fbpx
Maung Zarni : “มีแต่คนโง่ที่เชื่อว่ากองทัพจะคืนประชาธิปไตยให้พม่า”

Maung Zarni : “มีแต่คนโง่ที่เชื่อว่ากองทัพจะคืนประชาธิปไตยให้พม่า”

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แทนที่ประชาชนชาวพม่าจะได้เฝ้าชมการเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ กลับต้องตื่นเช้ามาแล้วพบว่ากองทัพได้เข้าควบคุมอำนาจเรียบร้อยแล้ว

แม้กองทัพจะออกแถลงการณ์ว่าจะเข้าควบคุมเพียง 1 ปี ก่อนจะจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างโปร่งใสอีกครั้ง แต่คนพม่าที่อยู่ภายใต้ระบอบทหารมานานจนรู้ไส้รู้พุงกองทัพดี ก็ไม่ได้หลงคารมในคำมั่นสัญญาของกองทัพมากนัก

ดร.หม่อง ซาร์นี (Maung Zarni) ก็เป็นหนึ่งในคนที่เชื่อเช่นนั้น

ชื่อของหม่อง ซาร์นีเป็นที่คุ้นเคยดีสำหรับคนพม่า เขาเป็นทั้งนักวิชาการชื่อดัง และยังเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้กับทั้งคนพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ มาเกือบ 3 ทศวรรษ ซาร์นีวิจารณ์การเมืองพม่าอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนมายาวนาน จนทำให้เขาไม่สามารถอาศัยอยู่ในพม่าได้ และต้องลี้ภัยใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับได้รับสมญาว่าเป็น ‘ศัตรูแห่งรัฐ’ (Enemy of the State) ของพม่า

ล่าสุด ซาร์นี ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Forces of Renewal for Southeast Asia (FORSEA) ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนักวิชาการไทย รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ร่วมด้วย ซึ่งทำให้เขาขยับขยายออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยให้กับทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในพม่าที่กำลังแหลมคมและเป็นที่น่าจับตามอง 101 ต่อสายตรงถึงอังกฤษ พูดคุยกับหม่อง ซาร์นี เพื่ออ่านเกมกองทัพ พร้อมมองอนาคตของพม่า หลังเหตุการณ์รัฐประหารช็อกโลกที่เพิ่งเกิดขึ้น

 

 

 

อะไรที่ทำให้กองทัพพม่าตัดสินใจทำรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง

ปัจจัยที่ทำให้กองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งนี้มีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสถาบัน ด้านอุดมการณ์ และเรื่องส่วนตัว

ในเชิงสถาบัน ทีแรกกองทัพพยายามจะแข่งขันในสนามประชาธิปไตยกับอองซาน ซูจี แต่ปรากฏว่าทุกครั้งที่จัดการเลือกตั้ง ซูจีก็เอาชนะกองทัพได้ตลอด ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1990 ตามด้วยปี 2010, 2012 และ 2015 ซึ่งก็ล้วนเป็นชัยชนะอย่างถล่มทลาย รวมถึงครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 เธอก็เอาชนะได้อีก แต่รอบนี้ เธอไม่ได้แค่ชนะถล่มทลาย แต่เรียกได้ว่าชนะแบบบดขยี้พรรคของทหารแหลกคามือเลย ขณะที่พรรค National League for Democracy (NLD) ของซูจีได้เกือบ 400 จากทั้งหมด 476 ที่นั่ง พรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ที่กองทัพหนุนหลัง ได้ไปเพียง 33 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้กองทัพรู้ตัวว่าพวกเขาแพ้อย่างราบคาบ และเวลาที่พวกเขาหมดอำนาจที่จะควบคุมการเมืองใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว กองทัพรับสภาพแบบนี้ไม่ได้ จึงต้องออกมาทำรัฐประหาร

เมื่อกองทัพรู้ตัวว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะซูจีได้ในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย กองทัพก็มักจะล้มกระดานเกมประชาธิปไตยทิ้ง ซึ่งก็คล้ายกับไทย ที่ในยุคหนึ่ง พรรคของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เอาชนะในการเลือกตั้งได้ตลอด ไม่ว่าเขาจะลงแข่งเอง หรือเป็นน้องสาวของเขา หรือกระทั่งตัวแทนคนอื่นๆ ก็ตาม กองทัพและชนชั้นนำไทยก็เลยตัดสินใจล้มเกมทิ้งเหมือนกัน และเมื่อไม่นานนี้ พรรคอนาคตใหม่ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจก็โดนยุบไป เพราะพรรคนี้เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เข้มแข็ง และได้รับความนิยมมากจนน่ากลัว

เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะกองทัพไทยหรือพม่าก็เหมือนกัน คือทำตัวเหมือนเด็กเหลือขอ ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ พอแพ้ ก็ล้มกระดานไปง่ายๆ เสียอย่างนั้น

สำหรับปัจจัยด้านอุดมการณ์ หลายปีที่ผ่านมา เราเห็นการเติบโตขึ้นมาของผู้นำแบบประชานิยมขวาจัดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ บราซิล อินเดีย และบางประเทศในยุโรป ทำให้บรรยากาศการเมืองโลกโน้มเอียงออกจากประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นกองทัพพม่าจึงรู้สึกว่า นี่คือจังหวะดีที่สุดที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่า แล้วกลับคืนสู่อำนาจ

และปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องส่วนตัวของผู้นำกองทัพพม่าเอง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า คืออาชญากรหมายเลขหนึ่งของคดีฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวโรฮิงญา ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลโลก ประเด็นก็คือมิน อ่อง หล่ายกลัวว่าจะถูกลากตัวขึ้นศาล เพราะอีกไม่นานก็จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งจะทำให้ไม่มีเอกสิทธิ์ใดๆ คุ้มครอง กรณีนี้จะคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศซูดาน หลังจากที่ประธานาธิบดีถูกโค่นลงจากอำนาจ ก็ทำให้ตำรวจสากลสามารถนำตัวเขาไปขึ้นศาลโลกตามหมายจับได้ มิน อ่อง หล่ายกลัวว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดกับเขา จึงต้องหาทางให้ตัวเองมีตำแหน่งทางการเมืองต่อไปด้วยการรัฐประหาร

กองทัพพม่าอ้างว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง เหตุผลนี้มีน้ำหนักขนาดไหน

การอ้างเรื่องทุจริตการเลือกตั้งเพื่อทำรัฐประหารเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเลย กองทัพอ้างว่าพบการทุจริต 8-10 ล้านเสียง ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิทั้งประเทศประมาณ 33 ล้านคน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผมไม่ปฏิเสธว่า การเลือกตั้งไม่ว่าจะที่ไหนในโลกก็อาจมีการทุจริตเกิดขึ้นได้ แต่การโกงได้มากถึง 10 ล้านเสียงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ไม่เคยมีที่ไหนในโลกที่โกงได้มากขนาดนี้ ข้อกล่าวอ้างนี้เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ

การอ้างเรื่องทุจริตการเลือกตั้งก็เหมือนที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์อ้างเพื่อไม่ยอมรับผลเลือกตั้งที่ตัวเองแพ้ แต่ผลที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ กับพม่าต่างกัน สหรัฐฯ มีระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นมากว่า 250 ปี และมีกลไกการถ่วงดุลอำนาจที่เข้มแข็งมาก ต่อให้ทรัมป์พยายามทุกวิถีทาง สุดท้ายเขาก็ทำอะไรไม่ได้ ต่างจากพม่าที่เคยสัมผัสประชาธิปไตยเพียงช่วงสั้นๆ ในทศวรรษ 1950 เท่านั้น จึงไม่ได้มีฐานรากของประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ซึ่งก็เหมือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

พม่ามีรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร

ทุกการรัฐประหารมีเพียงเหตุผลเดียว คือการที่ผู้ก่อรัฐประหาร โดยเฉพาะกองทัพ ต้องการจะผูกขาดอำนาจทุกอย่างไว้ในมือด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน การรัฐประหารคือการแปรรูปประเทศให้เป็นสมบัติของผู้นำรัฐประหาร พวกเขาจะมีอำนาจล้นฟ้า ทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากทำ จะฆ่าใครก็ได้ จะจับกุมใครก็ได้ทุกที่ทุกเวลาโดยประชาชนไม่มีสิทธิต่อสู้ หรือจะบังคับไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านในช่วงเวลาไหนก็ได้ ทำให้ประเทศไม่ต่างจากคุกขนาดยักษ์

รัฐประหารในพม่าครั้งนี้ไม่ได้ต่างจากครั้งก่อนๆ ในปี 1962 และ 1988 มากนัก แต่มีความต่างอย่างหนึ่งตรงที่ครั้งนี้กองทัพทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราจะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญเลย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติให้กองทัพเข้าไปควบคุมประเทศได้หากมีความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น และกองทัพก็เอาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างของความไม่สงบเรียบร้อย ไม่มีรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่อนุญาตให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหารได้ง่ายๆ แบบนี้ นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญของพม่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่แรก

ส่วนใหญ่ เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์การรัฐประหารในพม่า คนมักจะไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ในปี 1958 ซึ่งที่จริงผมว่าควรจะนับรวมเป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ในตอนนั้น นายกฯ อู นุ ลงนามจดหมายส่งผ่านอำนาจการปกครองให้นายพลเน วิน โดยอ้างเหตุผลว่า เขาไม่สามารถบริหารจัดการประเทศได้ท่ามกลางสงครามความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มต่างๆ ที่รุนแรง แต่ที่จริงแล้ว กองทัพเป็นคนร่างจดหมายฉบับนั้นเอง และบังคับให้อู นุลงนาม จากจุดนั้นก็ทำให้เน วินสืบทอดอำนาจต่อไปได้อีกยาว ผมว่ารัฐประหาร 2021 ก็คล้ายกับรัฐประหาร 1958 ตรงที่กองทัพพยายามทำให้ดูเหมือนว่าถูกต้องตามกฎหมาย

 

การรัฐประหารคือการแปรรูปประเทศให้เป็นสมบัติของผู้นำรัฐประหาร พวกเขาจะมีอำนาจล้นฟ้า ทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากทำ จะฆ่าใครก็ได้ จะจับกุมใครก็ได้ทุกที่ทุกเวลาโดยประชาชนไม่มีสิทธิต่อสู้

กองทัพพม่าจะทำอย่างไรต่อ จะคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปีจริงตามสัญญาหรือไม่

ไม่มีทาง! กองทัพไม่เคยทำตามสัญญาอะไรได้เลย มีแต่คนโง่ที่เชื่อว่ากองทัพจะคืนประชาธิปไตยให้พม่าตามสัญญา ผมเชื่อว่าหลังจากนี้ กองทัพจะทำเหมือนที่เคยทำมาตลอด คือพยายามเข้าควบคุมทุกอย่างในพม่าอย่างเบ็ดเสร็จ และพยายามยกให้คนในกองทัพด้วยกันเองขึ้นมาเป็นผู้นำ กองทัพไม่เคยมีความคิดที่จะวางมือทางการเมือง เห็นได้จากการที่พวกเขาพยายามเลี้ยงสงครามและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ เพื่อเป็นข้ออ้างให้กองทัพยังคงต้องมีบทบาททางการเมือง โดยมักจะขู่ว่าถ้ากองทัพไม่เข้ามาดูแล ประเทศก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ

ตราบใดที่กองทัพมีอำนาจอยู่ ก็ไม่มีโอกาสเลยที่คนพม่าจะสัมผัสกับสันติภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง กองทัพไม่สามารถและไม่เคยคิดที่จะทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตย เพราะพวกเขาไม่ได้มีอุดมการณ์ใดๆ ที่ยึดโยงกับประชาธิปไตยเลย

ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เราต้องย้อนกลับไปมองตั้งแต่รากเหง้า กองทัพของพม่าถือกำเนิดมาด้วยความร่วมมือกับกองทัพฟาสซิสต์ของญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษในตอนนั้น กองทัพพม่าจึงได้รับการปลูกฝังแนวคิดแบบฟาสซิสต์จากญี่ปุ่น รวมถึงเยอรมนีมาอย่างแน่นหนา หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดไปแล้ว สหรัฐฯ เข้าไปยุบกองทัพญี่ปุ่น และปฏิรูปลบล้างแนวคิดนาซีในสังคมและกองทัพเยอรมนี ส่งผลให้อุดมการณ์ฟาสซิสต์หายไปจากสองประเทศนี้ แต่แนวคิดพวกนี้ยังฝังรากลึกอยู่ในกองทัพพม่า เพราะไม่มีใครเข้าไปลบล้าง

บรรดานายพลที่อยู่ในกองทัพพม่าตั้งแต่อายุ 16-17 ยันอายุ 50 กว่าๆ ย่อมได้สัมผัสแต่ระบบอำนาจนิยม โดยไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติของประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนภายในกองทัพเลยว่าหอมหวานขนาดไหน พวกเขาเลยไม่เคยมีความคิดที่จะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ก็เหมือนกับอาหาร สมมติเราไม่เคยได้ชิมอาหารไทยเลยว่าอร่อยขนาดไหน เราก็ไม่มีทางที่จะชอบอาหารไทย จนกว่าเราจะได้ชิมแล้วรู้ว่ามันอร่อยแล้ว เราถึงจะอยากกินอีก

ประชาธิปไตยที่กองทัพให้พม่าก่อนที่จะเกิดรัฐประหารขึ้น ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ แต่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีวินัย (Discipline-Flourishing Democracy) ซึ่งกองทัพยังคงทำตัวเป็นเหมือนครูใหญ่ที่คอยคุมความประพฤตินักเรียนอยู่ อย่างการที่รัฐธรรมนูญกำหนดโควตาที่นั่งในสภาร้อยละ 25 ให้บุคคลในกองทัพโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง คล้ายกับไทยที่มี ส.ว. แต่งตั้งโดยทหารทั้งหมด รวมถึงการที่กองทัพพยายามจะกีดกันให้ซูจีเป็นประธานาธิบดีด้วยการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า ห้ามผู้ที่มีคู่สมรสหรือบุตรที่เป็นชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดี ทำให้ซูจีต้องไปเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐแทน

เพราะฉะนั้นผมบอกได้เลยว่าพม่าไม่เคยมีประชาธิปไตยแท้จริงเลย แต่เป็นประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมโดยกองทัพมาตลอด เพียงแต่จะคุมมากน้อยขนาดไหนในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น ก็เหมือนเวลาที่เราจูงหมา เราอาจผ่อนสายจูงให้ยาวขึ้น ให้หมาได้เดินสบายๆ บ้างในบางครั้ง แต่ถ้าหมาเราเริ่มดื้อ เราก็จะตึงสายให้สั้นลง เพื่อคุมได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังคุมไม่ได้อีกและรู้ว่าถึงอย่างไรก็คุมไม่อยู่แล้ว สุดท้ายเราก็อาจจับหมาไปขังไว้ หรือถ้าโหดหน่อยก็ฆ่าหมาทิ้งเสียเลย

 

ตราบใดที่กองทัพมีอำนาจอยู่ ก็ไม่มีโอกาสเลยที่คนพม่าจะสัมผัสกับสันติภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง กองทัพไม่สามารถและไม่เคยคิดที่จะทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตย เพราะพวกเขาไม่ได้มีอุดมการณ์ใดๆ ที่ยึดโยงกับประชาธิปไตยเลย

 

ซูจีประนีประนอมกับกองทัพเยอะมากช่วงที่เธอครองอำนาจอยู่ แต่ทำไมกองทัพถึงยังโค่นเธอลง

นั่นคือความผิดพลาดอย่างมหันต์ของซูจี เธอพยายามแก้ต่าง ปกป้องความผิดให้กองทัพมาตลอด โดยเฉพาะในประเด็นโรฮิงญา ขณะเดียวกัน เธอก็พยายามเอาอกเอาใจกองทัพ อย่างการเรียกพวกทหารว่าเป็นเหมือนลูกๆ ของพ่อเธอ (นายพลออง ซาน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า) เธอบอกด้วยว่า ถ้าเธอเป็นผู้ชาย เธอจะเข้าร่วมกองทัพ และความรักที่เธอมีให้กับกองทัพก็คือรักแท้ ทั้งที่กองทัพคืออาชญากรในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ประชาคมโลกอยากลากคอขึ้นศาลกันใจจะขาด แต่แล้วทั้งหมดที่เธอพยายามจะเอาใจกองทัพก็สูญเปล่า กองทัพไม่ได้ใจอ่อนให้กับเธอเลย เพราะกองทัพมองว่าซูจีเป็นหุ่นเชิดของจักรวรรดินิยมตะวันตก จึงไม่อาจวางใจเธอได้ และยังมองเธอเป็นเหมือนหมากตัวหนึ่งที่เอาไว้หลอกล่อให้โลกตะวันตกยกเลิกคว่ำบาตร และยอมฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพม่าเท่านั้น

ข้อผิดพลาดใหญ่ที่สุดของซูจี คือเธอคิดแต่จะประนีประนอมกับกองทัพ จนละทิ้งหลักการเดิมของเธอที่ต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถึงขั้นที่ไปแก้ต่างคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาด้วยตัวเองถึงศาลโลก แทนที่จะปกป้องเหยื่อ ภาพของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสันติภาพในระดับโลกของเธอจึงหายไปทันที ถ้ารัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อก่อน คนทั่วโลกคงจะตื่นตัวเรียกร้องความเป็นธรรมให้เธอกันมากกว่านี้ แต่พอเธอทำลายหลักการของเธอเอง ประชาคมนานาชาติเลยไม่ได้ออกมาช่วยเธอมากเท่าที่ควร เราจึงเห็นว่าการที่เธอเลือกใช้กลยุทธ์ประนีประนอม โดยโยนจุดยืนเดิมทิ้งไป สุดท้ายก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเธอเอง

การที่เธอทิ้งอุดมการณ์เดิมของเธอ โดยไปหวังลมๆ แล้งๆ ว่าถ้าเธอร่วมมือกับกองทัพมากขึ้น เธอจะทำงานเพื่อชาติได้อย่างราบรื่น แต่เปล่าเลย ไม่มีใครที่จะทำงานเพื่อชาติได้โดยไม่ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง

 

ข้อผิดพลาดใหญ่ที่สุดของซูจี คือเธอคิดแต่จะประนีประนอมกับกองทัพ จนละทิ้งหลักการเดิมของเธอที่ต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

 

อนาคตทางการเมืองของซูจีและพรรค NLD จะเป็นอย่างไร

สำหรับพรรค NLD ผมยังไม่แน่ใจนัก แต่ถึงอย่างไรพรรค NLD กับซูจีก็แยกจากกันไม่ขาด ต่อให้ซูจีไม่อยู่แล้ว NLD ก็คงยังอยู่โดยยกเธอเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค

แต่สำหรับซูจี ตอนนี้เธออายุ 75 ปีแล้ว ถ้าสมมติเธอถูกคุมตัว 2 ปี กว่าเธอจะออกมา เธอก็คงมีอายุ 77-78 ปี ซึ่งถือว่าอายุมากแล้ว ถึงตอนนั้น ต่อให้ซูจีสุขภาพแข็งแรงอยู่ กองทัพก็คงไม่กล้าทำผิดพลาดซ้ำสอง ด้วยการปล่อยให้ซูจีกลับมาเล่นการเมือง หรือถึงซูจีจะยังกลับมาได้ กองทัพก็คงไม่ยอมให้เธอมีตำแหน่งทางการเมืองอีกแล้ว ตราบใดที่กองทัพยังมีอำนาจอยู่ เส้นทางการเมืองของเธอก็จบสิ้นลงแล้ว

 

คนพม่ามีปฏิกิริยาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้กันล้นหลามมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนรัฐประหาร คนทั้งสองกลุ่มคิดอย่างไรกันอยู่

ที่คนพม่าออกมาต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้กันมาก เพราะพวกเขาถูกทหารปกครองมาต่อเนื่องกว่า 50 ปี พวกเขาจึงรู้ดีว่าพวกนายพลกองทัพโง่เขลา ตะกละตะกลาม โหดร้าย และทำลายประเทศชาติมากขนาดไหน พวกเขาเลยทนไม่ได้ที่จะต้องโดนคนพวกนี้ปกครองต่อไปอีก เพราะฉะนั้นต่อให้คนพม่าจะชาตินิยมสูง เหยียดเชื้อชาติ หรือมีหลักสิทธิมนุษยชนแบบเลือกปฏิบัติ โดยละเลยสิทธิของชาวโรฮิงญา แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็เชื่อมั่นในประชาธิปไตยมาก

นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจว่า พวกนายพลพม่าครอบครองส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจสูงมาก ขณะที่ประชาชนพม่าส่วนใหญ่ยากจนและรู้สึกว่าถูกกองทัพเอารัดเอาเปรียบอยู่ น้อยคนที่จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมของกองทัพ จึงมีความรู้สึกต่อต้านกองทัพสูง ไม่เหมือนประเทศไทยที่มีคนชั้นกลางและสูงมากกว่าพม่า จึงมีคนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากระบอบทหารน้อยกว่า

ส่วนคนพม่าที่สนับสนุนกองทัพและการรัฐประหารก็คือกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากระบอบทหาร เช่นพวกทหารเกษียณและครอบครัวที่กินเงินบำนาญของกองทัพ หรือบางส่วนก็มีโอกาสเข้าไปคุมธุรกิจภายใต้การควบคุมของกองทัพ พวกเขาได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจแบบมาเฟียนี้ แล้วเรื่องอะไรที่พวกเขาจะต้องต่อต้าน นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่สนับสนุนกองทัพก็คือพวกพระสงฆ์ที่ยึดแนวทางชาตินิยม เหยียดเชื้อชาติและศาสนาแบบสุดโต่ง และได้รับการอุปถัมป์อย่างดีจากกองทัพที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน

 

รัฐประหารในพม่าครั้งนี้จะมีแรงกระเพื่อมในระดับนานาชาติอย่างไร

การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยทุกวันนี้ เช่นในประเทศไทย ก็มักจะดูแบบอย่างการเคลื่อนไหวในฮ่องกง ส่วนนักศึกษาในพม่าก็ดูการเคลื่อนไหวในไทยเป็นตัวอย่างเหมือนกัน เรามักจะศึกษาตัวอย่างกลยุทธ์การต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วเอามาปรับใช้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศตัวเอง

แต่อย่าลืมว่าผู้นำในฝั่งเผด็จการก็คิดแบบเดียวกัน พวกเขาก็พยายามศึกษาแนวทางที่ได้ผลจากประเทศอื่นๆ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สามารถเล่นงานกลุ่มต่อต้านในฮ่องกงผ่านการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ หรือวิธีจัดการผู้ประท้วงของรัสเซีย และตอนนี้ การรัฐประหารในพม่าก็เป็นที่จับตามองอยู่เหมือนกัน เพราะมีความก้าวหน้าคือเป็นการรัฐประหารที่ถูกต้องตามกฎหมาย และยังเป็นการดำเนินการท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากกองทัพพม่ากุมอำนาจได้สำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลที่พวกผู้นำเผด็จการสนใจ ไม่ใช่แค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รวมถึงทั่วโลกด้วย

 

แล้วในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ คุณมองอย่างไร

คนส่วนใหญ่มักจะพุ่งเป้าไปที่จีนก่อนอันดับแรก ซึ่งผมว่าผิด เพราะที่จริงแล้ว กองทัพพม่าไม่ได้ชอบจีนเท่าไหร่นัก เพราะคิดว่าจีนกำลังเล่นเกมการเมืองกับพม่าอยู่ ด้วยการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับกองทัพพม่า เช่น กองทัพรวมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army)

ด้วยเหตุนี้ กองทัพพม่าถึงต้องคอยสานสัมพันธ์กับขั้วอำนาจอื่นอีกหลายขั้วเพื่อเข้ามาถ่วงดุลอำนาจจีนตลอด เช่น อินเดีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น รวมถึงรัสเซีย ซึ่งสามารถเป็นเสียงวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้กับพม่า นอกเหนือไปจากจีนด้วย ทำให้พม่าพึ่งเสียงวีโต้ได้สองทาง นี่เป็นแนวคิดของกองทัพพม่าที่มักจะใส่ไข่ในตะกร้าหลายใบเสมอ

ในฝั่งซีกโลกตะวันตก บางคนมองว่าขั้วอำนาจนี้อาจตอบโต้ไม่ได้มากกับการทำรัฐประหารครั้งนี้ เพราะอาจจะง่วนอยู่กับการจัดการโควิด-19 และปัญหาภายในต่างๆ แต่ผมไม่เห็นด้วย ถึงอย่างไรเสีย โลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็ยังทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกอยู่ ถ้าโลกตะวันตกรวมหัวกันเล่นงานคว่ำบาตรพม่า รัฐบาลทหารก็จะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก โดยที่จีนกับรัสเซียก็ไม่อาจช่วยอะไรได้

นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับว่าโลกตะวันตกจะเอาจริงขนาดไหน เท่าที่เห็น สหรัฐฯ ภายใต้โจ ไบเดนก็แสดงท่าทีขึงขังไม่น้อยเหมือนกัน ด้วยการระงับความช่วยเหลือต่างๆ เป็นจำนวนเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ ไบเดนใช้จังหวะนี้แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญมากกับประชาธิปไตย และยังเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศอื่นๆ เห็นด้วยว่า ถ้ามีการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้น สหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะต่อต้าน เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับโลกตะวันตกคงไม่ง่ายนักสำหรับรัฐบาลทหารหลังจากนี้

 

 

ประชาคมโลกควรมีท่าทีอย่างไร

รัฐประหารไม่ก่อให้เกิดผลดีอะไรเลย ทำลายอนาคตของประชาชนจนย่อยยับ เพราะฉะนั้น รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้เลย ไม่ว่าจะภายใต้สถานการณ์ไหนก็ตาม ประชาคมนานาชาติจะต้องลงโทษคนที่ก่อการรัฐประหารอย่างหนักสถานเดียว ด้วยการใช้มาตรการกดดันทางการเงิน

นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปก็มีส่วนร่วมกดดันกองทัพพม่าได้เหมือนกัน ด้วยการบอยคอตหรือไม่ร่วมสังฆกรรมกับธุรกิจที่ข้องเกี่ยวกับกองทัพพม่า รวมถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการไม่ไปเที่ยวที่พม่า จนกว่ารัฐบาลเผด็จการจะลงจากอำนาจ

ผมว่าคนไทยก็ควรจะสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนพม่าเหมือนกัน เพราะกองทัพไทยกับกองทัพพม่ามีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่แน่นแฟ้นมาก อย่างที่คุณเห็นว่ามิน อ่อง หล่ายก็เป็นลูกบุญธรรมของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถ้ากองทัพพม่าถูกประชาชนโค่นลงได้สำเร็จ กองทัพไทยก็จะสูญเสียพันธมิตรที่สำคัญยิ่งไป

 

อนาคตของการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และวิกฤตโรฮิงญา จะเป็นอย่างไร

ในสมัยที่ซูจีครองอำนาจอยู่ เธอจัดการประชุมปางโหลง ซึ่งเป็นการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า เธอสานต่อมาจากนายพลออง ซาน พ่อของเธอเอง ที่จัดประชุมในปี 1947 จนเกิดเป็นข้อตกลงปางโหลง ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่ยืนยันถึงความเสมอภาคระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในการรวมชาติเป็นสหภาพพม่า แต่ก็โดนกองทัพพม่าฉีกไป และกลายเป็นว่ากองทัพทำตัวเสมือนเป็นเจ้าอาณานิคมที่กดขี่กลุ่มชนชาติต่างๆ

ซูจีพยายามเอาปางโหลงมาสานต่อ แต่ขณะที่พ่อของเธอมีความจริงใจในการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ เธอกลับมีชุดความคิดเสมือนเป็นเจ้าอาณานิคม มองกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเป็นพลเมืองชั้นสอง ที่ควรจะยินยอมรับข้อเสนอที่ชนพม่ากลุ่มใหญ่อุตส่าห์มอบให้ด้วยความเมตตา แนวคิดของเธอไม่ได้ต่างจากกองทัพพม่าเลย จะต่างกันก็ตรงที่วิธีการ โดยฝั่งกองทัพมักใช้กำลังเข้าไปจัดการ ขณะที่ซูจีไม่ได้มีกองกำลังของตัวเอง จึงไม่ได้ใช้แนวทางรุนแรง

เพราะฉะนั้นความพยายามเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ในยุคซูจีจึงไม่ได้ผลอะไรคืบหน้ามาก แถมเธอยังไปพลาดมหันต์ตรงที่เธอมองเรื่องการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงเป็นประเด็นความมั่นคง โดยให้กองทัพเข้าไปนำการเจรจา ทั้งที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มาจากประเด็นการเมือง ซึ่งควรแก้ไขด้วยวิธีการทางการเมือง อันที่จริงก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดี นายพลเต็ง เส่ง มาถูกทางแล้ว คือใช้การเมืองแก้การเมือง แต่ซูจีกลับเปลี่ยนไปใช้ความมั่นคงมาแก้ นี่ทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้น แถมยังไปลดบทบาทตัวเองทางอ้อมอีก

เมื่อซูจีหมดอำนาจ ก็เหลือเพียงกองทัพที่คอยจัดการเรื่องนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์น่าจะถดถอยลงไปอีก ชนกลุ่มต่างๆ กำลังจะลำบากขึ้น พวกเขาอาจต้องเตรียมหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้กันอีก และก็เป็นไปได้ด้วยว่า บางกลุ่มอาจยื่นเรื่องฟ้องกองทัพพม่าต่อศาลโลกในข้อหาอาชญากรรมสงคราม

ส่วนในประเด็นโรฮิงญา ผมคิดว่ากระบวนการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับสู่พม่าคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว เราจะไปหวังอะไรได้จากกองทัพพม่าที่เป็นอาชญากรหมายเลขหนึ่งของคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา พวกเขาคงไม่ยอมให้ชาวโรฮิงญากลับไปพม่าแน่นอน สถานการณ์ที่ชาวโรฮิงญาต้องเจอกำลังแย่ลงอีก

อีกปัญหาคือชาวพุทธ ทั้งคนพม่าและคนไทย แทบไม่มีใครสนใจช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวโรฮิงญาเลย ผมเคยเรียกร้อง (อดีต) พรรคอนาคตใหม่ ให้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้โรฮิงญา เพราะเห็นว่าพวกเขายืนหยัดต่อสู้เพื่อหลักสิทธิมนุษยชน แต่พวกเขาปฏิเสธ เพราะกลัวกระแสตีกลับจากสังคมไทย

ถ้าคุณยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและกำลังต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้ตัวเองอยู่ คุณก็ต้องต่อสู้เพื่อคนอื่นด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าคนนั้นจะมีเชื้อชาติหรือศาสนาไหนก็ตาม หลักสิทธิมนุษยชนมีเพียงหนึ่งเดียวและต้องใช้กับทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าคุณเรียกร้องสิทธิให้แค่คนกลุ่มตัวเอง โดยไม่สนใจคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่อย่างนั้นคุณก็เป็นแค่พวกเสแสร้ง

 

ไทยเป็นอีกประเทศที่เจอการแทรกแซงการเมืองจากกองทัพ สถานการณ์ของไทยเหมือนหรือต่างจากของพม่าอย่างไร  

เอาเข้าจริง กองทัพไทยกับพม่าแทบไม่ต่างกันเลย อย่างกองทัพไทย ไม่ว่าจะผ่านมากี่รุ่นๆ ก็เหมือนเดิม คือพยายามผูกอำนาจไว้กับตัวเอง แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาปกครอง ทำตัวเป็นเจ้าชีวิตประชาชน อย่างการแต่งตั้ง ส.ว. มานั่งในสภาทั้งหมด โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกเลย กลายเป็นพวกนายพลเลือกกันเองหมด ก็คล้ายกับที่พม่าสงวนโควตาในสภาไว้ให้กองทัพ

กองทัพมักพร่ำบอกเสมอว่ารักชาติ ทำเพื่อชาติ รับใช้ประชาชน โปร่งใส ไม่มีคดโกงแผ่นดิน เพื่อยกมาเป็นข้ออ้างของความชอบธรรมที่จะเข้ามาควบคุมการเมือง และไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ความจริงพวกเขาก็คือมาเฟียที่เอาความรักชาติมาบังหน้า แสวงหาผลประโยชน์ คดโกง เบียดเบียนประชาชน ทำลายเศรษฐกิจประเทศจนพินาศย่อยยับ ไม่พอใจใครก็อุ้มเขาไปขังหรือฆ่าทิ้งเสีย

 

 

ล่าสุด กองทัพพม่าเลือกทำรัฐประหารในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเจอภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก นี่เป็นรัฐประหารครั้งแรกของโลกที่เกิดขึ้นในภาวะโรคระบาด และประชาชนก็กำลังอดอยากปากแห้ง แต่กองทัพก็ยังเลือกที่จะรัฐประหารในตอนนี้ เพราะพวกบรรดานายพลก็ร่ำรวยกันอยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ นี่ทำให้เราเห็นได้เลยว่า พวกเขาสนใจผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตของประชาชน ไม่มีคนรักชาติคนไหนทำกันแบบนี้ จะมีก็แต่พวกมาเฟียที่เอาแต่ปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง โดยเอาชีวิตประชาชนทั้งประเทศเป็นเดิมพัน

เพราะฉะนั้น ผมบอกได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นกองทัพไทยหรือกองทัพพม่าก็ตาม พวกเขาไม่มีทางสร้างคุณประโยชน์ให้ประชาชนได้เลย พวกเขาจะต้องถูกกำจัดออกไปให้พ้นทาง ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม

 

กองทัพมักพร่ำบอกเสมอว่ารักชาติ ทำเพื่อชาติ รับใช้ประชาชน โปร่งใส ไม่มีคดโกงแผ่นดิน เพื่อยกมาเป็นข้ออ้างของความชอบธรรมที่จะเข้ามาควบคุมการเมือง และไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ความจริงพวกเขาก็คือมาเฟียที่เอาความรักชาติมาบังหน้า

 

ยังพอมีหวังที่จะได้เห็นพม่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ถ้ายังปล่อยให้กองทัพมีอำนาจอยู่ คนพม่าก็หมดหวังที่จะได้เห็นประเทศเจริญก้าวหน้า มีสันติภาพ และสัมผัสกับประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะฉะนั้น กองทัพจะต้องถูกขุดรากถอนโคนออกไปก่อนเท่านั้น ภาคประชาชนต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง และต้องหันมายึดถือหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเรียกร้องให้ตัวเอง ถ้าทำอย่างนั้นได้ ประชาชนจะสามารถสู้ได้

นอกจากนี้ เราต้องไม่พึ่งผู้นำเพียงคนเดียวอีกต่อไป ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นที่ชื่นชอบมากขนาดไหนก็ตาม เริ่มได้จากการหยุดนำคำศัพท์เกี่ยวกับครอบครัวมาใช้ในทางการเมือง ประเทศชาติไม่ใช่ครอบครัว แต่เป็นสถาบันทางการเมือง คำอย่าง ‘พ่อของแผ่นดิน’ ‘แม่ของแผ่นดิน’ แบบที่คนพม่าชอบเรียกซูจีว่า ‘แม่ซู’ ควรจะเลิกใช้กันได้แล้ว เพราะประชาชนชาติไหนที่มองผู้นำตัวเองเหมือนพ่อแม่ ก็มักจะทำตัวเหมือนเด็กไม่ยอมโต ต้องจูงมือพ่อแม่ตลอด ข้ามถนนเองไม่ได้

วันนี้เราเห็นแล้วว่าซูจี คนที่ถูกเรียกว่าเป็นแม่ คนที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คนที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถช่วยลูกๆ ของเธอได้อีกแล้ว เธอยังปกป้องตัวเธอเองไม่ได้เลย แล้วเธอจะมาปกป้องประชาชนได้อย่างไร ตอนนี้ไม่มีใครที่จะขี่ม้าขาวมาช่วยพวกเขาแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ลูกๆ ของเธอจะต้องเลิกหลบอยู่ใต้กระโปรงซูจี พวกเขาจะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ที่พร้อมออกมายืนหยัดต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยตัวเอง

 

เราต้องไม่พึ่งผู้นำเพียงคนเดียวอีกต่อไป ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นที่ชื่นชอบมากขนาดไหนก็ตาม เริ่มได้จากการหยุดนำคำศัพท์เกี่ยวกับครอบครัวมาใช้ในทางการเมือง ประเทศชาติไม่ใช่ครอบครัว แต่เป็นสถาบันทางการเมือง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save