fbpx
ฟังเสียงกระซิบในร้านน้ำชาพม่า กับ สุภัตรา ภูมิประภาส

ฟังเสียงกระซิบในร้านน้ำชาพม่า กับ สุภัตรา ภูมิประภาส

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

 

1 กุมภาพันธ์ 2564 ดูเหมือนว่าจะไม่มีครั้งไหนที่หัวใจคนไทยบางส่วนจะใกล้ชิดกับคนพม่าได้เท่าครั้งนี้อีกแล้ว หลังจากมิน อ่อง หล่าย ประกาศทำรัฐประหารในวันเปิดสภา และจับกุมตัวอองซาน ซูจี ไปกักขังไว้ ในวันที่ผู้คนเชื่อว่าพม่ากำลังเดินเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์พม่าในสายตาคนไทยที่ก่อนหน้านี้หยุดไว้แค่ยุคพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกพลิกอ่านมากขึ้น หลายคนทำความรู้จักพม่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในยุค 60 ปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าใจสถานการณ์นี้ให้ชัดเจนมากขึ้น

ในวันที่สายตาของทั้งโลกจับจ้องไปที่พม่า 101 ชวน สุภัตรา ภูมิประภาส นักแปล และอดีตนักข่าวที่ทำงานเกี่ยวกับพม่ามาตั้งแต่ปี 1988 มาพูดคุยเรื่องพม่าในเชิงวัฒนธรรมและผู้คน เพื่อทำความรู้จักพม่าในมุมที่อาจไม่เคยเห็น

เสน่ห์ของพม่าที่ซ่อนอยู่ใต้ความเรืองรองของเจดีย์ชเวดากอง ซุกอยู่ในบทสนทนาของร้านน้ำชา หลบอยู่หลังเทือกเขาสูงใหญ่ และไหลล่องไปกับแม่น้ำอิรวดี ถูกกดทับด้วยอำนาจของรัฐบาลทหารที่พรากเอาเสรีภาพไปจากประชาชน คำถามคือหัวใจคนพม่าเป็นแบบไหนในสภาวการณ์เช่นนี้ และเราจะทำความเข้าใจได้อย่างไร

 

 

รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนนั้นคุณทำอะไรอยู่และได้ข่าวตอนไหน

ตอนนั้นอยู่กับอาจารย์นฤมล ทับจุมพล เพื่อนสนิทที่ทำเรื่องพม่ามาด้วยกัน แล้วก็มีเพื่อนพม่าที่เป็นนักการเมืองหรือแม้กระทั่งทายาทพระเจ้าธีบออยู่ วันนั้น (31 มกราคม 2564) ทายาทสายพระเจ้าธีบอส่งแถลงการณ์ของทหารมาให้เราตอนเกือบเที่ยงคืน และอันที่สองคือแถลงการณ์จากสถานทูตต่างชาติ พออ่านปุ๊บเราก็บอกว่ารัฐประหารชัวร์ แถลงการณ์ออกมาตอนช่วง 4 ทุ่ม คิดดูแล้วกันว่าแถลงการณ์อะไรออกมาตอน 4 ทุ่ม

ทหารพม่าไม่เหมือนที่ไหนในโลก ประชาธิปไตยของเขาไม่เหมือนประชาธิปไตยของเรา พอเพื่อนส่งมา คืนนั้นไม่ได้นอนกันเลย แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทางนั้นก็รู้แล้วว่าจะรัฐประหาร ทาง NLD ก็ทำแถลงการณ์ไว้ล่วงหน้าด้วย คือเจรจากันไม่ได้

 

คนจะมองว่ารัฐประหารครั้งนี้หักปากกาเซียน จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจใช่ไหม

เราไม่รู้สึกแปลกใจ แต่ก็เข้าใจได้ที่คนบอกว่า เฮ้ย ไม่รัฐประหารหรอก เพราะโลกสมัยนี้แล้ว แต่คุณไม่ต้องอะไรเลย อย่างของไทยที่มีคนบอกว่าถ้ารัฐประหารก็แย่แล้ว ยังมีรัฐประหารเลย แล้วคิดดูว่าไทยไม่เคยปิดประเทศเกือบ 50 ปี แต่ของพม่าปิดมาตั้งแต่ยุคเน วิน ปี 1962-2010 เกือบ 50 ปี ฉะนั้นไม่เห็นแปลกเลย ของประเทศไทยไม่ปิดประเทศยังทำได้

 

คุณมองพม่าตอนปิดประเทศกับตอนที่เปิดประเทศแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แตกต่างมากเลย ตอนที่เขาปิดประเทศ เราเคยเข้าไปปี 2000 ตอนนั้นซูจีถูกปล่อยจากบ้านพักกักบริเวณแล้ว เราไปแบบถูกต้อง ไม่ได้ลักลอบนะ นัดสัมภาษณ์เขาที่พรรค NLD เป็นคนไทยคนเดียวที่ไป ถึงจะบอกว่าไม่ได้ลักลอบแต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะถึงไม่ถูกกักบริเวณ แต่เขาก็ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด

วันแรกไปเดินสำรวจก่อน เดินเหมือนนักท่องเที่ยว เห็นตำรวจที่ร้านน้ำชาที่ฝั่งตรงข้ามพรรคเต็มเลย เราก็เดินดูให้รู้ พอวันรุ่งขึ้นก็เดินไปเส้นทางเดิม ถึงเวลานัด คนข้างในพรรคก็เปิดประตูให้แล้วก็ผลุบกันเข้าไปเลย คุยอยู่ 3 ชั่วโมง พอออกมาเราถูกตาม 7 ชั่วโมง ตามไปที่โรงแรม ขี่มอเตอร์ไซค์ประกบ เหมือนหนังเลย ไปทุกที่ ไม่ปล่อยให้เราคลาดสายตา จนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้นเราไปสนามบินเลยผ่านมาได้ ทั้งๆ ที่เราก็ไปแบบนักท่องเที่ยวนะ เป็นต่างชาติคุณยังคุกคามขนาดนี้

นั่นคืออารมณ์ตอนที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย หลักจากนั้นเราก็ถูกแบนไปสิบกว่าปี ขึ้นบัญชีดำเพราะไปพบซูจี เจอแบบสองเด้งด้วย นอกจากแบล็กลิสต์แล้วยังไปเขียนด่าเราใน The New Light of Myanmar หนังสือพิมพ์รัฐ ว่านักข่าวคนนี้เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เชื่อถือไม่ได้

พอปี 2011 รัฐบาลเต็ง เส่งขึ้นโดยที่พรรค NLD บอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง ดังนั้นทหารก็ไม่ต้องโกงเลือกตั้ง เพราะไม่มีพรรคที่คู่ควรสู้ได้ พอขึ้นเป็นรัฐบาลเขาก็ปลดล็อกบัญชีดำหมดเลย แต่ก็ยังมีข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เรายังถูกกันไว้ที่สนามบินนานกว่าคนอื่น

พอเข้าไปพม่าช่วง 2012 ก็ไปพบซูจีอีก พบในองค์กรศาสนา นักข่าวเต็มเลย บรรยากาศสบาย ไม่มีใครมาตามเรา แตกต่างจากครั้งที่ไปตอนแรก พูดชื่อซูจีก็ไม่ได้ แท็กซี่กลัว เข้าข้างนะแต่ไม่ยอมพูด เขาก็ระวัง เราก็ระวัง แต่พอหลังจากได้รับประชาธิปไตย ถึงจะเรียกว่าครึ่งใบก็ตาม แต่บ้านเมืองก็เปิด หลังจากนั้นเราทำหนังสือ ก็พาคนไปเที่ยวสนุกสนาน รัฐบาลทหารก็ไม่ทำอะไร ไกด์ก็มีเสรีมากขึ้น แต่ใหม่ๆ ก็ยังเกร็งๆ นะ ยังไม่ค่อยพูดเรื่องการเมือง

 

วิธีคิดของคนพม่าเปลี่ยนไปไหม เมื่อประเทศเปิดแล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว

เปลี่ยนค่ะ พอประเทศเปิดก็มีโอกาส เขาไม่ต้องอยู่ในความกลัวอีกต่อไป นั่งร้านน้ำชาได้เปิดมากขึ้น จะอ่านหนังก็ไม่ต้องห่อปก เมื่อก่อนจะซื้อหรือให้ยืมหนังสือกันต้องซ่อน ร้านหนังสือเปิดได้โดยเสรี ไปถามเล่มไหนก็มี คนมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ความยากจนก็ยังมีอยู่เพราะประเทศเพิ่งเปิด เขาก็ต้องมาที่ไทย คนมาที่ไทยกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจแทนที่จะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

 

เขาบอกว่าแต่ก่อนที่พม่า คุยกันในร้านน้ำชาต้องกระซิบ

แต่ตอนนี้ก็คงต้องกระซิบ (หัวเราะ) คือคงไม่ได้กระซิบเหมือนสมัยโน้น เหมือนอยู่ระหว่างการปรับตัวว่าจะเข้าสู่ทุนนิยมอย่างไร คนก็เปิดเผยมากขึ้น

ในหนังสือ จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ เล่าได้เห็นภาพมากว่าร้านน้ำชาพม่าเป็นแหล่งรวมทุกอย่างเลย วัฒนธรรมคล้ายๆ ทางใต้ของเรา สมัยก่อนจะมีสภากาแฟ รุ่นคุณพ่อเราก็ยังมีนัดคุยการเมืองนั่งจิบกาแฟกัน พม่าก็เป็นอย่างนั้น พม่าไม่กินกาแฟแต่กินชา ร้านน้ำชารวมทุกสิ่งทุกอย่าง และทรงความสำคัญมากโดยเฉพาะในสมัยที่การปกครองอยู่ใต้ทหาร คนจะมาอยู่ตามร้านน้ำชา ทุกชีวิตอยู่ที่ร้านน้ำชา แม้กระทั่งพวกหน่วยความมั่นคงก็แทรกซึมอยู่ที่ร้านน้ำชา เพื่อมาดูว่าใครน่าสงสัยอย่างไร ร้านน้ำชาเป็นแหล่งรวมทุกอย่าง เป็นวัฒนธรรม หนุ่มสาวก็นัดเจอกันที่นั่น

ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น แต่ร้านน้ำชาจะเปลี่ยนรูปแบบไปนิดหนึ่ง ตอนนี้เป็นเก้าอี้เตี้ยแบบพลาสติก พอพม่าเปิดประเทศก็ปรับให้เป็นร้านน้ำชาแบบสมัยใหม่หน่อย ก็มีร้านกาแฟ แต่ตามต่างจังหวัดหรือตามเมืองเล็กๆ ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่

 

พอทำรัฐประหารก็เหมือนหมุนนาฬิกาสังคมกลับไปในอดีต

ใช่ เหมือนปี 1988 ต้องกลับไปอ่านเล่ม จิบพม่าฯ ตอนนี้แม้กระทั่งการกวาดจับ การบุกตอนกลางคืน เข้าไปตรวจก็ไม่ต้องมีหมายค้น เหตุการณ์ของซูจีก็กลับไปเหมือนปี 1988-1989 เลยนะ ต่างกันที่ว่าครั้งนี้จะมีสื่อที่ส่งถึงภายนอกได้ แต่วิธีการของทหารไม่เปลี่ยนเลย จะจับใครก็จับ เอาไปขังคุกไม่ต้องมีข้อหา หรือมีข้อหาแบบบ้าบอ อย่างข้อหาซูจีนำเข้าส่งออก walkie-talkie ผิดกฎหมาย หรือข้อหาประธานาธิบดีวิน เมี่ยนพบปะผู้คนช่วงโควิด

ทหารพม่ารู้สึกว่าเขาเป็นผู้สร้างชาติ ซึ่งเขาเป็นจริงๆ เพราะเขาต่อสู้กับอาณานิคม ฉะนั้นเขาก็ต้องเป็นผู้พิทักษ์ อย่างไรก็ต้องมีบทบาทสำคัญ เป็นพ่อแห่งชาติ เขาทนไม่ได้ที่จะถูกลดความสำคัญลงไป แล้วทิศทางทางการเมืองก็เป็นเช่นนั้น รัฐบาล NLD ก็พยายามทำให้เป็นเช่นนั้น คือให้ทหารไปอยู่ในที่ทาง ทหารก็เลยทนไม่ได้

ทั้งซูจีและทหารต่างคิดว่าตัวเองเสียสละ ชาตินิยมเหมือนกัน ซูจีรู้สึกว่าตัวเองคืออำนาจ พอเธอเป็นรัฐบาลปุ๊บก็นั่งคุมหลายกระทรวง ทั้งรัฐมนตรีศึกษา รัฐมนตรีต่างประเทศ ไว้ใจคนอยู่ไม่กี่คน พวกนักศึกษารุ่น 8-8-88 ส่วนหนึ่งที่มาอยู่ด้วย เขาก็รู้สึกว่าเขาก็เสียสละเหมือนกัน แล้วก็ต่อสู้มาตลอด แต่ไม่ถูกให้ความสำคัญ ก็แตกกัน แต่ก็เป็นวิถีประชาธิปไตยนั่นแหละ

 

ขัดกันไหม เรียกร้องประชาธิปไตยแต่ขณะเดียวก็เชิดชูตัวบุคคล

ขัด แต่ก็เป็นวิถีของเขา พม่าไม่เคยเป็นประชาธิปไตย เขารู้สึกว่าเป็นบุญคุณ ทำไมพม่าถึงรักซูจีมาก เพราะจริงๆ ซูจีออกจากประเทศเมื่อไหร่ก็ได้ ตาน ฉ่วยอยากให้ไปแล้วไม่ต้องกลับมาอีก แต่ซูจีก็ไม่ยอมไป จริงๆ เธอมีสามี มีลูก มีสถานะมั่นคงอยู่ต่างประเทศนะ ชาวพม่าก็รู้สึกว่าเธอเสียสละ เหมือนรูปบูชาจริงๆ ยกย่องสุดๆ แต่ถามว่าเธอสมควรได้รับไหม ก็สมควรนะ เพราะพูดอีกก็ถูกอีกว่าถ้าไม่มีซูจี พม่าก็ไม่เดินมาสู่จุดนี้ จาก 1990-2021 ซูจีใช้เวลากว่า 30 ปีต่อสู้ทางการเมือง

ในวิถีการเมืองพม่า ทุกฝ่ายคิดในส่วนของตัวเองถูกหมดเลยนะ แต่ทหารอดใช้อำนาจไม่ได้ พอแพ้ก็ยึดอำนาจเพราะเขารู้สึกว่าเป็นความชอบธรรมของเขา ถ้าประเทศไปผิดทางจากที่เขากำหนดไว้ ส่วนซูจีก็คิดว่านี่เป็นความชอบธรรมของฉันโดยสิ้นเชิง ฉันชนะถล่มทลาย มีเหตุผลอะไรที่ไม่ให้ฉันปกครองประเทศ ก็เลยมาถึงจุดนี้แหละ เขาเจรจากันไม่ได้

ส่วนประชาชนอย่างไรก็ไม่เอาทหารอยู่แล้ว ช่วงเลือกตั้งปีที่แล้ว อ่านตามที่สื่อสัมภาษณ์ประชาชน ประชาชนพม่าบอกว่าพรรคอื่นไม่มีเสียงที่จะมาสู้กับทหารได้ จะให้สู้ทหารได้แบบถอนรากถอนโคนก็ต้องเลือก NLD อาจจะชอบพรรคอื่นมากกว่าแต่ต้องเลือกแบบมีกลยุทธ์

 

subhatra-bhumiprabhas 8

คนพม่าไม่เอาทหารแน่ๆ ทำรัฐประหารคนไม่พอใจทั้งประเทศแน่ๆ แต่เมื่อมองกลับมาที่ความจริง คุณคิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้มีความหวังที่ประชาชนจะชนะขนาดไหน

จริงๆ ก็เดาทหารพม่ากันไม่ออกนะ แต่เราจะเดาไปในทางร้าย เรายังคิดว่าเขาพร้อมจะปิดประเทศ เพราะทุกครั้งที่ปิดประเทศ ทหารไม่ได้เสียหายอะไร คนที่ทุกข์ยากคือประชาชน พวกทหารพม่าเขาไม่ส่งลูกไปยุโรป อเมริกา แต่เขาส่งไปสิงคโปร์ ส่งมาเอแบค เขาไม่จำเป็นต้องส่งไปประเทศที่บอยคอตเขา

พวกทหารเดือดร้อนน้อย เราไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตเลย บอยคอตปุ๊บประชาชนไม่มีงานทำ อดอยาก ท้ายที่สุดพวกที่บอยคอตก็ต้องไปง้อ เขาเพิ่งเปิดประเทศมา 10 ปี แต่ก่อนหน้านี้ปิดมาเกือบ 50 ปี กลับไปปิดอีกก็ไม่เป็นไร ปี 2021 แล้วยังเอาคนไปกักตัวอยู่เลย ในยุคของคนที่โตมาโดยไม่เห็นความโหดของทหารก็ไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ดีๆ จับตัวคนที่เลือกตั้งชนะไปขังเฉยเลย ยึดอำนาจเฉยเลย

 

เด็กพม่ารุ่นใหม่ที่โตมาใน 10 ปีที่มีอินเทอร์เน็ต ได้เห็นโลกกว้างแล้วก็คงคิดแบบนี้

ไม่ใช่เฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เราคุยกับเพื่อนที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งที่ทำให้คนยิ่งโกรธและออกมามากคือการไปปิดอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกเดียวของคนชายขอบเลยนะ การปิดอินเทอร์เน็ตกระเทือนกว้างมาก ทหารจึงปิดไม่ได้ ปิดได้แต่กลางคืน

คนพม่าใช้เฟซบุ๊กเกินครึ่ง เฟซบุ๊กคือชีวิตคนพม่า มิน อ่อง หล่ายก็ใช้ มีคนตามตั้ง 6 ล้านนะ ยังเคยถูกเฟซบุกปิดเลย ทหารก็ใช้ ตาน ฉ่วยยังใช้เลย

เผด็จการทหารพม่าไม่รู้จะรับมืออย่างไร ตอนนี้นักข่าวคุยกันว่าทหารกำลังหาแผนสองอยู่ การประท้วงปี 1988 คนออกมา ทหารก็กราดยิง แต่ตอนนี้คนออกมาทุกวัน แล้วสามารถรายงานหรือไลฟ์ได้สารพัด เมื่อวานก็สั่งไม่ให้นักข่าวไลฟ์เหตุการณ์เผชิญหน้าที่พรรค NLD แต่ก็ไม่เห็นมีใครเชื่อเลย จับนักข่าวไป อีกวันหนึ่งก็ปล่อย ตอนนี้เขาไม่รู้จะรับมืออย่างไร

มันยากขึ้นน่ะ รัฐประหารมาแล้วจะรักษาไว้ได้อย่างไร จะจัดการอย่างไร จริงๆ ทหารก็ฆ่านักศึกษามาแล้วแหละ แต่สิบปีที่ผ่านมามีชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมาเยอะ เด็กรุ่นนี้ก็เป็นลูกคนชนชั้นกลาง ไม่ใช่ลูกชาวไร่ชาวนา ก็รับมือลำบาก คุณเป็นศัตรูกับกลุ่มคนที่ไม่ได้เล็กสักเท่าไหร่

 

ถ้ามองไปที่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า วิธีคิดเรื่องประชาธิปไตยของคนพม่าเป็นแบบสากลหรือเป็นประชาธิปไตยแบบพม่าอยู่

สำหรับประชาชน ประชาธิปไตยของเขาเป็นสากลค่ะ ประชาชนรู้สึกว่าเขามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศและเดินทางกลับได้ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ประชาชนทั่วไปกำลังคุ้นเคยกับเสรีภาพ เพราะโลกเปิดเขา ไม่เหมือนโลกก่อนมีอินเทอร์เน็ต เขาเห็นการประท้วงหลายที่ ถึงเกิดการชูสามนิ้วขึ้นมา เขาคิดว่าเป็นเรื่องปกติ

ครั้งนี้จะเห็นว่าคนไปล้อมรถถังทหาร ไปเขียนป้ายด่า ทหารไม่เคยเจอแบบนี้ เขาก็ช็อก ประชาชนรู้สึกว่าเขาทำได้ คุณพรากสิทธิโดยชอบธรรมของฉันในการเลือกตั้งมา

แต่ประชาธิปไตยของทหารไม่ได้เป็นแบบนั้น ประชาธิปไตยของกองทัพต้องค่อยเป็นค่อยไปแล้วก็อยู่ในเส้นทาง คือเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ของประชาคมโลกแต่เป็นแผนของเขา ทหารพม่าไม่เหมือนที่ไหนในโลก

 

อย่างที่เราเห็นในไทย การประท้วงพยายามจะทำให้รัฐบาล ทหาร หรือตำรวจกลายเป็นตัวตลก พยายามจะลดทอนความน่ากลัวหรืออำนาจลง ในพม่าเองมีวิธีการแบบนี้ไหมในการต่อสู้กับทหาร

ตอนนี้เขาซีเรียส ยังไม่ถึงของไทย อย่างไรต้องเอาประชาธิปไตยฉันคืนมาก่อน แต่เขาจะมีรูปแบบหลากหลายที่ออกมา อย่างเช่นผู้หญิงท้องก็ออกมาบอกว่าอย่ามาขโมยอนาคตของลูกฉัน กลุ่ม lgbt ก็ออกมาแสดงพลังว่าฉันไม่เอาคุณ อย่างโปสเตอร์ที่เอาเท้าไปไว้ที่หน้ามิน อ่อง หล่ายก็คือความโกรธ ถึงขั้นนี้คนพม่าจริงจังที่จะบอกว่าเอาของฉันคืนมา เอาของฉันคืนมา

 

ในแง่ pop culture ที่เขาเอามาใช้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

Pop culture ที่เอามาใช้เหมือนของเราเลย กลายเป็นเทศกาล มีบางกลุ่มเอาอาหารเอาน้ำมาแจก พอจบการชุมนุมเก็บขยะหมดเรียบร้อยกลับบ้าน มิน โก นาย รุ่น 8-8-88 ที่ตอนนี้โดนหมายจับข้อหายุยงปลุกปั่นยังออกมาชมเลยว่าต่างกับรุ่นเขามาก เด็กรุ่นใหม่ออกมาเอง รับผิดชอบตัวเอง ลงทุนเอง แต่งตัวกันมาเอง ถึงเวลาเลิกก็เลิก เก็บขยะ

ตอนนี้จะซีเรียสมากขึ้นเพราะพอตอนกลางคืนจะมีแก๊งอันธพาลออกมาเล่นสงครามประสาท และพยายามก่อกวนชาวบ้าน แต่ละชุมชนจะตั้งการ์ดเองแล้วก็ต้องคอยดูแล เหมือนเป็นการยื้อกันอยู่ แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว เขาใจนักเลง สู้มาก เขาโกรธจริงๆ เหมือนประเทศชาติกำลังดี คนมาเที่ยวเยอะ คนได้รับเสรีภาพแล้ว เขาไม่ต้องกระซิบกระซาบในร้านน้ำชาแล้ว นัดเจอกันที่ไหนก็ไม่ต้องคอยส่งกระดาษให้กัน สื่อก็สามารถทำข่าวได้ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำได้ ใครถูกจับกุม คนก็จะมารณรงค์ให้ปล่อยตัว

เหมือนกับว่าคนได้สูดเสรีภาพเข้าไปแล้ว ยิ่งคนรุ่นที่โตมาในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เขาก็รู้สึกว่าคุณมายึดอำนาจอย่างนี้ วิถีชีวิตเขาก็จะเปลี่ยนไป เขาก็เลยสู้ พอทุกคนพร้อมกันสู้ คนไม่ลดเลยนะ ออกมาทุกวัน

 

ในฐานะคนที่รักพม่า รู้สึกอย่างไรกับการรัฐประหารครั้งนี้

ก็โกรธแหละ ประเทศชาติกำลังไปข้างหน้าขนาดนี้แล้ว ย้อนไปช่วงปี 1988-1989 เรารองรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง นักศึกษาพม่าทะลักมา และเราก็มีการตั้งองค์กรรองรับผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ คือคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า มีโรงเรียนสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้แรงงานพม่าเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ เขาอยากพัฒนาภาษาเพราะอยากได้เงินเดือนมากขึ้น

เขายังไม่คิดว่าจะกลับประเทศตอนนี้หรอก เพราะคุ้นเคยกับความสบายที่นี่แล้ว ส่งเงินกลับบ้านได้ แต่พอทหารทำรัฐประหาร เดี๋ยวก็มีคนทะลักมาทั้งผู้ลี้ภัยทางการเมืองและผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ พอถูกบอยคอต โรงงานปิด คนก็ทะลักมาที่นี่อยู่แล้ว แทนที่จะเลือกได้ว่าอยากอยู่ประเทศตัวเองหรือออกมาทำงานข้างนอก ก่อนรัฐประหารเขาเลือกได้นะ แต่ตอนนี้ทำให้คนไม่มีทางเลือก

ในฐานะคนที่เกี่ยวพันและใกล้ชิดติดตามมาตั้งแต่ปี 1988 เราก็เศร้าด้วย อยากช่วย เรานั่งแปล อัปเดตสถานการณ์ นี่คือสิ่งที่เราทำได้ในฐานะคนเขียนหนังสือ คือการส่งต่อ แต่เราก็จะเน้นสังคมไทย สิ่งที่สำคัญคือสร้างความเข้าใจให้สังคมไทย เพราะคนเพิ่งจะเลิกรังเกียจพม่าไปไม่นานเอง บางคนก็อาจจะรังเกียจอยู่ อย่างเล่ม ข่มขืน-ขื่นขมในความเงียบ : เรื่องเล่าของผู้หญิงกะเหรี่ยง กับเรื่องราวของทหารพม่า และสงครามประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง เราไม่ได้อยากแปล แต่ต้องแปลเพื่อบอกว่า นี่ไง มีสาเหตุที่ทำให้เขามาประเทศนี้ เราอยากสร้างความเข้าใจในสังคมไทย

 

 

เสน่ห์ของพม่าที่ทำให้ประทับใจมากๆ คืออะไร

ความเป็นพม่าที่ยังไม่ค่อยปรุงแต่งเท่าไหร่ เวลาไปพม่าถึงสนามบินแล้วจะเห็นแท็กซี่ใส่เสื้อเชิ้ตนุ้งโสร่ง ยังเป็นโลกที่ปรุงแต่งน้อย จะว่าดีหรือไม่ดีไม่รู้ เราไปพม่าซื้อผ้าถุงผืนละ 200 – 300 บาท ผ้าเขาถูกมาก เพราะเขาใช้ในชีวิตประจำวัน คุณค่าของมันอยู่ในวิถีชีวิตของเขา แล้วคนพม่าจะไม่ค่อยโกรธ สบายๆ เวลาไปพม่าเราจะรู้สึกสบายใจมากเลย ไปตรงไหนก็ได้

ประเทศที่เราไปร้านหนังสือแล้วรักมากคือพม่ากับอินเดีย หนังสือถูกมาก พม่าเป็นนักอ่าน คนเขามีความรู้มาก หนังสือวรรณกรรมของนักเขียนดังๆ คลาสสิกมีหมดเลย แต่พม่ามีหนังสือที่ถ่ายเอกสารเยอะ เพราะคนเขาไม่มีเงิน เล่ม The King In Exile : The Fall Of The Royal Family Of Burma ของสุดา ชาห์ มีซีร็อกซ์เต็มไปหมดเลย คนพม่าอ่านภาษาอังกฤษได้ดี หนังสือภาษาพม่าก็เยอะ นอกจากร้านน้ำชาแล้ว แผงหนังสือพม่าก็เป็นตัวบอกชีวิต คนนั่งอ่านหนังสือริมทาง ไปไหนคนก็อ่านหนังสือ เข้าวัด พระเณรก็อ่านหนังสือ

ส่วนอินเดียหนังสือถูกมากแต่ไม่ซีร็อกซ์เพราะคนเขาเยอะ แล้วก็อ่านภาษาอังกฤษ พิมพ์ทีละเยอะๆ ราคาหนังสือเขาครึ่งหนึ่งของเมืองไทย ที่พม่าสมัยก่อนไม่รู้ว่ามีกฎหมายลิขสิทธิ์หรือเปล่า แต่อยากให้ไปดู มีหนังสือทุกอย่าง

นักเขียนพม่าเองก็เป็นปัญญาชน เฟื่องฟูและอิทธิพลมาก อู นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าก็เป็นอดีตนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนพม่าเป็นนักการเมืองเยอะมาก ผู้นำนักศึกษาอ่านหนังสือหมดเลย นี่แหละคือความประทับใจในพม่า

 

พม่ายังมีอะไรให้เข้าไปทำความรู้จักเยอะมาก

ใช่ พม่ามีมรดกเยอะแยะมาก แล้วดูทหารรัฐประหารสิ คือถึงไม่ปิดประเทศ คนก็ไม่สะดวกที่จะไป จะต้องคอยถูกติดตามอยู่ตลอด คนก็ไม่รู้สึกว่ามีอิสระที่จะพูดคุย

เมืองที่เราชอบที่สุดในพม่าคือเมเมียว และ พินอูลวินเพราะเป็นเมืองหลวงฤดูร้อนของอังกฤษ เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมของชาวตะวันตกอยู่ หรืออย่างมะละแหม่งก็มีโบสถ์ มีความเป็นพื้นเมือง ชีวิตผสมผสาน ย่างกุ้งก็ชอบมาก ตึกย่างกุ้งสวยๆ ทั้งนั้น ตึกโบราณ ทรุดโทรมก็เยอะ พม่ามีอะไรให้เดินเข้าไปในประวัติศาสตร์ได้เยอะมาก

 

คนไทยถูกทำให้เกลียดชังพม่าผ่านแบบเรียนและข่าวสารอื่นๆ เยอะมาก เราควรทำความเข้าใจคนพม่าอย่างไร

ช่วงหลังก็ดีขึ้นเยอะ เพราะชาวพม่าจำนวนมากมาอยู่ในวิถีชีวิตคนไทย ส่วนเรื่องทางประวัติศาสตร์ก็มีนักประวัติศาสตร์ที่อยากจะบอกเล่าตลอดเวลาอยู่แล้ว

เราอยากบอกว่า เวลามองคนพม่าที่มาทำงานในไทยก็ให้มองเทียบกับคนไทยที่ไปทำงานที่อื่น ทุกคนแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติมาก เขามาทำงานที่คนไทยไม่ค่อยทำอยู่แล้ว คนไทยเองก็ไปหางานในประเทศที่เจริญกว่านี้ ทำงานที่คนในประเทศเขาไม่ทำ

ถ้ามองคนพม่าในประเทศของเขา ณ ปัจจุบัน เราแทบไม่ต้องบอกเลย เพราะโลกที่เปิดแล้วทำให้เราเห็นได้ว่าวิถีเขาเป็นอย่างไร การต่อสู้ครั้งนี้อยู่ในสายตาชาวโลกเลยนะ สิ่งเดียวที่จะเป็นอุปสรรคคือ คุณแปลไม่ได้ว่าคนตะโกนด่าว่าอย่างไร แต่คุณจะเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดออกมาเป็นอย่างไร แล้วก็จะเห็นว่าเขาไม่ต่างกับเราเลย

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save