fbpx
Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

“ชาวกรรมาชีพไม่มีอะไรจะต้องสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน พวกเขามีโลกทั้งใบที่จะได้ชัยมา

 ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย จงรวมตัวกัน!”

– Karl Marx, Communist Manifesto, 1848.

ครั้งหนึ่ง สายธารแห่งประวัติศาสตร์ที่คาร์ล มาร์กช์ทำนายไว้ได้กลายเป็นจริง เมื่อการปฏิวัติด้วยน้ำมือของชนชั้นกรรมาชีพแห่งสหภาพโซเวียตได้นำไปสู่การสร้าง ‘สังคมนิยมคอมมิวนิสต์’ และปลุกสำนึกของขบวนการฝ่ายซ้ายทั่วโลกให้ปลดปล่อยตนเองออกจากโซ่ตรวนแห่งทุนนิยมที่กดขี่พวกเขาไว้

แต่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ความพังพินาศของระบอบคอมมิวนิสต์ที่กลายพันธุ์ไปเป็นเผด็จการทรราชย์และชัยชนะของระบบทุนนิยมได้ตอกฝาโลงตำนานการปฏิวัติแห่งชนชั้นกรรมาชีพและระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นหายนะในหน้าประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ เหลือไว้แค่เพียงขบวนการฝ่ายซ้ายที่ซบเซาจนเกือบล่มสลาย และแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซิสต์ที่โลดแล่นอยู่ในโลกแห่งความคิดเท่านั้น

“การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ซ้ายกับขวา แต่เป็นคน 99% กับคน 1% ผู้ขูดรีด”

“เราทุกคนล้วนเป็นแรงงานผู้ถูกกดขี่”

– RT Movement, เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH, 2020.

เมื่อสิ้นปี 2020 แห่งการประท้วง การประกาศ Restart Thailand Movement ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกพร้อมสัญลักษณ์ RT ที่ละม้ายคล้ายค้อนเคียวและข้อเขียนที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบมาร์กซิสต์ได้นำมาสู่สภาวะฝุ่นตลบ แตกขบวนในการเมืองไทย ตามมาด้วยความเคลือบแคลงต่อการเดินหมากครั้งนี้ คำถามมากมายไม่จบสิ้นต่อการโค่นล้มทุนนิยมและการกลับมาของคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 หรือกระทั่งแสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆ สำหรับใครบางคนที่กำลังถูกความเหลื่อมล้ำกัดกิน

“มาร์กซ์เป็นเรื่องเพ้อฝันในศตวรรษที่ 21 หรือเปล่า?” “ทุนนิยมแย่ก็จริง แต่ล้มแล้วยังไงต่อ?” “ความคิดแบบมาร์กซ์จะเอามาสร้างระบบเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า ล้มเหลวก็เคยมาแล้ว” “จะข้ามพ้นสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน โซเวียต เกาหลีเหนือได้ยังไง” “แล้วสรุปสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หมายความว่าอะไร ต่างจากสมัยสงครามเย็นไหม แล้วเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?” ฯลฯ สังคมตั้งคำถามมากมายไม่รู้จบ

101 ชวนถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสรวิศ ชัยนาม แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” (เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558)  เพื่อย้อนหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง?

เกษียร เตชะพีระ

กระแสธาร ‘มาร์กซ์’ ในไทย และ ‘มาร์กซ์’ แบบเฮเกล

 

“ลัทธิมาร์กซ์ (Marxism-Communism) มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า ‘totalizing discourse’ หรือวาทกรรมที่ครอบคลุมในทุกมิติของชีวิต มันเป็นทั้งอุดมการณ์เพื่อการปฏิวัติและชุดความคิดความเชื่อที่ครอบโลก สังคม และประวัติศาสตร์ พยายามเสนอมุมมองครอบจักรวาลที่เมื่อสมาทานรับเข้าไปแล้ว จะเรียกร้องให้ผู้ที่รับปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความคิดของลัทธิเสมือนว่าบวช”

นี่คือ ‘มาร์กซ์’ ในกระแสความคิดฝ่ายซ้ายไทยสมัยก่อนทศวรรษที่ 2530 ในทัศนะของ เกษียร เตชะพีระ ที่ผ่านประสบการณ์คลุกคลีกับแนวคิดมาร์กซ์เป็นเวลาหลายสิบปี

หากมองปรากฏการณ์มาร์กซ์แพร่หลายผ่านคู่มือมาร์กซ์ในสังคมไทย เกษียรเล่าว่าจะเห็นกระแสมาร์กซ์ปรากฏในสังคมไทยอยู่ 2 ช่วง คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี 2500 และช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปลายทศวรรษที่ 2520 ที่คอมมิวนิสต์สากลเริ่มล่มสลาย ในทั้งสองช่วงเวลา ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ยังคงเป็นหนึ่งในสองทางเลือกของระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นไปได้นอกเหนือจากระบบทุนนิยม และเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยโหยหาทางเลือกทางการเมืองอื่นๆ ที่นำไปสู่ความก้าวหน้า

แม้หนังสือเกี่ยวกับมาร์กซ์ในระยะหลัง 14 ตุลาจะมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามต่อมาร์กซ์มากขึ้น แต่เอกสารจำนวนมากในยุคแรกที่มาร์กซ์ก้าวเข้ามาในไทยก็ยืนยันว่า ‘มาร์กซ์คือชุดความคิดที่ครอบวิธีมองโลก’ เพราะเอกสารเหล่านี้ต่างอธิบายแนวคิดพื้นฐานและชุดภาษาแบบมาร์กซ์ ทั้ง ‘พลังการผลิต’ ‘ความสัมพันธ์ทางการผลิต’ ‘อุดมการณ์’ หรือ ‘ชนชั้น’ ต่างก็ไม่ใช่ภาษาที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้คนสามารถสมาทานและ ‘บวช’ เข้าลัทธิมาร์กซ์ได้

แต่ถ้าจะถอยออกมามองความคิดของมาร์กซ์อย่างไม่เป็นลัทธิ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่ผู้ศึกษามาร์กซ์ว่า “เนื้อแท้และพัฒนาการทางความคิดของมาร์กซ์เป็นอย่างไรกันแน่” เพราะแน่นอนว่าความคิดของมาร์กซ์ตีความได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเลือกเน้นความคิดของมาร์กซ์หนุ่มหรือมาร์กซ์แก่ เลือกมองว่าความคิดของมาร์กซ์มีความต่อเนื่องหรือมองว่าความคิดของมาร์กซ์มีจุดแตกหักระหว่างวัยหนุ่มและวัยแก่ เลือกมองว่าความคิดของมาร์กซ์คือปรัชญาหรือสังคมศาสตร์ และเลือกให้ความสำคัญต่อการมองชนชั้นในฐานะผู้กระทำการหรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง

เกษียรเสนอว่า หนึ่งในวิธีการมองความคิดมาร์กซ์ผ่านปีเตอร์ ซิงเกอร์ ผู้เขียนหนังสือ ‘มาร์กซ์: ความรู้ฉบับพกพา’ คือมองว่าความคิดของมาร์กซ์ “มีแนวความคิดแบบปรัชญาเฮเกลเป็นวิสัยทัศน์ใจกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากความแปลกแยกให้สามารถบรรลุความเป็นมนุษย์และกระทำการได้อย่างเสรี”

“ที่บอกว่าความคิดแบบเฮเกลคือใจกลางของความคิดและตรรกะแบบมาร์กซ์ ต้องตั้งต้นทำความเข้าใจสิ่งที่เฮเกลคิดก่อนว่า มาร์กซ์นำเฮเกลไปใช้อ่านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มนุษย์สร้างในทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างไร”

เกษียรอธิบายต่อว่า การที่เฮเกลมองว่าจิตวิญญาณของมนุษย์โดยรวมแปลกแยกออกจากโลกทางวัตถุธรรมซึ่งเป็นเนื้อแท้ของจิตวิญญาณ แต่ยังไม่สามารถข้ามพ้นสภาวะแปลกแยกและผสานรวมกันได้ ทั้งๆ ที่ตระหนักรู้ว่าโลกวัตถุธรรมคือสิ่งเดียวกันกับจิตวิญญาณ ก็เหมือนกับการที่มาร์กซ์มองว่า “ชนชั้นแรงงานสร้างทุนขึ้นมาด้วยน้ำมือของตน แต่ชนชั้นแรงงานกลับแปลกแยกออกจากทุน ไม่สามารถควบคุมและกำกับทุนได้ ซ้ำร้าย ทุนยังคุกคามกดขี่ชนชั้นแรงงาน”

“ในสายตาของมาร์กซ์ ชนชั้นแรงงานคือกลุ่มคนที่ทุกข์ทรมานอย่างที่ไม่มีอะไรจะสูญเสีย อยู่ในสภาวะแปลกแยกจากทุนที่ตนเป็นผู้ผลิตอย่างถึงที่สุดจนไม่มีเหตุผลอะไรจะธำรงรักษาทุนไว้ พร้อมจะดิ้นรนต่อสู้ให้หลุดพ้นจากสภาวะแปลกแยกและปฏิวัติล้มล้างระบบทุนนิยมในที่สุด” เกษียรกล่าว

แม้ร่องรอยของมาร์กซ์ในการเมืองไทยจะจางลง แต่เกษียรเสนอว่าการเข้ามาของมาร์กซ์ในการเมืองไทยทิ้งโจทย์ใหญ่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมรดกทางปัญญาอันล้ำค่าไว้ถึง 2 โจทย์ คือโจทย์ว่าด้วยรัฐและทุน แต่ 30-40 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายไทยกลับทำโจทย์ใดโจทย์หนึ่งหายไปเมื่อวิเคราะห์การเมืองไทย ซึ่งเกษียรมองว่าเป็นเรื่องที่ต้อง “เฉลียวคิด”

“ฝ่ายซ้ายไทยและขบวนการนิสิตนักศึกษาสมัย 14 ตุลา มองเห็นโจทย์ทั้ง 2 อย่าง ฝ่ายซ้ายสมัยนั้นเห็นโจทย์เรื่องรัฐเผด็จการช่วง 14 ตุลา จากนั้นภายใน 1-2 ปี ก็หันไปเห็นโจทย์ปัญหาว่าด้วยทุนนิยม ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและการกดขี่ขูดรีดโดยทันควัน

แต่ฝ่ายซ้ายหลังจากนั้นมา หากวิพากษ์ทุน ก็จะวิพากษ์ผ่านกรอบอื่นที่ไม่ใช่มาร์กซ์อย่างชาตินิยมหรือเศรษฐกิจพอเพียงแต่ไม่เห็นปัญหารัฐเผด็จการ หรือหากวิพากษ์รัฐเผด็จการ ก็จะหลงลืมปัญหาของทุนไป”

 

พิชิต ลิขิตสมบูรณ์

มาร์กซ์และระบบทุนที่เป็นเพียงแค่ ‘จินตนาการ’

“ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตามที่มาร์กซ์เสนอไว้ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นระบบทุนนิยมในจินตภาพที่บริสุทธ์มาก ไม่เหมือนกับระบบเศรษฐกิจที่ก่อรูป มีโครงสร้างตลาดขึ้นมาและกลายเป็นระบบเศรษฐกิจจริงอย่างสิ้นเชิง”

เมื่อภาพวาดของ ‘ระบบทุนนิยม’ และ ‘วิกฤตของทุน’ ที่มาร์กซ์จินตนาการและวาดไว้ในหนังสือ ‘ทุน’ (Das Kapital) หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อเมื่อศตวรรษที่ 19 คลาดไปจากภาพพัฒนาการทุนนิยม ร่างของทุนนิยมและฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยมในโลกแห่งความเป็นจริง พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ จึงมองว่าการหวนคืนย้อนกลับไปพินิจมาร์กซ์นั้น ‘ล้าสมัย’ ไปเสียแล้ว ซ้ำร้าย แนวทางเศรษฐกิจการเมืองแบบมาร์กซ์ยังไม่สามารถตีและตอบโจทย์เศรษฐกิจการเมืองในยุคปัจจุบันได้อย่างแจ่มชัด

ในสายตาของมาร์กซ์ ใจกลางของความขัดแย้งและวิกฤตทุนนิยมอยู่ที่ ‘แรงงานเพื่อการผลิต’ ซึ่งเป็นเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์นั้นถูกนายทุนพรากไปในนามของการขูดรีดเพื่อเก็บเกี่ยวมูลค่าส่วนเกินจากการกดค่าแรงของแรงงานให้ต่ำกว่าที่ค่าแรงจริงควรได้รับ สร้างกำไร และสะสมความมั่นคั่งให้แก่ทุนวนเวียนไปไม่รู้จบสิ้น เหลือทิ้งไว้เพียงความรู้สึก ‘แปลกแยก’ ในตัวตนของแรงงานที่ถูกบังคับให้ใช้แรงงานผลิตเพื่อผลประโยชน์นายทุนและการเจริญเติบโตของระบบทุน มิใช่เพื่อตนเอง ด้วยจิตสำนึกของตนเอง ทั้งๆ ที่แรงงานคือเนื้อแท้ของมนุษย์ สำหรับมาร์กซ์ นี่คือสภาวะที่มนุษย์ขาด ‘เสรีภาพ’

เฮเกลมองว่า ‘จิตวิญญาณ’ ของทุกคนบนโลกอยู่ในสภาวะแปลกแยก ไม่รู้สำนึกหรือไม่เข้าใจได้ว่าเนื้อแท้ของจิตคือส่วนหนึ่งของ ‘จิตวิญญาณโดยรวม’ ได้ฉันใด มาร์กซ์ก็มองว่าระบบทุนนิยมทำให้มนุษย์แปลกแยกจากแรงงานของตนที่ควรจะเป็นไปเพื่อการผลิตของตนฉันนั้น

แต่เมื่อพยายามทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและวิกฤตทุนนิยมในโลกจริงผ่านเลนส์เศรษฐกิจการเมืองแบบมาร์กซิสต์ พิชิตมองว่าเป็นไปได้ยากที่จะใช้มาร์กซ์ เพราะระบบทุนนิยมที่มาร์กซ์เสนอเป็นได้แค่เพียงแค่ ‘จินตภาพ’ เท่านั้น ไม่ได้นำไปสู่การทำความเข้าใจเศรษฐกิจทุนนิยมจริงอย่างเป็นรูปธรรม

“ในหนังสือทุน ภาพของระบบเศรษฐกิจอังกฤษในปี 1850 คือระบบทุนนิยมที่มาร์กซ์ก่อรูปจากจินตนาการ ระบบทุนนิยมของมาร์กซ์จึงมีความเป็นนามธรรมและบริสุทธิ์มาก ไม่มีแม้แต่รัฐบาลกลางที่แทรกแซงระบบเศรษฐกิจและกำหนดโยบาย ไม่มีแม้แต่ธนาคารกลางที่แทรกแซงระบบการเงินหรือควบคุมอุปทานเงิน กำหนดอัตราดอกเบี้ย แม้แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่มี”

“แม้แต่การนำทฤษฎีมูลค่าแรงงาน แก่นกลางของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ที่กำหนดไว้ว่ามูลค่าสินค้าจะขึ้นอยู่กับปริมาณแรงงานที่ใช้ผลิตไปพิสูจน์ว่ามีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินในอุตสาหกรรมโรงงานก็มีข้อบกพร่อง” พิชิตวิพากษ์

หนึ่งในข้อเสนอของมาร์กซ์ที่พิชิตมองว่ามีปัญหาเมื่อนำไปเทียบกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจริงคือ อัตรากำไรที่จะเท่ากันในแต่ละอุตสาหกรรมในท้ายที่สุด

“มาร์กซ์พยายามคิดค้นสูตรเพื่ออธิบายว่า มีการเคลื่อนย้ายของทุนและดูดซับมูลค่าส่วนเกินข้ามสาขาอุตสาหกรรม แทนที่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ผลิตมูลค่าส่วนเกินได้มากจะมีอัตรากำไรสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย ผลิตมูลค่าส่วนเกินได้น้อยและมีอัตรากำไรต่ำ แต่กลับมีการไหลออกของมูลค่าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย ชดเชยอัตรากำไร ทำให้ทุกอุตสาหกรรมได้อัตรากำไรที่เท่ากัน แต่ผมยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่”

นอกจากนี้ มีอีกหลายอย่างที่พิชิตมองว่าไม่เป็นจริงตามที่มาร์กซ์เสนอไว้ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์การว่างงานจากการใช้เครื่องจักรทดแทนหรือแนวโน้มที่อัตรากำไรเฉลี่ยลดลงในระยะยาวตามกฎการพัฒนาของทุนนิยม บางอย่างที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจจริง มาร์กซ์ก็ไม่สามารถอธิบายได้ อย่างเช่นกระบวนการดำเนินงานของทุนการเงินและทุนพาณิชย์ที่ผูกโยงอยู่กับการค้า

ยิ่งไปกว่านั้น พิชิตไม่เชื่อว่าจะนำคำอธิบายหรือการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมที่คิดขึ้นในช่วงปลายของการปฏิวัติอุตสาหกรรมกลางศตวรรษที่ 19 มาอธิบายอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 ได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงของ ‘งาน’

“ในโรงงานประกอบรถยนต์ญี่ปุ่น ทั้งโรงงานมีแต่หุ่นยนต์ มีวิศวกรเพียงไม่กี่คนที่ควบคุมระบบ หรืออย่างในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ก็มีเพียงแค่คนเขียนโปรแกรมลงเครือข่ายหรือ cloud ผมเห็นแล้วก็สงสัยว่าจะใช้ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกินของมาร์กซ์อธิบายได้อย่างไร”

“วิกฤตทุนนิยมที่มาร์กซ์เขียนในหนังสือทุนก็ต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในศตวรรษที่ 20-21 เพราะอย่างนี้ นักเศรษฐศาสตร์จึงเลือกใช้เศรษฐกิจเคนส์เซียนกู้วิกฤต ไม่ได้หันกลับไปใช้มาร์กซ์ แม้แต่นักคิดสายนีโอมาร์กซิสต์ก็ไม่ได้ใช้แนวคิดจากหนังสือทุนของมาร์กซ์อธิบายระบบทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับใช้กรอบทฤษฎีเคนส์เซียนแล้วใส่คำอธิบายที่มีกลิ่นอายแบบมาร์กซิสต์ลงไปเสียด้วยซ้ำ”

เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งที่เกิดขึ้นจริง พิชิตอธิบายว่ามาร์กซ์เสนอไว้หลวมๆ เพียงแค่ว่าวิกฤตระบบทุนนิยมเริ่มก่อตัวจากความขัดแย้งในระบบ ยิ่งนายทุนแข่งขันกันสร้างกำไรและสะสมทุนมากเท่าไหร่ การกดขี่ขูดรีดจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น จากนั้นความแปลกแยกและความขัดแย้งภายในระบบทุนจะนำไปสู่จุดแตกหักของระบบทุนนิยม

แต่นี่ก็นำมาสู่ข้อเสนอทางการเมืองของมาร์กซ์ที่คุ้นเคยกันดี

“ท้ายที่สุด ระบบทุนนิยมในเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะระบบทุนนิยมขัดขวางไม่ให้มนุษย์ผู้มีแรงงานเป็นเนื้อแท้บรรลุ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่สมบูรณ์ด้วยตนเองได้ผ่านการขูดรีดแรงงาน หนทางก็คือ ต้องยุติความรู้สึกแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ และความแปลกแยกที่ว่านี้เกิดจากระบบทุนนิยม ฉะนั้น ต้องทำลายหรือก้าวข้ามให้พ้นระบบทุนนิยม”

พิชิตเล่าต่อว่า ข้อเสนอทางการเมืองของมาร์กซ์ปรากฏในหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ ‘คำประกาศพรรคคอมมิวนิสต์’ (Communist Manifesto) ‘สงครามกลางเมืองฝรั่งเศส’ (The Civil War in France) และ ‘วิพากษ์หลักนโยบายโกธา’ (Critique of the Gotha Programme) มาร์กซ์เสนอว่า การจะก้าวข้ามพ้นระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้ ต้องมีเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ขจัดสิทธินายทุน (bourgeois right) ห้ามชนชั้นนายทุนทำการผลิตหรือทำธุรกิจ รวมทั้งห้ามไม่ให้มีระบบตลาด แล้วเปลี่ยนให้ปัจจัยการผลิตเป็นของสังคมส่วนรวม ซึ่งพิชิตตั้งข้อสังเกตว่า ‘สังคมส่วนรวม’ ในที่นี้อาจไม่ได้หมายความว่าอำนาจต้องรวมศูนย์อยู่ที่รัฐ แต่อาจตีความได้ว่าเป็นองค์กรรวมหมู่ ที่ประชุมของผู้ผลิต หรือสภาคนงานก็ได้เช่นกัน

ระบบทุนนิยมในโลกศตวรรษที่ 21 ได้หักปากกาเศรษฐกิจการเมืองของมาร์กซ์ไปแล้วเรียบร้อย การเมืองในโลกศตวรรษที่ 21 ก็ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับ ‘การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ’ เท่าไหร่นัก เพราะจุดกำเนิดของสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจาก “ความต่อเนื่องทางความคิด ตรรกะและแนวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมาร์กซ์” ที่นำมาสู่แนวสไตล์การเมืองแบบ ‘ลัทธิ’ ที่เห็นต่างไม่ได้ราวกับศาสนาและความล้มเหลวของระบอบคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย กระนั้นก็ดี พิชิตมองว่าการกลับไปย้อนมอง ‘การเมืองแบบมาร์กซิสต์’ อีกครั้งก็ช่วยจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจในทางการเมืองได้ไม่น้อย

“จุดเด่นการวิเคราะหการเมืองของมาร์กซ์คือ มาร์กซ์ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่มองทะลุลงไปถึงเบื้องหลังของพลังการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สะดุดหรือถูกขัดขวางไม่ให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ระบบหรือโครงสร้าง แสดงออกมาเบื้องหน้าให้เห็นเป็นความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคล ระหว่างพรรคการเมือง ระหว่างฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ระหว่างนายทุนและชนชั้นแรงงาน หรือระหว่างฝ่ายนิยมและไม่นิยมกษัตริย์ แล้วความขัดแย้งนั้นจะต้องไปสู่จุดแตกหักเพื่อให้สังคมก้าวต่อไปได้”

“อีกคุณูปการสำคัญของมาร์กซ์ในการอ่านการเมืองคือ ทุนนิยมย่อมนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในสังคม สังคมใดก็ตามที่รับทุนนิยมเข้ามา การพัฒนาของทุนนิยมย่อมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด ค่านิยม รสนิยม และตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ชนชั้นปกครองที่รับทุนนิยมเข้ามา ท้ายที่สุดก็ไม่ต่างจากการดื่มยาพิษ”

“หากอ่านการเมืองไทยแบบมาร์กซ์ เราจะเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา คือพลังคลื่นความขัดแย้งใต้น้ำจากการพัฒนาทุนนิยมที่เดินมาถึงขั้นที่ระบบการเมืองและความคิดทางการเมืองแบบดั้งเดิมไม่สามารถรองรับได้ เราจึงเห็นการปะทะกันทางการเมืองและความคิดของสองขั้วการเมือง” พิชิตทิ้งท้าย

สรวิศ ชัยนาม

Is there still an alternative? : มาร์กซ์แห่งการปฏิวัติและการเมืองแห่งการปลดปล่อย

 ขอบคุณภาพจาก The MATTER

“หนึ่งในตัวตนของมาร์กซ์ที่หายไปคือ มาร์กซ์แห่งการปฏิวัติ”

ท่ามกลางกระแสการหวนคืนสู่มาร์กซ์ทั่วโลกเป็นระยะๆ ทุกครั้งที่มีวิกฤตเศรษฐกิจโลกปะทุขึ้น โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 สรวิศ ชัยนาม มองว่าตราบเท่าที่ยังมีทุนนิยม มาร์กซ์ก็จะยังได้รับความสนใจต่อไป แต่การหวนคืนสู่มาร์กซ์หลายครั้งที่ได้รับการยอมรับกลับกลายเป็นมาร์กซ์แบบ de-caffein ที่ดื่มง่าย ดื่มคล่อง ไม่เป็นภัยต่อร่างกายเหมือนกาแฟที่แทบจะปราศจากคาเฟอีนอันเป็นแก่นแท้ของความเป็นกาแฟ

“ในปัจจุบัน เวลาพูดถึงแนวคิดเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพก็มักจะโดนโห่ แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าการหวนคืนสู่มาร์กซ์ที่ปราศจากเลนิน เพิกเฉยความคิดของเลนินซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่ฝ่าวงล้อมของทุนนิยมแล้วทำการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพได้สำเร็จคือการกลับไปหามาร์กซ์ที่ปราศจากพลังและเขี้ยวเล็บหรือเปล่า” สรวิศตั้งคำถามต่อ ‘มาร์กซ์แห่งการปฏิวัติ’ ที่ยังไม่น่าจะถึงจุดสิ้นสุด แต่กลับหายไปจากกระแสความคิดแบบมาร์กซิสต์

สรวิศยังมองอีกว่า ความพยายามในการถกเถียงและหาคำตอบว่ามาร์กซ์คือนักปรัชญาหรือนักวิทยาศาสตร์คือการ ‘เลือกทางเลือกที่ไม่ใช่ทางเลือก’ เพราะมีทางเลือกอื่นอีกที่หล่นหายไป ซึ่งก็คือ ‘มาร์กซ์แห่งการปฏิวัติ’ เช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือปรัชญาก็ตาม ทั้งสองอย่างต่างก็เป็นแค่เครื่องมือในการต่อสู้เพื่อการเมืองแห่งการปลดปล่อย ทำลายและเปลี่ยนแปลงโลกทั้งทางความคิดและทางปฏิบัติทั้งสิ้น อย่างที่มาร์กซ์เสนอไว้ใน Theses on Feuerbach ข้อเขียนเอกอุอันเลื่องชื่อ

และการเปลี่ยนแปลงโลกที่ว่า “ต้องนำไปสู่ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ระบบทุนนิยมประทานมาให้ ซึ่งก็คือทางเลือกที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมแบบอื่นที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไรและการสะสมทุนเป็นแก่นของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์” ที่สำคัญ ชนชั้นกรรมาชีพต้องเป็นผู้ปลดปล่อยตนเองจากระบบทุนนิยมและเปลี่ยนแปลงโลกด้วยน้ำมือของตนเอง

ในมุมของสรวิศ ความสามารถในการจินตนาการมองเห็นทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ทุนนิยมเสนอให้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สรวิศอธิบายว่าในปัจจุบันสิ่งที่ชนชั้นกรรมาชีพเลือกได้มีแค่ว่า ‘จะเอาทุนนิยมแบบไหน’ เท่านั้น ไม่ใช่เลือกได้ว่า ‘จะเอาหรือไม่เอาระบบทุนนิยม’ และหลายครั้ง การวิพากษ์ทุนนิยมก็ไม่ได้นำไปสู่ทางเลือกเพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น โจเซฟ สติกลิตซ์ เจฟฟรีย์ ซากส์ โทมัส พิเก็ตตี หรือแม้กระทั่งนาโอมิ ไคลน์ ต่างก็ยังวิพากษ์ทุนไม่พ้นกรอบของทุนนิยม หนำซ้ำการวิพากษ์เช่นนี้ยังช่วยให้ระบบทุนนิยมทำงานได้ดีขึ้นเสียด้วยซ้ำ

“การปลดปล่อยพันธนาการและเปลี่ยนแปลงโลกจะเกิดขึ้นได้ ชนชั้นกรรมาชีพต้องก้าวข้ามทั้งอุปสรรคภายนอกที่เกิดจากรัฐและโครงสร้างทางการเมือง แต่ที่มาร์กซ์เน้นและให้ความสำคัญอย่างมากคืออุดมการณ์ซึ่งเป็นอุปสรรคภายใน” สรวิศอธิบาย

“เดวิด ฮาร์วี นักวิชาการสายมาร์กซิสต์เคยบอกไว้ว่าทุนนิยมเปรียบเสมือน the gravity หรือแรงดึงดูดโลกที่ล่องหน แต่สัมผัสได้ตลอดเวลา คุณจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ต้องอาศัยทฤษฎี ต้องอาศัยหลักสมการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมากถึงจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ หนทางเดียวที่คุณจะเห็นการทำงานของทุนได้ คือต้องอาศัยแนวคิดแบบ ‘ภาพวาด’ ที่เป็นอุดมการณ์นามธรรม เพื่อร่างภาพของทุนในหัว ไม่ใช่การมองทุนนิยมผ่าน ‘ภาพถ่าย’ จริงก่อน”

“ฉะนั้น ต้องมองให้ทะลุว่าอุดมการณ์แบบกระฎุมพีคืออะไร มันหล่อหลอมความคิด ความเข้าใจของเราต่อสิ่งต่างๆ บนโลกอย่างไร หลอกล่อ บิดเบือน ปกปิดความเลวร้ายอะไรของระบบทุนนิยมไว้ให้ระบบดูดีเกินความเป็นจริง และต้องมองให้ออกว่าอารมณ์ แรงปรารถนาคือทำให้เรายังยึดอยู่กับระบบทุนนิยมที่กำลังทำร้ายเราอยู่”

“หากไม่เห็นภาพวาดของทุนในหัว คุณจะไม่สามารถต่อต้านและปลดแอกจากระบบทุนนิยมได้เลย เพราะคุณจะมองไม่เห็นว่าช่องโหว่ของระบบทุนอยู่ตรงไหน” สรวิศกล่าว

หลายครั้งที่ทฤษฎีของมาร์กซ์ถูกวิพากษ์ว่าทำนายคลาดไปจากความจริง ไม่ว่าจะทั้งการที่ช่องว่างรายได้ระหว่างชนชั้นนายทุนและกรรมกรถ่างกว้างขึ้น หรือการที่ทุนนิยมจะล่มสลายเพราะความขัดแย้งภายในระบบ แต่สรวิศกลับเห็นต่างและมองว่าคำทำนายเหล่านี้ของมาร์กซ์ยังคงเป็นจริงอยู่ เพราะทุกวันนี้ กลายเป็นว่าแรงงานยินดีที่จะถูกขูดรีดเพราะนั่นหมายความว่ายังมีค่าแรง ยังไม่กลายเป็นกลุ่มแรงงานที่ระบบทุนมองว่าดีไม่พอที่จะขูดรีดให้นายทุนสะสมทุนได้อย่างราบรื่นจนตกงานถาวร และถูกเบียดขับออกไปจากระบบทุน (the excluded)

ทั้งช่องว่างทางรายได้และความขัดแย้งระหว่างระบบทุนและแรงงาน (และแรงงานที่ตกงานอย่างถาวร) ในระบบยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่เปลี่ยนภาพไปบ้างเท่านั้น รวมทั้งผู้ขับเคลื่อนการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพอาจเปลี่ยนไปด้วยอย่างในขบวนการเคลื่อนไหว Occupy Wallstreet หรือพรรค Podemos ในสเปน ที่ผู้ต่อต้านทุนอาจไม่ใช่เพียงแค่ชนชั้นแรงงานอีกต่อไป

“ถ้าระบบไม่สามารถมองเห็นคุณค่าของแรงงาน และไม่สามารถสร้างงานให้แรงงานได้ แล้วยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษาระบบทุนนิยมไว้?” สรวิศตั้งถามต่อความเป็นไปได้ในอนาคต

“ถ้ามองว่าสิ่งที่มาร์กซ์คิดผิด มองว่าที่จริงทุนก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่าระบบมีจุดผิดพลาดตรงไหน แล้วหมดหวังกับการเมืองเพื่อการปลดปล่อยเพราะยังจมปลักอยู่กับความล้มเหลวของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในอดีต กลายเป็นซ้ายซึมเศร้า คำถามคือการเมืองเรื่องการปลดปล่อยจะนำไปสู่อะไรที่เลวร้ายกว่านี้หรือเปล่า หรือเราต้องรอให้ระบบทุนนิยมสร้างความหายนะมากกว่านี้ แน่นอนว่าระบอบคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20 คือหายนะที่พรากชีวิตคนไปจำนวนมาก แต่ทุนนิยมก็ฆ่าคนตายเหมือนกัน”

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save