fbpx
สปิริตคนข่าวในโลกผันผวน ของ วราวิทย์ ฉิมมณี

สปิริตคนข่าวในโลกผันผวน ของ วราวิทย์ ฉิมมณี

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

 

โควิด-19 ระบาดหนัก ความคืบหน้าของวัคซีนต้านโรคร้าย ม็อบผู้สนับสนุนทรัมป์บุกรัฐสภาอเมริกา ยาเสพติดตัวใหม่ ‘เคนมผง’ ฯลฯ

เหล่านี้ (และอีกมากมาย) คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเปิดปี 2021 หากมองจากมุมของคนทำงานสื่อ นี่คือสัญญาณว่าปีนี้คงเป็นอีกปีที่น่าตื่นเต้นท้าทายไม่แพ้ 2020 ขณะเดียวกัน ก็มีวี่แววจะหนักหน่วงเพราะต้องไล่ตามข่าวสารใหม่ๆ กันวันต่อวัน นาทีต่อนาที..

สำหรับ จอร์จ – วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และพิธีกรรายการตอบโจทย์ การเป็นสื่อที่อยู่แนวหน้าของความเปลี่ยนแปลงในสังคมคือหน้าที่ของเขา แต่ในวันที่โลกผันผวนอย่างหนักจนแทบไม่มีวันหยุดพัก รายการข่าวบนจอทีวีอาจมีผู้ชมน้อยลง เพราะคนหันมาเสพข่าวออนไลน์ที่รวดเร็วกันมากขึ้น ตัวตน ความคิด และชีวิตในฐานะสื่อของเขาเป็นอย่างไร

อะไรคือ ‘สปิริต’ ที่คนข่าวแนวหน้าอย่างเขาเชื่อมั่น

ค้นหาคำตอบได้ในบรรทัดนับจากนี้

 

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสื่อมวลชน

 

ผมไม่เคยมีความฝันเป็นผู้ประกาศข่าวมาก่อน เพื่อนสมัยเรียนบางคนก็ยังงงๆ อยู่ด้วยซ้ำว่าเรามาเป็นผู้ประกาศข่าวได้ยังไง ถ้าเรามีแววมาตั้งแต่เด็กคงไม่น่าแปลกใจ แต่เราไม่มีเลย ออกไปทางเกเร ไม่ค่อยตั้งใจเรียนด้วยซ้ำ (หัวเราะ) พูดอย่างตรงไปตรงมาคือผมใช้ชีวิตแบบไม่ได้มีความฝันว่าอยากทำอะไรมาตั้งแต่เด็ก

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นตอนที่ผมเรียนปีสี่ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม แล้วต้องไปฝึกงานเทอมสุดท้ายเพื่อให้เรียนจบ ตอนนั้นไทยพีบีเอสเพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่ถึงปี ยังเป็นชื่อทีวีไทยอยู่ จะว่าเป็นความโชคดีก็ได้ที่องค์กรเพิ่งตั้งไข่ จึงมักจะรับนักศึกษาฝึกงานทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากที่ไหนก็ตาม ผมฝึกงานที่ไทยพีบีเอสอยู่สามเดือน ตอนฝึกงาน พี่ๆ บก.ก็ให้เราวิ่งทำข่าวเหมือนนักข่าวคนหนึ่ง มีหมายข่าวเป็นของตัวเอง เวลาไปหาแหล่งข่าวก็บอกว่ามาจากทีวีไทย ไม่ได้บอกว่าเป็นนักศึกษาฝึกงาน ทำงานเหมือนกับคนทำงานจริง เพียงแต่อาจต้องมีพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ช่วยขัดเกลาการเขียนสคริปต์ เล่าเรื่อง และการมองประเด็น

พอพี่ๆ บก.ได้เห็นความสามารถของเรา – หรืออาจจะไม่มีคนก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมฝึกงานจบวันศุกร์เป็นวันสุดท้าย วันจันทร์ต่อมา ผมก็ได้ทำงานในฐานะพนักงานต่อเลย เราเองก็เป็นเด็กจบใหม่ ส่วนตัวไม่ได้มีความฝันอะไรเป็นพิเศษ – ถ้าจะมีสักอย่างหนึ่งคือการเป็นช่างภาพแฟชั่นเหมือนอย่าง จอร์จ – ธาดา วาริช ผมเคยมีช่วงรับจ๊อบถ่ายงานรับปริญญากับงานบวชบ้างเหมือนกัน แต่ก็รู้ว่าถ้าเราไม่มีฝีมือระดับท็อปจริงๆ จะนำมาเลี้ยงชีพตัวเองคงลำบาก เพราะส่วนหนึ่งช่างภาพก็เป็นงานฟรีแลนซ์ที่ไม่ค่อยแน่นอนเท่าไร เผอิญช่วงที่ฝึกงาน ผมก็ได้ทำข่าว ทำสารคดี ซึ่งเป็นการเรียนรู้เน้นภาคปฏิบัติที่แตกต่างไปจากภาคทฤษฎีในโรงเรียนที่ผมเคยเรียน ทำให้ผมเริ่มรู้สึกชอบงานข่าว และตัดสินใจมาทำงานผู้สื่อข่าว ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนอยู่หลายปี ควบคู่กับการที่เริ่มได้มาเทสต์หน้ากล้อง จัดรายการเปิดปม ข่าวช่วงดึก และข่าวเบรกต้นชั่วโมง ซึ่งเป็นสนามของผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ ก่อนค่อยๆ พัฒนาเป็นข่าวภาคเที่ยง ข่าวเช้า จนปัจจุบันเป็นข่าวภาคค่ำ เรียกว่าสัมผัสมาแล้วทุกช่วงเวลา

นับตั้งแต่วันนั้น ก็ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว ผมยังจำวันแรกที่ออกอากาศได้ บอกเลยว่าทุกคนต้องมีวันแรกที่เจ็บปวดกันทั้งนั้นกับการเป็นผู้ประกาศข่าว ทุกวันนี้ย้อนกลับไปดูตัวเองยังขำมากและไม่กล้าให้ใครดูด้วยซ้ำว่าเราอ่านออกไปแบบนั้น ด้วยท่าทีแบบนั้นได้ยังไง พอผมได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง ก็อยากจะบอกกับคนอื่นๆ ว่า ถ้าวันนี้ใครคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ ก็ใช่ว่าในอนาคตเราจะไม่มีทางทำได้นะ

 

หนึ่งวันหลังกล้องของวราวิทย์ ฉิมมณี

 

กระบวนการทำงานของผมในแต่ละวัน เริ่มต้นจากตื่นเช้ามาฟังข่าว ทั้งจากรายการข่าวที่ติดตามอยู่ในช่องของตัวเองและจากสื่อเจ้าอื่นๆ ทั้งในรูปแบบของการฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ และอ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อวางแผนประเด็นที่เราจะทำในวันนั้น ผมว่าการติดตามข่าวเป็นเคสบังคับของคนทำงานข่าวเลยนะ เพราะถ้าเราไม่ดูข่าว ไม่รู้ว่าสังคมไปถึงไหน มันก็ยากที่จะกำหนดประเด็นดีๆ ได้ เราควรมีข้อมูลพื้นฐานมากพอสมควรก่อนคิดประเด็น ครึ่งวันเช้าของผมจึงเป็นการตามข่าว พอบ่ายโมงก็เข้าประชุมร่วมกับกองบรรณาธิการ คุยกันว่าช่วงข่าวค่ำจะมีประเด็นอะไรบ้าง จะนำเสนออะไร และเตรียมพร้อมสำหรับการนำเสนอเท่าไร ทุกวันที่คิดประเด็นนำเสนอตอนข่าวค่ำ เราก็เลือกมาหนึ่งเรื่องที่จะขยายและเป็นประเด็นใหญ่ในรายการตอบโจทย์ ที่เป็นรายการสัมภาษณ์แบบ Hard Talk คุยประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หลังอ่านข่าวค่ำจบ

วิธีการทำงานอาจจะต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะการสัมภาษณ์ในฐานะพิธีกรคือการสัมภาษณ์ประเด็นเดียว แขกที่มาก็คุยแค่เรื่องเดียว ขึ้นอยู่กับว่าจะแตกออกไปมุมไหน เราต้องโฟกัส ลงรายละเอียดในเรื่องๆ นั้น ขณะที่การประกาศข่าวจะบอกเล่าเรื่องราวค่อนข้างหลากหลาย แต่ในแง่การทำการบ้านกับเนื้อหา ผมคิดว่าไม่ต่างกันเท่าไร ในรายการตอบโจทย์ ผมรับผิดชอบเลือกแขกเอง และมีส่วนร่วมตั้งแต่คุยประเด็นกับทีม ปรึกษากันว่าจะเลือกใครมาคุย แล้วจะมีคนประสานให้ ทุกอย่างจะเริ่มจากเราทั้งหมด เพราะถ้าไม่เริ่มที่เรา ก็คงยากที่จะให้เรารู้สึกอินไปกับประเด็นนั้นๆ ยกเว้นว่าจะเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่อาจจะกระทบใครหรือฝ่ายไหน ในตอนนั้น ผมถึงได้คุยกับพี่ๆ กองบรรณาธิการมากเป็นพิเศษ

พอจบรายการสามทุ่มกว่า ผมก็กลับบ้านมามอนิเตอร์ข่าวต่อ เตรียมตัวสำหรับพรุ่งนี้ ชีวิตผมก็ประมาณนี้ ที่เห็นอยู่หน้ากล้องเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทำงานจริงตลอดทั้งวันเท่านั้น อย่างวันเสาร์ผมทำงานครึ่งวัน เพราะมีรายการข่าวเจาะย่อโลก สรุปข่าวสำคัญทั้งสัปดาห์มาเล่าในวันเสาร์ วันอาทิตย์ก็ได้พัก แต่พอตกช่วงกลางคืนก็จะกลับมาลูปเดิม คือเริ่มมอนิเตอร์ข่าว เตรียมประเด็นสำหรับวันต่อไป

นอกจากการติดตามข่าว อีกอย่างที่ผมทำควบคู่กันไปด้วยคือการอ่านหนังสือ บรรดาความรู้รอบตัวทั้งหลายต้องใส่มาให้หมด เพราะเราไม่รู้หรอกว่าความรู้รอบตัวเหล่านี้จะได้ใช้งานเมื่อไร ผมเคยอ่านประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ที่อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แปลเอาไว้ มีเรื่องสงคราม ที่มาของพรรคเดโมแครต รีพับลิกัน ผมก็ไม่รู้ว่าจะเอาความรู้ไปใช้ยังไงได้บ้าง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ BlackLivesMatter ผู้สนับสนุนทรัมป์ประท้วงบุกอาคารรัฐสภา สิ่งที่เราพอจะรู้อยู่บ้างก็ได้นำมาใช้ ผมจึงพยายามเสริมความรู้เรื่องต่างๆ อยู่เสมอ แม้มันอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับงานข่าวในแต่ละวัน เพราะบางทีมันมีส่วนทำให้เรามองเห็นประเด็นที่กลมและกว้างมากขึ้น

 

 

เคล็ด (ไม่) ลับสำหรับการทำงานข่าวให้สนุก

 

ผมมองว่า สำหรับคนทำงานข่าว ยิ่งมีข่าวใหญ่ ก็ยิ่งรู้สึกสนุก ถ้ายิ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนหรือมีมุมด้านวิชาการมากหน่อย ไม่ใช่ประเด็นดราม่า ก็ยิ่งท้าทายว่าจะทำยังไงให้คนสนใจประเด็นของเรา และสิ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเราให้สนุกอีกอย่างคือเวลานำเสนออะไรออกไปแล้วเกิดอิมแพค หรือเวลาที่เราเห็นคนสนใจงานของเรา

วันที่ยากที่สุดเลยเป็นการทำงานในวันที่ไม่มีข่าวไหนเป็นข่าวใหญ่ให้เห็นชัดเจน ภาษาคนทำหนังสือพิมพ์คือไม่รู้จะเลือกเรื่องอะไรมาพาดหัวดี วันแบบนี้ เราจะลังเลว่าจะทำยังไง ขณะเดียวกัน มันก็เป็นโจทย์ท้าทายอีกแบบหนึ่ง ให้เราใช้จินตนาการและใช้คลังความรู้ที่มีอยู่เพื่อนำเสนอข่าวให้แตกต่างจากชาวบ้านให้ได้

เวลาผมเตรียมตัวสัมภาษณ์เรื่องยากๆ ผมจะพยายามทำความเข้าใจในทุกมุมอย่างเต็มที่ภายในระยะเวลาที่มี ซึ่งผมใช้เวลาทั้งวันในการคิด เตรียมประเด็นที่จะถาม ซึ่งก็ถือว่าเป็นเวลาที่ไม่น้อย โดยปกติผมจะหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ฟังจากคนอื่นบ้าง ไม่ใช่เตรียมตัวฟังจากแขกรับเชิญของเราอย่างเดียว จะได้ไม่เออออกับเขาเสียทุกเรื่อง

สมมติ ผมเชิญคณะกรรมการจัดหาวัคซีนของไทยมาคุยว่ามีแผนจะจัดหาวัคซีนยังไง การตั้งคำถามก็ต้องหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาถาม เพราะทุกคนที่มาออกรายการไม่มีทางตอบให้ตนเองดูไม่ดี คำพูดที่ว่าคำถามสำคัญกว่าคำตอบเป็นจริงเลยสำหรับรายการสัมภาษณ์ บางคำถาม เรารู้อยู่แล้วว่า ถามไปยังไงเขาก็ปฏิเสธ แต่เราก็ต้องถาม เพราะคำถามนั้นเป็นสารที่จะทำให้คนฟังเข้าใจว่ามันมีวิธีคิดแบบนี้อยู่ ถ้าเราไม่ถาม คนอาจจะลืมไปว่ามีวิธีคิดแบบอื่นอยู่ ไม่ใช่แค่แนวคิดของแขกรับเชิญอย่างเดียว บางทีคนฟังอาจเชื่อในคำถามของเรามากกว่าคำตอบของแขกรับเชิญก็ได้

 

เมื่อประเด็นการเมืองกลายเป็นเรื่องอ่อนไหว

 

ผมชอบงานประเด็นการเมือง เพราะส่วนตัวชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะช่วงปี 2475-2500 เท่าที่ผมคุยกับแขกรับเชิญหลายคน ผมรู้สึกว่าเรามีปมอะไรบางอย่างในอดีตที่ยังไม่ถูกคลี่คลายหรือนำข้อเท็จจริงมาคุยกันอย่างจริงจัง เหมือนต่างคนต่างพูด และมุมมองจากในอดีตยังส่งผลต่อวิธีคิดของแต่ละฝ่ายมากทีเดียว ทำให้พอคุยกับแขกรับเชิญในปัจจุบัน เราสัมผัสได้ถึงวิธีคิดอะไรบางอย่างที่อาจไม่สามารถใช้ศัพท์การเมืองอย่างอนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้า มาแบ่งเฉดได้อย่างชัดเจน มันมีมุมขัดแย้งจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผมพยายามหาคำตอบจากการคุยว่า คนที่คิดต่างจากเรามีวิธีคิดเบื้องหลังอย่างไร มันเหมือนเป็นการฝึกเรารูปแบบหนึ่ง เพราะเวลาฟังวิธีคิดทางการเมืองของแต่ละคน เขาก็มีวิธีพูดโน้มน้าวให้คนเชื่อ แต่เราต้องทำหน้าที่ถามค้านในรายการสัมภาษณ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง คนอาจมองว่าทำไมพิธีกรต้องคอยค้านตลอด แย้งตลอด แต่ผมคิดว่าคนดูจะได้อะไร ถ้าเราตามน้ำไปเสียทั้งหมด

รายการของผมไม่ใช่รายการโปรโมตนักการเมือง ไม่ใช่รายการที่ให้พื้นที่ใครมาเผยแพร่วิธีคิด ถ้าเราต้องการให้เขาตอบข้อสงสัย พิธีกรต้องแสดงมุมที่คิดต่าง ยิ่งในเวลาที่เราไม่ได้มีแขกรับเชิญจากสองฝ่าย เรายิ่งต้องทำหน้าที่นั้นหนัก ต้องตั้งคำถามต่อวิธีคิดมากขึ้นไปอีก เพื่อเป็นตัวแทนของวิธีคิดจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คนเป็นพิธีกรจำเป็นต้องเข้าใจวิธีคิดของทุกฝั่ง เพื่อตั้งคำถามให้ตรงใจให้ได้

ในตอนนี้ที่ประเด็นการเมืองกลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ในสังคมมีความขัดแย้ง ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนฟังจำนวนมากอยากฟังแค่คนที่เขาอยากจะฟัง แต่เราที่ถูกจับจ้องในฐานะสื่อสาธารณะทำแบบนั้นไม่ได้ เราต้องนำเสนอทุกมุมต่อให้คุณเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม พยายามเต็มที่ที่สุดเพื่อสร้างสมดุลของทุกๆ ฝ่าย

บางครั้งเวลานำเสนอประเด็นการเมือง ผมกับทีมต้องปรึกษากันเยอะหน่อย คำนึงว่าถ้าเราเชิญแขกคนนี้ ต้องเชิญคนที่อยู่อีกฝั่งด้วยไหม ถ้าวันนี้เรานำเสนอมุมของคนนี้ วันพรุ่งนี้ต้องเป็นอีกมุมหนึ่งไหมเพื่อให้บาลานซ์กัน แต่ทั้งหมดไม่ได้เป็นการปรึกษาเพื่อเซนเซอร์เนื้อหา แค่เป็นการตัดสินใจร่วมกันเท่านั้น

 

การปรับตัวของนักข่าว-สื่อหลักในยุคใหม่

 

ข่าวทีวีต้องไปให้ไกลกว่ารายงานเรื่องรายวัน

ผมคิดว่าสื่อทีวียังจำเป็นต่อสังคมอยู่ เพราะตอนนี้มีหลายคนยังใช้ชีวิตแบบเดิม คือเสพข่าวจากทีวี นั่งกินข้าวดูข่าวตอนเย็นหรือข่าวภาคค่ำ ซึ่งสื่อทีวีสมัยนี้อาจไม่ได้ด่วนเร็วเหมือนสื่อออนไลน์ ดังนั้น สื่อทีวีต้องไปให้ไกลกว่าประเด็นที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น ถ้าตอนสาย ศบค.มาแถลงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ทุกคนรู้ข้อมูลผู้ติดเชื้อใหม่แล้ว คำถามคือตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เหล่านั้นจะนำไปสู่การวิเคราะห์อะไรได้บ้าง สื่อทีวีต้องตีโจทย์ให้แตกจากข้อมูลที่คนน่าจะรู้แล้ว โจทย์ที่ผมตั้งคำถามกับตัวเองและท้าทายคนทำงานในแต่ละวัน คือเมื่อเปิดมารายการข่าวค่ำ มีเรื่องอะไรบ้างที่คนดูยังไม่รู้อีก และจะทำให้รายการข่าวทีวีมีความพิเศษได้ยังไง

อีกเรื่องที่คนทำสื่อทีวีต้องคิดมากขึ้น คือต้องไม่นำสิ่งที่อยู่ในทีวีไปเสนอแบบเดียวกันในสื่อออนไลน์ และไม่นำวิธีของสื่อออนไลน์มาใช้กับทีวีโดยไม่ปรับเลย เพราะวิธีการนำเสนอและจริตคนดูไม่เหมือนกัน

 

ทำเรื่องยากให้ย่อยง่าย (และได้เรตติ้ง)

เรตติ้งเป็นเรื่องสำคัญครับ ใครบอกไม่สำคัญผมเถียงขาดใจเลย เวลาทำงานเราก็อยากให้มีคนดู ไม่ใช่ว่าเราทำอะไรก็ได้ ไม่มีคนดูก็ไม่เป็นไร เป็นนะครับ (หัวเราะ) เพียงแต่มันสำคัญขนาดมีส่วนให้กำหนดเนื้อหาไหม ลดเป้าหมายในการนำเสนอไหม ไม่ถึงขนาดนั้นเหมือนกัน

ในข่าวแต่ละวัน มันต้องบาลานซ์กันให้ได้ระหว่างทำประเด็นที่คนอยากรู้กับประเด็นที่คนไม่ได้อยากรู้แต่ควรรู้ สำหรับเรื่องที่คนอยากรู้ มันกระตุ้นให้มียอดคนชมง่ายอยู่แล้ว จุดนี้เรามอนิเตอร์คนดูตลอดเพื่อจับกระแสให้ได้ว่าคนอยากรู้อะไร สังคมอยากรู้อะไร แต่ประเด็นที่คนควรรู้อาจจะไม่ได้ย่อยง่ายหรือฟังสบาย เราต้องพยายามทำให้ได้ โดยไม่ให้มีเนื้อหาวิชาการมากจนไม่มีคนดูเลย เพราะถึงแม้งานจะดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีคนดู ก็ไม่อิมแพค

เรื่องวิธีการนำเสนอก็ไม่มีผิดถูกตายตัว ขึ้นอยู่กับประเด็นและการตีความขององค์กรสื่อว่าจะเป็นสื่อแบบไหน บางคนชอบดูรายการข่าวที่ผู้ประกาศข่าวมีลีลามากมาย แต่สำหรับไทยพีบีเอส เราเลือกประเด็นที่ยากในตัวของมันเองอยู่แล้ว เช่น เรื่องเศรษฐกิจ เราจะให้คุยเหมือนข่าวอาชญากรรมที่มีดราม่าเยอะๆ ก็คงไม่ได้ ถ้าใครยังไม่เคยลอง ก็อยากให้เปิดใจดู

 

เข้าใจ-ไม่ตัดสินธุรกิจสื่อและกลุ่มทุน 

ส่วนตัวผมไม่เคยอยู่ในองค์กรสื่อที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจ แต่ก็เคยได้ยินว่าอาจทำข่าวบางอย่างที่กระทบต่อผู้สนับสนุนไม่ได้ เพราะเดี๋ยวสปอนเซอร์ไม่เข้า ต้องคอยดูเรตติ้ง เล่นข่าวที่เรียกดราม่าหน่อย ต่างจากไทยพีบีเอสที่ไม่มีโฆษณา ก็จะไม่สนใจกลุ่มทุนใดๆ

แต่ผมอยากจะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิดนะครับ ไม่ใช่ว่าสื่อที่ไม่มีโฆษณาจะดีเด่นกว่าชาวบ้านเขา เพียงแค่เรามีวิธีการทำงานต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการมีสื่อสาธารณะนั้นจำเป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยในสถานการณ์บางอย่าง การเกี่ยวโยงกับกลุ่มทุนก็อาจมีผลต่อการทำงานอยู่บ้าง เช่น ถ้ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น สื่อบางเจ้าอาจไม่สามารถรายงานได้ทันทีเพราะติดผังรายการอื่นๆ อย่างละคร และโฆษณาที่ซื้อกันไว้ล่วงหน้า หากยกเลิกเพื่อนำเสนอข่าวด่วนก็อาจกระทบกับรายได้และสัญญา นี่เป็นข้อแตกต่างที่ผมอยากให้เข้าใจข้อจำกัดของสื่อกัน

 

ก้าวเดินเรื่องการนำเสนอข้อเรียกร้องทางการเมือง

ประเด็นที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในตอนนี้ไปไกลกว่าความคิดของหลายฝ่ายมากๆ มันจึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายในสังคมไม่ได้เดินไปอย่างสมดุลกัน ผมเห็นสื่อทีวีพยายามนำเสนอในกรอบที่ทำได้ แต่ก็อาจจะยังไม่ถูกใจคนทุกกลุ่ม หลายคนอยากให้เรานำเสนอข้อเรียกร้องทุกอย่าง แต่บางคนก็ว่าข้อเรียกร้องบางเรื่องยังพูดออกหน้าทีวีไม่ได้ เรื่องนี้ทำให้สื่อออนไลน์ได้เปรียบ กลายเป็นสื่อหลักสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ติดตามความขัดแย้งทางการเมือง

ผมยอมรับว่า ในตอนนี้ สื่อโทรทัศน์ถูกตั้งคำถามมากว่า ไม่นำเสนอเรื่องการเมืองหรือข้อเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมา แต่ผมอยากให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าคนทำงานไม่เคยคุยกันเรื่องนี้ เราพยายามคุยกันตลอดว่าประเด็นไปถึงไหนแล้ว จะปรับเปลี่ยนวิธีทำงานกันได้อย่างไร แต่เพราะฝ่ายต่างๆ ในสังคมมีจังหวะก้าวเดินไม่เท่ากัน ยิ่งเป็นสื่อสาธารณะยิ่งถูกจับตามอง เวลาคิดและตัดสินใจนำเสนอแต่ละเรื่อง เราจึงต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ ฟังทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ถ้าสังเกตดู เราก็มีพัฒนาการเรื่องการนำเสนอประเด็นการเมืองมาเรื่อยๆ บางเรื่องที่ไม่เคยพูด เราก็หยิบยกขึ้นมาพูด เพียงแต่จะพูดไปไกลขนาดไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าสื่อหลักไม่มีพัฒนาการในการนำเสนอเรื่องเหล่านี้เสียทีเดียว

 

 

บทบาทคนทำงานสื่อ บทเรียนจากโควิด-19

 

โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้ของเรามากเลยครับ เวลาปกติ เราอาจไม่มีแรงผลักดันให้เรียนรู้มากพอ ไม่ได้มุ่งมั่นเรียนรู้เทคโนโลยีมากมาย แต่พอโควิด-19 มา ก็มีคำสั่งให้ Work from Home ทันที เราก็ต้องจัดรายการที่บ้านคนเดียว ทำทุกอย่าง ยุ่งอยู่กับการคิดประเด็น เรียกได้ว่าแทบไม่มีเวลาให้เหงาเลย

โรคระบาดเตือนว่า ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา อย่ารอให้สถานการณ์มาเปลี่ยน เพราะถ้าเกิดสถานการณ์ขึ้นมา เราอาจเดินตามเขาไม่ทันแล้ว เมื่อก่อนเราคิดไม่ออกเลยว่าจะจัดรายการจากที่บ้านอย่างไร เพราะเวลาจัดในสตูดิโอต้องใช้ทีมงานนับสิบชีวิตมาตลอด เราไม่เคยได้ทดสอบอะไรแบบนั้น แต่ตอนนี้เราก็ต้องเปิดใจเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีไปถึงไหนแล้ว

อันที่จริง วงการสื่อน่าจะเป็นวงการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยนะถ้าเทียบกับวงการอื่นๆ เราจะไม่ค่อยเห็นคนในวงการสื่อตกงานเพราะโควิด-19 เท่าไร แต่เรื่องผลกระทบต่อการทำงานคือมีแน่และท้าทายมาก เพราะเราไม่เคยอยู่กับเรื่องอะไรยืดเยื้อยาวนานขนาดนี้ อาจจะมีที่ใกล้เคียงอย่างความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นสิบปี แต่โควิด-19 ท้าทายให้เราต้องคิดวิธีนำเสนอ คิดประเด็นที่จะบอกกับคนดูว่าเขาควรรู้อะไร จะสื่อสารแบบไหนที่ไม่ใช่การบอกให้คนกลัวโควิด-19 แต่ทำให้คนเข้าใจและตามประเด็นใหม่ๆ ทัน เพื่อให้เขาปรับตัวในชีวิตประจำวัน เพราะสื่อมีส่วนสำคัญต่อการชี้นำการใช้ชีวิตของทุกคน

เรื่องความถูกต้องของข้อมูลก็เช่นกัน แม้ว่าเราจะมีข้อความส่งกันทางไลน์มากมาย แต่สุดท้าย ถ้าคนรับสารต้องการข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ คนจะมาตามจากสื่อหลัก ดังนั้น เราต้องกรองข้อมูลก่อนออกไปถึงตัวเขา ไม่ให้คนตื่นตระหนกตกใจเกินกว่าสถานการณ์ที่เป็นจริง นี่จึงเป็นอีกความท้าทายของสื่อที่ต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องในช่วงเวลาแบบนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญคือว่า สื่อช่วยยกระดับความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศได้ ตอนนี้เห็นชัดเลยว่า เมื่อถึงวิกฤตที่ต้องใช้องค์ความรู้ งานวิจัย ใช้ความสามารถของคนในประเทศอย่างในเรื่องการแพทย์ ไวรัส และวัคซีน เรายังตามคนอื่นไม่ทัน ไม่ได้หมายความว่าบุคลากรของไทยไม่เก่งนะครับ แต่ประเด็นนี้อาจจะได้รับการสนับสนุนน้อยอยู่ อย่างล่าสุด มีเรื่องบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม รับบริจาค 500 บาทเพื่อทำวัคซีนโควิด-19 เร่งด่วน ผมคิดว่าสื่อช่วยกันนำเสนอ มันจะเกิดแรงกดดันต่อสังคมให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 ช่วยผลักดัน และตอนนี้ หน้าที่ของสื่อไม่ใช่แค่ตีโจทย์ว่าจะแก้ไขโควิด-19 ยังไง แต่ต้องตีโจทย์ถึงตอนที่โควิด-19 หายไปด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เชื้อไฟการพัฒนาเหล่านี้ยังอยู่เรื่อยๆ สื่อควรทำหน้าที่กระตุ้นให้วงการอื่นๆ ปรับตัวและพัฒนาหลังจากนี้ด้วย ประเทศจะได้เดินหน้าไปได้เร็ว

 

สปิริตคนทำงานสื่อท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

 

เวลามีคนถามว่าหัวใจสำคัญของสื่อยุคนี้คืออะไร ผมไม่มีคำตอบอะไรที่ซับซ้อน นอกจากการทำการบ้านกับข้อมูลต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ – ตรงไปตรงมากว่านั้น คือต้องอ่าน อ่าน อ่าน แล้วก็อ่าน ไม่ได้มีเทคนิคสำคัญอะไรเลย ถ้าเราเข้าใจเรื่องที่เราจะนำเสนอ ทุกอย่างจะตามมาเอง เพราะหน้าที่ของสื่อคือการทำความเข้าใจข้อมูลและทำให้คนเข้าใจตามเราไปด้วย

ผมจะรู้สึกภูมิใจทุกครั้งเวลาพูดเรื่องยากๆ แล้วคนสนใจ เช่น เรื่องค่าโง่ทางด่วนโทลล์เวย์ที่รัฐบาลต้องจ่าย เป็นเรื่องซับซ้อนมากนะครับว่าผ่านมากี่ปีแล้ว ทำสัญญามานานเท่าไรแล้ว เราต้องย้อนกลับไปดูว่าใครเป็นคนรับผิดชอบตอนเริ่มต้นโครงการ จุดเปลี่ยนอยู่ที่ไหน ฟังแค่นี้ก็ปวดหัวแล้ว แต่เราต้องย่อยมันให้เหลือแค่ไม่กี่นาที ปรากฏว่าคนฟังเข้าใจสารที่เราต้องการสื่อ งานแบบนี้แหละที่ผมภูมิใจ เป็นงานที่อาศัยความสามารถของเราจริงๆ

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าจำเป็นมากในสถานการณ์ตอนนี้ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมากขนาดนี้ คือหลักการเรื่องความเป็นกลางของสื่อ อาจจะดูเป็นความคิดที่ปฏิบัติยาก แต่อย่างน้อย เราต้องสร้างพื้นที่ที่ให้โอกาสแต่ละฝ่ายมาพูดคุย แสดงความคิดเห็นเพื่อทำความเข้าใจกัน จากการสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ ผู้อาวุโสต่างๆ ที่ผ่านมา ผมได้เห็นวิธีคิดที่แตกต่างกันเพราะวัย แม้ว่ามันอาจจะยากที่จะผสมผสานเข้าใจกัน แต่ถ้ารายการของเรา การทำงานของเราสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้สักหนึ่งคนในแต่ละวัน มันก็มีความหมาย

อย่างครั้งหนึ่ง ผมได้สัมภาษณ์อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่ทำวิจัยเรื่องคนรุ่นใหม่กับการเมือง มีน้องคนหนึ่งคอมเมนต์มาว่าแม่ได้ดูแล้วน้ำตาไหล เข้าใจลูกจากการฟังอาจารย์ในรายการของผม มันเป็นคอมเมนต์ที่ดูเหมือนไม่ยิ่งใหญ่อะไร แต่แค่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เพียงคนเดียว เราก็รู้สึกว่ามีค่า

ฉะนั้น เมื่อความขัดแย้งรอบนี้อาจจะยืดเยื้อยาวนานอีกหลายปี การเปิดพื้นที่และการวางตนเป็นกลางเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งที่สื่อควรคำนึง

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ PRESSCAST เข้าถึงสื่อ เข้าใจสื่อในยุค disruption EP.15 : สปิริตคนข่าวในโลกผันผวน ‘วราวิทย์ ฉิมมณี’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save