fbpx
GameStop : เมื่อ ‘แมงเม่าปฏิวัติ’ สะท้อนรอยร้าวในสังคม

GameStop : เมื่อ ‘แมงเม่าปฏิวัติ’ สะท้อนรอยร้าวในสังคม

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ใครที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจหรือการเงินคงได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ปรากฏการณ์ GameStop’ เมื่อนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่ไม่ได้รู้จักกันร่วมมือร่วมใจกันซื้อหุ้นบริษัทที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าไม่ได้มีอนาคตสดใส จนราคาหุ้นทะยานไปเกือบ 20 เท่าในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

GameStop กลายเป็นปรากฏการณ์ ‘แมงเม่าพิฆาตมือโปร’ ในวอลล์สตรีท กองทุนเฮดจ์ฟันด์มือโปรชื่อดังจำนวนหนึ่งต้องเสียเงิน 5 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 150,000 ล้านบาทจากการลงเงิน ‘พนัน’ ว่าหุ้นจะตกด้วยการ ‘ชอร์ตเซลล์’ (short sell) หรือการยืมหุ้นที่ตนเองไม่ได้ซื้อไว้มาจากคนอื่นเพื่อขายก่อน แล้วค่อยกลับไปซื้อหุ้นตัวเดียวกันมาใช้คืนเจ้าของหุ้นตอนที่หุ้นราคาตกแล้ว เพื่อทำกำไรจากการ ‘ขายแพงแล้วค่อยซื้อถูก”

ปรากฏการณ์นี้เริ่มจากหุ้นบริษัท GameStop แล้วลามไปยังหุ้นตัวอื่นๆ เช่น หุ้นบริษัทโรงภาพยนตร์ AMC หุ้นบริษัท Bed Bath Beyond ฯลฯ จน​คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ต้องเข้ามาจับตามองความผันผวนในตลาด รวมทั้งคนดังอย่าง Elon Musk, Chamath Palihapitiya และ ส.ว. ในสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์จนกลายเป็นกระแสสังคม

จนในที่สุด ‘โรบินฮู้ด’ แอปพลิเคชันเทรดหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ใช้เพื่อซื้อหุ้นและตราสารอนุพันธ์ (derivatives) ของหุ้นต้องออกมาสั่งจำกัดการซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวของนักลงทุนรายย่อย จนกลายเป็นดราม่าต่ออีก เพราะมีคนมองว่าแพลตฟอร์มออกมา ‘ช่วยคนรวย’ ในวอลล์สตรีท 

ในบทความนี้ ผมไม่ขออธิบายถึงกลไกของตลาดการเงินและการลงทุนที่ทำให้เกิดเหตุทั้งหมดนี้ได้ เพราะมีหลายบทความที่เขียนสรุปได้ดีมากอยู่แล้ว แต่อยากชวนคิดจากอีกมุมว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนอะไร

มองเผินๆ ปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเศรษฐกิจและการเงิน แต่แท้จริงแล้วมันกำลังสะท้อนถึงเทรนด์ใหญ่ที่ถูกเร่งให้รุกคืบเข้ามาเร็วขึ้นในโลกหลังโควิด-19 และจะกระทบพวกเราทุกคนทั่วโลก ซึ่งประสานกันระหว่างคลื่นลูกใหญ่อย่างน้อย 3 ลูก ทั้งการเงิน เทคโนโลยีและสังคม

 

1. ภาวะดอกเบี้ยต่ำยิงยาว 

 

วิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องกดดอกเบี้ยให้เตี้ยต่ำติดศูนย์ผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งการลดดอกเบี้ยโดยตรงและมาตรการ QE (Quantitative Easing) เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้อยู่รอด

เมื่อดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และบรรดาประเทศพัฒนาแล้วต่ำลงมาก สถานการณ์เช่นนี้มักผลักให้นักลงทุนและกองทุนต่างๆ ทั่วโลกต้องวิ่งหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น 

เราเห็น ‘อาการ’ นี้ได้จากหลายที่

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทั้งเงินบาทแข็งค่าเมื่อเงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศ ทั้งทำให้ตลาดหุ้นร้อนแรงทั่วโลกในยามที่เศรษฐกิจและรายได้ยังไม่ฟื้นเท่าไหร่ โดยเฉพาะหุ้นบางตัวที่วิ่งขึ้นมากโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐาน และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาด ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ อย่างคริปโต (crypto) ร้อนแรงมากด้วยเช่นกัน

สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงคือ ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณของฟองสบู่ แต่จะแตกหรือไม่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ด้านหนึ่งบอกว่าจะแตกเมื่อมองเทียบราคาสินทรัพย์ต่างๆ กับค่าเฉลี่ยในอดีต อีกด้านก็บอกว่ายังไม่แตก เพราะหากคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรียดินขนาดนี้ ย่อมเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ที่สินทรัพย์ต่างๆราคาต้องสูงกว่าแต่ก่อน

เทรนด์นี้จะคงไม่หายไปไหนเร็วๆ นี้เมื่อนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำไปอีกนาน

แต่สำหรับปรากฏการณ์ GameStop เทรนด์ดอกเบี้ยต่ำอาจเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับอีกสองเทรนด์

 

2. การเข้าสู่โลกดิจิทัลแบบก้าวกระโดด 

 

โควิด-19 เร่งการเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด (Digitalization) ผลพวงหนึ่งที่ตามมาคือ การที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางขึ้น  (Democratization)

สมัยก่อน การลงทุนในตลาดการเงินเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากเสมือนมี ‘กำแพง’ กั้นหลายชั้น

คนจำนวนหนึ่งไม่มีบัญชีสำหรับลงทุน หรือต่อให้มีก็อาจขาดความรู้ความเข้าใจหรือข้อมูลต่างๆ ค่าตัวที่ปรึกษาก็แพง ต้นทุนในการเทรดก็สูง แม้แต่ตราสารทั่วไปอย่างหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ก็มีคนเพียงหยิบมือเดียวที่จะเข้าไปลงทุนได้จริงๆ จังๆ หากเป็นตราสารอนุพันธ์ ส่วนใหญ่จะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนมือโปร

แต่ในหลายปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ทลายกำแพงทั้งหลายเหล่านี้ไปอย่างมาก ทุกวันนี้ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจการลงทุนคุณภาพสูงสามารถหาได้ไม่ยากจากโลกออนไลน์ฟรีๆ ยิ่งในยุคที่ผู้นำบางคนชอบทวีต ข้อมูลจากทวิตเตอร์อาจเร็วยิ่งกว่าข่าวการเงินเสียอีก 

ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมทางการเงินทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ มีต้นทุนถูกลงมากและเข้าถึงง่ายขึ้น โบรกเกอร์ออนไลน์จำนวนมากก็แทบไม่กำหนดเงินขั้นต่ำและให้เทรด ‘ฟรี’

ตัวอย่างในกรณีของ ‘โรบินฮู้ด’ แพลตฟอร์มเทรดดิ้งในสหรัฐฯ ที่เป็นศูนย์กลางของ ‘พายุ’ ในรอบนี้ คนทั่วไปสามารถเทรดได้โดยไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชันใดๆ (Comission-free/Discount broker) สามารถเทรดได้สารพัดสินทรัพย์ตั้งแต่หุ้น ETF ยันคริปโต โดยในปี 2020 มีผู้ใช้ทั้งหมดประมาณ 13 ล้านคนแล้ว

เมื่อโลกการลงทุนเปิดประตูให้คนจำนวนมาก พร้อมกับแพลตฟอร์มสื่อสารส่งข้อมูลกันอย่างสะดวกทันใจ เหล่า ‘แมงเม่า’ ก็อาจกลายเป็นหิงห้อยที่บางครั้งสามารถรวมตัวกันสร้างแสงสว่างเสมือน ‘พลุ’ ในตลาดการเงินได้ไม่แพ้กองทุนใหญ่ๆ ที่กุมอำนาจตลาดอยู่เดิม

ในกรณี GameStop หิงห้อยเหล่านี้รวมตัวกันเพื่อโค่นยักษ์ คำถามคือทำไม? คำตอบนั้นอยู่ที่เทรนด์ที่สาม

 

3. ความเหลื่อมล้ำ (Divided)

 

หากได้ตามอ่านบทสัมภาษณ์ของนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในหุ้นที่พุ่งกระฉูดเหล่านี้ จะพบว่าหลายคนไม่ได้ลงทุนเพียงเพราะผลตอบแทนเท่านั้น แต่ยังมี ‘ความแค้นต่อความไม่ยุติธรรม’ ผสมผสานอยู่ด้วย 

นักลงทุนรายย่อยหลายคนกล่าวถึงวงการวอลล์สตรีทเสมือนว่าเป็นผู้ร้ายที่ทำให้เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 และไม่เคยต้องรับผิดชอบผลกระทบที่ตามมาจากวิกฤต มองว่าวงการการเงินเป็นผู้ที่ใช้อำนาจเหนือตลาดทำอะไรก็ได้และร่ำรวยในยามที่คนทั่วไปกำลังตกระกำลำบาก และมองว่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์เป็นผู้ร้ายที่ซอร์ตเซลล์หุ้นบริษัท และเก็งให้ราคาตก 

สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19 และการล็อกดาวน์ที่ทำให้หลายคนติดอยู่บ้านเป็นเวลานานอาจเติมเชื้อเพลิงให้กับไฟนี้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้อาจไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้รู้สึกอย่างชัดเจน 

การที่พวกเขารวมตัวกันจนชนะยักษ์ใหญ่ทางการเงินได้จึงไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ ‘แมงเม่าก็รวยได้’ อีกต่อไป แต่มันคือ ‘การปฏิวัติ’ ระบบที่เขามองว่าไม่แฟร์ ที่มากไปกว่านั้น เหล่าแมงเม่าได้ยังความพอใจและสะใจพร้อมเงินเต็มกระเป๋ากลับไปด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง เหตุการณ์ที่แพลตฟอร์มโรบินฮู้ดจำกัดไม่ให้มีการซื้อหุ้นเหล่านี้จึงนำไปสู่การตีความได้ว่า เป็นความพยายามปกป้องวอลล์สตรีท เหมือนกับว่าระบบที่เหล่าแมงเม่าพยายามจะต่อต้านหันมาโจมตีกลับ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วหากมองอีกมุมหนึ่ง การที่แพลตฟอร์มหรือสถาบันทางการจะเข้ามากำกับการลงทุนที่ผันผวนขนาดนี้ก็อาจมีเหตุผลในตัว เพราะการกำกับควมคุมก็สามารถปกป้องแมงเม่าที่อาจกระโดดเข้ามาลงทุนตอนท้ายๆ โดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่แล้วต้องเสียเงินเก็บไปจำนวนมาก 

แต่การเทรดของแมงเม่าควรถูกจำกัดแค่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร? ทางเฮดจ์ฟันด์ที่ก็ทำชอร์ตเซลล์มากเกินไปควรจะถูกกำกับบ้างไหม? บทบาทของแพลตฟอร์มอย่างโรบินฮู้ดควรจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้? 

นี่คือคำถามทางนโยบายที่ผุดขึ้นมาและไม่มีทางที่จะได้คำตอบมาง่ายๆ

 

มากกว่าแค่ตลาดหุ้น มากกว่าแค่สหรัฐฯ

 

เหตุการณ์ GameStop เป็นมากกว่าแค่ปรากฏการณ์ในตลาดเงินในสหรัฐฯ แต่ยังสะท้อนถึงเทรนด์ทางการเงิน เทคโนโลยีและสังคมที่มาประสานกันจนเกิด ‘พลุ’ ให้เราเห็นกันทั่วโลก 

เทรนด์ดอกเบี้ยต่ำ ดิจิทัล และความเหลื่อมล้ำไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เป็นคลื่นใหญ่ที่เผชิญกันทั่วโลก

และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นกับวงการไหนก็ได้ ไม่ใช่เพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น 

นี่คือสัญญาณสำคัญว่าทุนนิยมแบบเก่าที่เอาใจแต่นายทุนผู้มีอำนาจได้มาถึงทางตันแล้ว โลกกำลังต้องการคำตอบใหม่ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save