยื่อ

ในทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุผู้หญิงโดนคุกคามทางเพศ จะมีหลายคนเพ่งเล็งไปตั้งคำถามกับเหยื่อว่า เขาแต่งกายอย่างไร เขาเดินในที่เปลี่ยวหรือเปล่า เขาดื่มมาก่อนเกิดเหตุหรือไม่ เขาแสดงท่าทีอะไรต่อผู้กระทำที่ทำให้เข้าใจผิดหรือเปล่า หรือตั้งสมมติฐานอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมและไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

(แม้กระทั่งผู้นำประเทศเรา ก็เคยถามคำถามลักษณะนี้ หลังกรณีเกิดเหตุข่มขืนและฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 คนที่เกาะเต่าเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว)

การถามคำถามเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเหยื่อแล้ว ยังเป็นการชี้นำให้สังคมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งของความผิดที่เกิดขึ้น เป็นความผิดของเหยื่อ

ในมุมวิทยาศาสตร์ ไม่มีหลักฐานจากงานวิจัยไหนที่บ่งชี้ว่าการที่ผู้หญิงแต่งกายแบบใดแบบหนึ่ง จะนำไปสู่โอกาสที่ผู้กระทำจะลงมือคุกคามทางเพศมากขึ้น นิทรรศการอย่าง Don’t tell me how to dress ของคุณสิรินยา บิชอพ หรือนิทรรศการลักษณะคล้ายกันจากทั่วโลกที่มีการจัดแสดงเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยผู้หญิงที่ถูกลวนลาม แสดงให้เห็นชัดว่าการแต่งตัวของผู้หญิงไม่ได้เป็นสาเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศ

แต่ในมุมของหลักการ เราต้องยืนยันว่า ไม่ว่าการแต่งกายของเหยื่อจะส่งผลหรือไม่ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการตัดสินใจของผู้กระทำ แต่เมื่อมีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น คนผิดคนเดียวคือผู้กระทำ ไม่ใช่เหยื่อ

หากมีคนปีนเข้ามาขโมยของในบ้าน ไม่ว่ารั้วหน้าบ้านเราจะสูงหรือเตี้ย คนที่ผิดคนเดียวคือขโมย

หากมีคนมาทำร้ายร่างกายเรา ไม่ว่าถนนที่เราเดินอยู่จะมีคนพลุกพล่านหรือปลอดคน คนที่ผิดคนเดียวคือคนทำร้าย

เช่นเดียวกัน หากมีคนมาล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าคนที่ถูกล่วงละเมิดจะแต่งกายอย่างไร ดื่มมากแค่ไหน ก็เป็นสิทธิของเขา เขาไม่ผิด คนที่ผิดคนเดียวคือคนที่ล่วงละเมิด

แต่นอกจากจะไม่โทษเหยื่อแล้ว ยังมีอีกสองสิ่งสำคัญที่เราทำได้เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ

อย่างแรก คือการช่วยให้เหยื่อมีความมั่นใจและความสบายใจที่จะออกมาพูดหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่ามีเพียง 20% ของเหยื่อเท่านั้นที่เลือกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ส่วนหนึ่งอาจมาจากความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม หรือความกังวลต่อการต้องเผชิญกับวัฒนธรรมโทษเหยื่อที่กล่าวไว้ข้างต้น

แต่อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากค่านิยมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ที่ทำให้เหยื่อถูกบีบให้รู้สึก ‘ผิด’ จากการลุกขึ้นมาเปิดโปงคนกระทำ

เวลามีการคุกคามทางเพศโดยผู้กระทำใช้อำนาจหรือความไว้วางใจที่ตนได้รับจากสถานภาพทางสังคม (เช่น ครู คนในครอบครัว) พอผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาเปิดโปงความเลวร้ายนี้ ก็มีหลายครั้งที่เหยื่อมักถูกกดดันให้ไม่ดำเนินคดี เพียงเพราะข้ออ้างที่ว่าจะทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ‘เสียชื่อเสียง’ ไม่ว่าโรงเรียน (ในกรณีที่นักเรียนถูกกระทำโดยครู) หรือครอบครัว (ในกรณีที่ภรรยาถูกกระทำโดยสามี)

ผมยังจำได้ในการทำกิจกรรมร่วมกับสมัชชาสตรีแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงหนึ่ง มีการสอบถามกลุ่มผู้หญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมว่าเคยเจอปัญหาอะไรที่บ้านบ้าง พบว่าไม่มีใครสักคนที่ยกมือพูดถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่เมื่อเราเปลี่ยนวิธีการส่งคำตอบ ให้เขียนลงในกระดาษแบบไม่เปิดเผยตัวตน ปรากฏว่าเกินครึ่งเขียนกลับมาว่าเคย

เรื่องนี้ทำให้อดกังวลไม่ได้ว่า หากค่านิยมที่เราสร้างในโรงเรียนมีปัญหา สังคมก็จะมีปัญหาเหล่านั้นตามมา เพราะถ้าเราสร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่ปิดกั้นไม่ให้เด็กออกมาเปิดโปงเวลาครูทำผิด แต่กลับถูกขู่หรือเตือนว่า “จะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง” เราก็อาจจะกำลังสร้างบรรยากาศในสังคมที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้ใหญ่ที่ถูกสามีทำร้าย กล้าออกมาขอความช่วยเหลือเพราะถูกขู่หรือเตือนว่า “จะทำให้ครอบครัวเสียชื่อเสียง” เหมือนกัน

นวัตกรรมหนึ่งที่บางประเทศใช้และมีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง ในการช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เหยื่อที่เป็นผู้หญิงกล้าพูดมากขึ้น คือการมีตำรวจผู้หญิง

ถึงแม้งานวิจัยบางแห่งชี้ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสบายใจต่อเหยื่อคือการเห็นอกเห็นใจ การเป็นมืออาชีพ และการไม่แสดงอาการตั้งแง่กับเหยื่อ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเพศ (และจริงๆ ก็ควรเป็นเช่นนั้น) แต่สถิติจากประเทศอินเดียที่มีปัญหาการคุกคามทางเพศค่อนข้างสาหัส เผยว่าเหยื่อผู้หญิงที่เข้าพบเจ้าหน้าที่ผู้หญิง หรือสถานีที่มีแต่ตำรวจที่เป็นผู้หญิง มีโอกาสสูงกว่าที่จะตัดสินใจรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ดังนั้น ในระยะสั้นบทบาทของตำรวจหญิงอาจช่วยเรื่องนี้ได้

แต่นอกจากเพิ่มความสบายใจให้เหยื่อกล้าลุกขึ้นมาพูดแล้ว การช่วยฟื้นฟูหรือดูแลสภาพจิตใจเหยื่อก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่ยังสร้างความบอบช้ำแก่จิตใจอย่างมหาศาล นอกจากเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ เช่น จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่สามารถมีบทบาทเยียวยาสภาพจิตใจของเหยื่อได้คือบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะครอบครัวและเพื่อนสนิท ที่ต้องแสดงความเข้าใจ เห็นใจ และพร้อมก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปพร้อมกับเหยื่อ มากกว่าการไปมองหรือคาดหวังว่าสภาพจิตใจของเหยื่อจะดีขึ้นทันที หลังเหตุการณ์ผ่านไปไม่นาน

 

3

ผู้กระทำผิด: ดำเนินคดีอย่างโปร่งใส-ไม่มีข้อยกเว้น-ลงโทษอย่างเหมาะสม

 

แต่ในขณะที่เราต้องฟื้นฟูและดูแลความรู้สึกของเหยื่ออย่างใกล้ชิด การลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสมก็สำคัญเช่นกัน ทั้งเพื่อรักษาความยุติธรรมและเพื่อลดโอกาสที่ผู้กระทำจะไปคุกคามเหยื่อรายใหม่

การออกแบบมาตรการลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม  ให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องยิบย่อยที่จะปล่อยให้จบๆ กันไปอย่างง่ายดายด้วยเหตุผลประมาณว่า ไม่อยากให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่อยากให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำเสียชื่อเสียง หรือไม่อยากให้สถาบัน/องค์กรเสียหาย

อย่างแรกที่ทำได้ คือการดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและโปร่งใส พร้อมเกณฑ์ที่ชัดเจนและมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในตำแหน่งที่สำคัญ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท หรือ ข้าราชการอาวุโส ชื่อเสียงหรืออำนาจทางการเงินไม่อาจเป็นตัวช่วยให้เรื่องเงียบหาย หรือทำให้การสืบสวนสอบสวนเชื่องช้า (อย่างจงใจ) แต่ต้องทำให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใสเท่าเทียมกัน

อย่างที่สองที่ทำได้ คือการวางโทษที่เหมาะสม ส่วนตัวแล้ว ถึงแม้ผมอาจไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของบางกลุ่มที่ออกมาสนับสนุนโทษประหารสำหรับกรณีข่มขืน เนื่องจากผมไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิตไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะสำหรับกรณีข่มขืนหรืออาชญากรรมอื่นๆ (เหตุผลทั้งหมดคงต้องเก็บไว้สำหรับอีกบทความ) แต่ผมก็เล็งเห็นว่า มีหลายครั้งในประเทศไทยที่ผู้กระทำผิดกรณีการล่วงละเมิดทางเพศที่ถูกพิสูจน์แล้ว ไม่ถูกดำเนินคดีอย่างเหมาะสม แต่กลับถูกแค่กดดันให้ออกมากล่าวขอโทษ หรือ (ในกรณีข้าราชการ) ถูกลงโทษด้วยการถูกย้ายโรงเรียนหรือหน่วยงาน แทนที่จะถูกไล่ออกจากราชการ ขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิด (blacklist) และดำเนินคดี  การปฏิบัติแบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการโยกย้ายปัญหาจากพื้นที่แห่งหนึ่ง ไปสู่พื้นที่อีกแห่งหนึ่ง

ต้องขอทิ้งท้ายด้วยการออกตัวว่า เหตุผลที่ผมเลือกเขียนด้านบนทั้งหมด ไม่ใช่เพราะผมเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญที่สุดในประเด็นนี้

ผมไม่ได้ทำงานโดยตรง หรือ มีงานวิจัยส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการคุกคามทางเพศ

ผมไม่ได้มีคนใกล้ตัว ที่เคยต้องผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายนี้

ในฐานะผู้ชาย ผมอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุด ที่จะถูกคุกคามทางเพศ

แต่ก็เพราะผมไม่ใช่ทั้งหมดเหล่านี้ เลยยิ่งจำเป็นที่ผมจะออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ เพื่อย้ำว่าการต่อต้านค่านิยมที่บิดเบี้ยวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่แพร่หลายอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์และสังคมในวงกว้าง ไม่ใช่การต่อสู้ในประเด็นที่ซับซ้อนหรือต้องการความเชี่ยวชาญอะไรมากกว่าสามัญสำนึกพื้นฐาน ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเพียงล้างแค้นหรือคลายความโกรธให้กับเหยื่อ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อปกป้องเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นการต่อสู้ที่ทุกคนร่วมกันได้ เพื่อสร้างและส่งต่อสังคมที่ประชาชน – ไม่ว่ามีเพศสภาพ หรือ เพศวิถีแบบไหน – รู้สึกและมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกันโดยแท้จริง

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save