“ต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถึงจะได้เห็นสันติภาพชายแดนใต้” ซูกริฟฟี ลาเตะ เยาวชนปาตานี

“ต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถึงจะได้เห็นสันติภาพชายแดนใต้” ซูกริฟฟี ลาเตะ เยาวชนปาตานี

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

 

ลี – ซูกริฟฟี ลาเตะ คือหนึ่งชีวิตที่เกิดในปาตานี สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาเติบโตผ่านช่วงเวลาความขัดแย้งในปี พ.ศ. 2547 คล้ายกับเยาวชนอีกหลายคน ลีใช้ชีวิตวัยเด็กในดินแดนที่มีด่านตั้งอยู่ทั่ว ไม่เว้นแม้กระทั่งหน้าโรงเรียนที่เขาไปทุกวัน เขาจดจำความรุนแรงที่เกิดขึ้นใกล้เพียงหางตาในระหว่างทางเติบโต วิถีชีวิตที่เขาพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กลายเป็นคำถามสำคัญที่เขาหาคำตอบเมื่อเติบใหญ่

ลีในวัย 24 เรียกตัวเองว่า ‘เยาวชนปาตานี’ ที่ทำกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัด และยังเป็นประธานกลุ่มเปอร์มาส (PerMAS) หรือ ‘สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี’ กลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และกรุยทางสร้างพื้นที่ถกเถียงเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ เขาและเพื่อนๆ PerMAS ทำงานใกล้ชิดครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัด จนบทบาทของพวกเขาเป็นทั้งความหวังของคนในพื้นที่ และเป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคงไปพร้อมกัน

เมื่อกระแสลมประชาธิปไตยพัดโบก ลีได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 เรื่องราวและปัญหาชายแดนใต้ถูกบอกเล่าและแพร่สะพัดไปทั่วโลกออนไลน์ และแม้การปราศรัยบนเวทีจะจบลง แต่ความตั้งใจ ความฝัน และจินตนาการต่อเสรีภาพชายแดนใต้ของเขายังคงเด่นชัด

ณ ปาตานี ดินแดนที่เขารัก ลีสนทนากับ 101 ถึงชีวิตบนความขัดแย้งในพื้นที่ สันติภาพที่เขาฝันถึง และประชาธิปไตย หนทางเดียวที่เขาเชื่อว่าจะนำไปสู่สันติภาพ

 

 

ในฐานะที่เกิดและโตที่ปัตตานีตั้งแต่ก่อนที่เหตุการณ์ความรุนแรงจะปะทุขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2547 ชีวิตก่อนหน้านั้นของคุณเป็นอย่างไร

ผมเกิดปี พ.ศ. 2539 จำได้ว่าตอนนั้นยังไม่มีเหตุการณ์อะไร คุณย่าผมทำอาชีพค้าขายผลไม้ ภาพจำวัยเด็กของผมเลยเป็นภาพการนั่งรถกระบะของครอบครัวไปซื้อของตามตลาดชายแดนเพื่อเอามาขายในตลาดทั่วไป มีโอกาสได้ไปหลายที่ เคยไปตากใบ ยะลา ในตอนที่ยังไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ยังไม่มีทหาร

พอเกิดเหตุการณ์ในปี 2547 ขึ้น ตอนนั้นผมเรียน ป.5-ป.6 ยังไม่เข้าใจหรอกว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อยู่ดีๆ ก็เริ่มเห็นทหารในหลายๆ ที่ ในโรงเรียนสอนศาสนา ‘ตาดีกา’ หรือตามชุมชนก็มีทหารใส่หมวกแดงที่เรียกว่า ‘หน่วยรบพิเศษ’ เข้ามาสร้างรั้วให้ชาวบ้าน พอโตขึ้นผมถึงเข้าใจว่าทหารไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเรื่องการพัฒนา ตอนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบแรกๆ ก็มีใครไม่รู้เอาแผ่นซีดีมาวางไว้หน้าบ้านทุกหลัง เป็นแผ่นซีดีบันทึกวิดีโอเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดี๋ยวนี้วิดีโอนี้ก็ไปอยู่ในยูทูปแล้ว

 

เราเห็นภาพผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวใกล้ชิดขนาดไหน

โห ผมเห็นภาพเหล่านี้บ่อยมากนะ ใกล้ๆ บ้านผม คนที่เป็นอิหม่ามถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าบ้านแกเลย ผมคิดว่าน่าจะเป็นเคสแรกๆ ที่เห็นความรุนแรงใกล้ตัว แล้วก็มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดนยิงที่หน้าปากซอย มีนายตำรวจถูกยิงแถวบ้าน เราเจอเหตุการณ์แบบนี้มาตลอด แต่ได้ไปเห็นผลกระทบจากกฎหมายพิเศษมากขึ้นก็ในช่วงที่อยู่มหา’ลัยและมีโอกาสได้ลงพื้นที่เยอะๆ ผมได้เห็นการเหวี่ยงแหประกาศกฎอัยการศึกขั้นร้ายแรง มีการปิดล้อมหมู่บ้าน มีเครื่องบินบินต่ำ มีเรือลาดตระเวนอยู่ในน้ำ มีเจ้าหน้าที่ทหารเต็มหมู่บ้าน ใครน่าสงสัยก็ถูกจับไป งี่เง่ามาก

ผมมีโอกาสได้ดูแลครอบครัวของคุณอับดุลเลาะ อีซอมูซอ (ชายชาวปัตตานีที่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญไป ‘ซักถาม’ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนบาดเจ็บจนถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลด้วยอาการโคม่า และเสียชีวิตในเวลาต่อมา) หลังจากที่เขาถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลที่หาดใหญ่ พอเขาเข้าห้องไอซียูพวกผมก็หาที่นอน หาข้าว จัดเวรเฝ้า ผลัดกันอ่านอัลกุรอาน เพราะที่นี่เชื่อว่าถ้ามีคนป่วยต้องอ่านอัลกุรอานให้ฟัง

ผมได้ลงพื้นที่กับเพื่อนๆ หลายร้อยคนที่เขาตะเว หมู่บ้านอาแน อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ทหารยิงชาวบ้านสามคนที่ไปตัดไม้ในป่า พวกผมไปนอนที่นั่นในวันที่เขาเพิ่งเอาศพลงมา ที่นั่นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อยู่ในบรรยากาศที่มีทหารลาดตระเวนเต็มหมู่บ้าน กลัวก็กลัว แต่พวกเราก็ได้สัมผัสชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

เริ่มไปใกล้ชิดและทำงานช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงได้ยังไง อะไรคือจุดที่ตัดสินใจว่าเราต้องทำงานลงพื้นที่แบบนี้

ตอนเข้ามหา’ลัยปีหนึ่ง ผมไม่เข้ากิจกรรมรับน้อง ไม่ชอบเลย ปรบมือกับเขาก็ไม่เป็น จังหวะหนึ่งสองสามสี่ห้าก็ปรบไม่ได้ (หัวเราะ) เลยไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาแทน ไปทาสีโรงเรียน อะไรเทือกนั้น แล้วเราก็นั่งคิดอีกว่า เอ๊ะ มันดีแล้วหรอที่มาทาสี เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเป็นพวกเราที่ต้องมาทำ สุดท้ายผมเลยไปเข้าชมรมที่พูดคุยกันเรื่องสันติภาพ สันติวิธี ประชาธิปไตย เลยทำให้ได้เรียนรู้ว่าปัญหาจริงๆ อยู่ที่โครงสร้าง ต่อให้เราไปทาสีโรงเรียนทั่วประเทศก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ถ้าแก้ปัญหาโครงสร้างไม่ได้

ในชมรมพวกเราคุยกันเรื่องการเมือง สันติภาพ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) คุยเรื่องเหล่านี้มาตลอด ก่อนจะได้มีโอกาสสื่อสารเรื่องชายแดนใต้ในเวทีที่ใหญ่ขึ้น เช่น ในกรุงเทพฯ

 

 

การที่เราโตมาแล้วได้เห็นความขัดแย้งและการใช้อำนาจกับชาวบ้านแบบนี้ มีผลกับตัวตนของซูกรีฟฟียังไงบ้าง

มันทำให้เราตั้งคำถามและหาคำตอบให้ตัวเอง คำถามแรกคือ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ตอนมัธยมผมเรียนศาสนาและสายสามัญพร้อมกัน แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีด่านอยู่หน้าโรงเรียน ทำไมต้องมีทหาร ไม่เคยรู้ แต่เราก็ค่อยๆ ตั้งคำถามในภายหลังว่า สิ่งที่เราเห็นจนชินในชีวิตประจำวันและเป็นสิ่งเดียวกับที่สร้างให้เราเป็นแบบนี้ มีรากเหง้าของปัญหาอยู่ตรงไหน

 

การเข้าชมรมที่พูดคุยเรื่องสันติภาพในมหาวิทยาลัยทำให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของ PerMAS ?

ใช่ PerMAS เป็นองค์กรร่วม โดยมีองค์กรสมาชิกประมาณสามสิบกว่าองค์กร เช่น องค์การนักศึกษา สโมสรนักศึกษา หรือชมรมต่างๆ ผมก็อยู่ในชมรมหนึ่งที่อยู่ภายใต้ PerMAS อีกที แล้วค่อยมีโอกาสได้เป็นผู้ประสานงาน พวกเรามีเป้าหมายหลักคือสันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชน เราเสนอโมเดลเรื่องการกำหนดอนาคตกันเอง พูดง่ายๆ ก็คือการทำประชามติ เราเชื่อว่าการทำประชามติเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นอารยะที่สุด คือทำให้คนทุกคนมีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ มีอิสรภาพในการเลือกว่าเขาอยากเห็นสันติภาพแบบไหน

เราเสนอโมเดลนี้ต่อสาธารณะมาหลายปี มีมวลชนต่อต้านไม่น้อย พวก IO นี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ผมเป็นเหยื่อของ IO ทุกวัน (หัวเราะ) เขามักจะใช้คำทำนองว่า ‘พวกแบ่งแยกดินแดน’ ‘พวกหัวรุนแรง’ ‘พวก BRN’ นี่คือภาพที่รัฐพยายามสร้าง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดต่างจากความเป็นรัฐไทย มีแนวทางการหาทางออกที่ต่างไป ก็จะถูกปัดให้เป็นขบวนการฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้คนกลัว PerMAS จึงพยายามสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถถกเถียงร่วมกันได้ ไม่ว่าเขาจะอยากเห็นสันติภาพแบบไหน เขาอยากได้เอกราชหรือไม่เอาเอกราช โดยอยู่บนความเชื่อว่าทุกคนสามารถมีความคิดเห็นและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองได้

 

สันติภาพในอุดมคติของลีเป็นอย่างไร

สันติภาพของผมคือการที่เรามีศักดิ์ศรี เสรีภาพ และมีความคิดพอที่จะสามารถพูดได้ทุกเรื่อง และทำให้เราสามารถกำหนดเรื่องต่างๆ ได้ด้วย

 

 

นอกจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนพูดได้ทุกเรื่องแล้ว ในความเห็นของคุณ พื้นที่การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับขบวนการฯ ควรเป็นอย่างไร

ผมมีโอกาสได้เจอฝ่ายความมั่นคงระดับสูงหลายครั้ง และเราก็พยายามสื่อสารว่าคุณต้องคุยกับ BRN ต้องคุยกับคนที่มีอำนาจตัวจริง หมายถึงกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองด้วยอาวุธสูง และผมคิดว่า BRN ก็ต้องไม่ปฏิเสธการพูดคุย แต่กระบวนการพูดคุยก็ต้องระมัดระวัง อย่าไปทำลายเป้าหมายทางการเมืองของคนที่นี่ เพราะไม่มีกลุ่มติดอาวุธไหนอยู่ได้ด้วยการใช้ความรุนแรงโดยลำพัง ปฏิเสธไม่ได้มีว่ามวลชนสนับสนุนประเด็นเอกราชของ BRN เพราะฉะนั้น BRN ต้องยืนยันจุดนี้ แล้วพูดคุยต่อว่าจะกำหนดอนาคตยังไง

สิ่งที่พวกเรากังวลต่อการพูดคุยแต่ละครั้งคือ มันถูกต้องมั้ยที่ BRN ไปคุยกับรัฐบาลเผด็จการ คือสมมติวันนี้พลเอกประยุทธ์บอกว่าที่นี่เป็นเขตปกครองพิเศษ แต่อีกวันนึงพลเอกประยุทธ์อาจจะบอกว่าไม่อยากคุยละ ก็ล้มโต๊ะได้ ซึ่งการล้มโต๊ะมีราคาที่ต้องจ่าย คือความรุนแรง การระเบิด การยิง การกลับมาสู้กันด้วยอาวุธแบบเข้มข้นอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่ต้องเลือก เพราะฉะนั้นการพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ รัฐบาลที่ใช้อาวุธเพื่อเข้ามาอยู่ในอำนาจ แล้วก็มาถกเถียงเรื่องสันติภาพ ผมว่าย้อนแย้ง แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไม BRN ถึงเลือกคุยกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ หรือ BRN มองว่านี่คือเรื่องภายในประเทศไทย จะเป็นเผด็จการประชาธิปไตยก็เรื่องของประเทศไทยสิ ผู้นำจะเป็นแบบไหนองค์กรก็พร้อมคุยกับตัวแทนของรัฐ

ขณะที่พวกเรามองอีกแบบ PerMAS มองว่าประชาธิปไตยเป็นหนทางไปสู่สันติภาพที่ง่ายกว่า ประชาธิปไตยทำให้คนมีศักดิ์ศรีมากขึ้น และท้าทายความเชื่อหลายๆ อย่างของคนที่นี่ เช่น บทบาทของผู้หญิงและสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร เราไม่อยากให้โครงสร้างวัฒนธรรมกดทับใครไว้ เพราะฉะนั้นเราเลยเชื่อว่า ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น เราถึงจะได้เห็นสันติภาพเชิงบวก

 

ถ้าสันติภาพขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยอย่างที่ลีบอก มองการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในการเมืองภาพใหญ่วันนี้แล้วมีหวังหรือเปล่า

การชุมนุมหรือการต่อสู้วันนี้ เราไม่ได้ท้าทายแค่ระบอบประยุทธ์เท่านั้น เรากำลังท้าทายวัฒนธรรมทางการเมือง เรากำลังท้าทายความเชื่อของคน เราคุยเรื่องปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ปฏิรูปจุฬาราชมนตรี ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก่อนเราไม่เคยเชื่อว่าจะปฏิรูปสิ่งเหล่านี้ได้ แต่วันนี้ สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายทางการเมืองแบบใหม่ นี่แหละสันติภาพของเรา

การไปสู่สันติภาพเชิงบวกในความเชื่อของ PerMAS หรือการทำประชามติไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องมีตัวแทนในสภา ต้องทำงานกับคนอีกหลายล้านคนในพื้นที่ แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเมืองใหม่เป็นพลวัต มันจะเปลี่ยนแปลงความคิดคน คนจะยิ่งก้าวหน้า จะยิ่งคิดว่าตนมีศักดิ์ศรีขึ้น มีเสรีภาพในการเลือก มีวิจารณญาณ มีความคิดของเขาเอง ตอนนี้ก็กำลังค่อยๆ เป็นแบบนั้น เรากำลังจะได้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ ซึ่งผมตื่นเต้นมาก (หัวเราะ)

 

เวลาเราต้องปราศรัยให้คนต่างพื้นที่ หรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนหรือมวลชนที่ไม่ได้อยู่สามจังหวัด ส่วนใหญ่คนมีความเข้าใจเกี่ยวกับสามจังหวัดยังไง เราพบความยากอะไรในการสื่อสาร

ผมมีเพื่อนต่างพื้นที่เยอะนะ บางคนเขาก็กลัวที่นี่ เพราะมีความรุนแรง แต่ช่วงหลังๆ สิ่งที่ถูกพรีเซนต์ออกไป นอกเหนือจากความรุนแรงคือ เรายังมีอย่างอื่นนะ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยมาก เรามี camping ที่ผมคิดว่าดีระดับต้นๆ ของประเทศ

ส่วนสิ่งที่ยากสำหรับผมคือ เมื่อเราเป็นคนเคลื่อนไหวที่ต้องการสันติภาพ เราก็ต้องพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้ทำให้ใครตาย วิธีการที่เรากำลังเคลื่อนไหวทำให้กลุ่มติดอาวุธมีแนวทางอื่นในการต่อสู้ เราอยากให้เขาเปลี่ยนวิธีการจากติดอาวุธสู้มาเป็นแนวทางทางการเมือง โดยที่คุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขายึดถือคือการมีเอกราชของตัวเองไม่ได้หายไปไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องพรีเซนต์กับเพื่อนต่างพื้นที่ โดยรวมเขาก็เข้าใจนะ ยิ่งช่วงหลังกระแสประชาธิปไตยเริ่มเติบโต เรื่องราวการถูกกดขี่ การถูกรังแกของคนที่นี่ กลายเป็นภาพจำที่คนเข้าใจร่วมกันมากขึ้น แต่เขาจะอธิบายต่อด้วยมุมมองแบบไหนก็เป็นอีกเรื่อง

 

 

ในช่วงหลังมานี้ แกนนำและผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองถูกรัฐใช้อำนาจคุกคาม แม้จะเทียบกันไม่ได้ แต่พื้นที่สามจังหวัดก็เป็นพื้นที่ที่ถูกรัฐใช้อำนาจคุกคามตลอดหลายปี การกระทำของรัฐเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

ที่นี่ถูกปกครองด้วยทหารมา 16 ปี เบ็ดเสร็จทุกอิริยาบถ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทหารต้องรับรู้ ยิ่งในยุค คสช. บทบาทของ กอ.รมน. ยิ่งเข้มแข็ง ผมคิดว่ามุมมองของรัฐต่อการปกครองคนที่นี่คือการมองว่าทุกคนคือผู้อาศัย ส่วนกูคือผู้ปกครอง ผู้อาศัยต้องทำตามเท่านั้น กูจะสร้างสะพานก็เรื่องของกู ถ้ากูไม่ให้สร้าง ก็เรื่องของกูอีก เมื่อวางตัวเองในลักษณะนั้น เขาก็พร้อมจะลงโทษคนใต้ปกครองของเขา พูดไม่เข้าหูใช่มั้ย งั้นมาเข้าค่าย จับปล่อย จับปล่อย อยู่แบบนี้ เทียบกับภาพที่กรุงเทพฯ มันใกล้เคียงกันมากนะ เราเห็นแกนนำการชุมนุมโดนคุกคามด้วยกฎหมาย ที่นี่ก็โดนมาตลอด การมีสันติบาลไปเยี่ยมบ้าน ที่นี่ก็มีมาตลอด เราเห็นภาพสะท้อนการควบคุมคนที่คิดต่างจากรัฐในภาพกว้างของประเทศมากขึ้น รัฐกำลังเอาวิธีการที่นี่ไปใช้กับเพื่อนที่กรุงเทพฯ และที่อื่นๆ ของประเทศด้วย

 

ขณะที่แกนนำม็อบในพื้นที่อื่นโดนเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ลีและกลุ่มเคลื่อนไหวจากพื้นที่สามจังหวัดเจออะไรบ้างไหม สถานการณ์แบบนี้ยิ่งทำให้ต้องระวังขึ้นไหม

ก็มีพยายามโทรหาบ้าง แต่ไม่ได้คุกคามในลักษณะที่รุนแรงมาก เพราะรัฐเองพยายามจะจำกัดวงว่าเรื่องสามจังหวัดก็เป็นเรื่องอาชญากรรม ไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง ถ้านายทหารคนไหนไปยิงประชาชนตายคือเรื่องของนายทหารคนนั้นที่พลาด รัฐไม่ต้องรับผิดชอบ ทำให้เขาแยกระหว่างความเป็นปัตตานีกับกรุงเทพฯ

ผมไปชุมนุมอยู่กรุงเทพฯ สามสี่วันเพื่อรอหมาย ผมว่ายังไงก็โดน ปรากฏว่าไม่มี ผมคิดว่าเขาอาจพยายามจะกันให้เรื่องสามจังหวัดไม่ใช่เรื่องการเมือง กฎหมายพิเศษที่นี่ไม่เกี่ยวกับความไม่เป็นประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ เพนกวินโดนกี่สิบหมาย ผมไม่โดนสักหมาย แม้จะขึ้นปราศรัยหลายครั้ง จนเพื่อนเริ่มถามว่า ‘ทำไมมึงรอด เป็นใครวะ’

ขณะที่รัฐพยายามกันเรื่องสามจังหวัดออก แต่พวกเราพยายามจะเดินไปเป็นเนื้อเดียวกัน พยายามบอกว่าเราต่างถูกกระทำภายใต้โครงสร้างรัฐ รัฐธรรมนูญ กองทัพ กลุ่มผู้มีอำนาจ และกลุ่มผลประโยชน์เดียวกัน

รัฐพยายามบอกว่าที่นี่ไม่ใช่พื้นที่สงคราม แต่มีกฎอัยการศึกมาสิบปี นี่ก็ไม่ make sense แล้ว มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินบอกว่าจะใช้ในกรณีฉุกเฉิน แปลว่าที่นี่ฉุกเฉินมา 16 ปีแล้ว แต่แก้ปัญหาไม่ได้ มันคืออะไร มันคือเรื่องโครงสร้างความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่ใช่หรือ ดังนั้นเรื่องนี้เราจะต้องแก้ที่กรุงเทพฯ ด้วย เราต้องมีผู้แทนที่มองคนเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่มองคนที่นี่เป็นแขก อยู่สุดมุมชายขอบของความเป็นไทย

 

บรรยากาศการชุมนุมที่สามจังหวัดเป็นอย่างไร คนออกมากันเยอะน้อยแค่ไหน

การชุมนุมที่นี่จะเป็นแฟลชม็อบ แรกๆ จะเกิดขึ้นตามมหาวิทยาลัยตามจังหวัดต่างๆ มีมาม็อบเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เราเห็นคือการขยับขยาย เราพยายามโยกม็อบออกมาอยู่นอกมหา’ลัย ขยายฐานคนที่จะออกมาชุมนุม และต้องแสดงให้เห็นว่าวันนี้ม็อบไม่ได้ผูกขาดกับความเป็นนักศึกษาแล้ว นี่คือม็อบของประชาชนสามจังหวัด การชุมนุมก็เลยได้จัดอีกหลายที่ อย่างที่ยะลาเป็นจังหวัดที่มีทั้ง กอ.รมน. กฎหมายความมั่นคง เป็นแหล่งอำนาจของสามจังหวัด แต่ก็มีการจัดแฟลชม็อบในสวนสาธารณะที่คนออกมาเยอะเป็นพัน

ที่นี่มีกลุ่มผู้ใหญ่ที่รู้สึกว่าต้องสนับสนุนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ เพราะเขาต้องอยู่ในสังคมนี้อีกนาน เขาไม่อยากเห็นลูกหลานเดือดร้อน ส่วนบางคนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะสรรหาทุกเหตุผลมาจำกัดการสนับสนุน บ้างเอาเหตุผลศาสนามาอ้าง บอกว่าอิสลามห้ามล้มผู้นำ คือทุกอย่างก็จะดูเป็นเหตุผลไปหมดในการสนับสนุนความคิดตัวเองเพื่อต่อต้านคนรุ่นใหม่

 

 

ในช่วงไล่เลี่ยกันกับที่มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย สำนักจุฬาราชมนตรีก็มีชุมนุมของผู้สวมฮิญาบเหลืองที่ออกมาแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน คุณมีความเห็นอย่างไร

จุฬาราชมนตรีวางบทบาทตัวเองว่าเขาคือผู้นำอิสลามของคนมุสลิม ขณะที่เขาเคยพยายามกันตัวเองมาตลอดว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง แต่อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้คนจากสำนักจุฬาราชมนตรีไปเป็น สว. เป็นตัวแทนของจุฬาราชมนตรีที่ถูกคัดเลือกโดยคสช. ดังนั้นสถาบันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐราชการไทย เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เขาต้องรู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณ เขาต้องแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกแต่งตั้งมาโดยพระมหากษัตริย์ นั่นคือความย้อนแย้งของคนที่มาเป็นผู้นำทางศาสนา

แต่จริงๆ แล้วศาสนาคือวิถีของคน ไม่มีสถาบันจุฬาราชมนตรีทุกคนก็ต้องละหมาด ต้องแจกซะกาต (ภาษีที่พลเมืองมุสลิมทุกคนต้องจ่ายกลับสู่สังคม) ในฐานะมุสลิมด้วยกัน ผมอยากเสนอว่าถ้าเขายังรู้สึกว่าเขาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนมุสลิมในประเทศนี้ ก็ต้องจัดวางสถาบันออกจากโครงสร้างของรัฐ ต้องเป็นอิสระ

 

ในเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพมีเรื่องอะไรที่เรากังวลหรือทำให้เปราะบางไหม

จริงๆ PerMAS ถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นปีกการเมืองของ BRN เล่นใหญ่มาก (หัวเราะ) แต่ก่อนผมก็กังวลเรื่องครอบครัว เอ๊…พ่อแม่จะคิดยังไงกับเรา พ่อแม่จะกลัวไหม ผมเคยนั่งรถกับคุณพ่อไปทำธุระ ระหว่างผมขับรถ แกถามผมว่า “อยู่ PerMAS หรอ” เราก็นิ่ง งงว่ารู้ได้ไง แล้วก็ค่อยๆ อธิบายว่า PerMAS คืออะไร ต่างกับขบวนการฯ ยังไง เราเชื่อในแนวทางไปสู่สันติภาพต่างกัน เราเชื่อในเรื่องประชาธิปไตย ในสิทธิมนุษยชนนะ เราเชื่อว่าการใช้อาวุธไม่ได้ตอบโจทย์ ผมก็พยายามอธิบาย ยิ่งช่วงหลังตอนมีม็อบ เขาก็กังวลมากขึ้น อยากให้ผมดูแลตัวเอง แต่ที่บ้านผมดีอย่างนึงคือเขาเข้าใจสิ่งที่เราทำ ผมไม่ได้โตมาในครอบครัวที่คอยบังคับผม เขาเลี้ยงเราแบบถ้าคาใจต้องถาม ต้องเคลียร์กัน ทำให้เราโตมาเป็นเราแบบนี้

ความเปราะบางของผมในช่วงแรกๆ เป็นเรื่องสังคมรอบข้างแถวบ้านมากกว่า เวลาเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านเยอะๆ สังคมรอบข้างจะมองเราแปลก เฮ้ยทหารไปที่บ้านอีกแล้ว ไปทำอะไรมา ทำไมทหารไป คือที่นี่ถ้าทหารไปบ้านไหนคนจะตีความว่าคุณคือเหยื่อหรือไม่ก็ขบวนการฯ เราก็เลยต้องอธิบายตัวเองบ่อยๆ บางครั้งเราไปร้านน้ำชาก็ถูกถามว่าเกิดอะไรขึ้น มันก็บั่นทอนเรานะ ไม่แคร์ก็ไม่ได้เพราะเราอยู่ในชุมชนที่ยังมีวัฒนธรรมแบบทำกับข้าวแล้วต้องยื่นให้คนข้างบ้าน ยังต้องไปละหมาด เราก็ต้องพยายามอธิบายไม่ให้เขากลัวเรา ซึ่งช่วงหลังคนก็เข้าใจเราเยอะขึ้น ตอนขึ้นเวทีที่ราชดำเนิน คนในชุมชนรู้หมดนะ เซอร์ไพรส์มาก ทุกวันนี้ก็ยังมาถามเรื่องม็อบอยู่ เขาอยากให้เราเล่าว่าการเมืองที่กรุงเทพเป็นแบบไหน ปกครองท้องถิ่นหลังจากนี้จะเป็นยังไง

 

ฟังดูแล้วเหมือนคุณถูกทหารไปเยี่ยมหลายครั้ง กลัวบ้างไหม 

เรื่องแบบนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราไม่ผิดก็ไม่จำเป็นต้องกลัว จริงๆ สิ่งที่เขาทำมันไม่ถูกนะ มาหาเราทุกวันเนี่ยเราอึดอัด ไม่ต้องมา เป็นสิ่งที่เขาไม่ควรทำ พอมาบ่อยๆ เราก็ไม่ได้ชินหรอก แค่รู้สึกว่าเราไม่ได้กลัวเขา ผมคิดว่าถ้าเขาจะทำอะไรเราสักอย่าง จะยัดคดี จะเอาเข้าค่าย เราหนีไม่พ้นอยู่แล้ว แต่เราเลยคำว่ากลัวมาแล้ว วันนี้เราต้องสู้ ถอยไม่ได้อีกแล้ว

 

ความฝันส่วนตัวของลีคืออะไร อยากเติบโตไปเป็นอะไร

ครั้งนึง ผมมีความฝันว่าอยากเป็นอาจารย์ แต่ตอนนี้ผมอยากเป็นนักการเมืองละ (หัวเราะ) ผมอยากเข้าสภาสักครั้ง อยากพูดในสิ่งที่เราอยากจะพูดในสภา ทั้งเรื่องที่นี่และการเมืองภาพใหญ่

ถ้าเป็นอาจารย์ผมก็อยากสอนการเมือง สอนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผมไม่ได้มั่นใจหรอกว่าระบบการศึกษาไทยทำให้คนก้าวหน้าได้จริงไหม แต่ผมคิดว่าสังคมต้องทำให้คนต้องตั้งคำถามให้ได้ แม้กระทั่งตั้งคำถามกับสิ่งที่เราใช้ชีวิตอยู่ เชื่ออยู่ หรือกำลังเรียนอยู่ก็ตาม

 

ถ้าการเมืองดี จินตนาการว่าพื้นที่สามจังหวัดจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าถ้าการเมืองดีก็ไม่มีคนติดอาวุธสู้ ไม่มีใครอยากจับปืนสู้กับรัฐ ลุงคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ แกอายุ 50 กว่าๆ แก่แล้วนะ คนทั่วไปเขาก็อยากไปละหมาด เลี้ยงหลาน ปลูกผัก เลี้ยงวัว เลี้ยงแมว แต่ที่ลุงยังจับปืนสู้กับรัฐ มันสะท้อนว่ารัฐล้มเหลวในการจัดการความหลากหลายของคน มันสะท้อนว่าโครงสร้างของรัฐ ความเชื่อ วัฒนธรรมทางสังคมไม่ได้เอื้อต่อคนที่มีความคิดต่าง ดังนั้น ถ้าการเมืองดี จะต้องไม่มีคนที่จับปืนสู้ LGBT มุสลิมจะไม่กลัวที่จะแสดงตัวตน ไม่มีด่านทหาร ไม่มีกฎหมายพิเศษ มีเสรีภาพพอที่จะพูดถึงความฝันและคุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองได้โดยปลอดภัย โดยไม่ต้องกลัวขบวนการ ไม่ต้องกลัวรัฐ ไม่ต้องกลัวเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องกลัวการถูกแทรกแซง นี่แหละนิยามการเมืองดีในพื้นที่ขัดแย้ง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save