fbpx
‘ปฏิวัติพม่า : ทหาร Vs ประชาชน’ กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

‘ปฏิวัติพม่า : ทหาร Vs ประชาชน’ กับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

หลังเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทั้งโลกหันไปจับตามองพม่าอย่างพร้อมเพรียงทั้งประเด็นการทำรัฐประหารที่หลายคนคาดไม่ถึงรวมถึงปรากฏการณ์ที่คนพม่าออกมาต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ทหารปฏิวัติประชาชนหรือประชาชนจะปฏิวัติทหารการเมืองพม่าจะเดินอย่างไรต่อประชาธิปไตยที่ว่ากันว่าผลิดอกในพม่าแล้วจะจมหายไปหรือไม่และอะไรคือนัยของพม่าต่อประชาธิปไตยไทยและอาเซียน

101 ชวน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์  The Nation และนักวิจัยอิสระที่ทำงานประเด็นเรื่องอาเซียนมาพูดคุยว่าด้วยพม่าทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรม

:: ประชาธิปไตยของคนพม่า VS กองทัพพม่า ::

การที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต่อต้านการยึดอำนาจในคราวนี้ ประเด็นมีอยู่แค่ว่า ช่วงปี 2011 ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกแล้วเต็ง เส่งชนะ แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเพียงเศษเสี้ยว แต่รัฐบาลเต็ง เส่งก็ไม่ได้เลวร้ายนัก เพราะมีแนวทางที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ดังนั้น 5 ปีภายใต้รัฐบาลเต็ง เส่ง และอีก 5 ปี ภายใต้รัฐบาลซูจี เป็นเวลา 10 ปีที่นานพอจะได้ลิ้มลองความหอมหวานของเสรีภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะได้ทำมาหากิน สะสมความมั่งคั่ง ทำให้คนพม่าไม่อยากกลับไปมีชีวิตแบบก่อนปี 2011 ที่ทหารมีอำนาจมากมายและมีการรบราฆ่าฟันกัน คนพม่าจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กำลังสะสมทั้งเงินทุนและความรู้ รู้สึกว่าอย่าพาประเทศกลับไปจุดเดิมอีก

สิ่งที่กองทัพทำเป็นอย่างแรกเมื่อคนออกมาต่อต้าน คือจับคนที่เขาคิดว่าเป็นแกนนำ เช่น อองซาน ซูจี และอดีตผู้นำการประท้วงในปี 1988 ซึ่งเป็นความคิดโบราณมาก

สอง ตัดการสื่อสาร ปิดอินเทอร์เน็ตช่วงที่กำลังจะจับกุมผู้คม แต่เขาทำเรื่องนี้ได้ไม่ได้นาน อินเทอร์เน็ตก็ต้องเปิด ใครๆ ก็สามารถถ่ายคลิปเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ได้

สาม พยายามติดต่อกับต่างชาติ โดย 1.ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่ทบทวนโครงการลงทุนต่างชาติ 2.เขียนจดหมายหาพลเอกประยุทธ์ที่เรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรแห่งเผด็จการ เพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น ช่วยกำราบคนพม่าในเมืองไทยที่กำลังต่อต้านการรัฐประหารไม่ให้ฮึกเหิมมาก และจัดการชายแดน อย่าให้คนพม่าที่ถูกไล่ล่าข้ามมาฝั่งไทย ทหารย่อมเข้าใจทหาร มิน อ่อง หล่าย คาดหวังสิ่งเหล่านี้จากรัฐบาลไทย และพลเอกประยุทธ์ก็ไม่เหนียมอายเลยที่จะบอกว่าเราสนับสนุนพม่าเต็มที่

มิน อ่อง หล่าย ใช้คำว่าการยึดอำนาจเพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง พม่าใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบมีวินัย (Discipline-Flourishing Democracy) เป็นประชาธิปไตยที่ต้องเดินตามทหาร ทหารบอกว่านี่คือประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยการจำกัดเสรีภาพ จะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร ความเป็นประชาธิปไตยเป็นสากล ต่อให้ใครพยายามบอกว่ามีลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ แต่ประชาธิปไตยก็มีลักษณะร่วมบางประการ คือ สิทธิ เสรีภาพ และการเลือกตั้ง เราจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่การยึดอำนาจโดยกำลังทหาร ถ้าคุณบอกว่ามีการโกงเลือกตั้ง คุณก็ไปสอบสวนสิ รัฐประหารจะแก้ปัญหาอย่างไร

การยึดอำนาจคือการโกงประชาชน เขาเลือกพรรค NLD ให้บริหารประเทศ ไม่ได้เลือกคุณ แต่คุณก็ไปยึดอำนาจเขามา

:: เหตุใดกองทัพพม่าจึงใช้ความรุนแรงไม่แคร์โลก ::

ทหารพม่าคุ้นชินกับการใช้อำนาจ ชินกับการถูกด่า ชินกับการถูกคว่ำบาตร เขาหนังหนานะครับ เป็นเหตุให้คำวิพากษ์วิจารณ์และการเรียกร้องไม่มีผล กองทัพพม่าตอบสนองต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยความรุนแรงเสมอมา

กองทัพพม่าปัจจุบันถูกกล่าวหาโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า ได้กระทำการอันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ชาวโรฮิงญาหลายพันคนเสียชีวิตไประหว่างการปราบปราม  มิน อ่อง หล่าย และรอง ผบ. สูงสุด โซ วิน ถูกระบุว่าเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถ้าหากพิสูจน์ได้ในศาล เพราะฉะนั้นเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้เข้าไป การยิงผู้ประท้วงอีกสักร้อยสองร้อยคนจะเป็นอะไรไปหรือ หากจะโดนข้อกล่าวหาก็ไม่มีอะไรแรงไปกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว

วิธีการรับมือแบบนี้ได้ผลไหม ก็เคยได้ผล ในอดีตมีการปราบปรามจนคนพม่าต้องหนีมาเมืองไทยหรือไปอยู่ต่างประเทศ บางคนติดคุกจนลืม คุกพม่าขึ้นชื่อถึงความโหดเหี้ยม สิ่งนี้อาจจะทำให้คนจำนวนหนึ่งกลัว แต่อีกจำนวนหนึ่งคงจะไม่กลัวแล้ว เพราะเขาไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมในปี 1988 และคิดว่าถ้าอยู่เฉยๆ ก็คงถูกกดขี่ต่อไป

ผมคิดว่าเขาจะใช้วิธีการเดิม แต่อาจจะไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ เขาอาจจะต้องปรับและมีวิธีการที่ยืดหยุ่นมากกว่านี้

:: เหตุผลที่กองทัพพม่าต้องยึดอำนาจ ::

บทบาททางการเมืองของกองทัพพม่าจะไม่เปลี่ยน ถ้าเขาจะเปลี่ยน น่าจะเปลี่ยนตั้งแต่ปี 1990 ที่ซูจีชนะเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว แต่กองทัพเลือกที่จะคุมอำนาจต่อ เพราะกองทัพพม่าในเวลานั้นเป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจสูงสุด พรรคการเมืองยังไม่เข้มแข็ง แม้ NLD จะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่กองทัพพม่าก็ไม่ไว้ใจให้ซูจีบริหารประเทศ และที่สำคัญที่สุด กองทัพพม่าในปี 1990 กำลังเผชิญกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธ

อุดมการณ์หลักของกองทัพพม่าคือต้องรักษาความเป็นเอกภาพและเอกราช เพราะฉะนั้นจะไม่มีการแบ่งแยกออกไปปกครองตนเอง จะต้องไม่มีใครบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนพม่า จะต้องไม่มีใครทรยศต่อความเป็นอธิปไตยของชาติ กองทัพพม่าถือว่าตนเองต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง กองทัพไม่สนใจเศรษฐกิจของประเทศ ไม่สนใจว่าประชาชนจะทำมาหากินอย่างไร กองทัพพม่าสืบทอดอำนาจแบบนี้อยู่เรื่อยมา

สิ่งเหล่านี้อธิบายสภาพในยุคปัจจุบันได้ว่า กองทัพพม่ามองว่าตนกำลังเผชิญภัยคุกคามอย่างโรฮิงญา เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ กองทัพจะรู้สึกว่าเป็นภัยคุกคาม ทหารพม่าจึงพยายามรักษาระเบียบทางการเมืองซึ่งตัวเองคุมอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้ ทั้งกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน นี่คือคำอธิบายว่าทำไมกองทัพต้องอยู่ในการเมืองตลอดเวลา

เรื่องที่ 2 คือพลเอกมิน อ่อง หล่าย กำลังจะเกษียณอายุครบ 65 ปี ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ธรรมเนียมของทหารพม่าคือ ต้องคุมอำนาจไว้ต่อไปเพื่อไม่ให้รุ่นน้องหักหลัง ก่อนหน้ามิน อ่อง หล่าย คนที่อยู่ในอำนาจสูงสุดสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ชั่วฟ้าดินสลายยกเว้นถูกหักหลัง แต่มิน อ่อง หล่าย พยายามทำให้กองทัพดูมีมาตรฐาน ก็เลยแก้กฎหมายให้ทหารทั่วไปเกษียณที่อายุ 60 ปี ยกเว้นตำแหน่ง ผบ.สูงสุด กับ รอง ผบ.สูงสุด ที่ไม่มีกำหนดเกษียณ แต่พอมาถึงปี 2016 ก็แก้ให้ ผบ.สูงสุด กับ รอง ผบ.สูงสุด เกษียณที่อายุ 65 ปี

ตอนนั้นที่มิน อ่อง หล่าย กล้าพูดว่าจะไปจากตำแหน่งตอนอายุ 65 เพราะคิดว่าพอออกจากกองทัพก็ไปอยู่พรรค USDP ที่ทหารจัดตั้งขึ้น แต่พอตอนนี้ซูจีชนะเลือกตั้งอีกด้วยคะแนนเสียงที่เยอะกว่าเดิม มิน อ่อง หล่าย รู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง ความฝันที่จะเป็นประธานาธิบดีพังทลาย เขาจึงจะต้องปกป้องเส้นทางของเขาไว้

เรื่องที่ 3 คือเรื่องธุรกิจ มิน อ่อง หล่าย ในฐานะ ผบ.สูงสุด เป็นผู้คุมธุรกิจในเครือกองทัพ กองทัพมีธุรกิจที่เป็น holding company อยู่สองบริษัท มีบริษัทลูกมากมาย มิน อ่อง หล่ายก็ถือเป็นองค์อุปถัมภ์ของบริษัท Union of Myanmar Economic Holdings (UMEHL)  ที่ดูแลธุรกิจตั้งแต่ขุดแร่ไปจนถึงคมนาคม และโดยส่วนตัว มิน อ่อง หล่าย และลูกสองคนของเขาก็มีธุรกิจอยู่ในเครือ ธุรกิจของลูกก็รับสัมปทานจากกองทัพ เช่น สร้างโรงแรม รีสอร์ต เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เขาจะต้องรักษาเป็นการส่วนตัว

และเรื่องสุดท้ายคือ มิน อ่อง หล่าย ต้องถูกนำขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งมีคนถูกอ้างชื่อ 2 คน คือ มิน อ่อง หล่าย และรอง ผบ.สูงสุด โซ วิน เพราะฉะนั้นถ้าคดีไปถึงที่สุด เขาก็กลายเป็นอาชญากรผู้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ต่อให้ซูจีแก้ต่างให้ แต่ถ้ามิน อ่อง หล่าย ลงจากตำแหน่งแล้วสุดท้ายถูกตัดสินว่าผิด ซูจีก็คงไม่อยากปกป้อง

นี่คือเหตุผลที่เขาตัดสินใจว่าจะต้องยึดกุมอำนาจ

:: ความเหมือนและต่างของกองทัพไทยและพม่า ::

กองทัพพม่าและกองทัพไทยเลียนแบบซึ่งกัน และดูถูกซึ่งกันและกันตลอดเวลา ทหารพม่าดูถูกทหารไทยว่าใจไม่ถึง ไม่ใช่นักฆ่า ขณะที่ทหารไทยก็ดูถูกทหารพม่าว่าฆ่าเป็นอย่างเดียว ไม่รู้จักใช้สมอง การยึดกุมการเมืองต้องใช้สมอง ไม่ใช่ใช้ปืนอย่างเดียว

รัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 คล้ายๆ กับรัฐธรรมมนูญไทยปี 2014 ที่มีสัดส่วนคนของกองทัพเข้าไปอยู่ในกลไกทางการเมือง

การตั้งพรรคการเมืองของกองทัพอาจจะไม่ได้เลียนแบบกันเสียทีเดียว เพราะไทยมีการทำพรรคการเมืองก่อน แต่พม่าไม่ค่อยมีมาก ถ้ามีก็เป็นพรรคที่จะได้ลงรับเลือกตั้งพรรคเดียวเลย กองทัพพม่าไม่เคยทำพรรคการเมืองที่ต้องไปแข่งกับคนอื่น

แต่ปัจจัยที่ทำให้กองทัพพม่าและไทยแตกต่างกันมากคือ ทหารพม่าควบคุมการเมืองได้เต็มมือ ไม่ต้องแบ่งใคร ไม่ต้องเหนียมอาย ทหารไทยก็ไม่เหนียมอายหรอก แต่ทำไม่ได้ ทหารไทยไม่สามารถควบคุมการเมืองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องใช้กลไกอื่น เช่น มี ส.ว. เข้าไปเล่นการเมือง มีพันธมิตร เช่น บริษัททุนขนาดใหญ่ สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พม่าไม่ต้องการ เขาดีลกับพรรคการเมืองก็ไม่เป็น กลุ่มทุนก็มี แต่เป็นพวกพ้องบริวารของกองทัพ สถานะจึงแตกต่างกัน จังหวะอำนาจก็ไม่เท่ากัน เรียกได้ว่าทหารพม่าคุมการเมือง ส่วนทหารไทยเล่นการเมือง

เหตุผลที่ทำให้กองทัพไทยเลือกที่จะเล่นการเมืองมากกว่าเข้าไปคุมอย่างโจ่งแจ้ง ประการแรกคือ ที่มาที่ต่างกันในทางประวัติศาสตร์ ทหารพม่าอยู่ในการเมืองสืบเนื่องยาวนานมาก ตั้งแต่การยึดอำนาจของนายพลเน วินในปี 1962-1988 และการยึดอำนาจของนายพลตาน ฉ่วยในปี 1988 – 2011 โดยไม่ต้องแชร์อำนาจให้ใคร ในขณะที่ทหารไทยพอยึดอำนาจแล้วเดี๋ยวก็มีคนมาเรียกร้องให้เลือกตั้ง มีพรรคการเมืองมาแชร์อำนาจ โดยเฉพาะหลังยุค 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา การยึดอำนาจจึงเกิดขึ้นบ่อยเพราะอยู่ได้ไม่นาน นี่เป็นความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้กองทัพไทยเล่นการเมืองได้ไม่ถนัด

ประการที่ 2 เศรษฐกิจไทยค่อนข้างซับซ้อนเมื่อเทียบกับพม่า เศรษฐกิจและระบบการเงินไทยผูกพันกับตลาดโลก เราค้าขายกับโลก เราต้อนรับนักนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ที่สำคัญที่สุดคือเราผูกพันกับประเทศตะวันตก ดังนั้นทหารไทยจะตระหนักว่า ไม่ว่ากองทัพจะร่ำรวยและมีอำนาจขนาดไหน ก็ไม่มีความสามารถที่จะบริหารเศรษฐกิจได้ ประยุทธ์ในตอนนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ต้องไปหานักเศรษฐศาสตร์มาช่วยนั่งเป็นรัฐมนตรีให้ เพราะตัวเองไม่มีความรู้ ส่วนกองทัพพม่าไม่เคยต้องหานักเศรษฐศาสตร์ สมัยก่อนเขานึกอยากจะฉีกแบงก์ ยกเลิกเงินเมื่อไหร่เขาก็ทำ

เศรษฐกิจที่ซับซ้อนทำให้เกิดอีกสิ่งในประเทศไทย คือชนชั้นนำมีความซับซ้อนมากขึ้น เราจะพบว่ามีกลุ่มทุนขนาดใหญ่หนุนพรรคการเมืองบางพรรค กลุ่มทุนบางกลุ่มหนุนกองทัพ ทำให้เกิดการต่อรองในวงกว้าง ขณะที่พม่าไม่ต้องดีลกับชนชั้นนำที่ซับซ้อนเท่าไทย ชนชั้นนำพม่าคือทหารและคนรวยอีกหยิบมือเดียว คนรวยพูดกันด้วยเงิน ทหารพูดกันด้วยอำนาจ เพราะฉะนั้นจึงจัดการชนชั้นนำได้ง่าย

และประการที่ 3 ที่พม่าไม่มีแต่ไทยมีคือพระมหากษัตริย์ กองทัพไทยอ้างอิงความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์อยู่ตลอดเวลา การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จคือต้องได้รับความเห็นและการรับรองจากฝ่ายวัง แต่ทหารพม่าไม่ต้อง ถ้ายึดอำนาจแล้วไม่มีใครต่อต้าน หรือถ้ามีคนต่อต้านแล้วปราบปรามก็ชนะได้อย่างที่มิน อ่อง หล่าย ทำ แค่จับประธานาธิบดีไป แล้วเอาคนของตัวเองที่เป็นรองประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉิน ตัวเองก็ได้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแล้ว  เพราะฉะนั้นการอยู่ยอดสุดของปิรามิดโครงสร้างทางสังคมการเมืองแบบนี้ทำให้กองทัพพม่าควบคุมการเมืองได้เต็มที่ ขณะที่กองทัพไทยทำไม่ถนัดมือ

:: ทำไมโลกสนใจการเมืองพม่ามากกว่าไทย ::

ในทศวรรษ 1960 นายทหารสองคนของไทยและพม่า คือนายพลเน วินและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน สองคนนี้เลือกวิถีทางทางเศรษฐศาสตร์การเมืองคนละขั้ว เน วินเลือกพาประเทศชาติเลี้ยวซ้าย ใช้เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ตั้งชื่อโครงการของตัวเองว่าโครงการสังคมนิยมแบบพม่า ไล่คนอินเดียและจีนออกจากประเทศแล้วก็ยึดกิจการมาเป็นของรัฐ แต่ตัวเองค้าขายไม่เป็น เศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาที่รัฐจึงไม่เวิร์ก ในขณะที่สฤษดิ์เลี้ยวขวา เข้าหาสหรัฐอเมริกา ต้อนรับการลงทุน ตั้งรัฐวิสาหกิจ

ในทางการเมือง สฤษดิ์เข้าหาโลกตะวันตกในนามของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ส่วนเน วินพาประเทศไปสู่จุดที่เรียกว่า ‘ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ แต่ใกล้ชิดรัสเซียและเป็นสังคมนิยม สฤษดิ์ส่งต่ออำนาจไปที่ถนอม ระเบียบทางเศรษฐกิจของไทยค่อยๆ เปิดขึ้น ขณะที่เน วินอยู่ในอำนาจยาวไปถึงปี 1988 ในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นเสรีนิยม มีการเปิดเสรีทางการค้า ประชาธิปไตยเฟื่องฟู

ประเทศไทยปี 1988 อยู่ในรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เราเปิดเศรษฐกิจเสรีเข้าหาเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ขณะที่พม่ามีการลุกฮือต่อต้านนายพลเน วิน นายพลตาน ฉ่วยขึ้นสู่อำนาจและปราบนักศึกษาอย่างรุนแรงจนถูกคว่ำบาตร จนกระทั่งปี 1990 แทนที่พม่าจะยกอำนาจให้ซูจี ก็ยึดอำนาจต่อไปอีก และไม่ยอมร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น กองทัพพม่าเป็นคนพาตัวเองออกจากระเบียบโลกเอง ตะวันตกก็เลยคว่ำบาตร

ขณะที่เศรษฐกิจพม่าถูกปิดล้อม เศรษฐกิจของไทยกลับเติบโต เราเข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียน  (AFTA) เข้าร่วมในความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) เราเข้าสู่ระเบียบโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติก็เข้ามาลงทุนทำการค้ากับประเทศ แปลว่าทุกคนมีผลประโยชน์ในประเทศไทยเยอะมาก ขณะที่ไม่มีใครมีผลประโยชน์ในพม่ามากมายนัก ใครที่หากินกับพม่าก็จะโดนคว่ำบาตร

เมื่อเกิดเหตุการณ์ในไทยถามว่ามีคนสนใจไหม ก็มี แต่ไม่มีใครเขาว่าอะไร สหรัฐฯ ก็คว่ำบาตรเฉพาะความช่วยเหลือทางการทหารซึ่งเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว มีเพียงแค่สหภาพยุโรปที่ปฏิบัติกับไทยเหมือนที่ปฏิบัติกับพม่า คือยุติความสัมพันธ์ใดๆ ในระดับสูง ปรากฏว่าการทำแบบนี้ส่งผลทางลบตีกลับมาที่ยุโรปเอง ในขณะที่ยุโรปแช่แข็งโครงการร่วมกับไทยไว้ แต่ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ต่างเข้ามาทำธุรกิจกับไทย ยุโรปก็เสียประโยชน์ สุดท้ายก็ต้องพยามกล้อมแกล้มเชิญประยุทธ์ไปยุโรป ส่วนพม่าเมื่อถูกคว่ำบาตรแล้วก็คว่ำบาตรเลย ไม่กระทบกระเทือน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save