fbpx
Push/Pull เกือบเห็นดอกบัวเป็นกงจักร

Push/Pull เกือบเห็นดอกบัวเป็นกงจักร

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่องและภาพ

 

อนิช คาพัวร์, 2563, Push/Pull, ศาลาการเปรียญ, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 

ในวันเกือบจะสุดท้ายของเทศกาลศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale – BAB) ที่วัดโพธิ์ ขณะแหงนหน้ามอง Push/Pull ก้อนแว็กซ์รูปครึ่งวงกลมสีแดงเข้มขนาดยักษ์ของอนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) ในศาลาการเปรียญ บทสนทนากับเพื่อนคนหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วก็ผ่านกลับเข้ามาในความนึกคิด

บทสนทนานั้นว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับศิลปะและอุดมการณ์รัฐ เราสามารถใช้คำอธิบายชุดเดียวกันได้หรือไม่เมื่อพูดถึงเทศกาลศิลปะที่รัฐเป็นผู้จัดกับเทศกาลศิลปะที่ทุนใหญ่ที่ให้การสนับสนุนรัฐเป็นผู้จัด? (มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่เป็นส่วนหนึ่งของไทยเบฟ ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับรัฐบาลในปัจจุบัน)

ในตอนนั้น ผู้เขียนมีข้อสรุปว่า ถึงแม้ว่ามันจะตอบสนองอุดมการณ์บางอย่างแบบเดียวกัน แต่ทั้งสองก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว หากเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะสามารถสร้างเส้นทางคู่ขนานที่มีการเกี่ยวกระหวัดรัดพันกันจนยากจะแยกออกจากกันได้ เส้นทางแรกคือประวัติศาสตร์ของบทบาทรัฐที่มีต่อศิลปะ เส้นทางที่สองคือประวัติศาสตร์การสนับสนุนศิลปะของกลุ่มทุนเอกชน โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์อันกลมเกลียวจนเกือบจะแยกไม่ออกระหว่างทั้งสองฝ่าย

ในเวลาเดียวกันนั้น มีเรื่องอื่นอีกสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทุนหรือรัฐ แต่เกี่ยวกับผลงานที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า เรื่องแรกคือความหมายของงานที่นักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งมารับจ๊อบเป็นเจ้าหน้าที่นำชมเล่าให้ฟังเรื่องที่เขาและเพื่อนๆ ชวนกันพูดคุยตีความว่า Push/Pull นั้นเป็นอะไรได้บ้าง ตั้งแต่กิเลสและอัตตาที่จะต้องถูกขัดเกลา อาจม อาเจียน ก้อนเลือด สิ่งอุจจารชวนแขยงในความหมายของ Abjection ของจูเลีย คริสเตวา (Julia Kristeva) หรือแรงตึงและแรงโน้มถ่วงตามที่ปรากฏในข้อมูลจากผู้จัด เรื่องที่สองคือการบ้านวิเคราะห์ผลงานศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่ศิลปะแบบประเพณี (วัด) สำหรับนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งในรายวิชา “ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย” ของเทอมนี้

ทั้งสามเรื่องนำไปสู่การเน้นย้ำข้อสรุปแรก นั่นคือ ความสำคัญของการทำความเข้าใจพลวัตระหว่างรัฐ-ทุน-ศิลปะ-อุดมการณ์ ผ่านการมองบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (สำคัญสำหรับใครนะ? นั่นสิ สำหรับใครก็ตามที่มองหาหัวข้อวิจัยอะไรสักอย่างเกี่ยวกับศิลปะอยู่ก็แล้วกัน)

ถึงแม้จะเห็นว่าสำคัญ แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยนึกอยากทำเรื่องนี้แบบจริงจัง วันนี้แค่ผ่านมาคิดเล่นๆ เพราะว่าในศาลาการเปรียญนั้นแอร์เย็นดี

นักศึกษาที่เป็นเจ้าหน้าที่นำชมเล่าว่าศาลาการเปรียญหลังนี้ติดแอร์เพื่อรองรับ Push/Pull โดยเฉพาะ เนื่องจากอุณหภูมิต้องได้รับการควบคุมตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้แว็กซ์ละลาย ลองคิดดูว่าตลอดระยะเวลาแสดงงานตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2563 – 4 กุมภาพันธ์ 2564 แค่ค่าไฟอย่างเดียวจะน่าขนลุกเพียงใด

วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นพระอารามหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลก (Memory of the World) ของยูเนสโก จากสถานะดังกล่าว ไม่ง่ายเลยที่ใครจะไปใช้พื้นที่วัดโพธิ์แสดงงานศิลปะร่วมสมัย แต่บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ใช้วัดโพธิ์เป็นหนึ่งในพื้นที่แสดงงานมาแล้วถึงสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อปี 2561 นอกจากวัดโพธิ์แล้วก็ยังมีวัดอรุณราชวรารามและวัดประยูรวงศาวาส)

อนิช คาพัวร์เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก (ไม่ใช่ประเภท “ระดับโลกแต่ไม่มีใครรู้จัก” แบบที่คนบางประเทศชอบอวยกันเอง อันนี้ของจริงค่ะ) ก็นับว่าสมศักดิ์ศรีกันดีกับการใช้พื้นที่นี้ติดตั้งผลงานของเขา Push/Pull เคยจัดแสดงมาแล้วในพื้นที่อื่น หากเมื่อมาอยู่ในศาลาการเปรียญ ประติมากรรมชิ้นนี้ก็เปิดไปสู่ความเป็นไปได้ของความหมายอันหลากหลาย

 

อนิช คาพัวร์, 2563, Push/Pull (รายละเอียด), ศาลาการเปรียญ, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 

อนิช คาพัวร์, 2563, Push/Pull (รายละเอียด), ศาลาการเปรียญ, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 

เว็บไซต์บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ให้ข้อมูลว่า

“เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงและแรงดึง ตลอดจนปริมาตรและวัสดุ ด้ามเลื่อยถูกผลักและดึงเพื่อสร้างมวลสีแดงเข้มที่ดูดึงดูดและดุดัน เช่นเดียวกับการทำวิปัสสนาที่กล้ามเนื้อทำหน้าที่ควบคุมการหายใจเข้าออกด้วยการผลักดึงเป็นจังหวะ”

การตีความไปในเชิงกิเลส อัตตา และสิ่งอุจจารของนักศึกษาดูจะแตกแขนงออกมาจากสารตั้งต้นนี้ โดยผนวกกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผลงานกับพื้นที่ ภายในบริบทของศาสนสถานคือศาลาการเปรียญที่เข้าไปสวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรมได้ กองเขละขละสีแดงเข้มบนพื้นที่เกิดจากการขยับเคลื่อนด้ามเลื่อยที่ผูกโยงไว้กับคานเหล็กด้วยโซ่ขนาดใหญ่ด้านบนคือตัวแทนของกิเลส อัตตา และสิ่งอุจจารที่ต้องถูกขจัดขัดเกลา

เราอาจมองว่าประติมากรรมแว็กซ์รูปครึ่งวงกลมสีแดงเข้มชิ้นนี้ตั้งตระหง่านแสดงนัยของการท้าทาย แต่เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดแล้วก็จะเห็นได้ว่า จุดที่สูงที่สุดของครึ่งวงกลมนี้ยังห่างจากเพดานอยู่มาก และที่สำคัญ ไม่สูงไปกว่ายอดแหลมของธรรมาสน์และเศียรของพระประธานที่ขนาบอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง ราวกับว่านี่คือพุทธบูชาแบบหนึ่ง (เกือบเห็นดอกบัวเป็นกงจักรเสียแล้ว และน่าจะสนุกกว่านี้อีกหากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม่ใช่ปางสมาธิดังที่ปรากฏ)

ในมุมนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับศิลปะดูจะไม่ต่างจากสมัยโบราณเท่าไรนัก แม้ว่าตัว form ของศิลปะจะไม่ใช่แบบประเพณี และไม่ใช่ผลงานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาแต่แรกเริ่มก็ตาม เมื่อ Push/Pull ในศาลาการเปรียญแสดงการโอบรับความหมายของพื้นที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวงาน ก็ไม่มีอะไร radical ผลงาน (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ขับเน้นความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาที่สถิตอยู่ในพระอารามหลวง แล้วศาสนาพุทธรับรองความชอบธรรมของอำนาจใดสังคมไทย? ก็จะอะไรเสียอีกถ้าไม่ใช่สถาบันกษัตริย์

Push/Pull ในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ คือภาพปรากฏของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับศิลปะและอุดมการณ์รัฐอันประกอบด้วยชาติ ศาสนา และสถาบันกษัตริย์โดยขับเน้นสององค์ประกอบหลัง

กลับไปที่คำถามเก่าคือต้องเป็นใครหรือจึงจะมีบารมีขนาดไปจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยในวัดโพธิ์?

เมื่อวันสองวันนี้นี่เองที่เจริญและวรรณา สิริวัฒนภักดี แห่งไทยเบฟ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 4 พร้อมกับนักธุรกิจเชื้อสายจีนอีกสามตระกูล

 

หมายเหตุ

เทศกาลศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดแสดงหลายพื้นที่ในกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2563 วันสุดท้ายของการจัดแสดงที่วัดโพธิ์คือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ติดตามข้อมูลระยะเวลาแสดงงานในแต่ละพื้นที่ได้จากเฟซบุ๊ค BkkArtBiennale

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save