fbpx
ผ่ารัฐประหารเมียนมา 2021 กับ ลลิตา หาญวงษ์

ผ่ารัฐประหารเมียนมา 2021 กับ ลลิตา หาญวงษ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา น้ำหมึกจากปลายปากกาบนบัตรเลือกตั้งทั่วไปเมียนมา คือเสียงที่ยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งหนึ่งว่าพรรค NLD ซึ่งนำโดยอองซาน ซูจี คือผู้ชนะในสนามการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ไม่เพียงเท่านั้น พรรค NLD ยังได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายถึง 83% เลยทีเดียว อาจเรียกได้ว่าพลิกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของเมียนมาอีกครั้งในระยะเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตย

2 เดือนผ่านไป ช่วงปลายเดือนมกราคม 2021 บรรยากาศตึงเครียดเริ่มปรากฏเมื่อทหารและรถถังบนท้องถนนในกรุงเนปิดอว์และย่างกุ้งส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น และแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งทั่วโลกพาดหัวข่าวว่า กองทัพเมียนมาลงมือยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน NLD เรียบร้อย พร้อมควบคุมตัวอองซาน ซูจี ประธานาธิบดีอู วิน มินต์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมทั้งหมด 23 คน ท่ามกลางกระแสกดดันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก

อนาคตการเมืองเมียนมาจะไปทางไหนต่อหลังจากนี้? 101 ชวน ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาเมียนมา มองปรากฏการณ์การรัฐประหารและทิศทางการเมืองเมียนมาหลังรัฐประหาร

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 One-On-One Ep. 211 : ผ่ารัฐประหารเมียนมา 2021 กับ ลลิตา หาญวงษ์ (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564)

 

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมียนมาจัดการเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังปฏิรูประบบการเมืองไปเมื่อปี 2011 แต่หลังจากผ่านการเลือกตั้งไปได้แค่ 2 เดือน กองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารทั้งๆ ที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่าจะไม่มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น คุณมองปรากฏการณ์ครั้งนี้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่าการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหักปากกาเซียนสื่อไปหลายสำนัก แม้ว่าประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนจะมีข่าวลือออกมาว่ากองทัพจะทำรัฐประหารก็จริง แต่บทความหรือบทบรรณาธิการจากสื่อชั้นนำในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็น The Irrawaddy หรือ Frontier Myanmar ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าไม่น่าเกิดรัฐประหารขึ้นอย่างแน่นอน

เหตุผลหลักที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการทำรัฐประหารคือ กองทัพไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรัฐประหารยึดอำนาจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 ที่ใช้อยู่นั้นร่างโดยกองทัพ มีการออกแบบกฎกติกา และวาระซ่อนเร้นในรัฐธรรมนูญไว้เป็นอย่างดีแล้ว และยังคิดเผื่อไปในอนาคตข้างหน้าด้วย

กองทัพวางอำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างแนบเนียนและชาญฉลาดใน 2 มิติด้วยกัน

มิติแรกคือ รักษาอำนาจกองทัพไว้แบบที่ไม่ประเจิดประเจ้อเกินไป แต่ก็ยังถกเถียงได้ว่าคงอำนาจไว้แนบเนียนหรือไม่ ในมุมหนึ่ง หลายคนอาจมองว่ามีความพยายามรักษาอำนาจอย่างชัดเจนถึงขั้นที่มีการวางเงื่อนไขให้สมาชิก 25% ของรัฐสภามาจากกองทัพและจำกัดสิทธิไม่ให้อองซาน ซูจีดำรงตำแหน่งประธานธิบดีได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคนมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะประนีประนอมที่ไปสู่ระบอบผสมพอสมควร บางคนวิเคราะห์ไว้ว่าเทียบได้กับระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำของซูฮาร์โตในอินโดนีเซียยุคสงครามเย็น

มิติที่สองคือ มีการวางบทบัญญัติที่เปิดช่องให้กองทัพประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแทรกแซงรัฐบาลได้ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเกิดความสุ่มเสี่ยงที่รัฐเมียนมาจะต้องแตกสลายหรือมีปัญหาภายใน รวมทั้งออกแบบให้รองประธานาธิบดีมี 2 คน โดยคนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ส่วนอีกคนมาจากโควตากองทัพ เมื่อกองทัพลงมือยึดอำนาจ กองทัพก็แต่งตั้งให้รองประธานาธิบดีคนที่สองขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการณ์ ซึ่งเมียนมา ณ ขณะนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ว่า และมีการประกาศให้อยู่ภายใต้สถานการณ์นี้ต่อไปอีก 1 ปี

มีบทความฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อคืนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เสนอบทวิเคราะห์ไว้ว่า รัฐประหารครั้งนี้ถูกต้องตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุไว้ทุกประการ เพราะกองทัพใช้ช่องโหว่ตีความตามบทบัญญัติและอ้างว่า การเลือกตั้งไม่โปร่งใส พรรค NLD โกงการเลือกตั้ง หรือ ก.ก.ต. มีท่าทีไม่ชอบมาพากล ทั้งหมดนี้ ไม่ได้กำลังจะบอกว่าการใช้อำนาจของกองทัพมีความถูกต้องชอบธรรม แต่หากมองผ่านการตีความรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ก็มองได้ว่าทหารเมียนมาใช้เทคนิคและกลยุทธ์ในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกำจัดจุดอ่อนและเปิดช่องโหว่ได้อย่างมีเล่ห์เหลี่ยมมากที่สุดฉบับหนึ่ง

 

หน้าฉาก กองทัพอ้างว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่โปร่งใสจึงต้องทำรัฐประหาร แต่หลังฉาก อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การตัดสินใจทำรัฐประหารกันแน่?

มีฟางอยู่หลายเส้นที่กรุยทางนำไปสู่การรัฐประหาร ก่อนที่จะมาเป็นฟางเส้นสุดท้ายตามที่กองทัพอ้างว่าเป็นเรื่องการเลือกตั้งไม่ชอบมาพากล ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางกลุ่มชาติพันธุ์ ผลประโยชน์ทับซ้อนทางเศรษฐกิจ เรื่องนามธรรมที่เรามองไม่เห็นเช่นการเหยียบเท้ากันระหว่าง NLD และกองทัพ เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง NLD กับกองทัพไม่ได้ราบรื่นมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ซึ่งแม้เราจะรู้ว่าเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายไม่คุยกัน แต่ก็รู้ได้ไม่แน่ชัดหรือตีความได้ยากว่าขัดแย้งอย่างไร เพราะโดยวัฒนธรรมการเมืองของเมียนมา จะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันออกสื่อให้สาธารณชนทราบ หรือที่นามธรรมยิ่งกว่านั้นคือ กองทัพได้ฤกษ์ยามที่จะทำรัฐประหารแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะนายพลเมียนมาเชื่อเรื่องโหราศาสตร์

หลายกรณีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันก็อาจนับได้ว่าเป็นฟางอีกเส้นหนึ่งเช่นกัน เราทราบกันดีว่าพรรค NLD กับกองทัพชนกลุ่มน้อยในรัฐอาระกัน หรืออาระกันอาร์มีขัดแย้งกันอย่างมาก เป็นไม้เบื่อไม้เมากัน ไม่ว่าจะเป็นการที่พรรค NLD กล่าวหาว่าอาระกันอาร์มีเป็นผู้ก่อการร้าย หรือการที่อาระกันอาร์มีจับผู้สมัครลงเลือกตั้งสังกัดพรรค NLD เป็นตัวประกันก่อนการเลือกตั้ง แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นฟางเส้นหนึ่งที่กองทัพนำไปกล่าวอ้างในการทำรัฐประหารคือ การที่พรรค NLD ไม่ยอมให้หลายเมืองในรัฐอาระกันจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยอ้างว่ายังเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบอยู่ทั้งๆ ที่ไม่มีการโจมตีฐานที่มั่นของ NLD หรือกองทัพมานานแล้ว รวมแล้วมีหลายล้านคะแนนเสียงในรัฐอาระกันที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จนกระทั่งวันรัฐประหารก็ยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ฉากทัศน์ที่นำไปสู่การรัฐประหารอาจเป็นอะไรก็ได้ ดังนั้นเราต้องมองฟางหลายๆ เส้นประกอบกัน และเราไม่จำเป็นต้องฟันธงว่าอะไรคือสาเหตุแท้จริงหนึ่งเดียวที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร

 

ประชาชนชาวเมียนมาคาดหวังกับการเลือกตั้งและการเมืองไว้อย่างไรบ้างก่อนหน้านี้ และพอกองทัพลงมือทำรัฐประหาร ประชาชนชาวเมียนมามองการรัฐประหารครั้งนี้อย่างไร

แน่นอนว่า ประชาชนชาวเมียนมาส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการรัฐประหารครั้งนี้เป็นอย่างมาก เราต้องเข้าใจว่ากองทัพเมียนมามีชื่อเสียงในทางลบ และประชาชนเกลียดกองทัพมาก ดังนั้น ไม่ว่าพรรค NLD และอองซาน ซูจีจะมีข่าวฉาวจากกรณีโรฮิงญาหรือกรณีคอร์รัปชันอย่างไรก็ตาม ให้ตายอย่างไร คนเมียนมาส่วนมากก็จะยังเลือกลงคะแนนให้พรรค NLD เท่านั้น เพราะเชื่อมั่นว่าพรรค NLD จะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของเขา และสามารถเข้าไปงัดข้อกับพรรค USDP นอมีนีกองทัพได้ดีที่สุด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ยังชอบสังคมทหาร เขาก็จะเลือกเพียงแค่ USDP เช่นกัน แต่สำหรับเรา การเมืองเมียนมาที่มีเพียงแค่ 2 ตัวเลือกคือจุดที่มีปัญหา

 

ทำไมการเมืองแบบนี้ถึงมีปัญหา เพราะก็ดูเหมือนว่าทั้งหมดยังอยู่บนฐานของการเมืองการเลือกตั้ง

มันจะกลายเป็นปัญหาต่อการสร้างประชาธิปไตยในระยะยาวอย่างมาก ที่ผ่านมาเวลามีคนบอกว่าเมียนมามีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงอย่างยาวนาน ถ้าเปรียบเทียบกับกรณีไทย เรายังเห็นว่าในบรรดาพรรคการเมืองสายก้าวหน้าที่เป็นฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ หรือมีความคิดที่ต้องการปฏิรูปปรับเปลี่ยนประเทศจะมีมากกว่าพรรคเดียว จนทุกวันนี้เรายังต้องมานั่งเถียงกันว่าพรรค A มีจุดยืนอะไรที่พรรค B ไม่มี และผู้ลงคะแนนก็จะเลือกพรรคจากจุดยืนหรือนโยบาย แต่สำหรับกรณีเมียนมาไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อการเมืองเป็นไปตามขนบ ‘less evil’ หรือผู้ลงคะแนนเลือกตัวเลือกที่เลวน้อยที่สุดในสายตา จึงทำให้พรรค NLD ผูกขาดอำนาจในฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมาแต่เพียงผู้เดียว พอฝ่ายทหารเล่นงาน ฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่มีพรรคอื่นที่จะขึ้นมาเป็นตัวแทนในการคัดง้างกับกองทัพ ขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อ หรือไม่มีพรรคอื่นที่พร้อมรวบรวมมวลชนไปประท้วง

นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมพรรคเล็กพรรคน้อยที่นำโดยผู้นำพรรคสายก้าวหน้าหรือคนรุ่นใหม่จึงไม่สามารถเติบโตในการเมืองเมียนมาได้เท่าที่ควร พรรคเหล่านี้มีบทบาทไม่มากนัก แม้ว่าจะมีบทบาทในช่วงก่อนการเลือกตั้งบ้าง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาได้ เนื่องจากประชาชนยังไว้ใจและเชื่อใจ NLD อยู่

ไม่เพียงเท่านั้น การเมืองเมียนมาทุกระดับมีลักษณะรวมศูนย์โดยสมบูรณ์ ทั้งกองทัพและ NLD

ไม่ว่าจะมีข่าวลือว่ามีความขัดแย้งภายในกองทัพเมียนมา มีการแบ่งเป็นก๊กเป็นฝ่ายอย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำระดับสูงสุดของกองทัพเมียนมาจะยังคงเป็นเสาหลักของกองทัพต่อไป ดังนั้นการตัดสินใจใดๆ ก็ตามที่นำมาสู่การทำรัฐประหารครั้งนี้จึงต้องมาจากมิน อ่อง ลายเป็นหลัก

ในทำนองเดียวกันสำหรับ NLD หากตามข่าวการเมืองเมียนมาเรื่อยๆ จะเริ่มพบว่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ในรัฐบาล NLD คือเพื่อนของอองซาน ซูจีทั้งหมด มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ประมาณ 60-80 ปี รวมทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตนักโทษการเมืองยุคหลัง 1988 ดังนั้น วัฒนธรรม ‘เชื่อผู้ใหญ่ หมาไม่กัด’ และการรวมศูนย์ ทำให้อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างของ NLD มารวมอยู่ที่อองซาน ซูจีคนเดียวเท่านั้น ถ้าคุณแม่เคาะแล้วว่าต้องเป็นแบบไหน ก็คือต้องเป็นแบบนั้น

นี่เป็นโจทย์สำคัญของการเมืองประชาธิปไตยในเมียนมาระยะยาว แม้ว่าพรรค NLD สามารถครองชัยชนะหรือเป็นรัฐบาลต่อได้อีก 5 ปี แต่การเมืองแบบเลือกฝ่าย (partisan) จะยังเป็นปัญหาใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านเมียนมาไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร เราต้องมานั่งคิดต่อว่าโจทย์ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า หรือแม้กระทั่งใน 1 ปีที่ประชาธิปไตยเมียนมาหยุดนิ่งภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นอย่างไรต่อ เมื่อเมียนมากลายเป็นเมียนมาที่ไม่มี NLD และกลับเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร

 

 

ในช่วงทศวรรษที่ 2010 อาจเรียกได้ว่าเป็นระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของเมียนมา กล่าวได้ไหมว่าการรัฐประหารครั้งนี้หยุดเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนผ่านและจะพาการเมืองเมียนมากลับไปสู่จุดเดิมก่อนการปฏิรูป ทั้งๆ ที่การปฏิรูปเป็นแบบ top-down ที่ริเริ่มโดยกองทัพ ค่อยๆ ปล่อยให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หากมองอย่างตรงไปตรงมา การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยไม่เคยเกิดขึ้นจริงในการเมืองเมียนมาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างที่บอกไปว่ารัฐธรรมนูญที่กองทัพร่างขึ้นมานั้นเอื้อประโยชน์ต่อการคงไว้ซึ่งอำนาจของกองทัพแทบจะทั้งหมด รวมทั้งพยายามสกัดกั้นไม่ให้พรรค NLD หรือพรรคการเมืองพลเรือนใดๆ ขึ้นมามีอำนาจเหนือกองทัพได้ หากจะพูดได้เต็มปากว่า 10 ปีที่ผ่านมาคือ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ อย่างแท้จริง กองทัพก็ไม่ควรทำรัฐประหาร แต่ควรอยู่ร่วมกันกับฝ่ายประชาธิปไตย หรือ co-exist แบ่งผลประโยชน์ แบ่งอำนาจทางการเมืองอย่างลงตัว

แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ปัญหาระหว่างรัฐบาลพลเรือนและกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านคือทั้งสองฝ่ายไม่คุยกัน ต่างคนต่างอยู่ หรือถ้าคุยกันบ้างก็น้อย จึงทำให้การเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ จนท้ายที่สุดพอลงเอยด้วยการทำรัฐประหาร ก็อาจตีความได้ว่ากองทัพหมดความอดทนต่อการเมืองระยะทดลองประชาธิปไตยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา และเริ่มประเมินว่าสภาวะการเมืองเช่นนี้ไม่เวิร์กสำหรับอำนาจกองทัพ

ที่เคยมีการวิเคราะห์ว่า หากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบอบการเมืองแบบลูกผสม กึ่งเผด็จการ-กึ่งประชาธิปไตย การรัฐประหารครั้งนี้ก็ตอกย้ำความเป็น ‘รัฐเสนาธิปัตย์’ ของเมียนมาอย่างแน่นอน เพราะต้องอย่าลืมว่านับตั้งแต่ปี 1962 ที่เนวินรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่กองทัพไม่มีอิทธิพลในการเมืองเมียนมา แม้ว่าสังคมพยายามจะลืมเผด็จการทหาร หวงแหนประชาธิปไตย หวงแหนรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD และอองซาน ซูจี แต่เวลามีข่าวเสนอถึงบทบาทในต่างประเทศอันโดดเด่นของรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของอองซาน ซูจี กลับไปที่เนปิดอว์ ทุกคนต่างกลัวหมดว่าจะทำให้ทหารไม่พอใจหรือไม่ แล้วจะนำไปสู่การยึดอำนาจหรือเปล่า หรือหน่วยข่าวกรองทหาร (Military Intelligence) ก็ยังคงปฏิบัติการติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรค NLD อยู่ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ดังนั้นกองทัพยังคงเป็นเงาในการเมืองเมียนมาเสมอ

 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เสถียรภาพในทางการเมือง เศรษฐกิจ และเกียรติภูมิในเวทีต่างประเทศคือหนึ่งในสิ่งที่เมียนมาภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ไม่ว่าจะเป็นยุคนายพลเนวินหรือยุคสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SLORC) ต่างมีปัญหา และเป็นสิ่งที่กลับสู่เมียนมาอีกครั้งในช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารตัดสินใจปฏิรูปและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย พอกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งนี้ กองทัพตีโจทย์การสร้างเสถียรภาพอย่างไร

สำหรับกองทัพเมียนมา เสถียรภาพคือความมั่นคง และความมั่นคงที่สำคัญที่สุดในสายตาของกองทัพคือ ความมั่นคงของกองทัพเองและความมั่นคงแห่งชาติ วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่เฉพาะของกองทัพมากๆ

โจทย์หนึ่งที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงแห่งชาติคือแนวคิดสหพันธรัฐ (federal state) ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า สหพันธรัฐคือคำตอบในอนาคตของเมียนมาที่จะตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งชาติพันธุ์กับรัฐส่วนกลางได้ ในสมัยรัฐบาล NLD ก็มีความพยายามผูกมิตรกับชนกลุ่มน้อยผ่านการเจรจาสันติภาพหลายครั้งผ่านกรอบการเจรจาข้อตกลงปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อผลักดันการสร้างสหพันธรัฐ ตั้งแต่รัฐมอญ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง ฯลฯ และให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิมีเสียงในการปกครองตนเอง รวมถึงบริหารจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง แต่สำหรับกองทัพ ลึกๆ แล้วไม่ค่อยชื่นชอบแนวคิดนี้เท่าไหร่นัก

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ไม่แน่ชัดว่าแนวทางเศรษฐกิจของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลายเป็นอย่างไร เพราะเขาไม่เคยออกมาแสดงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจหรือฝีมือการบริหารเศรษฐกิจ แต่แนวทางอื่นๆ ที่เหลือของกองทัพ คาดว่ายังคงยึดแนวคิดแบบเดิมที่กองทัพมีมาตลอด คือ ปกป้องผลโยชน์ทางเศรษฐกิจของกองทัพและพวกพ้องนายทุนนักธุรกิจ (crony) ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทัพ ชูแนวคิดขวาชาตินิยมสุดโต่ง ปกป้องชาวพุทธและชาวเมียนมาแท้เหนือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ

 

พอกองทัพลงมือรัฐประหารยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว คุณประเมินว่ากองทัพจะเดินหมากการเมืองอย่างไรต่อหลังจากที่ประกาศว่าจะจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินให้เข้าสู่ความเรียบร้อยใน 1 ปี ในช่วง 1 ปี คาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเมืองเมียนมาบ้าง

ประเด็นแรกคือ การรื้อการเจรจาสันติภาพ แม้ว่าในสมัยรัฐบาล NLD จะมีความพยายามในการเจรจาผ่านกรอบข้อตกลงปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 และพยายามรื้อกรอบข้อตกลงใหม่เพื่อกรุยทางไปสู่การเจรจาสันติภาพเพิ่มเติมกับชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่เคยลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (National Ceasefire Agreement) แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาสันติภาพนัก เพราะ NLD ไม่สามารถเจรจาให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เซ็นข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศได้ อย่างกลุ่มอาระกันอาร์มี NLD ไม่มีทางที่จะเจรจาด้วยได้เลย เพราะอาระกันอาร์มีเกลียดพรรค NLD มาก บาดหมางกันอย่างรุนแรง ในขณะที่กองทัพอาจมีศักยภาพในการนำอาระกันอาร์มีเข้าสู่การเจรจามากกว่า แม้ว่าอาระกันอาร์มีจะเกลียดกองทัพเช่นกันก็ตาม แต่ก็เกลียดไม่เท่า NLD รวมทั้งรัฐบาลทหารยังมีศักยภาพในการนำชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการเจรจาผ่านการแบ่งผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซึ่งวิธีนี้ก็เคยประสบความสำเร็จในการเจรจามาแล้ว ฉะนั้นผลประโยชน์ในยุคสมัยใหม่อาจจะทำให้ชนกลุ่มน้อยและกองทัพของชนกลุ่มน้อยหลายๆ กลุ่มยอมตัดสินใจลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ

จุดอ่อนของการเจรจาสันติภาพทุกครั้งที่มีมาคือ ไม่มีครั้งไหนเลยที่มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์จากทุกกลุ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างแท้จริง กล่าวอีกอย่างคือ มีการเลือกที่รักมักที่ชัง กีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปจากการเจรจา มีการเลือกกลุ่มที่หารือด้วยง่ายเข้ามาเจรจา ส่วนกลุ่มที่มีท่าทีแข็งกร้าวก็จะมองว่ายังไม่พร้อมที่จะให้เข้ามาเจรจา นอกจากอาระกันอาร์มี กลุ่มที่แอ็กทีฟมากที่อยู่ระหว่างชายแดนจีน-เมียนมาอย่างโกกั้งหรือว้าก็ยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเช่นกัน ดังนั้นหากเปิดการเจรจาสันติภาพที่รวมทุกกลุ่มไม่ได้อย่างแท้จริง โอกาสที่จะได้เปรียบและประสบความสำเร็จทางการเมืองในระยะยาวก็น้อย

ประเด็นที่สอง การเมืองภาคประชาชน เชื่อว่าต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวออกมาประท้วงอย่างแน่นอน น่าสนใจว่าม็อบเมียนมาจะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะมีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ ผู้นำนักศึกษาหรือผู้นำการเมืองฝ่าย NLD ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งม็อบถูกจับไปหมดแล้ว ฉะนั้นถ้ามวลชนจัดการประท้วงได้ น่าจะเป็นม็อบต่อต้านเผด็จการทหารที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมหาศาลไม่ต่างจากปี 1988 ที่นับได้ว่าเป็นการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในปี หรือการปฏิวัติชายจีวรในปี 2006 ปีนี้เราน่าจะได้เห็นการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้ง

ประเด็นที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คาดว่าการตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งนี้ผ่านการคิดมาแล้วว่า สหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดนและโลกตะวันตกอาจไม่ได้เล่นบทบาทกดดันมากเท่าที่ควร

สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ กองทัพไม่ได้ชื่นชอบจีนหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลปักกิ่งมาตั้งแต่สมัยนายพลเต็ง เส่งแล้ว ในขณะที่สมัยรัฐบาล NLD ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนเป็นพิเศษ เพราะปัญหาสิทธิมนุษยชนและโรฮิงญาทำให้สถานะของเมียนมาในการเมืองระหว่างประเทศตกต่ำลงมาก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้เป็นมิตรรักแฟนเพลงของเมียนมาอีกต่อไป

 

หลังการทำรัฐประหารและการกักตัวออนซาน ซูจี กองทัพได้รับแรงกดดันและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมหาศาลจากทั้ง UN โลกตะวันตก โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ นำโดยไบเดน และคาดว่ารัฐบาลทหารจะต้องเผชิญต่อแรงกดดันจากโลกตะวันตกต่อไป แม้รัฐบาลทหารจะเพิกเฉยต่อแรงกดดันอย่างที่ได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็อาจมีราคาทางเศรษฐกิจที่จะต้องจ่ายตามมา เพราะแน่นอนว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติพอสมควร

เป็นความจริงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลพลเรือนทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเงินลงทุนจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น แต่พอเกิดรัฐประหาร เชื่อว่าการค้าการลงทุนในเมียนมาจะยังดำเนินต่อไปได้ตราบเท่าที่ยังมีอีกหลายประเทศที่พร้อมเข้ามาลงทุนในเมียนมาโดยที่ไม่ได้รังเกียจรัฐบาลทหาร และด้วยเงื่อนไขที่ว่า มิน อ่อง ลายจะไม่ใช้แนวทางเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง 100% ปิดประเทศแบบในยุคนายพลเนวินที่ทำลายเศรษฐกิจเมียนมามาแล้วในทุกระดับชั้น

ท่ามกลางบริบทที่โลกกำลังเผชิญกับโรคระบาดและความพยายามของแต่ละประเทศที่จะฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 คาดว่าหลายประเทศยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเลือกตัดความสัมพันธ์เศรษฐกิจหรือคว่ำบาตรเมียนมาอย่างเด็ดขาด แน่นอนว่าจีน ญี่ปุ่น อินเดียต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในเมียนมา ส่วนสิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึง แม้ว่าจะตอบสนองต่อการทำรัฐประหารอย่างแข็งขัน แต่ต้องอย่าลืมว่าสิงคโปร์ลงทุนในเมียนมามากเป็นอันดับต้นๆ ฉะนั้นลึกๆ แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ก็ต้องระวังไม่ให้ความสัมพันธ์กับเมียนมากลายเป็นแบบบัวช้ำน้ำขุ่น กรณีไทยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยและเมียนมาแน่นแฟ้นมาก น้ำหนักความสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ในยุคทหารจึงน่าจะเอนไปทางชาติอาเซียน หรือชาติที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวการเมืองภายในมากนัก

ต่อให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกจะวิพากษ์วิจารณ์และข่มขู่รัฐบาลทหารเมียนมาต่อเนื่องอย่างเผ็ดร้อนจนเกิดความตึงเครียดเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่หากไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวในระดับที่ประกาศคว่ำบาตรอย่างเป็นทางการ คาดว่าการค้าการลงทุนจากประเทศเหล่านี้จะไม่หายไปจากเมียนมาโดนสิ้นเชิง หากเทียบกับกรณีรัฐบาล คสช. แม้ชาติตะวันตกจะมีท่าทีกดดันให้ไทยจัดการเลือกตั้งอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่ได้คว่ำบาตร 100%

 

หนึ่งใน 4 ประเด็นที่กองทัพออกแถลงการณ์ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 คือ “กองทัพจะเดินหน้าต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 และจะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด” อยากทราบว่าในความเป็นจริง รัฐบาลทหารจะมีศักยภาพที่จะทำตามสัญญามากน้อยแค่ไหน

คาดว่าเป็นไปได้ทั้งสองทางหากประเมินผ่านเลนส์ประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าทหารเมียนมาไม่ได้มีชื่อเสียงด้านการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ อย่างที่ทราบกันว่าเนวินทำให้เมียนมากลายเป็นประเทศยากจนที่สุดในโลกในช่วงทศวรรษที่ 1960-1980 หรือโดยทั่วไป กองทัพไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม ก็ไม่ได้มีความเหมาะในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีได้ อย่างที่เห็นกันอยู่สำหรับกรณีไทย แต่ในเมียนมา เคยมีกรณีที่กองทัพออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจนสร้างความประหลาดใจในแวดวงวิชาการตะวันตกอย่างมาก โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ที่สุดในเมียนมาปี 1988 รัฐบาลทหาร SLORC มีการปรับคณะรัฐมนตรี มีการปรึกษาหารือกับนักเศรษฐศาสตร์ในการออกแบบแผนพัฒนาเศรษฐกิจจนพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีขึ้นในช่วงปี 1990-1991 แต่แน่นอนว่านี่เป็นกรณีเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรือบทบาทของจีน ญี่ปุ่น และอาเซียนจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่สามารถมองได้อย่างละเอียด เพราะยังไม่มีแนวทางออกมาให้เห็น

อย่างที่บอกไว้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่อาศัยช่องที่เปิดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนการรัฐประหาร การแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นหนึ่งในเกมการเมืองสำคัญของเมียนมาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่ยังค้างคาอยู่ อยากทราบว่า พอรัฐประหารแล้ว อนาคตของการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรต่อหลังจากนี้ วาระนี้ยังพอมีที่ทางในการเมืองเมียนมาต่อไปบ้างไหม

ที่ผ่านมา รัฐบาล NLD พยายามผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขสัดส่วน ส.ส. ลากตั้ง 25% จากกองทัพในสภา เจรจาให้แก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้อองซาน ซูจีมีคุณสมบัติในการรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่มากของพรรค NLD รวมถึงตัวบทอื่นๆ หลายตัวบทในรัฐธรรมนูญ แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า กองทัพลงแรงในการออกแบบและร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 อย่างมาก ดังนั้น NLD ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะนำไปสู่การลดอำนาจทหารได้อย่างจริงจัง อย่างเมื่อ 4 ปีที่แล้ว อู โก นี คนสนิทของอองซาน ซูจี และที่สำคัญ เป็นมือกฎหมายที่ฉลาดปราดเปรื่อง มีพรสวรรค์ และเป็นมือแก้รัฐธรรมนูญของอองซาน ซูจี ก็ถูกลอบสังหารหน้าสนามบินที่ย่างกุ้ง

หากสวมหมวกกองทัพเมียนมามองรัฐธรรมนูญฉบับ 2008 คาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กองทัพหวงแหนระดับหนึ่งในอนาคต เพราะเปิดช่องให้ทหารมีบทบาทมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เปิดเผยความเป็นอำนาจนิยมอย่างชัดเจน กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลงตัวแล้วสำหรับกองทัพ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมกองทัพจึงไม่ฉีกรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารครั้งนี้ ฉะนั้นคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ก็จะยังเป็นธรรมนูญในการบริหารประเทศต่อไปในยุคทหารครองเมือง แต่หลังจากจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังคาดเดาไม่ออกว่าการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรต่อไป

หากกองทัพจัดให้มีการเลือกตั้งใน 1 ปีหลังอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการณ์ตามที่สัญญาไว้จริง คาดว่ากองทัพจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะไม่ให้พรรค NLD กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา กองทัพรู้ดีว่าไม่ว่าจะออกแบบการเลือกตั้งให้เอื้อกับกองทัพอย่างไร พรรค USDP หรือพรรคทหารก็ไม่มีทางชนะพรรค NLD ได้ หรือในประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยที่เนวินปล่อยให้มีการเลือกตั้งจนอูนุ นักการเมืองฝ่ายพลเรือนชนะอย่างถล่มทลายและได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากนี้ เราน่าจะเห็นการเลือกตั้งที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งจากความพยายามคงอำนาจของกองทัพ

 

มองไปในอนาคต การเมืองเมียนมาจะไปทางไหนต่อ เส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจะไปทางไหนต่อ อะไรคือความท้าทายต่อไปในการเมืองเมียนมา

ส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้ยากที่พรรค NLD จะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก อย่างที่ได้กล่าวไปว่ากองทัพจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทางออกของฝ่ายทหารมี 2 ทางคือ จัดให้มีการเลือกตั้ง ตั้งพรรคการเมืองของตนเองแล้วให้พรรคขึ้นเป็นรัฐบาลโดยพยายามใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ส่วนอีกทางคือขึ้นมาบริหารเอง

ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยหรือขบวนการคนรุ่นใหม่ในเมียนมาตอนนี้ ต้องยอมรับว่ายังไม่ค่อยเข้มแข็งมาก แม้ว่าหลังการรัฐประหาร ประชาชนชาวเมียนมาจะมีการใช้สันติวิธีต่อต้านรัฐประหารทั่วประเทศอย่างพร้อมเพรียงและต่อเนื่องก็ตาม หากการเมืองประชาธิปไตยจะเดินต่อไปได้ ต้องไปให้พ้นการเมืองแบบ ‘ไม่เลือกทหาร ก็ต้องเลือก NLD’ หากจะสู้กับกองทัพในสมรภูมิการเมือง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีทางเลือก ต้องสร้างพรรคการเมืองที่มีแนวทางที่ก้าวหน้ากว่า NLD และไม่อิงอยู่กับทั้งฝ่าย NLD และทหาร

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save