fbpx
ไทยเป็นประเทศ “โลกที่สาม” – แล้วโลกที่หนึ่งกับสองอยู่ตรงไหน

ไทยเป็นประเทศ “โลกที่สาม” – แล้วโลกที่หนึ่งกับสองอยู่ตรงไหน

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

 

“ประเทศโลกที่สาม” เป็นหนึ่งในศัพท์เศรษฐกิจติดหูที่ทุกคนเคยได้ยิน และพอรู้กันว่าเป็นสถานะของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลก นั่นคือประเทศกำลังพัฒนา แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่เคยหาคำตอบจริงจังว่า แล้วโลกที่หนึ่งกับโลกที่สองละ อยู่ตรงไหนกันแน่

โน้ต-อุดม แต้พานิช ถึงขนาดเคยเอาไปเล่นมุขในการเดี่ยวไมโครโฟนครั้งหนึ่งว่า โลกที่หนึ่งนี่ก็พอเดาได้ว่าน่าจะเป็นพวกประเทศที่เจริญแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป แต่ทำไมไม่เคยมีใครบอกเราว่า “โลกที่สอง” อยู่ตรงไหน ไทยต้องกลายเป็นประเทศโลกที่สองให้ได้ก่อนจะไปถึงโลกที่หนึ่งหรือเปล่านะ?

 

คำว่า “โลกที่สาม” (Third World) ถูกใช้กันแพร่หลายในช่วง “สงครามเย็น” ซึ่งกินเวลาราวสี่ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1947 จนถึงปี 1991 ในประวัติศาสตร์ไทยก็นับตั้งแต่ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง จวบจนปีที่รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกรัฐประหาร

ในยุคสงครามเย็นนี่เองที่โลกถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม โดย “โลกที่หนึ่ง” หมายถึงบรรดาประเทศมหาอำนาจทุนนิยม นำโดยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศยุโรป ในขณะที่ประเทศ “โลกที่สอง” คือกลุ่มประเทศสังคมนิยม นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน ส่วนประเทศที่เหลือส่วนใหญ่ยังไม่เป็นทั้งทุนนิยมหรือสังคมนิยมเต็มขั้น ก็เลยถูกขนานนามว่าเป็น “ประเทศโลกที่สาม” นั่นเอง

ว่าง่ายๆ สิ่งที่แบ่งโลกใบเดียวกันออกเป็นสามส่วนก็คือ “โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ” ครับ

ลองจินตนาการดูว่ามีการจัดการเศรษฐกิจการเมืองสองรูปแบบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงในหมู่ประเทศยักษ์ใหญ่ ประเทศยากจนย่อมเสมือนยืนอยู่บนทางแพร่ง และต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะเลือกเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาดี เพราะการเลี้ยวครั้งนี้อาจไม่มีทางยูเทิร์นข้างหน้าอีกเลย

ในฟากหนึ่ง “ทุนนิยม” (capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอกชนสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์และมีการผลิตเพื่อการแสวงหากำไร ต่างจากยุคโบราณที่การผลิตเป็นไปเพื่อยังชีพ ทุนนิยมเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในยุโรปตะวันตก ก่อนจะเร่งเครื่องจริงจังในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงปี 1820-1870

แต่ทุนนิยมก็สร้างศัตรูตั้งแต่เริ่มต้นเลยครับ ช่างทอผ้าถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกลที่ออกแบบมาเพื่อใช้แรงงานเด็ก คนงานบางกลุ่มต้องทำงานถึงสัปดาห์ละ 100 ชั่วโมง มีเวลาหยุดแค่ตอนเช้าวันอาทิตย์เพื่อไปเข้าโบสถ์เท่านั้น ผู้คนในบางย่านอุตสาหกรรม (เช่น แมนเชสเตอร์) อาจมีอายุเฉลี่ยเพียง 17 ปี จึงไม่แปลกเลยที่เกิดขบวนการต่อต้านขึ้น แต่ใครจะเสนอโมเดลมาแทนที่ทุนนิยมจนทำให้คนอื่นคล้อยตามได้ล่ะ?

ในบรรดาผู้เสนอโมเดลทางเลือก คาร์ล มาร์กซ์ โดดเด่นที่สุดด้วยข้อเสนอสังคมนิยม (socialism) อันทรงพลัง มาร์กซ์เห็นว่าเจ้า “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” ที่เป็นแกนกลางของทุนนิยมนี่แหละคือตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับแรงงาน ระบบสังคมนิยมของเขาจะรักษาโรงงานอุตสาหกรรมเอาไว้ แต่ควบคุมกิจกรรมทั้งหมดผ่านการวางแผนจากส่วนกลางแทน โดยทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน คนที่เชื่อมั่นในแนวทางของมาร์กซ์มีตั้งแต่คอมมิวนิสต์อ่อนๆ ที่เน้นการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป จนถึงคนอย่างวลาดิมีร์ เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ที่ไม่เห็นทางออกอื่นใดนอกจากการใช้กำลัง – โลกใบที่สองจึงถือกำเนิดขึ้น

พอสังคมนิยมเริ่มก่อตัว ทุนนิยมเองกลับร่วงโรยตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและส่อแววล่มสลายเมื่อเกิดมหาวิกฤตเศรษฐกิจ (The Great Depression) ในปี 1929 ตรงกันข้ามกับสหภาพโซเวียตที่เข้มแข็ง จนถึงขนาดที่สามารถขับไล่นาซีได้ ทั้งยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่อง เหล่าประเทศยากจน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานและเกษตรกร จึงเริ่มมองระบบสังคมนิยมในฐานะโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่น่าจะแก้ปัญหารากฐานของทุนนิยมได้

แต่ทุนนิยมกลับทนทานกว่าที่คิด มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป สหรัฐอเมริกาเริ่มปฏิรูปประเทศจริงจังตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยมาตรการเช่นการควบคุมตลาดหลักทรัพย์ ระบบคุ้มครองเงินฝาก พัฒนาระบบสินเชื่อและโครงสร้างพื้นฐาน ชัยชนะและบทบาทหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดในปี 1945 ทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกที่หนึ่ง ตรงกันข้ามกับระบบสังคมนิยมที่กลับส่อแววว่าจะไปไม่รอดในระยะยาว แรงงานเริ่มตระหนักว่าระบบกรรมสิทธิ์ที่ทุกคนเป็นเจ้าของนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา พวกเขาไม่ได้มีปากเสียงอะไรในการจัดการโรงงานมากไปกว่าตอนเป็นแรงงานรับจ้างในระบบทุนนิยม ที่แย่กว่านั้นคือ ระบบสังคมนิยมเองไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม แม้แต่อาหารเพื่อประทังชีวิต ดังที่เคยหวังไว้

ถึงกระนั้น เส้นทางทุนนิยมเองก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเผชิญวิกฤตอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูง (ทศวรรษ 1970) หรือปัญหาการเงิน (ทศวรรษ 1980) แต่โลกทุนนิยมกลับปรับตัวได้และเติบโตต่อเนื่อง ตรงข้ามกับโลกสังคมนิยมที่ค่อยๆ ล่มสลายลง จีนเริ่มเปิดประเทศรับกลไกตลาด (ปี 1978) เยอรมนีตะวันออกซึ่งเป็นสังคมนิยมต้องรวมกับเยอรมนีตะวันตก (ปี 1990) สหภาพโซเวียตแตกกระจัดกระจาย (ปี 1991) ในปัจจุบันจึงเหลือเพียงดินแดนต้องห้ามไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังคงยึดแนวทางสังคมนิยมไว้ เช่น คิวบาและเกาหลีเหนือ

 

ถึงตรงนี้คงชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยไม่ต้องเป็นประเทศโลกที่สองก่อน ถึงจะเป็นประเทศโลกที่หนึ่งได้ โลกที่สองล่มสลายไปเกือบหมดและไม่อยู่ในสถานะโมเดลเศรษฐกิจทางเลือกอีกต่อไป

แฮปปี้เอ็นดิ้ง?

ก็ไม่ง่ายอย่างนั้นครับ เพราะเจ้า “โลกที่หนึ่ง” เองก็ไม่ได้มีแบบเดียวเหมือนที่หลายคนเข้าใจ ทุนนิยมมีหลายสูตรหลายเฉด สหรัฐอเมริกากับอังกฤษอาจเป็นตัวแทนของระบบทุนนิยมที่เน้นกลไกตลาดจ๋า ดังที่เรียกกันว่า “เสรีนิยมใหม่” แต่สวีเดนเป็นทุนนิยมที่เก็บภาษีสูงเพื่อแลกกับบริการสาธารณะ จนถูกขนานนามเป็น “รัฐสวัสดิการ” (บางคนเห็นว่าเป็นสังคมนิยมอ่อนๆ ด้วยซ้ำ) แล้วไหนจะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่พัฒนาอุตสาหกรรมพรวดพราดขึ้นมาในนาม “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” อีก

ประเทศกำลังพัฒนาทุกวันนี้อาจไม่ต้องเลือกว่าจะเข้าโลกที่หนึ่งหรือโลกที่สองแล้ว แต่ยังหลีกไม่พ้นการตัดสินใจเลือกและปรับโมเดลทุนนิยมครับ

โจทย์นี้ไม่ได้ง่ายไปกว่ายุคสงครามเย็นเลย แน่นอนว่าการมีทางเลือกย่อมดีกว่าไม่มี แต่ก็ต้องอาศัยการถกเถียงที่มีความเข้าใจโลกเศรษฐกิจแห่งความเป็นจริงเป็นพื้นฐาน ไม่อย่างนั้นจะมีประเทศเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ร่ำรวย ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือครับ

เอ … ว่าแต่ที่เรียกกันว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” นี่มันต้องพัฒนาไปถึงเมื่อไหร่และพัฒนาอะไรกันแน่?

 

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save