fbpx
‘เมีย’ ไหนที่ ‘ร.5’ คิดถึงมากกว่า ‘พระราชินี’

‘เมีย’ ไหนที่ ‘ร.5’ คิดถึงมากกว่า ‘พระราชินี’

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

จากจำนวนพระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ที่มีมากถึง 152 ท่าน คงทำให้หลายคนเกิดคำถามชวนสงสัยในใจว่า เมื่อพระองค์ต้องเสด็จประพาสยุโรป เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศครั้งแรก พ.ศ.2440 ซึ่งต้องไกลจากบ้านเป็นเวลาหลายเดือนนั้น ใครคือ ‘เมีย’ ที่พระพุทธเจ้าหลวง ‘คิดถึง’ มากที่สุด

คำตอบข้อนี้ปรากฏชัดในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเวลาที่ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้น  โดยระบุชัดเจนว่า “เมียเก่าเมียแก่…จะไม่ให้คิดถึง ยิ่งกว่าเมียใหม่อย่างไรได้ นอนใจเต้นนั่งใจเต้นนึกถึงทุกค่ำเช้า รองลงไปก็แม่เล็ก ฤๅจะเปนกะใจไม่แน่ก็เท่ากันเท่านั้น

กล่าวคือ สมเด็จพระปิยมหาราชพระองค์นั้นทรงมีพระราชหัตถเลขาอย่างตรงไปตรงมาถึง ‘แม่เล็ก’ หรือ ‘สมเด็จพระบรมราชินีนาถ’ ว่า คิดถึง ‘เมียเก่าเมียแก่’ ของพระองค์ท่าน มากกว่าหรือเท่ากับที่คิดถึงผู้รับพระราชหัตถเลขานั้นเสียอีก

บทความนี้จะพาไปหาคำตอบว่า ‘เมียเก่าเมียแก่’ นั้น พระพุทธเจ้าหลวงทรงหมายถึง ‘เมีย’ ไหนกันแน่

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถฯ ขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ (ภาพจาก RBC)

 

การเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.2440 

 

การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ถึง 16 ธันวาคม 2440 รวม 253 วันนั้น นับเป็นครั้งแรกที่เสด็จไปดินแดนห่างไกลถึงทวีปยุโรป และเป็นห้วงเวลาที่สยามกำลังเผชิญภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) มาเพียงไม่กี่ปี

บุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยตระเตรียมและวางแผนผ่านการปรึกษาหารือกับพระองค์ท่าน ได้แก่ เจ้าพระยาอภัยราชา (Rolin-Jacquemyns) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  และสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ โดยมุ่งหวังผลที่จะสร้างการรู้จักและความประทับใจให้กับสาธารณชน รวมถึงผู้ที่ได้มีโอกาสพบปะกับพระองค์ในประเทศต่างๆ หรืออีกนัยหนึ่ง คือการใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเสมือนสื่อบุคคลหรือตัวแทนสยามประเทศนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ (1) เพื่อให้สยามเป็นที่รู้จักของประเทศต่างๆ ในยุโรปผ่านการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก และส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับประเทศตะวันตก ซึ่งอาจมีประโยชน์ทางการเมืองแก่สยามในอนาคต  (2) เพื่อทอดพระเนตรการบริหารประเทศ การศึกษา การทหาร และการศาล เพื่อนำมาปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า  และ (3) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาคนในบังคับและผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ มิได้มุ่งแสวงหาความสำราญส่วนพระองค์เลย

 

เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ต่อโดยบริษัทราเมจ & เฟอร์กูสัน สกอตแลนด์) ที่ใช้เป็นเรือพระที่นั่งในการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 (ภาพจาก wikimedia commons)

 

เป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์

 

ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระบรมราโชวาทพระราชทานคณะผู้ตามเสด็จบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2440 ถึงความเจริญของประเทศยุโรปที่เกิดจากการสังเกตและเล่าเรียนด้วยความหมั่นเพียรสืบต่อกันมา ดังนั้น เมื่อชาวสยามเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับชาวยุโรปจึงไม่ควรเกรงกลัว หากควรประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควรเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ดังความตอนหนึ่งว่า

“…คำพระพุทธเจ้าของเราทรงติเตียนความประพฤติของมนุษย์ที่กล่าวว่า เวลานี้ร้อนนักเวลานี้หนาวนัก เวลานี้เช้านักเวลานี้เย็นนัก เปนต้น เพื่อจะผัดการงานที่จะทำให้ช้าไป เกิดจากความเกียจคร้าน  พระองค์ตรัสว่า คำเช่นนั้นเปนทางมาของความฉิบหาย ไม่เปนทางที่จะให้คนมีความเจริญขึ้นได้ ทั้งความรู้แลความศุขเลย เพราะฉนั้นเจ้าจงคิดความสองข้อนี้ คือ ข้อหนึ่ง เราเปนมนุษย์เหมือนเขา ไม่ได้เลวกว่าเขา  ข้อสอง ความเกียจคร้านเช่นนั้นเปนทางฉิบหาย ตามคำสอนของพระศาสดาของเรา  สองอย่างนี้เปนความจริงแท้

เจ้าจงไว้ตัวเจ้าให้กล้าหาญ เพราะเราเปนมนุษย์อย่างเดียวกัน ไม่ควรเลยที่จะกลัวเกรงผู้ใด นอกจากผู้ที่เปนเจ้าและเปนผู้บังคับบัญชาเหนือตัวเจ้า ซึ่งเปนผู้จะปกครองอุดหนุนแนะนำเจ้าให้ได้ประพฤติการที่ถูกที่ดี ซึ่งไม่แต่เฉพาะจะให้สำเร็จประโยชน์แก่ตัวเจ้าทั้งในประจุบัน แลภายน่า กับทั้งเปนเกียรติยศเปนคุณต่อบ้านเมือง อันเปนที่เกิดของเจ้าทั้งหลาย แลเปนทางที่จะเกิดประโยชน์ต่อชาติของเราทั้งปวงสืบไปภายน่าด้วย…” (เน้นโดยผู้เขียน)

 

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณสมบัติแห่งความเป็นเลิศ

 

กล่าวโดยย่อได้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้พระองค์ได้แสดงบทบาทความเป็นพระเจ้าแผ่นดินและตัวแทนประเทศสยาม ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ในทางบวกให้ปรากฏแก่สายตาชาวยุโรป จนเกิดความประทับใจในผู้ที่พบเห็น นับเป็นการสื่อสารและการแสดงออกถึงความเป็นตัวตน การมีอยู่ของสยามในฐานะประเทศเอกราชที่ศิวิไลซ์ไม่ด้อยไปกว่าประเทศในยุโรป เพื่อผลสูงสุดในทางการรักษาเอกราชของชาติ

นภวรรณ ตันติเวชกุล วิเคราะห์ในงานวิจัยของเธอว่า “การแสดงออกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ ถึงตัวตนที่แท้ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณสมบัติแห่งความเป็นเลิศที่ทัดเทียมกับชาติตะวันตก

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย อย่างเป็นกันเอง ในคราวเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440

 

คิดถึงพระราชินี

 

ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในต่างประเทศเช่นนี้ ย่อมทรงว้าเหว่พระราชหฤทัยเป็นธรรมดา ด้วยมิได้มีมเหสีเทวีหรือเจ้าจอมตามเสด็จมาด้วย

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินยังเมืองอินเตอร์ลาเคน สวิตเซอร์แลนด์ ทรงมีพระราชดำรัสในงานเลี้ยงส่งเสด็จที่เมืองนั้น ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้านั่งคำนึงถึงพระราชินี ซึ่งถ้าได้ร่วมทางมาด้วย ข้าพเจ้าจะถือว่าเมื่อวานนั้นเป็นวันหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีความสุขที่สุดในชีวิต พระนางคงจะมีความเพลิดเพลินไม่น้อยกว่าข้าพเจ้า อาจจะยังคงนั่งเก็บดอกไม้นานาพันธุ์อยู่บนทุ่งเนินเขาอันหอมอบอวลนั้น

นายวิดแมนน์ นักเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ซึ่งตามเสด็จด้วยถึงกับชื่นชมในพระบารมีว่า “ความรู้สึกอันอ่อนไหวไปกับความงามของธรรมชาติและถ้อยคำอันจับใจที่ทรงกล่าวมานี้ ย่อมแสดงว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่เจริญแล้ว มิได้ด้อยไปกว่าเหล่ากษัตริย์แห่งยุโรปเลย” (เน้นโดยผู้เขียน)

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า สำนักของ ‘สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ’ พระองค์นั้นมีชื่อในเรื่องงานเกี่ยวกับดอกไม้ มีฝีมือประณีต สวยงาม และแปลกใหม่ ซึ่งมักจะทำสำหรับตกแต่งในงานสำคัญ เช่น แต่งห้องเสวยด้วยดอกไม้สดแขวนไว้อย่างงดงามเมื่อรับแขกเมือง (อาชดยุคโปลแห่งออสเตรีย) และพวกมาลัยโซ่ ซึ่งคล้องม้าทรงพระบรมรูปทรงม้าในวันเปิด ก็เป็นมาลัยที่พระองค์ทรงโปรดให้คิดทำขึ้น เป็นต้น

 

การรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 โดยพระองค์ประทับบนรถม้าพระที่นั่ง (จาก พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย)

 

จดหมายถึง ‘เมีย’

 

วันที่ 5 กันยายน 2440 อันเป็นปีที่ 30 ในรัชกาลนั้น นอกจากทรงเล่าเหตุการณ์ที่ทรงประสบในต่างแดน และพระราชทัศนะต่อความเป็นไปในงานราชการแล้ว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงรำพันกับ ‘แม่เล็ก’ หรือ ‘สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ’ ความตอนหนึ่งว่า

ตัวฉันเองรู้สึกเสียเปนนิจ ว่าเปนสามีฤๅผัวของเมืองไทยที่ได้อยู่กินด้วยกันมาถึง ๓ ปี เปนเมียเก่าเมียแก่ก่อนแม่เล็กนาน แต่เพียงอยู่ด้วยกัน ๒๐ ปีเศษ ยังคงคิดถึงกันเหลือตาย  นี่เมียเก่าเมียแก่ เมียที่เลี้ยงฉันมา ฉันอาศรัยเมียฉันอยู่เมียฉันกิน จะไม่ให้ฉันคิดถึงยิ่งกว่าเมียใหม่อย่างไรได้  นอนใจเต้นนั่งใจเต้นนึกถึงทุกค่ำเช้า  รองลงไปก็แม่เล็ก ฤๅจะเปนกะใจไม่แน่ก็เท่ากันเท่านั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)

และทรงเล่าต่อไปว่าได้ฝันถึง ‘เมียเก่าเมียแก่’ ของพระองค์สักที ดังนี้ “ฉันมีความยินดีนักที่เมื่อคืนนี้ฝันถึงบ้านสมความปรารถนาแล้ว แต่ไม่ฝันฤๅฝันโก้หร่านมาเสียเปนนาน กวนโทโษเต็มที วันนี้ตื่นขึ้นอมยิ้ม

แล้วจึงลงท้ายพระราชหัตถเลขาอย่างหวานซึ้งว่า “ผัวที่รักของแม่เล็ก

นอกจากนี้ ในฉบับอื่นๆ ยังปรากฏข้อความที่แสดงความคิดถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถอีกหลายแห่ง เช่น “การที่ฉันเขียนหนังสือนี้ ดูเปนที่เบื่อหน่ายของคนอื่นเต็มที แต่ช่างเปนไร ฉันหลงเมีย ไม่ใช่หลงผู้หญิงที่ไหน” (29 มิถุนายน) “ฉันหายเหนื่อยแล้วแลสบายอยู่ แต่คิดถึงแม่เล็กเหลือที่จะรำพรรณแล้ว” (8 มิถุนายน) “คิดถึงเสียเหลือทนแล้ว” (14 กรกฎาคม) (เน้นโดยผู้เขียน)

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก RBC)

 

‘ผัวของเมืองไทย’

 

จะเห็นได้ว่า แม้ในยามคิดถึงเมียรักอย่าง ‘สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ’ พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงรำลึกถึงเมืองไทยมาก่อนความสุขส่วนพระองค์ น่าที่จะเป็นแบบอย่าง เป็นเบ้า เป็นแม่พิมพ์ให้ผู้ปกครองของเมืองไทยเวลานี้ได้สืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ท่านเช่นนี้

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา วิเคราะห์พระราชจริยวัตรไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “อาชฺชวํ ความซื่อตรง … พระราชธรรมข้อนี้ได้ทรงปฏิบัติอยู่แล้วเป็นนิจ จะเห็นได้จากการที่ทรงปกครองประเทศชาติมาด้วยความเที่ยงตรง ทรงรำลึกเสมอว่า พระมหากษัตริย์จะต้องซื่อตรงต่อตนเอง ต่อหน้าที่ และต่อแผ่นดิน ทรงรักษาความซื่อสัตย์สุจริตไว้เสมอ” (เน้นโดยผู้เขียน)

โดยเฉพาะข้อความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาวันที่ 5 กันยายน 2440 ซึ่งได้ยกมาข้างต้นแล้วนั้น “นี่แสดงถึงความซื่อตรงในพระทัยของพระองค์ ทรงรู้ว่าสิ่งใดมีบุญคุณต่อพระองค์ พระองค์ก็ยอมรับโดยมิได้เบี่ยงให้พ้นความจริงไป นอกจากพระองค์จะทรงปฏิบัติความซื่อตรง ความสุจริตเป็นตัวอย่างแล้ว ยังได้ทรงสอนให้ผู้อื่นประพฤติตามด้วย” (เน้นโดยผู้เขียน)

 

บรรณานุกรม

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ในเวลาที่ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรป พ.ศ. 2440, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, 2557), น. 181, 222, 237, 281.
  • ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์, การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5 (วิทยานิพนธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558), น. 90, 120.
  • นภวรรณ ตันติเวชกุล, การกำหนดสร้างภาพลักษณ์สยามประเทศในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560).
  • ไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์ และคณะ, เสาวภาผ่องศรีรฦก จอมกษัตรีย์ศรีสยาม (กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2563), น. 36, 50.
  • วุฒิชัย มูลศิลป์, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) (กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา, 2543), น. 98-100. สำหรับเรื่องนายวิดแมนน์ที่อ้างถึงนั้น ผู้ค้นคว้าและแปลเป็นภาษาไทย คือ วิมลสุดา อิริคสัน.
  • ศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ), พระยา. จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2540), น. 94-95.
  • ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม, หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save