fbpx

ไขประตูหัวใจ สำรวจความ ‘คลั่งรัก’ ในสังคมสมัยใหม่ กับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

ความรัก เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ทำให้ผู้คนว้าวุ่นอย่างไม่เลือกหน้า ไม่จำกัดอายุ ความรู้ หรือประสบการณ์

ความรัก หาตัวจับไม่ง่าย เฝ้าตามหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ แต่เมื่อเผลอเข้าหน่อย ก็พุ่งชนเข้าอย่างจัง

ความรัก เป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตสู่ความสัมพันธ์หลากรูปแบบ สู่หน่วยทางสังคมที่เรียกว่าครอบครัว พร้อมกับที่เป็นจุดเริ่มต้นของหายนะสำหรับใครหลายคน

เพียงเท่านี้ก็อาจยืนยันได้แล้วว่า ‘ความรัก’ คือโจทย์ยากที่ไม่อาจถอดรหัสได้ด้วยนิยามเดียว

แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อโจทย์ยากดังกล่าวได้ผสานเข้ากับโลกยุคใหม่ ห้อมล้อมด้วยเทคโนโลยี วิธีการใหม่ในการแสวงหาคู่ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง – โอ้ ‘ความรัก’ ในศตวรรษที่ 21 เธอคืออะไร และเป็นอย่างไรกันแน่

101 ชวนคุณไขประตูหัวใจไปกับ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เจ้าของแฮชแท็กตอบปัญหาความรัก #ทวิตรัก สำรวจความรักและสิ่งแวดล้อมของความรักในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่การปัดขวาหาคู่ อารมณ์คลั่งรัก การแต่งงาน ไปจนถึงการเมืองเรื่องความรัก

และหากวันนี้คุณมองว่าโจทย์ความรักนั้นไร้สาระ พวกคนคลั่งรักคือคนบ้า รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ได้ฝากถ้อยคำไว้สั้นๆ ว่า

“คุณก็ลองรักดูสิ”

 

 

ความรักในสังคมสมัยใหม่มีลักษณะใดที่น่าสนใจหรือแตกต่างไปจากความรักในสังคมสมัยก่อนบ้าง

เราชอบพูดเหมือนกับว่าคนรุ่นหลังเปลี่ยนไปหมดทุกอย่าง ความรักก็เปลี่ยน รูปแบบความสัมพันธ์ก็เปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนหมด จริงๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะไม่มีใครรู้ว่ามันเปลี่ยนหรือไม่ ต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ยังไง คือคนบางกลุ่มอาจจะเปลี่ยน คนบางกลุ่มไม่เปลี่ยน คนที่เปลี่ยนก็ไม่ได้เปลี่ยนไปทุกเรื่อง เลยทำให้ประเด็นเรื่องความรักออกจะสับสนอลหม่านมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 21

 

รูปแบบความสัมพันธ์ที่พบเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบันเช่น ความสัมพันธ์แบบเปิด (open relationship) สถานะ ‘คนคุย’ หรือการมีความสัมพันธ์กัน คุยกันทุกวัน แต่ไม่คบเป็นแฟน รูปแบบเหล่านี้พบเห็นได้มากขึ้นเพราะอะไร

จริงๆ ใช้คำว่าพบเห็นได้ลำบาก แต่อาจได้ยิน หรือรับรู้ เพราะมีคนออกมาพูด มาเล่าว่าความสัมพันธ์ของฉันเป็นอย่างนี้เยอะขึ้น ลองนึกดูว่าคนสมัยก่อน เช่น คนในช่วงกลางหรือปลายศตวรรษที่ 20 มีช่องทางที่จะออกมาพูดเรื่องของตัวเองไม่เยอะเท่านี้ ตอนนี้ที่มีคนออกมาพูด บางทีก็ไม่มีใครอยากรู้นะคะ แต่คุณเผยแพร่มันผ่านโซเชียลมีเดียและสิ่งอื่นๆ เราก็เลยรับรู้รูปแบบความสัมพันธ์แบบนี้มากขึ้น

จริงๆ คนที่คิดว่าตัวเองอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ทำนองนี้ เช่น ความสัมพันธ์แบบเปิด เอาเข้าจริงๆ คุณไม่รู้ว่ามันดำเนินไปอย่างไรต่อ มันไม่ใช่ละครที่มีตอนจบให้เห็น เราอาจไปเชื่อเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเปลี่ยนไปแล้ว

 

 

ปัจจุบันคนหาคู่ผ่านช่องทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อวัฒนธรรมของความรักอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ไหนแต่ไร พอคนมีความคาดหวังเรื่องความสัมพันธ์ว่าต้องการคู่ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ พูดคุยกันได้ หรือเป็นเพื่อนไปพร้อมๆ กันได้ แต่ปรากฏว่าหาคู่ไม่ค่อยได้ ก็ต้องไปอาศัยบริการต่างๆ แม้กระทั่งช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 คนรู้สึกว่าต้องตัดสินใจเรื่องความรักเอง ต้องมีความสัมพันธ์ที่เลือกเอง ก็เลยไปพึ่งพาแม่สื่อรูปแบบต่างๆ กันเยอะ เว็บไซต์หาคู่หรือบริการหาคู่ก็คือแม่สื่อรูปแบบใหม่สำหรับดิฉัน

ไม่ว่าช่วงเวลาไหน การหาคนมารักและหรือคนที่จะรักไม่ได้หาได้ง่ายๆ มนุษย์บางคนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ต้นศตวรรษที่ 21 คุณเรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัย ทำงานมาแล้ว 10 ปี อาจจะไม่เจอใครเลยก็ได้ ก็ต้องอาศัยบริการหาคู่ ซึ่งมันเปิดและทำให้คุณสะดวกขึ้น ไม่ต้องออกจากบ้านและไม่ต้องบอกใครมาก

แต่ดิฉันกำลังนึกถึงคำถามใน #ทวิตรัก คนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ จริงๆ ยังมีความคาดหวังหลายประการแบบเดิม คือรู้สึกว่าการเป็นแฟนกันต้องใช้เวลาด้วยกัน ต้องเห็นกันตัวเป็นๆ เพราะฉะนั้นคุณก็จะมีคำถามชุดเดิมๆ เช่น การมีความสัมพันธ์ทางไกล ไม่ได้เจอหน้ากัน จะทำยังไงดี  ความคาดหวังแบบนี้แปลว่าแม้เทคโนโลยีจะอำนวยความสะดวกให้คุณหลายเรื่อง คุณก็ยังต้องการได้ใช้เวลาหรือได้สัมผัสแตะต้องทางร่างกายอยู่ดี

 

 

ข้อดีของบริการหาคู่ทางแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ออนไลน์คืออะไร และมีอะไรที่เราต้องกังวลหรือตั้งคำถามไหม

ข้อดีคือ สำหรับคนที่ไม่เจอใครเลย มันก็ทำให้คุณได้เห็น ได้สำรวจ เหมือนคุณเดินช็อปปิ้ง คนที่คุณเลือกส่วนหนึ่งก็มีแนวโน้มที่คุณน่าจะชอบ ถ้าคุณอยากมีแฟนเหลือเกิน ชาตินี้ไม่มีไม่ได้ บริการเหล่านี้ก็ช่วยคุณ

แต่ประเด็นหลักที่น่าจะกังวลกันคือ เวลาคนใช้พื้นที่ออนไลน์นำเสนอตัวตน จะไม่ค่อยนำเสนออย่างที่เป็นจริงๆ หรืออาจจะมีทั้งตัวตนในโลกออนไลน์และออฟไลน์ แปลว่าเวลาที่คุณใช้บริการ คุณก็ไม่รู้ว่ากำลังเห็นอะไรอยู่ ตัวคุณเองเวลานำเสนอยังไม่ค่อยเสนออย่างที่ตัวคุณเป็นเลย ดังนั้นก็จะมีอะไรที่คุณไม่เห็น ไม่รู้ และอาจนำไปสู่ความผิดหวัง ไม่ได้อย่างใจ และเป็นภัยอันตรายได้ในหลายเรื่อง

 

หลายคนบอกว่าโลกออนไลน์ทำให้เราตกอยู่ใน Echo Chamber หากเรามีความสนใจ มีความเห็นทางการเมืองแบบหนึ่ง หรือตามข่าวสารแบบหนึ่ง ก็มีแนวโน้มที่อัลกอริทึมจะป้อนเนื้อหาที่ตรงกับเรามาให้ แบบนี้อัลกอริทึมจะมีผลกับความรักด้วยไหม

เวลาที่คุณหมกมุ่นหรือสนใจเรื่องบางอย่าง สิ่งที่คุณได้เห็นผ่านพื้นที่ออนไลน์ก็จะเป็นไปในเรื่องนั้น มันจำกัดหรือกำกับการเห็นโลกของคุณอยู่มาก และบางทีเราก็ไม่ได้ตระหนักว่าเรากำลังถูกจำกัดสิ่งที่เราเห็นอยู่ จริงๆ เป็นปัญหาใหญ่กว่าเรื่องการหาคู่หรือการมีแฟนอีก นั่นคือตกลงโลกที่คุณเห็นคืออะไร คุณสามารถมองเห็นได้มั้ยว่าโลกมีความหลากหลายและซับซ้อน เพราะปัจจุบันโลกถูกตัดให้ง่ายแล้วก็เป็นอย่างที่คุณอยากเห็นเท่านั้น

 

ในยุคหนึ่งคนอาจเขินอายที่ต้องบอกว่าเจอกับคู่ของตัวเองผ่านบริการหาคู่ออนไลน์ แต่ในปัจจุบันที่ใครๆ ก็ใช้ Tinder การหาคู่ออนไลน์ยังถูกตีตราอยู่ไหม

ดิฉันว่ามีคนที่ใช้บริการแบบนี้เยอะ ใช้แล้วจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปถึงไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สังคมหรือคนภายนอกมองยังไง อันนี้ไม่รู้ แต่คนใช้บริการจำนวนหนึ่งยังรู้สึกไม่ค่อยสบายอกสบายใจที่จะบอกคนอื่นว่าช่องทางที่พวกเขาเจอกันคืออะไร ถ้าเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว นักศึกษาที่เรียนวิชาเพศวิถีกับดิฉันคงไม่ต้องมาทำเปเปอร์เรื่องการหาคู่ออนไลน์อย่างที่ทำอยู่ การใช้บริการหาคู่ออนไลน์ยังถูกตีตรา ยังถูกมองว่าไม่เหมาะ ไม่ใช่ช่องทางที่ถูกต้อง คนยังตั้งคำถามว่ามันใช่จริงๆ หรือ ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับคนรุ่นก่อนที่ใช้แม่สื่อ หรือการไปนัดบอดนั่นแหละ

 

 

#ทวิตรัก ของอาจารย์ในปีสองปีนี้มีปัญหาความสัมพันธ์อะไรที่เป็นคำถามยอดฮิตบ้าง

จริงๆ อาจจะเกินปีสองปีนะ มักจะมีคำถามลักษณะที่ไม่รู้จะทำยังไงกับความไม่ชัดเจน คือวิธีถามและรายละเอียดต่างกัน แต่ประเด็นหลักคือความไม่ชัดเจน เช่น คนนี้ทำอย่างนี้ คุยกันมาแล้วเป็นแบบนี้ ตกลงเขาชอบเรามั้ย ตกลงเราเป็นอะไรกัน คุณมาถามดิฉันเนี่ยนะ (หัวเราะ) คือคนไม่รู้จะจัดการกับความไม่ชัดเจนนี้ยังไง พอดำเนินความสัมพันธ์ไปก็จะมีเรื่องราวหรือวิธีจัดการความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน

จริงๆ อาจจะไม่ได้เรียกว่าไม่ชัดเจน แต่เป็นการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงกับที่คุณคาด เช่น ทำไมเป็นแฟนกันแล้วถึงไม่แนะนำให้เพื่อนรู้จัก ทำไมเขาไม่รวมเราเข้าไปในกิจกรรมที่ทำกับเพื่อน คือคุณไม่รู้จะทำยังไงกับเรื่องบางเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง อย่างการไม่แนะนำให้เพื่อนรู้จัก มีเหตุผลที่เป็นไปได้ต่างๆ นานา จริงๆ ถ้าคุณรอให้เวลาค่อยๆ คลี่คลาย คุณอาจจะมีคำตอบในเรื่องนี้เองซึ่งดีกว่าให้คนอื่นมาตอบให้ แต่คุณไม่ค่อยอดทนกับมัน คุณต้องการความชัดเจนตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ในเรื่องความสัมพันธ์ ในทุกขั้นตอน

 

มีเหตุผลไหมที่คนเราต้องการ ‘ความชัดเจน’ ทั้งที่ ‘ความไม่ชัดเจน’ น่าจะเป็นของตายของความรัก คือทำอย่างไรก็อาจต้องเจอกับความไม่ชัดเจนในช่วงแรกของความสัมพันธ์

ณ จุดเริ่มต้นของความรัก มันเป็นอะไรที่…อื้อหือ ปรารถนาอย่างรุนแรงสุดๆ พุ่งปรี๊ด แล้วคุณก็ต้องการสมหวัง เพราะความปรารถนาที่หนักหนาเหลือเกินในใจ คนทั้งหลายในทุกรุ่นทนไม่ค่อยได้ ให้เวลาทำงานก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ต้องรู้เดี๋ยวนี้ อยากจะใช้เวลาร่วมกันตลอดเวลาเดี๋ยวนี้

ความรู้สึกแรกรักอาจทำให้ใครๆ ไม่สามารถอดทนได้ ยิ่งถ้าคุณรู้สึกว่ารักใครบางคนมากๆ และรู้สึกว่าความสัมพันธ์จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไป คือคุณไม่สามารถจะรักเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร รักแล้วต้องนำไปสู่อะไรบางอย่าง ทีนี้ ยิ่งคุณเร่ง ก็จะยิ่งทนกับความไม่ชัดเจน ทนกับการใช้เวลาไม่ค่อยได้

 

คำยอดฮิตคำหนึ่งในยุคนี้คือ ‘คลั่งรัก’ มักจะใช้อธิบายอาการของคนที่มีความรักแล้วอินสุดๆ ตกอยู่ในห้วงรักสุดๆ หรือเห่อแฟนสุดๆ คล้ายกับที่อาจารย์อธิบาย อาการนี้ก็น่าจะเป็นกันทุกคนไหม มีคนที่นิ่งเฉย ไม่ร้อนรน ไม่คลั่งรักจริงๆ หรือ

ที่คนบางคนนิ่งเฉย บางทีเป็นเพราะเขายังไม่รัก ไม่รู้ว่าถ้ารักแล้วเป็นยังไง เพราะฉะนั้นดิฉันจะเจอมนุษย์ที่ตำหนิคนคลั่งรักว่าพวกนี้บ้า ไร้สาระ ถ้างั้นคุณก็ลองรักดูสิ แล้วคุณจะเป็นยังไง

ความรู้สึกที่เรียกว่าคลั่งรักเข้าใจได้นะ เพราะในแรกรัก เวลาที่คุณรักใครบางคน คุณรู้สึกว่าคนๆ นี้ดีเลิศ ในชีวิตนี้ไม่เคยเจอใครที่ดีและสมบูรณ์เท่านี้ แฮปปี้เหลือเกิน เพราะฉะนั้นคุณก็อยากให้โลกรู้ว่า นี่ๆ คนนี้ดีอะ ฉันว่าดีมาก ฉันแฮปปี้นะ น่าจะพอเข้าใจอาการแบบนี้ได้ คำถามก็คืออาการแบบนี้จะอยู่ไปนานสักแค่ไหน

 

 

เวลาอ่านวรรณกรรมสมัยก่อนจะพบว่าพล็อตที่เป็นตัวแทนความโรแมนติกคือรักต้องห้ามหรือรักข้ามชนชั้น แล้วความโรแมนติกของยุคสมัยใหม่คืออะไร

ความโรแมนติกช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่ดิฉันเห็นว่าถูกผลิตออกมาผ่านสื่อที่คนบริโภคเยอะๆ จะเป็นไปในลักษณะที่ว่า ไม่ว่าปัญหาคืออะไร อุปสรรคคืออะไร เราจะก้าวข้ามมันไปด้วยกัน

ดิฉันยกตัวอย่างซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง something in the rain ที่ซอนเยจินแสดง เรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ เพราะพูดถึงข้อห้ามหลายข้อว่าด้วยความรักความสัมพันธ์ บางคนดูแล้วมองไม่เห็นข้อห้ามเลยเพราะมัวแต่ดูว่าคู่นี้จะเป็นยังไง คลั่งรักตามเขาไปด้วย (หัวเราะ) แต่หลักๆ เลยคือผู้หญิงอายุมากกว่าผู้ชาย แล้วผู้ชายก็เป็นน้องชายของเพื่อนสนิท คุณจะพอเห็นกำแพงในช่วงเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ แต่เมื่อไปถึงตอนท้าย นี่สปอยมากเลยนะ ในที่สุดคนทั้งสองพยายามจะเอาชนะอุปสรรคด้วยกันแล้วก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ ดิฉันไปอ่านคอมเมนต์ภาษาอังกฤษจำนวนมาก จะมีคนบอกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยรู้สึกว่าต้องการความรักมากขนาดนี้มาก่อน แต่พอดูซีรีส์เรื่องนี้หลายคนรู้สึกว่า ใช่เลย นี่คือความโรแมนติก โดนมาก ดังนั้น ณ เวลานี้ ดิฉันคิดว่าความโรแมนติกของคนคือเวลาที่คุณไม่ยอมแพ้ในความรัก

 

บางคนตั้งคำถามว่าความโรแมนติกแบบ “เราจะก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน” “ปากกัดตีนถีบ กัดก้อนเกลือกินไปด้วยกัน” จะเป็นการ romanticize ความบกพร่อง ความไม่เท่าเทียมของสังคม หรือทำให้มองข้ามปัญหาบางอย่างไปหรือเปล่า

ถ้าคุณบอกว่าในความรัก ต้องเห็นโครงสร้างทางสังคม ต้องเห็นความไม่เท่าเทียม คุณไม่ได้รัก ชีวิตมนุษย์จะมีแง่มุมต่างๆ ใช่ไหม เรื่องเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งแง่มุมที่คุณโฟกัส

ดิฉันเพิ่งเห็นวิธีที่คนเถียงกันว่าความรักกับความชอบต่างกันยังไง มีคนบอกว่าเวลาที่คุณชอบใคร คุณจะสามารถลิสต์เรื่องที่ชอบในตัวเขาได้มากมาย แต่ถ้าคุณรักใครบางคนคุณจะพูดว่า ฉันรักคนนี้ แม้ว่าเขาจะเป็นแบบนี้ๆ ซึ่งเป็นข้อเสีย ถ้าคุณไม่สามารถก้าวข้ามข้อเสียไป คุณก็พัฒนาความสัมพันธ์ไม่ได้ ความสัมพันธ์อยู่ได้นานหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่เพื่อที่จะพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นแฟนหรือเป็นคู่รัก มันต้องรับบางสิ่งบางอย่างเหล่านี้ได้ ถูก ผิด โง่ เป็นเรื่องของคุณ แล้วแต่ใครจะตัดสินยังไง ใครรู้สึกว่า ไม่ได้ แฟนฉันต้องเห็นความอยุติธรรมของสังคม นั่นเรื่องของมึง แต่คุณไม่ควรบอกคนอื่นว่าเขาควรจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร เอาเข้าจริงๆ ความรู้สึกรักมันเฉพาะตัวมากนะคะ

 

คนไทยจดทะเบียนสมรสกันน้อยลง สถิติการหย่าร้างมากขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่หลายคนมีความสัมพันธ์แบบ casual คือชอบเฉยๆ อาจจะไม่ไปถึงรัก หรือแค่รักกัน แล้วเดี๋ยวก็แยกย้ายกันไป ไม่แต่งงานไม่สร้างครอบครัว อาจารย์ว่าสถานการณ์แบบนี้สะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันอย่างไร

ดิฉันรู้สึกว่าความสัมพันธ์ตอนนี้มันซอยย่อยมากขึ้น จากเมื่อก่อนเวลาคุณเจอใครที่รู้สึกชอบ คุณก็จีบกัน จีบกันปุ๊บก็กลายเป็นแฟน เป็นแฟนเสร็จแล้วหมั้น หมั้นแล้วแต่งงาน มันเป็นขั้นๆ แต่ตอนนี้จากชอบกัน จีบกัน มันไม่เป็นแฟนกัน มีสถานะยิบย่อยที่คนนิยามเพิ่ม

ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ที่เราบอกว่าคนไม่แต่งงาน น่าจะหมายถึงไม่เข้าสู่สถาบันการแต่งงานที่รัฐรับรอง คืออาจจะอยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตคู่ แต่ไม่จดทะเบียนสมรสหรือไม่มีพิธีกรรมที่จะบอกให้สังคมรับรู้ มีคนหลายกลุ่มที่ทำเช่นนั้น แต่เราไม่รู้ว่าทำเช่นนั้นไปแล้ว พออายุเปลี่ยน องค์ประกอบชีวิตเปลี่ยน เขายังคงรูปแบบความสัมพันธ์เช่นนั้นอยู่ไหม ไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ อย่างมากเราก็จะได้เห็นจากคนรอบข้าง หรือคนที่ออกมาเล่าว่าความสัมพันธ์ของเขาเป็นแบบไหน แต่เราไม่รู้รูปแบบโดยทั่วไป

มีการศึกษาในบางประเทศระบุว่า ตอนที่คุณอายุ 20-30 ต้นๆ หรืออาจจะถึง 40 ปี คุณไม่แต่งงาน คุณรู้สึกว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องจำเป็น ฉันอยู่ด้วยกันด้วยความรัก รัฐไม่ต้องมายุ่งเกี่ยว สังคมไม่ต้องมาแสลน ปรากฏว่าพออายุสัก 40 ปี จดทะเบียนสมรสว่ะ เพราะการที่รัฐรับรองว่าคุณแต่งงานเป็นคู่กัน จริงๆ มีผลประโยชน์เยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการบางรูปแบบ เช่น คุณใช้ประกันสุขภาพของกันและกัน หรือเรื่องการสืบทอดทรัพย์สิน มีอภิสิทธิ์ที่ตามมาจากการแต่งงานเยอะมาก เพราะฉะนั้นในสังคมอื่นที่มีการศึกษาแบบนี้ คุณจะพอเห็นว่าเมื่ออายุเปลี่ยน องค์ประกอบชีวิตเปลี่ยน หลายคนเลือกจดทะเบียนสมรส

ทีนี้ของไทย คนที่ออกมาพูดว่าการแต่งงานไม่สำคัญจะเป็นคนรุ่นอายุหนึ่ง พออายุเยอะขึ้น เริ่มมีลูก หรือความสัมพันธ์เริ่มนิ่งขึ้น เกิดอะไรขึ้นกับคนพวกนี้คุณก็ไม่รู้ พ้นจากตอนนี้ไปแล้วเป็นยังไงก็ไม่รู้ จริงๆ สังคมไทยอยู่บนฐานความไม่รู้เยอะ เรื่องความรักความสัมพันธ์ยังไม่รู้เลย

 

 

โดยส่วนตัวอาจารย์คิดว่าความรักจำเป็นต้องถูกจัดการโดยกฎหมายหรือด้วยรัฐขนาดไหน

ถ้าเป็นความรักที่คุณกำลังคลั่งรักเนี่ย ไม่มีอะไรเข้ามาจัดการได้ อะไรที่เข้ามาจัดการจะกลายเป็นกำแพงที่คุณกระโดดข้ามหมด  นี่คือตอนแรกรัก แต่กฎหมายหรือกติกาของสังคมที่เข้ามากุมมาล้อมเป็นความพยายามจะจัดการอย่างอื่น เช่น ใครควรจะอยู่กับใคร ใครควรจะเจริญพันธุ์กับใคร ใครควรจะรับสืบทอดทรัพย์สิน มันเป็นการจัดระเบียบสิ่งอื่น ไม่ใช่การจัดระเบียบความรัก แต่พวกเราก็จะไม่ค่อยรู้ไง แล้วก็บอกว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ไม่ต้องมีใครมาเกี่ยว พอถึงอายุนึง ตายชัก พอไม่ใช่ความรักแบบคลั่งรักแล้ว พอต้องจัดการกับหลายๆ เรื่องในชีวิต คุณก็จะวิ่งไปหารัฐให้มาช่วยรับรองความสัมพันธ์ของคุณหน่อย

 

แต่เมื่อถึงคราวไม่ได้รัก คราวหย่าร้าง การจัดการพวกนี้ดูโหดร้ายเหลือเกิน

ตอนรักกันแล้วเข้าสู่ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเจออุปสรรคขวากหนามอะไรเราจะก้าวข้ามไปด้วยกัน โรแมนติกเนอะ แต่พอสักพักนึง ยังไม่ต้องไปถึงหย่าร้างนะ เวลาคุณต้องเจออุปสรรคที่หนักมากๆ บีบคุณมากๆ มันจะทำให้คุณเห็นว่าเฮ้ย ไม่ไหวอะ เหนื่อย ทรมานมาก มีอะไรที่โหดร้ายรอคุณอยู่ข้างหน้าเยอะ ขั้นเลิกราหรือหย่าร้างก็จะยิ่งทุกข์ทรมานไปอีกแบบนึง

 

คนรุ่นพ่อแม่มักจะอยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา คบกันนานๆ จะได้หมั้นและแต่งงานกัน ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะต่อต้านเล็กน้อย ผู้หญิงหลายคนไม่ได้ฝันถึงการเป็นเจ้าสาวอีกต่อไปแล้ว แต่ทำไมการแต่งงานถึงสำคัญมากสำหรับคนรุ่นก่อนๆ

ดิฉันว่าไม่ใช่พ่อแม่ทุกบ้านหรอก แต่พ่อแม่จำนวนมากอยากให้ลูกมีคู่และแต่งงานด้วยเหตุผลหลายอย่าง บางคนก็มองว่าการแต่งงานคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลูกจะได้มีคนดูแล มีคู่คิด ชีวิตจะได้ไม่โดดเดี่ยว เวลาที่คนอยู่คนเดียว สังคมโดยทั่วๆ ไปมักจะมองว่าคนนี้ต้องลำบากแน่เลย ไม่มีแฟน ไม่มีผัว ไม่มีเมีย ไม่มีลูก ต้องลำบาก ต้องเหงา ต้องรันทด เพราะคุณมองไม่เห็นไงว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์ได้หลายแบบ ไม่ใช่ว่าต้องมีคู่หรือเป็นพ่อแม่เท่านั้น ยังมีความสัมพันธ์ที่เชิดชูและจรรโลงใจกันได้

ที่พ่อแม่กดดันเพราะกลัวว่าเดี๋ยวแก่ตัวไปจะลำบาก เป็นความคาดหวังว่าด้วยหลายๆ เรื่องในชีวิต ที่สำคัญกว่านั้นคือพ่อแม่บางคู่ไม่รู้จะตอบคำถามคนอื่นยังไงที่ลูกมีแฟนแล้ว ใช้เวลาด้วยกัน มันต้องเคยเอากันแล้วอย่างแน่นอน ความต้องการให้แต่งงานจึงมีเหตุผลหลายอย่าง เหตุผลว่าด้วยความเหมาะสมของสังคม ความถูกต้อง รวมทั้งความเป็นห่วงที่ปนกันอยู่

ทีนี้คนรุ่นหลัง เวลาที่คุณบอกว่าฉันไม่อยากจะเป็นเจ้าสาว ฉันจะออกแบบชีวิตของฉันเอง เอาเลย แต่คุณก็ต้องเปิดให้ตัวคุณเองค่อยๆ ปรับและเปลี่ยนใจตามสถานการณ์ ดิฉันไม่ได้บอกว่าในที่สุดคุณจะต้องเปลี่ยนใจมาอยากแต่งงานนะ ไม่ใช่ แต่เวลาที่คุณคิดว่า ณ อายุหนึ่งฉันจะทำอย่างนี้ นี่คือใช่ นี่คือถูก แต่องค์ประกอบชีวิตและสิ่งอื่นๆ ที่คุณเจอทำให้คุณค่อยๆ เปลี่ยน ก็ต้องตระหนักว่าชีวิตคือการปรับรับการเปลี่ยนแปลง คุณต้องการอะไรได้หมด

 

 

คำอธิบายหนึ่งในประเด็นเรื่องคนไม่แต่งงานคือ สังคมปัจจุบันมีเสรีภาพมากขึ้น ความเท่าเทียมทางเพศอาจมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่จำเป็นจะต้องมีสามีมาเลี้ยงดู อาจารย์เห็นด้วยกับคำอธิบายนี้ไหม และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเลือกอยู่คนเดียวมากขึ้น

คำอธิบายแบบนี้ย้อนไปได้ไกลมากว่า ตั้งแต่ที่หลายสังคมยอมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือได้ ทำมาหากิน เลี้ยงตัวเองได้ ถือครองทรัพย์สินได้ ทำให้การแต่งงานที่แปลว่าจะมีคนมาหาเลี้ยงคุณมันไม่จำเป็น คนไม่ต้องเข้าสู่การแต่งงานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจอีกต่อไป

ส่วนเหตุผลในเรื่องเซ็กซ์ ขณะนี้เทคโนโลยีด้านการคุมกำเนิดทำให้คุณเลือกได้ ดิฉันพูดย้ำอยู่เสมอว่าคุณเลือกได้ทุกการร่วมเพศ คุณสามารถควบคุมและตัดสินใจทุกอย่างได้เอง แต่จะมีมนุษย์จำนวนหนึ่งที่ทำเหมือนตัวเองเลือกไม่ได้และตัดสินไม่ได้ อันนี้แปลกประหลาด ดังนั้น เหตุผลที่จะเข้าสู่การแต่งงานเพราะเผื่อว่ามีเซ็กซ์แล้วจะท้องจึงไม่มี คุณดูแลตัวเองได้และออกแบบรูปแบบความสัมพันธ์ที่คุณต้องการได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น

 

คู่รักจำนวนมากใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่เดินเข้าสู่สถานะคู่สมรส หลายคนเรียกว่า ‘อยู่ก่อนแต่ง’ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อรัฐมองปัญหา domestic violence โดยโฟกัสไปที่คู่สมรสที่มีสถานะสามีภรรยา ปัญหาความรุนแรงในอาณาบริเวณส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับคู่รักทั่วไปจึงถูกมองข้าม เราจะทำอย่างไร

ขณะนี้มีการต่อสู้ให้ขยายนิยาม ในภาษาฝรั่งจะใช้คำว่า domestic violence ไม่ใช่ family violence แม้กระทั่งไอ้วิธีคิดว่าด้วย family violence ในความเข้าใจของคนทั่วไปก็ยังจำกัดอยู่ในเรื่องผัวตีเมีย แต่จริงๆ ทุกคนที่อยู่ในครอบครัวขนาดเล็กที่รัฐรับรองสามารถใช้ความรุนแรงต่อกันได้หมด

คำว่า domestic violence มีความหมายใหญ่ เป็นความรุนแรงที่คนทำต่อกันและกันในอาณาบริเวณส่วนตัว ในความสัมพันธ์ ก็ต้องขยายความเข้าใจ ขยายการรับรองออกไป ถ้าคนทั่วไปในสังคมเข้าใจได้ว่าความหมายมันใหญ่มาก คุณต้องไม่ยอมให้ใครรังแกใคร วิธีที่พูดว่าผัวเมียตีกัน คนอื่นอย่ามายุ่ง เรื่องนี้ต้องมองใหม่ ถ้าเป็นความรุนแรง ต้องเสือกค่ะ เพื่อจะป้องกันกันและกัน แปลว่าในหัวพวกเราต้องเห็นภาพ domestic violence ที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เฉพาะรัฐ

 

domestic violence อยู่ตรงไหนได้บ้างในความรักความสัมพันธ์ เมื่อพูดถึง domestic violence หลายคนอาจเห็นภาพการตบตีหรือความรุนแรงทางกายภาพอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วอะไรบ้างที่นับเป็นความรุนแรง

งานวิจัยที่ดิฉันทำเมื่อปี 2563 เรื่อง เกลียด/โกรธ/กลัว: ความรุนแรงทางเพศ/เพศสภาพในพื้นที่ออนไลน์” ทำให้ได้เห็นความรุนแรงที่เป็น domestic violence หลายรูปแบบที่เราอาจจะพอรู้ แต่ไม่เคยเข้าใจว่าเป็นความรุนแรง เช่น การบังคับให้คนอีกคนหนึ่งเป็นอย่างที่คุณต้องการ การเข้าไปกำกับ การใช้ถ้อยคำที่รุนแรงทำร้าย

เรื่องการกำกับ มีการแลกเปลี่ยนความเห็นว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของนักการเมืองคนหนึ่งกับภรรยา ปรากฏว่าคนที่เข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นเล่าเรื่องของตัวเองเยอะมาก เช่น ผู้หญิงเล่าว่าไม่สามารถชมพระเอกละครหรือพระเอกภาพยนตร์ว่าหล่อได้ พระเอกฝรั่ง ไทย เกาหลี นับหมด แฟนเอาตาย หรือการกำกับว่าตัดผมทรงนี้ไม่สวย คือเราที่เป็นคนนอกอาจจะไม่รู้สึก แต่คนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้นมันหนักหน่วง ทั้งหมดถือเป็นความรุนแรงหมด ถ้าคุณอยู่ในที่ทำงาน คุณถูกเจ้านายหรือถูกเพื่อนร่วมงานกดบีบด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ คุณยอมมั้ย เข้าใจว่าไม่มีใครยอม (หัวเราะ) แต่ในความสัมพันธ์ บางทีคุณไม่รู้ว่าจะทำยังไง

คุณลองนึกดูดีๆ นะ คนที่ด่าคุณแล้วตรงเรื่องที่สุด ทำร้ายคุณได้มากที่สุด คือคนที่รู้จักคุณดีที่สุด เพราะฉะนั้นไอ้คนที่ด่าคุณแล้วฉีกใจคุณเป็นชิ้นๆ ได้คือคนที่ต้องใกล้ชิดคุณมากๆ เช่น เพื่อนสนิท แฟน เพราะมันรู้จักคุณดี มันรู้ว่าจะต้องกรีดตรงไหน ทิ่มตรงไหน ถึงจะเจ็บที่สุด คนถูกกระทำแบบนี้เยอะมาก เพราะฉะนั้น domestic violence ไม่ใช่แค่เรื่องร่างกาย

 

 

โลกทุนนิยมเป็นศัตรูของความรักโรแมนติกหรือเปล่า เพราะแนวคิดของมันทำให้ความรักเป็นเรื่องของตลาด เราต้องพรีเซนต์ตัวเองเหมือนขายสินค้า หรือเวลาเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ก็ต้องลงทุนในความรักอย่างคุ้มค่า

ดิฉันเพิ่งดูซีรีส์พีเรียดทางเน็ตฟลิกซ์ที่คนเขาฮิตดูกันเรื่อง Bridgerton คุณไปดูให้ดีๆ นี่คือสมัย 200 ปีมาแล้ว เวลาคนจะเลือกคู่ มันคืออภิมหาการลงทุนเลยนะคะ ตัวฉันคือทรัพย์สิน คือของขายได้ ต้องลงทุนกับตัวเอง นำเสนอภาพตัวเอง เพราะพอแต่งงานแล้วจะถูกคำนวณเป็นเรื่องกำไรขาดทุน

การแต่งงานหมายถึงสถานะทางสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กระทั่งการสร้างพันธมิตรทางการเมือง เพราะฉะนั้นคนก็จะลงทุน ทำไปทำมามันแทบจะไม่โรแมนติก เพราะคนหลายชนชั้นหลายกลุ่มคำนวณแบบนั้นมาโดยตลอด เพราะการแต่งงานไม่ใช่เรื่องความรัก แต่เป็นเรื่องอื่น มันก็เป็นอย่างนี้ ใช่มั้ย

 

หลายความเห็นบอกว่าถ้าเราไม่จน ถ้าเรามีเวลามากขึ้นในการไปทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องปากกัดตีนถีบ เราอาจจะประสบความสำเร็จในความรัก เจอความรักได้ง่ายขึ้น หรือมีความรักที่มีคุณภาพขึ้น ขณะเดียวกันถ้าสังคมการเมืองไม่ดี เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จในความรักด้วย

พูดง่ายๆ คือด่าโครงสร้างทางการเมือง นายกฯ และคนอื่นๆ หาแฟนไม่ได้สาเหตุก็เพราะนายกฯ ตายๆ ดิฉันชอบมาก (หัวเราะ) คนจะมีคำอธิบายให้กับตัวเองเวลาหาแฟนไม่ได้ คุณโทษอย่างอื่นหมดเลย แต่การมองว่าสภาพแวดล้อมทำให้ความสัมพันธ์ของคุณไม่ดี บางทีคุณไม่ได้หันมาดูว่าความคาดหวังของคุณในเรื่องความสัมพันธ์คืออะไร คุณต้องการความรักความสัมพันธ์ไปเพื่ออะไร

คุณไม่ได้มีความรักอย่างเดียวโดดๆ จะมีความรักเพราะการเมืองดี ก็ไม่ใช่มั้ง ความรักและความสัมพันธ์ของคุณดำรงอยู่ท่ามกลางองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมายในชีวิต บางทีการคิดว่าต้องการอะไรแล้วจะทำอะไร อาจจะช่วยคุณนะ คือกลายเป็นว่าเพราะมีความเหลื่อมล้ำ เราจน เราเลยไม่มีความรักที่ดี แต่ถ้าไม่จนแล้วจะทำอะไรล่ะ ดิฉันอยากรู้ หรือสมมติตอนนี้ประเทศไทยไม่ได้มีโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบอำนาจนิยม แล้วคุณจะทำอะไร จะหาแฟนได้หรือ

แต่ก็เข้าใจได้ว่าแนวคิดเหล่านี้เข้ามา shape วิธีการคาดหวังหรือการเห็นโลกของคุณด้วย

 

ความรักเป็นเรื่องการเมืองไหม

โห แน่นอน ที่คุยกันวันนี้เราพูดถึงความรักในฐานะจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ที่ว่านี้อาจดำเนินไปถึงการแต่งงานและสิ่งอื่นอีกมากมาย เพราะฉะนั้น เป็นสิ ถ้าเรานิยามว่าการเมืองเป็นการแย่งชิงกันนิยามว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูกหรือผิด

เวลาที่คุณมีแฟน แฟนคุณบอกว่าคนรักกันไม่ต้องเจอกันทุกวันก็ได้ คุณบอก ไม่ได้! ต้องเจอกันทุกวัน นี่ฟาดกันนะคะ คุณกำลังแย่งกันนิยามว่ามันควรจะเป็นยังไง ตัวอย่างที่ดิฉันชอบยกคือเวลาที่คนถามแฟนว่า ตัวเองอยากกินอะไร แล้วอีแฟนบอกว่า อะไรก็ได้ แล้วคุณดันเชื่อว่าแฟนหมายความว่าอะไรก็ได้จริงๆ นรกบังเกิดเสมอ ใช่มั้ย เพราะอะไรก็ได้ของแฟนคุณแท้ที่จริงมีความคิดอะไรบางอย่างอยู่ในหัว สมมติแฟนอยากกินข้าวมันไก่ แล้วคุณดันไปบอกว่ากินก๋วยเตี๋ยวก็แล้วกัน แฟนคุณจะโกรธเป็นวรรคเป็นเวรว่า รักกันต้องรู้สิว่าฉันต้องการกินอะไร มึงบ้านรก

ความรักความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการต่อรอง ฟาดฟัน แต่คนจำนวนมากทำเหมือนกับว่าถ้ารักจริงต้องไม่มีการต่อรอง ต้องไม่มีการใช้อำนาจ เพราะรักคือรักเปล่าๆ แต่คุณจะไม่เจอความรักแบบนั้นในโลกนี้ อีกสักห้าชาติข้างหน้าก็ไม่เจอ เพราะการต่อรองระหว่างกันและกันเป็นองค์ประกอบของความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ พอฟังแล้วมันหายโรแมนติก (หัวเราะ)

 

 

ทัศนคติทางการเมืองกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งทั้งในความสัมพันธ์และในครอบครัว บางครั้งกลายเป็นสเปกในการมองหาคู่ และบางครั้งกลายเป็นปัญหาเมื่อเห็นไม่ตรงกัน ในยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองมีมากขึ้น ทัศนคติทางการเมืองจะยิ่งทวีความสำคัญในความรักไหม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา #ทวิตรัก จะเจอคำถามเป็นระยะๆ ว่าด้วยปัญหาการเห็นไม่ตรงกันในทางการเมือง หมายถึงอยู่ในความสัมพันธ์แล้ว เป็นแฟนกันแล้ว หรือบางทีก็อยู่ในความสัมพันธ์ครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูก แล้วเห็นไม่ตรงกัน กลายเป็นการฟาดฟัน ไม่ยอมกันอย่างรุนแรง ดิฉันก็จะพยายามบอกว่าเวลาที่คุณสัมพันธ์กับใครไม่ว่าในรูปแบบไหน คุณไม่ได้สัมพันธ์กับเขาเรื่องเดียว มันจะมีแง่มุมที่ดีอยู่จำนวนหนึ่ง แง่มุมไม่ดีอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่คุณไม่ได้สัมพันธ์กับเขาเรื่องเดียว มันยังมีเรื่องอื่นๆ

ถ้าคุณไม่สามารถทนกันได้เพราะเห็นต่างกันในทางการเมือง ซึ่งน่าจะหมายถึงขั้วทางการเมืองว่าสนับสนุนใคร หรือเห็นรูปแบบของระบบการเมืองเป็นยังไง ถ้าคุณเห็นไม่ตรงกันแล้วถึงขนาดจะเลิกกัน ไม่สามารถอยู่กันได้ แสดงว่าคุณมองเพ่งอยู่เรื่องเดียวเลยนะ เวลาที่คุณรู้สึกว่า โห เรื่องนี้มันแหลมมากๆ คุณลองมองไปที่อื่นบ้างสิ ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่เหลือความสัมพันธ์ไหนเลยถ้าคุณเอาเรื่องเดียวเป็นที่ตั้ง ลองมองไปที่เรื่องอื่นๆ แล้วก็ agree to disagree ว่าเรื่องนี้เห็นไม่ตรงกันได้ พูดเหมือนง่ายนะ แต่จริงๆ ยากมาก แต่อยากเชิญชวนทุกคนค่ะ ในความสัมพันธ์แต่ละแบบของคุณมีแง่มุมอีกหลายอย่าง มองไปที่เรื่องอื่นบ้าง

ตอนนี้ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างในทางการเมืองกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคุณคิดว่าคุณต้องชนะกัน สิ่งที่ฉันเชื่อเนี่ยถูกและจริงแท้ที่สุด รักลุงประยุทธ์คือถูก รักประชาธิปไตยคือถูก คำถามก็คือชนะแล้วได้อะไร บางครั้งเวลาเถียงเหมือนพวกเรายินดีแลกนะ ฉันจะต้องชนะ คุณแลก คุณทำร้ายทิ่มแทงคนที่คุณเถียงด้วย ถ้าคำเถียงเป็นมีด คนคนนั้นแทบจะหลุดเป็นชิ้นๆ เพราะคุณแทงมันยับ เพื่อ?

 

ด้วยสังคมที่มีเสรีภาพมากขึ้นหรือคนถกเถียงกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ที่คนเคยต่อต้าน เช่น การมีคู่ครองหลายคน จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วยไหม

สังคมตอนนี้มีเสรีภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาคนพูดถึงวิถีชีวิตของตัวเองว่าฉันพอใจอย่างนี้ก็จะใช้ฐานเสรีภาพ เช่นการมีความสัมพันธ์ที่เป็น polygamy มีคู่หลายคนพร้อมกัน หรือความสัมพันธ์แบบเปิด คุณก็จะบอกว่าเป็นเสรีภาพ ฉันพึงพอใจเช่นนี้ แต่คุณพอใจคนเดียวไม่ได้ คู่ทั้งหมดของคุณหรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องต้องยินดีกับมัน สมยอมอะ… consent อะ…

ถ้าทุกฝ่ายสมยอม ก็เรื่องของเขา คำว่าเสรีภาพเป็นปัจจัยที่คุณเอามาแสดงรูปแบบรสนิยมเฉพาะของคุณได้ แต่คนที่เกี่ยวข้องก็ต้องเอาด้วยนะ ทีนี้ ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ใครยอมรับหรือไม่ยอมรับมากขึ้น ถ้าคุณใช้ฐานเรื่องเสรีภาพ ก็แปลว่าคุณต้องปล่อยให้คนอื่นทำอย่างที่เขาอยากจะทำ แม้คุณจะไม่ชอบ ถ้ามันไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำให้เป็นอันตรายกับใคร คุณก็ต้องปล่อยเขา เพราะฉะนั้นยอมรับมั้ย อาจจะไม่ยอมรับ แต่ว่าทนกันได้

 

 

แล้วตกลง ความรักคืออะไรกัน

ความรักคือการที่คุณรู้สึกชื่นชมในบางอย่างของคนคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็อยู่กับอะไรอีกหลายๆ อย่าง ที่ไม่งดงาม ที่คุณไม่ชื่นชมของคนคนนั้นได้ อะไรก็ได้ ทนได้หมด ซึ่งมันจะไม่ค่อยนาน (หัวเราะ)

 

แปลว่าอาจารย์ไม่เชื่อในรักแท้ รักตลอดไป

ไม่เชื่อ (หัวเราะ) ย้อนกลับไปใช้คำของคุณ ความคลั่งรักเนี่ย มันคลั่งอยู่ได้ไม่นาน สักพักหนึ่งคุณก็จะเริ่มเห็นคนอีกคนมากขึ้นว่าเขาเป็นยังไง ไม่ได้ดั่งใจคุณยังไง เพราะฉะนั้นมันจะไม่ค่อยนาน ระยะเวลาเท่าไหร่แต่ละคู่ก็ไม่เท่ากัน แต่จะไม่ค่อยมีอะไรที่อยู่ไปได้นานๆ

สิ่งที่อยู่ได้นานเหมือนชั่วฟ้าดินสลายกลายเป็นอะไรอย่างอื่นที่เข้ามาเสริมความรู้สึกแรกรัก เพราะฉะนั้นใครที่ต้องการหารักแท้ก็ต้องเข้าใจว่า รักแท้ของคุณต้องเติมด้วยอะไรอย่างอื่นอีกมาก

 

มีสัญญาณหรือสิ่งที่บ่งบอกว่าเรากำลังมีความรักที่ดีหรือประสบความเร็จในความรักไหม

สัญญาณที่ดีคือใจคุณเอง คุณจะรู้สึกในความสัมพันธ์กับคนคนนี้หรือกับหลายคนก็แล้วแต่ แต่ต้อง happy the way it is คือมันเป็นเช่นนี้ องค์ประกอบอย่างนี้ ฉันโอเค รับได้ มีความสุข แม้ว่าจะมีปัญหาต่างๆ

เวลาตอบ #ทวิตรัก ดิฉันจะบอกทุกคนเสมอว่าคุณต้องเลิกฟังคนอื่น คุณฟังตัวคุณเองให้ดีๆ คนอาจจะคิดว่าเวลาที่ตัดสินใจเรื่องความรักความสัมพันธ์ คุณเห็นแก่ตัว จริงๆ ไม่ใช่ คุณฟังมนุษย์รอบข้างหมดว่าควรจะเป็นยังไง อย่างนี้ไม่ใช่ ต้องเป็นอย่างนั้น หันมาฟังตัวเองดีๆ ค่ะ ฉันแฮปปี้มั้ย ฉันโอเคกับมันมั้ย และไม่ลืมว่าเมื่อเวลาเปลี่ยน ความรู้สึกแฮปปี้และโอเคนั้นก็อาจจะเปลี่ยนไปได้เช่นเดียวกัน

 

อวยพรให้ความรักของผู้อ่านหน่อย

ไม่ว่าคุณกำลังมองหาความรัก มองหาคนมารัก อยากจะมีความสัมพันธ์หรืออะไรยังไง ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่ตรงไหน มองหาอะไร ขอให้คุณเจอในสิ่งที่ทำให้คุณสบายใจ

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save